วงเสวนาถกประเด็นสร้างเขื่อนในป่า นักอนุรักษ์ชี้ขัดปฏิญญากลาสโกว์ ด้านกรมชลฯ เผย 7 โครงการอ่างเก็บน้ำกลางดงพญาเย็นเป็นแค่แผน ยังไม่ได้ก่อสร้าง
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 27 ก.ย. 2566 มูลนิธิคอนราด อาเดนาวร์ สำนักงานประเทศไทย (Konrad Adenauer Foundation (KAS), Thailand Office) ร่วมกับสำนักข่าว Bangkok Tribune, Decode.plus Thai PBS, ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม และ SEA-Junction จัดเวทีเสวนา 'เขื่อน ในพื้นที่มรดกโลก'
นางสุนีย์ ศักดิ์เสือ ผู้อำนวยการกองการต่างประเทศ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวว่า ที่ผ่านมามีข้อกังวลจากคณะกรรมการมรดกโลกในเรื่องต่าง ๆ เช่น ลักลอบตัดไม้ การล่าสัตว์ เส้นทางคมนาคมตัดผ่านป่า การบุกรุกพื้นที่ ปริมาณนักท่องเที่ยว การพัฒนาโครงสร้างเพื่อการเก็บน้ำ เป็นต้น เหล่านี้เป็นประเด็นที่พบเจอมาตั้งแต่มีมรดกโลกทางธรรมชาติ
ในภาพรวมตั้งแต่ขึ้นการทะเบียนห้วยขาแข้งจนถึงแก่งกระจานเป็นมรดกดลก โดยให้ความสนใจไปที่กลุ่มป่าดงพญาเย็น ที่ขึ้นทะเบียนในปี 2538 ต่อมาปี 2554 เป็นปีแรกที่มีข้อมติความกังวลที่เกี่ยวกับการสร้างเขื่อน และก็มีมติความกังวลเช่นนี้ตลอดทุกปี จนเว้นช่วงในปี 2560 ที่กรรมการให้ส่งรายงานและมีโควิด-19 และมีมติอีกครั้งในปี 2564 และปี 2566 ที่ยังคงมีข้อกังวลเกี่ยวกับการสร้างเขื่อน
ข้อกังวลโดยสรุปกล่าวถึงความกังวลต่อเขื่อนและอ่างเก็บน้ำต่าง ๆ ที่อยู่ในพื้นที่และนอกพื้นที่มรดกโลกของไทย โดยมีข้อร้องขอให้หยุดก่อสร้าง ยกเลิกแผนงาน หรือขอให้มีมาตราการที่ชัดเจนในการป้องกันและบรรเทาผลกระทบในพื้นที่ที่เริ่มสร้างเขื่อน และในช่วงหลัง ๆ ก็ขอให้มีการทำ SEA (Strategic Environmental Assessment: การประเมินสิ่งแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์)
"กรมอุทยานพร้อมทำตามแนวทางการอนุมัติอนุสัญญาตามที่ประเทศไทยเข้าสัตยาบัน และจะดำเนินการ SEA ต่อไป การที่ประเทศไทยมีการประเมินผลกระทบต่าง ๆ " นางสุนีย์ กล่าว
ภาพผู้เข้าร่วมเวทีเสวนา
นายเกื้อศักดิ์ ทาทอง ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมโยธา กรมชลประทาน กล่าวว่า ทำไมยังต้องสร้างเขื่อนเพิ่ม มีคำตอบว่า ประเทศไทยแม้จะมีปริมาณน้ำมาก แต่ความต้องการใช้น้ำในปัจจุบันยังคงขาดอีก 49,000 ล้านลบ.ม./ปี แม้จะมีการบริหารจัดการความขาดแคลนน้ำก็ยังขาดอีก 45,000 ล้านลบ.ม./ปี ส่วนที่ต้องสร้างเขื่อนในป่า เพราะต้องสร้างในบริเวณช่องเขาที่มีน้ำไหลออกมาเพื่อทดน้ำโดยใช้ภูเขาสองข้างเป็นกำแพงธรรมชาติในการโอบอุ้ม ทำให้พื้นที่ราบไม่สามารถทำได้ จะทำได้ในลักษณะที่เป็นฝาย หรือประตูระบายน้ำ ทำให้ไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้งาน ดังนั้นพื้นที่สร้างเขื่อนจึงต้องสร้างในป่า
ในการสร้างเขื่อนบริเวณดงพญาเย็นเขาใหญ่ในพื้นที่ที่ติดจังหวัดนครราชสีมา-บุรีรัมย์ ในส่วนนั้นกรมชลมีการสร้างพื้นที่เก็บน้ำไว้แล้ว สร้างไว้ในช่วงก่อนที่จะมีการประกาศเป็นพื้นที่มรดกโลก โดนสร้างไว้ห่างจากพื้นที่อุทยาน ส่วนบริเวณที่ติดกับนครนายก-ปราจีนบุรี-สระแก้ว จะมีอ่างเก็บน้ำและเขื่อนนฤบดินทรจินดา หรือเขื่อนห้วยโสมง และเขื่อนขุนด่านปราการชล
ในกรณีของอ่างเก็บน้ำห้วยสะโตน จ.สระแก้ว กรมอุทยานฯ ยังไม่เห็นชอบกับแผนงาน ให้กรมชลฯ ไปเขียนมาใหม่ ส่วนอ่างเก็บน้ำคลองมะเดื่อที่อยู่คู่กับเขื่อนขุนด่านนั้น สร้างตามหลังเขื่อนขุนด่าน ได้ศึกษาผลกระทบและส่งรายงานต่าง ๆ เรียบร้อยแล้ว
นอกจากนี้ในบริเวณการสร้างเขื่อนพญาธารก็ยกเลิกการทำในพื้นที่ที่ใกล้อุทยาน และเปลี่ยนมาทำอ่างเก็บน้ำแทน เพื่อลดผลกระทบต่อพื้นที่อุทยาน ทั้งนี้การสร้างอ่างเก็บน้ำ 7 โครงการกลางพื้นที่ดงพญาเย็นนั้น กรมชลประทานมีเพียงแผนงานเตรียมความพร้อมเท่านั้น ยังไม่มีการก่อสร้างใด ๆ ในพื้นที่ดังกล่าว
ในกรณีที่สร้างเขื่อนในพื้นที่ที่กระทบมรดกโลก ได้แก่ เขื่อนขุนด่านและเขื่อนนฤบดินทรจินดา เข้าไปสำรวจพบว่า ไม่มีการบุกรุกพื้นที่ป่าใกล้เขื่อน เนื่องจากมีการตั้งหน่วยพิทักษ์ จุดสกัดต่าง ๆ และใช้กฎหมายควบคุม ส่วนประเด็นสัตว์ป่าก็พบว่ามีร่องรอยของสัตว์ป่าเข้ามาหากินและพบสัตว์หายาก เช่น นกโกโรโส เป็นต้น แสดงให้เห็นว่ามีความอุดมสมบูรณ์มากขึ้น เนื่องจากมีคนเข้ามารบกวน
นางสาวดาราพร ไชยรัตน์ ผู้อำนวยการส่วนมรดกโลกทางธรรมชาติ และพื้นที่สงวนชีวมลฑล กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวว่า การสร้างเขื่อนในพื้นที่ดงพญาเย็นเขาใหญ่ที่เป็นมรดกโลก ทางมรดกโลกย้ำว่าให้ยกเลิกแผนการสร้างเขื่อนและอ่างเก็บน้ำแบบถาวร ส่วนการสร้างเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำบริเวณขอบพื้นที่ของดงพญาเย็นขอให้ทางไทยดำเนินการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ รายงานแผนการจัดการและพัฒนาลุ่มน้ำในอนาคต
ส่วนการก่อสร้างรอบ ๆ แหล่งมรดกโลก โดยให้ระงับไว้ก่อนจนกว่าการทำ SEA จะเสร็จ ส่วนการสร้างเขื่อนบริเวณป่าแก่งกระจาน ทางคณะกรรมการมรดกโลกมีข้อกังวลต่อสัตว์ป่าและพื้นที่โดยรอบ ขอให้ไทยดำเนินการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม และขอให้มีตัวเลือกไม่มีการสร้างโครงการ เป็นหนึ่งในทางเลือกที่จะนำมาพิจารณาก่อนจะแจ้งผลลัพธ์แก่ทางคณะกรรมการมรดกโลก
นางสาวสุปราณี กำปงซัน หัวหน้าแผนงานประเทศไทย องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) กล่าวว่า บทบาทของ IUCN มี 3 ส่วนในการทำงาน ได้แก่
1. ส่วนของประเทศไทย
2. ส่วนของภูมิภาคเอเชีย
3. ส่วนของคณะกรรมการมรดกโลกที่สวิตเซอร์แลนด์
ในส่วนของประเทศไทยมีหน้าที่รวบรวมข้อมูลจากประชาชนในพื้นที่แล้วส่งให้ส่วนเอเชียและส่วนกลางตามลำดับ จากนั้นส่วนกลางจะทำการตรวจสอบข้อมูลที่รายงาน แล้วจะส่งข้อเสนอกลับมา ในส่วนของการตัดสินใจนั้นจะเป็นในส่วนของภาคี 21 ประเทศ ซึ่งประเทศไทยก็เป็นส่วนหนึ่งในภาคีข้างต้น นอกจากนี้เมื่อทางคณะกรรมการมรดกโลกมีข้อเสนอแนะกลับมา ทางไทยก็ต้องสอบถามทางประชาชนในพื้นที่ เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมของประชาชน
นางสาวอรยุพา สังขะมาน เลขาธิการมูลนิธิสึบนาคะเสถียร กล่าวว่า เหตุผลในการคัดค้านการสร้างเขื่อน คือ การสร้างเขื่อนจะสร้างในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ซึ่งพื้นที่ป่าดังกล่าวมีประโยชน์มากมาย เช่น ป้องกันน้ำท่วม เป็นต้น โดยในปี 2565 รัฐบาลไทยร่วมปฏิญญากลาสโกว์ ที่เกี่ยวกับการจัดการตัดไม้ทำลายป่าให้หมดไป แต่รัฐบาลก็ทำสวนทางกับปฏิญญา และยังมีประเด็นการทำ EIA SEA EHIA ฯลฯ ของประเทศไทยมีปัญหา
นอกจากนี้เครือข่ายดำเนินงานในด้านการสำรวจพื้นที่ที่จะการสร้างอ่างเก็บน้ำ และดำเนินการยื่นเรื่องคัดค้านด้วยเหตุและผลต่อหน่วยงานต่าง ๆ ซึ่งจากการสำรวจในแต่ละพื้นที่พบสัตว์ป่าหายากหลายชนิด และจากการลงพื้นที่สำรวจความคิดเห็นของประชาชน คนในพื้นที่บอกว่าไม่เคยได้ใช้ชีวิตอย่างสงบสุข ใช้ชีวิตด้วยความกังวลว่าบ้านจะถูกน้ำท่วมเมื่อใด
"ตอนนี้เราไม่อยู่ในภาวะโลกร้อนอีกต่อไป แต่อยู่ในภาวะโลกเดือด การจัดการน้ำแบบเดิม ๆ จะมีประโยชน์หรือไม่ ตอนนี้ไม่ควรมาเถียงกันว่าจะใช้ทรัพยากรอย่างไร ตอนนี้ควรจะหยุดได้แล้ว" นางสาวอรยุพา กล่าว
ผู้แทนเครือข่ายองค์กรอนุรักษ์ในท้องถิ่น จ.ราชบุรี กล่าวว่า ถ้าทำอ่างเก็บน้ำที่หนองตาดั้ง จ.ราชบุรี ทำให้ป่าต้นน้ำเสียหายไป 3,000 กว่าไร่ อยากจะถามว่าการทำอ่างเก็บน้ำที่ใช้พื้นที่ข้างต้นจะเป็นการลดหรือเพิ่มพื้นที่สีเขียว ซึ่งในปัจจุบันในพื้นที่ก็มีอ่างเก็บน้ำถึง 7 ที่ แล้ว ซึ่งอ่างเก็บน้ำแต่ละที่ก็ไม่ได้มีน้ำมากนัก
"จะเอาไว้เก็บน้ำหรือเอาไปเลี้ยงวัว ผมอยากถามรัฐบาล" ผู้แทนเครือข่ายองค์กรอนุรักษ์ในท้องถิ่นจ.ราชบุรี กล่าว
ผู้แทนเครือข่ายองค์กรอนุรักษ์ในท้องถิ่น บริเวณป่าดงพญาเย็น กล่าวว่า จากการลงพื้นที่เก็บข้อมูลจากประชาขนในพื้นที่คลองมะเดื่อ พบว่าประชาชนค่อนข้างเป็นกังวลกับกับสร้างอ่างเก็บน้ำ อีกทั้งยังมีปัญหาเรื่องช้างป่าที่อยู่ในพื้นที่คลองมะเดื่อและมาใช้พื้นที่บริเวณคลองมะเดื่อ แต่ในรายงาน EIA บอกว่าช้างไม่ได้ใช้พื้นที่ดังกล่าว นอกจากนี้ยังพบตัวตะกอง ที่จะอยู่ในพื้นที่ต้นน้ำอุดมสมบูรณ์เท่านั้น