“…นอกจากสร้างรายได้เลี้ยงตัวเองแล้ว เขายังได้ถ่ายทอดความรู้นี้ ให้กับคนในชุมชน เช่น เยาวชนที่หลุดออกจากระบบการศึกษา คนที่อยากมีอาชีพอิสระ คนที่อยากมีรายได้เสริม คนที่ชอบงานช่างฝีมือ คนที่อยากสร้างเครื่องมือใช้เองในครัวเรือน และกลุ่มคนที่อยากอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นของตนเองอีกด้วย โดยเปิดโอกาส ให้ผู้สนใจเรียนรู้ การตีเหล็กเพื่อผลิตวัสดุเครื่องใช้ในครัวเรือนได้ เช่น มีด ช้อน อุปกรณ์การเกษตร…”
การศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา อาจะเป็นเส้นทางที่คนส่วนใหญ่เลือกเดิน แต่เ ความสนใจของตนเอง หลายคนเรียนจบมาแล้วตกงาน จึงส่งผลกระทบเป็นปัญหาสังคมตามมา
จากสถานการณ์ดังกล่าว เป็นแรงจูงใจให้กับเยาวชนหลายคนตัดสินใจไม่เรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย และหันหน้าเข้าสู่สังคมวัยรุ่นสร้างตัว ด้วยการเป็นพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ หรือ ทำธุรกิจอันเกิดจากงานอดิเรกของตนเอง ซึ่งมีหลายคนที่ประสบความสำเร็จ แต่ก็มีอีกหลายคนที่ล้มแล้วลุกไม่รู้กี่รอบ เพราะการแข่งขันในปัจจุบันนั้นสูงมาก ถ้ามีความรับผิดชอบไม่เพียงพอ หรือไม่หาความรู้ต่อยอด ก็มีอันต้องพ่ายแพ้ต่อคนที่แข็งแรงกว่าอยู่ร่ำไป
จะเห็นได้ว่าการสร้างทางเลือกของคนรุ่นใหม่ แสดงให้เห็นว่าไม่จำเป็นต้องยึดติดอยู่กับการศึกษาในระบบเพียงอย่างเดียวเท่านั้น
ดังเช่น นายธรรมรัฐ มูลสาร หรือ เอิร์ธ เด็กหนุ่มวัย 22 ปี จากอำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น ที่เลือกจะมุ่งหน้าเดินสู่เส้นทางอาชีพ ‘ช่างตีเหล็กโบราณ’
นายธรรมรัฐ เปิดเผยถึงเรื่องราวของตนเอง ก่อนที่จะนำมาสู่จุดเริ่มต้นในการสนใจ ‘การตีเหล็กโบราณ’ ว่า ย้อนไปเมื่ออายุ 15-16 ปี ที่อยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ และกำลังก้าวเข้าสู่การเรียนต่อในชั้นระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ขณะนั้น เขาตระหนักรู้ถึงข้อจำกัดของตัวเองว่า เป็นคนเรียนไม่เก่ง เกรดเฉลี่ยไม่ดี จึงนำมาสู่การตั้งคำถามกับตัวเองว่า ถ้าหัวไม่ดีด้านการเรียน จะทำอย่างไรกับชีวิตต่อจากนี้ และในอนาคตจะเดินไปทางไหน
จากการคิดไตร่ตรองอย่างจริงจัง ไม่นานก็ได้คำตอบว่า เขาต้องมุ่งหาความรู้ด้านทักษะฝีมือเพื่อสร้างเป็นอาชีพติดตัวคงเหมาะกับตัวเขาที่สุดในการที่จะทำให้เขาอยู่รอดได้ในสังคมต่อไป
‘เด็กชาย มักมาคู่กับความชอบด้านอาวุธปืน มีด ดาบ’
แม้ปัจจุบัน เครื่องมือจำพวกมีด จอบ เสียม ฯลฯ จะใช้เทคโนโลยีทำออกได้ดีเรียบเนียน และประหยัดเวลา แต่งานทำมือก็มีเสน่ห์อีกแบบ โดยเฉพาะการตีเหล็กแบบโบราณ
นายธรรมรัฐ จึงสนใจที่จะเรียนรู้วิธี ‘ตีเหล็กแบบโบราณ’ และพบว่าหมู่บ้านใกล้เคียง มีนักปราชญ์ท่านหนึ่ง หรือ ‘นายจำลอง สุนทอง’ ผู้สืบทอดภูมิปัญญามีความเชี่ยวชาญด้านการตีมีดแบบวิถีโบราณ เมืองเพีย จึงไปสอบถามและฝากตัวเป็นลูกศิษย์ โดยเริ่มต้นเรียนรู้ตั้งแต่อยู่ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โดยอาศัยเวลาว่างในช่วงสุดสัปดาห์หรือปิดภาคเรียน
ช่วงเริ่มต้นเขาไม่ได้คิดเรื่องต่อยอดในทางสายอาชีพ เพียงแค่อยากมีทักษะติดตัว ด้วยความเชื่อว่า ‘ผู้ชายต้องมีฝีมือการช่าง’ และต่อมาได้เริ่มเล่าเรียนลงมือปฏิบัติอย่างจริงจังด้วยความมุ่งมั่นที่จะมีวิชาความรู้ในการสร้างอาชีพให้ตัวเองได้ในอนาคต
นายธรรมรัฐ เล่าว่า ที่ผ่านมา เขาได้แบ่งเวลาว่างไปหาประสบการณ์เพิ่มเติม ด้วยการทำงานประจำที่บริษัทรับติดตั้งโซลาร์เซลล์ เพื่อเรียนรู้ประสบการณ์การทำงานและเปิดมุมมองใหม่ ๆ โดยเขาสามารถนำแนวทางการทำงานมาประยุกต์ใช้กับชีวิตตัวเอง และตัดสินใจ หันมาจริงจังเรื่องการทำธุรกิจทำมีดแฮนด์เมด จึงสร้างโรงตีมีดด้วยการใช้พื้นที่บริเวณบ้านเพื่อสร้างอาชีพและหารายได้
“ผมเริ่มลงขายของผลงานจากฝีมือผมอย่างจริงจัง ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 พอดี ตอนนั้น ผมเน้นขายผ่านช่องทางออนไลน์เป็นหลักด้วยการโพสต์ขายลงตามกลุ่มเฟซบุ๊ก ในตอนแรกถือว่า ขายดีพอสมควร ประกอบกับคนในชุมชนเริ่มรู้ว่า ผมรับซ่อม หรือ ตีมีดด้วย ก็มีมาสั่งทำกันบ้าง จึงทำให้ผมมีรายได้เข้ามาเลี้ยงชีพตั้งแต่ตอนนั้น แต่พอเวลาผ่านไป ในช่วงที่สถานการณ์โควิด-19 เริ่มซาลง พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไป ผู้คนเริ่มออกนอกบ้านได้ ทำให้สินค้าออนไลน์เริ่มขายยากขึ้น ผมเลยต้องปรับตัวให้อยู่รอดด้วยการไปตั้งร้านค้าตามอีเว้นท์ต่าง ๆ ทั้งงานประจำอำเภอ งานประจำจังหวัด ไม่เว้นแม้แต่ตลาดนัดกลุ่มงานฝีมือครับ”
หลังจากที่นายธรรมรัฐได้ปรับตัวด้วยการทำการตลาด ทั้ง แบบออฟไลน์และออนไลน์ ทำให้เขามีรายได้มาจนถึงปัจจุบัน แถมยัง มีรุ่นน้องในชุมชนมาขอความรู้และทำงานด้วย จากธุรกิจที่ทำเพียงลำพัง ก็เริ่มขยายตัว ทำให้ต้องมีการวางแผนการขยายโรงตีมีดด้วยการมองหาแหล่งเงินทุนเพิ่มเติมในการมาช่วยหล่อเลี้ยงชีวิตของเขาและคนในชุมชนด้วย จึงตัดสินใจสมัครเข้าร่วมโครงการ ต้นกล้าชุมชน รุ่นที่ 6 ของมูลนิธิเอสซีจี
โดยโครงการฯ ได้มอบประสบการณ์และองค์ความรู้ทั้งเรื่องกลยุทธ์การตลาด การสร้างแบรนด์ การตั้งเป้าหมายกลุ่มลูกค้า การเพิ่มมูลค่าและคุณค่าของงานที่ทำ รวมถึงการได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ เปิดมุมมองต่างๆ มากยิ่งขึ้น และยังมีเงินทุน ที่นำมาช่วยต่อยอดธุรกิจได้อีกด้วย
“ในอนาคตเมื่อผมมีเงินทุนมากขึ้น ผมก็จะกระจายรายได้ให้คนในชุมชนมากขึ้นกว่านี้ ด้วยการสั่งซื้อถ่านที่เป็นเชื้อเพลิงในการตีมีดจากพวกเขาในปริมาณที่มากขึ้นได้ด้วย”
นอกจากสร้างรายได้เลี้ยงตัวเองแล้ว เขายังได้ถ่ายทอดความรู้นี้ ให้กับคนในชุมชน เช่น เยาวชนที่หลุดออกจากระบบการศึกษา คนที่อยากมีอาชีพอิสระ คนที่อยากมีรายได้เสริม คนที่ชอบงานช่างฝีมือ คนที่อยากสร้างเครื่องมือใช้เองในครัวเรือน และกลุ่มคนที่อยากอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นของตนเองอีกด้วย โดยเปิดโอกาส ให้ผู้สนใจเรียนรู้ การตีเหล็กเพื่อผลิตวัสดุเครื่องใช้ในครัวเรือนได้ เช่น มีด ช้อน อุปกรณ์การเกษตร
อีกทั้งยังให้คนในชุมชน สามารถนำอุปกรณ์ทางการเกษตรสำหรับประกอบอาชีพ เช่น มีด จอบ เสียม คราด ที่ชำรุดมาซ่อมแซมให้นำกลับไปใช้ได้อีก รวมถึงสามารถสั่งผลิตอุปกรณ์ทางการเกษตรตามแบบที่ต้องการได้
วัสดุหลักที่นำมาใช้ คือ เศษเหล็กต่างๆ ที่พบได้ในชุมชน เช่น สปริงรถ ตลับลูกปืนรถ ลานไถรถเเทรกเตอร์ ฯลฯ นับว่าเป็นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าอีกทางหนึ่ง
ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา นายธรรมรัฐ ได้เปิดศูนย์การเรียนรู้ สร้างอาชีพ ช่างตีเหล็ก โดยมี เด็ก เยาวชน และผู้สนใจ เข้ามาดูงาน และร่วมทำ Work Shop ประมาณ 150 คน สามารถสร้างรายได้ให้กับตนเองและครอบครัว ประมาณ 15,000 บาท ต่อเดือน และสร้างรายได้ให้กับชุมชน จากการซัพพลายวัสดุอื่นๆ เช่น ด้ามจับไม้ ถ่านที่ใช้เผาเหล็ก และ อาหารท้องถิ่นในชุมชนเพื่อรองรับคนมาดูงานประมาณ 15,000 บาทต่อเดือน และยังช่วงลดต้นทุนในการซื้อเครื่องมือเพื่อใช้ในการประกอบอาชีพของคนในชุมชนได้ 200 – 500 บาท ต่อชิ้น รวมถึงลดปัญหาขยะโดยใช้เศษเหล็กมาแปรรูปเป็นวัสดุมากกว่า 1,000 ชิ้น คิดเป็นน้ำหนัก 600-800 กิโลกรัม
สำหรับอนาคตข้างหน้า นายธรรมรัฐ มีความฝันว่า อยากเห็นมีดแฮนด์เมดถูกยกระดับไปอีกขั้น ด้วยการมีหน้าร้านแบบเฉพาะเหมือนร้านกระเป๋าแบรนด์เนม หรือร้านนาฬิกาหรู เพราะเขาไม่อยากให้งานฝีมืออันทรงคุณค่าเหล่านี้สูญหายไป
ในส่วนสินค้าของเขา ก็วางแผนอยากสร้างแบรนด์ที่ชัดเจนและคิดค้นรูปแบบมีดที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เพื่อดึงดูดกลุ่มลูกค้าที่ชื่นชอบงานฝีมือ เพราะเขามั่นใจว่า มีดแฮนด์เมด แม้จะตอบโจทย์ลูกค้าเฉพาะกลุ่ม แต่ไม่มีทางหายไปง่าย ๆ เพราะลูกค้าที่ชื่นชอบงานฝีมืออันประณีตนี้ ยังมีความต้องการอยู่เรื่อย ๆ
ปัจจุบัน นายธรรมรัฐ ถือว่าเป็นผู้สืบทอด ‘การตีเหล็กแบบโบราณ’ แห่งเมืองเพีย จังหวัดขอนแก่น เพียงคนเดียว ณ ขณะนี้
ในส่วนของการเรียน แม้ว่า นายธรรมรัฐ จะประสบความสำเร็จแล้วในด้านอาชีพ ‘ช่างตีเหล็ก’ แต่เขาก็ยังไม่ทิ้งการเรียน ภายหลังจากจบการศึกษาระดับชั้นมัธยมปลายแล้ว เขายังเรียนต่อระดับปริญญาตรี ภาคพิเศษที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง จังหวัดขอนแก่น ซึ่งลงเรียนเฉพาะวันเสาร์ – อาทิตย์ ควบคู่ไปด้วย เพราะการเรียนรู้ ยังถือว่าเป็นสิ่งสำคัญ ที่จะสามารถช่วยเขาต่อยอดได้อีกในอนาคต แม้เส้นทางที่เขาเลือกอาจจะไม่เหมือนดังเช่นคนส่วนใหญ่เลือกก็ตาม
นี่คือหนึ่งตัวอย่างของคนรุ่นใหม่ ที่เลือกทางเดินชีวิต โดยการใช้ภูมิปัญญาปราชญ์ชุมชน เพื่อสร้างรายได้ สร้างอาชีพ เรียนรู้เพื่ออยู่รอด และพึ่งพาตัวเองไปพร้อมกับพัฒนาชุมชนให้สามารถก้าวไปเคียงคู่กันได้ยั่งยืนต่อไป