"...จำเลยรับราชการมานานจนกระทั่งมีตำแหน่งเป็นถึงผู้อำนวยการโรงเรียนพรตทิพยัต จำเลยจะกล่าวอ้างข้อต่อสู้ข้างต้นเพื่อจะไม่ปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการมิได้ นอกจากนี้ในส่วนที่เป็นคุณความดีที่กระทำต่อโรงเรียนพรตทิพยัต หรือในส่วนที่จำเลยไม่ได้ร่ำรวยผิดปกติ ไม่ใช่เหตุที่จะนำมารับฟังหักล้างว่าจำเลยมิได้กระทำความผิด..."
สืบเนื่องจากสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานข่าวกรณี สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้เผยแพร่ความคืบหน้าผลคดีกล่าวหา นายเฉลียว พงศาปาน เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนพรตพิทยพยัต กรุงเทพมหานคร กระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ จำนวน 3 ข้อกล่าวหา ซึ่งถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช.ลงมติชี้มูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 และมาตรา 157 ตั้งแต่เมื่อวันที่ 10 ม.ค.2565
ความคืบหน้าล่าสุด เมื่อวันที่ 11 พ.ค.2566 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง มีคำพิพากษาว่า นายเฉลียว พงศาปาน จำเลย มีความผิดตามมาตรา 147 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามมาตรา 91 รวม 14 กระทง จำคุกกระทงละ 5 ปี
ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้ตามมาตรา 78 กระทงละหนึ่งในสาม
คงจำคุกกระทงละ 6 ปี 16 เดือน รวม 14 กระทง
คงจำคุก 28 ปี 224 เดือน
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา สรุปคำพิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางคดีนี้ มานำเสนอ ณ ที่นี้
มีรายละเอียดดังต่อไปนี้
คดีนี้ พนักงานอัยการ สํานักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีปราบปรามการทุจริต 2 เป็นโจทก์
นายเฉลียว พงศาปาน เป็นจำเลย
@พฤติการณ์นายเฉลียวตามคำฟ้อง
โจทก์ฟ้องว่าโรงเรียนพรตทิพพยัต ผู้เสียหาย เป็นสถานศึกษาของรัฐที่มีฐานะเป็นนิติบุคคลในสังกัดสํานักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 2 สํานักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการ กระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2546 มาตรา 34, 35
ขณะเกิดเหตุจําเลยเป็นผู้อํานวยการโรงเรียนพรตพิทยพยัต มีอํานาจหน้าที่บริหารกิจการโรงเรียนให้เป็นไปตามกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับของทางราชการ ควบคุมดูแลบุคลากร การเงิน การพัสดุ สถานที่ และทรัพย์สินอื่นของโรงเรียนให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ และข้อบังคับของทางราชการให้เป็นผู้แทนของโรงเรียนในกิจการทั่วไป รวมทั้งปฏิบัติงานอื่นตามที่ได้รับมอบหมาย จากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ปลัดกระทรวง เลขาธิการสภาการศึกษา เลขาธิการคณะกรรมการศึกษาและผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ 2546 มาตรา 39 วรรคหนึ่ง
จําเลยจึงเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายอาญา เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกัน และปรามปรามการทุจริต 2542 เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐและเจ้าพนักงานของรัฐตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 และจําเลยในฐานะผู้อํานวยการโรงเรียนพรตพิทยพยัตยังเป็นพนักงานที่มีหน้าที่ซื้อ ทํา จัดการหรือรักษาทรัพย์ของโรงเรียนพรตพิทยพยัต
ระหว่างวันที่ 18 พฤษภาคม 2546 ถึงวันที่ 19 ธันวาคม 2549 จําเลยได้กระทําความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน โดยจําเลยได้รับเงินระดมทรัพยากรจากผู้ปกครองนักเรียนและเงินค่าเช่าสถานที่จากมหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์
จําเลยมีหน้าที่จัดการและรักษาเงินดังกล่าวโดยต้องออกใบเสร็จรับเงินให้แก่ผู้ชําระเงินตามแบบของทางราชการและนําเงินดังกล่าวเข้าบัญชีเป็นเงินรายได้ของโรงเรียนพรตพิทยพยัต
แต่จําเลยมิได้ดําเนินการดังกล่าวแล้วจำเลยอาศัยอํานาจที่เป็นผู้อนุมัติตามกฎหมายที่นําเข้าบัญชีที่มิได้ดําเนินการตามแบบของทางของทางราชการดังกล่าวเบิกจ่ายเงินจากบัญชีเพื่อจำเลยและบุคคลอื่นโดยเป็นรายจ่ายที่ไม่เหมาะสมหลายรายการอันเป็นการเบียดบังทรัพย์สินของผู้เสียหายไปเป็นของตนเองหรือผู้อื่นโดยทุจริตและเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหายแก้ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตต่างกรรมต่างวาระกันคือ
(1) วันที่ 5 พฤษภาคม 2546 จําเลยรับเงินระดมทรัพยากรจากผู้ปกครองนักเรียนจำนวน 1,775,225 บาทโดยออกใบเสร็จรับเงินของสมาคมผู้ปกครองและครูโรงเรียนพรตพิทยพยัตและนำเงินเข้าบัญชีสมาคมผู้ปกครองและครูโรงเรียนพรตพิทยพยัต
(2) วันที่ 9 พฤษภาคม 2546 จําเลยรับเงินระดมทรัพยากรจากผู้ปกครองนักเรียนหรือนักเรียนจํานวน 2,209,195 บาท
โดยออกใบเสร็จรับเงินของสมาคมผู้ปกครองและครูโรงเรียนพรตพิทยพยัต และนําเงินเข้าบัญชี สมาคมผู้ปกครองและครูโรงเรียนพรตพิทยพยัต
(3) วันที่ 2 ตุลาคม 2546 จําเลยรับเงินระดม ทรัพยากรจากผู้ปกครองนักเรียนหรือนักเรียนจํานวน 1,380,000 บาท โดยออกใบเสร็จรับเงินของสมาคมผู้ปกครองและครูโรงเรียนพรตพิทยพยัต และนําเงินเข้าบัญชีสมาคมผู้ปกครองและครูโรงเรียนพรตพิทยพยัต
(4) วันที่ 3 ตุลาคม 2546 จำเลยรับเงินระดมทรัพยากรจากผู้ปกครองนักเรียนหรือนักเรียนจำนวน 1,228,370 บาท โดยออกใบเสร็จรับเงินของสมาคมผู้ปกครองและครูโรงเรียนพรตพิทยพยัตและนำเข้าบัญชีสมาคมผู้ปกครองและครูโรงเรียนพรตพิทยพยัต
(5) วันที่ 4 พฤษภาคม 2547 จำเลยรับเงินระดมทรัพยากรจากผู้ปกครองนักเรียนหรือนักเรียนจำนวน 1,906,935 บาท โดยออกใบเสร็จรับเงินของสมาคมผู้ปกครองและครูโรงเรียนพรตพิทยพยัตและนำเข้าบัญชีสมาคมผู้ปกครองและครูโรงเรียนพรตพิทยพยัต
(6) วันที่ 10 พฤษภาคม 2547 จำเลยรับเงินระดมทรัพยากรจากผู้ปกครองนักเรียนหรือนักเรียนจำนวน 1,692,200 บาท โดยออกใบเสร็จรับเงินของสมาคมผู้ปกครองและครูโรงเรียนพรตพิทยพยัตและนำเข้าบัญชีสมาคมผู้ปกครองและครูโรงเรียนพรตพิทยพยัต
(7) วันที่ 11 พฤษภาคม 2547 จำเลยรับเงินระดมทรัพยากรจากผู้ปกครองนักเรียนหรือนักเรียนจำนวน 487,390 บาท โดยออกใบเสร็จรับเงินของสมาคมผู้ปกครองและครูโรงเรียนพรตพิทยพยัตและนำเข้าบัญชีสมาคมผู้ปกครองและครูโรงเรียนพรตพิทยพยัต
(8) วันที่ 21 กันยายน จำเลยรับเงินค่าเช่าสถานที่จากมหาวิทยาลัยราชภัฎนครินทร์จำนวน 258,200 บาท โดยออกใบเสร็จรับเงินของสวัสดิการพรตพิทยพยัตและนำเข้าบัญชีสวัสดิการโรงเรียนพรตพิทยพยัต
(9) วันที่ 17 พฤศจิกายน 2557 จําเลยรับเงินค่าเช่าสถานที่จากมหาวิทยาลัยราชภัฎนครินทร์จำนวน 71,500 บาท โดยออกใบเสร็จรับเงินของสวัสดิการพรตพิทยพยัตและนำเข้าบัญชีสวัสดิการโรงเรียนพรตพิทยพยัต
(10) วันที่ 16 มีนาคม 2548 จําเลยรับเงินค่าเช่าสถานที่จากมหาวิทยาลัยราชภัฎนครินทร์จำนวน 131,500 บาท โดยออกใบเสร็จรับเงินของสวัสดิการพรตพิทยพยัตและนำเข้าบัญชีสวัสดิการโรงเรียนพรตพิทยพยัต
(11) วันที่ 31 พฤษภาคม 2548 จําเลยรับเงินค่าเช่าสถานที่จากมหาวิทยาลัยราชภัฎนครินทร์จำนวน 373,500 บาท โดยออกใบเสร็จรับเงินของสวัสดิการพรตพิทยพยัตและนำเข้าบัญชีสวัสดิการโรงเรียนพรตพิทยพยัต
(12) วันที่ 17 สิงหาคม 2548 จำเลยรับเงินค่าเช่าสถานที่จากมหาวิทยาลัยราชภัฎนครินทร์จำนวน 373,500 บาท โดยออกใบเสร็จรับเงินของสวัสดิการพรตพิทยพยัตและนำเข้าบัญชีสวัสดิการโรงเรียนพรตพิทยพยัต
(13) วันที่ 30 ตุลาคม 2549 จําเลยรับเงินค่าเช่าสถานที่จากมหาวิทยาลัยราชภัฎนครินทร์จำนวน 368,000 บาท โดยออกใบเสร็จรับเงินของสวัสดิการพรตพิทยพยัตและนำเข้าบัญชีสวัสดิการโรงเรียนพรตพิทยพยัต
(14) วันที่ 19 ธันวาคม 2549 จําเลยรับเงินค่าเช่าสถานที่จากมหาวิทยาลัยราชภัฎนครินทร์จำนวน 240,750 บาท โดยออกใบเสร็จรับเงินของสวัสดิการพรตพิทยพยัตและนำเข้าบัญชีสวัสดิการโรงเรียนพรตพิทยพยัต
แล้วเบียดบังเงินดังกล่าวไปเป็นของตนเอง เหตุเกิดที่แขวงลาดกระบัง เขตลาดกระบังกรุงเทพมหานคร คณะอนุกรรมการไต่สวนแจ้งข้อกล่าวหาแก่จำเลยแล้ว
จำเลยให้การปฏิเสธ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91, 147
@คำแก้ต่างของนายเฉลียว
จําเลยให้การรับว่าได้รับเงินระดมทรัพยากรจากผู้ปกครองนักเรียนตามฟ้อง โดยออกใบเสร็จรับเงินในนามสมาคมผู้ปกครองและครูโรงเรียนพรตพิทยพยัต รวมทั้งนำเงินดังกล่าวฝากในบัญชีสมาคมผู้ปกครองและครูโรงเรียนพรตพิทยพยัตจริง
แต่จำเลยทำไปโดยผิดหลงเนื่องจากเป็นแนวปฏิบัติเดิมก่อนที่จำเลยจะมารับตำแหน่งและเพื่อความคล่องตัวในการบริหารจัดการเงินดังกล่าว ทั้งเคยหารือกับผู้อำนวยการโรงเรียนแล้วว่าสามารถทําได้
โดยโรงเรียนอื่น ๆ ก็กระทําเช่นเดียวกันกับจําเลย นอกจากนี้ได้เคยหารือกับผู้อํานวยการหน่วยตรวจสอบภายใน สํานักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 2 กรุงเทพมหานครแล้วว่าสามารถทําได้เช่นกัน ต่อมาเมื่อจําเลยทราบว่าการกระทําตามฟ้องโจทก์เป็นเรื่องที่ไม่สามารถทําได้
จําเลยก็ได้นําเงินระดมทรัพยากรผู้ปกครองนักเรียนแยกไปนําฝากเข้าบัญชีต่างหากให้ถูกต้อง ตามกฎระเบียบแล้วตั้งแต่ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2547 เป็นต้นมา ส่วนการอนุมัติเบิกจ่ายเงินที่โจทก์อ้างว่าไม่เหมาะสม 25 รายการตามฟ้องนั้นเป็นการเบิกจ่ายเงินของสมาคมผู้ปกครองและนักเรียนของโรงเรียนพรตทิพยัตทั้งสิ้น
โดยการเบิกจ่ายเงินทั้ง 2 ประเภทจะใช้แบบฟอร์มเดียวกันคือแบบฟอร์มการเบิกจ่ายเงินระดมทรัพยากรแต่หากเป็นการใช้เงินของผู้ปกครองและนักเรียนของโรงเรียนพรตพิทยพยัตจะมีการประทับตรายางคำว่า”สมาคมผู้ปกครองและนักเรียนของโรงเรียนพรตพิทยพยัต”และขีดฆ่าคำว่า “ขออนุมัติเบิกจ่ายเงินระดมทรัพยากร” แต่กรณีใบเสร็จรับเงินที่ปรากฏในสำนวนไต่สวนมิได้ขีดฆ่าคำว่า “ขออนุมัติเบิกจ่ายเงินระดมทรัพยากร”ออกน่าจะเป็นการหลงลืมโดยโรงเรียนพรตทิพยัตมีการจัดทำสรุปบัญชีเงินรายรับรายจ่ายระดมทรัพยากรไว้ตามเอกสารหมายล. 28
ส่วนเงินค่าเช่าสถานที่จากมหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์นั้นจำเลยรับว่ามิได้นำเข้าไปเป็นรายได้สถานศึกษาแต่นำเข้าบัญชีสวัสดิการโรงเรียนพรตทิพยัตหรือบัญชีสมาคมผู้ปกครองและครูโรงเรียนพรตทิพยัตเพื่อให้การจัดการเงินเป็นไปด้วยความสะดวกรวดเร็วอันจะเป็นประโยชน์ต่อการบริหารจัดการโดยเฉพาะค่าเช่าตามฟ้องข้อ (13) และ (14) ได้นำเงินไปใช้จ่ายในการก่อสร้างห้องน้ำและปรับสภาพแวดล้อมในโรงเรียนพรตทิพยัตและเมื่อมีเงินเหลือได้นำเข้าบัญชีเป็นรายได้ของสถานศึกษาแล้วจำนวน 448.35 บาท
แม้จำเลยจะปฏิบัติผิดกฎระเบียบแต่มิได้มีเจตนาทุจริตทั้งโรงเรียนพรตทิพยัตไม่ได้รับความเสียหาย จำเลยทำคุณงามความดีให้กับโรงเรียนพรตพิทยพยัตมากมายจำเลยมิได้ร่ำรวยผิดปกติยังคงใช้ชีวิตอยู่อย่างพอเพียงตามเงินเดือนข้าราชการเท่านั้น
@คำพิพากษาของศาล
มีสาระสำคัญสรุปได้ว่าสถานศึกษาสามารถระดมทรัพยากรเพื่อการศึกษาเป็นกิจกรรมเพิ่มเติมจากหลักสูตรการเรียนตามปกติได้แต่ต้องเป็นไปด้วยความสมัครใจ ตามความเหมาะสม และความจำเป็น...สถานศึกษาต้องออกใบเสร็จรับเงินที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานกำหนดเท่านั้น และการจัดทำบัญชีรับจ่ายจะต้องดำเนินการแยกเก็บในบัญชีเงินระดมทรัพยากรต่างหาก และเงินระดมทรัพยากรถือเป็นเงินรายได้สถานศึกษาจากข้อกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องดังกล่าวมาข้างต้น
รวมถึงคำให้การพยานปากนาง ย. ซึ่งขณะเกิดเหตุดำรงตำแหน่งนักวิชาการการเงินและบัญชี 8 สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษากรุงเทพมหานคร เขต 2 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานรับผิดชอบงานเกี่ยวกับการตรวจสอบภายในสรุปได้ว่า เงินระดมทรัพยากรกับเงินค่าเช่าสถานที่จากมหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ตามฟ้องเป็นรายได้ของสถานศึกษา การรับเงินทั้ง 2 ประเภทดังกล่าวต้องออกใบเสร็จรับเงินตามแบบของทางราชการและต้องเก็บรักษาไว้ตามระเบียบของทางราชการ โดยเฉพาะเงินระดมทรัพยากรนั้นเป็นเงินที่ต้องนำไปใช้จ่ายตามวัตถุประสงค์แต่ละครั้งที่อนุมัติให้มีการจัดเก็บเงินระดมทรัพยากรดังกล่าว
แต่สมาคมผู้ปกครองนักเรียนและครูนั้นตามเอกสารหมาย จ. 95 หน้า 765 ระบุไว้ว่าเป็นองค์กรต่างหากจากสถานศึกษามีภาระหน้าที่ในการให้การสนับสนุนช่วยเหลือสถานศึกษาบริหารจัดการศึกษา ดังนั้นสมาคมผู้ปกครองและครูจึงมิใช่ส่วนราชการและไม่จำเป็นต้องทำตามระเบียบที่ทางราชการกำหนด การที่ส่วนราชการมีกฎหมาย กฎ ข้อบังคับ และระเบียบปฏิบัติให้ข้าราชการในสังกัดต้องปฏิบัติตามหากจำเลยซึ่งเป็นข้าราชการได้ปฏิบัติตามกฎ ข้อบังคับ และระเบียบปฏิบัติแล้วย่อมแสดงว่าจำเลยมีเจตนาโดยสุจริต โปร่งใส และสามารถให้ตรวจสอบการกระทำนั้นไปได้
แต่การที่จำเลยสั่งให้นำเงินระดมทรัพยากรและเงินค่าเช่าสถานที่ไปนำฝากไว้ในบัญชีธนาคารที่เป็นบัญชีสมาคมผู้ปกครองนักเรียนและครู ทำให้ไม่สามารถตรวจสอบการเบิกจ่ายในแต่ละประเภทได้จากรายการเดินบัญชีธนาคารรวมถึงหากมีดอกเบี้ยสะสมที่เกิดขึ้นจากการฝากเงินในบัญชีก็มิอาจแยกแยะได้ว่าเป็นดอกเบี้ยสะสมดังกล่าวเกิดจากเงินประเภทใด
ในข้อหานี้โจทก์มีพยานปากนาง จ. ให้การไว้ตามเอกสารหมาย จ.103 ว่าพยานขอลาออกจากหัวหน้างานการเงิน และเจ้าหน้าที่การเงินของโรงเรียนพรตทิพยัต ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2546 เพราะไม่สามารถปฏิบัติงานในหน้าที่ดังกล่าวได้เนื่องจากการปฏิบัติบางอย่างขัดต่อระเบียบทางราชการ และนาง ภ. ให้การไว้ตามเอกสารหมาย จ. 106 ว่า ปี 2546 ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่การเงินของสมาคมผู้ปกครองและครูโรงเรียนพรตทิพยัตตามความเข้าใจของพยานเงินที่นำฝากเข้าบัญชีสมาคมผู้ปกครองและครูโรงเรียนพรตทิพยัต คือ เงินระดมทรัพยากรเงินค่าสมาชิกของสมาคมผู้ปกครองและครูโรงเรียนพรตทิพยัตและเงินค่าเช่าสถานที่ของมหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์
เงินทั้ง 3 ดังกล่าวถือเป็นเงินของสมาคมผู้ปกครองและครูโรงเรียนพรตทิพยัต โดยจำเลยมอบหมายและสั่งการให้พยานเป็นผู้ดูแลรวมทั้งนำเงินทั้ง 3 ดังกล่าวฝากเข้าบัญชีของสมาคมผู้ปกครองและครูโรงเรียนพรตทิพยัต กับนาง ท. ให้การไว้ตามเอกสารหมาย จ. 107 ว่าพยานออกใบเสร็จรับเงินค่าเช่าสถานที่จากมหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์โดยใช้ใบเสร็จรับเงินในนามสมาคมผู้ปกครองและครูโรงเรียนพรตทิพยัตเนื่องจากเห็นใบเสร็จดังกล่าววางอยู่ที่โต๊ะในห้องทำงานของจำเลยและพยานเข้าใจว่าแม้จะออกใบเสร็จรับเงินในนามสมาคมผู้ปกครองและครูเงินที่ได้รับมาก็ถือว่าเป็นเงินของโรงเรียนพรตทิพยัต
จากคำให้การพยานทั้ง 3 ดังกล่าวทำให้เห็นได้ว่าการที่นาง จ. ซึ่งเป็นหัวหน้าการเงินเดิมและมีความรู้เรื่องระเบียบทางการเงินแต่ได้ลาออกจากหัวหน้าการเงินของโรงเรียนพรตทิพยัตไปโดยมีนาง ภ. และนาง ท. ซึ่งไม่มีความรู้เรื่องระเบียบทางการเงินมาทำหน้าที่แทนโดยเพียงแต่ทำตามคำสั่งของจำเลยโดยไม่รู้ว่าเป็นการปฏิบัติผิดระเบียบทางการเงินของราชการ
นอกจากนี้ตามเอกสารหมาย จ.90 จ.91 ก็ล้วนแต่เป็นหนังสือที่กรมสามัญศึกษามีถึงผู้อำนวยการสามัญศึกษาทุกจังหวัดในช่วงปี 2545 เป็นต้นมา ที่เป็นการแจ้งให้สถานศึกษาทราบเป็นระยะๆมาโดยตลอดว่าสถานศึกษาในสังกัดทุกแห่งต้องตระหนักถึงหลักเกณฑ์และแนวปฏิบัติในการรับเงินบริจาคและเงินระดมทรัพยากรทั้งจากการเก็บเงินรวมถึงการใช้จ่ายเงินต้องเป็นไปตามระเบียบของทางราชการโดยมีการอ้างถึงระเบียบการจัดเก็บเงินราชการทั้งให้ข้อสังเกตอีกด้วย จำเลยจะอ้างว่าไม่รู้ระเบียบต่างๆเกี่ยวกับการจัดเก็บและการใช้จ่ายเงินทั้ง 2 ประเภทตามฟ้องมิได้ ทั้งในส่วนการใช้จ่ายเงินระดมทรัพยากรนั้นโจทก์มีรองศาสตราจารย์ ป. ให้ถ้อยคำไว้ต่อสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2548 ตามเอกสารหมาย จ. 124 ว่าพยานเป็นประธานกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานของโรงเรียนพรตทิพยัตตั้งแต่ปี 2543 ถึงปัจจุบันในการทำหน้าที่คณะกรรมการสถานศึกษาจะมีการประชุมประมาณ 4-5 ครั้งเพื่อกำหนดทิศทางการศึกษาและให้ความเห็นชอบการจัดเก็บเงินระดมทรัพยากรของโรงเรียน
ในปีการศึกษา 2547 ได้มีการประชุมพิจารณาแผนปฏิบัติการของโรงเรียนและมีมติให้ความเห็นชอบในการจัดเก็บเงินระดมทรัพยากรจากผู้ปกครองในอัตราเฉลี่ยต่อคนตามระดับชั้น ในบางปีการศึกษาโรงเรียนจะขอเก็บเงินระดมทรัพยากรเพิ่มขึ้นแต่พยานเห็นว่าการจัดทำรายละเอียดการใช้จ่ายเงินในปีที่ผ่านมายังไม่สามารถบอกได้ว่านำเงินที่เหลือบางประเภทไปใช้ในกิจกรรมใด รายการใดที่เป็นหนี้จะนำเงินส่วนใดมาชำระหนี้และรายละเอียดอื่นๆยังไม่ชัดเจนจึงให้เก็บอัตราเดิมไปก่อนและบางรายการควรนำเข้าเป็นเงินบำรุงการศึกษา
พยานให้ข้อสังเกตในที่ประชุมคณะกรรมการว่าการใช้จ่ายเงินที่มีการรายงานสรุปรายรับรายจ่ายบางครั้งยังไม่เป็นตามที่แผนเสนอ และพยานแจ้งในที่ประชุมว่าให้โรงเรียนนำเงินระดมทรัพยากรเข้าบัญชีเงินของโรงเรียน มิฉะนั้นจะไม่ให้ความเห็นชอบและมีรายงานการประชุมคณะกรรมการสถานศึกษา ครั้งที่ 2/2543 วันที่ 30 เมษายน 2543 แนบท้ายบันทึกถ้อยคำพยานดังกล่าว
ดังนั้น การที่นับตั้งแต่ภาคเรียนที่ 2 ของปีการศึกษา 2547 มีการแยกเงินระดมทรัพยากรไปนำฝากในบัญชีธนาคารต่างหากจากบัญชีของสมาคมผู้ปกครองนักเรียนและครู จึงไม่ใช่จำเลยเพิ่งรู้ว่าปฏิบัติผิดระเบียบราชการเกี่ยวกับการจัดเก็บเงินและการใช้จ่ายเงิน
หากแต่เป็นเพราะที่ประชุมคณะกรรมการสถานศึกษาจะไม่เห็นชอบให้ระดมเงินทรัพยากรอีกต่อไป
@ พฤติการณ์แห่งคดี
พฤติการณ์แห่งคดีจึงฟังได้ว่า จำเลยรู้ว่าการนำเงินระดมทรัพยากรและเงินค่าเช่าสถานที่ตามฟ้องไปฝากไว้ในบัญชีสมาคมผู้ปกครองนักเรียนและครูเป็นการปฏิบัติผิดระเบียบทางราชการมาตั้งแต่ต้น การที่เงินระดมทรัพยากรและเงินค่าเช่าสถานที่ตามที่ฟ้องซึ่งแม้จะถือว่าเป็นเงินรายได้ของโรงเรียนที่โรงเรียนสามารถนำไปใช้จ่ายได้โดยจำเลยซึ่งเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนมีอำนาจอนุมัติเบิกจ่ายได้แต่เพียงผู้เดียวก็ตาม
แต่การใช้จ่ายเงินทั้ง 2 ประเภทดังกล่าวก็ต้องเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของเงินแต่ละประเภทนั้นๆคือเงินระดมทรัพยากรต้องใช้จ่ายให้เป็นไปตามแผนที่ระดมเงินดังกล่าวมาจากผู้ปกครองนักเรียนส่วนเงินค่าเช่าสถานที่ก็ต้องเป็นไปตามค่าใช้จ่ายที่สามารถเบิกจ่ายได้ตามระเบียบของทางราชการและมิใช่รายการใช้จ่ายส่วนตัวของจำเลย กับทั้งหากมีการจ้างเหมาก่อสร้างใดๆภายในโรงเรียนและต้องใช้เงินทั้ง 2 ประเภทข้างต้นก็ลดดำเนินการให้เป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ 2535
การที่จำเลยนำเงินทั้ง 2 ประเภทข้างต้นไปรวมไว้ในบัญชีสมาคมผู้ปกครองนักเรียนและครูทั้งมีการเบิกจ่ายเงินจากบัญชีดังกล่าวไปใช้จ่ายโดยใช้บันทึกข้อความขออนุมัติเบิกจ่ายเงินในรูปแบบเดียวกันเพียงแต่ใช้การขีดฆ่าหรือประทับตรายางเพิ่มในการแยกแยะว่าเป็นการใช้จ่ายเงินประเภทใดรวมถึงไม่มีการจัดทำบัญชีเงินแต่ละประเภทไว้ให้ชัดเจนเพื่อตรวจสอบยอดเงินคงเหลือในเงินแต่ละประเภทได้และตามฟ้องโจทก์ปรากฏมีบันทึกขออนุมัติเบิกจ่ายเงินที่เป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่อาจเบิกจ่ายทางราชการได้และค่าใช้จ่ายที่เป็นเรื่องส่วนตัวของจำเลยเอง ตามเอกสารหมาย จ. 37 ถึงจ. 61 ซึ่งไม่อาจระบุได้ว่าเป็นการขอเบิกจ่ายเงินจากเงินประเภทใดการดำเนินการของจำเลยเกี่ยวกับการอนุมัติใช้จ่ายเงินระดมทรัพยากรและเงินค่าเช่าสถานที่ตามฟ้องจึงมีลักษณะที่ไม่โปร่งใสและทำให้เกิดความสับสนไม่สามารถตรวจสอบการใช้เงินทั้ง 2 ประเภทดังกล่าวได้ อันแสดงให้เห็นถึงความไม่สุจริตในการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยทั้งที่กรมสามัญศึกษามีหนังสือแจ้งเตือนเป็นระยะตลอดมาให้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และระเบียบอย่างเคร่งครัด แต่จำเลยก็เพิกเฉย
จนกระทั่งคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานโรงเรียนพรตทิพยัต มีการประชุมคณะกรรมการสถานศึกษาครั้งที่ 2/2547 วันที่ 30 เมษายน 2547 ตามเอกสารหมาย จ.124 จำเลยจึงยอมให้แยกการจัดเก็บเงินระดมทรัพยากรและเงินค่าเช่าสถานที่ต่างหากจากบัญชีสมาคมผู้ปกครองนักเรียนและครูโรงเรียนพรตทิพยัต พฤติการณ์แห่งคดีดังกล่าวมาจึงฟังได้ว่าจำเลยมีเจตนากระทำความผิดตามฟ้อง
ส่วนที่จำเลยให้การต่อสู้ว่า การที่ไม่นำเงินระดมทรัพยากรและเงินค่าเช่าสถานที่จากมหาวิทยาลัยราชภัฏนครนครินทร์นำฝากเข้าเป็นรายได้ของโรงเรียนพรตทิพยัต จำเลยกระทำไปโดยผิดหลงเนื่องจากเป็นแนวปฏิบัติเดิมก่อนที่จำเลยจะมารับตำแหน่งและเพื่อความคล่องตัวในการบริหารจัดการเงินดังกล่าวทั้งเคยหารือกับผู้อำนวยการโรงเรียนอื่นๆแล้วว่าสามารถทำได้โดยโรงเรียนอื่นๆก็กระทำเช่นเดียวกับจำเลยนั้น
เห็นว่า จำเลยรับราชการมานานจนกระทั่งมีตำแหน่งเป็นถึงผู้อำนวยการโรงเรียนพรตทิพยัต จำเลยจะกล่าวอ้างข้อต่อสู้ข้างต้นเพื่อจะไม่ปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการมิได้
นอกจากนี้ การที่จำเลยอ้างว่าเคยหารือกับผู้อำนวยการหน่วยตรวจสอบภายใน สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 2 กรุงเทพมหานครก็ได้ความจากนางยุพดี ที่ศาลหมายเรียกให้มาเบิกความว่า จำเลยไม่เคยติดต่อเพื่อหารือเรื่องดังกล่าวกับพยานก่อนเกิดเหตุข้อกล่าวอ้างของจำเลย
นอกจากนี้ในส่วนที่เป็นคุณความดีที่กระทำต่อโรงเรียนพรตทิพยัต หรือในส่วนที่จำเลยไม่ได้ร่ำรวยผิดปกติ ไม่ใช่เหตุที่จะนำมารับฟังหักล้างว่าจำเลยมิได้กระทำความผิด
เมื่อข้อกล่าวอ้างของจำเลยที่นำสืบต่อสู้ไม่อาจรับฟังหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ได้ พยานหลักฐานโจทก์จึงฟังได้ว่าจำเลยเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการ หรือรักษาทรัพย์ใดเบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริตหรือโดยทุจริตยอมให้ผู้อื่นเอาทรัพย์นั้นเสียอันเป็นความผิดตามฟ้องรวม 14 กระทง
พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 รวม 14 กระทง จำคุกกระทงละ 5 ปี
ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์ แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 74 กระทงละ 1 ใน 3 คงจำคุกกระทงละ 2 ปี 16 เดือน
รวม 14 กระทงคงจำคุก 28 ปี 224 เดือน
อย่างไรก็ดี คดีนี้ยังไม่สิ้นสุด จำเลย มีสิทธิต่อสู้คดีเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ในชั้นศาลที่สูงกว่านี้อีกได้
บทสรุปผลการต่อสู้คดีนี้ จะออกมาเป็นอย่างไร ต้องติดตามดูกันต่อไป