เปิดคำสั่ง คกก.ธุรกรรม ปปง.ยึดอายัดทรัพย์คดีนำเข้าหมูเถื่อน 53 ล. ราย ‘อานันท์ สินช่วยปราบ’ กับพวก ซุกในห้องเย็น จ.สมุทรสาคร 128,400 กก. ระบุทำขบวนการ ผู้ค้าเนื้อสัตว์กลุ่มใหญ่อยู่เบื้องหลัง เชิดบริษัท-ห้างหุ้นส่วนฯลักลอบนำเข้า สำแดงเท็จพิกัดอัตราภาษีศุลกากรเป็นร้อยละ 0
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 16 พ.ย.2566 สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (สำนักงาน ปปง.) โดยคณะกรรมการธุรกรรม มีคำสั่งที่ ย.226/2566 ยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไว้ชั่วคราวราย นายอานันท์ สินช่วยปราบ กับพวก จำนวน 24 รายการ รวมมูลค่า 53,024,495.29 บาท มีพฤติการณ์แห่งการกระทำความผิดเกี่ยวกับการลักลอบหนีศุลกากรตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรโดยร่วมกันนำเข้า ส่งออก หรือนำผ่านราชอาณาจักรซึ่งสัตว์หรือซากสัตว์สุกร โดยไม่ได้รับอนุญาตและเคลื่อนย้ายซากสัตว์สุกรเข้ารวม 128,400 กิโลกรัม
คำสั่งของคณะกรรมการธุรกรรมในการยึดและอายัดทรัพย์สิน มีรายละเอียดดังนี้
ด้วยสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (สำนักงาน ปปง.) ได้รับรายงานจากกองกำกับการ 1 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ตามหนังสือที่ตช 0026.84/๘๐๐ ลงวันที่ 1 พฤษภาคม 2566 เรื่อง ส่งรายงานคดีซึ่งเป็นความผิดมูลฐานตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน รายนายอานันท์ สินช่วยปราบ กับพวก ซึ่งเป็นกรณีมีพฤติการณ์ แห่งการกระทำความผิดเกี่ยวกับการลักลอบหนีศุลกากรตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร กล่าวคือ
@เหตุเกิดเมื่อ 7 ต.ค.2565 ตร.บุกค้น บ.นาสาครห้องเย็น
เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2565 เจ้าพนักงานตำรวจกองกำกับการ 1 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ร่วมกับเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ และเจ้าหน้าที่กรมศุลกากร นำหมายค้นของศาลจังหวัดสมุทรสาคร ที่ 622/2565 ลงวันที่ 9 ตุลาคม 2565 และโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์พ.ศ. 2558 เข้าตรวจสอบบริษัท นาสาครห้องเย็น จำกัด ตำบลนาดี อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร กรณีที่มีเหตุสงสัยว่ามีสิ่งของที่ยังไม่ได้เสียค่าภาษีอากร หรือของต้องห้าม ต้องกำกัด หรือของที่ยังไม่ได้ผ่านพิธีการศุลกากร หรือเกี่ยวเนื่องในการกระทำความผิดตามกฎหมายศุลกากร เก็บซุกซ่อนอยู่ หรือมีการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558
@พบซากหมู 128,400 กก. ผู้จัดการโยน ‘อานันท์ สินช่วยปราบ’นำเข้า
ผลการตรวจค้นพบชากสัตว์สุกร ที่มีเมืองกำเนิดต่างประเทศ 7,000 กิโลกรัม เก็บอยู่ในตู้คอนเทนเนอร์ของรถบรรทุกพ่วง ส่วนหัวหมายเลขทะเบียน 79-6315 สมุทรปราการ ส่วนพ่วงหมายเลขทะเบียน 73-6017 สมุทรปราการ โดยอยู่ระหว่างกำลังจะขนถ่ายออกไปและตรวจสอบพบซากสัตว์สุกรและไก่แช่แข็ง ที่มีเมืองกำเนิดต่างประเทศ ภายในห้องเย็นของบริษัท นาสาคร ห้องเย็น จำกัด อีก 121,400 กิโลกรัม จึงทำการตรวจยึดหรืออายัดซากสัตว์ รวมจำนวน 128,400 กิโลกรัม ไว้ที่ห้องเย็นของบริษัท นาสาครห้องเย็น จำกัด และแจ้งให้นายสุรวิทย์ ยะโส ซึ่งแสดงตนเป็นผู้จัดการทั่วไปของบริษัท นาสาครห้องเย็น จำกัด นำเอกสารมาแสดง นายสุรวิทย์ ยะโส ติดต่อไปยังนายอานันท์ สินช่วยปราบ ซึ่งเป็นผู้นำเข้าชากสัตว์เพื่อให้นำใบอนุญาตให้นำหรือเคลื่อนย้ายสัตว์หรือซากสัตว์สุกร (ใบ ร.3) และใบอนุญาตให้นำเข้าราชอาณาจักรซึ่งสัตว์หรือซากสัตว์ (ใบ ร.6 ร.7) มาแสดง แต่บุคคลดังกล่าวไม่มีเอกสารมาแสดงแต่อย่างใด
@กรมปศุสัตว์แจ้งความเอาผิดนำเข้าซากหมู โดยไม่ได้รับอนุญาต
ต่อมาเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนเพื่อให้ดำเนินคดีแก่ผู้กระทำความผิด รวมถึงบุคคลที่เกี่ยวข้องในความผิดฐานร่วมกันนำเข้า ส่งออก หรือนำผ่านราชอาณาจักรซึ่งสัตว์หรือซากสัตว์สุกร โดยไม่ได้รับอนุญาตและเคลื่อนย้ายซากสัตว์สุกรเข้า ออก ผ่าน หรือภายในเขตพื้นที่ประกาศเขตกำหนดโรคระบาด หรือเขตฝ้าระวังโรคระบาด โดยไม่ได้รับอนุญาต และร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่ผู้กระทำความผิดรวมถึงบุคคลที่เกี่ยวข้องในความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 และความผิดอื่นที่เกี่ยวข้อง พนักงานสอบสวนรับคำร้องทุกข์ไว้เป็นคดีอาญาที่ 59/2565
@ รับเรื่องจากดีเอสไออีกทาง
และสำนักงาน ปปง. ได้รับรายงานจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ ตามหนังสือที่ ยธ 0827/724 ลงวันที่ 29 สิงหาคม 2566 เรื่อง รายงานตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการประสานงานในการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ข้อ 4 ซึ่งเป็นกรณีมีพฤติการณ์แห่งการกระทำความผิดเกี่ยวกับการลักลอบหนีศุลกากรตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร กล่าวคือ
กรมศุลกากร ร้องทุกข์ขอให้พนักงานสอบสวนกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ดำเนินคดีอาญาแก่ผู้กระทำความผิดรวมถึงบุคคลที่เกี่ยวข้องทั้งในฐานะส่วนตัวและนิติบุคคล กรณีที่กรมศุลกากรได้ทำการตรวจสอบตู้สินค้า 161 ตู้ ปรากฎว่าพบสินค้าประเภทสุกรแช่แข็ง อันเป็นความผิดฐานนำเข้าซึ่งสัตว์ หรือซากสัตว์โดยไม่ได้รับอนุญาตจากกรมปศุสัตว์ตามมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 และเป็นความผิดฐานหลีกเลี่ยงข้อจำกัดตามมาตรา 244 อันเป็นของต้องริบตามมาตรา ๑๖๖ แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 ต่อมากองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ส่งเรื่องให้กรมสอบสวนคดีพิเศษดำเนินการ กรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้มีคำสั่ง ที่ 746/2566 เรื่อง แต่งตั้งคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ลงวันที่ 28 มิถุนายน 2566 เพื่อดำเนินการเป็นคดีพิเศษที่ 59/2566
@แฉนำออกจำหน่ายโดยใช้วิธีสวมสิทธิโควตาสุกรภายในประเทศ
จากการรวบรวมพยานหลักฐานพบว่ากลุ่มขบวนการผู้ค้าเนื้อสัตว์กลุ่มใหญ่ซึ่งเป็นผู้มีอิทธิพลเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการกระทำความผิดดังกล่าว โดยได้เชิดบริษัทจำกัดและห้างหุ้นส่วนจำกัด ให้ทำการลักลอบนำเข้าซึ่งสัตว์ หรือซากสัตว์ ประเภทสุกรจากต่างประเทศ เพื่อจำหน่ายแสวงหาผลกำไร ซึ่งเมื่อคำนวณราคาขายในต่างประเทศรวมกับคำขนส่งแล้วยังมีราคาต่ำกว่าราคาสุกรที่จำหน่ายในประเทศไทย ในการนำเข้าซากสุกรนั้นจะมีการวางแผนการนำเข้าโดยสำแดงสินค้าอันเป็นเท็จเพื่อหลีกเลี่ยงการชำระอากรที่ถูกต้องตามพิกัดอัตราภาษีศุลกากร โดยสำแดงสินค้าพิกัดอัตราภาษีศุลกากรเป็นร้อยละ 0 แต่หากสำแดงตามความจริงแล้วจะต้องชำระภาษีพิกัดอัตราภาษีศุลกากร ประมาณร้อยละ 30 เมื่อนำเข้าสินค้าซากสุกรมาแล้วจะให้ตัวแทนในการออกของของกลุ่มผู้กระทำความผิดดำเนินกระบวนการนำสินค้าออกจากท่าเรือแหลมฉบังและส่งต่อไปยังห้องเย็นในพื้นที่ต่าง ๆ โดยรถขนส่งรับจ้างที่ใช้บริการเป็นประจำ เพื่อจัดเก็บและรอการจำหน่าย ในการนำซากสุกรไปจำหน่ายนั้นจะใช้วิธีการสวมสิทธิโควตาสุกรภายในประเทศ ทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรไม่สามารถจำหน่ายสุกรได้ ทำให้เกิดความเสียหายในวงกว้าง และหากนำซากสุกรมาจำหน่ายจะมีกำไรประมาณ 100 บาทต่อกิโลกรัม ก่อให้เกิดกำไรส่วนต่างจำนวนมาก
@ สมาคมผู้เลี้ยงสุกรฯ - ‘อัจฉริยะ’ เข้าร้องทุกข์ด้วย
นอกจากนี้ ยังปรากฎว่ากรมปศุสัตว์ สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ และนายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงษ์ เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดำเนินคดีแก่ผู้กระทำความผิดในกรณีดังกล่าวอีกด้วย อันเข้าลักษณะเป็นความผิดมูลฐานตามมาตรา 3(7) แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และกรณีมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า นายอานันท์ สินช่วยปราบ กับพวกและกลุ่มขบวนการนำเข้าสินค้าประเภทซากสัตว์ (สุกร) เข้ามาในราชอาณาจักรโดยมิชอบด้วยกฎหมายกับพวก ได้ไปซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดดังกล่าว
@สอบลับธุรกรรมได้ทรัพย์สิน 24 รายการ
ในการนี้ เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ในการประชุมคณะกรรมการธุรกรรม ครั้งที่ 9/2566 เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2566 ที่ประชุมมีมติมอบหมายพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อดำเนินการตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ประกอบคำสั่งเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินลับ ที่ ม. 583/2566 ลงวันที่ 20 กันยายน 2566 เรื่อง มอบหมายพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบธุรกรรมหรือทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด รายนายอานันท์ สินช่วยปราบ กับพวก คำสั่งเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ลับ ที่ ม. 6227/2566 ลงวันที่ 9 ตุลาคม 2566เรื่อง มอบหมายพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบธุรกรรมหรือทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด (เพิ่มเติม) รายนายอานันท์ สินช่วยปราบกับพวก คำสั่งเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ลับ ที่ ม. 663/2566 ลงวันที่ 31 ตุลาคม 2566 เรื่อง มอบหมายพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบธุรกรรมหรือทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด (เพิ่มเติม) รายนายอานันท์ สินช่วยปราบ กับพวก
รวมทั้งคำสั่งเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ลับ ที่ ม. 582/2566 ลงวันที่ 20 กันยายน 2566 เรื่อง มอบหมายพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบธุรกรรมหรือทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด รายกลุ่มขบวนการนำเข้าสินค้าประเภทซากสัตว์ (สุกร) เข้ามาในราชอาณาจักรโดยมิชอบด้วยกฎหมาย กับพวก คำสั่งเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ลับ ที่ ม. 626/2566 ลงวันที่ 9 ตุลาคม 2566 เรื่อง มอบหมายพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบธุรกรรมหรือทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด (เพิ่มเติม) รายกลุ่มขบวนการนำเข้าสินค้าประเภทซากสัตว์ (สุกร) เข้ามาในราชอาณาจักรโดยมิชอบด้วยกฎหมาย กับพวก คำสั่งเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ลับ ที่ ม. 664/2566 ลงวันที่ 31 ตุลาคม 2566 เรื่อง มอบหมายพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบธุรกรรมหรือทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด (เพิ่มเติม) รายกลุ่มขบวนการนำเข้าสินค้าประเภทซากสัตว์ (สุกร) เข้ามาในราชอาณาจักรโดยมิชอบด้วยกฎหมาย กับพวก พนักงานเจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการตรวจสอบรายงานการทำธุรกรรมหรือข้อมูลเกี่ยวกับการทำธุรกรรมของบุคคลดังกล่าวแล้ว ปรากฎหลักฐานเป็นที่เชื่อได้ว่า นายอานันท์ สินช่วยปราบ กับพวก และกลุ่มขบวนการนำเข้าสินค้าประเภทชากสัตว์ (สุกร) เข้ามาในราชอาณาจักรโดยมิชอบด้วยกฎหมาย กับพวก มีพฤติการณ์แห่งการกระทำอันเข้าลักษณะเป็นความผิดมูลฐานตามมาตรา 3(7) แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 หรือเป็นผู้ซึ่งเกี่ยวข้องหรือเคยเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้กระทำความผิดมูลฐานหรือความผิดฐานฟอกเงิน และจากการตรวจสอบข้อมูลการทำธุรกรรม หรือทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด รวมทั้งจากการรวบรวมพยานหลักฐาน ปรากฏว่าบุคคลดังกล่าวได้ไปซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด จำนวน 24 รายการ
พร้อมดอกผลเนื่องจากทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดในคดีนี้ประกอบด้วย อสังหาริมทรัพย์ประเภทที่ดินตามโฉนดที่ดิน ที่ดินตามโฉนดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง อันเป็นทรัพย์สินที่ปรากฎหลักฐานในทางทะเบียนในการเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์โดยผู้มีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์อาจดำเนินการทางนิติกรรมโอนเปลี่ยนแปลงชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์ในทางทะเบียนได้ สังหาริมทรัพย์ประเภทรถยนต์ อันเป็นทรัพย์สินที่ปรากฎหลักฐานในทางทะเบียนในการควบคุมการเสียภาษีหรือการเป็นผู้ครอบครองทรัพย์สินดังกล่าว โดยผู้มีชื่อเป็นผู้ครอบครองอาจดำเนินการโอนเปลี่ยนแปลงชื่อผู้มีสิทธิครอบครองในทางทะเบียนได้โดยง่าย และสังหาริมทรัพย์ประเภทเงินในบัญชีเงินฝากธนาคาร อันเป็นทรัพย์สินที่สามารถโอน ยักย้าย ปกปิดหรือซ่อนเร้นได้โดยง่าย
หากมิได้มีการออกคำสั่งให้ยึดและอายัดทรัพย์สินดังกล่าวไว้ชั่วคราว เมื่อเจ้าของหรือผู้มีส่วนได้เสียหรือผู้มีสิทธิในทรัพย์สินดำเนินการโอน จำหน่าย ยักย้าย ปกปิด หรือซ่อนเร้นทรัพย์สินดังกล่าวไปเสีย และหากต่อมาศาลได้มีคำสั่งให้ทรัพย์สินดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดิน สำนักงาน ปปง. อาจไม่สามารถติดตามทรัพย์สินดังกล่าวกลับคืนมาได้ จึงเป็นกรณีที่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่านายอานันท์ สินช่วยปราบ กับพวก และกลุ่มขบวนการนำเข้าสินค้าประเภทชากสัตว์ (สุกร) เข้ามาในราชอาณาจักรโดยมิชอบด้วยกฎหมาย กับพวก ได้ไปซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด และอาจมีการโอน จำหน่าย ยักย้าย ปกปิด หรือซ่อนเร้นทรัพย์สินดังกล่าว
นอกจากนี้ เนื่องจากพฤติการณ์แห่งการกระทำความผิดเกี่ยวกับการลักลอบหนีศุลกากรตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร รายนายอานันท์ สินช่วยปราบกับพวก (รหัสคดี 1359/2566) และรายกลุ่มขบวนการนำเข้าสินค้าประเภทซากสัตว์ (สุกร) เข้ามาในราชอาณาจักรโดยมิชอบด้วยกฎหมาย กับพวก (รหัสคดี 386/2566) ปรากฏว่ามีลักษณะเป็นเครือข่ายเชื่อมโยงกลุ่มเดียวกัน
คณะกรรมการธุรกรรม ในการประชุม ครั้งที่ 11/2566 เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2566 จึงมีมติเห็นชอบให้รวมสำนวนทั้งสองเข้าด้วยกันเพื่อดำเนินการกับทรัพย์สินในความผิดมูลฐาน ตามมาตรา 3(7) แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 34(3) และมาตรา 48 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มติคณะกรรมการธุรกรรมในการประชุมครั้งที่ 11/2566 เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2566 และระเบียบคณะกรรมการธุรกรรม ว่าด้วยการรับเรื่องการตรวจสอบ การพิจารณาดำเนินการ และการควบคุมตรวจสอบการปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2556 ข้อ 25
คณะกรรมการธุรกรรมจึงมีคำสั่งยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไว้ชั่วคราว จำนวน 24 รายการ พร้อมดอกผล คือ มีคำสั่งให้ยึดทรัพย์สิน จำนวน 13 รายการ ได้แก่ รายการที่ 1 ถึงรายการที่ 13 และมีคำสั่งให้อายัดทรัพย์สิน จำนวน 11 รายการ ได้แก่ รายการที่ 14 ถึงรายการที่ 24 มีกำหนดไม่เกิน 90 วัน (เก้าสิบวัน) นับตั้งแต่วันที่คณะกรรมการธุรกรรมมีมติ กล่าวคือ นับตั้งแต่วันที่ 16 พฤศจิกายน 2566 ถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2567 โดยมีรายการทรัพย์สินที่ยึดและอายัดปรากฏตามบัญชีทรัพย์สินแนบท้ายคำสั่งนี้
ทั้งนี้ ให้รวมถึงเงินหรือทรัพย์สินที่ได้มาจากการจำหน่าย จ่าย โอนด้วยประการใด ๆ ซึ่งทรัพย์สินดังกล่าวหรือสิทธิเรียกร้องหรือผลประโยชน์หรือดอกผลของเงินหรือทรัพย์สินดังกล่าวด้วย
@ ที่ดิน 6 แปลง -รถยนต์ 6 คัน - เงินฝาก 24 บช.
สำนักข่าวอิศรารายงานว่า ทรัพย์สินที่ของนายอานันท์กับพวกที่ถูก ปปง.ยึดและอายัด 24 รายการ รวมมูลค่า 53 ล้านบาท จำแนกเป็น
ที่ดิน 6 แปลง ได้แก่ โฉนดที่ดิน เลขที่ 12306 ,12307 ในจ.กรุงเทพฯ 2 แปลง ผู้ถือกรรมสิทธิ/ผู้ครอบครอง นายโดมวัจนคุปต์ ,โฉนดที่ดินเลขที่5441 จ.นนทบุรี 1 แปลง ผู้ถือกรรมสิทธิ/ผู้ครอบครอง นายธนกฤต ภูริฉัตร , โฉนดที่ดิน เลขที่ 33543 ,5271 ,34187 อ.บ้านฉาง จ.ระยอง ผู้ถือกรรมสิทธิ/ผู้ครอบครอง นางสาวน้ำทิพย์ ผดุงกุล
รถยนต์ 6 คัน ผู้ถือกรรมสิทธิ/ผู้ครอบครอง น.ส.มณีวรรณ จิรวรวงค์ 1 คัน (ยี่ห้อ PORSCHE ) ,น.ส.น้ำทิพย์ ผดุงกุล 4 คัน (ยี่ห้อ PORSCHE 1 คัน) , น.ส.เจนจิรา พรรัตนกุล 1 คัน (ยี่ห้อ PORSCHE)
รถจักรยนต์ 1 คัน ถือกรรมสิทธิ/ผู้ครอบครอง นายศักดา ทองถนอม
(รวม 13 รายการ มูลค่า 31,011,300 บาท)
เงินในบัญชีเงินฝาก 11 บัญชี (รายการ) อยู่ในชื่อนายอานันท์ สินช่วยปราบ และบุคคลต่างๆ 5 คน รวมมูลค่า 22,013,195.29 บาท (ดูเอกสาร)
อย่างไรก็ตามคดีนี้ ยังไม่มีคำพิพากษาจากศาลยุติธรรมว่านายอานันท์กับพวกกระทำผิดตามข้อกล่าวหา