"...ไฮไลต์ที่สุดในวันโหวตเลือกหัวหน้าพรรค ‘อภิสิทธิ์-เฉลิมชัย’ ถึงกับท้ากันไปปิดห้องคุยตัวต่อตัว ต่อมาเมื่อคุยกันเสร็จ ‘อภิสิทธิ์’ ประกาศลาออกจากสมาชิกพรรค ขณะที่ ‘เฉลิมชัย’ ยืนยันด้วยเกียรติที่อยู่ ปชป.มา 18 ปี จะไม่ยอมให้เป็น ‘พรรคอะไหล่’ เด็ดขาด สุดท้ายผลโหวตตามคาด ‘เฉลิมชัย’ ถูกเสนอชื่อคนเดียว ทำให้ตามข้อบังคับพรรคขึ้นเป็นหัวหน้า ปชป.คนที่ 9 ไปโดยปริยาย ส่วน ‘นายกฯชาย’ เดชอิศม์ ขาวทอง ถูกดันเป็นเลขาธิการพรรค..."
ในรอบ 77 ปี ของพรรคเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทยอย่าง ‘ประชาธิปัตย์’ ได้เวลา ‘ถ่ายเลือดใหม่’ อีกครั้ง
ผลการประชุมเลือกหัวหน้าพรรค และคณะกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) ชุดใหม่เมื่อ 9 ธ.ค.ที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นชัดถึงความ ‘แตกแยก’ ภายในอย่างรุนแรงในรอบ 44 ปี นับตั้งแต่ ‘กลุ่ม 10 มกรา’ เลยทีเดียว
โดยเฉพาะ ‘กลุ่มผู้อาวุโส’ ภายในพรรค และ ‘กลุ่มทุนการเมือง’ ที่แบ่งแยกแนวทางกันอย่างชัดเจน และยากที่จะมาบรรจบกันได้อีกครั้ง
กลุ่มอดีตผู้นำเก่าอย่าง ‘ชวน หลีกภัย-บัญญัติ บรรทัดฐาน’ แม้หน้าฉากจะพยายาม ‘กลืนเลือด’ ยอมรับมติของพรรค และยืนยันจะไม่ลาออกจากพรรคก็ตาม
แต่นั่นไม่ได้รวมถึง ‘เดอะ มาร์ค’ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรค และอดีตนายกฯ ในรอบ 22 ปีของพรรค (2544-2566) ที่ยอมหักไม่ยอมงอ ลาออกจากสมาชิกไปในที่สุด
อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
ไม่ใช่แค่ ‘อภิสิทธิ์’ แต่รวมถึงกลุ่มก๊วน และกลุ่มคนที่เริ่มหมดบทบาทในพรรค เช่น ‘2 สาธิต’ คือ ‘สาธิต ปิตุเตชะ-สาธิต วงศ์หนองเตย’ อดีตรัฐมนตรีของพรรคต่างโบกมือลาเช่นกัน และเชื่อว่าหลังจาก ‘เลือดพระแม่ธรณี’ ก็คงไหลไม่หยุด
ย้อนเงื่อนปมการแย่งชิงอำนาจภายใน ปชป.ร้าวลึกมาตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้งปี 2562 สมัยที่ ‘3 ป.’ โดยเฉพาะ ‘ป.ประยุทธ์’ ยังคงกระแสสูง ‘อภิสิทธิ์’ ในฐานะหัวหน้าพรรคขณะนั้น สวนกระแสชูธงนำ ‘ค่ายสะตอ’ หาเสียงเลือกตั้งโดยยืนยัน ‘ไม่เอา 3 ป.’ พร้อมปูทางเตรียมร่วมมือกับพันธมิตรที่อ้างตัวเป็นฝ่ายประชาธิปไตย ส่งผลให้ ปชป.กวาด สส.เข้าสภาฯไปไม่ถึงครึ่งร้อย และสูญพันธุ์ใน กทม.เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์
‘อภิสิทธิ์’ ไม่มีทางเลือกนอกจากลาออกจากตำแหน่ง สส.และตำแหน่งหัวหน้าพรรค ทำให้ ‘ผู้อาวุโส’ ในพรรคหนุน ‘จุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์’ อดีตวิปฝ่ายค้าน ขึ้นมานำพรรคแทน ท่ามกลางการเข้ายึดอำนาจอย่างเงียบ ๆ ของ ‘กลุ่มทุนการเมือง’ คอยชักใยอยู่เบื้องหลัง
สุดท้ายดีลจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เมื่อปี 2562 ได้เก้าอี้ ‘กระทรวงเกรดเอ’ มาบางส่วน
แต่ผลงาน 4 ปีระหว่าง 2562-2566 ของพรรคถูกโจมตีอย่างหนัก โดยเฉพาะ ‘จุรินทร์’ ในฐานะรองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ ที่แทบไม่มีผลงานในการแก้ไขปัญหาค่าครองชีพ และสินค้าราคาแพง ในช่วงวิกฤติโควิด-19 ทำให้กระแสของพรรคเริ่มตกต่ำลงเรื่อย ๆ พร้อมกับปรากฎการณ์ ‘เลือดไหล’ มี ‘บิ๊กเนม’ ในพรรคจำนวนมาก ทยอยลาออกไปสังกัดพรรคอื่น เช่น ‘พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค’ ไปพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ที่หนุน ‘บิ๊กตู่’ กลับมาเป็นนายกฯอีกครั้ง ‘กรณ์ จาติกวณิช’ ไปตั้งพรรคกล้า ก่อนรวมกับพรรคชาติพัฒนาเป็น ‘ชาติพัฒนากล้า’ เป็นต้น
ปัญหาบิ๊กเนมเลือดไหลไปพรรคอื่นเกิดขึ้นเรื่อย ๆ ในรอบ 4 ปีที่ผ่านมา พ่วงกับปัญหาภายในที่ ‘กลุ่มทุนการเมือง’ เริ่มสะสมกำลัง ต่อสู้กับ ‘กลุ่มผู้อาวุโส’ เดิม เริ่มหนักข้อขึ้นเรื่อย ๆ
มีกระแสข่าวเล็ดรอดมาตลอดว่า เกิด ‘กบฏ’ เตรียมเลื่อยขาเก้าอี้หัวหน้าพรรค และ กก.บห.มาโดยตลอด แต่ถูกปฏิเสธ
กระทั่งผลการเลือกตั้ง 2566 ปชป.ได้จำนวน สส.ต่ำ 50 ได้ไปแค่ 25 ที่นั่ง และสูญพันธุ์ใน กทม.อีกครั้ง ทำให้ ‘จุรินทร์’ ลาออกเพื่อรับผิดชอบ ปฏิบัติการ ‘ดีลลับ’ จึงเริ่มขึ้น
โดยว่ากันว่ามี ‘บิ๊กเนมค่ายสีฟ้า’ ติดต่อไปยัง ‘นายใหญ่’ เพื่อหวังร่วมจัดตั้งรัฐบาล
ดีลลับดังกล่าว แม้จะถูกปฏิเสธจากหลายคนใน ปชป. แต่สะท้อนให้เห็นผ่านการโหวตเลือกนายกฯครั้งที่ 3 ที่มี สส. อย่างน้อย 16 คนของ ปชป.โหวตหนุน ‘เศรษฐา ทวีสิน’ เป็นนายกฯคนที่ 30
ทว่าการจัดตั้งรัฐบาลครั้งดังกล่าว ก็ไม่มีคนของ ปชป.เข้าไปร่วมนั่งใน ครม.แต่อย่างใด เนื่องจากพรรคเพื่อไทย-พรรคร่วม รวมเสียงได้ถึง 314 เสียง เพียงพอในการจัดตั้งรัฐบาล และเป็นเสียงข้างมากในสภาฯแล้ว
แต่ว่ากันว่ายังคงมี ‘สัญญาใจ’ ระหว่าง ‘บิ๊กเนมค่ายสะตอ’ กับ ‘นายใหญ่’ หากเกิดอุบัติเหตุทางการเมืองบางอย่าง ปชป.อาจได้เป็น ‘พรรคอะไหล่’ รอเสียงร่วม ครม.ก็เป็นไปได้
ปฏิบัติการ ‘ยึดพรรค’ ปชป.จึงถูกโหมโรงกลับมาอีกครั้ง โดยคราวนี้เปิดหน้าฉากเป็น 2 ขั้วชัดเจนคือ ‘กลุ่มผู้อาวุโส’ ภายในพรรคที่หนุน ‘อภิสิทธิ์’ และ ‘กลุ่มเพื่อนเฉลิมชัย’ ที่หนุน ‘เฉลิมชัย ศรีอ่อน’ รักษาการเลขาธิการพรรค เป็นหัวหน้าพรรค
โดยก่อนหน้านี้ ‘เฉลิมชัย’ มีชนักปักหลังติดตัว เนื่องจากเคยลั่นวาจาก่อนเลือกตั้ง 2566 ว่า ถ้า ปชป.ได้ต่ำกว่าเดิม (52 คน) จะยอม ‘เลิกเล่นการเมือง’ ไปตลอดชีวิต
เฉลิมชัย ศรีอ่อน /ภาพจาก เดลินิวส์
เบื้องต้นในช่วงแรกมีความพยายามผลักดันให้ ‘นราพัฒน์ แก้วทอง’ รักษาการรองหัวหน้าพรรค ภาคเหนือ ขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรค โดยมี ‘กลุ่มเพื่อนเฉลิมชัย’ หนุน ทว่าเมื่อ ‘มาดามเดียร์’ วทันยา บุนนาค หนึ่งในแกนนำพรรคประกาศเสนอตัวเองชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคด้วย กระแสเริ่มไหลกลับมาที่ ‘มาดามเดียร์’ อย่างชัดเจน สะท้อนผ่าน ‘ผลโพล’ IFD จากสมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทยคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎวไลยอลงกรณ์ในพระบรมราชูปถัมภ์
ทำให้ ‘นราพัฒน์’ ขอถอนตัว ส่วน ‘กลุ่มเพื่อนเฉลิมชัย’ โต้กลับด้วยการเทียบเชิญ ‘เฉลิมชัย’ ให้ยอม ‘กลืนเลือด’ กลับมานำพรรคด้วยตัวเอง แม้จะเคยลั่นวาไว้ว่าจะเลิกเล่นการเมืองก็ตาม
พร้อมกับสารพัด ‘วิชามาร’ ที่เกิดขึ้น ทั้งล็อบบี้สมาชิก-สส. มิให้มีการเปิดช่องข้อบังคับเพื่อโหวต ‘มาดามเดียร์’ ขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคได้
ไฮไลต์ที่สุดในวันโหวตเลือกหัวหน้าพรรค ‘อภิสิทธิ์-เฉลิมชัย’ ถึงกับท้ากันไปปิดห้องคุยตัวต่อตัว
ต่อมาเมื่อคุยกันเสร็จ ‘อภิสิทธิ์’ ประกาศลาออกจากสมาชิกพรรค ขณะที่ ‘เฉลิมชัย’ ยืนยันด้วยเกียรติที่อยู่ ปชป.มา 18 ปี จะไม่ยอมให้เป็น ‘พรรคอะไหล่’ เด็ดขาด
สุดท้ายผลโหวตตามคาด ‘เฉลิมชัย’ ถูกเสนอชื่อคนเดียว ทำให้ตามข้อบังคับพรรคขึ้นเป็นหัวหน้า ปชป.คนที่ 9 ไปโดยปริยาย ส่วน ‘นายกฯชาย’ เดชอิศม์ ขาวทอง ถูกดันเป็นเลขาธิการพรรค
มองปรากฎการณ์แย่งชิงอำนาจใน ปชป.ที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า ดูท่าครั้งนี้น่าจะหนักที่สุดในรอบ 77 ปี
เพราะต้องไม่ลืมว่าที่ผ่านมา ปชป.ล้วนมี ‘ผู้นำ’ ที่เต็มไปด้วย ‘มนต์ขลัง’ ที่สมาชิกพรรคให้ความเคารพนับถือ ไล่เรียงมาตั้งแต่ ควง อภัยวงศ์ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ถนัด คอมันต์ พิชัย รัตตกุล ชวน หลีกภัย ฯลฯ ทว่าปัจจุบัน ‘มนต์ขลัง’ เหล่านี้หมดลงนานแล้ว
เอาแค่ ‘ชวน หลีกภัย’ ผู้อาวุโสสุดในพรรค ในการเลือกตั้ง จ.ตรัง 2 ครั้งล่าสุด ปี 2562 และ 2566 หนุนใครลงเลือกตั้งก็แพ้ทั้ง 2 รอบ โดยเฉพาะรอบล่าสุดแม้แต่เครือญาติตัวเองอย่าง ‘ถนอมพงษ์ หลีกภัย’ ยังต้องถอดเสื้อ ปชป.ไปสวม รทสช.จึงชนะการเลือกตั้ง
ขณะที่กลุ่มอำนาจใหม่ใน ปชป.อย่าง ‘กลุ่มเพื่อนเฉลิมชัย’ จะประคับประคองสถานการณ์ในพรรคได้อีกนานแค่ไหน เพราะขณะนี้เลือดไหลออกจำนวนมาก ที่สำคัญตำแหน่งแห่งที่ของ ปชป.ในปัจจุบันคือ ‘ฝ่ายค้าน’ อันดับ 2 มี สส.น้อยกว่า ‘ก้าวไกล’ (149 สส.) หลายเท่า
หากจะยอม ‘สลัดอุดมการณ์’ ไปร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับ ‘เพื่อไทย’ ย่อมทำให้ ‘ภาคใต้’ ซึ่งเป็นฐานที่มั่นสุดท้ายในบางจังหวัดต้องสูญพันธุ์ในการเลือกตั้งครั้งหน้าเป็นแน่
ด้วยสถานการณ์กลืนไม่เข้า-คายไม่ออกแบบนี้ วัดใจ ‘เฉลิมชัย’ จะกล้าร่วมรัฐบาล แต่พรรคสูญพันธุ์ หรือยอมเป็นฝ่ายค้าน ทำหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาล ต้องรอดู