เปิดเบื้องหลังคดีจับสด เจ้าพนักงาน ฝ่ายรายได้ สนง.เขตราชเทวี กรุงเทพฯ เรียก 3.2 ล. แลกไม่ต้องจ่ายภาษีโรงเรือน 40 ล. ‘พันธ์เลิศ ใบหยก’ นักธุรกิจใหญ่ ผู้เสียหาย แจ้งความ ตร. ปปป. ก่อน ปปง.สั่งยึดเงินสด 6 ล.
สืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ 4 เม.ย. 2566 เจ้าหน้าที่หลายหน่วยงาน ร่วมกันจับกุม นายประมวล แสงแก้วศรี เจ้าหน้าที่สำนักงานเขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร ใช้อำนาจ ในตำแหน่งหน้าที่เรียกรับเงินจากผู้เสียหายซึ่งเป็นผู้ประกอบการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ให้ บริษัทฯ เข้าไปชำระภาษีโรงเรือนและที่ดิน พฤติการณ์ จำนวน 3 ล้านบาท เพื่อบริษัทฯ ไม่ต้องชำระภาษี โรงเรือนและที่ดิน จำนวน 40 ล้านบาท ตามที่สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานแล้ว
- จับสด! ป.ป.ช.-ตร.-ป.ป.ท. รวบตัวเจ้าพนักงานเขตราชเทวี เรียกรับผลปย. 3.2 ล้าน
- เจอเงินอีก 6.9 ล.! ตามค้นบ้าน หน.ฝ่ายฯเขตราชเทวี ซุกไว้ในรถ-พระเครื่องเพียบ
- ปปป.ค้นห้องพักหญิงคนสนิท จนท.ราชเทวีเรียกสินบน เลี่ยงภาษี พบสมุดบัญชียอดเงินกว่า 5 ล้าน
- เจาะปฏิบัติการค้นทรัพย์ หน.ฝ่ายฯเขตราชเทวี คดีสินบน เงินอื้อ15.1ล.-พระเครื่องนับหมื่นองค์
- มีเหยื่อกว่า100ราย! ปปป.พบไดอารี่ลับหน.ฝ่ายฯ ราชเทวี โยงจนท.นับ10-เงินหมุนเวียนร้อยล้าน
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา รายงานว่า เมื่อวันที่ 7 ธ.ค.2566 สำนักงานป้องกันปราบปรามการฟอกเงิน (สํานักงาน ปปง.) ได้มีคำสั่งคณะกรรมการธุรกรรม ที่ ย.241/2566 เรื่อง ยึดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไว้ชั่วคราว รายนายประมวล แสงแก้วศรี กับพวก โดย ยึดเงินสด จำนวน 6 ล้านบาท เจ้าของกรรมสิทธิ์หรือผู้ครอบครอง นางสาวปราณี เอี่ยมละออศรี หรือแสงแก้วศรี คำสั่งดังกล่าว ระบุความเป็นมาในคดีนี้ว่า นายพันธ์เลิศ ใบหยก กรรมการผู้มีอํานาจของ บริษัทภูมิภวัน จํากัด ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน กองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2566 นำมาสู่การเข้าร่วมกันจับกุมนายประมวลที่ลานจอดรถโรงแรมแบงค็อกมิดทาวน์ ขณะนัดมารับเงินจํานวน 3,200,000 บาท
มีรายละเอียดดังนี้
ด้วยสำนักงานป้องกันปราบปรามการฟอกเงิน (สํานักงาน ปปง.) ได้รับรายงานจากกองบังคับการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ ตามหนังสือที่ ตช 0026.(10)/1544 ลงวันที่ 4 เมษายน 2566 เรื่อง รายงานการดําเนินคดีความผิดต่อตําแหน่งหน้าที่ราชการ รายนายประมวล แสงแก้วศรี กับพวก ซึ่งเป็นกรณีมีพฤติการณ์แห่งการกระทําความผิดต่อตําแหน่งหน้าที่ราชการ และความผิดต่อตําแหน่งหน้าที่หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายอื่น กล่าวคือ
เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2566 นายพันธ์เลิศ ใบหยก กรรมการผู้มีอํานาจของ บริษัทภูมิภวัน จํากัด ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงาน สอบสวน กองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ ให้ดําเนินคดีกับนายประมวล แสงแก้วศรี ตําแหน่งพนักงานเจ้าหน้าที่ฝ่ายรายได้ สังกัดสํานักงานเขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานเรียก รับหรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดสําหรับตนเอง หรือผู้อื่นโดยไม่ชอบ เนื่องจากบริษัท ภูมิภวัน จํากัด ได้รับหนังสือจากสํานักงานเขตราชเทวี แจ้งให้บริษัทภูมิภวัน จํากัด ชําระภาษี โรงเรือนและที่ดินจํานวนประมาณกว่า 40 ล้านบาท บริษัทภูมิภวัน จํากัด จึงได้มอบหมายให้พนักงาน ของบริษัทภูมิภวัน จํากัด เข้าไปติดต่อที่สํานักงานเขตราชเทวีและได้พบกับ นายประมวล แสงแก้วศรี ตําแหน่ง – พนักงานเจ้าหน้าที่ฝ่ายรายได้ โดยนายประมวล แสงแก้วศรี ได้แจ้งว่า หากนำเงินมาให้ตน จำนวน 3,200,000 บาท สามารถจัดการเรื่องดังกล่าวได้ทําให้บริษัทภูมิภวัน จํากัด ไม่ต้องชําระภาษีโรงเรือนและที่ดิน จำนวน 40 ล้านบาท และนัดรับเงินในวันที่ 4 เมษายน 2566 ที่โรงแรมแบงค็อกมิดทาวน์
จากนั้นนายพันธ์เลิศ ใบหยก กรรมการผู้มีอํานาจของบริษัทภูมิภวัน จํากัด จึงได้เข้าร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน กองบังคับการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ พร้อมนําเงินสด จํานวน 3,200,000 บาท มาลงบันทึกประจําวัน ไว้เป็นหลักฐาน
ต่อมาในวันที่ 4 เมษายน 2566 เจ้าพนักงานตํารวจ เจ้าหน้าที่ของสํานักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ และเจ้าหน้าที่ของสํานักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ได้ร่วมกันวางกําลังที่โรงแรมแบงค็อกมิดทาวน์ ปรากฏว่าพบนายประมวล แสงแก้วศรี เดินทางมาที่โรงแรมตามกําหนดเวลาเพื่อมารับเงินจํานวน 3,200,000 บาท และขณะที่นายประมวล แสงแก้วศรี เดินไปที่ลานจอดรถด้านหน้าของโรงแรมพร้อมกับถือถุงกระดาษสีขาว จํานวน 1 ใบ เจ้าพนักงานตำรวจได้แสดงตัวขอตรวจสอบและตรวจค้นพบเงินสด จํานวน 3,200,000 บาท และจากการตรวจสอบ หมายเลขธนบัตรกับหมายเลขธนบัตรในสําเนาบันทึกประจําวันมีหมายเลขธนบัตรตรงกัน จึงทําการตรวจยึดไว้ เป็นหลักฐานและเป็นของกลางในการดําเนินคดีต่อไป พนักงานสอบสวน กองกํากับการ 1 กองบังคับการ ป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ จึงแจ้งข้อกล่าวหากับนายประมวล แสงแก้วศรี ว่ากระทำความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานเรียก รับหรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเอง หรือผู้อื่นโดยไม่ชอบ เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในต่ำแหน่งไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 และเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 อันเข้าลักษณะเป็นความผิดมูลฐานตามมาตรา 3 (5) แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 กรณีมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่านายประมวล แสงแก้วศรี กับพวก ได้ไปซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดดังกล่าว
พันธ์เลิศ ใบหยก
ในการนี้ เพื่อประโยชน์ในการปฎิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินในการประชุมคณะกรรมการธุรกรรม ครั้งที่ 5/2566 เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2566 ที่ประชุมมีมติมอบหมาย พนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อดําเนินการตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ประกอบ กับคําสั่งเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ลับ ที่ ม. 344/2566 ลงวันที่ 24 พฤษภาคม 2566 เรื่อง มอบหมายพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบธุรกรรมหรือทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทํา ความผิด รายนายประมวล แสงแก้วศรี กับพวก พนักงานเจ้าหน้าที่ได้ดําเนินการตรวจสอบรายงานการทําธุรกรรมหรือข้อมูลเกี่ยวกับการทําธุรกรรมของบุคคลดังกล่าวแล้ว ปรากฏหลักฐานเป็นที่เชื่อได้ว่า นายประมวล แสงแก้วศรี กับพวก มีพฤติการณ์แห่งการกระทําความผิด อันเข้าลักษณะเป็นความผิดมูลฐานตามมาตรา 3 (5) แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 หรือเป็นผู้ซึ่งเกี่ยวข้องหรือเคยเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้กระทําความผิดมูลฐานหรือความผิดฐานฟอกเงิน และจากการตรวจสอบข้อมูลการทําธุรกรรม หรือทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทําความผิด รวมทั้งจากการรวบรวมพยานหลักฐาน ปรากฏว่าบุคคลดังกล่าว ได้ไปซึ่งทรัพย์สินเกี่ยวกับการกระทําความผิด จํานวน 1 รายการ พร้อมดอกผล และเนื่องจากทรัพย์สิน ที่เกี่ยวกับการกระทําความผิดในคดีนี้เป็นสังหาริมทรัพย์ประเภทเงินสด อันเป็นทรัพย์สินที่มีสภาพคล่อง สามารถปกปิด ซ่อนเร้น หรือโอนเปลี่ยนมือได้ง่าย หากมิได้มีการออกคําสั่งให้ยึดทรัพย์สินดังกล่าวไว้ชั่วคราว เมื่อเจ้าของหรือผู้มีส่วนได้เสียหรือผู้มีสิทธิในทรัพย์สินดําเนินการโอน จําหน่าย ยักย้าย ปกปิด หรือซ่อนเร้น ทรัพย์สินดังกล่าวไปเสีย และหากต่อมาศาลได้มีคำสั่งให้ทรัพย์สินดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดิน สำนักงาน ปปง. อาจไม่สามารถติดตามทรัพย์สินดังกล่าวกลับคืนมาได้ จึงเป็นกรณีที่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า นายประมวล แสงแก้วศรี กับพวก ได้ไปซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด และอาจมีการโอน จำหน่าย ยักย้าย ปกปิด หรือซ่อนเร้นทรัพย์สินดังกล่าว
อาศัยอํานาจตามความในมาตรา 34 (3) และมาตรา 48 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติ ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มติคณะกรรมการธุรกรรมในการประชุม ครั้งที่ 12/2566 เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2566 และระเบียบคณะกรรมการธุรกรรม ว่าด้วยการรับเรื่อง การตรวจสอบ การพิจารณาดําเนินการ และการควบคุมตรวจสอบการปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่
ตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2556 ข้อ 25 คณะกรรมการธุรกรรม จึงมีคําสั่งยึดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทําความผิดไว้ชั่วคราว จํานวน 1 รายการ พร้อมดอกผล
คือ เงินสด จำนวน 6,900,000 บาท (หกล้านเก้าแสนบาทถ้วน) เจ้าของกรรมสิทธิ์หรือผู้ครอบครอง นางสาวปราณี เอี่ยมละออศรี หรือแสงแก้วศรี ข้อมูล ณ วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2566 มีกําหนดไม่เกิน 90 วัน (เก้าสิบวัน) นับตั้งแต่วันที่คณะกรรมการธุรกรรมมีมติ กล่าวคือ นับตั้งแต่วันที่ 7 ธันวาคม 2566 ถึงวันที่ 5 มีนาคม 2567
ทั้งนี้ ให้รวมถึงเงินหรือทรัพย์สินที่ได้มาจากการจําหน่าย จ่าย โอนด้วยประการใด ๆ ซึ่งทรัพย์สินดังกล่าวหรือสิทธิเรียกร้องหรือผลประโยชน์หรือดอกผลของเงินหรือทรัพย์สินดังกล่าวด้วย
สำนักข่าวอิศรารายงานว่า คำสั่งยึดทรัพย์นายประมวลของ ปปง. ระบุ ชื่อ นายประมวล แสงแก้วศรี เป็นผู้ถูกกล่าวหา
อย่างไรก็ตาม จนถึงขณะนี้ (27 ธ.ค.2566) ศาลยุติธรรมยังไม่มีคำพิพากษาว่านายประมวลกระทำผิดตามข้อกล่าวหา