นายลิมเปิดเผยว่าเขาได้พบเจอกับโฆษณาในเฟซบุ๊กเมื่อประมาณสามสัปดาห์ก่อน รายละเอียดโฆษณาระบุว่าจะให้เงินกว่า 15,000 ริงกิตหรือ 3,168 ดอลลาร์สหรัฐฯ สำหรับงานลักลอบขนผลิตภัณฑ์งาช้างและอวัยวะเพศเสือตัวผู้ ออกจากประเทศไทยภายในทริปเดียว
ประเด็นเรื่องเหยื่อถูกกลุ่มอาชญากรหลอกลักพาตัวไปทำงานศูนย์หลอกลวงฉ้อโกงซึ่งตั้งอยู่ในพรมแดนไทย-เมียนมา เป็นสิ่งที่รัฐบาลหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือว่าอาเซียนยังคงไม่อาจจะแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน
และล่าสุดสำนักข่าวในประเทศมาเลเซียได้รายงานข่าวว่ากลุ่มอาชญากรได้มีวิธีการใหม่ๆในการหลอกลักพาตัวเหยื่อมาที่ไทยก่อนจะพาตัวไปที่เมียนมา
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงขอนำเสนอเนื้อหาข่าวมีรายละเอียดดังนี้
กลุ่มมิจฉาชีพได้คิดค้นกลยุทธ์ใหม่เพื่อดึงดูดผู้ที่อาจตกเป็นเหยื่อไปยังศูนย์หลอกลวงฉ้อโกงหลอกที่ชายแดนเมียนมา-ไทย
โดยนอกเหนือจากการกลุ่มมิจฉาชีพเสนอค่าตอบแทนจํานวนมากสําหรับค่าจ้างปฏิบัติการลักลอบนําเข้าสินค้าในประเทศไทยเป็นเวลาสามวันแล้ว มิจฉาชีพยังไปไกลถึงการหลอกลวงว่าจะจัดการค่าตั๋วเครื่องบิน การจัดที่พักและแม้แต่การสัญญาว่าจะแนะนําแฟนสาวให้รู้จักกับเป้าหมายที่ไม่มีความระแคะระคายมาก่อน
สำนักข่าว China Press ซึ่งเป็นสำนักข่าวในประเทศมาเลเซียที่นำเสนอข่าวภาคภาษาจีนรายงานว่าพบว่ามีชายวัย 34 ปี ชื่อว่านายลิม หลีกเลี่ยงประสบการณ์ที่อาจจะส่งผลเลวร้ายต่อเขาได้อย่างหวุดหวิด เมื่อเขาเกือบจะขึ้นเครื่องบินในวันที่ 14 ต.ค. ซึ่งการขึ้นเครื่องบินนี้อาจนําเขาเข้าสู่เงื้อมมือขององค์กรอาชญากรหลอกลวงที่เป็นอันตรายอย่างยิ่ง
เป็นที่รับทราบกันแล้วว่าเหยื่อที่ถูกหลอกลวงไปศูนย์ฉ้อโกงมักจะถูกบังคับใช้แรงงาน, ถูกบังคับให้มีส่วนร่วมในการหลอกลวงที่ผิดกฎหมายและถูกทรมานถ้าหากไม่ให้ความร่วมมือหรือว่าทำงานไม่บรรลุเป้าหมาย
@โฆษณารับสมัครงานออนไลน์เสนอเงิน 3,168 ดอลลาร์สหรัฐฯ (115,670 บาท) สําหรับการลักลอบขนผลิตภัณฑ์-สัตว์ใกล้สูญพันธุ์มายังประเทศไทยภายในทริปเดียว
นายลิมเปิดเผยว่าเขาได้พบเจอกับโฆษณาในเฟซบุ๊กเมื่อประมาณสามสัปดาห์ก่อน รายละเอียดโฆษณาระบุว่าจะให้เงินกว่า 15,000 ริงกิตหรือ 3,168 ดอลลาร์สหรัฐฯ สำหรับงานลักลอบขนผลิตภัณฑ์งาช้างและอวัยวะเพศเสือตัวผู้ ออกจากประเทศไทยภายในทริปเดียว
เนื่องจากว่ารายได้ของนายลิมที่ทำงานเป็นหมอนวดในเมืองมะละกาไม่ค่อยจะมั่นคงนัก เขาจึงคิดว่าข้อเสนอนี้ค่อนข้างน่าสนใจและอาจเป็นทางทำให้ตัวเองร่ำรวยอย่างรวดเร็ว
นายลิมจึงติดต่อกับนายหน้าผ่านแอปพลิเคชัน WhatsApp เขาจึงได้รับทราบเกี่ยวกับรายละเอียด ขอบเขตของงานที่เกี่ยวข้องกับการลักลอบนําเข้าอวัยวะเพศเสือ งาช้างและผลิตภัณฑ์นอแรดออกจากประเทศไทย
ผู้ติดต่อออกคำสั่งให้นายลิมเดินทาง 2-4 เที่ยวไปยังกรุงเทพในทุกๆเดือน โดยแต่ละเที่ยวจะใช้เวลา 3 วัน
นายลิมกล่าวว่า ‘นายหน้า’ แสดงความกระตือรือร้นอย่างมาก เพราะพวกเขาไม่เพียงแต่จัดการเรื่องที่พักและตั๋วเครื่องบินเท่านั้น แต่ยังรวมถึงเสนอผลิตภัณฑ์จากสัตว์ที่มีมูลค่าสูงเป็นของที่ระลึกด้วย
นายหน้าแนะนำกับนายลิมว่าให้เดินทางด้วยสัมภาระน้อยที่สุด เพราะว่าพวกเขาจะเป็นฝ่ายจัดการเรื่องกระเป๋าเดินทางและให้เงินบาทไทยประกอบกัน
ยิ่งไปกว่านั้นนายหน้ายังถามนายลิมด้วยว่าแต่งงานหรือยัง เพราะเขาจะแนะนำผู้หญิงไทยที่น่าจะเป็นแฟนเขาได้
แชทคุยระหว่างนายลิมและผู้เป็นนายหน้า
@ข้อฉุกคิดเกิดขึ้นเมื่อนายลิมรับทราบรายละเอียดสถานที่ทำงานว่าอยู่ที่แม่สอด
นายลิมกล่าวว่าเที่ยวบินตามกําหนดการมีแผนจะออกจากกัวลาลัมเปอร์ไปยังกรุงเทพเวลา 17:45 น. ของบ่ายวันเสาร์ (14 ต.ค.)
อย่างไรก็ตาม เขาได้รับทราบข้อมูลเมื่อเวลา 14.33 น.ในวันเดียวกันว่าโรงงานแปรรูปสินค้าที่ลักลอบนําเข้าตั้งอยู่ที่ อ.แม่สอดประเทศไทย
นายลิมรู้สึกเอะใจ เพราะมีรายงานข่าวออกมาเป็นระยะระบุว่าแม่สอดเป็นจุดศูนย์กลางหรือจุดร้อนแรงสําหรับองค์กรอาชญากรรมที่หลอกลวงเหยื่อ และพาเหยื่อไปยังเมียนมา ทำให้เขาเริ่มสงสัยมากขึ้น
รายงานข่าวหลายฉบับเปิดเผยว่า เหยื่อถูกนําตัวไปยังพื้นที่ตั้งของศูนย์ฉ้อโกงหลอกลวงที่ตั้งอยู่ในเมืองเมียวดี ประเทศเมียนมา ซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้ามแม่น้ำจาก อ.แม่สอด
ต่อมานายลิมได้ดําเนินการค้นหาข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ 'ลูกหมู' ทางออนไลน์ (นายลิมใช้คำภาษาจีนว่า 猪仔 ซึ่งเป็นคําเรียกขานสําหรับเหยื่อการค้ามนุษย์) และอีกจุดที่ทำให้นายลิมต้องสะดุดก็คือมีการอ้างถึงชายชื่อวิกเตอร์ หว่อง (Victor Wong) ผู้ประกอบการชาวมาเลเซียที่มีชื่อเสียงซึ่งดําเนินงานในประเทศไทยหรือที่รู้จักกันดีในชื่อไทยดราก้อน หรือ"Thai's Dragon (泰国过江龙)" บนโซเชียลมีเดีย
นายลิมส่งข้อความถึงนายหว่องเพื่อขอคําแนะนําเกี่ยวกับการเดินทางครั้งนี้ นายหว่องจึงแนะนําให้เขาหลีกเลี่ยงการเดินทางที่น่าสงสัย
“ผมจึงตัดสินใจอย่างแน่วแน่ที่จะไม่ขึ้นเครื่องบิน” นายลิมกล่าว
@องค์กรอาชญากรรมที่ใช้ข้อเสนองานเป็นเหยื่อล่อสําหรับผู้เดินทางที่ไม่พึงระวัง
ทางด้านของนายหว่องเคยให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน โดยเตือนว่าว่ากลุ่มอาชญากรอาจใช้ประโยชน์จากการหลอกลวงว่าจะสร้างโอกาสในการทํางาน เพื่อเป็นหน้ากากบังหน้าในการล่อลวงคนหนุ่มสาวที่ชอบผจญภัยให้เดินทางไปยัง อ.แม่สอด ประเทศไทย
เมื่อมาถึงบุคคลเหล่านี้อาจต้องเผชิญกับการลักพาตัวและถูกขายให้กับค่ายในเมียนมา ภายในระยะเวลาเพียงสองสัปดาห์มีรายงานผู้ถูกลักพาตัวสองรายแล้ว
นายหว่องยังเน้นย้ำว่าการหลอกลวงรูปแบบนี้เพิ่งได้รับความนิยม กลุ่มมิจฉาชีพเหล่านี้มักจะอ้างว่าดําเนินกิจการโรงงานในพื้นที่ห่างไกลเช่น อ.แม่สอด จ.ตาก จ.เชียงใหม่และจ.ภูเก็ตในประเทศไทย ซึ่งกลุ่มมิจฉาชีพดึงดูดเป้าหมายของพวกเขาโดยอ้างว่าให้เยี่ยมชมสถานที่เพื่อตรวจสอบผลิตภัณฑ์
นายหว่องกล่าวต่อไปว่าเมื่อเป้าหมายไปถึงพื้นที่เหล่านี้โอกาสในการหลบหนีมีน้อยโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพวกเขาไปถึงชายแดนและพวกเขามักจะถูกขายให้กับศูนย์ฉ้อโกงหลอกลวงในเมียนมา
นอกจากนี้ นายหว่องยังให้ความช่วยเหลือส่วนตัวแก่นายลิมในการรายงานเหตุการณ์ต่อเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น โดยให้ข้อมูลที่สําคัญแก่พนักงานสอบสวนเพื่ออํานวยความสะดวกในการสืบสวนอย่างต่อเนื่อง
@ชาวมาเลเซียอีกคนแทบจะหนีไม่รอดจากการค้ามนุษย์ในเมียนมา หลังเขาตกลงรับข้อเสนอ 'ลักลอบขนงาช้าง' มูลค่า 3,600 ดอลลาร์สหรัฐฯ (131,652 บาท)
เมื่อประมาณต้นเดือน ต.ค. มีรายงานอีกฉบับหนึ่งเปิดเผยกรณีชาวจีนเชื้อสายมาเลเซียวัย 27 ปีได้รับข้อเสนอมูลค่า 3,600 ดอลลาร์สหรัฐฯ แลกกับการลักลอบขนงาช้างที่ชายแดนไทย-เมียนมา
ชายคนนี้ชื่อว่านายอาเหลียงจึงเดินทางไปยัง จ.เชียงรายด้วยเครื่องบิน และเมื่อไปถึงเขาถูกล่อลวงไปยัง อ.แม่สายเมืองที่ตั้งอยู่ใกล้ชายแดนไทย-เมียนมา
จากนั้นเขาถูกส่งตัวต่อไปยังท่าขี้เหล็ก เมืองในเมียนมาซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้ามแม่น้ำจากฝั่ง อ.แม่สายในประเทศไทย โดยหลังจากเปลี่ยนยานพาหนะสองครั้ง ในระหว่างการเดินทางครั้งนี้อาเหลียงเริ่มรู้สึกว่ามีบางอย่างไม่ชอบมาพากล โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อชายสองคนในชุดทหารกลายเป็นผู้คุ้มกันชุดสุดท้ายของเขา
อาเหลียงจึงกระโจนจากยานพาหนะที่กําลังเคลื่อนที่และได้รับบาดเจ็บในขณะที่เขาพยายามหาที่หลบภัยในป่าเพื่อหลบหนีจากผู้ไล่ล่า เขาต้องเผชิญกับประสบการณ์อันทรหดเป็นเวลากว่าสองวันสองคืน และในที่สุดเขาก็สามารถข้ามพรมแดนกลับมายังประเทศไทยได้ ซึ่งที่ไทย อาเหลียงได้มอบตัวกับเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง
@รายงานนโยบายของสหประชาชาติเน้นย้ำถึงแก๊งอาชญากรรมข้ามชาติที่จัดตั้งฐานปฏิบัติการห่างไกลในเมียนมา
เมื่อเดือน ก.ย. สํานักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับตัวตนของแก๊งอาชญากรรมที่ปฏิบัติการในพื้นที่ชายแดนของเมียนมาซึ่งอยู่ติดกับจีน
สถานที่ห่างไกลเหล่านี้มักไม่สามารถเข้าถึงการบังคับใช้กฎหมายได้ มันจึงได้กลายเป็นเป็นศูนย์กลางการดําเนินงานสําหรับองค์กรอาชญากรรมที่กระทําการหลอกลวงทางออนไลน์ทําให้เหยื่อการค้ามนุษย์มีโอกาสหลบหนีค่อนข้างน้อย
พื้นที่ที่สหประชาชาติระบุว่าเป็นที่ตั้งศูนย์ปฏิบัติการฉ้อโกงในอาเซียน
ในเมียนมาศูนย์กลางที่สําคัญสําหรับกิจกรรมทางอาชญากรรมเฟื่องฟูอย่างมากในภูมิภาคเมียวดี ซึ่งตั้งอยู่ตรงข้ามแม่น้ำสายเล็ก ๆ จากเมืองแม่สอดชายแดนไทยตะวันตก
อีกเครือข่ายหนึ่งทอดยาวไปตามชายแดนด้านตะวันออกของเมียนมากับจีน โดยขยายไปทางเหนือผ่านรัฐฉาน ผ่านเขตบริหารพิเศษของรัฐว้า และไปถึงพื้นที่ปกครองตนเองโกก้างซึ่งมีพรมแดนติดกับมณฑลยูนนานของจีน
ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ร่วมกับ UNODC ได้เปิดตัวแผนกลยุทธ์ที่มุ่งแก้ไขปัญหาอาชญากรรมและการค้ามนุษย์ในภูมิภาค โดยแผนใหม่นี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อเสริมสร้างมาตรการป้องกันและเพิ่มขีดความสามารถของหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายในการต่อสู้กับอาชญากรรมระหว่างประเทศและการค้ามนุษย์ในระดับภูมิภาค
เรียบเรียงเนื้อหาและรูปภาพจาก:https://gutzy.asia/2023/10/17/job-scams-lure-potential-victims-with-the-promise-of-a-girlfriend-in-innovative-tactics/