ประเทศไทยถูกมองว่าสามารถเข้าถึงได้ง่ายกว่ายุโรปหรืออเมริกาเหนือ อีกทั้งยังเป็นประเทศที่เสนอวีซ่าสำหรับอาศัยระยะยาวหลายประเภทรวมไปถึงหลักสูตรภาษานานหนึ่งปี ซึ่งทั้งหมดมีราคาอยู่ที่ 700 -1,800 ดอลลาร์สหรัฐฯ (24,815- 63,922 บาท)
แม้ว่าในปี 2566 จะมีข่าวร้ายเกี่ยวกับการท่องเที่ยวไทย เพราะว่านักท่องเที่ยวจีนที่จะเดินทางมายังประเทศไทยในปี 2566 นั้น การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือ ททท. คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวจีนประมาณ 3.4-3.5 ล้านคน ซึ่งต่างจากเป้าหมายเมื่อต้นปีที่รัฐบาลได้คาดการณ์เอาไว้ว่าน่าจะอยู่ที่ 5 ล้านคน
อย่างไรก็ตาม มีรายงานข่าวอีกฉบับระบุว่าคนจีน โดยเฉพาะวัยหนุ่มสาวเลือกที่ย้ายประเทศไปเลย โดยประเทศเป้าหมายลำดับต้นๆยังเป็นประเทศไทย
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงได้นำเอารายงานดังกล่าวมานำเสนอมีรายละเอียดดังนี้
นายจาง ฉวนหนาน ถือเป็นหนึ่งในคนจีนหลายคนที่ต้องตกงานเนื่องจากการล็อกดาวน์ที่เข้มข้นในประเทศจีน ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการควบคุมอย่างเข้มงวดเพื่อรับมือกับการระบาดของโควิด-19
โดยหลังจากที่ออกจากงาน จางในวัย 34 ปี ซึ่งทำงานเป็นนักบัญชีที่บริษัทเครื่องสำอางแห่งหนึ่งในนครเซี่ยงไฮ้ เขาได้ตัดสินใจจะลงคอร์สออนไลน์เพื่อเรียนภาษาไทย ราคารวมกว่า 1,400 ดอลลาร์สหรัฐฯ (49,645 บาท) ทำให้เขาได้รับวีซ่าสำหรับเพื่อการศึกษาและย้ายมาตั้งถิ่นฐานที่จังหวัดเชียงใหม่
จางเป็นหนึ่งในกลุ่มชาวจีนหนุ่มสาวที่ย้ายถิ่นฐานไปยังต่างประเทศ โดยไม่ได้ย้ายออกไปเพราะเหตุผลเรื่องอุดมการณ์ แต่เพราะต้องการหนีจากสภาพวัฒนธรรมการทำงานของจีนที่มีการแข่งขันกันสูงมาก โอกาสการเติบโตในหน้าที่การงานที่ค่อนข้างจำกัดและอัตราการว่างงานที่พุ่งสูงขึ้น
ท่ามกลางการอพยพไปต่างประเทศที่เพิ่มมากขึ้น ประเทศไทยได้กลายเป็นเป้าหมายหลักของชาวจีนจำนวนมาก และนับตั้งแต่ปี 2543 คนจีนก็ได้มีการย้ายไปยังเมืองใหญ่ของประเทศไทยเป็นจำนวนมาก
@ทําไมผู้คนถึงออกจากจีน?
จีนเป็นประเทศที่ใช้ข้อจํากัดโควิดที่เข้มงวดที่สุดแห่งหนึ่งของโลกในช่วงการระบาดใหญ่ ทําให้ผู้คนหลายร้อยล้านคนอยู่ภายใต้การล็อกดาวน์ที่ยาวนานมาก หลังจากนั้นพลเมืองกลุ่มที่มีอายุน้อย ซึ่งเหนื่อยล้าจากงานที่ลำบาก ผลตอบแทนน้อยและไม่น่าเชื่อถือจึงเลือกที่จะหาโอกาสใหม่ๆในต่างประเทศ
“ในช่วงการระบาด ความต้องการอิสรภาพเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก” นางเฉิน อดีตพนักงานธนาคารวัย 26 ปี ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวเอเอฟพี
ข่าวการย้ายออกนอกประเทศของชาวจีนรุ่นเยาว์ (อ้างอิงวิดีโอจากเซาธ์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์)
เมืองใหญ่ๆในจีนอย่างเช่นเซี่ยงไฮ้ที่เป็นเมืองศูนย์กลางทางการเงิน กลายเป็นเมืองที่ได้รับผลกระทบจากการล็อกดาวน์การระบาดเป็นอย่างมาก เฉินนั้นเคยมีงานที่มันคงและค่าตอบแทนที่ดี แต่เธอไม่มีความสุขกับเส้นทางอาชีพที่รออยู่เบื้องหน้า
หลังจากการระบาด เฉินรู้ว่าบางอย่างต้องเปลี่ยนแปลงไป
“ถ้าหากฉันทำแต่งานเดิมๆไปตลอดทั้งชีวิต มันก็จะเป็นแบบนี้ไม่เปลี่ยนแปลง” เฉินกล่าว
เฉินถือว่าเป็นตัวแทนของชาวจีนในรุ่นของเธออีกเป็นจำนวนมาก ไม่เหมือนกับพ่อแม่ของพวกเขาที่ได้รับประโยชน์จากยุคที่เศรษฐกิจจีนเฟื่องฟูในอดีต ชาวจีนรุ่นใหม่กลับต้องแบกรับภาระจากเศรษฐกิจที่อ่อนแอ โอกาสในการเลื่อนตำแหน่งมีน้อยและการแข่งขันก็ดุเดือด ทำให้หลายคนอยู่ในภาวะหมดไฟ
การตามล่าหาโอกาสในต่างแดนไกลออกไป ส่วนหนึ่งได้รับแรงหนุนจากอัตราว่างงานของจีนสำหรับประชากรในกลุ่มอายุ 16-24 ปี ที่เพิ่มขึ้นเป็นประวัติการณ์ไปอยู่ที่ 21.3% ในเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา การที่งานดีๆหายากทำให้เกิดความกดดันเรื่องการทำงานเป็นเวลานาน
การเลือกที่จะถอยห่างออกจากระบบแบบนี้ กำลังกลายเป็นทางออกที่นิยมมากขึ้นสำหรับแรงงานในรุ่นเยาว์ เพื่อรับมือกับอิสระในการเคลื่อนไหวที่ลดลง ตามคำกล่าวอ้างของนายเบเวอร์ลี หยวน ทอมป์สัน ศาสตราจารย์ด้านสังคมวิทยาที่ Siena College ในเมืองออลบานี รัฐนิวยอร์ก
รายงานข่าวว่าประเทศจีนได้ปกปิดข้อมูลอัตราการว่างงานในประเทศ (อ้างอิงวิดีโอจาก DW)
@ทําไมประเทศไทยถึงเป็นจุดหมายปลายทาง?
.ในโซเชียลมีเดียและแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซจำนวนหลายแห่งในประเทศจีน มีอินฟลูเอนเซอร์ (ผู้มีอิทธิพลทางความคิด) มีการโพสต์วิดีโอเกี่ยวกับผลประโยชน์มากมายถ้าหากย้ายถิ่นฐานมายังประเทศไทย นับตั้งแต่โรงเรียนนานาชาติราคาถูกไปจนถึงสถานที่แปลกใหม่และระบบการดูแลสุขภาพท่าคาไม่แพง ทำให้ภาพพจน์ของประเทศไทยเหมือนสวรรค์ที่มอบอะไรบางอย่างให้ได้
ประเทศไทยถูกมองว่าสามารถเข้าถึงได้ง่ายกว่ายุโรปหรืออเมริกาเหนือ อีกทั้งยังเป็นประเทศที่เสนอวีซ่าสำหรับอาศัยระยะยาวหลายประเภทรวมไปถึงหลักสูตรภาษานานหนึ่งปี ซึ่งทั้งหมดมีราคาอยู่ที่ 700 -1,800 ดอลลาร์สหรัฐฯ (24,815- 63,922 บาท)
นอกจากนี้ประเทศไทยยังมีกระบวนการที่ค่อนข้างง่ายสําหรับวีซ่าการศึกษาหนึ่งปีและค่าครองชีพที่ค่อนข้างถูก อาทิ ที่มหาวิทยาลัยพายัพ จังหวัดเชียงใหม่ มีชาวจีนประมาณ 500 คน เริ่มเรียนหลักสูตรภาษาไทยออนไลน์เมื่อต้นปีนี้
ดังนั้นประเทศไทยจึงถูกมองว่าเป็นก้าวย่างแรกสำหรับชาวจีนที่ต้องการทดลองใช้ชีวิตในต่างประเทศ
ความปรารถนาที่จะย้ายออกจากจีนที่เพิ่มขึ้นสามารถพบเห็นได้ตามโซเชียลมีเดีย อาทิ WeChat ซึ่งเป็นแอปส่งข้อความของจีน การค้นหา "การอพยพ" พุ่งสูงขึ้นแตะ 510 ล้านครั้งในวันเดียวในเดือนตุลาคมตามรายงานของสื่อภาษาจีนในขณะที่ในช่วงปลายเดือนมกราคมคำว่า "อพยพมายังประเทศไทย" ถูกค้นหามากกว่า 300,000 ครั้งในวันเดียว
ขณะที่ในโซเชียลมีเดียอีกแห่งชื่อว่า Xiaohongshu ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับอินสตราแกรม พบว่ามีผู้ใช้งานหลายร้อยคนหารือเกี่ยวกับการย้ายมาอยู่ประเทศไทย โดยหลายคนในนั้นก็ได้รับวีซ่าสำหรับศึกษาในไทยแล้วและกำลังคิดอยู่ว่าขั้นตอนต่อไปของพวกเขาจะทำอย่างไรดี
@ตัวเลขการย้ายถิ่นฐานมาไทย
สำนักข่าวเซาธ์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ของฮ่องกงได้รายงานข่าวว่าตอนนี้มีชาวจีนประมาณ 7.1 ล้านคน ที่อยู่ในประเทศไทย ดังนั้นจึงถือว่าประเทศไทยเป็นหนึ่งในชุมชนชาวจีนที่เก่าแก่ที่สุดนอกประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
และชาวจีนได้รับการจัดอันดับให้เป็นกลุ่มผู้ซื้ออสังหาริมทรัพย์ต่างชาติรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทยตามรายงานของศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ของประเทศไทยโดยมีจำนวนอสังหาริทรัพย์ที่ถูกซื้อมากกว่า 3,500 หน่วยในปี 2565 คิดเป็นมูลค่าเฉลี่ย 150,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ (5,348,250 บาท) ต่อหน่วย