“...เหตุผลที่ยกให้เหตุการณ์การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2566 เป็นเหตุการณ์แห่งปี ก็เพราะว่าผลในวันนั้นออกมาเป็นพรรคก้าวไกลได้รับคะแนนเสียงมากที่สุด เป็นการพลิกโฉมการเมืองไทย เพราะคะแนนแทบทั้งหมดเป็นคะแนนที่ประชาชนอยากเลือกจริงๆ คะแนนจัดตั้งน้อยมาก แม้แต่กลยุทธ์การเลือกตั้งที่ขายนโยบายประชานิยมสไตล์พรรคไทยรักไทย-พลังประชาชน-เพื่อไทย ที่เคยประสบความสำเร็จ ก็ประสบความล้มเหลวในการเลือกตั้งครั้งนี้...”
ปี 2566 เป็นอีกปีที่ ‘การเมือง’ ร้อนแรงและเกิดเหตุการณ์ระดับ ‘ปรากฎการณ์’ หลายอย่าง
ไล่ตั้งแต่การสิ้นสุดรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ครองอำนาจมายาวนานกว่า 9 ปี มาจนถึงเหตุการณ์พรรคก้าวไกลฟีเวอร์ หักปากกาเซียนทุกสำนักกวาดคะแนนเสียงมาเป็นอันดับที่ 1 แต่ไม่สามารถตั้งรัฐบาลได้
กลายเป็นพรรคเพื่อไทยที่หาญหัก MOU จับขั้วพรรคลุงก้าวเข้าประตูทำเนียบรัฐบาลอีกครั้งในรอบ 10 ปี พร้อมๆไปกับเหตุการณ์อดีตนายกฯแดนไกล ‘ทักษิณ ชินวัตร’ โผกลับประเทศไทยครั้งแรกในรอบ 15 ปี
เหล่านี้คือ เหตุการณ์สำคัญๆบางส่วนที่หยิบยกมาฉายพอให้เห็นภาพ
และเพื่อประมวลเหตุการณ์และมูฟเม้นท์ทางการเมืองตลอดปี 2566 ให้เด่นชัดยิ่งขึ้น สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงชวน ดร.สติธร ธนานิธิโชติ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า เหลียวหลังและสรุปภาพรวมแต่ละเหตุการณ์ทางการเมืองทั้งหมดอีกครั้งกัน
“ดร.สติธร ธนานิธิโชติ” ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า
@’เลือกตั้ง 14 พ.ค. 66’ เหตุการณ์แห่งปี
ผู้สื่อข่าวเริ่มต้นบทสนทนาโดยถามถึงเหตุการณ์ทางการเมือง ที่ควรเป็น ‘เหตุการณ์แห่งปี 2566’ ดร.สติธรระบุว่า ขอยกให้การเลือกตั้งทั่วไปวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 เป็นเหตุการณ์ทางการเมืองแห่งปี เนื่องจากเป็นเหตุการณ์ที่ประชาชนคนไทยทั่วประเทศมีส่วนร่วมทุกคน แม้จะมีบางสำนักมองว่า เหตุการณ์แห่งปีควรเป็นเหตุการณ์การจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้งก็ตาม แต่ในมุมมองของดร.สติธรมองว่า การจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้ คือการเอาอำนาจที่ประชาชนให้มาไปปู้ยีปู้ยำกันภายหลังมากกว่า แต่อีกมุมหนึ่งก็ต้องยอมรับว่า การจัดตั้งรัฐบาลคือเหตุการณ์ที่มีความสนุกและดราม่าในการติดตามมากที่สุด
อีกเหตุผลที่ยกให้เหตุการณ์การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2566 เป็นเหตุการณ์แห่งปี ก็เพราะว่าผลในวันนั้นออกมาเป็นพรรคก้าวไกลได้รับคะแนนเสียงมากที่สุด เป็นการพลิกโฉมการเมืองไทย เพราะคะแนนแทบทั้งหมดเป็นคะแนนที่ประชาชนอยากเลือกจริงๆ คะแนนจัดตั้งน้อยมาก แม้แต่กลยุทธ์การเลือกตั้งที่ขายนโยบายประชานิยมสไตล์พรรคไทยรักไทย-พลังประชาชน-เพื่อไทย ที่เคยประสบความสำเร็จ ก็ประสบความล้มเหลวในการเลือกตั้งครั้งนี้
“ปัจจัยสำคัญที่ทำให้พรรคก้าวไกลได้คะแนนมากมาย ต้องยอมรับว่าคนส่วนมากอยากเปลี่ยน แม้แต่กลุ่มคนที่เคยไปร่วมชุมนุมกับกลุ่มกปปส.เดิม ก็เทมาให้ก้าวไกล เพราะเป้าหมายเดิมคือ อยากเห็นการปฏิรูปเปลี่ยนแปลง โดยไม่ได้คิดถึงอุดมการณ์ของพรรคก้าวไกล ที่มีเป้าหมายแก้ไขโครงสร้างที่เกี่ยวกับสถาบัน เมื่อผลการเลือกตั้งออกมา ก็ทำให้คนเหล่านี้มีความหวังมากขึ้นว่า สังคมจะเปลี่ยนแปลงได้” ดร.สติธรระบุ
นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล นำสมาชิกพรรคและ สส.ขึ้นรถแห่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย หลังกวาดคะแนนเสียงไปได้ถึง 151 เสียง
ภาพเมื่อวันที่ 15 พ.ค. 2566 ที่ผ่านมา
@ก้าวไกลฟีเวอร์ อาจลากถึงปี 70
ดร.สติธรกล่าวต่อไปว่า ปัจจัยที่ส่งเสริมให้พรรคก้าวไกลชนะเลือกตั้งมาเป็นอันดับ 1 คือ ความเสื่อมมนต์ขลังของวิถีการเมืองไทยนับตั้งแต่ปรากฎการณ์พรรคไทยรักไทยปี 2544 ถึงยุครัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ 9 ปีที่คนเบื่อ โดยเฉพาะปรากฏการณ์แนวทางทางการเมืองแบบพรรคไทยรักไทย ที่แม้ในปี 2544 จะเป็นของใหม่ และถูกพิสูจน์ฝีมือในการบริหารประเทศมาแล้วจนชนะเลือกตั้งในปี 2548 และ 2554 แต่ ณ ปี 2566 รูปแบบการเมืองสไตล์ไทยรักไทย เริ่มอิ่มตัวและกลายเป็นการเมืองเก่าไปแล้ว ผู้คนไม่ได้โหยหาประเทศไทยแบบสมัยพรรคไทยรักไทย หรือแบบรัฐธรรมนูญปี 2540 อีกต่อไป ประชาชนในปัจจุบันต้องการความเปลี่ยนแปลงในระดับโครงสร้างประเทศ ซึ่งอาจจะมาจากความคิดที่ว่า ความเปลี่ยนแปลงแบบรัฐธรรมนูญปี 2540 และการมีรัฐบาลแบบพรรคไทยรักไทย ไม่เพียงพออีกต่อไปแล้วในยุคนี้สมัยนี้ จึงเป็นที่มาของคะแนนพรรคก้าวไกลในวันนี้ แม้คนที่เลือกพรรคก้าวไกลจะไม่ได้มีความคิดเป็นหนึ่งเดียวก็ตาม
ส่วนกระแสความนิยมของพรรคก้าวไกล ที่ยังฟีเวอร์จากหลากหลายโพล ดร.สติธรมองว่า กระแสนิยมนี้อาจจะคงสภาพไปได้ถึงการเลือกตั้งปี 2570 เลยทีเดียว ถ้าไม่มีประเด็นร้อนแรงมาตัดรอนเสียก่อน เพราะตอนนี้มีพรรคการเมืองพรรคเดียวที่ทำการเมืองแนวเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง คือ พรรคก้าวไกล และต้องยอมรับว่า บุคคลที่พรรคชูเป็นผู้นำคือ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ในช่วงเลือกตั้งที่ผ่านมา ก็เป็นผู้นำที่มีเสน่ห์และเพียบพร้อมทั้งความคิด บุคลิกภาพ จนกลายเป็นที่นิยมของประชาชนมากมายในระยะเวลาที่ผ่านมา จนปัจจุบันเมื่อมีการสำรวจโพลสำนักใดก็ตาม ล้วนยกให้นายพิธา เป็นนายกรัฐมนตรีทั้งสิ้น
ทักษิณ ชินวัตร ขณะดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคไทยรักไทย หาเสียงช่วงการเลือกตั้ง 2548
ที่มาภาพ: https://www.thaksinofficial.com/
@ประชานิยมเพื่อไทย-ทักษิณ สิ้นมนต์ขลัง
ผู้สื่อข่าวยิงคำถามต่อว่า ในการเลือกตั้งปี 2566 นอกจากปรากฏการณ์พรรคก้าวไกลแล้ว ช่วงก่อนเลือกตั้งต้องยอมรับวา พรรคการเมืองที่โพลหลายสำนักเก็งให้ชนะเลือกตั้งมากที่สุดคือ พรรคเพื่อไทย แต่จากผลการเลือกตั้งที่ออกมา สะท้อนให้เห็นอย่างไร ดร.สติธรระบุว่า ระดับแกนนำพรรคเพื่อไทยต้องยอมรับได้แล้วว่า วิถีการเมืองสไตล์ไทยรักไทย การตลาดการเมืองแบบประชานิยมที่ใช้มายาวนาน 22 ปี ไม่ได้ผลอีกต่อไปแล้ว ทั้งนี้ ส่วนตัวก็มองว่า คนในพรรคน่าจะดูออก เพียงแต่ว่าตอนนี้ยังหาสไตล์ใหม่ๆไม่ได้ หรืออาจจะมองเห็นทางใหม่ แต่ทำไม่ได้แล้ว
เพราะตอนนี้พรรคเพื่อไทยข้ามขั้วมาจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคการเมืองฝ่ายอนุรักษ์นิยม ซึ่งมีข้อจำกัดว่า จะทำอะไรล้ำๆแบบพรรคก้าวไกลไม่ได้มาก อาจจะถูกฝั่งอนุรักษ์ถอนตัวจากการร่วมรัฐบาลได้ และอีกด้านหนึ่ง หากเลือกทำอะไรล้ำหน้ามาก ก็จะถูกกองเชียร์พรรคก้าวไกลค่อนแคะได้ว่า เลียนแบบ ไหนว่าคิดใหญ่ ทำเป็นไง ซึ่งก็ไม่สามารถดึงคะแนนกลุ่มคนหัวก้าวหน้ากลับมาได้อยู่ดี
ตัวอย่างที่ชัดเจนในประเด็นนี้คือ การผลักดัน พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมที่ผ่านมา แม้ว่ารัฐบาลจะแถลงใหญ่โตว่า ครม.อนุมัติผลักดันเข้าสภา แต่สิ่งที่คนทั้งสังคมจำได้คือ กฎหมายนี้พรรคก้าวไกลเป็นผู้ริเริ่มมาก่อน ไม่สามารถชิงการนำใดๆได้เลย
หากทำนโยบายก้าวหน้าไม่ไหว ครั้นจะกลับไปใช้นโยบายประชานิยมเต็มรูปแบบก็ทำไม่ได้อีก เพราะนอกจากจะหมดยุคไปแล้ว ซึ่งสะท้อนจากผลการเลือกตั้งที่มาเป็นอันดับ 2 ก็มีอีกปัจจัยคือ วันที่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมไล่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยออกไป ช่วงที่พล.อ.ประยุทธ์เป็นรัฐบาลก็ได้ร่างระเบียบและกฎหมายต่างๆล็อกนโยบายพวกนี้ไว้แล้ว อาทิ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 เป็นต้น
บวกกับกองเชียร์ฝั่งนี้ก็ไม่ได้ชื่นชอบนโยบายแนวนี้ของพรรคเพื่อไทยมาตั้งแต่แรกด้วย พรรคร่วมรัฐบาลคงไม่ปล่อยให้พรรคเพื่อไทยทำแน่นอน เพราะจะกระทบกับฐานเสียงที่ล้วนเคยไล่ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์มาแล้วทั้งนั้น หรือแม้จะไม่มีใครขัดขวาง ปล่อยให้ทำได้เต็มที่ ก็ใช่ว่าความนิยมจะกลับมาด้วยซ้ำ
“พรรคเพื่อไทยโดยเนื้อแท้ก็ไม่ใช่พรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย แต่ที่ถูกยกขึ้นมาเพราะรัฐบาลของพรรคนี้ถูกรัฐประหาร 2 ครั้งคือในปี 2549 และ 2557 เลยกลายเป็นสัญลักษณ์ไป เพราะรัฐบาลของพรรคมาจากการเลือกตั้ง ถูกล้มด้วยการรัฐประหาร หากมองการทำงานสไตล์คุณทักษิณ นายกฯ ผู้ว่าซีอีโอ มันประชาธิปไตยตรงไหน? นี่มันคือการรวมศูนย์นะ นโยบายประชานิยมก็พิสูจน์แล้วว่า รัฐบาลประชาธิปไตยหรือไม่ประชาธิปไตย ก็ทำนโยบายแนวนี้ได้ แถมในพรรคก็ไม่มีประชาธิปไตย มีข่าวตามหน้าสื่อตลอดว่า หัวหน้าพรรคไม่ได้จากการโหวตโดยสมาชิกพรรคลงแข่งขันกัน เป็นคนที่นายใหญ่จิ้มมาทั้งนั้น อีกทั้งระบบอุปถัมภ์ บ้านใหญ่ก็เต็มพรรคไปหมด ดังนั้น โดยธรรมชาติไม่ใช่พรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย แต่ที่ถูกยกย่อง เพราะสถานการณ์พาไป เมื่อมีพรรคการเมืองที่ประชาธิปไตยกว่าอย่างก้าวไกล คนก็เทไปให้หมด” ดร.สติธรกล่าว
นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ผู้สมัคร สส.ปาร์ตี้ลิสต์ อันดับ 1 ของพรรคเพื่อไทย ณ ขณะนั้น หาเสียงที่ตลาดมีนบุรี
ที่มาภาพ: Yingluck Shinawatra
@’อุ๊งอิ๊ง 66’ ไม่ป๊อบเท่า ‘ยิ่งลักษณ์ 54’
เมื่อสแกนลงไปที่ตัวแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทยที๋โดดเด่น 2 คนคือ ‘แพทองธาร ชินวัตร’ และ ‘เศรษฐา ทวีสิน’ ดร.สติธรมองว่า โฟกัสที่นางสาวแพทองธารก่อน หากเปรียบเทียบกับนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งในการเลือกตั้ง 2554 เปิดตัวในฐานะ ‘ผู้สมัคร ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์อันดับหนึ่งพรรคเพื่อไทย’ นั้นจะพบว่า ในสมัยของนางสาวยิ่งลักษณ์ มีหลายปัจจัยหนุนนำดีกว่าหลายข้อ ได้แก่ 1.การเลือกตั้งปี 2554 เกิดขึ้นหลังเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อปี 2552-2553 ไม่นาน 2.พรรคฝ่ายประชาธิปไตยมีพรรคเพื่อไทยพรรคเดียว 3. มรดกพรรคไทยรักไทยและวิถีการเมืองทักษิณ ยังขายได้อยู่ในยุคนั้น และ 4. คนโหยหานายกรัฐมนตรีแบบนายทักษิณ ชินวัตร เมื่อมีบุคคลที่เป็นเครือญาติเข้ามาประกาศตัว จึงยิ่งทำให้คนแห่เลือกถึง 15 ล้านเสียง
เมื่อตัดกลับมาที่การเลือกตั้ง 2566 การเปิดตัวนางสาวแพทองธารครั้งแรกเมื่อวันที่ 28 ต.ค. 2564 ในฐานะประธานคณะที่ปรึกษาด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรมของพรรค ต้องยอมรับว่า ‘ไม่ป๊อบ’ เพราะตอนนี้ประเทศไทยมีพรรคก้าวไกลเข้ามาแล้ว และกลายเป็นโจทย์ใหม่ที่ใหญ่กว่าการเอาชนะพล.อ.ประยุทธ์ด้วย
ผู้สื่อข่าวถามว่า ทำไมสูตรเดียวกัน จึงไม่ประสบความสำเร็จเหมือนกัน ดร.สติธรแสดงความเห็นว่า สาเหตุหนึ่ง คนไทยรู้จัก ‘อุ๊งอิ๊ง’ มาก่อน หากเทียบกับสมัยที่เปิดตัวนางสาวยิ่งลักษณ์ ตอนนั้นคนไทยไม่รู้เลยว่า นางสาวยิ่งลักษณ์เป็นใคร? รู้แค่ว่าเป็นน้องสาวของนายทักษิณเท่านั้น ประกอบกับเมื่อเปิดตัวนางสาวยิ่งลักษณ์แล้ว พรรคเพื่อไทยก็เปิดแคมเปญ ‘ทักษิณคิด เพื่อไทยทำ’ กลายเป็นสิ่งที่ขายได้ในช่วงนั้นทันที
แต่ ‘อุ๊งอิ๊ง’ ต้องยอมรับว่า คนไทยเห็นและเป็นคนที่อยู่ในสปอร์ตไลน์ของสังคมมานานแล้ว และที่สำคัญคือ นายทักษิณไม่เคยมอบบทบาทใดๆทางการเมืองให้ลูกสาวคนนี้ทำมาก่อน ในอดีตจะเห็นบทบาทของนายพานทองแท้ บุตรชายคนโตมากกว่า โดยมักจะแสดงความเห็นทางการเมืองผ่าน Facebook บ้าง แต่กับลูกสาว 2 คน ก่อนหน้านี้ไม่ได้แสดงบทบาท หรือออกมาขับเคลื่อนวาระทางการเมืองใดๆเลย
“ถ้าคุณแพทองธารมีแพชชั่นทางการเมืองจริงๆ ควรจะเริ่มปั้นตั้งแต่อายุ 25 ปีแล้ว แต่บทบาทที่ผ่านมาคุณแพทองธารออกแนวเป็นไฮโซมากกว่า มีวิถีชีวิตของตัวเองมากกว่าจะมาลงสนามการเมือง ทั้งๆที่คุณแพทองธารมีคุณสมบัติ อย่างน้อยคือจบคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมา แต่เหมือนครอบครัวไม่ได้วางให้มาทางนี้” ดร.สติธรวิเคราะห์
อย่างไรก็ตาม วันนี้ นางสาวแพทองธาร ก้าวขาสู่สนามการเมืองชัดเจนแล้ว และมีแนวโน้มจะได้เป็นนายกรัฐมนตรีในอนาคตด้วย ดร.สติธรวิเคราะห์ว่า พรรคเพื่อไทยน่าจะเตรียมเส้นทางให้นางสาวแพทองธารไว้แล้ว แต่การขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีในวาระรัฐบาล 4 ปีนี้มองว่ายังเร็วเกินไป เพราะยังสะสมบารมีทางการเมืองไม่ทัน แต่คิดว่าควรให้นางสาวแพทองธารเข้ามามีบทบาททางการเมือง โดยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศก่อน เพราะต้องไม่ลืมว่า นายทักษิณเข้าสู่สนามการเมืองครั้งแรก ก็ด้วยการเข้ามาเป็นรัฐมนตรีกระทรวงนี้ ซึ่งคาดว่าทีมงานของพรรคเพื่อไทยน่าจะรู้วิธีใช้กระทรวงนี้เสริมส่งนางสาวแพทองธารให้มีผลงานออกสู่สายตาประชาชน อีกทั้ง เป็นกระทรวงที่ไม่ใหญ่เกินไป ข้าราชการก็ไม่ได้มาก พอควบคุมได้
ที่มาภาพ: สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล
@’เศรษฐา’ ใช้โมเดล ‘ทักษิณ’ ไม่ได้
ขณะที่นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน ‘เศรษฐา ทวีสิน’ ดร.สติธรมองว่า ตัวนายเศรษฐาเพิ่งมามีโมเมนตัมในช่วงเลือกตั้ง 2566 หลังชัดเจนแล้วว่า จะดันให้เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีตัวจริง โดยการให้ไปปราศรัยตามเวทีหาเสียงต่างๆด้วยความแข็งกร้าวในประเด็นเชิงต่อต้านรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ แต่ก็ไม่ได้คะแนนเสียงเพิ่ม
เนื่องจากก่อนหน้านี้ พรรคเพื่อไทยเอานางสาวแพทองธารเดินสายต่อเนื่องยาวนานกว่า 1 ปี แต่อยู่ๆเอานายเศรษฐามาโผล่ช่วงเลือกตั้งไม่กี่วัน ซึ่งก็สายเกินไป แม้ก่อนหน้านี้จะมีการตระเวนไปให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนหลายสำนักเชิงส่งสัญญาณว่า จะมาลงการเมือง แต่มันไม่พอ เพราะคนส่วนใหญ่ก็ยังไม่รู้จักอยู่ดี การจะทำให้คนรู้จัก ต้องลงไปเจอประชาชนตามพื้นที่ต่างๆให้เห็นหน้าเห็นตา แต่กล่าวสำหรับฐานเสียงพรรคเพื่อไทย คงไม่เปลี่ยนใจไปเลือก เพราะตัวเลือกนายเศรษฐายังรับได้อยู่
ส่วนการที่พรรคเพื่อไทยเสนอตัวนายเศรษฐาช่วงโค้งสุดท้าย เป็นไปได้หรือไม่ว่า เพราะบุคลิกนายเศรษฐาคล้ายนายทักษิณ ชินวัตรช่วงปี 2544 และ 2548 ดร.สติธรมองว่า โมเดลทักษิณปี 2544 และ 2548 ก็เป็นโมเดลที่ประสบความสำเร็จมาก่อน เชื่อว่า พรรคเพื่อไทยก็คิดแบบนี้กับกรณีของนายเศรษฐา แต่ว่า นายทักษิณยุคนั้นถือเป็นของใหม่ เพราะยุคนั้นไล่ตั้งแต่หลังพฤษภาทมิฬถึงปี 2544 ก็ลองมาหมดแล้วทั้งทหาร นักการเมืองท้องถิ่น นักการเมืองบ้านใหญ่ เทคโนแครต และอดีตข้าราชการระดับสูง แต่คนไทยยังไม่เคยลองนายกรัฐมนตรีจากนักธุรกิจเอกชนมาก่อน ตัวเลือกทักษิณยุคนั้นจึงใหม่มาก
อีกทั้งธุรกิจที่นายทักษิณทำก่อนมาลงการเมืองคือ ธุรกิจด้านเทคโนโลยีทั้งดาวเทียมและเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่มีนวัตกรรมใหม่ ผิดกับนายเศรษฐาที่โตมาจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ไม่ใช่อุตสาหกรรมเทคโนโลยีสมัยใหม่ ซึ่งเทียบกันไม่ได้ คนละเบอร์
@จับ-ไม่จับ พปชร. ไม่ใช่ปัจจัยแพ้
อีกสาเหตุที่คนคาดเดาว่า เป็นเหตุผลสำคัญของความพ่ายแพ้ของพรรคเพื่อไทยคือ การที่ไม่ชัดเจนเรื่องจับมือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ตั้งรัฐบาล แต่ในมุมอ.สติธรวิเคราะห์ว่า ไม่ใช่สาเหตุสำคัญ เพราะประชาชนทุกคนน่ารู้กันดีอยู่แล้ว และจะเป็นแต้มบวกให้เพื่อไทยด้วยซ้ำ เพราะพล.อ.ประวิตร คุมเสียง สว.ไว้ส่วนหนึ่ง น่าจะได้เปรียบ และกระแสตอนนั้นคือ พรรคเพื่อไทยน่าจะได้เป็นรัฐบาล ดังนั้น การที่ไม่ตอบชัดเรื่องนี้ น่าจะไม่สาเหตุสำคัญ
เมื่อผู้สื่อข่าวถามแย้งว่า แต่ตอนนั้นก็สร้างกระแสความหวาดระแวงว่า พรรคเพื่อไทยจะหักหลัง ดร.สติธรตอบว่า ตอนนั้นคนไม่ได้ระแวงเท่ากับตอนจัดตั้งรัฐบาล ดังนั้น คะแนนพรรคก้าวไกลที่ได้มาคือ คะแนนจากคนที่นิยมพรรค คนที่อยากเปลี่ยน และส่วนหนึ่งคือ ตอนนั้นคนทั่วไปยังมองว่า พรรคเพื่อไทยกับพรรคก้าวไกลคือพรรคพี่น้อง เลือกพรรคไหนก็ได้
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา อำลาข้าราชการในรั้วทำเนียบรัฐบาล หลังมีพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายเศรษฐา ทวีสิน เป็นายกรัฐมนตรีคนใหม่
ที่มาภาพ: Facebook พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีแห่งการเปลี่ยนแปลง
@’ประยุทธ์’ ผู้ชนะตัวจริง
หลังจากพูดถึงพรรคฝ่ายประชาธิปไตยกันไปแล้ว มากล่าวถึงพรรครัฐบาลเดิม โดยเฉพาะ พรรครวมไทยสร้างชาติและพรรคพลังประชารัฐ ภายใต้ 2 ลุง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ กันบ้าง ซึ่งในมุมมอง อ.สติธรเห็นว่า คนที่แพ้แต่กลายเป็นชนะในรอบปี 2566 ที่ผ่านมา คือ ‘พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา’
เพราะช่วงเลือกตั้ง 2566 พล.อ.ประยุทธ์ถูกมองว่า เป็นบุคคลที่ดูจะเพลี่ยงพล้ำจากการเลือกตั้งมากที่สุด และเป็นผู้ที่ถูกพล.อ.ประวิตรกระทำมาโดยตลอด แต่สุดท้ายเมื่อการจัดตั้งรัฐบาลเสร็จสิ้นลง กลายเป็นว่า พล.อ.ประยุทธ์นี่เองที่เป็น ‘บิ๊กดีลทางการเมือง’
เพราะต้องไม่ลืมว่า นอกจากเป้าหมายการเป็นรัฐบาลแล้ว พรรคเพื่อไทยมีเป้าหมายที่จะต้องนำนายทักษิณกลับประเทศด้วย ซึ่ง พล.อ.ประวิตร ไม่สามารถทำให้นายทักษิณกลับประเทศได้ แต่คนที่ทำได้คือ พล.อ.ประยุทธ์ ถือเป็น ดีลเหนือดีล พอมองย้อนกลับไปด้วยเหตุปัจจัยเหล่านี้ จึงพอจะมองออกว่า พรรคเพื่อไทยน่าจะดีลกับพล.อ.ประยุทธ์ไว้แน่นอน แต่อาจจะมีเงื่อนไขบางประการที่เราก็ไม่รู้ เพราะตอนเลือกตั้ง พล.อ.ประยุทธ์ก็สู้สุดชีวิต ไม่ยอมแพ้ง่ายๆ การเจรจาเพื่อเงื่อนไขบางประการ จึงต้องมี
ส่วนผลการเลือกตั้งของพรรครวมไทยสร้างชาติที่ได้ 36 ที่นั่ง สะท้อนความนิยมในตัวพล.อ.ประยุทธ์เสื่อมลงหรือไม่ ดร.สติธรวิเคราะห์ว่า ความเบื่อพล.อ.ประยุทธ์อาจจะมีบ้าง แต่ตัวเลือกในฝั่งอนุรักษ์นิยมที่เด่นชัดจริงๆ มีแค่พล.อ.ประยุทธ์ ตัวเลือกอื่น เช่น นายอนุทิน ชาญวีรกูล, นายจุรินทร์ ลักษณวิศษฎ์ หรือแม้แต่ตัวพล.อ.ประวิตร ก็ยังไม่ใช่สิ่งที่ดีพอเท่าพล.อ.ประยุทธ์ ดังนั้น คนฝั่งนี้จึงเทเลือก พล.อ.ประยุทธ์
ขณะที่พรรคพลังประชารัฐที่นำโดย พล.อ.ประวิตร ต้องยอมรับว่า การเลือกตั้งที่ได้คะแนนเสียงมา 40 เสียง ส่วนใหญ่มาจาก ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรค และกลุ่มบ้านใหญ่ในพรรค เช่น นายวราเทพ รัตนากร, นายสันติ พร้อมพัฒน์ และนายไผ่ ลิกค์ เป็นต้น ตัวพล.อ.ประวิตรไม่ได้มีจุดขายใดๆในจุดนี้ แถมในเดือนพ.ค. 2567 สว.หมดอายุ พล.อ.ประวิตรก็ไม่มีอาวุธในมืออีกแล้ว ดังนั้น ทางไปของพล.อ.ประวิตรหลังจากนี้น่าจะลำบาก และพรรคพลังประชารัฐจะไปต่อได้แค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับสุขภาพของพล.อ.ประวิตรเองด้วย ส่วนจะส่งต่อให้น้องชาย พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ก็ยากอีก เพราะ พล.ต.อ.พัชรวาทไม่เด่นเท่า ร.อ.ธรรมนัส
อย่างไรก็ตาม ในช่วงท้ายของบทสัมภาษณ์ เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า จากการวิเคราะห์สถานการณ์ทางการเมืองปี 2566 หากจะให้ยกใครเป็น ‘บุคคลการเมืองแห่งปี’ พอจะเป็นใคร คำตอบดร.สติธรคือ ‘พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา’ เพราะปี 2566 ต่อให้พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ชนะในเกมการเลือกตั้ง 2566 แต่พล.อ.ประยุทธ์คือเบอร์ 1 ของขั้วการเมืองฝ่ายอนุรักษ์นิยม และต้องยอมรับว่า พล.อ.ประยุทธ์คือคีย์แมนสำคัญในหลายเหตุการณ์
ใครที่สกัดไม่ให้พรรคก้าวไกลและนายพิธาเข้าทำเนียบรัฐบาล?
ใครคือคีย์แมนสำคัญที่ทำให้นายทักษิณ ชินวัตรกลับบ้านได้สำเร็จ?
ใครคือคีย์แมนที่สานฝันให้ ‘เศรษฐา ทวีสิน’ นั่งบัลลังก์นายกรัฐมนตรีคนที่ 30?
คีย์แมนดังกล่าวคือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
“พล.อ.ประยุทธ์คือนักการทหารมืออาชีพ หมาก กล เกมการเมืองต่างๆ แกคิดแบบทหารที่วางกลศึกแบบทหารแทบทั้งหมด และช่วงปลายทางก็จบสวยด้วย” ดร.สติธรทิ้งท้าย