"... สำหรับการผลักดันแผนฟื้นฟูกิจการ ขสมก. ลำดับแรกที่จะดำเนินการคือ การจัดหารถโดยสารไฟฟ้า (EV) จำนวน 2,013 คัน โดยใช้วิธีเช่าแบบเหมาดำเนินการ แบ่งเป็น 3 เฟส โดยในช่วงนี้จะต้องสรรหาคณะกรรมการ (บอร์ด) ของ ขสมก.ให้เรียบร้อยก่อน เพราะปัจจุบันคณะกรรมการของ ขสมก.หมดวาระไปแล้วเมื่อเดือน ธ.ค. 2565 ที่ผ่านมา ซึ่งจะมีระยะเวลาในการสรรหาประมาณ 3 เดือน เมื่อได้บอร์ดแล้ว จึงจะมาหารือเกี่ยวกับการสรรหารถโดยสาร EV ใหม่อีกครั้ง..."
47 ปีมาแล้วที่ ‘องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.)’ กำเนิดขึ้นมา โดยมีภารกิจ ‘จัดบริการ รถโดยสารประจำทางวิ่งรับ-ส่งผู้โดยสาร ในเขตกรุงเทพมหานคร และจังหวัดใกล้เคียง 5 จังหวัด คือ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร และนครปฐม’
แต่จากภารกิจที่ต้องให้บริการสาธารณะ ซึ่งกลุ่มเป้าหมายส่วนใหญ่เป็นประชาชนที่มีรายได้ปานกลางถึงต่ำเป็นหลัก ทำให้โครงสร้างค่าโดยสารอยู่ในอัตราต่ำกว่าต้นทุนมาโดยตลอด ประกอบกับได้รับเงินสนับสนุนจากภาครัฐไม่พอกับการชดเชยผลขาดทุนในแต่ละปี ทำให้ ขสมก. ประสบภาวะขาดทุนสะสมอย่างต่อเนื่อง โดย ณ วันที่ 31 มีนาคม 2566 ขสมก.มีรายงานหนี้สินรวม 143,929,428,836.36 บาท จึงเป็นเหตุที่ทำให้ ขสมก. ต้องขอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้กู้เงินเพื่อจ่ายหนี้ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าเหมาซ่อม และเพื่อเสริมสภาพคล่องเรื่อยมา
ประกอบกับในช่วงรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่โหมโรงทั้งประเด็นการปฏิรูป ขสมก.และปฏิรูปเส้นทางรถโดยสารประจำทางในกรุงเทพฯและปริมณฑล ทำให้บทบาท ขสมก. ที่ตามมติครม.เมื่อวันที่ 27 ก.ย. 2559 ที่มีการยกเลิกมติครม. 11 ม.ค. 2526 ที่ให้ ขสมก.เป็นผู้ประกอบการเดินรถเพียงรายเดียว และรถเอกชนร่วมบริการจะต้องทำสัญญาเข้าร่วมเดินรถกับ ขสมก .เท่านั้น โดยมีมติใหม่ให้กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เป็นผู้กำกับดูแล (Regulator) และออกใบอนุญาตกับผู้ประกอบการ
ส่วนการปฏิรูปเส้นทางรถโดยสารประจำทางในเขตกรุงเทพมหานครและจังหวัดที่มีเส้นทางต่อเนื่องจำนวน 269 เส้นทาง ซึ่งได้เริ่มจัดหาเส้นทางกันมาตั้งแต่ปี 2562 เรื่อยมา จนปัจจุบัน ขสมก.เหลือเส้นทางในมือ 107 เส้นทาง ขณะที่เส้นทางที่เหลือก็ให้เอกชนมารับสัมปทานจาก ขบ. ซึ่งปัจจุบันมี ‘ไทย สมายล์ กรุ๊ป’ เจ้าของเครือข่ายรถเมล์ไทยสมายล์บัส เป็นผู้ประกอบการหลัก ครอบคลุมเส้นทางให้บริการในปัจจุบัน 123 เส้นทาง
ทำให้ ขสมก. ในปัจจุบันมีบทบาทเป็นหนึ่งในผู้ประกอบการเดินรถเท่านั้น ไม่ได้มีสถานะกึ่งผู้กำกับดูแลเส้นทางอีกต่อไป ส่วนประเด็นการปฏิรูปองค์กรที่ค้างคามานานก็ยังไม่มีอะไรเป็นรูปธรรม...
ล่าสุด ครม.เมื่อวันที่ 24 ต.ค. 2566 ก็เพิ่งมีมติให้ ขสมก. กู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่องทางการเงิน (กรณีรายได้ไม่พอสำหรับรายจ่าย) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 รวมจำนวน 8,268.469 ล้านบาท โดยให้กระทรวงการคลังเป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้ กำหนดวิธีการกู้เงิน เงื่อนไข และรายละเอียดต่างๆ ในการกู้เงิน ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ
(อ่านประกอบ: ครม.เห็นชอบเงินกู้เสริมสภาพคล่อง ขสมก.ปี 67 ที่ 8.2 พันล้านบาท)
ที่มา: สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.)
@กู้ไปจ่ายค่าน้ำมัน - ค่าซ่อม - เสริมสภาพคล่อง
สำหรับการขอเงินกู้ในปี 2567 ตามเอกสารที่นำเสนอในที่ประชุม ครม.ระบุว่า ขสมก.ประมาณการเงินสดรับ-จ่ายประจำปี 2567 ประกอบด้วย รายรับ 8,779.209 ล้านบาท รายจ่าย 32,414.618 ล้านบาท และมียอดเงินสดคงเหลือที่ -23,635.409 ล้านบาท จากกระแสเงินสดที่มีไม่พอ ขสมก.จึงขอกู้เงินในวงเงินรวม 8,268.469 ล้านบาท โดยใช้ในรายจ่าย ดังนี้ ค่าเชื้อเพลิง 2,518.955 ล้านบาท, ค่าเหมาซ่อม 1,796.929 ล้านบาท และเสริมสภาพคล่องทางการเงิน 3,952.585 ล้านบาท
นอกจากนี้ ตามเอกสารยังมีรายงานด้วยว่า ขสมก.มีภาระจ่ายค่าดอกเบี้ยอีกปีละ 272.396 ล้านบาท เป็นดอกเบี้ยจากการผิดนัดชำระค่าเชื้อเพลิงตามสัญญาในอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สำหรับลูกค้าชั้นดีของธนาคารกรุงไทย MOR ประมาณร้อยละ 6.070 และตามสัญญาเหมาซ่อมในอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกรุงไทย MLR ประมาณร้อยละ 6.650 (อัตราดอดกเบี้ยอ้างอิง ณ วันที่ 3 ต.ค. 2565)
@ทางออก...เร่งแผนฟื้นฟู
ในส่วนความเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งสภาพัฒน์และกระทรวงการคลังต่างเห็นเป็นเสียงเดียวกันว่า ควรเร่งผลักดันแผนการปฏิรูป ขสมก.ให้เสร็จโดยเร็ว
โดยความคิดเห็นของสภาพัฒน์ – สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระบุว่า ขสมก.ควรจัดเก็บข้อมูลการเดินทางของผู้ใช้บริการ เพื่อนำมาใช้ในการวางแผนการเดินรถสำหรับรถโดยสารที่จะมีการจัดหามาใหม่ และให้เร่งติดตามการจัดทำแผนขับเคลื่อน ขสมก. ให้เสร็จโดยเร็ว จะได้มีกรอบแนวทางชัดเจนในการดำเนินกิจการและให้เกิดรูปธรรมในการปฏิบัติต่อไป
ส่วนกระทรวงการคลัง มีความเห็นว่า ขสมก.ควรเร่งทำแผนฟื้นฟูฉบับใหม่ และกรอบเวลาดำเนินการที่ชัดเจน เพื่อเสนอคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) พิจารณา โดยในแผนดังกล่าวควรมีแผนลงทุนโครงการ, แผนการดำเนินธุรกิจ, แผนบริหารการเงิน และแผนบริหารความเสี่ยง และควรให้การทำแผนฟื้นฟูนี้เป็นหนึ่งในตัวชี้วัด (KPI) ขสมก.ด้วย
มนพร เจริญศรี รมช.คมนาคม กำกับ ขสมก.
@เตรียมตั้งบอร์ดขสมก.ใหม่ - ดันหารถ EV 2,013 คัน
ขณะที่ท่าทีของฝ่ายนโยบาย ด้านนางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ในฐานะกำกับดูแล ขสมก.เปิดเผยสำนักข่าวอิศราว่า สำหรับการผลักดันแผนฟื้นฟูกิจการ ขสมก. ลำดับแรกที่จะดำเนินการคือ การจัดหารถโดยสารไฟฟ้า (EV) จำนวน 2,013 คัน โดยใช้วิธีเช่าแบบเหมาดำเนินการ แบ่งเป็น 3 เฟส โดยในช่วงนี้จะต้องสรรหาคณะกรรมการ (บอร์ด) ของ ขสมก.ให้เรียบร้อยก่อน เพราะปัจจุบันคณะกรรมการของ ขสมก.หมดวาระไปแล้วเมื่อเดือน ธ.ค. 2565 ที่ผ่านมา ซึ่งจะมีระยะเวลาในการสรรหาประมาณ 3 เดือน เมื่อได้บอร์ดแล้ว จึงจะมาหารือเกี่ยวกับการสรรหารถโดยสาร EV ใหม่อีกครั้ง
ขณะที่นายกิตติกานต์ จอมดวง จารุวรพลกุล ผอ.ขสมก. กล่าวว่า ตามแผนขับเคลื่อนขสมก.(ปี 66-70) จัดทำเสร็จแล้ว โดยจะนำเสนอบอร์ดขสมก.เห็นชอบ และนำเสนอ รมช.คมนาคมต่อไปตามขั้นตอน ปัจจุบัน ขสมก.ต้องการรถใหม่จำนวน 2,500 คัน ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยขณะนี้มีรถโดยสารใช้ก๊าซ NGV เป็นเชื้อเพลิงแล้ว 489 คัน เหลือจัดหาเป็นรถ EV อีกจำนวน 2,013 คัน โดยเฟสแรก จำนวน 224 คัน เฟสที่ 2 จำนวน 1,020 คันเฟสที่ 3 จำนวน 769คัน โดยจะจัดเฟสต่อไปดูตามความเหมาะสม
โดยเฟสแรก จะเป็นการจ้างเหมาบริการเดินรถโดยสารไฟฟ้า (EV) จำนวน 224 คัน วงเงินประมาณ 967 ล้านบาท ที่ผ่านมา ผ่านความเห็นชอบจากบอร์ด ขสมก.แล้ว จะเป็นการเช่าระยะสั้น 2-3 ปี แต่ในระหว่างรอบอร์ดชุดใหม่ ขสมก.จะทบทวนข้อมูลโครงการให้เป็นปัจจุบันเพื่อให้รอบคอบที่สุด และนำเสนอบอร์ดชุดใหม่ อีกครั้ง
ต่อจากนี้ คงต้องจับตาดูว่า รัฐบาล ‘เศรษฐา ทวีสิน’ ภายใต้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมที่ชื่อ ‘สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ’ จะสามารถผลักดันให้การฟื้นฟูกิจการ ขสมก. ประสบความสำเร็จ พ้นภาระขาดทุนสะสมมาแรมปีกว่าแสนล้านบาทได้หรือไม่?
ประกอบกับท่าทีที่ชัดเจนของรัฐบาลในการจะจัดหารถเมล์ EV ใหม่ จำนวน 2,013 คัน จะเพียงพอให้ ขสมก. พ้นบ่วงกรรมนี้ไปได้อย่างไร?
ประชาชนคงต้องจับตามองไปพร้อมๆกัน