"...2 กรณีดังกล่าว กำลังย้อนกลับมาทิ่มแทง ‘ปดิพัทธ์’ โดยเฉพาะกรณีการโพสต์ภาพเบียร์ ที่ถูกยื่นสารพัดหน่วยงานให้ตรวจสอบ โดยเฉพาะในชั้นคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่ให้ไต่สวนเรื่องผิดจริยธรรมหรือไม่ ว่ากันว่าคดีนี้งวดเข้าไปทุกขณะแล้ว เนื่องจากความผิดสำเร็จครบถ้วน จึงไม่ต้องสืบหาพยานหลักฐานเพิ่มเติมอีก..."
ISRA-SPECIAL : ประเด็นร้อนแรงทางการเมืองในห้วงสัปดาห์ที่ผ่านมา หนีไม่พ้นกรณี ‘พรรคก้าวไกล’ มีมติขับ ‘หมออ๋อง’ ปดิพัทธ์ สันติภาดา สส.พิษณุโลก เขต 1 และรองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 ออกจากสมาชิกพรรค
การกระทำดังกล่าวของ ‘ก้าวไกล’ ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากแวดวงการเมือง รวมถึงสาธารณชนบางส่วน เนื่องจากโดนมองว่า เป็นการเล่นเกมการเมืองแบบ ‘2 ขา’
ขาหนึ่ง พรรคก้าวไกลต้องการสวม ‘หัวโขน’ เป็น ‘ผู้นำฝ่ายค้าน’ ในสภาฯ ซึ่งตามรัฐธรรมนูญ 2560 บัญญัติห้ามมิให้พรรคที่เป็นผู้นำฝ่ายค้านมี สส.หรือสมาชิกพรรค ดำรงตำแหน่งในรัฐบาล หรือประธานสภาฯ หรือรองประธานสภาฯ
อีกขาหนึ่ง ‘ปดิพัทธ์’ ก็ต้องการนั่งเก้าอี้รองประธานสภาฯ ต่อ ฉากหน้าอ้างขับเคลื่อนงานปฏิรูป ‘สภาโปร่งใส’ แต่หลังฉากหลายคนทราบดีว่า เพื่อเป็น ‘ไม้ค้ำ’ ในกระบวนการนิติบัญญัติของ ‘พลพรรคสีส้ม’
ทำให้เจ้าตัวเบนเข็นไปสังกัดพรรคร่วมฝ่ายค้านพรรคอื่น คือ ‘พรรคเป็นธรรม’
โดยในวันเปิดตัวกับพรรคเป็นธรรม ไม่ได้มีการปฏิเสธว่า ในอนาคตจะย้ายกลับพรรคก้าวไกลอีกครั้ง
อย่างไรก็ดีประเด็นนี้กลายเป็นหนึ่งในชนักปักหลัง ‘ปดิพัทธ์-ก้าวไกล’ เพราะโดนมือดีแห่งพระนคร ‘ศรีสุวรรณ จรรยา’ นักร้องดัง นำเรื่องไปยื่นต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อให้ตรวจสอบแล้ว
ศรีสุวรรณ เห็นว่า การกระทำดังกล่าวของพรรคก้าวไกล และนายปดิพัทธ์ เข้าข่ายขัดข้อบังคับพรรคก้าวไกล และ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 ที่นายทะเบียนพรรคการเมืองสามารถเสนอความเห็นให้ กกต.ส่งศาลรัฐธรรมนูญสั่งวินิจฉัยยุบพรรคได้ตามมาตรา 92 (3)
เขายกตัวอย่างที่น่าสนใจคือ คำแถลงของพรรคก้าวไกลต่อกรณีดังกล่าวระบุชัดว่านายปดิพัทธ์ ไม่ได้มีความผิดอะไร เพียงแต่พรรคต้องการให้หัวหน้าพรรคคนใหม่ได้เป็นผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร และนายปดิพัทธ์ก็ต้องการดำรงตำแหน่งรองประธานสภาฯต่อไป เมื่อผลประโยชน์ 2 ฝ่ายไม่ตรงกัน จึงให้นายปดิพัทธ์ ออกจากการเป็นสมาชิก การกระทำดังกล่าวจึงเข้าข่ายเอื้อประโยชน์ หรือกระทำการเพื่อให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์ และตำแหน่ง ซึ่งเป็นข้อห้ามตามมาตรา 46 พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองอย่างชัดเจน และมีบทลงโทษที่รุนแรงตามมาตรา 92(3) ซึ่งกกต.สามารถเสนอศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งยุบพรรคได้
หากย้อนดูไทม์ไลน์ก่อนหน้านี้ จะเห็นได้ว่า ‘ปดิพัทธ์’ มิได้ถูกพรรคตั้งคณะกรรมการสอบวินัยแต่อย่างใด นอกจากนี้ ‘ปดิพัทธ์’ เองก็เป็นหนึ่งในคณะกรรมการสอบวินัยของพรรคด้วยซ้ำ
ขณะที่ข้อบังคับของพรรคก้าวไกล ไม่มีข้อใดระบุเลยว่า สามารถขับ ‘หมออ๋อง’ ออกได้ ในเหตุผลลักษณะที่อ้างว่า พรรคต้องการเป็นผู้นำฝ่ายค้าน?
อีกชนักหนึ่งของ ‘ปดิพัทธ์’ ซึ่งกระแสซาลงไปแล้วคือ กรณีการโพสต์ภาพ ‘เบียร์’ ยี่ห้อหนึ่งผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย ช่วงปลายเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา
ประเด็นนี้โดนวิจารณ์อย่างหนักว่า การกระทำดังกล่าวเข้าข่ายฝ่าฝืน พ.ร.บ.เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฯ หรือไม่ จนสุดท้ายมีผู้ยื่นเรื่องร้องทุกข์กล่าวโทษต่อสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) พิษณุโลก ต่อ สส.ปดิพัทธ์ ที่โพสต์โฆษณาดราฟต์เบียร์ผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย
กลุ่ม สสจ.พิษณุโลกได้ตรวจสอบทั้งเอกสาร คลิปวิดีโอ และภาพจากเฟซบุ๊กของนายปดิพัทธ์ รวมทั้งอินสตาแกรม และ TikTok มาประกอบการพิจารณาประเด็นว่า จะเป็นการฝ่าฝืนการโฆษณาผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตามกฎหมายควบคุมผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือไม่
อย่างไรก็ดี ‘หมออ๋อง’ เดินทางมาพบ สสจ.พร้อมแจ้งว่า จากพยานหลักฐาน ข้อเท็จจริง ยินยอมให้ดำเนินการตามกฎหมาย มีโทษตามมาตรา 43 อัตราโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ กรณีดังกล่าวถือว่าเป็นการกระทำความผิดครั้งแรก จะมีโทษปรับ 50,000 บาท
โดยกฎหมายให้อำนาจคณะอนุกรรมการเปรียบเทียบจังหวัด ประกอบด้วย อัยการจังหวัด ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด เป็นผู้พิจารณา และเมื่อผู้กระทำความผิดได้เสียค่าปรับแล้ว ให้ถือว่าคดีเลิกกัน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
เท่ากับว่า ‘หมออ๋อง’ ยอมรับว่าได้กระทำผิดดังกล่าวจริง การชำระค่าปรับ ทำให้ความผิดสำเร็จแล้ว
ทั้ง 2 กรณีดังกล่าว กำลังย้อนกลับมาทิ่มแทง ‘ปดิพัทธ์’ โดยเฉพาะกรณีการโพสต์ภาพเบียร์ ที่ถูกยื่นสารพัดหน่วยงานให้ตรวจสอบ โดยเฉพาะในชั้นคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่ให้ไต่สวนเรื่องผิดจริยธรรมหรือไม่
ว่ากันว่าคดีนี้งวดเข้าไปทุกขณะแล้ว เนื่องจากความผิดสำเร็จครบถ้วน จึงไม่ต้องสืบหาพยานหลักฐานเพิ่มเติมอีก
ท่ามกลางกระแสข่าวสะพัด ‘สัปปายะสภาสถาน’ ว่า พรรคฝ่ายรัฐบาลกำลังเดินเกมกดดันเอาเก้าอี้ ‘ประธานสภาฯ’ ให้กับ ‘สุชาติ ตันเจริญ’ ที่หมายมั่นปั้นมือมาก่อนหน้านี้ แต่ต้อง ‘อกหัก’ ซ้ำซ้อน เนื่องจากในช่วงเวลาดังกล่าว ‘ก้าวไกล’ ยังเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลอยู่
แต่ตอนนี้ ‘ไทม์มิ่ง’ ถึงแล้ว ในเมื่อพรรคก้าวไกลเป็นฝ่ายค้าน และพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลแทน สมการการเมืองเปลี่ยนไป ข้อตกลงหรือ MOU ต่าง ๆ สมัยก้าวไกลเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลถูกฉีกทิ้งหมดสิ้น
สุชาติ ตันเจริญ/ภาพจากเฟซบุ๊ก สุชาติ ตันเจริญ
ดังนั้นจึงมีความพยายามเดินเกมจากฝ่ายรัฐบาลดัน ‘สุชาติ’ เป็นประธานสภาฯ โดย ‘วันมูหะมัดนอร์ มะทา’ จะลาออกจากตำแหน่ง เนื่องจากพรรคประชาชาติ ได้โควตารัฐมนตรีแล้ว 1 เก้าอี้ เป็นไปตาม MOU ใหม่ แต่ติดเงื่อนไขตรงรองประธานสภาฯ คนที่ 1 ซึ่งพรรครัฐบาลจะยกให้ ‘ภูมิใจไทย’ ทว่า ‘ปดิพัทธ์’ ยังไม่ยอมลาออกจากเก้าอี้ เพราะ ‘ก้าวไกล’ เดินเกม ‘2 ขา’ ข้างต้น
หากเป็นช่วงสถานการณ์ปกติเกมนี้คงยากที่จะผลักดันได้ แต่ในเมื่อ ‘หมออ๋อง’ มีชนักปักหลังถึง 2 กรณี เท่ากับว่าฝ่ายรัฐบาลกำลังได้เปรียบ และมีแนวโน้มสูงจะทำได้
รอเพียงแค่วัน ว. เวลา น. ที่ ‘ปดิพัทธ์’ จะพ้นเก้าอี้ ไม่กรณีใดก็กรณีหนึ่งเท่านั้น
หมายเหตุ : ภาพประกอบ ปดิพัทธ์ สันติภาดา จากเพจ Padipat Suntiphada - ปดิพัทธ์ สันติภาดา
อ่านประกอบ :
- บ.สุราแช่ในจ.ฉะเชิงเทรา-พล.อ.หุ้นใหญ่ เป็นผู้ผลิตเบียร์ จ.พิษณุโลกที่‘ปดิพัทธ์’โพสต์เชียร์
- ‘ปดิพัทธ์’ แจงเป็นแค่ลูกค้าคราฟท์เบียร์ ยังไม่สะดวกคุย ‘อิศรา’
- เปิดตัว บ.เบียร์พิษณุโลก ที่‘ปดิพัทธ์’ โพสต์ภาพโชว์-ผู้ถือหุ้นใหญ่ ไม่สะดวกแจงสินค้าใคร?
- ISRA-WHY? : เปิดอกคุยเจ้าของร้านคราฟเบียร์พิษณุโลก ยัน 'ปดิพัทธ์' แค่ลูกค้าเท่านั้น