"เทศบาลนครตรังได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาเพื่อเข้ามาดำเนินการตรวจสอบ ดูแล ออกแบบ ก่อสร้างโรงแรมตรังใหม่ โดยเริ่มจากศึกษาด้านโครงสร้างของอาคาร เพราะโรงแรมตรังก่อสร้างมานานกว่า 50 ปี มีความชำรุดทรุดโทรมในหลายจุด และยังถูกทิ้งร้างมานาน อาจจะทำให้เกิดปัญหาต่อไปได้ ทางเทศบาลนครตรังได้พยายามดำเนินการต่อ เพราะโรงแรมตรังถือเป็นจุดยุทธศาสตร์ของเมือง ไม่ว่าจะเป็นย่านเศรษฐกิจ ด้านศิลปะ สถาปัตยกรรมที่เป็นที่รู้จัก ซึ่งอยู่คู่กับหอนาฬิกาตรัง..."
เป็นอีกหนึ่งกรณีที่อยู่ในความสนใจของสาธารณชนจังหวัดตรัง
สำหรับปัญหาการดำเนินธุรกิจโรงแรมตรัง โรงแรมเก่าแก่ใจกลางเมือง แลนด์มาร์กสำคัญของจังหวัดตรัง
หลังจากก่อนหน้านี้ ในช่วงเดือนมีนาคม 2565 เทศบาลนครตรัง (ทน.ตรัง) พร้อมนิติกรเจ้าของสำนวน เจ้าพนักงานบังคับคดี สำนักงานบังคับคดีจังหวัดตรัง ยกขบวนเข้าปิดประกาศบังคับคดี ตามคำพิพากษาศาลจังหวัดตรัง คดีหมายเลขดำที่ พ.36/2561 และคดีหมายเลขแดงที่ พ.730/2562 เพื่อขับไล่ บริษัทเกาะหวังเนเจอรัลรีสอร์ท จำกัด หรือบริษัทเกาะหวังเนเจอรัลรีสอร์ท จำกัด หรือ บริษัทอ่าวสวรรค์ จำกัด เอกชนคู่สัญญาสัมปทานเช่าพื้นที่กับทางเทศบาล ในฐานะลูกหนี้ ตามคำพิพากษาและบริวาร พร้อมทั้งขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากอาคารโรงแรมตรัง เลขที่ 135/2-5 รวมทั้งอาคารพาณิชย์ เลขที่ 136/6 , 136/8 , 136/10 , 136/12 ถนนวิเศษกุล ตำบลทับเที่ยง อำเภอเมือง จังหวัดตรัง อันเป็นผลมาจากผู้เช่าไม่จ่ายค่าเช่าให้ทางเทศบาลมาหลายปี ความเสียหายขณะนั้นอยู่ที่ตัวเลข 50 ล้านบาท และยังมีเงินค่าเช่าต่างตอบแทนอีกปีหนึ่งกว่า 2.5 ล้านบาท ต้องจ่ายทุกเดือนกันยายนของทุกปี
หลังจากนั้น เรื่องก็เงียบหายไป
ล่าสุด ทีมข่าวพิเศษตรังสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ โรงแรมตรัง กลายมาเป็นกระแสสังคมคนในจังหวัดตรังอีกครั้ง หลังเพจ "100 ปี ทับเที่ยง" ซึ่งมีผู้กดไลค์ติดตามกว่า 2.2 หมื่นคน ได้โพสต์กระทู้ ระบุ
"คืนชีพโรงแรมตรัง โรงแรมหลังใหญ่ประจำเมืองของเทศบาลแห่งนี้ มีมาตั้งแต่ช่วงปี 2505-2506 สร้างเสร็จหลังหอนาฬิกาประมาณปีนึง รูปแบบอาคารเป็นการออกแบบ สไตล์โมเดิร์น ตามยุคสมัย ที่มีลักษณะเรียบง่าย เน้นการใช้สอย มีระเบียงชมวิวเมือง เรียกว่าเป็นเมกะโปรเจคของเมืองในยุคนั้นก็ว่าได้ แรกเริ่มเดิมทีก่อสร้างโซนหัวมุมก่อน และขยับขยายไปตามแกนถนนวิเศษกุล และ พระราม6 โดยก่อสร้างบนพื้นที่การประปาเก่า ที่ยังปรากฎหอพักน้ำคอนกรีตมาจนถึงทุกวันนี้ ปัจจุบันโรงแรมในเขตเมืองเก่าทับเที่ยงแห่งนี้ได้ปิดทำการเพื่อรอปรับปรุง เพื่อเปิดใช้ในอนาคตอันใกล้ และตามขั้นตอนก็จะมีการรับฟังความคิดเห็นของชาวตรังในฐานะเจ้าของบ้าน ว่าอยากให้โรงแรมตรัง ที่อยู่คู่แยกหอนาฬิกามากว่า60ปีนี้ กลับมาเป็นที่เชิดหน้าชูตาของเมืองยังไง เราร่วมกันให้ความเห็นกับทางเทศบาลได้ เพราะเค้าใช้เงินภาษีจากประชาชน”
“อยากให้มี…เพื่อ… เสนอใต้เมนท์นี้ได้ครับ เพราะเค้าจะเอามาเป็นโจทย์ในการปรับปรุงในอนาคต หรือหากสะดวก เชิญร่วมความเห็นได้ในวันจันทร์ที่ 27 พย นี้ 8.30-12.00 ณ โรงแรมวัฒนาพาร์ค ครับ” เพจระบุ
หลังจากโพสต์ดังกล่าวถูกเผยแพร่ออกไปไม่นาน มีบรรดาแฟนเพจเข้ามาแสดงความคิดเห็น มากกว่า 200 ความคิดเห็น และกดไลน์ จำนวนมากเกือบพันครั้ง
ความเห็นจากลูกเพจที่น่าสนใจ อาทิ “รื้อโรงแรมทิ้งครับ เพราะที่ผ่านมาใครได้ประโยชน์ที่แท้จริง เทศบาลได้อะไรแค่ไหน ประชาชนได้อะไร ควรเปิดรับฟังเสียงประชาชนว่าถ้ารื้อแล้วควรทำเป็นอะไร ประโยชน์อะไร” , “ไม่ควรรื้อแต่ควรปรับปรุงใหม่ครับ ตกแต่งให้ทันสมัย คงแบบเดิมไว้” , “มันควรจะปรับให้เป็นแลนด์มาร์ก เหมือนโอซาก้าเป็นจุดติดป้ายไฟ ภายในตัวอาคารควรให้เอกชนเข้าประมูลเปิดเป็นห้าง หรือแหล่งชอปปิ้งพื้นเมือง เพื่อสอดรับกับหอนาฬิกาและพื้นที่ที่เทศบาลกำลังปรับปรุง...ด้านหน้าเปลี่ยนเป็นพนังกระจกใส...นึกฟิวว่าเป็นร้านสตาร์บัคส์แล้วคนนั่งจิบกาแฟมองมาเห็นหอนาฬิกา ตรังจะน่าอยู่ขึ้นมาก”
“ก่อนจะปรับปรุง อยากให้มี.. ทีมบริหารและทีมงานที่มีคุณภาพเพียงพอจะแก้ไขและพัฒนา หาBDเก่งๆมาช่วยเป็นผู้พัฒนาค่ะ เพราะ.. ที่ตรังไม่มีBDที่รู้ระบบการทำงานเลยยยยยย เสียของเยอะมาก ถ้าได้BDเก่งๆ ไม่มีอะไรหน้ากลัวนอกจากผู้เซ็นอนุมัติงบ” , “ถ้าไม่กลับมาเป็นโรงแรม ก็เป็น TK park ,TCDC,Art gallery หรือ mix use เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ของนักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป” , “ความคิดส่วนตัวนะครับ สถาปัตยกรรมภายนอกน่าอนุรักษ์ไว้ เพื่อคงความเป็นอัตลักษณ์ ส่วนงานปรับปรุงออกแบบภายในใหม่ ใส่ความทันสมัย +อัตลักษณ์ดั้งเดิม เป็นจุดขายครับ”
“รื้อ ถ้าปรับปรุงอีกก็สู้เอกชนไม่ได้เพราะรร.เอกชนมาก ปรับพื้นที่เป็นลานแสดงกิจกรรม พื้นที่พักผ่อนคู่กับจัตุรัสเมืองตรังที่กำลังสร้าง” , “ในตัวเมืองตรังเรามีโรงแรมของเอกชนเยอะแล้ว เยอะจนร้าง ดังนั้นโรงแรมตรังน่าจะปรับเปลี่ยนเป็นอย่างอื่น เช่น หอประชุม หอศิลป์ ศูนย์สินค้าโอท็อป เป็นต้น”
ขณะที่นายสัญญา ศรีวิเชียร นายกเทศมนตรีนครตรัง เปิดเผยทีมข่าวพิเศษตรังสำนักข่าวอิศรา ว่า เรื่องโรงแรมตรังนั้นถือว่าเป็นมหากาพย์ เพราะเทศบาลมีการฟ้องร้องผู้เช่าที่ ปัจจุบันคดีถึงที่สุดแล้ว เทศบาลนครตรังกำลังดำเนินการบังคับคดีกับคู่สัญญาที่ไม่จ่ายค่าเช่า ซึ่งเป็นความเสียหายจำนวนมาก ในส่วนบริเวณที่เช่าช่วงต่อทั้ง 8 คูหา เทศบาลนครตรังได้ดำเนินการตามกฎหมาย ผู้เช่าช่วงได้ยื่นขออำนาจพิเศษของศาลให้คุ้มครอง แต่เทศบาลนครตรังได้คัดค้านคำร้องดังกล่าวของผู้เช่าช่วงแล้ว
"กรณีบริวารทั้ง 8 รายที่เช่าช่วงอาคารพาณิชย์อยู่ด้านล่างและยังอยากอยู่ต่อนั้น ทางเทศบาลเข้าใจว่าเป็นพื้นที่ทำมาหากิน แต่นายกเทศมนตรีไม่มีอำนาจจะให้ใครอยู่หรือไม่ ในส่วนของบริวารที่เป็นผู้เช่าช่วงต่อจากเอกชน ก็ต้องเป็นไปตามกระบวนการของกฎหมาย"
นายสัญญากล่าวต่อว่า ขณะนี้เทศบาลนครตรังได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาเพื่อเข้ามาดำเนินการตรวจสอบ ดูแล ออกแบบ ก่อสร้างโรงแรมตรังใหม่ โดยเริ่มจากศึกษาด้านโครงสร้างของอาคาร เพราะโรงแรมตรังก่อสร้างมานานกว่า 50 ปี มีความชำรุดทรุดโทรมในหลายจุด และยังถูกทิ้งร้างมานาน อาจจะทำให้เกิดปัญหาต่อไปได้ ทางเทศบาลนครตรังได้พยายามดำเนินการต่อ เพราะโรงแรมตรังถือเป็นจุดยุทธศาสตร์ของเมือง ไม่ว่าจะเป็นย่านเศรษฐกิจ ด้านศิลปะ สถาปัตยกรรมที่เป็นที่รู้จัก ซึ่งอยู่คู่กับหอนาฬิกาตรัง
"การจ้างบริษัทที่ปรึกษาเขาจะเข้ามาดูเรื่องความมั่นคง ดูเรื่องการรีโนเวทว่าจะทำได้หรือไม่ ดูเรื่องงบประมาณและความคุ้มทุน และที่สำคัญต้องจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชน เพื่อให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็น เสนอความต้องการ ว่าจะรีโนเวท หรือ รื้อถอนสร้างใหม่ แล้วต้องมีรูปแบบ-รูปลักษณ์อย่างไร เพื่อให้เป็นเอกลักษณ์เมืองต่อไป โดยเวทีรับฟังความคิดเห็นจะจัดขึ้นในวันที่ 27 พฤศจิกายนนี้ จะจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ที่โรงแรมวัฒนาพาร์ค"
“โรงแรมตรังอยู่ในความสนใจของประชาชน เพราะเป็นอาคารที่ปิดร้างไว้นานหากโครงสร้างไม่แข็งแรงแล้ว ความคิดเห็นของผมก็อยากสร้างให้เป็นอาคารรูปแบบใหม่ ดึงดูดใจ สะดุดตาผู้คน มีที่จอดรถ และทำเป็นแหล่งเศรษฐกิจใหม่ขึ้นมา อาจจะมีห้างในตัวตึก มีโรงแรมห้องพัก 4 ดาว สำหรับรองรับนักท่องเที่ยว แต่ทั้งหมดเป็นเรื่องของอนาคต ที่ต้องอยู่ในกระบวนการรับฟังความคิดเห็น ศึกษาออกแบบ ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมาต้องใช้ความรู้ความเข้าใจ ต้องศึกษาความคุ้มค่า อยากให้ประชาชนมาให้แนวคิดเรื่องการพัฒนาโรงแรมตรัง”นายกเทศมนตรีนครตรังระบุ
นายกเทศมนตรีนครตรังกล่าวอีกว่า การดำเนินการธุรกิจที่เกี่ยวกับของหน่วยงานราชการ สิ่งที่หนีไม่พ้นคือต้องให้เอกชนเข้ามาบริหารจัดการ เพราะหากเทศบาลบริหารจัดการเองจะเป็นไปยาก เพราะเป็นความยุ่งยากของระบบงาน งานการเงิน การคลัง บุคลากรของเทศบาลไม่มีประสบการณ์ แน่นอนต้องมีการประมูลเกิดขึ้น ในอนาคตหากเราดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ก็จะไม่เกิดประเด็นแบบในอดีตที่ผ่านมา หากมีการผิดสัญญาจะยกเลิกแต่เนิ่นๆ อย่างไรก็ตามในอดีตอาจมีเรื่องการบริหารที่ขาดตอนของผู้บริหารเทศบาลนครตรัง ที่มีส่วนทำให้มีปัญหาบ้าง ต่อไปหากเทศบาลนครตรังดำเนินการตามกฎหมายปัญหาต่างๆจะไม่เกิดขึ้น
ทีมข่าวพิเศษตรังสำนักข่าวอิศรา รายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับมหากาพย์โรงแรมตรัง ก่อนหน้านี้ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ได้มีมติเป็นเอกฉันท์ชี้มูลเอาผิด ม.157 นายปัญญา ภิรมย์ รองปลัดเทศบาลตรัง กับพวก 3 ราย ประกอบด้วย กรณีผ่อนปรนค่าประกันสัญญาประมูลให้เช่า อาคารโรงแรมตรัง และการเช่าอาคารพาณิชย์ด้านล่างโรงแรมตรัง ระบุตามที่สำนักงานป.ป.ช ได้รับเรื่องร้องเรียน กล่าวหา นายอภิชิต วิโนทัย นายกเทศมนตรีนครตรัง กับพวก โดยคณะกรรมการปปช. พิจารณาแล้วมีมติเป็นเอกสาร ด้วยคะแนนเสียง 7 เสียง ใน กรณีดำเนิน โครงการประมูล ราคาให้เช่า อาคารโรงแรมตรัง ครั้งที่ครั้งที่ 2 ลงวันที่ 19 มกราคม 2552 โดยมิชอบ และป.ป.ช.ได้ส่งเรื่องและทำความเห็นเสนอมายัง กทจ.ตรัง ในการดำเนินการตามมติ ป.ป.ช. ซึ่ง กทจ. ได้มีการประชุมไปเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2564 ที่ผ่านมา และมีมติดำเนินการตามที่ ป.ป.ช.เสนอมา คือ ให้ "ไล่ออก” ผู้ถูกชี้มูลกรณีดังกล่าว ได้แก่ นายปัญญา ภิรมย์ รองปลัดเทศบาลนครตรัง นายยงยุทธ เบญจวรางกูล ผู้อำนวยส่วนการโยธาและผังเมือง และนายสมมุ่ง จีนแก้วเปี่ยม นิติกร ส่วนนายอภิชิต วิโนทัย นั้น ได้เสียชีวิตไปแล้ว การดำเนินการจึงระงับไป ผู้ถูกกล่าวหายืนยันความบริสุทธิ์ของตนเอง และพร้อมที่จะต่อสู้คดีในชั้นศาล
อย่างไรก็ดี มีรายงานข่าว ข้าราชการ จำนวน 3 ราย ที่ถูกป.ป.ช.ชี้มูลนั้น ได้ต่อสู้ในชั้นศาล และศาลมีคำพิพากษายกฟ้องจำเลยทั้ง 3 คน ได้แก่ นายปัญญา ภิรมย์ รองปลัดเทศบาลนครตรัง นายยงยุทธ เบญจวรางกูล ผู้อำนวยส่วนการโยธาและผังเมือง และนายสมมุ่ง จีนแก้วเปี่ยม นิติกร เนื่องจากผู้ถูกชี้มูลมีหน้าที่ให้คำปรึกษาแก่ผู้มีอำนาจ และได้แนบข้อกฎหมาย แนบฎีกาประกอบ ส่วนการตัดสินใจนั้นขึ้นอยู่กับผู้มีอำนาจที่จะเซ็นหรือไม่ ซึ่งข้าราชการทั้ง 3 ได้สิทธิกลับมาทำงานในตำแหน่งเดิม และมีสิทธิได้รับเงินเดือนย้อนหลังในช่วงที่ถูกสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่
ในส่วนคดีความฟ้องขับไล่ที่นั้น ขณะนี้ ศาลจังหวัดตรัง มีคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ พ.36/2561 และคดีหมายเลขแดงที่ พ.730/2562 เพื่อขับไล่ บริษัทเกาะหวังเนเจอรัลรีสอร์ท จำกัด หรือบริษัทเกาะหวังเนเจอรัลรีสอร์ท จำกัด หรือ บริษัทอ่าวสวรรค์ จำกัด เอกชนคู่สัญญาสัมปทานเช่าพื้นที่กับทางเทศบาล ในฐานะลูกหนี้ ตามคำพิพากษาและบริวาร พร้อมทั้งขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากอาคารโรงแรมตรัง เลขที่ 135/2-5 รวมทั้งอาคารพาณิชย์ เลขที่ 136/6 , 136/8 , 136/10 , 136/12 ถนนวิเศษกุล ตำบลทับเที่ยง อำเภอเมือง จังหวัดตรัง และทางเทศบาลนครตรัง (ทน.ตรัง) พร้อมนิติกรเจ้าของสำนวน เจ้าพนักงานบังคับคดี สำนักงานบังคับคดีจังหวัดตรัง เข้าปิดประกาศบังคับคดี เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2565 ซึ่งก่อนหน้านี้นายสัญญา ศรีวิเชียร นายกเทศมนตรีนครตรังคนปัจจุบัน ได้ออกมาระบุว่า ยอดหนี้ค่าเช่าและค่าต่าง ๆ ที่บริษัทเกาะหวังเนเจอรัลรีสอร์ท จำกัด ค้างชำระเป็นยอดรวมกว่า 50 ล้านบาท และเป็นเรื่องที่โจษจันกันไปทั่วเมืองตรัง ว่าทางเทศบาล ปล่อยให้เอกชนค้างค่าเช่าจำนวนมหาศาลนี้ได้อย่างไรถึง 10 ปี และความเสียหายที่เกิดขึ้นจะไปเรียกเก็บจากใคร อีกทั้งอาคารมีทั้งห้องพักนับร้อยห้อง ห้องจัดเลี้ยงสัมมนาขนาดใหญ่ ลานจอดรถ ร้านอาหาร สปา แถมมีอาคารพาณิชย์ด้านล่างถึง 8 คูหาที่มีผู้เช่าตลอด ให้ผู้สัมปทานเก็บค่าเช่าไว้เองเป็นรายได้กินเปล่า 18,000-25,000 บาท/เดือน/คูหา
ทั้งนี้ในปัจจุบัน เมื่อเรื่องคดีความถึงที่สุด โรงแรมตรังได้ตกเป็นที่จับตามองอีกครั้ง ว่าหลังจากนี้จะปรับเปลี่ยนรูปแบบหรือปรับปรุงอย่างไร เพราะถือเป็นไข่แดงในย่านเศรษฐกิจกลางเมือง จนล่าสุดทางเทศบาลนครตรังได้ว่าจ้างบริษัทดีไวพลัส จำกัด เพื่อทำการศึกษาออกแบบ และจัดเวทีรับฟังความความคิดเห็นประชาชนเกี่ยวกับอนาคตโรงแรมตรัง โดยกำหนดเชิญรับฟังความคิดเห็นภาคประชาชน โครงการจ้างที่ปรึกษา เพื่อศึกษาให้ได้แนวทางและแผนการดำเนินการในการปรับปรุงอาคารโรงแรมตรังเพื่อศึกษาความเหมาะสม ออกแบบและรับฟังความคิดเห็นประชาชนในเขตเทศบาลนครตรัง
ในวันที่27 พฤศจิกายนนี้ เวลา 08.30-12.00 น. ณ ห้องภัชรัตน์ ชั้น 2 โรงแรมวัฒนาพาร์ค จังหวัดตรัง
ผลการรับฟังความคิดเห็นภาคประชาชน คืนชีพโรงแรมตรัง
จะออกมาเป็นอย่างไร ติดตามดูกันต่อไป