"...ผมไปราชการ ออกไปดูงานจริง ส่วนที่ไปเจอว่ามาเซ็นชื่อทำงานทุกวัน ก็เพราะเวลาออกไปดูงานไม่ได้เซ็นชื่อเข้าทำงาน แต่มีอยู่ช่วงหนึ่ง หัวหน้า(นายยุทธนา) เรียกให้มาเซ็นชื่อยืนยันเข้าทำงาน ผมก็เซ็นไปตามนั้น โดยที่ไม่ได้ดูรายละเอียดอะไร ซึ่งตรงจุดนี้เราอาจจะพลาดที่ไม่ดูรายละเอียดให้ครบถ้วน ทำให้ สตง.ไม่เชื่อว่าเราออกไปดูงานจริง ทั้งที่ เราออกไปดูงานจริง..."
ลงโทษ นายยุทธนา ขวัญเมือง จำเลยที่ 1 ตามมาตรา 147 ซึ่งเป็นบทหนักที่สุด จำคุก 5 ปี และปรับ 30,000 บาท
ลงโทษ นายสกนธ์ ลิมทโรภาส จำเลยที่ 2 และนายสิกขพงษ์ ศรีอภิวัตน์ หรือศรีอภิวัฒน์ จำเลยที่ 3 ตามมาตรา 147 ประกอบมาตรา 86 ซึ่งเป็นบทหนักที่สุด จำคุกคนละ 3 ปี 4 เดือน และปรับ 20,000 บาท
มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้คนละกึ่งหนึ่ง ตามมาตรา 78
คงจำคุกจำเลยที่ 1 เป็นเวลา 2 ปี 6 เดือน และปรับ 15,000 บาท และคงจำคุกจำเลยที่ 2 และ 3 คนละ 1 ปี 8 เดือน และปรับ 10,000 บาท
รอการลงโทษไว้คนละมีกำหนด 2 ปี
คือ บทสรุปคำพิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 7 ที่ตัดสินคดีกล่าวหา นายยุทธนา ขวัญเมือง เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งพลังงานจังหวัดกาญจนบุรี กับพวก คือ นายสกนธ์ ลิมทโรภาส นายสิกขพงษ์ ศรีอภิวัตน์ หรือศรีอภิวัฒน์ เบิกเงินค่าเดินทางไปราชการเพื่อตรวจติดตามโครงการนำร่องนำเทคโนโลยีพลังงานทดแทนมาใช้ในระบบสูบน้ำและกระแสไฟฟ้าสำหรับชุมชน และค่าจ้างเหมาพาหนะเป็นเท็จ ซึ่งถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช. ลงมติชี้มูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147, 157, 162 (1) (4) ประกอบ มาตรา 86 และ พ.ร.ป. ป.ป.ช. พ.ศ. 2542 มาตรา 123/1 ประกอบ ป.อ. มาตรา 86 ตั้งแต่เมื่อวันที่ 11 ม.ค.2565 ที่ผ่านมา
หากสาธารณชนยังจำกันได้ ในช่วงเดือน มิ.ย. 2561 สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) เคยนำเสนอข่าวที่เป็นจุดเริ่มต้นคดีนี้มาแล้ว
ประเด็นเริ่มต้นมาจาก สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้เผยแพร่รายงานผลตรวจสอบการดำเนินงานโครงการนำร่องการนำเทคโนโลยีพลังงานทดแทนมาใช้ในระบบสูบน้ำ เพื่อผลิตน้ำประปาหมู่บ้าน และผลิตไฟฟ้าสำหรับชุมชน ของ สำนักงานพลังงานจังหวัดกาญจนบุรี สำนักงานปลัดกระทรวงพลังงาน กระทรวงพลังงาน วงเงินนับสิบล้านบาท ซึ่งพบปัญหาขั้นตอนการดำเนินงานโครงการ ทั้งการที่ประชาชนในพื้นที่ไม่ได้รับประโยชน์จากการดำเนินงานโครงการอย่างเต็มประสิทธิภาพ และยังมีปัญหาเรื่องการจัดทำเอกสารอันเป็นเท็จเพื่อเบิกจ่ายเงินของผู้บริหารระดับสูงและเจ้าหน้าที่สำนักงานพลังงานจังหวัดกาญจนบุรี ด้วย
โดยสตง.ตรวจสอบพบว่า สำนักงานพลังงานจังหวัดกาญจนบุรี ได้เบิกค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการ เพื่อติดตาม งานโครงการนำร่องการนำเทคโนโลยีพลังงานทดแทนมาใช้ในระบบสูบน้ำเพื่อผลิตน้ำประปาหมู่บ้านและผลิตไฟฟ้าสำหรับชุมชน ของผู้บริหารระดับสูงในสำนักงานพลังงานจังหวัดกาญจนบุรี และเจ้าหน้าที่อีก 2 ราย ระหว่างวันที่ 15 – 30 กันยายน 2557 เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 92,520 บาท ดังนี้
1. เบิกจ่ายเป็นค่าเช่าเหมารถยนต์พร้อมน้ำมันเชื้อเพลิง จำนวน 15 ครั้ง ๆ ละ 3,000 บาท เป็นจำนวนเงิน 45,000 บาท
2. เบิกจ่ายเป็นค่าค่าเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย 3 คน จำนวน 16 วัน ๆ ละ 240 บาท เป็นเงิน 11,520 บาท
3. เบิกจ่ายเป็นค่าเช่าที่พักเหมาจ่าย 3 คน จำนวน 15 คืน ๆ ละ 800 บาท เป็นเงิน 36,000 บาท
จากการตรวจสอบการลงเวลาปฏิบัติราชการ ของเจ้าหน้าที่ทั้ง 3 ราย ระหว่างวันที่ 15-30 กันยายน 2557 พบว่า เจ้าหน้าที่ทั้ง 3 ราย ได้ลงลายมือชื่อปฏิบัติราชการทุกวัน ส่วนผู้บริหารระดับสูง ไม่ได้ลงลายมือชื่อปฏิบัติราชการในวันที่ 26 กันยายน 2557 เพียง 1 วัน เนื่องจากได้รับคำสั่งให้เข้าร่วมสัมมนา “ทิศทางการปฏิบัติราชการกระทรวงพลังงาน” ณ รร.มิราเคิลแกรนด์ คอนเวนชั่น กทม.
จากข้อสังเกตข้างต้น เห็นได้ว่า ผู้บริหารระดับสูงและเจ้าหน้าที่ 2 ราย ของสำนักงานพลังงานจังหวัดกาญจนบุรี เบิกค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการโดยไม่ได้มีการปฏิบัติราชการจริง เป็นเหตุให้ทางราชการเสียหาย จำนวนเงิน 92,520 บาท เบื้องต้น สตง. ได้รับมอบหมายให้ กลุ่มตรวจสอบสืบสวนได้รับเรื่องไว้เพื่อดำเนินการสอบสวนในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
ขณะที่ สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบข้อมูลในรายงานผลการตรวจสอบ สตง. พบว่า ผู้บริหารระดับสูงในสำนักงานพลังงานจังหวัดกาญจนบุรี และเจ้าหน้าที่อีก 2 ราย ที่ถูก สตง.ตรวจสอบพบปัญหาจัดทำเอกสารอันเป็นเท็จเพื่อเบิกจ่ายเงินเดินทางไปราชการดังกล่าว คือ นายยุทธนา ขวัญเมือง ผู้อำนวยการสำนักงานพลังงานจังหวัดกาญจนบุรี นายสกนธ์ ลิมทโรภาส นายช่างเทคนิคชำนาญงาน และนายกิตติพงษ์ สานุวงศ์ นักวิชาการพลังงานปฏิบัติการ
ทั้งนี้ ในช่วงสายวันที่ 25 มิ.ย.2561 สำนักข่าวอิศรา ได้ติดต่อไปยัง สำนักงานพลังงานจังหวัดกาญจนบุรี เพื่อขอสัมภาษณ์ นายยุทธนา ขวัญเมือง ผู้อำนวยการสำนักงานพลังงานจังหวัดกาญจนบุรี ให้ชี้แจงข้อเท็จจริงเรื่องนี้
แต่ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ว่า ปัจจุบัน นายยุทธนา เกษียณอายุราชการไปแล้ว เมื่อเดือน ต.ค.2560 ที่ผ่านมา
ขณะที่ นายสกนธ์ ลิมทโรภาส นายช่างเทคนิคชำนาญงาน ให้สัมภาษณ์ชี้แจงสำนักข่าวอิศราว่า เกี่ยวกับเรื่องนี้ สตง. ได้เข้ามาตรวจสอบและแจ้งผลการตรวจสอบมาให้ทราบ เมื่อปี 2561 ที่ผ่านมา เท่าที่ทราบ นายยุทธนา ได้ชี้แจงข้อเท็จจริงกับ สตง.ไปแล้ว ส่วนผลการชี้แจงจะออกมาเป็นอย่างไรก็คงต้องว่าไปตามนั้น ถ้าจะให้คืนเงินก็ต้องคืน
เมื่อถามว่า มีการเดินทางไปดูงานจริงหรือไม่ ถ้าไปดูแล้วทำไม่เช็นชื่อมาปฎิบัติราชการตามปกติทุกวัน นายสกนธ์ กล่าวว่า "ผมไปราชการ ออกไปดูงานจริง ส่วนที่ไปเจอว่ามาเซ็นชื่อทำงานทุกวัน ก็เพราะเวลาออกไปดูงานไม่ได้เซ็นชื่อเข้าทำงาน แต่มีอยู่ช่วงหนึ่ง หัวหน้า(นายยุทธนา) เรียกให้มาเซ็นชื่อยืนยันเข้าทำงาน ผมก็เซ็นไปตามนั้น โดยที่ไม่ได้ดูรายละเอียดอะไร ซึ่งตรงจุดนี้เราอาจจะพลาดที่ไม่ดูรายละเอียดให้ครบถ้วน ทำให้ สตง.ไม่เชื่อว่าเราออกไปดูงานจริง ทั้งที่ เราออกไปดูงานจริง"
เมื่อถามว่า ได้พูดคุยกับ นายยุทธนา เกี่ยวกับเรื่องนี้หรือยัง นายสกนธ์ ตอบว่า "ผมติดต่อไม่ได้เลย หลังจากที่หัวหน้าเกษียณอายุไปแล้ว ก็เปลี่ยนเบอร์โทรศัพท์ใหม่ ไม่สามารถติดต่อได้"
ด้านแหล่งข่าวจาก สตง. ยืนยันว่า ในการตรวจสอบการดำเนินงานโครงการนำร่องการนำเทคโนโลยีพลังงานทดแทนมาใช้ในระบบสูบน้ำเพื่อผลิตน้ำประปาหมู่บ้านและผลิตไฟฟ้าสำหรับชุมชน ของสำนักงานพลังงานจังหวัดกาญจนบุรี ยังตรวจสอบพบปัญหาในขั้นตอนการดำเนินงานอีกหลายส่วน รวมถึงขั้นตอนกระบวนการตรวจสอบงานของเอกชนที่เข้ามารับจ้างงานก่อสร้างด้วย
หลังจากนั้นเรื่องนี้ ก็เงียบหายไป จนกระทั่งปรากฏข่าวว่า ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 7 มีคำพิพากษาตัดสินคดีนี้เป็นทางการตามที่เสนอข่าวไปแล้ว
เบื้องต้น คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีการประชุมลงมติเมื่อวันที่ 18 ก.ย.2566 ได้พิจารณาแล้วมีมติให้ขอความอนุเคราะห์อัยการสูงสุด (อสส.) อุทธรณ์คำพิพากษา
แต่ไม่ว่าบทสรุปสุดท้ายการต่อสู้คดีจะออกมาเป็นอย่างไร กรณีนี้นับเป็นบทเรียนสำคัญอีกกรณีหนึ่ง ของผู้บริหารและข้าราชการ หน่วยงานด้านพลังงานไทย
เพื่อไม่ให้ใครเดินย้ำซ้ำรอยเอาเป็นเยี่ยงอย่างในอนาคตอีกต่อไป ดังที่เคยระบุไปแล้วในหลายคดีก่อนหน้านี้