“…ประเด็นสำคัญต่อสุขภาพและวิถีชีวิต ไม่ได้ถูกประเมินในรายงาน EIA ของโครงการเหมืองแร่ถ่านหินอมก๋อย ทำให้มาตรการที่เสนอใน EA ไม่รัดกุม ไม่สามารถปกป้องคุณภาพชีวิตของประชาชนได้…”
ณ ที่แห่งหนึ่งในหุบเขา ตำบลอมก๋อย อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ในพื้นที่ของป่าสงวนแห่งชาติ มีดินแดนมหัศจรรย์ ‘กะเบอะดิน’ หมู่บ้านชุมชนกะเหรี่ยงเก่าแก่อาศัยอยู่มาหลายชั่วอายุคน
ชุนชนที่ใช้ชีวิตโดยพึ่งพิงฐานทรัพยากรธรรมชาติอันสมบูรณ์ที่มีอยู่ ยังชีพด้วยการเลี้ยงสัตว์และการปลูกพืชเศรษฐกิจ มีพื้นฐานความเชื่อที่หลากหลายตามศาสนาพุทธและคริสต์ นับถือผีและธรรมชาติ
แต่วิถีชีวิตเหล่านี้ อาจจะเปลี่ยนไปตลอดกาล เพราะโครงการเหมืองถ่านหินขนาดใหญ่ที่จะเกิดขึ้นใกล้กับพื้นที่ของหมู่บ้าน
ซึ่งการก่อสร้างหรือทำโครงการขนาดใหญ่ จำเป็นต้องมีการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) และต้องได้รับการอนุมัติจากสำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และโครงการเหมืองถ่านหินอมก๋อยนี้ ได้ดำเนินการ EIA และได้รับอนุมัติให้ประกอบกิจการเหมืองแร่ ตามมาตรการลดผลกระทบที่เสนอในรายงานได้แล้ว
แม้ว่าจะมีการจัดทำ EIA แล้ว แต่กลับไม่สามารถทำให้ชาวบ้านคลายข้อห่วงกังวลเกี่ยวกับผลกระทบจากเหมืองถ่านหินได้เลย ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบจากมลพิษต่อสุขภาพ การประกอบอาชีพ และคุณภาพชีวิตของชุมชน จึงนำมาสู่เหตุผลที่ชาวบ้าน รวมตัวลุกขึ้นคัดค้านการสร้างเหมืองแร่ และไม่ยอมรับกระบวนการทำ EIA เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตของชุมชนกะเบอะดิน
ข้อมูลจากกรีนพีซ ประเทศไทย เผยถึงจุดเริ่มต้นของโครงการเหมืองแร่ถ่านหินอมก๋อย ว่า ย้อนหลังไปในปี 2530 ชาวบ้านได้รับการติดต่อจากบริษัทเอกชนเข้ามาขอซื้อที่ดินในหมู่ 12 บ้านกะเบอะดิน ตำบลอมก๋อย อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่
จากคำบอกเล่า ชาวบ้านส่วนหนึ่งต้องขายที่ดินให้ไปอย่างไม่เต็มใจ เนื่องจากถูกข่มขู่หากไม่ยอมขายให้ และถูกยึดที่ดินโดยชาวบ้านจะไม่ได้อะไรตอบแทน ฉะนั้นการเลือกที่จะขายเลย จึงเป็นทางเลือกที่ดีกว่า
ปี 2543 บริษัท 99 ธุวานนท์ จำกัด ยื่นคำขอประทานบัตรทำเหมืองถ่านหินจากกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เนื้อที่ประมาณ 284 ไร่ 30 ตารางวา มีปริมาณถ่านหินจากการสำรวจประมาณ 720,000 ตัน ระยะเวลาในการยื่นขอทำสัมปทาน 10 ปี โดยมีชุมชน 2 แห่งที่อยู่ในรัศมี 1 กิโลเมตรห่างจากพื้นที่เหมือง คือ บ้านกะเบอะดินและบ้านขุน โดยรายงาน EIA ระบุว่า ถ่านหินที่ขุดได้จากเหมืองที่อมก๋อยจะใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงงานปูนซีเมนต์ที่จังหวัดลำปาง
แม้ว่าจะมีการสำรวจแหล่งแร่ในปี 2543 จนถึงการทำ EIA ที่แล้วเสร็จในเดือนตุลาคมปี 2554 แต่การทำ EIA ฉบับดังกล่าวกลับพบข้อพิรุธมากมาย โดยชาวบ้านต่างตั้งข้อสงสัยถึงขั้นตอนการทำงานของเจ้าของโครงการและบริษัทที่ปรึกษา ทั้งในเรื่องการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของโครงการ รายชื่อของชาวบ้านที่ยินยอมให้ทำเหมืองถ่านหินนั้น ไม่ตรงกับลายเซ็นในเอกสาร ส่วนหนึ่งเป็นรายชื่อของผู้ที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ และในกรณีของหมู่บ้านกะเบอะดิน ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวปกากะญอ และบางรายไม่สามารถพูดหรือเขียนภาษาไทยได้ แต่กลับมีรายชื่อเซ็นยอมรับโครงการ
ในปี 2552 มีการทำประชาคมเพื่อใช้ประกอบรายงาน EIA โครงการเหมืองถ่านหินอมก๋อย กลับไม่มีการชี้แจงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการทำเหมือง ทั้งต่อสภาพแวดล้อมโดยล้อม หรือวิถีชุมชน มีเพียงการประชาสัมพันธ์ว่า “หมู่บ้านจะเจริญ จะมีไฟฟ้าและถนน”
นอกจากนี้ ยังพบว่า รายงานข้อมูลการสำรวจยังไม่ตรงความจริง เช่น บรรยายว่าป่าที่นี่มีความแห้งแล้ง เสื่อมโทรมและมีต้นไม้แคระแกร็น จากการทำไร่เลื่อนลอย แต่ความจริงแล้วพื้นที่ที่นี่ไม่มีไร่เลื่อนลอย มีแต่ไร่หมุนเวียน
หลักเกณฑ์การประเมินแหล่งน้ำไม่ตรงกับความเป็นจริง ไม่สำรวจและประเมินแหล่งน้ำโดยราบรัศมี แต่เลือกประเมินเป็นบางจุด ไม่มีการพูดถึงสัตว์ป่าคุ้มครองและพืชท้องถิ่น และการประเมินขอบเขตพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการแคบเกินไปในรัศมีโดยรอบ 3 กิโลเมตร อีกทั้งยังละเลยเรื่องที่หมู่บ้านกะเบอะดินเป็นแหล่งต้นน้ำ ส่งผลให้สูญเสียที่ทำกินจึงไม่ใช่แค่ประมาณ 200 กว่าไร่ที่อยู่ตรงโครงการเท่านั้น แต่พื้นที่ทำกินที่ไล่เรียงมาจนถึงพื้นที่ปลายน้ำ รวมถึงพิธีกรรมและความเชื่อที่เป็นอัตลักษณ์ คุณค่าของชุมชนที่ถูกมองข้ามอีกด้วย
จากเหตุการณ์และข้อพิรุธต่างๆ นำมาสู่การรวมตัวยื่นจดหมายเรียกร้องให้ยุติโครงการเหมืองถ่านหินถึงนายอำเภอในเดือนพฤษภาคม 2562 โดยหยิบยกผลกระทบผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชุมชนท้องถิ่นที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ ผลกระทบด้านสุขภาพที่จะเกิดขึ้นจากมลพิษทางอากาศ การปนเปื้อนมลพิษในแหล่งน้ำโดยเฉพาะอย่างยิ่งน้ำทิ้งจากเหมืองถ่านหินที่มีสภาพเป็นกรด (Acid Mine Drainage ; AMD) ตลอดจนการทำลายระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ
เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2565 ชาวบ้านชุมชนกะเบอะดิน ที่จะได้รับผลกระทบรวม 6 หมู่บ้าน จำนวน 50 คน ได้ร่วมกันยื่นฟ้องเพิกถอน EIA หมืองแร่อมก๋อยต่อศาลปกครอง จังหวังเชียงใหม่ โดยยื่นฟ้องคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณา รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ด้านเหมืองแร่และอุตสาหกรรมถลุงหรือแต่งแร่เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1 และสำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผู้ถูกฟ้องที่ 2 ต่อศาลปกครองเชียงใหม่เป็นคดีหมายเลขดำ ส.1/2565 เพื่อขอให้ศาลเพิกถอนรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรือ EIA ของเหมืองถ่านหินอมก๋อย บ้านกะเบอะดิน เนื่องจากชาวบ้านมีความกังวลว่าเหมืองถ่านหินจะส่งผลกระทบระยะยาวต่อสุขภาพและวิถีชีวิตความเป็นอยู่
ต่อมาในวันที่ 18 พฤษภาคม 2565 ศาลปกครองเชียงใหม่ได้มีคำสั่งรับฟ้องในคดี ซึ่งถือเป็นคดีสิ่งแวดล้อมคดีแรกของศาลปกครอง เชียงใหม่ ในปี 2565
และในวันที่ 30 กันยายน 2565 ศาลปกครองเชียงใหม่ มีคำสั่งให้คุ้มครองชั่วคราว กรณีเหมืองแร่อมก๋อย จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา นับเป็นชัยชนะแรกของชาวกะเบอะดินที่ต่อสู้คัดค้านการทำเหมืองแร่อมก๋อยมานาน 3 ปี
สำหรับการฟ้องครั้งนี้ เป็นการคัดค้านความถูกต้องของรายงาน EIA ของบริษัท 99 ธุวานนท์ จำกัด เจ้าของโครงการเหมืองแร่ โดยชาวบ้านกะเบอะดินขอให้ศาลเพิกถอนรายงาน EIA ฉบับนี้ และดำเนินการจัดทำ EIA ฉบับใหม่ขึ้น ภายใต้การมีส่วนร่วมของผู้ได้รับผลกระทบอย่างแท้จริง
เนื่องจากรายงาน EIA ฉบับดังกล่าว เจ้าของโครงการเหมืองแร่และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องได้จัดทำขึ้นเมื่อ 10 ปีที่แล้ว โดยขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนในชุมชนที่ได้รับผลกระทบ ทั้งยังมีข้อมูลพิรุธหลายประการ EIA ฉบับดังกล่าวไม่ครอบคลุมผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมในหลายประเด็นที่ชาวบ้านมีความกังวล ถ้าหากโครงการยังเดินหน้าต่อไป จะทำให้เกิดการละเมิดสิทธิโดยเฉพาะสิทธิขั้นพื้นฐาน
โดยในปีนี้ นับว่าเป็นปีที่ 4 ของการต่อสู้ของชาวอมก๋อย ศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น (CPCR), กรีนพีซ ประเทศไทย, กะเบอะดิน ดินแดนมหัศจรรย์, EarthRights International, สม-ดุล เชียงใหม่, คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และตัวแทนจากชาวอมก๋อย ได้จัดงาน ‘Omkoi Coal or Home’
ภายในงาน มีการจัดวงเสวนาในหัวข้อ ‘ #ฮักเจียงใหม่บ่เอาถ่านหิน : สิทธิการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีส่วนร่วมที่หายไป’ และนำเสนอรายงานวิจัย ‘อมก๋อย แหล่งอากาศดีที่อาจสิ้นสูญ: แผนที่ความเสี่ยงต่อมลพิษทางอากาศกรณีดำเนินโครงการเหมืองถ่านหินอมก๋อย’ จัดทำโดยกรีนพีซ ประเทศไทย และมหาวิทยาลัยนเรศวร
อรพรรณ มุตติภัย ตัวแทนเยาวชนบ้านกะเบอะดิน เล่าว่า พื้นที่อมก๋อยมีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์มาก ชุมชนของเราใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติ น้ำจากดอยปุยเราใช้ดื่ม กิน น้ำจากห้วยผาขาวและห้วยมะขามเราใช้ทำเกษตร ปลูกข้าว ปลูกมะเขือเทศ ฟักทอง กะหล่ำปลี และเลี้ยงสัตว์ ป่าเราใช้ทำไร่หมุนเวียน ทำสวน ดินเราใช้ทำเกษตร อากาศเราใช้หายใจ
“ตอนนี้ชาวบ้านกำลังคัดค้านเหมืองและมีข้อกังวลใจว่าถ้ามีเหมืองจะมีผลกระทบตามมา เช่น กระทบสุขภาพคนกลุ่มเปราะบาง เช่นเด็กแรกเกิด พื้นที่ทำกิน พื้นที่นาขั้นบันไดของชาวบ้าน การขนส่งพืชผัก การเดินทางของนักเรียน และการจราจรไปธุระข้างนอก” อรพรรณ ระบุ
เช่นเดียวกับ ณัฐทิดา วุฒิศีลวัต อีกหนึ่งตัวแทนเยาวชนบ้านกะเบอะดิน กล่าวว่า อมก๋อยมีอากาศบริสุทธิ์ น้ำดี ดินอุดมสมบูรณ์ ชาวอมก๋อยมีวิถีชีวิตเรียบง่าย ชีวิตประจำวันของชาวอมก๋อยตื่นเช้ามาก็ทำกับข้าว แล้วเข้าไร่เข้าสวน มีรายได้หลักมาจากการปลูกมะเขือเทศ ช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม ชาวอมก๋อยจะปลูกมะเขือเทศในพื้นที่นาหลังจากปลูกข้าว ชาวบ้านจะมีการ ‘เอามื้อ เอาวัน’ (คล้ายการลงแขก) เดือนสิงหาคมจะมีการจัดงานปีใหม่กระเหรี่ยง มีประเพณีการมัดมือ พี่น้องมาร่วมสังสรรค์และเล่นดนตรีพื้นบ้าน ช่วงหน้าหนาวคือเวลาเก็บเกี่ยวข้าว บ้านไหนเก็บเกี่ยวเสร็จแล้วจะไปช่วยคนอื่นต่อ
“อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและบริษัทที่จะเข้ามาทำเหมืองถ่านหินเห็นถึงความสำคัญของวิถีชีวิตชาวบ้านด้วยว่าเราอยู่มาก่อน เราอยากปกป้องผืนดินนี้ ฮักเจียงใหม่ ฮักอมก๋อย จึงไม่ควรเอาเหมืองถ่านหิน” ณัฐทิดา กล่าว
สำหรับผลการวิจัยกรณีดำเนินโครงการเหมืองถ่านหินอมก๋อย จัดทำโดยกรีนพีซ ประเทศไทย และ มหาวิทยาลัยนเรศวร พบว่า จากการประเมินผลกระทบจากมลพิษทางอากาศที่ปลดปล่อยจากเหมืองถ่านหินอมก๋อย จะส่งผลกระทบใน 3 ประเด็น คือ 1) ผลกระทบต่อสุขภาพจากฝุ่นที่ฟุ้งกระจาย 2) ผลกระทบต่อพื้นที่เกษตรกรรม (ดินเสื่อมโทรมจากกรด และ โลหะและกึ่งโลหะพิษตกสะสม) และ 3) ผลกระทบต่อห่วงโซ่อาหาร (ปลาในแหล่งน้ำจืด)
การฟุ้งกระจายของ PM2.5 และ PM 10 ในบรรยากาศ ทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพทั้งแบบเฉียบพลันและแบบเรื้อรังในระดับรุนแรง (เกินค่ามาตรฐานคุณภาพบรรยากาศหลายเท่าตัว) โดยจำนวนวันที่มีคุณภาพอากาศไม่ดีเนื่องจาก PM2.5 และ PM10 สูงถึงกว่า 200 วัน โดยผู้ที่ปฏิบัติงานบริเวณโครงการเหมืองถ่านหินอมก๋อย และ ชุมชนที่ใช้พื้นที่เกษตรกรรมรอบเหมืองถ่านหินอมก๋อยเป็นผู้ได้รับความเสี่ยงนี้
ในขณะที่ ผลกระทบจากไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2) เกิดจากการตกสะสมของกรดสู่พื้นที่เกษตรกรรมในระดับที่จะส่งผลกระทบต่อความอุดมสมบูรณ์ของดินด้วย ส่วนการตกสะสมของฝุ่นพาให้โลหะและกึ่งโลหะพิษ เช่น สารหนู (As) และ ตะกั่ว (Pb) ตกสะสมในดิน จนเกิดการถ่ายเทสู่พืชอาหารจนเกินเกณฑ์ที่ยอมรับได้ของพืชอาหารปลอดภัยกระทบการประกอบอาชีพของชุมชน
ท้ายที่สุด การตกสะสมของปรอทสู่แหล่งน้ำหลักของชุมชนอมก๋อย อย่างห้วยผาขาวและห้วยอ่างขาง ทำให้มีความเสี่ยงที่ปรอทสะสมในปลาเกินค่าที่ส่งผลกระทบต่อระดับสติปัญญาของเด็ก หากเด็กหรือหญิงตั้งครรภ์บริโภคปลาปนเปื้อนปรอทดังกล่าว
“ประเด็นสำคัญต่อสุขภาพและวิถีชีวิต ไม่ได้ถูกประเมินในรายงาน EIA ของโครงการเหมืองแร่ถ่านหินอมก๋อย ทำให้มาตรการที่เสนอในการประเมินสิ่งแวดล้อม (Environmental Assessment: EA) ไม่รัดกุม ไม่สามารถปกป้องคุณภาพชีวิตของประชาชนได้” ทีมผู้ศึกษาวิจัย ระบุ
โดยคณะวิจัย ได้ชี้แนะว่า ควรจัดทำรายงาน ElA ใหม่ทั้งหมด โดยใช้ประเด็นที่ชุมชนมีความห่วงกังวลในการกำหนดขอบเขตการประเมินผลกระทบทางสุขภาพ (CHIA) และทำการประเมินผลจากมลพิษทางอากาศโดยใช้แบบจำลอง AERMOD ดังที่คณะวิจัยนี้ดำเนินการ หรือนำผลการศึกษาจากคณะวิจัยนี้ไปใช้เป็นข้อมูลสำคัญในการจัดทำ EIA รอบใหม่เลย โดย EA รอบใหม่ต้องตอบโจทย์เหล่านี้ และต้องมีมาตรการลดผลกระทบที่ชุมชนอมก๋อยมีส่วนสำคัญในการตัดสินใจยอมรับด้วยตนเองด้วย
ทั้งหมดนี้ คือเส้นทางการต่อสู้ของพี่น้องชาวกะเหรี่ยงบ้านกะเบอะดิน ที่ยังคงเดินหน้าต่อเพื่อปกป้องธรรมชาติที่เป็นบ้านของพวกเขา