"...ในช่วงปลายปี 2562 นายปริวัฒน์ วรรณกลาง อดีตอธิการบดีสถาบันการพลศึกษา กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เคยถูกร้องเรียนขอให้ตรวจสอบกรณีดำเนินการใช้ข้อมูลอันเป็นเท็จในการเสนอขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ชั้นสายสะพาย (ป.ม.) ให้แก่บุคลากรในสังกัดสถาบันการพลศึกษา จำนวน 3 ราย ซึ่งมีตำแหน่งเป็นครูชำนาญการพิเศษทั้งหมด..."
กรณีที่ประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติเอกฉันท์ชี้มูลความผิด นายปริวัฒน์ วรรณกลาง เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งอธิการบดีสถาบันการพลศึกษา กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ชั้น ป.ม.ให้กับผู้ไม่มีคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการพิจารณาการเสนอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสายสะพานกำหนดนั้น
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานไปแล้วว่า นายปริวัฒน์ วรรณกลาง ถูกชี้มูลความผิดทางอาญาฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต และฐานเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ทำเอกสาร รับเอกสารหรือกรอกข้อความลงในเอกสาร กระทำการรับรองเป็นหลักฐานซึ่งข้อเท็จจริงอันเอกสารนั้นมุ่งพิสูจน์ความจริงอันเป็นความเท็จ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และมาตรา 162 (4) ประกอบมาตรา 91 ฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 123/1 (ปัจจุบันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 172) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 51
รวมทั้งมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยทุจริต ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547 มาตรา 84 วรรคสาม
เบื้องต้น คณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้ส่งรายงานสำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน สำเนาอิเล็กทรอนิกส์ และคำวินิจฉัยไปยังอัยการสูงสุด (อสส.) เพื่อดำเนินคดีอาญาในศาลที่มีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี และส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน และคำวินิจฉัย ไปยังผู้บังคับบัญชาเพื่อดำเนินการทางวินัยกับ นายปริวัฒน์ ตามฐานความผิดดังกล่าว ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 91 (1) (2) และมาตรา 98 ต่อไป
นอกจากนี้ ให้แจ้งสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) เพื่อดำเนินการเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ขอพระราชทานให้กับผู้ไม่มีคุณสมบัติโดยมิชอบดังกล่าวด้วย
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้รับการยืนยันข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในช่วงปลายปี 2562 นายปริวัฒน์ วรรณกลาง อดีตอธิการบดีสถาบันการพลศึกษา กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เคยถูกร้องเรียนขอให้ตรวจสอบกรณีดำเนินการใช้ข้อมูลอันเป็นเท็จในการเสนอขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ชั้นสายสะพาย (ป.ม.) ให้แก่บุคลากรในสังกัดสถาบันการพลศึกษา จำนวน 3 ราย ซึ่งมีตำแหน่งเป็นครูชำนาญการพิเศษทั้งหมด
โดยบุคลากรทั้ง 3 รายนี้ นายปริวัฒน์ ได้แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนกีฬา ซึ่งมิใช่ผู้อำนวยการโรงเรียนกีฬาตัวจริงตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องในการดำรงตำแหน่งผู้บริหาร ต่อมาบุคลากรทั้ง 3 รายนี้ ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตามที่เสนอด้วย
แหล่งข่าวที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ยังระบุด้วยว่า ในการร้องเรียนดังกล่าวมีการระบุว่า การที่ นายปริวัฒน์ ได้ใช้อำนาจหน้าที่ดำเนินการดังกล่าว เป็นการกระทำที่ขัดต่อระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย พ.ศ.2536 และเข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และมาตรา 157 ด้วย
สำหรับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ชั้นสายสะพาย (ป.ม.) จัดอยู่ในตำแหน่งระดับ 8 กำหนดเงื่อนไขการขอพระราชทาน 4 ข้อ คือ
1. ได้รับเงินเดือนเต็มขั้นของระดับ 8
2. ดำรงตำแหน่งบังคับบัญชา
3. ได้เครื่องราชฯ ระดับ ท.ช. มาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปีบริบูรณ์
4. ให้ขอได้ในปีก่อนที่จะเกษียนอายุราชการ หรือ ในปีที่เกษียณอายุราชการเท่านั้น
ขณะที่มีรายงานข่าวจากสำนักงาน ป.ป.ช. ว่า เกี่ยวกับคดีนี้ นอกจาก นายปริวัฒน์ ที่ถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช.ลงมติชี้มูลความผิดแล้ว ยังมีผู้ถูกกล่าวหารรายอื่น อีก 9 ราย แต่จากการพิจารณาสำนวนการไต่สวนคดีเบื้องต้น ข้อเท็จจริงยังรับฟังไม่ได้ว่า ผู้ถูกกล่าวหาเหล่านี้ ได้กระทำความผิดตามข้อกล่าวหา ข้อกล่าวหาไม่มีมูล คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงมีมติเห็นควรให้ข้อกล่าวหาตกไป
อย่างไรก็ดี เกี่ยวกับการชี้มูลคดีนี้ของ ป.ป.ช.ยังไม่สิ้นสุด นายปริวัฒน์ ผู้ถูกกล่าวหารายเดียวที่ถูกชี้มูลความผิด ยังมีสิทธิต่อสู้คดีเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ในชั้นศาลได้อีก
บทสรุปการต่อสู้คดีนี้ ในชั้นศาลจะออกมาเป็นอย่างไร ต้องคอยติดตามดูกันต่อไป