“...โครงสร้างที่มีอยู่แล้วอาจจะต้องกลับมาทบทวนว่าตอบโจทย์ในการแก้ปัญหาน้ำท่วมหรือภัยแล้งตามที่ได้เคยกล่าวอ้างไว้ก่อนหน้านี้หรือไม่ ถ้าไม่ก็อาจจะต้องหาวิธีการแก้ปัญหาในรูปแบบอื่น ส่วนโครงการใหม่ ๆ ที่มีแผนงาน อยากให้หาสาเหตุของน้ำท่วมหรือภัยแล้งในแต่ละพื้นที่จริง ๆ ว่าสาเหตุหลักเกิดจากอะไรกันแน่…”
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org): เมื่อวันที่ 27 ก.ย. 2566 สำนักข่าว Bangkok Tribune ร่วมกับ Decode.plus Thai PBS, ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม และ SEA-Junction โดยการสนับสนุนจาก มูลนิธิคอนราด อาเดนาวร์ สำนักงานประเทศไทย (Konrad Adenauer Foundation (KAS), Thailand Office) จัดเวทีเสวนา 'เขื่อน ในพื้นที่มรดกโลก' ซึ่งสำนักข่าวอิศรานำเสนอข่าวการเสวนาดังกล่าวไปแล้วใน
ประเด็นการสร้างเขื่อนในพื้นที่ป่าเป็นประเด็นที่พูดคุยมาหลายรัฐบาล โดยเฉพาะในประเทศไทยที่มีประเด็นการสร้างเขื่อนในพื้นที่ป่าอนุรักษ์หรือพื้นที่ป่ามรดกโลก ซึ่งภายหลังจากการได้รัฐบาลชุดใหม่และรัฐมนตรีในกระทรวงต่าง ๆ ใหม่ ก็คงจะมีแนวทางใหม่เกิดขึ้น
ทั้งนี้ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกครั้งที่ 44 ในปี 2564 มีเสียงสะท้อนจากคณะกรรมการมรดกโลกอยากให้ยกเลิกการสร้างเขื่อนในพื้นที่ป่าต่าง ๆ โดยเฉพาะพื้นที่เขาใหญ่ดงพญาเย็น ให้มีการจัดทำ SEA (Strategic Environmental Assessment: การประเมินสิ่งแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์) สำหรับพื้นที่มรดกโลกที่จะมีการสร้างเขื่อน
จากประเด็นข้างต้นสำนักข่าวอิศราจึงสืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์การสร้างเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำในพื้นที่ป่าของประเทศไทย พบข้อมูลที่น่าสนใจ ดังนี้
@ ปี 2563 รัฐมีโครงการสร้างเขื่อน/อ่างเก็บน้ำในพื้นที่ป่า 77 โครงการ และปี 2565 มี 73 โครงการ
เอกสารสรุปการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญ ครั้งที่ 4/2563 ระบุว่า ความก้าวหน้าผลการติดตามการขอใช้พื้นที่ป่าสำหรับโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ สรุปการติดตามการขอใช้พื้นที่ป่าไม้ 5 กลุ่มโครงการ รวม 77 โครงการ ดังนี้
กลุ่มที่ 1 โครงการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดําริ ปัจจุบันติดตาม จํานวน 29 โครงการ รอการประกาศใช้ กฎหมายลําดับรองว่าด้วยการรับฟังความเห็น 3 โครงการ อยู่ระหว่างขอใช้พื้นที่ 13 โครงการ อยู่ระหว่างพิจารณารายงาน 4 โครงการ และอยู่ระหว่างศึกษา 9 โครงการ
กลุ่มที่ 2 โครงการที่ได้รับจัดสรรงบประมาณแล้วแต่ยังไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้พื้นที่ จํานวน 5 โครงการ ได้รับอนุญาตแล้ว 1 โครงการ คือ อ่างเก็บน้ำห้วยทรายขาว จ.แม่ฮ่องสอน รอการประกาศใช้ระเบียบการรับฟังความคิดเห็น 2 โครงการ เตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี 1 โครงการ คือ อ่างเก็บน้ำคลองพร้าว จ.ตราด และอยู่ระหว่างขอใช้พื้นที่ 1 โครงการ คือ อ่างเก็บน้ำบ้านไทรทอง จ.ประจวบคีรีขันธ์
กลุ่มที่ 3 โครงการสําคัญที่ยังอยู่ระหว่างขอใช้พื้นที่ จํานวน 13 โครงการ ได้รับความเห็นชอบแล้ว อยู่ระหว่างรอประกาศ ระเบียบว่าด้วยการรับฟังความเห็น 2 โครงการ อยู่ระหว่างขอใช้พื้นที่ 10 โครงการ และขอชะลอโครงการ 1 โครงการ เนื่องจากราษฎรคัดค้าน คือ อ่างเก็บน้ำแม่ก่อน จ.แพร่
กลุ่มที่ 4 โครงการที่อยู่ในกระบวนการพิจารณารายงานด้านสิ่งแวดล้อม จํานวน 26 โครงการ รอเข้าวาระ คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) 2 โครงการ คือ อ่างเก็บน้ำน้ำญวน จ.พะเยา และอ่างเก็บน้ำแม่สะกึน 2 จ.แพร่ อยู่ระหว่างทํารายงานชี้แจงคณะกรรมการ สิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) 2 โครงการ คือ อ่างเก็บน้ำหนองตาดั้ง จ.ราชบุรี และอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด จ.จันทบุรี อยู่ระหว่างจัดทํารายงาน ชี้แจง 21 โครงการ และต้องเสนอกรรมการลุ่มน้ำ 1 โครงการ
กลุ่มที่ 5 โครงการที่อยู่ระหว่างศึกษาวิจัย จํานวน 4 โครงการ
ภาพเอกสารสรุปการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญ ครั้งที่ 4/2563
และ เอกสารสรุปการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญ ครั้งที่ 1/2565 ระบุถึง ความก้าวหน้าการติดตามสถานภาพโครงการพัฒนาแหล่งน้ำที่สําคัญ โดยประเด็นการติดตามการขอใช้พื้นที่ป่าสำหรับโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ มีรายละเอียด ดังนี้
สรุปจำนวนโครงการที่ติดตาม 73 โครงการ
- กลุ่มโครงการพัฒนาแหลงน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ 24 โครงการ
- กลุ่มโครงการที่ไดรับงบประมาณก่อสร้างแล้ว 4 โครงการ
- กลุ่มโครงการที่ยื่นขอใช้พื้นที่แล้ว 21 โครงการ
- กลุ่มโครงการที่อยู่ในกระบวนการพิจารณารายงานด้านสิ่งแวดลอม 22 โครงการ
- กลุ่มโครงการที่อยู่ระหวางศึกษาวิจัย 2 โครงการ
ทั้งนี้เอกสารสรุปการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญ ครั้งที่ 1/2565 ไม่ได้ระบุรายละเอียดใด ๆ ถึงสาเหตุที่จำนวนโครงการที่ติดตามมีจำนวนลดลง
ภาพเอกสารสรุปการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญ ครั้งที่ 1/2565
ภาพตารางเปรียบเทียบจำนวนโครงการสร้างเขื่อน/อ่างเก็บน้ำในพื้นที่ป่าปี 2563 และ 2565
@ นักอนุรักษ์เผยโครงการสร้างเขื่อน/อ่างเก็บน้ำในป่าไม่ได้มีแค่ 77 โครงการ แต่มี 94 โครงการ
นางสาวอรยุพา สังขะมาน
นางสาวอรยุพา สังขะมาน เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร เปิดเผยกับสำนักข่าวอิศราว่า รัฐยังมีโครงการสร้างเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำโครงการอื่น ๆ ที่ไม่ได้อยู่ในแผนการขอใช้พื้นที่ป่าสำหรับโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ เช่น 7 เขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำบริเวณดงพญาเย็น-เขาใหญ่ที่เป็นพื้นที่ป่ามรดกโลกของประเทศไทย เป็นต้น
โดยมูลนิธิสืบนาคะเสถียรรวบรวมข้อมูลจากการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญ ครั้งที่ 4/2563 และข้อมูลเพิ่มเติมจากศูนย์ข้อมูลการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขอใช้พื้นที่ป่า ได้จำนวน 94 โครงการ สามารถหาข้อมูลพื้นที่ป่าที่หายไปได้ 58 โครงการ
ภาพข้อมูลจากเวทีเสวนา ทิศทางสิ่งแวดล้อมไทยภายใต้นโยบายของรัฐบาลใหม่ เมื่อวันที่ 10 ก.ย. 2566
@ 4 พื้นที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ
นางสาวอรยุพา กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ดี โครงการสร้างเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำมีจำนวนมาก มูลนิธิสืบนาคะเสถียรไม่สามารถเข้าไปจับตาอย่างใกล้ชิดได้ทุกโครงการ แต่โครงการสร้างเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ ได้แก่
1. 7 อ่างเก็บน้ำในผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่
2. อ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด
3. อ่างเก็บน้ำบ้านหนองตาดั้ง
4. โครงการอุโมงค์ผันน้ำเขื่อนศรีนครินทร์
@ ฝากถึงรัฐบาลชุดใหม่
นางสาวอรยุพา กล่าวว่า มี 3 ข้อที่อยากฝากถึงรัฐบาลชุดใหม่ ดังนี้
1. อยากให้รัฐบาลไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลชุดใดก็ตามนึกถึงคำมั่นสัญญาที่กล่าวไว้ในระดับโลกเกี่ยวกับเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องสิ่งแวดล้อม
2. อยากให้รัฐบาลกลับมาดูเป้าหมายที่รัฐบาลตั้งไว้ว่าประเทศไทยต้องมีพื้นที่ป่าร้อยละ 40 หรือตามที่ระบุในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ว่าต้องมีพื้นที่สีเขียวให้ได้ร้อยละ 55 ของพื้นที่ประเทศ ซึ่งสถานการณ์ในปัจจุบันพื้นที่ป่าหรือพื้นที่สีเขียวยังมีไม่ถึงร้อยละ 40 อาจจะต้องกลับมาทบทวนหรือไม่ว่าประเทศไทยจะเดินหน้าการพัฒนาไปในทิศทางใด
3. อยากให้รัฐบาลกลับมาดูโครงการแหล่งน้ำที่ประเทศไทยมีอยู่แล้วว่าสามารถทำตามเป้าหมายที่วางไว้ได้หรือไม่ อยากให้กลับมาทบทวนสิ่งที่มีอยู่แล้วในพื้นที่ว่าตอบโจทย์จริง ๆ หรือไม่ รวมถึงโครงสร้างอื่น ๆ เช่น เขื่อน อ่างเก้บน้ำ ฝาย ฯลฯ ส่วนโครงการใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้นก็ให้กลับไปทบทวนคำมั่นสัญญาและเป้าหมายพื้นที่สีเขียวหรือพื้นที่ป่าที่วางไว้
“โครงสร้างที่มีอยู่แล้วอาจจะต้องกลับมาทบทวนว่าตอบโจทย์ในการแก้ปัญหาน้ำท่วมหรือภัยแล้งตามที่ได้เคยกล่าวอ้างไว้ก่อนหน้านี้หรือไม่ ถ้าไม่ก็อาจจะต้องหาวิธีการแก้ปัญหาในรูปแบบอื่น ส่วนโครงการใหม่ ๆ ที่มีแผนงาน อยากให้หาสาเหตุของน้ำท่วมหรือภัยแล้งในแต่ละพื้นที่จริง ๆ ว่าสาเหตุหลักเกิดจากอะไรกันแน่ อยากให้เปลี่ยนวิธีคิดก่อนจะไปทำโครงสร้างขนาดใหญ่ที่ต้องทำลายต้นทุนทางธรรมชาติว่าสามารถแก้ไขปัญหาโดยวิธีการจัดการน้ำในรูปแบบอื่นๆก่อนหรือไม่ เราจะพัฒนาอย่างยั่งยืนได้อย่างไร หากเรายังคงเลือกพัฒนาด้วยการทำลายต้นทุนทางธรรมชาติที่เรามี” นางสาวอรยุพา กล่าว
@ กรมชลเปิดข้อมูลสร้างเขื่อน ประเทศไทยยังขาดแคลนน้ำ
นายเกื้อศักดิ์ ทาทอง
นายเกื้อศักดิ์ ทาทอง ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมโยธา กรมชลประทาน กล่าวในงานเสวนา 'เขื่อน ในพื้นที่มรดกโลก' ว่า มีคำถามว่าทำไมยังต้องสร้างเขื่อนเพิ่ม มีคำตอบ คือ ประเทศไทยแม้จะมีปริมาณน้ำมาก แต่ความต้องการใช้น้ำในปัจจุบันยังคงขาดอีก 49,000 ล้านลบ.ม./ปี แม้จะมีการบริหารจัดการความขาดแคลนน้ำก็ยังขาดอีก 45,000 ล้านลบ.ม./ปี จึงต้องพัฒนาแหล่งกักเก็บน้ำขนาดใหญ่ เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำของประเทศไทย ส่วนที่ต้องสร้างเขื่อนในป่า เพราะต้องสร้างในบริเวณช่องเขาที่มีน้ำไหลออกมาเพื่อทดน้ำโดยใช้ภูเขาสองข้างเป็นกำแพงธรรมชาติในการโอบอุ้ม ทำให้พื้นที่ราบไม่สามารถทำได้ จะทำได้ในลักษณะที่เป็นฝาย หรือประตูระบายน้ำ ทำให้ไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้งาน ดังนั้นพื้นที่สร้างเขื่อนจึงต้องสร้างในป่า
@ แจงประเด็นสร้างพื้นที่เก็บน้ำดงพญาเย็นเขาใหญ่
นายเกื้อศักดิ์ กล่าวต่อว่า ที่กล่าวถึงพื้นที่เก็บน้ำดงพญาเย็นเขาใหญ่ โดยข้ามประเด็นของแก่งเสือเต้น จ.แพร่ กับแก่งกระกระจาน จ.เพชรบุรี เนื่องจากกรมชลประทานไม่ได้มีข้อขัดแย้งประเด็นมรดกโลกใน 2 พื้นที่ข้างต้น ทั้งนี้ในการสร้างเขื่อนบริเวณดงพญาเย็นเขาใหญ่ในพื้นที่ที่ติดจังหวัดนครราชสีมา-บุรีรัมย์ ในส่วนนั้นกรมชลมีการสร้างพื้นที่เก็บน้ำไว้แล้ว มี 5 แห่ง ได้แก่ เขื่อนมูลบน เขื่อนลำปลายมาศ เขื่อนห้วยลาย อ่างเก็บน้ำลำนางรอง อ่างเก็บน้ำลำจังหัน ทั้ง 5 แห่งเพื่อให้บริการการทำเกษตรและการใช้น้ำอุปโภค โดยอ่างเก็บน้ำข้างต้นสร้างไว้ในช่วงก่อนที่จะมีการประกาศเป็นพื้นที่มรดกโลก โดยสร้างไว้ห่างจากพื้นที่อุทยาน เพื่อลดผลกระทบการรบกวนพื้นที่อุทยาน ส่วนบริเวณที่ติดกับนครนายก-ปราจีนบุรี-สระแก้ว จะมีอ่างเก็บน้ำห้วยปือ อ่างเก็บน้ำหนองไม้ปล้อง อ่างเก็บน้ำทับลาน อ่างเก็บน้ำพุทธพงศ์ เขื่อนนฤบดินทรจินดาหรือเขื่อนห้วยโสมง และเขื่อนขุนด่านปราการชล
ในกรณีของอ่างเก็บน้ำห้วยสะโตน จ.สระแก้ว อยู่ในขั้นที่กรมชลฯส่งรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมให้กรมอุทยานฯ พิจารณา ซึ่งยังไม่เห็นชอบกับแผนงาน ให้กรมชลฯ ไปดำเนินการศึกษาแก้ไขเพิ่มเติมใหม่
ส่วนอ่างเก็บน้ำคลองมะเดื่อที่อยู่คู่กับเขื่อนขุนด่านนั้น เป็นการสร้างตามหลังเขื่อนขุนด่านที่สร้างเสร็จไปก่อน กรมชลประทานได้ศึกษาผลกระทบและส่งรายงานต่าง ๆ ให้คณะกรรมการพิจารณาเรียบร้อยแล้ว ลักษณะของโครงการนี้เป็นการเก็บน้ำในแนวยาวปลายน้ำจึงทะลุเข้าไปในพื้นที่เขาใหญ่เล็กน้อย
ส่วนอ่างเก็บน้ำสายน้อย-สายใหญ่ ที่อยู่ในลุ่มน้ำแควหนุมาน เดิมทีจะสร้างเป็นเขื่อนขนาดใหญ่แต่เมื่อมีการหารือกับหลาย ๆ ฝ่าย เพื่อไม่ให้ผกระทบต่อพื้นที่อุทยาน จึงลดขนาดลงเหลือเพียงมาปิดช่องบริเวณลำน้ำสายน้อยเพียงอย่างเดียว ซึ่งจะช่วยลดพื้นที่ป่าที่ถูกรบกวนได้แต่ขณะเดียวกันก็จะลดปริมาณน้ำที่กักเก็บไว้ด้วย
ต่อมาเป็นเขื่อนลำพญาธาร ซึ่งอยู่คู่กับอ่างเก็บน้ำสายน้อย-สายใหญ่ ซึ่งเขื่อนจะอยู่ในพื้นที่ป่ามรดกโลกทั้งหมด จากการพิจารราพบว่าจะกระทบกับพื้นที่มรดกโลกมาก จึงเปลี่ยนแผนและยกเลิกการสร้างเขื่อนลำพญาธารในบริเวณนั้นและหันมาทำเขื่อนเล็ก ๆ บริเวณขอบของอุทยานแทน ซึ่งจะลดผลกระทบต่อพื้นที่ป่า
ส่วนอ่างเก็บน้ำคลองวังมืด จากการหารือกับหลาย ๆ ฝ่ายก็เห็นควรว่าจะยกเลิกโครงการนี้ ส่วนอ่างเก็บน้ำคลองบ้านนากับคลองหนองแก้ว ปัจจุบันอยู่ในแผนการเตรียมความพร้อม ยังไม่มีการดำเนินการใด ๆ
“ทั้งนี้การสร้างอ่างเก็บน้ำ 7 โครงการกลางพื้นที่ดงพญาเย็นนั้น ได้แก่ อ่างเก็บน้ำห้วยสะโตน อ่างเก็บน้ำคลองมะเดื่อ อ่างเก็บน้ำสายน้อย-สายใหญ่ เขื่อนลำพญาธาร อ่างเก็บน้ำคลองวังมืด อ่างเก็บน้ำคลองบ้านนา อ่างเก็บน้ำคลองหนองแก้ว กรมชลประทานมีเพียงแผนงานเตรียมความพร้อมเท่านั้น ยังไม่มีแผนงานก่อสร้างใด ๆ ในพื้นที่ดังกล่าว แต่การเตรียมความพร้อมเป็นส่วนหนึ่งของแผนแม่บทที่รัฐบาลมอบไว้ กรมชลประทานจึงต้องศึกษาเตรียมความพร้อมไว้ว่า สามารถสร้างในพื้นที่ใด สร้างแล้วมีผลกระทบอย่างไร โดยข้อมูลที่ศึกษาก็จะเป็นข้อมูลที่สนับสนุนการศึกษา SEA ของกรมอุทยานฯ” นายเกื้อศักดิ์ กล่าว
@ ผลกระทบเขื่อนที่สร้างในป่าไปแล้ว
ในกรณีที่สร้างเขื่อนในพื้นที่ที่กระทบมรดกโลก ได้แก่ เขื่อนขุนด่านและเขื่อนนฤบดินทรจินดา เมื่อกรมชลประทานเข้าไปสำรวจในปี 2565 พบว่า ไม่มีการบุกรุกพื้นที่ป่าใกล้เขื่อน เนื่องจากมีการตั้งหน่วยพิทักษ์ จุดสกัดต่าง ๆ และใช้กฎหมายควบคุม ส่วนการสำรวจสัตว์ป่าก็พบว่ามีร่องรอยของสัตว์ป่าเข้ามาหากินและพบสัตว์หายาก เช่น นกโกโรโส นกอ้ายงั่ว เป็นต้น แสดงให้เห็นว่ามีความอุดมสมบูรณ์มากขึ้น เนื่องจากไม่มีคนเข้ามารบกวน
*****
อย่างไรก็ดี กรมชลประทานยังไม่ได้กล่าวถึงความคืบหน้าเกี่ยวกับการติดตามการขอใช้พื้นที่ป่าสำหรับโครงการพัฒนาแหล่งน้ำทั้ง 73 โครงการ และโครงการอื่น ๆ ตามที่เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียรกล่าวอ้าง
ส่วนสถานการณ์การสร้างเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำในพื้นที่ป่าในรัฐบาลชุดใหม่ของนายเศรษฐา ทวีสิน จะเป็นอย่างไร ต้องติดตามต่อไป