ข้อมูลภาพรวมการย้ายถิ่นฐานของไทยไปยังอิสราเอลในปี 2563 ซึ่งถูกจัดทำโดยองค์กรคาฟลาโอเวด ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิทธิแรงงานพบว่า 83% ของแรงงานไทยได้รับค่าจ้างต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำตามกฎหมาย หลายคนไม่ได้รับสิทธิที่ได้รับการรับรองตามกฎหมายและต้องเผชิญกับสภาพการทํางานที่ไม่ปลอดภัยและความยากลําบากในการเข้าถึงการรักษาพยาบาล
สถานการณ์แรงงานไทยที่ได้รับผลกระทบจากการสู้รบระหว่างกลุ่มฮามาสและกองทัพอิสราเอล ตามรายงานล่าสุดของกระทรวงต่างประเทศเมื่อวันที่ 30 ต.ค.พบว่ามีคนไทยเสียชีวิตแล้ว 32 ราย บาดเจ็บ 19 ราย (ยังรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 6 ราย และถูกควบคุมตัว 22 ราย
และก็มีท่าทีว่าตัวเลขดังกล่าวจะเพิ่มสูงขึ้นอีกแน่นอนในอนาคต
จากกรณีดังกล่าวนั้นสำนักข่าวไฟแนนเชียลไทม์สของสหรัฐอเมริกาได้มีการจัดทำรายงานข่าววิเคราะห์ถึงปัญหาของแรงงานไทย และเหตุใดแรงงานไทยจึงอยู่ที่อิสราเอลเป็นจำนวนมาก
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงได้นำเอารายงานดังกล่าวมานำเสนอมีรายละเอียดดังนี้
ย้อนไปตั้งแต่ทศวรรษที่ 80 มีผู้ฝึกหัดและอาสาสมัครด้านการเกษตรจำนวนนับร้อยคนจากประเทศไทยเดินทางมายังอิสราเอล โดยผลการวิจัยของนายมาตัน คามิเนอร์ นักมานุษวิทยา พบว่าหลังจากที่มีเหตุการณ์จลาจลของกลุ่มชาวปาเลสไตน์ในช่วงปี ค.ศ.1987 นี่ก็ทำให้แรงงานชาวไทยไหลบ่าเข้ามายังอิสราเอลมากเป็นพิเศษ
"มีการตัดสินใจเชิงกลยุทธ์ โดยรัฐบาลอิสราเอลเพื่อแทนที่แรงงานปาเลสไตน์ด้วยแรงงานข้ามชาติจากประเทศไทย" นายคามิเนอร์กล่าว
ภายใต้แรงกดดันจากสหรัฐฯ และหน่วยงานที่ไม่ใช่ภาครัฐ ซึ่งดำเนินการเกี่ยวกับปัญหาสิทธิแรงงาน ก็ได้มีการจัดตั้งสิ่งที่เรียกว่า”ท่อส่ง” สำหรับแรงงานอย่างเป็นทางการในปี 2554 เมื่อประเทศต่างๆ ได้ลงนามรับทราบในข้อตกลงที่เรียกว่าโครงการความร่วมมือไทย-อิสราเอลว่าด้วยการจัดหาแรงงาน (TIC) ซึ่งดําเนินการครั้งแรกในปี 2556
ข้อตกลงดังกล่าวนั้นจะเป็นการตัดกลไกที่เรียกว่านายหน้าจัดหาแรงงานจากฝั่งไทยออกไป แล้วจึงมีการกำหนดค่าธรรมเนียมในการจัดหาแรงงานซึ่งมีลักษณะตายตัวขึ้นมา และให้องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐานของสหประชาชาติรับผิดชอบการฝึกอบรมแรงงานในประเทศไทย ส่วนในฝั่งอิสราเอล ทางรัฐบาลอิสราเอลได้มีการกำหนดหน่วยงานจำนวน 13แห่งเพื่อรับผิดชอบในด้านการจ้างแรงงานไทยและในด้านสวัสดิการ
ข้อตกลง TIC นั้นจะอนุญาตให้คนไทยสามารถไปทำงานที่อิสราเอลได้นานสูงสุดประมาณ 5 ปี และอีก 3 เดือน แต่ว่างานที่ว่านี้จะอยู่ในภาคส่วนเกษตรกรรม โดยในงานวิจัยของนางนนนา คุชนิโรวิช และนางรีเบคก้า ไรจ์แมน ศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัยไฮฟา อิสราเอล ระบุว่าข้อตกลง TIC สามารถลดค่าธรรมเนียมคนไทยต่อหัวได้จากหัวละ 9,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ให้เหลืออยู่ที่หัวละ 2,100 ดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงปี 2562
นางคุชนิโรวิชกล่าวว่าสัดส่วนของวีซ่าสำหรับแรงงานต่างชาติเพื่อทำงานในภาคการเกษตรของอิสราเอลนั้นอยู่ที่ 1 ใน 4 เมื่อเทียบกับจำนวนวีซ่าสำหรับแรงงานต่างชาติทั้งหมด
การทำข้อตกลงทวิภาคีพิเศษหมายความว่าอุตสาหกรรมการเกษตรของอิสราเอลเป็นภาคที่เป็นภาคส่วนที่ต้องมีการพึ่งพาแรงงานต่างชาติมากที่สุด
แรงงานไทยหลบซ่อนตัวในช่วงที่มีการโจมตี (อ้างอิงวิดีโอจาก The Telegraph)
“แรงงานต่างชาติเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ในภาคส่วนนี้มาจากประเทศไทย” นางคุชิโรวิชกล่าว
ในปี 2563 ประเทศต่างๆได้ลงนามในข้อตกลงฉบับใหม่สําหรับ TIC ซึ่งข้อตกลงนี้จะแยกออกมาจากข้อตกลงที่อยู่ภายใต้ องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) แต่ว่าเมื่อลงลึกในรายละเอียดแล้วข้อตกลง TIC และข้อตกลง IOM มีลักษณะที่คล้ายๆกัน
จากงานวิจัยของนางคุชิโรวิชและนางไรจ์แมน พบว่าแรงงานไทยส่วนมากแล้วกว่า 84 เปอร์เซ็นต์มาจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย
“เนื่องจากอัตราความยากจนสูงในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย คนไทยกลุ่มนี้จึงได้กลายเป็น 'ผู้ส่งออก' ที่โดดเด่นของแรงงานต่างประเทศ" รายงานระบุและระบุต่อไปว่าแรงงานไทยส่วนมากไปอิสราเอลด้วยค่าแรงที่ค่อนข้างสูงมากกว่า 1,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อเดือน
เจ้าหน้าที่ของกรมการจัดหางานของกระทรวงแรงงานไทยซึ่งดูแลการฝึกอบรมแรงงานข้ามชาติเรียกโครงการ ‘ท่อส่งแรงงาน’ นี้ว่าเป็นข้อตกลงที่วินวิน ทุกฝ่ายมีแต่ได้
“คนงานสามารถกลับบ้านด้วยเงินก้อนโตเป็นเงินบาท พวกเขาสามารถชําระหนี้ทั้งหมดและสร้างบ้านใหม่สําหรับครอบครัวของพวกเขาและนั่นกลายเป็นคุณค่าทางสังคมที่ทุกคนต้องการ” เจ้าหน้าที่กรมจัดหางานกล่าว
อย่างไรก็ตาม พบข้อมูลกรณีการทารุณกรรมแรงงานไทยในภาคส่วนการเกษตรอิสราเอลอย่างต่อเนื่อง
โดยข้อมูลภาพรวมการย้ายถิ่นฐานของไทยไปยังอิสราเอลในปี 2563 ซึ่งถูกจัดทำโดยองค์กรคาฟลาโอเวด ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิทธิแรงงานพบว่า 83% ของแรงงานไทยได้รับค่าจ้างต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำตามกฎหมาย หลายคนไม่ได้รับสิทธิที่ได้รับการรับรองตามกฎหมายและต้องเผชิญกับสภาพการทํางานที่ไม่ปลอดภัยและความยากลําบากในการเข้าถึงการรักษาพยาบาล
ทางฮิวแมนไรท์วอชเองก็ได้รายงานซึ่งมีลักษณะที่ค่อนข้างน่ากังวลออกมาในปี 2558 เช่นกัน เช่นเดียวกับรายงานของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกาที่ระบุว่าการปฏิบัติต่อแรงงานไทยบางส่วนในภาคการเกษตรของอิสราเอลยังคงเป็นในรูปแบบการบังคับใช้แรงงาน
พบข้อมูลว่ามีแรงงานไทยที่ลงทะเบียนประมาณ 5,000 คนและแรงงานที่ไม่ได้ลงทะเบียนอีก1,000 คนทำงานในพื้นที่ใกล้กับฉนวนกาซาในช่วงที่เกิดการโจมตีเมื่อวันที่ 7 ต.ค. ตามคำกล่าวอ้างของนางยาเฮล เคอร์แลนเดอร์อาสาสมัครซึ่งทำงานกับองค์กร Aid for Farm Workers ซึ่งเป็นกลุ่มที่จัดตั้งขึ้นเพื่อช่วยเหลือแรงงานไทยในอิสราเอลกล่าว
"ในหลายพื้นที่ซึ่งมีการอพยพคนงาน พวกเขาถูกกดดันให้ไปทํางานทันทีและในบางแห่งนางจ้างอ้างว่าแรงงานเหล่านี้ต้องการจะอยู่ทำงานต่อไป " องค์กรเพื่อช่วยเหลือเรื่องการจัดตั้งที่หลบภัยสำหรับแรงงานต่างชาติกล่าว
สำนักข่าว DW ของเยอรมนีทำรายงานข่าววิเคราะห์ว่าเหตุใดจึงมีตัวประกันไทยเป็นจำนวนมาก
ในโพสต์บนเฟซบุ๊กของนางออร์น่า ซาร์กิฟ (Orna Sagiv) เอกอัครราชทูตอิสราเอลประจําประเทศไทย ให้คํามั่นว่าคนงานไทยที่ติดอยู่ในการโจมตีของกลุ่มฮามาสจะได้รับ "การปฏิบัติและการคุ้มครองเช่นเดียวกับทุกคนในอิสราเอล"
อย่างไรก็ตาม นายคามิเนอร์ ซึ่งเป็นสมาชิกของกลุ่มอาสาสมัครช่วยเหลือแรงงานกล่าวว่าตอนนี้สิ่งสำคัญที่สุดก็ต้องต้องมีการจัดลำดับสวัสดิการให้กับคนงาน แม้ว่าภาคส่วนเกษตรกรรมของอิสราเอลจะกังวลว่าต้องรักษาแรงงานเอาไว้ก็ตาม
นายคามิเนอร์กล่าวว่าถ้าหากการตอบสนองต่อการจัดการปัญหาแรงงานนั้นไม่ดี ปัญหาที่จะตามมาในอนาคตก็คืออาจจะเกิดการยับยั้งแรงงานต่างชาติมายังอิสราเอลได้ โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาเรื่องปัญหาการละเมิดสิทธิแรงงานในอิสราเอลประกอบกันด้วยแล้ว
“ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองฝ่ายระหว่างนายจ้างชาวอิสราเอลและแรงงานข้ามชาติจากประเทศไทย อยู่ในจุดที่ยากลำบากมาหลายปีแล้ว นี่อาจเป็นจุดเปลี่ยนอีกจุดหนึ่ง” นายคามิเนอร์กล่าว
ส่วนนางเคอร์แลนเดอร์ ที่ทำงานเป็นนักวิชาการด้านแรงงานไทยในอิสราเอล ยังมองโลกในแง่ดี โดยกล่าวว่าสถานการณ์ดังกล่าวอาจเป็นตัวเร่งให้เกิดการปรับปรุงความเป็นอยู่ของแรงงานไทย เนื่องจากในอนาคตอาจมีการขาดแคลนแรงงานที่เป็นชาวปาเลสไตน์มากขึ้นไปอีก และแรงงานไทยบางส่วนถูกก็ถูกกีดกันไม่ให้เดินทางกลับ
“เมื่อมีความต้องการแรงงานมากขึ้น แรงงานก็จะสามารถขอเงินมากขึ้น พวกเขาสามารถขอสิทธิมากขึ้น” นางเคอร์แลนเดอร์กล่าวทิ้งท้าย
เรียบเรียงจาก:https://www.ft.com/content/9ddbdee8-c566-47b1-b514-b3ad6c45f641