“…อีกทั้งในแต่ละขั้นตอน หน่วยงานของรัฐใช้ระยะเวลามากเกินสมควร ซึ่งความล่าช้าดังกล่าว ทำให้ทรัพย์สินที่ยึดหรืออายัดไว้เพื่อการขายทอดตลาดเสื่อมค่า เสื่อมราคา ยังความเสียหายให้แก่หน่วยงานของรัฐ ที่จะไม่ได้รับชำระค่าสินไหมทดแทนให้ครบถ้วนทำให้ต้องยึดหรืออายัดทรัพย์สินเพิ่มเติม รวมถึงความเสี่ยงที่คดีจะขาดอายุความทำให้ไม่อาจใช้สิทธิเรียกร้องได้…”
...........................................
จากกรณีที่เมื่อวันที่ 10 ต.ค.ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติรับทราบผลการพิจารณาข้อหารือ เรื่อง การใช้มาตรการบังคับทางปกครองโดยการขายทอดตลาดทรัพย์สินที่ยึดโดยไม่แจ้งผู้อยู่ในบังคับของมาตรการทางปกครองของคณะกรรมการวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง (เรื่องเสร็จที่ 765/2566) ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีการ เสนอ
และมีมติให้ ‘หน่วยงานของรัฐ’ ถือปฏิบัติตามกรอบระยะเวลาการดำเนินการเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ในแต่ละขั้นตอน ตามที่คณะกรรมการวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง เสนอ ซึ่งประกอบด้วย 4 ประเด็น ได้แก่
1.หน่วยงานของรัฐต้องแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ภายใน 60 วันนับแต่ทราบความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อหน่วยงานของรัฐ เว้นแต่มีหน่วยงานของรัฐหลายหน่วยได้รับความเสียหาย การดำเนินการดังกล่าวต้องกระทำภายใน 120 วัน นับแต่ทราบความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อหน่วยงานของรัฐ
2.หน่วยงานของรัฐต้องออกคำสั่งให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนภายในกำหนดเวลาตามข้อ 1 นับแต่วันที่ได้รับความเห็นของคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่หรือกระทรวงการคลัง แล้วแต่กรณี
3.กระทรวงการคลังต้องพิจารณาเรื่องที่หน่วยงานของรัฐส่งมา ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 ให้แล้วเสร็จ และแจ้งให้หน่วยงานของรัฐทราบเพื่อถือปฏิบัติ ภายใน 120 วันนับแต่วันที่ได้รับเรื่องจากหน่วยงานของรัฐ
4.หน่วยงานของรัฐต้องเริ่มดำเนินการบังคับทางปกครองภายในกำหนดเวลาตามข้อ 1 นับแต่วันที่ครบกำหนดเวลาที่แจ้งเตือนให้ชำระค่าสินไหมทดแทน และผู้อยู่ในบังคับของคำสั่งให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนไม่ปฏิบัติตาม นั้น (อ่านประกอบ : ตีกรอบเวลา‘หน่วยงานรัฐ’ออกคำสั่ง‘จนท.’ชดใช้สินไหมฯ‘ความรับผิดทางละเมิด’-บังคับทางปกครอง)
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงขอนำเสนอ ‘บันทึกคณะกรรมการวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง เรื่อง การใช้มาตรการบังคับทางปกครองโดยการขายทอดตลาดทรัพย์สินที่ยึด โดยไม่แจ้งผู้อยู่ในบังคับของมาตรการทางปกครอง’ เรื่องเสร็จที่ 765/2566 ซึ่งเป็นที่มาของ มติ ครม. เมื่อวันที่ 10 ต.ค.2566 ดังนี้
@‘สธ.’หารือปมยึดทรัพย์‘เจ้าหน้าที่รัฐ’ชดใช้ค่าเสียหาย
สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มีหนังสือ ที่ สธ.0202.1.7/9191 ลงวันที่ 12 เม.ย.2566 ถึงสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สรุปความได้ว่า
สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข โดยจังหวัดเพชรบูรณ์มีหนังสือ ที่ พช 0027.001/ว.2163 ลงวันที่ 14 ต.ค.2548 หนังสือ พช 0027.001/ว.3929 ลงวันที่ 20 ต.ค.2548 และหนังสือที่ พช 0027.001/15984 ลงวันที่ 26 ธ.ค.2550 เรียกให้นาง ค. ในฐานะผู้กระทำทุจริตรับผิด ชดใช้ค่าเสียหายแก่ทางราชการ เป็นเงินจำนวน 1,069,155 บาท
เมื่อนาง ค. ได้รับแจ้งคำสั่งโดยชอบด้วยกฎหมาย และมิได้อุทธรณ์คัดค้านคำสั่งภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด ย่อมทำให้คำสั่งดังกล่าวเป็นที่สุด และมีผลผูกพันให้นาง ค. ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทน แต่นาง ค. มิได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามคำสั่งดังกล่าว
สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขโดยจังหวัดเพชรบูรณ์ จึงมีอำนาจใช้มาตรการบังคับทางปกครองตามมาตรา 57 แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 ต่อไป
ในการนี้ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข จะใช้มาตรการบังคับทางปกครองแก่รถยนต์ของนาง ค. จำนวน 2 คัน ซึ่งจังหวัดเพชรบูรณ์มีหนังสือ ที่ พช 0032.009/4447 ลงวันที่ 13 พ.ย.2556 แจ้งสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ให้นำรถยนต์จำนวน 2 คันดังกล่าว ส่งคืนจังหวัดเพชรบูรณ์ เพื่อดำเนินการบังคับตามมาตรการบังคับทางปกครอง
แต่เนื่องจากจังหวัดเพชรบูรณ์อยู่ระหว่างการหารือแนวทางปฏิบัติ หลักเกณฑ์การใช้มาตรการบังคับทางปกครองกับสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข จังหวัดเพชรบูรณ์ จึงมีหนังสือ ที่ พช 0032.009/9265 ลงวันที่ 10 มิ.ย.2557 แจ้งสำนักงาน ปปง. ถึงการยึด อายัด และขอความอนุเคราะห์ให้จัดเก็บรักษาทรัพย์สินของนาง ค.
ต่อมาในปี พ.ศ.2562 สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขมีหนังสือแจ้งสำนักงาน ปปง. ขอรับรถยนต์ 2 คันดังกล่าว คืนจากสำนักงาน ปปง. และในขณะนี้รถยนต์ 2 คันดังกล่าว อยู่ในความครอบครองของสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขแล้ว
สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขพิจารณาแล้วขอเรียนว่า เมื่อจังหวัดเพชรบูรณ์มีการดำเนินการยึด อายัด และขอความอนุเคราะห์ให้สำนักงาน ปปง. จัดเก็บรักษาทรัพย์สินของ นาง ค. ไว้ก่อน อันเป็นการดำเนินการตามขั้นตอนในการขอให้ยึดทรัพย์สินของนาง ค. ผู้อยู่ในบังคับของมาตรการบังคับทางปกครองแล้ว
ส่วนการที่เจ้าหน้าที่จะขายทอดตลาดเมื่อใดนั้น เป็นขั้นตอนการดำเนินงานของเจ้าพนักงานบังคับทางปกครอง แม้เจ้าพนักงานบังคับทางปกครอง จะดำเนินการขายทอดตลาดทรัพย์สินดังกล่าวเกินกว่า 10 ปี ก็ถือได้ว่าสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขได้บังคับคดีตามคำสั่งภายใน 10 ปีแล้ว
แต่เนื่องจากการขายทอดตลาดทรัพย์สินที่ได้จากการบังคับทางปกครอง ตามกฎกระทรวงกำหนดขั้นตอนและวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการยึด การอายัด และการขายทอดตลาดทรัพย์สิน และกำหนดอำนาจของศาลในส่วนที่เกี่ยวกับการบังคับคดีให้เป็นอำนาจของหัวหน้าหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2565 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 23 เม.ย.2565 สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข จึงอาจดำเนินการขายทอดตลาดรถยนต์ของนาง ค. ตามกฎกระทรวงดังกล่าวได้
อย่างไรก็ตาม ปรากฎข้อเท็จจริงว่า หนังสือจังหวัดเพชรบูรณ์ ที่ พช 0032.009/9265 ลงวันที่ 10 มิ.ย.2557 แจ้งคำสั่งยึดให้สำนักงาน ปปง. ทราบ แต่มิได้แจ้งให้นาง ค. ซึ่งเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ใช้สิทธิอุทธรณ์โต้แย้งคำสั่งยึด ดังนั้น สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขจึงขอหารือในประเด็นดังต่อไปนี้
1.กรณีสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขโดยจังหวัดเพชรบูรณ์ออกคำสั่งยึดรถยนต์ 2 คัน ของนาง ค. ตามหนังสือจังหวัดเพชรบูรณ์ ที่ พช 0032.009/9265 ลงวันที่ 10 มิ.ย.2557 เรื่อง ขอยึด อายัด และขอความอนุเคราะห์ให้จัดเก็บรักษาทรัพย์สินของนาง ค. ไว้ก่อน เป็นคำสั่งยึดที่ชอบด้วยกฎหมายตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 หรือไม่
2.หากคำสั่งยึดตามหนังสือจังหวัดเพชรบูรณ์ ที่ พช 0032.009/9265 ลงวันที่ 10 มิ.ย.2557 เป็นคำสั่งยึดที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว การขายทอดตลาดรถยนต์ 2 คัน ดังกล่าว จะต้องดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายใน 10 ปี นับแต่วันที่หน่วยงานของรัฐออกคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ชดใช้เงินด้วยหรือไม่ ทั้งนี้ ตามมาตรา 271 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ซึ่งนำมาใช้บังคับโดยอนุโลมแก่การบังคับทางปกครอง
@ยึดทรัพย์ชดใช้ค่าเสียหาย ต้องแจ้งให้‘เจ้าของทรัพย์’ทราบ
คณะกรรมการวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองได้พิจารณาข้อหารือของสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข โดยมีผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข (สำนักงานปลัดกระทรวง) ผู้แทนสำนักงาน ปปง. และผู้แทนจังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นผู้ชี้แจงข้อเท็จจริงแล้ว ปรากฎข้อเท็จจริงเพิ่มเติมว่า
สำนักงาน ปปง. มีหนังสือลงวันที่ 30 ส.ค.2556 แจ้งโรงพยาบาลเพชรบูรณ์ว่า พนักงานเจ้าหน้าที่ได้มีการนำส่งรถยนต์กระบะจำนวน 1 คัน และรถยนต์เก๋งจำนวน 1 คันของนาง ค. ให้แก่พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเมืองเพชรบูรณ์ดำเนินการในคดีอาญาเพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้เสียหาย คือ โรงพยาบาลเพชรบูรณ์
แต่พนักงานสอบสวน ‘มิได้’ ยึดรถยนต์ไว้เป็นของกลางในคดีอาญา รวมถึงไม่มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาขอรับรถยนต์ไปเก็บรักษาไว้ ทำให้รถยนต์ทั้ง 2 คันยังอยู่ในความครอบครองของสำนักงาน ปปง. ต่อมาจังหวัดเพชรบูรณ์มีหนังสือลงวันที่ 10 มิ.ย.2557 ถึงสำนักงาน ปปง. ขอยึดรถยนต์สองคันของนาง ค.
โดยอาศัยอำนาจตามข้อ 1 (3) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 9 (พ.ศ.2542) ออกตามความใน พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 และขอความอนุเคราะห์ให้สำนักงาน ปปง. เก็บรักษาทรัพย์สินของนาง ค. ไว้ก่อน
ทั้งนี้ การเก็บรักษารถยนต์ทั้ง 2 คันของสำนักงาน ปปง. ภายหลังวันที่ 10 มิ.ย.2557 เป็นการดำเนินการตามหนังสือขอความอนุเคราะห์ มิใช่เป็นการยึดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน สำนักงาน ปปง. จึงมิได้มีการแจ้งให้เจ้าของทรัพย์สินทราบ
นอกจากนั้น จังหวัดเพชรบูรณ์ ก็มิได้แจ้งให้นาง ค. ซึ่งเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในรถยนต์และอยู่ภายใต้มาตรการบังคับทางปกครองทราบถึงการยึดรถยนต์ทั้ง 2 คันดังกล่าวเช่นกัน
คณะกรรมการวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองพิจารณาแล้ว เห็นว่า มีประเด็นที่ต้องพิจารณาเพียงประเด็นเดียวว่า กรณีที่มีการออกคำสั่งยีดรถยนต์สองคันของนาง ค. ตามหนังสือจังหวัดเพชรบูรณ์ ที่ พช 0032.009/9265 ลงวันที่ 10 มิ.ย.2557 โดยจังหวัดเพชรบูรณ์แจ้งคำสั่งยึดให้สำนักงาน ปปง. ทราบ
และขอความอนุเคราะห์ให้เก็บรักษาทรัพย์สินของนาง ค. ไว้ก่อน แต่มิได้แจ้งให้นาง ค. ซึ่งเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ทราบ จังหวัดเพชรบูรณ์จะต้องขายทอดตลาดรถยนต์ 2 คันดังกล่าว ให้เสร็จสิ้นภายใน 10 ปี นับแต่วันที่หน่วยงานของรัฐออกคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ชดใช้เงินด้วยหรือไม่
และมีความเห็นว่า ในการบังคับตามคำสั่งทางปกครองที่กำหนดให้ชำระเงิน มาตรา 57 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 กำหนดให้นำวิธีการยึด การอายัด และการขายทอดตลาดทรัพย์สินตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาปฏิบัติโดยอนุโลม ซึ่งจะต้องนำระยะเวลาการบังคับคดีตามมาตรา 271 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลมแก่การบังคับทางปกครองด้วย
โดยต้องดำเนินการบังคับให้เสร็จสิ้นภายใน 10 ปี นับแต่วันที่หน่วยงานของรัฐออกคำสั่งให้ชำระเงิน ตามที่คณะกรรมการวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองได้ให้ความเห็นเป็นแนวทางไว้ในเรื่องเสร็จที่ 494/2545
สำหรับกรณีตามที่หารือมานี้ จังหวัดเพชรบูรณ์มีหนังสือลงวันที่ 14 ต.ค.2548 และวันที่ 20 ต.ค.2548 เรียกให้นาง ค. รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ส่วนหนังสือจังหวัดเพชรบูรณ์ลงวันที่ 26 ธ.ค.2550 เป็นการแจ้งผลการพิจารณาความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ตามความเห็นของกรมบัญชีกลาง
และให้นาง ค. ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือ หากพ้นกำหนดดังกล่าวแล้วยังไม่ชำระ เจ้าหน้าที่จะดำเนินการใช้มาตรการบังคับทางปกครอง โดยการยึดหรืออายัดทรัพย์สินและขายทอดตลาดเพื่อชำระเงินให้ครบถ้วนตามมาตรา 7 แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 ต่อไป ซึ่งมีลักษณะเป็นหนังสือเตือนให้นาง ค. ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนภายในระยะเวลาที่กำหนดไม่น้อยกว่า 7 วันแล้ว
ต่อมา จังหวัดเพชรบูรณ์มีหนังสือลงวันที่ 10 มิ.ย.2557 ถึงสำนักงาน ปปง. ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐที่เก็บรักษาทรัพย์สินของนาง ค. ไว้ แจ้งว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ได้ยึดรถยนต์ทั้ง 2 คัน ของนาง ค. โดยอาศัยอำนาจตามข้อ 1 (3) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 9 (พ.ศ.2542) ออกตามความใน พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539
จึงเป็นการออกคำสั่งใช้มาตรการบังคับทางปกครองตามมาตรา 57 แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 ภายในระยะเวลา 10 ปี นับแต่วันที่หน่วยงานของรัฐออกคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแล้ว
อย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงปรากฎว่า จังหวัดเพชรบูรณ์หรือสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข มิได้แจ้งคำสั่งใช้มาตรการบังคับทางปกครองให้นาง ค. ทราบ อันเป็นการไม่ปฏิบัติตามมาตรา 303 (1) แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ก่อนการแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 30) พ.ศ. 2560 ซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะนั้นที่กำหนดว่า
การยึดสังหาริมทรัพย์มีรูปร่างของลูกหนี้ตามคำพิพากษาให้เจ้าพนักงานบังคับคดีนำเอาทรัพย์สินนั้นมาและฝากไว้ ณ สถานที่ใดหรือแก่บุคคลใดตามที่เห็นสมควร และแจ้งการยึดนั้นให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษาทราบ
ซึ่งการฝ่าฝืนบทบัญญัติดังกล่าว ลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือบุคคลภายนอก ผู้มีส่วนได้เสีย ในการบังคับคดีซึ่งต้องเสียหายเพราะเหตุดังกล่าว อาจยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอให้เพิกถอนหรือแก้ไขคำบังคับ หมายบังคับคดีหรือคำสั่งดังกล่าวทั้งหมดหรือบางส่วน หรือมีคำสั่งอย่างใดตามที่ศาลเห็นสมควรได้
ทั้งนี้ ตามมาตรา 296 วรรคหนึ่งและวรรคสาม แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 18) พ.ศ.2542 ซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น
และมาตรา 295 วรรคหนึ่งและวรรคสาม แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 30) พ.ศ.2560 ที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันก็บัญญัติในทำนองเดียวกัน
ดังนั้น คำสั่งดังกล่าว จึงไม่ชอบด้วยมาตรา 303 (1) แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง นาง ค. จึงอาจยื่นคำร้องต่อผู้ว่าราชการจังหวัดให้สั่งเพิกถอน หรือแก้ไขคำสั่งยึดรถยนต์ทั้ง 2 คันดังกล่าวในเวลาใดๆ ก่อนที่การบังคับคดีได้เสร็จสิ้นลงได้ แต่ต้องไม่ช้ากว่า 15 วันนับแต่วันที่นาง ค. ทราบ
เมื่อจังหวัดเพชรบูรณ์ได้ออกคำสั่งยึดรถยนต์ทั้ง 2 คันของนาง ค. อันเป็นการออกคำสั่งใช้มาตรการบังคับทางปกครองตามมาตรา 57 แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 ภายในระยะเวลา 10 ปีนับแต่วันที่หน่วยงานของรัฐออกคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแล้ว ทั้งนี้ ตามมาตรา 271 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
จังหวัดเพชรบูรณ์ จึงชอบที่จะดำเนินการบังคับทางปกครอง โดยการขายทอดตลาดทรัพย์สิน เพื่อนำเงินมาชำระค่าสินไหมทดแทนต่อไปจนแล้วเสร็จได้ เว้นแต่นาง ค. จะยื่นคำร้องดังกล่าวข้างต้นก่อนการขายทอดตลาดซึ่งเป็นเวลาที่การบังคับคดีเสร็จสิ้นลง
ดังนั้น หากจังหวัดเพชรบูรณ์จะดำเนินการให้ชอบด้วยมาตรา 303 (1) แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ก็อาจแจ้งคำสั่งยึดให้นาง ค. ทราบทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ หรือไปรษณีย์ด่วนพิเศษในประเทศ หรือปิดเอกสารไว้ในที่แลเห็นได้ง่าย ณ ภูมิลำเนา หรือสำนักทำการงานของผู้นั้น
หรือมอบหมายเอกสารไว้แก่พนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจแล้วปิดประกาศ แสดงการที่ได้มอบหมายดังกล่าวหรือลงโฆษณา หรือทำวิธีอื่นใดตามที่เห็นสมควร ทั้งนี้ ตามมาตรา 280 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
@ขั้นตอนยึดทรัพย์ล่าช้า‘เกินสมควร’ทำให้รัฐเสียหาย
อนึ่ง คณะกรรมการวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองมีข้อสังเกตว่า กรณีตามที่หารือมานี้ปรากฏการกระทำความผิดตั้งแต่ปี พ.ศ.2543 และมีการหารือมาในปี พ.ศ.2566 ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ยาวนานถึง 23 ปี แม้ว่าจะมีการสอบสวนหาข้อเท็จจริงเพื่อรวบรวมเอกสารหลักฐานการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ การออกคำสั่งเรียกให้เจ้าหน้าที่ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน รวมถึงการใช้มาตรการบังคับตามคำสั่งดังกล่าว
แต่จนกระทั่งปัจจุบันหน่วยงานของรัฐ ยังไม่สามารถดำเนินการเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ เพื่อให้ได้รับชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้ครบถ้วนได้
อีกทั้งในแต่ละขั้นตอน หน่วยงานของรัฐใช้ระยะเวลามากเกินสมควร ซึ่งความล่าช้าดังกล่าว ทำให้ทรัพย์สินที่ยึดหรืออายัดไว้เพื่อการขายทอดตลาดเสื่อมค่า เสื่อมราคา ยังความเสียหายให้แก่หน่วยงานของรัฐ ที่จะไม่ได้รับชำระค่าสินไหมทดแทนให้ครบถ้วนทำให้ต้องยึดหรืออายัดทรัพย์สินเพิ่มเติม รวมถึงความเสี่ยงที่คดีจะขาดอายุความทำให้ไม่อาจใช้สิทธิเรียกร้องได้
สมควรที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) จะมีมติกำหนดกรอบระยะเวลาการดำเนินการเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ในแต่ละขั้นตอนให้ชัดเจน เพื่อให้การดำเนินการมีประสิทธิภาพและเป็นไปตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ดังนี้
1.หน่วยงานของรัฐต้องแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ภายใน 60 วันนับแต่ทราบความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อหน่วยงานของรัฐ เว้นแต่มีหน่วยงานของรัฐหลายหน่วยได้รับความเสียหาย การดำเนินการดังกล่าวต้องกระทำภายใน 120 วัน นับแต่ทราบความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อหน่วยงานของรัฐ
2.หน่วยงานของรัฐต้องออกคำสั่งให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนภายในกำหนดเวลาตามข้อ 1 นับแต่วันที่ได้รับความเห็นของคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่หรือกระทรวงการคลัง แล้วแต่กรณี
3.กระทรวงการคลังต้องพิจารณาเรื่องที่หน่วยงานของรัฐส่งมาตามระเบียบ สำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 ให้แล้วเสร็จ และแจ้งให้หน่วยงานของรัฐทราบเพื่อถือปฏิบัติ ภายใน 120 วันนับแต่วันที่ได้รับเรื่องจากหน่วยงานของรัฐ
4.หน่วยงานของรัฐต้องเริ่มดำเนินการบังคับทางปกครองภายในกำหนดเวลาตามข้อ 1 นับแต่วันที่ครบกำหนดเวลาที่แจ้งเตือนให้ชำระค่าสินไหมทดแทนและผู้อยู่ในบังคับของคำสั่งให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนไม่ปฏิบัติตาม
เหล่านี้เป็นรายละเอียดของ บันทึกฯ เรื่อง การใช้มาตรการบังคับทางปกครองโดยการขายทอดตลาดทรัพย์สินที่ยึด โดยไม่แจ้งผู้อยู่ในบังคับของมาตรการทางปกครอง’ ก่อนที่ ครม.จะมีมติให้ ‘หน่วยงานของรัฐ’ ปฏิบัติตามข้อเสนอของ ‘คณะกรรมการวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง’ ในเรื่องการกำหนดกรอบระยะเวลาการดำเนินการเกี่ยวกับ ‘ความรับผิดทางละเมิด’ ของเจ้าหน้าที่ในแต่ละขั้นตอน ครั้งนี้!
อ่านประกอบ :
ตีกรอบเวลา‘หน่วยงานรัฐ’ออกคำสั่ง‘จนท.’ชดใช้สินไหมฯ‘ความรับผิดทางละเมิด’-บังคับทางปกครอง