อย่างไรก็ตาม รัฐบาลทหารปฏิเสธที่จะพบปะกับฝ่าย NUG และอาเซียนก็ไม่เต็มใจที่จะละทิ้งหลักการไม่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศสมาชิก อีกทั้งจุดยืนของกลุ่มประเทศอาเซียนยังถูกบ่อนทําลายโดยรัฐบาลสมาชิกบางประเทศที่ยังคงดำเนินธุรกิจตามปกติกับรัฐบาลทหารเมียนมา
ข่าวต่างประเทศที่เป็นประเด็นจับตาในสัปดาห์นี้คงหนีไม่พ้นกรณีสงครามกลางเมืองในประเทศเมียนมา ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น และปรากฏเป็นข่าวออกมาเป็นระยะว่าฝ่ายรัฐบาลทหารนั้นกำลังเสียเปรียบอย่างหนัก
อย่างไรก็ตามมีบทวิเคราะห์จากทางสื่อต่างประเทศที่ระบุว่าสถานการณ์นี้ไม่ดีกับประเทศเพื่อนบ้านเลยโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับความเสี่ยงที่เมียนมาจะเป็นรัฐล้มเหลวในอนาคต
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงได้นำเอาบทความมานำเสมอมีรายละเอียดดังนี้
เป็นที่รับทราบกันดีแล้วว่าสถานการณ์ในเมียนมากําลังแย่ลงและรัฐบาลทหารกําลังสูญเสียอำนาจในการควบคุมประเทศ
แต่นั่นไม่ใช่เรื่องดี เพราะไม่ใช่ฝ่ายค้านซึ่งสนับสนุนประชาธิปไตยมีความได้เปรียบในสงครามครั้งนี้ แต่กลับเป็นหลายกลุ่มชาติพันธ์ติดอาวุธจำนวนมาก ที่กลายเป็นกลุ่มซึ่งกำลังท้าทายรัฐบาล ที่อาจจะชนะสงคราม และสิ่งที่ตามมาก็คือความโกลาหล
แน่นอนว่ารัฐบาลควรต้องสละอำนาจ แต่อีกสิ่งที่สำคัญก็คือเมียนมาต้องไม่ถูกปล่อยให้เป็นรัฐล้มเหลว ฝ่ายกองกำลังที่แสวงหาประชาธิปไตยและอดทนต่อสถานการณ์ในเมียนมา มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรวมตัวและหาจุดร่วมซึ่งกันและกัน และทั้งโลกควรจะช่วยสนับสนุนกระบวนการนี้
อนึ่ง เมียนมาไม่เคยได้พบกับสันติภาพเลยนับตั้งแต่ที่กองทัพได้รัฐประหารรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในเดือน ก.พ.2564 การรัฐประหารครั้งนั้นทําให้เกิดสงครามกลางเมือง โดยกองกําลังสนับสนุนประชาธิปไตยได้รวมตัวกันภายใต้ธงของรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) ซึ่งเป็นรัฐบาลที่ลี้ภัยจากการยึดอำนาจ
สถานการณ์ในเมียนมานั้นมีกลุ่มก่อความไม่สงบต่อสู้กันมานานหลายปีแล้วเพื่อต่อต้านหลายรัฐบาลที่เข้ามาปกครองประเทศ ร่วมไปถึงรัฐบาลทหารชุดปัจจุบัน ตามข้อมูลขององค์การสหประชาชาติ (UN) หลังการเข้ายึดอำนาจ รัฐบาลทหารได้สังหารผู้ประท้วงต่อต้านไปกว่า 4,200 ราย และความโหดร้ายในการปกครองประเทศยังส่งผลทำให้มีประชาชนพลัดถิ่นอีกกว่า 2 ล้านคนข้ามพรมแดนไปยังประเทศเพื่อนบ้าน
กองทัพจีนซ้อมรบที่บริเวณชายแดนเมียนมา (อ้างอิงวิดีโอจาก Hindustan Times)
ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา กองกำลังติดอาวุธชาติพันธ์ซึ่งปฏิบัติการณ์ตามแนวชายแดนได้เปิดปฏิบัติการโดยโจมตีในลักษณะของการประสานงาน โดยปฏิบัติการณ์นี้เรียกว่าปฏิบัติการณ์ 1027 ซึ่งถูกตั้งชื่อตามวันปฏิบัติการณืซึ่งก็คือวันที่ 27 ต.ค. ผลก็คือการยึดเมืองและที่ตั้งทางทหารหลายแห่งที่อยู่ริมชายแดนประเทศจีน
แม้จะเป็นการยากที่จะรายงานข้อมูลที่ถูกต้อง แต่ก็มีความเป็นไปได้ว่าที่ตั้งทางการทหารมากกว่า 160 แห่งอาจจะถูกยึดโดยกองกำลังติดอาวุธ ขณะที่ทางรัฐบาลเงา NUG ออกมากล่าวว่าการโจมตีหลังจากนี้จะแพร่หลายมากขึ้น และจะมีการประท้วงหยุดงานในหลายๆเมือง
รัฐบาล NUG ระบุอีกว่าการสูญเสียดินแดนนี้มีนัยยะสำคัญ โดยตอนนี้กองกำลังต่อต้านได้ควบคุมพื้นที่ประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ของดินแดนเมียนมาแล้ว และยังทำให้สูญเสียรายได้จากการค้าพรมแดนคิดเป็น 40 เปอร์เซ็นต์ อีกทั้งมีรายงานการโจมตีเมืองหลวง กรุงเนปิดอว์ ก็ได้เน้นย้ำความเปราะบางของรัฐบาล
รายงานความสูญเสียดังกล่าวได้ทำลายขวัญกำลังใจในหมู่ทหารของรัฐบาล ทำให้มีการประเมินกันว่าอาจมีทหารถึง 14,000 นาย ยอมวางอาวุธและนี่ส่งผลทำให้รัฐบาลเลือกจะใช้การโจมตีทางอากาศแทน โดยไม่เจาะจงตำแหน่งเป้าหมาย ซึ่งนี่จะสร้างความสูญเสียให้กับพลเรือนมากขึ้นไปอีก แต่ก็ยังไม่สามารถจัดการกับปฏิบัติการ 1027 ได้
@รัฐบาลทหารเมียนมาจะพ่ายแพ้หรือไม่
ยังเป็นเรื่องยากที่จะพูดถึง ณ ตอนนี้ โดยนายประทีป เฮบลิการ์ อดีตรัฐมนตรีพิเศษของรัฐบาลอินเดียให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว The Telegraph ของอังกฤษว่าสถานการณ์ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เพราะภาพที่เห็นคือเครื่องจักรสงครามของกองทัพเมียนมาที่ดูยิ่งใหญ่นั้นมีอันต้องล่าถอย
ทางด้านของนายริชาร์ด ฮอร์ซีย์ ที่ปรึกษาอาวุโสขององค์กร International Crisis Group ซึ่งเป็นองค์กรวิเคราะห์อิสระกล่าวว่า การโจมตีแบบประสานงานโดยกลุ่มติดอาวุธ "เป็นความท้าทายในสนามรบที่ใหญ่ที่สุดสําหรับกองทัพเมียนมานับตั้งแต่การรัฐประหารเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564"
ส่วนสำนักข่าวบีบีซีรายงานว่ารัฐบาลทหารอาจจะมีการใช้หน่วยทหารราบเบาซึ่งขึ้นชื่อในเรื่องของความโหดร้าย แต่ก็เชื่อกันว่าการใช้งานหน่วยทหารนี้ลดลงไปมากนับแต่การรัฐประหารในปี 2564
“แต่ถ้าหากฝ่ายต่อต้านยังคงสามารถรักษาแรงกดดันที่มีและปรับปรุงการประสานงานต่อเนื่อง อาจมีความเป็นไปได้ที่รัฐบาลทหารจะต้องคิดเรื่องการเจรจากับฝ่ายตรงข้าม ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ปฏิเสธที่จะพิจารณา” บีบีซีระบุ
อย่างไรก็ตามผู้เชื่ยวชาญเชื่อว่ารัฐบาลทหารน่าจะขยายการปราบปรามและหากลยุทธ์เพื่อจะจัดการกับกลุ่มกบฏได้
“มีแนวโน้มว่าฝ่ายรัฐบาลทหารจะเพิ่มความพยายามที่โหดร้ายเป็นสองเท่าเพื่อให้ได้เปรียบในสนามรบ รวมไปถึงใช้วิธีการผลาญโลก (กลยุทธ์การทำลายยุทธ์ปัจจัยให้หมดสิ้น เพื่อไม่ให้ผู้ใดใช้ประโยชน์) มากขึ้น” นายฮอร์ซีย์กล่าว
โดยตอนนี้เริ่มมีบางกลุ่มกล่าวหารัฐบาลทหารแล้วว่าใช้อาวุธเคมี ซึ่งถ้าหากพิสูจน์ได้จริง ก็จะเท่ากับเป็นอาชญากรรมสงคราม และการสู้รบจะทีความรุนแรงขึ้นไปอีก
กลุ่มติดอาวุธกล่าวหาว่ากองทัพเมียนมาใช้อาวุธเคมี (อ้างอิงวิดีโอจาก Firstpost)
@บทบาทของอาเซียนและต่างชาติ
หากยังจำกันได้ อาเซียนได้เคยมีฉันทามติ 5 ข้อกับ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ประกอบไปด้วย 1.การยุติความรุนแรงโดยทันที 2.การเจรจาระหว่างทุกฝ่าย 3.การแต่งตั้งทูตพิเศษ 4.ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมจากอาเซียน และ 5.การเยือนเมียนมาของทูตพิเศษอาเซียนเพื่อพบปะกับทุกฝ่าย ขณะที่รัฐบาลเงา NUG เองก็เรียกร้องให้มีการปล่อยตัวนักโทษการเมืองที่น่าจะมีประมาณ 20,000 คน
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลทหารปฏิเสธที่จะพบปะกับฝ่าย NUG และอาเซียนก็ไม่เต็มใจที่จะละทิ้งหลักการไม่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศสมาชิก อีกทั้งจุดยืนของกลุ่มประเทศอาเซียนยังถูกบ่อนทําลายโดยรัฐบาลสมาชิกบางประเทศที่ยังคงดำเนินธุรกิจตามปกติกับรัฐบาลทหารเมียนมา
กุญแจสำคัญของประสิทธิภาพของอาเซียนก็คือตัวประธานของกลุ่มเองซึ่งตอนนี้คือประเทศอินโดนีเซียที่ดูจะมีความกระตือรือร้นในการแก้ไขปัญหาเมียนมา แต่ก็ยังไม่สามารถทำอะไรได้มากนัก และประเทศลาวซึ่งจะเป็นประธานอาเซียนต่อไปในปี 2567 ก็ไม่น่าจะคาดหวังอะไรได้อีกเช่นกัน
ดังนั้นถ้าหากอาเซียนถูกลดบทบาทลง ผู้เล่นรายหลักที่จะเข้ามาจัดการกับเรื่องอนาคตของเมียนมาจะหนีไม่พ้นจีนแน่นอน ซึ่งเป็นที่รับทราบกันแล้วว่าจีนสนับสนุนเผด็จการทหาร เพื่อจะใช้แสวงหาประโยชน์ให้กับตัวเอง เพราะตำแหน่งของเมียนมานั้นถือว่าเป็นศูนย์กลางของภูมิรัฐศาสตร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อีกทั้งเมียนมายังมีทรัพยากรธรรมชาติอย่างมากมาย โดยการที่ตะวันตกคว่ำบาตรเมียนมาให้โอกาสจีนเป็นอย่างมาก
ทว่าในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา จีนอาจจะดำเนินนโยบายป้องกันความเสี่ยงในการสนับสนุนเผด็จการทหาร ด้วยการไปร่วมมือกับกองทัพพันธมิตรประชาธิปไตยแห่งชาติเมียนมา ซึ่งเป็นกลุ่มที่กําลังต่อสู้กับรัฐบาลทหาร จีนกังวลว่าความไร้กฎหมายในภูมิภาคชายแดนซึ่งมีชื่อเสียงด้านการผลิตยาเสพติดและการค้ามนุษย์จะทะลักเข้าสู่จีน พื้นที่นี้ยังเป็นที่รู้จักในฐานะสถานที่ปฏิบัติงานของกลุ่มอาชญากรที่กําลังดําเนินการฉ้อโกงทางไซเบอไปร์ทั่วโลกซึ่งนี่ทําให้จีนไม่พอใจมาก
เมื่อปลายเดือนที่แล้ว รถบรรทุกที่บรรทุกสินค้าจากจีนไปยังเมียนมาถูกจุดไฟเผาหลังจากรัฐบาลจีนเริ่มปฏิบัติการณ์ปราบปรามอาชญากรฉ้อโกง วันต่อมาจีนประกาศว่ากองทัพปลดปล่อยประชาชนจะจัดการฝึกซ้อมในพื้นที่เพื่อ "ทดสอบความคล่องแคล่วอย่างรวดเร็วการปิดผนึกชายแดนและความสามารถในการโจมตีของกองกำลัง"
ส่วนนักการทูตจีนยังคงพบปะกับเจ้าหน้าที่จากรัฐบาลทหารเพื่อหารือเกี่ยวกับ "ความร่วมมือในสันติภาพและเสถียรภาพ และหลักนิติธรรมตามแนวชายแดน" ในขณะที่เรียกร้องให้หยุดยิง จีนยังกล่าวด้วยว่าจีนยังคงรักษานโยบายการไม่แทรกแซงกิจการภายในของเมียนมา
ไม่เพียงแต่อาเซียนเท่านั้นที่ถูกลดบทบาทลงจากกรณีความขัดแย้ง แต่ยังรวมไปถึงองค์การสหประชาชาติหรือยูเอ็นด้วยเช่นกัน
แม้ว่าตอนนี้ตัวแทนรัฐบาลเงา NUG จะมีที่นั่งใน UN แต่ก็ต้องพยายามดิ้นรนอย่างมากเพื่อจะให้ได้รับการยอมรับจากนานาชาติ ซึ่งทั้งญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกาต่างก็ไม่ได้ทำเช่นนั้น
ผลก็คือความพยายามทางการทูตที่ดูเหมือนจะถูกปิดกั้นจากอีกฝ่าย เว้นแต่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นไปตามเงื่อนไขของพวกเขา นี่จึงส่งผลทำให้วิกฤตมนุษยธรรมเลวร้ายลงไปอีก
ดังนั้นถ้าสถานการณ์ดังกล่าวยังดำเนินต่อไปในลักษณะนี้ ก็มีโอกาสที่เมียนมาจะกลายเป็นรัฐล้มเหลว และสิ่งที่ตามมาจากการเป็นรัฐล้มเหลวนั้นก็คือการที่ต่างชาติ ซึ่งในกรณีนี้คือประเทศจีนเข้าแทรกแซงกิจการเมียนมา และพอจีนเข้าแทรกแซง ประเทศต่อไปที่จะดำเนินการเช่นเดียวกันก็คงหนีไม่พ้นอินเดียซึ่งมีพรมแดนติดกับเมียนมาเป็นระยะทาง 1,643 กิโลเมตร รัฐบาลในกรุงเดลีจะไม่ยอมจํานนต่ออิทธิพลของรัฐบาลจีนในเมียนมาที่ถือว่ามีความสําคัญต่ออนาคตทางเศรษฐกิจของอินเดียอย่างแน่นอน
ตอนนี้ทางออกที่ดูน่าจะดีที่สุดก็คือว่ากระบวนการสันติภาพมีความจำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟู เริ่มตั้งแต่การตระหนักรู้การมีอยู่ของรัฐบาลเงา NUG บริบทของอาเซียนที่ต้องโน้มน้าวว่ารัฐบาลทหารไม่อาจอยู่ในอำนาจต่อไปได้และการฟื้นฟูประชาธิปไตยเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้กับประเทศ
โดยเมียนมาซึ่งเป็นประเทศจุดศูนย์กลางในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในทั้งขนาดและตำแหน่งที่ตั้งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในบริบทของภูมิรัฐศาสตร์ ดังนั้นจึงไม่ควรอย่างยิ่งที่จะปล่อยให้ประเทศนี้ล่มสลายลงไป
เรียบเรียงจาก: https://www.japantimes.co.jp/editorials/2023/12/01/myanmar-failed-state/ , https://www.firstpost.com/explainers/myanmar-conflict-intensifies-will-the-junta-rule-collapse-13436132.html