ดูชัดๆ คำสั่ง ปปง. อายัดเงินฝาก 24 บัญชี 21.8 ล. กลุ่มเครือข่าย‘ทุน มิน หลัด’พวก หลังรับเรื่อง ตร.ปปส. สืบสวนพบนำเงินจากค้ายาเสพติดซื้อกระแสไฟฟ้า แปรสภาพเพื่อปิดบังซ่อนเร้น หลีกเลี่ยงการตรวจสอบ ในคดีอาญาผู้ต้องหา 10 ราย มีชื่อ ‘ดีน ยัง จุลธุระ-พันณรงค์ ขุนพิทักษ์-บ.อัลลัวร์ กรุ๊ป’ด้วย
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า คณะกรรมการธุรกรรม สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (สำนักงาน ปปง.) มีคำสั่งที่ ย.220/2566 ลงวันที่ 14 พ.ย.2566 อายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไว้ชั่วคราวราย นายทุน มิน หลัด (TUN MIN LATT) กับพวกซึ่งเป็นกรณีมีพฤติการณ์แห่งการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดหรือกฎหมายว่าด้วยมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด เป็นทรัพย์สิน เงินในบัญชีเงินฝากจำนวน 24 รายการ รวม 21,893,362.45 บาท ไว้เป็นการชั่วคราว
@ ทุน มิน หลัด
คำสั่งดังกล่าวมีรายละเอียดดังนี้
ด้วยสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (สำนักงาน ปปง.) ได้รับรายงานจากกลุ่มงานสอบสวนและตรวจสอบทรัพย์สิน กองบังคับการตำรวจปราบปรามยาเสพติด 3 กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด ตามหนังสือที่ ตช 0027.42/447 ลงวันที่ 27 มกราคม 2566 เรื่อง รายงานการจับกุมดำเนินคดี กลุ่มเครือข่ายยาเสพติด นายทุน มิน หลัด (TUN MIN LATT) กับพวกซึ่งเป็นกรณีมีพฤติการณ์แห่งการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดหรือกฎหมายว่าด้วยมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด กล่าวคือ
เจ้าพนักงานตำรวจกองกำกับการ 2 กองบังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวน กองบัญชาการตำรวจนครบาลโดยพันตำรวจโท มานะพงษ์ วงศ์พิวัฒน์ ทำการสืบสวนพบพยานหลักฐานว่าผู้ต้องหาในคดีนี้ ประกอบด้วย
นายทุน มิน หลัด (MRTUN MIN LATT) ผู้ต้องหาที่ 1
นายดีน ยัง จุลธุระ ผู้ต้องหาที่ 2
นางสาวน้ำหอม เนตรตระกูล ผู้ต้องหาที่ 3
นางปิยะดา คำต๊ะ ผู้ต้องหาที่ 4
นายพันณรงค์ ขุนพิทักษ์ ผู้ต้องหาที่ 5
นางสาวกัลยวีร์ ธีระประภาวงศ์ ผู้ต้องหาที่ 6
นายอุปกิต ปาจรียางกูร ผู้ต้องหาที่ 7
บริษัท เมียนมาร์ อัลลัวร์ กรุ๊ป จำกัด (Wyanmar Allure Group Co., LTD) ผู้ต้องหาที่ 8
บริษัท อัลลัวร์ กรุ๊ป จำกัด ผู้ต้องหาที่ 9
และบริษัท อัลลัวร์ กรุ๊ป (พีแอนด์อี) จำกัด ผู้ต้องหาที่ 10
กระทำการในฐานะส่วนตัวและนิติบุคคลนำเงินที่ได้จากการค้ายาเสพติดไปซื้อกระแสไฟฟ้า ซึ่งถือเป็นการแปรสภาพเงินที่ได้มาจากการกระทำความผิด เรื่องยาเสพติดไปเป็นทรัพย์สินอื่น เพื่อปิดบังซ่อนเร้น และหลีกเลี่ยงการตรวจสอบ โดยมีเส้นทางการเงินของบัญชีที่ใช้ทำเรื่องการค้ายาเสพติดหลายบัญชี ข้อความการสนทนา และความเป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัท พนักงานสอบสวนกลุ่มงานสอบสวนและตรวจสอบทรัพย์สิน กองบังคับการตำรวจปราบปรามยาเสพติด 3 กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด รับคำร้องทุกข์เป็นคดีอาญาที่ 122/2565 เหตุเกิดที่ เมืองท่าขี้เหล็ก รัฐฉาน ประเทศเมียนมาร์ อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี เขตยานนาวา เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงรายและที่ตั้งของธนาคารหลายแห่งในราชอาณาจักร ต่อเนื่องและเกี่ยวพันกัน ระหว่างเดือนเมษายน 2562 ถึง กรกฎาคม 2565 ในเวลากลางวันกลางคืนต่อเนื่องกัน อันเข้าลักษณะเป็นความผิดมูลฐานตามมาตรา 3 (1) แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และกรณีมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า กลุ่มเครือข่ายยาเสพติด นายทุน มิน หลัด (TUN MIN LATT) กับพวก ได้ไปซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดดังกล่าว
ในการนี้ เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ในการประชุมคณะกรรมการธุรกรรม ครั้งที่ 3/2566 เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2566 ที่ประชุมมีมติมอบหมายพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อดำเนินการตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ประกอบกับคำสั่งเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ลับ ที่ ม. 208/2566 ลงวันที่ 30 มีนาคม 2566 เรื่อง มอบหมายพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบธุรกรรมหรือทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด รายกลุ่มครือข่ายยาเสพติด นายทุน มิน หลัด (TUN MIN LATT) กับพวก และคำสั่งเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ลับ ที่ ม. 356/2566 ลงวันที่ 20 มิถุนายน 2566 เรื่อง มอบหมายพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบธุรกรรมหรือทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด (เพิ่มเติม) รายกลุ่มครือข่ายยาเสพติด นายทุน มิน หลัด (TUN MIN LATT) กับพวก พนักงานเจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการตรวจสอบรายงานการทำธุรกรรมหรือข้อมูลเกี่ยวกับการทำธุรกรรมของบุคคลดังกล่าวแล้ว ปรากฎหลักฐานเป็นที่เชื่อได้ว่า กลุ่มครือข่ายยาเสพติด นายทุน มิน หลัด (TUN MIN LATT) กับพวก มีพฤติการณ์แห่งการกระทำอันเข้าลักษณะเป็นความผิดมูลฐานตามมาตรา 3 (1) แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 หรือเป็นผู้ซึ่งเกี่ยวข้องหรือเคยเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้กระทำความผิดมูลฐานหรือความผิดฐานฟอกเงิน และจากการตรวจสอบข้อมูลการทำธุรกรรมหรือทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด รวมทั้งจากการรวบรวมพยานหลักฐาน
ปรากฏว่าบุคคลดังกล่าวได้ไปซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด จำนวน 24 รายการ พร้อมดอกผล และเนื่องจากทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดในคดีนี้เป็นสังหาริมทรัพย์ประเภทเงินในบัญชีเงินฝากธนาคาร อันเป็นทรัพย์สินที่สามารถโอน ยักย้าย ปกปิด หรือซ่อนเร้นได้โดยง่าย หากมิได้มีการออกคำสั่งให้อายัดทรัพย์สินดังกล่าวไว้ชั่วคราว เมื่อเจ้าของหรือผู้มีส่วนได้เสียหรือผู้มีสิทธิในทรัพย์สินดำเนินการโอนจำหน่าย ยักย้าย ปกปิด หรือซ่อนเร้นทรัพย์สินดังกล่าวไปเสีย และหากต่อมาศาลได้มีคำสั่งให้ทรัพย์สินดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดิน
สำนักงาน ปปง. อาจไม่สามารถติดตามทรัพย์สินดังกล่าวกลับคืนมาได้ จึงเป็นกรณีที่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ากลุ่มครือข่ายยาเสพติด นายทุน มิน หลัด (TUN MIN LATT) กับพวก ได้ไปซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด และอาจมีการโอน จำหน่าย ยักย้าย ปกปิด หรือซ่อนเร้นทรัพย์สินดังกล่าว
นอกจากนี้ เนื่องจากปรากฏพยานหลักฐานว่าในคดีดังกล่าวพนักงานสอบสวนพบการกระทำความผิดของกลุ่มครือข่ายยาเสพติด นายทุน มิน หลัด (TUN MIN LATT) กับพวก เพิ่มเติมในความผิดฐานสมคบโดยการตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดฐานฟอกเงิน และได้มีการกระทำความผิดฐานฟอกเงินเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกัน และร่วมกันฟอกเงิน ร่วมกันมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ โดยสมคบกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดร้ายแรงอันเกี่ยวข้องกับองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติมีส่วนร่วมกระทำการใด ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมในกิจกรรมหรือการดำ เนินการขององค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ โดยรู้ถึงวัตถุประสงค์และการดำเนินกิจกรรมหรือโดยรู้ถึงเจตนาที่จะกระทำความผิดร้ายแรงขององค์กรอาชญากรรมข้ามชาติดังกล่าว
กรณีปรากฏพยานเป็นที่เชื่อได้ว่ากลุ่มครือข่ายยาเสพติดนายทุน มิน หลัด (TUN MIN LATT) กับพวก มีพฤติการณ์แห่งการกระทำความผิดเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมที่มีกฎหมายกำหนดเป็นความผิดตามมาตรา 3 (10) ประกอบมาตรา 3 วรรคสอง ความผิดฐานฟอกเงินตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และความผิดฐานมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พ.ศ. 2556 ซึ่งมาตรา 22 บัญญัติให้เป็นความผิดมูลฐานตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542
คณะกรรมการธุรกรรมในการประชุมครั้งที่ 11/2566 เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2566 จึงมีมติเห็นชอบให้เพิ่มความผิดเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมที่มีกฎหมายกำหนดเป็นความผิดตามมาตรา 3 (10) ประกอบมาตรา 3 วรรคสอง ความผิดฐานฟอกเงินตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และความผิดฐานมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พ.ศ. 2566 ซึ่งมาตรา 22 บัญญัติให้เป็นความผิดมูลฐานตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ในการดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินกลุ่มครือข่ายยาเสพติด นายทุน มิน หลัด (TUN MIN LATT) กับพวกอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 34 (3) และมาตรา 48 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติมมติคณะกรรมการธุรกรรมในการประชุมครั้งที่ 11/2566 เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2566 และระเบียบคณะกรรมการธุรกรรม ว่าด้วยการรับเรื่องการตรวจสอบ การพิจารณาดำเนินการ และการควบคุมตรวจสอบการปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2556 ข้อ 25 คณะกรรมการธุรกรรมจึงมีคำสั่งอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไว้ชั่วคราว จำนวน 24 รายการ พร้อมดอกผล มีกำหนดไม่เกิน 90 วัน (เก้าสิบวัน) นับตั้งแต่วันที่คณะกรรมการธุรกรรมมีมติ กล่าวคือ นับตั้งแต่วันที่ 16 พฤศจิกายน 2566 ถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2567
โดยมีรายการทรัพย์สินที่อายัดปรากฏตามบัญชีทรัพย์สินแนบท้ายคำสั่งนี้
ทั้งนี้ ให้รวมถึงเงินหรือทรัพย์สินที่ได้มาจากการจำหน่าย จ่าย โอนด้วยประการใดๆ ซึ่งทรัพย์สินดังกล่าวหรือสิทธิเรียกร้องหรือผลประโยชน์หรือดอกผลของเงินหรือทรัพย์สินดังกล่าวด้วย
ในกรณีผู้ซึ่งถูกอายัดทรัพย์สินตามคำสั่งนี้หรือผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์สินดังกล่าวประสงค์จะขอให้มีการเพิกถอนคำสั่งอายัดทรัพย์สินดังกล่าวนั้น ให้ยื่นคำขอเป็นหนังสือต่อเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินพร้อมด้วยหลักฐานที่เกี่ยวข้องที่แสดงว่าเงินหรือทรัพย์สินที่ถูกอายัดดังกล่าวนั้นมีใช่ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่งเป็นหนังสือ
อนึ่ง การยักย้าย ทำให้เสียหาย ทำลาย ซ่อนเร้น เอาไปเสีย ทำให้สูญหายหรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งทรัพย์สินที่เจ้าพนักงานยึดหรืออายัดไว้หรือที่ตนรู้หรือควรรู้ว่าจะตกเป็นของแผ่นดิน อาจมีความผิดทางอาญา และต้องระวางโทษตามนัยมาตรา 65 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542
สั่ง ณ วันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566
สำหรับทรัพย์สินที่ ปปง.มีคำสั่งอายัดไว้ชั่วคราว จำนวน 24 รายการ ประกอบด้วย เงินในบัญชีเงินฝากธนาคารในชื่อบุคคลทั้งชาวไทยและต่างชาติ รวม 21,893,362.45 บาท (ดูเอกสารท้ายเรื่อง)
อย่างไรก็ตามคดีนี้ยังไม่มีคำพิพากษาจากศาลยุติธรรมว่านายทุน มิน หลัดกับพวกกระทำผิดตามข้อกล่าวหา