"...หากผู้ฟ้องคดีได้ทำการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการให้คะแนนสอบคัดเลือกดังกล่าว ย่อมจะต้องพบความผิดปกติในการให้คะแนนสอบที่ไม่ตรงกับเนื้อหาในกระดาษคำตอบตั้งแต่ต้น การที่ผู้ฟ้องคดีไม่ดำเนินการตรวจสอบเรื่องดังกล่าว จึงผิดวิสัยและพฤติการณ์ของผู้ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมการปกครองเช่นผู้ฟ้องคดีพึงกระทำ..."
การลงโทษไล่ออกราชการ นายวงศ์ศักดิ์ สวัสดิพาณิชย์ กรณีการทุจริตการคัดเลือกข้าราชการเพื่อเข้าศึกษาอบรมหลักสูตรนายอำเภอ เป็นการใช้ดุลพินิจที่เหมาะสมและเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว
คือ บทสรุปคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ที่ตัดสินยกฟ้อง ในคดีหมายเลขดำที่ ฟบ.12/2559 ระหว่าง นายวงศ์ศักดิ์ สวัสดิพาณิชย์ ผู้ฟ้องคดี กับ คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม กับพวกรวม 3 คน (ผู้ถูกฟ้องคดี) คดีที่มีกฎหมายกำหนดให้อยู่ในอำนาจศาลปกครองสูงสุด ตามมาตรา 116 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551) กรณีการออกคำส่งลงโทษไล่ออกราชการ นายวงศ์ศักดิ์ สวัสดิพาณิชย์ จากคดีทุจริตการคัดเลือกข้าราชการเพื่อเข้าศึกษาอบรมหลักสูตรนายอำเภอ ปี 2552 ที่สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) นำมาเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบไปแล้ว
ต่อไปนี้ เป็นรายละเอียดในคำพิพากษาตัดสินคดีนี้ ของศาลปกครองสูงสุด ซึ่งมีเนื้อหาสำคัญบางส่วนเกี่ยวกับพฤติการณ์การกระทำความผิดของนายวงศ์ศักดิ์ สวัสดิพาณิชย์ และผู้เกี่ยวข้อง กรณีการทุจริตการคัดเลือกข้าราชการเพื่อเข้าศึกษาอบรมหลักสูตรนายอำเภอ อันเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในคดีนี้
สำนักข่าวอิศรา สรุปเรียบเรียงข้อมูลมานำเสนอ ณ ที่นี้
คดีหมายเลขดำที่ ฟบ.12/2559
คดีหมายเลขแดงที่ ฟบ.39/2566
ระหว่าง นายวงศ์ศักดิ์ สวัสดิ์พาณิชย์ ผู้ฟ้องคดี
คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม ที่ 1
คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ที่ 2
ปลัดกระทรวงมหาดไทย ที่ 3
ผู้ถูกฟ้องคดี
เรื่อง คดีที่มีกฎหมายกำหนดให้อยู่ในอำนาจศาลปกครองสูงสุด
ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่า เดิมผู้ฟ้องคดีเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ ตำแหน่งอธิบดีกรมการปกครองเมื่อปี พ.ศ. 2552 กรมการปกครองได้มีการเปิดสอบคัดเลือกข้าราชการเพื่อเข้าศึกษาอบรมหลักสูตรนายอำเภอ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2552 จำนวน 3 รุ่น ได้แก่ รุ่นที่ 68 รุ่นที่ 69 และรุ่นที่ 70 โดยได้มีการร้องเรียนว่าการคัดเลือกข้าราชการเพื่อเข้าศึกษาอบรมหลักสูตรนายอำเภอดังกล่าวมีการทุจริตการสอบ
ต่อมา คณะกรรมการ ป.ป.ช. (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) ได้ไต่สวนข้อเท็จจริงแล้วมีมติในการประชุมครั้งที่ 531-96/2556 เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2556 ว่า การกระทำของผู้ฟ้องคดีมีมูลความผิดวินัยอย่างร้ายแรงฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยทุจริต และฐานกระทำการอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ตามมาตรา 85 (1) (4) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551
และมีมูลความทางอาญา ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยทุจริตฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ทำเอกสารกรอกข้อความลงในเอกสารหรือดูแลรักษาเอกสาร กระทำการปลอมเอกสารโดยอาศัยโอกาสที่ตนมีหน้าที่นั้น และฐานเป็นเจ้าพนักงานทำเอกสาร รับเอกสาร หรือกรอกข้อความลงในเอกสาร กระทำการรับรองเป็นหลักฐานว่า ตนได้กระทำการอย่างใดขึ้น หรือว่าการอย่างใดได้กระทำต่อหน้าตนอันเป็นเท็จและรับรองเป็นหลักฐาน ซึ่งข้อเท็จจริงอันเอกสารนั้นมุ่งพิสูจน์ความจริงอันเป็นความเท็จ ตามมาตรา 157 มาตรา 161 และมาตรา 162 (1) (4) แห่งประมวลกฎหมายอาญา
@ ศาลรับฟังข้อเท็จจริง
ข้อเท็จจริงในคดีรับฟังได้ว่า กรมการปกครอง เป็นส่วนราชการที่สังกัดกระทรวงมหาดไทย มีอธิบดีกรมการปกครองเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการและรับผิดชอบการปฏิบัติราชการในกรมการปกครองให้เป็นไปตามนโยบาย แนวทาง และแผนการปฏิบัติราชการของกระทรวงมหาดไทยหรือตามที่มีกฎหมายกำหนดหน้าที่และให้อำนาจไว้ตามมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติปรับปรุง กระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 ประกอบมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ซึ่งกรมการปกครองมีภารกิจหน้าที่ที่สำคัญอย่างหนึ่ง คือ การพัฒนาข้าราชการให้มีความรู้ ความสามารถ มีพฤติกรรมที่สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และจัดการศึกษาอบรมให้แก่ข้าราชการเพื่อเตรียมความพร้อมในการรับตำแหน่งหรือเสื่อนระดับสูงขึ้น ซึ่งรวมถึงการศึกษาอบรมข้าราชการที่จะได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนายอำเภอด้วย
ผู้ฟ้องคดีในฐานะอธิบดีกรมการปกครองซึ่งมีอำนาจหน้าที่เป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการและรับผิดชอบการปฏิบัติราชการในกรมการปกครอง จึงได้มีประกาศกรมการปกครอง ลงวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2552 รับสมัครข้าราชการเพื่อคัดเลือกเข้าศึกษาอบรมหลักสูตรนายอำเภอ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2552 ระหว่างวันที่27 เมษายน 2552 ถึงวันที่ 25 กันยายน 2552 เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับผู้ที่จะได้รับการเลื่อนตำแหน่งและแต่งตั้งเป็นนายอำเภอ ซึ่งผลการคัดเลือกปรากฎว่า มีข้าราชการได้รับการคัดเลือก จำนวน286 คน แบ่งเป็น 3 รุ่น คือ รุ่นที่ 68 จำนวน 96 คน รุ่นที่ 69 จำนวน 96 คน และรุ่นที่ 70 จำนวน 94 คน
@ มีคนร้องว่าการสอบนายอำเภอมีการทุจริต
แต่ในระหว่างการศึกษาอบรมหลักสูตรนายอำเภอดังกล่าว ได้มีผู้ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ว่า การสอบคัดเลือกเพื่อเข้าศึกษาอบรมหลักสูตรนายอำเภอ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2552 มีการทุจริตเกิดขึ้นมีขบวนการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้เข้าสอบ ที่มีรายชื่อตามใบฝากหรือโผฝากประมาณ 150 รายชื่อ และหลายรายมีการเรียกรับเงิน 700,000 บาท ถึง 800,000 บาท เพื่อแลกเปลี่ยนกับการช่วยเหลือให้สามารถเข้าศึกษาอบรมหลักสูตรนายอำเภอดังกล่าวได้ และเมื่อได้ประกาศผลการสอบแล้ว ก็เป็นไปตามใบฝากหรือโผฝาก มีผู้สอบได้ที่ปฏิบัติงานอยู่ในจังหวัดบุรีรัมย์จำนวนมากถึง 17 คน มีผู้สอบได้เป็นเลขานุการของผู้ฟ้องคดี 2 คน คือ นายคิม เปรมปรี กับว่าที่ร้อยตรี ธีระพล โชคนำ และเป็นปลัดอำเภอ ผู้ติดตามภรรยาของผู้ฟ้องคดีอีก 2 คน
@ ชื่อชวรัตน์-ศักดิ์สยาม ถูกกล่าวหาเอี่ยวขบวนการทุจริตการสอบ
นอกจากนั้น ยังมีผู้ผ่านการสอบคัดเลือกบางรายที่มีคุณสมบัติไม่ครบถ้วนด้วย โดยผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการทุจริตดังกล่าว ได้แก่
นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ตำแหน่งหัวหน้าคณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
นายชาติชาย อุทัยพันธ์ ตำแหน่งผู้ตรวจราชการกรมการปกครอง
ผู้ฟ้องคดี ตำแหน่งอธิบดีกรมการปกครอง
นายครรชิต สลับแสง ตำแหน่งเลขานุการกรมการปกครอง
นายวุฒิชัย เสาวโกมุท ตำแหน่งผู้อำนวยการกองการเจ้าหน้าที่
นายพิเนตร เลิศเขมทัต ตำแหน่งหัวหน้ากลุ่มบรรจุและแต่งตั้ง
นายวีระเดช วิภูษาภรณ์ ตำแหน่งหัวหน้ากลุ่มแผนอัตรากำลังและการพัฒนาระบบงาน
ขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ตรวจสอบข้อเท็จจริงและดำเนินการทางวินัยหรือคดีอาญากับผู้ที่เกี่ยวข้องดังกล่าว
@ การแต่งตั้งข้าราชการระดับ 6-7 เพื่อให้มีคุณสมบัติเข้าศึกษาอบรมหลักสูตรนายอำเภอไม่ปรากฏว่ามีมูลความจริง
ต่อมา ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ในการประชุมครั้งที่ 111- 36/2552 เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2552 มีมติให้รับเรื่องร้องเรียนไว้พิจารณาและได้ไต่สวนข้อเท็จจริงโดยมีผู้ถูกกล่าวหารวม 146 คน ซึ่งผู้ถูกกล่าวหาได้ให้การแก้ข้อกล่าวหาและนำพยานบุคคลรวมทั้งพยานหลักฐานต่างๆ มาสืบแก้ข้อกล่าวหาแล้ว ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ในการประชุมครั้งที่ 15- 6/2556 เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2556 และในการประชุมครั้งที่ 522- 87/2556 เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2556 พิจารณาคำให้การของผู้ถูกกล่าวหาแล้วเห็นว่า ผู้ถูกกล่าวหาบางรายได้ให้การที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินคดี
ดังนั้นเพื่อให้สามารถดำเนินคดีตัวการสำคัญได้ จึงมีมติให้กันผู้ถูกกล่าวหา จำนวน 21 คน ไว้เป็นพยาน ได้แก่ นายวุฒิชัย เสาวโกมุท ผู้อำนวยการกองการเจ้าหน้าที่ กับผู้เข้าสอบอีก 20 คน คือ นายนิพัฒน์ ปรีศิริ นายสุริยนต์ ดอนสมจิตร นายทรงกลด พึ่งสอนรักษ์ นายสมชาย วงศ์จริยะเกษม นายขวัญชัย เนื่องจำนง นายวชิระ โชติรสเศรณี นางสาววารุณี สุดหล้า นายประธาน ภู่ธนะพิบูล นายชุมพล ศิริครินทร์ นายอัครพันธุ์ พูลศิริ นางจันทร์จิรา กามนต์ นายสรวิศ กุลภัทรากร นางเสาวดี ศิลปะ นายอรรถการณ์ จิตถวิล นายธีรเดช โปสพันธุ์ นายนรินทร์ อร่ามโชติ นางสุปราณี รุ่งธีระ นายพีรัช จันธิมา นายศุภชัย ช่วยชู และนายนพพร เรืองสว่าง
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 รวบรวมพยานหลักฐานจากการไต่สวนข้อเท็จจริงแล้ว ได้ความว่า กรณีข้อกล่าวหาที่ว่า มีการออกคำสั่งกรมการปกครองที่ 158/2552 ลงวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2552 และคำสั่งกรมการปกครองที่159/2552 ลงวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2552 แต่งตั้งข้าราชการระดับ 7 และระดับ 6 เพื่อให้มีคุณสมบัติเข้าศึกษาอบรมหลักสูตรนายอำเภอโดยมิชอบนั้น ข้อกล่าวหาดังกล่าวไม่ปรากฎว่ามีมูลความจริง
@วงศ์ศักดิ์ สวัสดิ์พาณิชย์
@ แจงข้อเท็จจริงกรณีกล่าวหาเรียกรับเงิน-ช่วยเหลือผู้เข้าสอบ
ส่วนกรณีข้อกล่าวหาว่า มีการเรียกรับเงินจากผู้เข้าสอบและช่วยเหลือผู้เข้าสอบจำนวน 150 คนให้ผ่านการสอบคัดเลือก นั้น ปรากฎข้อเท็จจริงว่า ผู้ฟ้องคดีได้มีคำสั่งกรมการปกครองที่ 135/2552 ลงวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2552 แต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินการคัดเลือกข้าราชการเพื่อเข้าศึกษาอบรมหลักสูตรนายอำเภอ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2552 ให้มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการคัดเลือกข้าราชการเข้าศึกษาในหลักสูตรดังกล่าว ประกอบด้วย
นายสุรพล ภาษิตนิรันดร์ รองอธิบดีกรมการปกครอง กลุ่มภารกิจด้านการบริหารงานปกครอง เป็นประธานกรรมการ
นายวุฒิชัย เสาวโกมุท ผู้อำนวยการกองการเจ้าหน้าที่
นายสุรพล สุวรรณานนท์ หัวหน้ากลุ่มงานวินัยหัวหน้ากลุ่มงานบรรจุและแต่งตั้งเป็นกรรมการ
นายวีรเดช วิภูษาภรณ์ หัวหน้ากลุ่มงานวางแผนอัตรากำลังและพัฒนาระบบงาน เป็นกรรมการและเลขานุการ
ต่อมา ผู้ฟ้องคดีได้มีคำสั่งกรมการปกครองที่ 205/2552 ลงวันที่ 9 มีนาคม 2552 แต่งตั้งกรรมการออกข้อสอบอัตนัย ได้แก่ ภาคความรู้ความสามารถทั่วไปแต่งตั้งนายวุฒิชัย สาวโกมุท ผู้อำนวยการกองการเจ้าหน้าที่ กับนายครรชิต สลับแสง เลขานุการกรมส่วนภาคความรู้ความสามารถที่ใช้เฉพาะตำแหน่งแต่งตั้ง นายสำราญ ตันเรืองศรี ผู้อำนวยการส่วนกำนันผู้ใหญ่บ้าน โดยข้อสอบของผู้ใดได้รับการคัดเลือก ผู้นั้นจะเป็นผู้ตรวจข้อสอบและผู้ฟ้องคดีได้มีคำสั่งกรมการปกครองที่ 206/2552 ลงวันที่ 9 มีนาคม 2552 แต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกข้อสอบอัตนัย ประกอบด้วย
ผู้ฟ้องคดี เป็นประธานกรรมการ
นายสุรพลภาษิตนิรันดร์ รองอธิบดีกรมการปกครอง
นายนิรันดร์ กัลยาณมิตร รองอธิบดีกรมการปกครอง เป็นกรรมการ
นายวุฒิชัย เสาวโกมุท ผู้อำนวยการกองการเจ้าหน้าที่ เป็นกรรมการและเลขานุการ
นายวีรเดช วิภูษาภรณ์ หัวหน้ากลุ่มงานวางแผนอัตรากำลังและพัฒนาระบบงาน เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ
และมีคำสั่งกรมการปกครองที่ 207/2552 ลงวันที่ 9 มีนาคม 2552 แต่งตั้งคณะกรรมการเก็บรักษาโจทย์ข้อสอบอัตนัย ประกอบด้วยนายวุฒิชัย เสาวโกมุท ผู้อำนวยการกองการเจ้าหน้าที่ เป็นประธานกรรมการนายวีรเดช วิภูษาภรณ์ หัวหน้ากลุ่มงานวางแผนอัตรากำลังและพัฒนาระบบงาน นายสุรพล สุวรรณานนท์หัวหน้ากลุ่มงานวินัย เป็นกรรมการ นายอรรถพันธ์ สงวนเสริมศรี เป็นกรรมการและเลขานุการ
โดยกรมการปกครองได้ว่าจ้างโรงพิมพ์อาสารักษาดินแดน จัดพิมพ์สมุดกระดาษคำตอบปกสีเหลืองสำหรับใช้ในการสอบวิชาภาคความรู้ความสามารถทั่วไป (อัตนัย) จำนวน 1,900 เล่ม และปกสีชมพูสำหรับใช้ในการสอบวิชาความรู้ความสามารถที่ใช้เฉพาะตำแหน่ง (อัตนัย) จำนวน 1,900 เล่ม แต่โรงพิมพ์อาสารักษาดินแดนได้ส่งมอบสมุดกระดาษคำตอบสีละ 2,050 เล่ม
ต่อมาประมาณวันที่ 16 ถึงวันที่ 20 มีนาคม 2552 ผู้ฟ้องคดีได้ได้เชิญนายวุฒิชัย เสาวโกมุท ผู้อำนวยการกองการเจ้าหน้าที่ เข้าไปพบที่ห้องทำงานของผู้ฟ้องคดีและแจ้งว่า ผู้มีอำนาจทางการเมืองในกระทรวงมหาดไทยได้สั่งการผ่านทางนายครรชิต สลับแสง เลขานุการกรมและได้มอบรายชื่อผู้เข้าสอบประมาณ 150 คนมาให้ โดยบุคคลตามรายชื่อดังกล่าวจะต้องได้รับการคัดเลือกเข้าศึกษาอบรมหลักสูตรนายอำเภอ นายวุฒิชัยเห็นว่าเป็นคำสั่งของผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาที่ตนไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ จึงได้ตกลงทำตามคำสั่งของผู้ฟ้องคดีโดยได้หารือร่วมกันกับผู้ฟ้องคดีว่า ในการออกข้อสอบ จะนำข้อสอบที่นายวุฒิชัยเป็นผู้ออกข้อสอบในวิชาความรู้ความสามารถทั่วไปมาใช้เป็นข้อสอบเพื่อความสะดวกในการให้คะแนนช่วยเหลือผู้เข้าสอบตามรายชื่อ 150 คน และจะให้นายสำราญ ตันเรืองศรี ผู้อำนวยการส่วนกำนันผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งเป็นผู้ออกข้อสอบในวิชาความรู้ความสามารถที่ใช้เฉพาะตำแหน่งช่วยเหลือในการให้คะแนนแก่บุคคลตามรายชื่อดังกล่าวด้วย
ต่อมา เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2552 ได้มีการประชุมคัดเลือกข้อสอบ ณ ห้องทำงานของผู้ฟ้องคดี มีผู้เข้าประชุม ได้แก่
ผู้ฟ้องคดี
นายสุรพล ภาษิตนิรันดร์ รองอธิบดีกรมการปกครอง
นายวุฒิชัย เสาวโกมุท ผู้อำนวยการกองการเจ้าหน้าที่
นายวีรเดช วิภูษาภรณ์ หัวหน้ากลุ่มงานวางแผนอัตรากำลังและพัฒนาระบบงาน
ส่วนนายนิรันดร์ กัลยาณมิตร รองอธิบดีกรมการปกครอง ไม่ได้เข้าร่วมประชุม
โดยที่ประชุมมีมติเลือกข้อสอบที่นายวุฒิชัยและนายสำราญ เป็นผู้ออกข้อสอบ แต่ได้มีการปรับปรุงคำถามที่นายสำราญเป็นผู้ออกเล็กน้อย
@ ไม่พบการทุจริตในการตรวจข้อสอบปรนัย
ต่อมา เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2552 ซึ่งเป็นวันสอบข้อเขียน ได้มีการนำข้อสอบทั้ง 2 ข้อดังกล่าว มาจัดพิมพ์เป็นข้อสอบอัตนัยโดยภาควิชาความรู้ความสามารถทั่วไปใช้สมุดคำตอบปกสีเหลือง ภาควิชาความรู้ความสามารถเฉพาะตำแหน่งใช้สมุดคำตอบปกสีชมพู หลังจากการสอบข้อเขียนแล้ว กระดาษคำตอบแบบปรนัย มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชจะเป็นผู้ตรวจด้วยระบบคอมพิวเตอร์ แต่จากการตรวจสอบของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ไม่พบการทุจริตในการตรวจข้อสอบปรนัยแต่อย่างใด
@ วิธีตรวจกระดาษคำตอบอัตนัย
สำหรับกระดาษคำตอบแบบอัตนัย ได้ถูกแบ่งเป็น 2 กล่อง คือ สมุดคำตอบปกสีเหลือง 1 กล่อง และสมุดคำตอบปกสีชมพู 1 กล่อง ซึ่งได้นำไปจัดเก็บไว้ที่ห้องทำงานของนายวุฒิชัย เสาวโกมุท ผู้อำนวยการ กองการเจ้าหน้าที่และปิดล็อคไว้ มีเพียงนายวุฒิชัยกับเจ้าหน้าที่หน้าห้องอีก 2 คนที่มีกุญแจสามารถปิดเข้าออกห้องได้
ต่อมา เมื่อวันที่ 23 ถึงวันที่ 24 มีนาคม 2552 นายอรรถพันธ์ สงวนเสริมศรี นักทรัพยากรบุคคลชำนาญการ และเจ้าหน้าที่อีก 7 คน ได้นำสมุดคำตอบทั้ง 2 กล่อง ออกมาลบข้อความหรือเครื่องหมายที่พิสูจน์ตัวบุคคล เช่น ลายมือชื่อหรือเลขประจำตัวสอบและออกรหัสใหม่เพื่อให้ผู้ตรวจไม่สามารถรู้ได้ว่ากำลังตรวจกระดาษคำตอบของผู้ใด โดยจะใส่หมายเลขรหัสไว้ที่ปกสมุด 2 ตำแหน่ง ตำแหน่งแรกอยู่กลางปกตำแหน่งที่สองอยู่หัวมุมขวาด้านบนซึ่งมีเลขประจำตัวของผู้เข้าสอบเขียนอยู่ด้วย จากนั้น จะตัดมุมด้านบนออกแล้วนำมาเก็บแยกต่างหากโดยนายอรรถพันธ์จะเป็นผู้เก็บรักษารหัสไว้แต่เพียงผู้เดียวด้วยวิธีการใส่ข้อมูลลงในไฟล์คอมพิวเตอร์ และเมื่อดำเนินการแล้วเสร็จ ก็ได้นำสมุดคำตอบทั้ง 2 กล่อง กลับเข้าไปเก็บยังห้องทำงานของนายวุฒิชัยตามเดิม
และเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2552 นายวุฒิชัย เสาวโกมุท ผู้อำนวยการกองการเจ้าหน้าที่ ได้เรียกนายอรรถพันธ์เข้าไปพบในห้องทำงาน เพื่อขอไฟล์รหัสสมุดคำตอบ และนายอรรถพันธ์ได้ส่งมอบรหัสโดยพิมพ์ใส่กระดาษ เอ 4 ให้แก่นายวุฒิชัย ต่อมา ระหว่างวันที่ 25 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2552 นายวุฒิชัยได้นำสมุดกระดาษคำตอบทั้งปกสีเหลืองและสีซมพูออกมาตรวจให้คะแนนด้วยตนเอง โดยนำรายชื่อที่ได้รับมาจากผู้ฟ้องคดีตามใบฝากหรือโผฝากประมาณ 150 รายชื่อ มาให้คะแนนสูงถึง 45 คะแนน จากคะแนนเต็ม 50 คะแนน โดยไม่ได้ดูเนื้อหาในสมุดคำตอบว่าเขียนข้อความอย่างไรและไม่ได้นำสมุดกระดาษคำตอบไปให้นายสำราญ ต้นเรืองศรี ผู้อำนวยการส่วนกำนันผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งเป็นผู้ออกข้อสอบในวิชาความรู้ความสามารถที่ใช้เฉพาะตำแหน่ง ตรวจสมุดคำตอบแต่อย่างใด
จากนั้น นายวุฒิชัยได้ประสานงานกับนายครรชิต สลับแสง เลขานุการกรมเพื่อจัดลำดับว่า ข้าราชการในรายชื่อรายใด ควรอยู่ในลำดับที่และรุ่นใดโดยใช้วิธีปรับแก้ไขคะแนนที่ได้ให้ไปแล้ว และต่อมา นายวุฒิชัยได้นำคะแนนที่จัดทำแล้วดังกล่าวพร้อมสมุดคำตอบไปให้นายดุสิต ศิริวราศัย เลขานุการของนายวุฒิชัยกรอกคะแนนลงในแบบฟอร์มลงคะแนนวิชาละ 31 หน้า โดยนายวุฒิชัยเป็นผู้ลงชื่อรับรองผลคะแนนวิชาความรู้ความสามารถทั่วไปส่วนนายสำราญเป็นผู้ลงชื่อรับรองผลคะแนนวิชาความรู้ความสามารถที่ใช้เฉพาะตำแหน่ง โดยไม่ได้ตรวจสมุดคำตอบแต่อย่างใด และได้นำคะแนนดังกล่าวไปมอบให้นายวีรเดชกับนายอรรถพันธ์ รวมคะแนนกับคะแนนที่ได้จากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ซึ่งทำให้ผู้มีรายชื่อใน 150 คนดังกล่าว เป็นผู้ได้รับการคัดเลือกเข้าศึกษาอบรมหลักสูตรนายอำเภอ ปีงบประมาณพ.ศ. 2552
ต่อมา คณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบสภาผู้แทนราษฎร ได้มีหนังสือลงวันที่ 21 พฤษภาคม 2552 เรียกให้ผู้ฟ้องคดีไปชี้แจงเนื่องจากมีการร้องเรียนเกี่ยวกับการทุจริตในการสอบคัดเลือกดังกล่าว ซึ่งผู้ฟ้องคดีกับนายวุฒิชัย ได้เข้าไปชี้แจงตามที่มีการนัดหมาย และเนื่องจากจะมีการตรวจสอบการให้คะแนนในการสอบคัดเลือกดังกล่าว ผู้ฟ้องคดีกับนายวุฒิชัยได้ตกลงกันที่จะปกปิดความผิดโดยใช้วิธีการเขียนกระดาษคำตอบขึ้นใหม่ให้สอดรับกับคะแนนสอบที่ได้ประกาศไปแล้ว โดยผู้ฟ้องคดีเป็นผู้สั่งการให้ทำการแก้ไขกระดาษคำตอบดังกล่าวโดยให้นายคิม ปรีเปรม เลขานุการของผู้ฟ้องคดี และเป็นประธานรุ่นที่ 68 ไปติดต่อกับนายธีรเกียรติ ทะแพงพันธ์ นายวัฒนา หัสจันทร์ ตัวแทนรุ่นที่ 69 และนายวิสุทธิ์ โรมินทร์ ตัวแทนรุ่นที่ 70 เพื่อนำกระดาษคำตอบเปล่าที่เหลือใช้ไปให้ผู้มีรายชื่อเขียนคำตอบใหม่ตามตัวอย่างคำตอบที่นายวุฒิชัยจัดทำขึ้น 2 ถึง 3 ตัวอย่าง
หลังจากนั้น ตัวแทนรุ่นดังกล่าวได้นำกระดาษคำตอบเปล่าไปให้ผู้เข้าสอบที่มีรายชื่อรวม 142 คน เขียนคำตอบใหม่เพื่อนำมาสับเปลี่ยนใช้แทนกระดาษคำตอบเดิม เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จ ตัวแทนรุ่นที่ 69 รุ่นที่ 70 ได้นำกระดาษคำตอบมาส่งให้นายวุฒิชัยที่กรมการปกครอง ส่วนรุ่นที่ 68 ได้นำไปส่งที่บ้านของนายวุฒิชัย เลขที่ 25 ซอยจรัลสนิทวงศ์ 50 เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร ซึ่งตัวแทนรุ่นได้แก่ นายคิม ปรีเปรม นายวัฒนา หัสจันทร์ นายอภัย กาวชู และนายธีรเกียรติ ทะแพงพันธ์ ได้ติดตามไปที่บ้านหลังดังกล่าวเพื่อช่วยเหลือนายวุฒิชัยในการสับเปลี่ยนเนื้อในกระดาษคำตอบโดยยังคงใช้ปกสมุดคำตอบเดิม
จากนั้น ได้นำสมุดคำตอบทั้งหมดไปเก็บไว้ที่ห้องทำงานของนายวุฒิชัยตามเดิม และเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2552 เจ้าพนักงานของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ได้ไปยื่ดสมุดคำตอบดังกล่าวทั้งปกสีเหลืองและชมพูจากห้องทำงานของนายวุฒิชัยเพื่อนำไปตรวจสอบ หลังจากนั้น ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ได้นำสมุดคำตอบของผู้เข้าสอบจำนวน 142 คน ส่งไปตรวจสอบที่กองพิสูจน์หลักฐานกลาง สำนักงานตำรวจแห่งชาติและกองพิสูจน์หลักฐานกลางได้มีหนังสือที่ ตซ 0032.25/3405 ลงวันที่ 24 ธันวาคม 2552 และหนังสือที่ ตช 0032.25/0213 ลงวันที่ 27 มกราคม 2553 และหนังสือที่ ตช 0032.25/2984 ลงวันที่30 ธันวาคม 2553 แจ้งผลการตรวจสอบว่า พบร่องรอยการปลอมเอกสารทั้งสมุดคำตอบเล่มสีเหลืองและสมุดคำตอบเล่มสีชมพู จำนวน 141 ราย ส่วนรายที่ 142 สมุดคำตอบของ นายสหชัย แจ่มประสิทธิสกุล รุ่นที่ 68 พบร่องรอยการแกะถอดกระดาษคำตอบออกและนำชุดเดิมที่ถอดใส่กลับเข้าไปใหม่
เมื่อเจ้าพนักงานของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ได้ตรวจสอบกระดาษคำตอบ แล้วสามารถจำแนกการเขียนคำตอบที่มีลักษณะคล้ายกัน ออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 จำนวน 47 ราย กลุ่มที่ 2 จำนวน 36 ราย และกลุ่มที่ 3 จำนวน 24 ราย
@ ไม่มีพยานใช้พิสูจน์ความผิดฐานเรียกรับเงินได้
นอกจากนั้น ได้ตรวจสอบสมุดคำตอบที่เหลือใช้จากกองการเจ้าหน้าที่แล้วปรากฏว่า โรงพิมพ์อาสารักษาดินแดนส่งมอบสมุดคำตอบสีละ 2,050 เล่ม โดยมีผู้เข้าสอบภาคเช้าใช้สมุดสีเหลืองจำนวน 1,540 คนและเข้าสอบภาคบ่ายใช้สมุดสีชมพูจำนวน 1,537 คน จะต้องเหลือสมุดคำตอบภาคเช้าสีเหลืองจำนวน510 เล่ม และเหลือสมุดภาคบ่ายสีชมพู จำนวน 513 เล่ม แต่กลับเหลือสมุดภาคเช้าสีเหลืองจำนวน 299 เล่ม และเหลือสมุดภาคบ่ายสีชมพู จำนวน 342 เล่ม ประกอบกับได้มีการดำเนินการให้ผู้เข้าสอบที่มีรายชื่อจำนวน 142 คน เขียนข้อความเลียนข้อความที่ตรวจยึดได้ ผลปรากฎว่ามีลายมือเหมือนกัน และผู้เข้าสอบได้ให้การยืนยันว่าได้เขียนข้อความในกระดาษคำตอบดังกล่าวด้วยตนเอง
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ได้ไต่สวนข้อเท็จจริงกรณีข้อกล่าวหาว่ามีการเรียกรับเงินจากผู้เข้าสอบและตรวจสอบรายการทรัพย์สินของผู้ถูกกล่าวหาแล้วเห็นว่า ไม่มีพยานหลักฐานรายการใดสามารถใช้พิสูจน์ความผิดฐานเรียกรับเงินดังกล่าวได้
@ จากพยานหลักฐานเชื่อว่ามีการปลอมกระดาษคำตอบจำนวน 141 คน
แต่ในข้อกล่าวหาว่าร่วมกันช่วยเหลือผู้เข้าสอบตามใบฝากหรือโผฝากประมาณ 150 รายชื่อ นั้น จากพยานหลักฐานข้างต้นเชื่อว่ามีการปลอมกระดาษคำตอบจำนวน 141 คน โดยนายวุฒิชัย เสาวโกมุท ได้ให้การรับสารภาพและยืนยันข้อเท็จจริงว่า ได้กระทำการไปตามที่มีการแจ้งข้อกล่าวหาสอดคล้องกับคำให้การพยานรายนายอรรถพันธ์และนายวีรเดช ประกอบกับคำให้การของผู้ถูกกล่าวหาอีก 20 คน ที่ได้ให้การรับสารภาพว่าได้เขียนกระดาษคำตอบขึ้นใหม่นอกห้องสอบและได้มอบให้ตัวแทนรุ่นไปจริง
ทั้งนายวุฒิชัยได้ให้การว่าตนมิได้เป็นผู้สั่งการให้กระทำการดังกล่าวด้วยตนเอง เหตุที่เกิดขึ้นเป็นเพราะทำตามคำสั่งของผู้ฟ้องคดีทั้งสิ้นซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของนายวุฒิชัย และนายวุฒิชัยอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถปฏิเสธได้ จึงต้องทำตามคำสั่งของผู้ฟ้องคดีโดยไม่ได้รับผลประโยชน์ตอบแทนเป็นการส่วนตัว ซึ่งคำให้การของนายวุฒิชัยดังกล่าวมีน้ำหนักน่าเชื่อถือและไม่มีเหตุผลใดที่นายวุฒิชัยจะให้การปรักปรำผู้ฟ้องคดีหากปราศจากการสั่งการของผู้ฟ้องคดี ย่อมเป็นการพ้นวิสัยที่นายวุฒิชัยซึ่งเป็นเพียงผู้อำนวยการกองเจ้าหน้าที่ กับนายสำราญ ตันเรืองศรี ผู้อำนวยการส่วนกำนันผู้ใหญ่บ้านจะร่วมกันทุจริต และก็เป็นการพ้นวิสัยที่ผู้สอบคัดเลือกทั้ง 141 คน จะให้ความร่วมมือในการเขียนกระดาษคำตอบขึ้นใหม่หากไม่ใช่คำสั่งของผู้ฟ้องคดี ผู้ฟ้องคดีจึงมีส่วนร่วมในการกระทำความผิดดังกล่าว
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ในการประชุมครั้งที่ 531- 96/2556 เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2556 ได้ขี้มูลความผิดของผู้ฟ้องคดีว่า ผู้ฟ้องคดีในฐานะอธิบดีกรมการปกครองมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยทุจริต และฐานกระทำการอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 มาตรา 85(1)(4) และมีมูลความผิดทางอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 มาตรา 161 และมาตรา 162(1)(4) โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ได้ส่งรายงาน เอกสาร และความเห็นไปยังอัยการสูงสุดเพื่อดำเนินคดีอาญาแก่ผู้ฟ้องคดีกับพวก และได้แจ้งผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ให้พิจารณาโทษทางวินัยแก่ผู้ฟ้องคดีตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตพ.ศ. 2542 มาตรา 92 และมาตรา 97
@ ไม่มีเหตุผลใดที่จะมีกระบวนการกลั่นแกล้งผู้ฟ้องคดี
จากข้อเท็จจริงดังกล่าว พิเคราะห์แล้วเห็นว่า นายวุฒิชัย เสาวโกมุท ตำแหน่งผู้อำนวยการกองการเจ้าหน้าที่ ซึ่งเป็นผู้ร่วมในการกระทำความผิดดังกล่าว ได้รับสารภาพต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 และให้การในฐานะพยานว่า ผู้ฟ้องคดีได้เชิญนายวุฒิชัยไปพบที่ห้องทำงานของผู้ฟ้องคดีและแจ้งว่า ผู้มีอำนาจทางการเมืองได้มอบรายชื่อผู้เข้าสอบตามใบฝากหรือโผฝากประมาณ 150 คนมาให้ โดยจะต้องดำเนินการให้บุคคลที่มีรายชื่อดังกล่าวได้รับการคัดเลือกเข้าศึกษาอบรมหลักสูตรนายอำเภอ ซึ่งนายวุฒิชัยเห็นว่าเป็นคำสั่งของผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชา หากไม่ดำเนินการจะทำให้ผู้ฟ้องคดีกับนายวุฒิชัยเดือดร้อน จึงยินยอมให้ความช่วยเหลือผู้เข้าสอบตามคำสั่งของผู้ฟ้องคดีดังกล่าว ซึ่งจากการตรวจสอบความสัมพันธ์ระหว่างนายวุฒิชัยกับผู้ฟ้องคดีแล้ว
ปรากฎข้อเท็จจริงจากการไต่สวนของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ว่า นายวุฒิชัยกับผู้ฟ้องคดีรู้จักคุ้นเคยกันมาก่อนเนื่องจากนายวุฒิชัยสำเร็จการศึกษามาจากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเป็นสถาบันเดียวกันกับผู้ฟ้องคดี โดยผู้ฟ้องคดีมีฐานะเป็นรุ่นพี่ของนายวุฒิชัย เมื่อครั้งผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย นายวุฒิชัยมีตำแหน่งเป็นนายอำเภอภูผาม่านจังหวัดขอนแก่น นายวุฒิชัยกับผู้ฟ้องคดีจึงได้พบเจอกัน
ต่อมา เมื่อผู้ฟ้องคดีได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมการปกครอง ผู้ฟ้องคดีก็เป็นคนทาบทามให้นายวุฒิชัยมาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการกองการเจ้าหน้าที่ นายวุฒิชัยจึงได้มารับตำแหน่งดังกล่าว ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่สอดรับกับคำให้การของผู้ฟ้องคดีเองตามหนังสือลงวันที่ 5 กันยายน 2554 ที่ผู้ฟ้องคดีได้ชี้แจงต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นคนย้ายนายวุฒิชัยให้มาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการกองการเจ้าหน้าที่ด้วยตนเอง
ดังนั้น ด้วยข้อเท็จจริงดังกล่าว จึงเห็นได้ว่า การที่นายวุฒิชัย มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับผู้ฟ้องคดีมาก่อนและผู้ฟ้องคดียังเป็นคนย้ายนายวุฒิชัยให้มาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการกองการเจ้าหน้าที่อันถือว่าเป็นผู้มีบุญคุณกับนายวุฒิชัยและมีความไว้วางใจซึ่งกันและกัน ย่อมเป็นที่ยืนยันได้ว่าเป็นเรื่องยากที่นายวุฒิชัยจะให้การเท็จในลักษณะปรักปรำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหาย ประกอบกับไม่ปรากฎว่านายวุฒิชัยเคยมีสาเหตุโกรธเคืองผู้ฟ้องคดีมาก่อน หรือมีมูลเหตุจูงใจหรือมีการให้คำมั่นสัญญาหรือถูกขู่เข็นล่อลวงอย่างหนึ่งอย่างใดที่ทำให้นายวุฒิชัยต้องให้การผิดไปจากความเป็นจริง คำให้การของนายวุฒิชัยจึงเป็นคำให้การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 สามารถนำมาประกอบการพิจารณาได้
การที่ผู้ฟ้องคดีอ้างว่า คำให้การของนายวุฒิชัยเป็นคำให้การในลักษณะประสงค์จะกลั่นแกล้งผู้ฟ้องคดีเนื่องจากมีผู้มีอำนาจทางการเมืองที่สูญเสียผลประโยชน์อยู่เบื้องหลัง นั้น เห็นว่า การชี้มูลความผิดผู้ฟ้องคดีของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ดังกล่าวเกิดขึ้นในวันที่ 24 ธันวาคม 2556 ซึ่งเป็นเวลาหลังจากที่ผู้ฟ้องคดีได้เกษียณอายุราชการไปแล้วตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2554 จึงไม่มีเหตุผลใดที่จะมีกระบวนการกลั่นแกล้งผู้ฟ้องคดีให้พ้นจากตำแหน่งอธิบดีกรมการปกครองหรือจะทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหาย ประกอบกับข้อกล่าวอ้างของผู้ฟ้องคดีดังกล่าวไม่มีพยานหลักฐานสนับสนุนจึงไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะรับฟังได้
@ ข้อเท็จจริงกรณีผู้เข้าสอบ 20 คนให้การรับสารภาพ
ส่วนกรณีที่มีผู้เข้าสอบอีก 20 คน ได้ให้การรับสารภาพเช่นเดียวกัน ได้แก่ นายนิพัฒน์ ปรีศิริ นายสุริยนต์ดอนสมจิตร นายทรงกลด พึ่งสอนรักษ์ นายสมชาย วงศ์จริยะเกษม นายขวัญชัย เนื่องจำนง นายวชิระโชติรสเศรณี นางสาววารุณี สุดหล้า นายประธาน ภู่ธนะพิบูล นายชุมพล ศิริครินทร์ นายอัครพันธุ์ พูลศิรินางจันทร์จิรา กามนต์ นายสรวิศ กุลภัทรากร นางเสาวดี ศิลปะ นายอรรถการณ์ จิตถวิล นายธีรเดช โปสพันธุ์ นายนรินทร์ อร่ามโชติ นางสุปราณี รุ่งธีระ นายพีรัช จันธิมา นายศุภชัย ช่วยชู และนายนพพร เรืองสว่าง นั้น เห็นว่า
ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า หลังจากที่ผู้ฟ้องคดีกับนายวุฒิชัยได้เข้าไปชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎรแล้วตามที่คณะกรรมาธิการได้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการทุจริตในการสอบคัดเลือกดังกล่าว ผู้ฟ้องคดีกับนายวุฒิชัยเกรงว่าจะมีการตรวจสอบการปรับเพิ่มคะแนนให้แก่ผู้เข้าสอบ จึงได้ตกลงกันที่จะปกปิดความผิดโดยใช้วิธีการเขียนกระดาษคำตอบขึ้นใหม่ให้สอดรับกับคะแนนสอบที่ได้ปรับเพิ่มขึ้น และได้มีการสั่งการให้นายคิม ปรีเปรม ซึ่งเป็นเลขานุการของผู้ฟ้องคดีและเป็นประธานรุ่นที่ 68 ไปติดต่อกับนายธีรเกียรติ ทะแพงพันธ์ นายวัฒนา หัสจันทร์ ตัวแทนรุ่นที่69 และนายวิสุทธิ์ โรมินทร์ ตัวแทนรุ่นที่ 70 เพื่อนำกระดาษคำตอบเปล่าที่เหลือใช้ไปให้ผู้มีรายชื่อเขียนคำตอบใหม่ตามตัวอย่างคำตอบ ที่นายวุฒิชัยจัดทำขึ้นประมาณ 2 ถึง 3 ตัวอย่าง จากนั้นจึงได้มีผู้ร่วมขบวนการในการแก้ไขกระดาษคำตอบโดยการเขียนคำตอบขึ้นใหม่ แล้วนำมาสับเปลี่ยนทดแทนกระดาษคำตอบเดิมซึ่งสามารถตรวจสอบได้จำนวน 142 คน
@ มีการให้ความช่วยเหลือผู้เข้าสอบตามใบฝากจริง
ทั้งนี้ ตามผลการตรวจสอบสมุดคำตอบของกองพิสูจน์หลักฐานกลาง สำนักงานตำรวจแห่งชาติที่พบร่องรอยการปลอมเอกสารทั้งสมุดคำตอบเล่มสีเหลืองและสมุดคำตอบเล่มสีชมพู จำนวน 141 ราย ส่วนในรายที่ 142 เป็นสมุดคำตอบของนายสหชัย แจ่มประสิทธิสกุล รุ่นที่ 68 พบร่องรอยการแกะถอดกระดาษคำตอบออกและนำกระดาษชุดเดิมที่ถอดใส่กลับเข้าไปใหม่ ซึ่งจากการไต่สวนข้อเท็จจริงของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 รับฟังได้ว่า ผู้เข้าสอบที่ทำการแก้ไขสมุดคำตอบดังกล่าวทั้ง 142 คน ได้ให้การยืนยันว่าเป็นผู้เขียนข้อความในกระดาษคำตอบดังกล่าวด้วยตนเอง ส่วนนายสหชัยได้ให้การว่า ตนเขียนกระดาษคำตอบใหม่ด้วยถ้อยคำตัดพ้อผู้สั่งการ กระดาษคำตอบใหม่ของตนจึงมิได้ถูกนำไปสับเปลี่ยนแทนของเดิม ซึ่งกรณีดังกล่าว เป็นที่เห็นได้อย่างชัดแจ้งแล้วว่า ได้มีการปรับเพิ่มคะแนนสอบเพื่อให้ความช่วยเหลือผู้เข้าสอบตามใบฝากหรือโผฝากประมาณ 150 คน ตามข้อกล่าวหาจริง เพราะหากไม่มีการปรับเพิ่มคะแนนสอบดังกล่าวตั้งแต่เริ่มแรก ก็คงไม่มีเหตุที่จะทำให้ผู้ที่ได้รับการปรับเพิ่มคะแนนต้องกลับมาแก้ไขปลอมแปลงสมุดคำตอบดังกล่าวแต่อย่างใด ซึ่งเข้าลักษณะเป็นการดำเนินการเพื่อให้สมประโยชน์ระหว่างผู้ที่ปรับเพิ่มคะแนนสอบกับผู้ที่ได้รับการปรับเพิ่มคะแนนสอบ
ประกอบกับ ยังเห็นได้ว่า ผู้ที่ได้รับการปรับเพิ่มคะแนนดังกล่าวน่าจะมีส่วนรู้เห็นหรือเกี่ยวข้องกับขบวนการปรับเพิ่มคะแนนสอบตั้งแต่เริ่มต้น ด้วยเหตุผลที่ว่า หากผู้ที่ได้รับการปรับเพิ่มคะแนนดังกล่าวไม่มีส่วนรู้เห็นหรือเกี่ยวข้อง ก็คงจะไม่ยินยอมเขียนกระดาษคำตอบขึ้นใหม่เพื่อปลอมแปลงสมุดกระดาษคำตอบเล่มเดิมอันเป็นการกระทำที่มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือพยายามปกปิดความผิดที่ทำสำเร็จขึ้นมาแล้ว
@ มีพยานบุคคลยืนยันได้ว่าผู้ฟ้องคดีเป็นผู้สั่งการให้เกิดกระบวนการปลอมแปลงสมุดคำตอบ
นอกจากนั้น ก็ได้ปรากฎข้อเท็จจริงจากการไต่สวนพยานของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 อีกว่า มีผู้เข้าสอบจำนวน 20 คน ได้ให้การรับสารภาพ คือ พยานรายนายนิพัฒน์ ปรีศิริ นายสุริยนต์ ดอนสมจิตร นายทรงกลด พึ่งสอนรักษ์ นายสมชาย วงศ์จริยะเกษม นายขวัญชัย เนื่องจำนง นายวชิระ โชติรสเศรณี นางสาววารุณี สุดหล้านายประธาน ภู่ธนะพิบูล นายชุมพล ศิริครินทร์ นายอัครพันธุ์ พูลศิริ นางจันทร์จิรา กามนต์ นายสรวิศ กุลภัทรากร นางเสาวดี ศิลปะ นายนรินทร์ อร่ามโซติ นางสุปราณี รุ่งธีระ นายพีรัช จันธิมา นายนพพร เรืองสว่าง จำนวน 17 คน ให้การว่าเขียนกระดาษคำตอบขึ้นใหม่ตามคำสั่งกรมการปกครอง และมีผู้เข้าสอบอีก จำนวน 3 คน ได้แก่ พยานรายนายอรรถการณ์ จิตถวิล นายธีรเดช โปสพันธุ์ นายศุภชัย ช่วยชู ให้การว่าเขียนกระดาษคำตอบขึ้นใหม่ตามคำสั่งอธิบดีกรมการปกครอง กรณีจึงเห็นว่ามีพยานบุคคลที่สามารถยืนยันได้ว่าผู้ฟ้องคดีในฐานะอธิบดีกรมการปกครองได้มีส่วนร่วมในฐานะผู้สั่งการให้เกิดกระบวนการปลอมแปลงสมุดคำตอบดังกล่าว
@ ข้ออ้างพยานให้ถ้อยคำไม่ตรงความจริงไม่อาจรับฟังได้
การที่ผู้ฟ้องคดีอ้างว่า พยานให้ถ้อยคำไม่ตรงกับความเป็นจริง เนื่องจากบ้านของนายวุฒิชัยอยู่ที่ อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี ไม่ใช่อยู่ที่ซอยจรัสสนิทวงศ์ 50 เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร การที่พยานอ้างว่าตัวแทนรุ่นได้นำกระดาษคำตอบมาส่งให้นายวุฒิชัยที่บ้านซอยจรัสสนิทวงศ์ 50 เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร จึงไม่อาจเกิดขึ้นได้ และพยานได้ให้ถ้อยคำว่าได้เขียนกระดาษคำตอบใหม่ในวันที่ 12 มิถุนายน 2552 แต่เจ้าพนักงานของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ได้เข้าไปยึดอายัดสมุดกระดาษคำตอบที่ห้องทำงานของนายวุฒิชัยเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2552 การให้ถ้อยคำของพยานดังกล่าวจึงไม่อาจรับฟังได้ นั้น
เห็นว่า ปรากฎบันทึกถ้อยคำของนายวุฒิชัยที่ได้ให้การต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ว่า บ้านเลขที่ 25 ซอยจรัลสนิทวงศ์ 50 เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร ที่ใช้เป็นสถานที่ดำเนินการเรื่องดังกล่าว เป็นบ้านญาติของนายวุฒิชัยและปรากฏข้อเท็จจริงว่า เจ้าพนักงานของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ได้ไปยึดสมุดคำตอบทั้งปกสีเหลืองและสีชมพูจากห้องทำงานของนายวุฒิชัยเพื่อนำไปตรวจสอบเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2552
ดังนั้น ข้ออ้างของผู้ฟ้องคดีดังกล่าว จึงเป็นข้ออ้างที่แตกต่างไปจากข้อเท็จจริงที่ปรากฎในสำนวนคดี แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามผลการตรวจสอบสมุดคำตอบของกองพิสูจน์หลักฐานกลางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่าพบร่องรอยการปลอมเอกสารทั้งสมุดคำตอบเล่มสีเหลืองและสมุดคำตอบเล่มสีชมพู จำนวน 141 ราย และพยานบุคคลต่างก็ได้ให้การยืนยันว่า ตนได้แก้ไขกระดาษคำตอบขึ้นใหม่เพื่อสับเปลี่ยนทดแทนกระดาษคำตอบเดิมแล้ว ข้ออ้างของผู้ฟ้องคดีที่เกี่ยวกับสถานที่ในการใช้แก้ไขสมุดคำตอบและวันเวลาในการแก้ไขสมุดคำตอบ จึงมิใช่สาระสำคัญอีกต่อไป ข้อกล่าวอ้างของผู้ฟ้องคดีไม่อาจรับฟังได้
@ เชื่อได้ว่าผู้ฟ้องคดีมีส่วนร่วมในการสั่งการให้ปรับเพิ่มคะแนนสอบตามใบฝาก
นอกจากนี้ เห็นว่า กรณีที่คณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎ ได้มีหนังสือลงวันที่ 21 พฤษภาคม 2552 เรียกผู้ฟ้องคดีให้ไปชี้แจงเนื่องจากมีการร้องเรียนเกี่ยวกับการทุจริตในการสอบคัดเลือกข้าราชการ เพื่อเข้ารับการศึกษาอบรมหลักสูตรนายอำเภอปีงบประมาณ พ.ศ. 2552 และผู้ฟ้องคดีกับนายวุฒิชัยก็ได้ไปชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการแล้ว นั้น
กรณีดังกล่าว ผู้ฟ้องคดีในฐานะอธิบดีกรมการปกครองซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของกรมการปกครองและมีประวัติรับราชการในตำแหน่งสำคัญมาโดยตลอด ย่อมตระหนักและคาดการณ์ได้ว่า การสอบคัดเลือกดังกล่าวอาจจะมีความผิดปกติเกิดขึ้น ผู้ฟ้องคดีจึงชอบที่จะเร่งดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงหรือมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยเร็ว แต่ผู้ฟ้องคดีกลับไม่ดำเนินการตรวจสอบอย่างหนึ่งอย่างใดกับเรื่องดังกล่าว หากผู้ฟ้องคดีได้ทำการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการให้คะแนนสอบคัดเลือกดังกล่าว ย่อมจะต้องพบความผิดปกติในการให้คะแนนสอบที่ไม่ตรงกับเนื้อหาในกระดาษคำตอบตั้งแต่ต้น การที่ผู้ฟ้องคดีไม่ดำเนินการตรวจสอบเรื่องดังกล่าว จึงผิดวิสัยและพฤติการณ์ของผู้ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมการปกครองเช่นผู้ฟ้องคดีพึงกระทำ
และเมื่อได้พิจารณาจากพยานหลักฐานต่าง ๆ ได้แก่ พยานรายนายวุฒิชัย ซึ่งเป็นพยานสำคัญในการดำเนินการปรับเพิ่มคะแนนและเป็นผู้ประสานให้ผู้เข้าสอบ จำนวน 150 ราย เขียนกระดาษคำตอบขึ้นใหม่ตามคำสั่งของผู้ฟ้องคดีและพยานอีก 20 คน ซึ่งเป็นผู้ผ่านการคัดเลือกได้ให้การว่า ได้เขียนกระดาษคำตอบใหม่ตามคำสั่งของกรมการปกครองและอธิบดีกรมการปกครอง ซึ่งหมายถึง ผู้ฟ้องคดี อันเป็นคำให้การยอมรับสารภาพที่เป็นหลักฐานสำคัญทำให้พฤติการณ์และข้อเท็จจริงมีความสอดคล้องเชื่อมโยงกันโดยที่พยานดังกล่าวมิได้มีเหตุโกรธเคืองกับผู้ฟ้องคดีมาก่อนหรือมีเหตุอื่นใดที่จะทำให้พยานให้การไม่ตรงกับความเป็นจริง
ตามที่ได้รับฟังมาในข้างต้นแล้ว จึงเชื่อว่าผู้ฟ้องคดีมีส่วนร่วมในการสั่งการให้ปรับเพิ่มคะแนนสอบเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ผู้เข้าสอบที่มีร้ายชื่อตามใบฝากหรือโผฝากประมาณ 151 รายชื่อ และสั่งการให้ปกปิดข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับการทุจริตในการสอบคัดเลือกดังกล่าวโดยใช้วิธีการเขียนกระดาษคำตอบขึ้นใหม่ให้สอดรับกับคะแนนสอบที่ได้ปรับเพิ่มขึ้น อันเป็นเหตุให้เกิดการทุจริตอย่างกว้างขวางในการสอบคัดเลือกเข้าศึกษาอบรมหลักสูตรนายอำเภอ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2552 โดยที่ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่โดยตรงในการดำเนินการคัดเลือกข้าราชการเพื่อเข้ารับการศึกษาอบรมหลักสูตรนายอำเภอ ซึ่งจะต้องดำเนินการคัดเลือกข้าราชการที่ความรู้ ความสามารถ มีความเหมาะสำหรับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนายอำเภอต่อไปตามหลักคุณธรรมและปราศจากการแทรกแชงจากอำนาจใด ๆ
แต่ผู้ฟ้องคดีกลับอาศัยอำนาจหน้าที่ของตนช่วยเหลือผู้เข้าสอบที่มีรายชื่อตามใบฝากหรือโผฝากประมาณ 150 รายชื่อให้ได้รับการคัดเลือกเพื่อเข้าศึกษาอบรมหลักสูตรนายอำเภอ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2552 โดยมิชอบด้วยกฎหมาย อันถือว่ามีความประพฤติไม่ซื่อสัตย์ สุจริตต่อตำแหน่งหน้าที่ของตนเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่เพื่อแสวงประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น ซึ่งเป็นการ "ทุจริตต่อหน้าที่" และเป็นการกระทำที่ครบองค์ประกอบของ "การกระทำความผิดวินัยฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการ" อันเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรงตามมาตรา 85(1) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ตามที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ได้ชี้มูลความผิดไว้ ข้อกล่าวอ้างของผู้ฟ้องคดีที่ว่า ผู้ฟ้องคดีมิได้กระทำความผิดตามข้อกล่าวหา จึงไม่อาจรับฟังได้
ส่วนข้อกล่าวอ้างของผู้ฟ้องคดีในประเด็นอื่นมิได้มีผลเปลี่ยนแปลงการวินิจฉัยข้อพิพาทแห่งคดีที่ได้วินิจฉัยไว้ดังกล่าวแล้ว จึงไม่มีเหตุที่ศาลปกครองสูงสุดจะต้องยกขึ้นมาวินิจฉัยเพิ่มเติมอีก
@ พิพากษายกฟ้อง
ดังนั้น เมื่อการกระทำของผู้ฟ้องคดีเป็นความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรงฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยทุจริตตามมาตรา 85 (1) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ได้มีคำสั่งกระทรวงมหาดไทยที่ 280/2557 ลงวันที่28 พฤษภาคม 2557 ลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ ตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน 2554 จึงเป็นการใช้ดุลพินิจที่เหมาะสมและเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว
เมื่อได้วินิจฉัยไว้ในข้างต้นแล้วว่า การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 มีคำสั่งกระทรวงมหาดไทยที่ 280/2557 ลงวันที่28 พฤษภาคม 2557 ที่ลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน 2554 เป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มีคำวินิจฉัย เรื่องดำที่ 5710036 เรื่องแดงที่ 0086158 ลงวันที่ 30 ธันวาคม2558 ที่ให้ยกอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีโดยอาศัยข้อเท็จจริงและได้วินิจฉัยลักษณะเดียวกันกับคำสั่งของ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ที่ลงโทษทางวินัยผู้ฟ้องคดีดังกล่าว จึงเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน
พิพากษายกฟ้อง./
************
อนึ่งสำหรับข้อมูลเกี่ยวกับคดีความของ นายวงศ์ศักดิ์ สวัสดิ์พาณิชย์ นั้น ก่อนหน้านี้ สำนักข่าวอิศรา รายงานไปแล้วว่า นอกจากคดีทุจริตสอบนายอำเภอปี 2552 ที่ถูกศาลอาญาคดีทุจริตเเละประพฤติมิชอบกลาง เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2563 พิพากษาตัดสินลงโทษ จำคุก 3 ปี ไม่รอลงอาญา ก่อนที่จะได้รับการประกันเพื่อสู้คดีต่อในชั้นศาลอุทธรณ์
เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 7 มีคำพิพากษาตัดสินลงโทษนายวงศ์ศักดิ์ สวัสดิ์พาณิชย์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ ราชบุรี กรณีบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเป็นพนักงานส่วนตำบลในเขตจังหวัดราชบุรีและขอใช้บัญชีเพื่อบรรจุแต่งตั้งนอกเขตจังหวัดราชบุรี ไปแล้ว โดยศาลฯ พิพากษาลงโทษจำคุก เป็นเวลา 37 ปี 148 เดือน
อย่างไรก็ดี ทั้ง 2 คดีนี้ ยังไม่สิ้นสุด นายวงศ์ศักดิ์ ยังมีสิทธิ์ต่อสู้เพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ในชั้นศาลที่สูงกว่านี้ได้อีก
บทสรุปผลการต่อสู้คดีความอาญา จะออกมาเป็นอย่างไร
ติดตามดูกันต่อไป
อ่านข่าวเกี่ยวกับ นายวงศ์ศักดิ์ สวัสดิพาณิชย์:
- ป.ป.ช.ไม่อุทธรณ์! ยกฟ้อง นายกอบต.ลาดหลุมแก้ว คดี'วงศ์ศักดิ์' เรียกเงินบรรจุพนง.ราชบุรี
- รอลงอาญา! คุก 1 ปี 6 ด. อดีตนายก อบต.หลุมดิน พวก 'วงศ์ศักดิ์' เรียกเงินบรรจุ พนง.ราชบุรี
- ยืนโทษ! คุก1 ปี 6 ด. อดีตนายก อบต.สร้อยฟ้า พวก 'วงศ์ศักดิ์' เรียกเงินบรรจุ พนง.ราชบุรี
- ประเดิมคดีที่2 'วงศ์ศักดิ์-พวก' เรียกเงินบรรจุพนง.ราชบุรี - คุก1ปี 6 ด.อดีตนายกฯสร้อยฟ้า
- คุกจริง 3 ปีอดีตอธิบดีกรมการปกครองคดีทุจริตสอบ นอภ.-103 ผู้เข้าสอบโดน 2 ปีแต่รอลงโทษ
- รายที่ 5 ปี 64! ป.ป.ช.ฟ้องคดียึดทรัพย์ 'ลูกชาย' อดีตอธิบดีกรมการปค.ร่ำรวยผิดปกติ 36 ล.
- ตัดสินแล้ว! คุกคนละ 37 ปี 148 ด. 'วงศ์ศักดิ์-พวก' เรียกเงินบรรจุ พนง.ราชบุรี
- ฉบับเต็ม(1) คำพิพากษา 'วงศ์ศักดิ์-พวก' คุกคนละ 37 ปี 148 ด. คดีเรียกเงินบรรจุ พนง.ราชบุรี
- ฉบับเต็ม (2) คำพิพากษา'วงศ์ศักดิ์-พวก' คุกคนละ 37 ปี 148 ด. คดีเรียกเงินบรรจุพนง.ราชบุรี