"...สำนักข่าวอิศรา ได้สำรวจข้อมูลพบว่า ปัจจุบันในรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน นอกจากกรณี นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่มีการลงนามแต่งตั้ง พญ.นวลสกุล บำรุงพงษ์ ภรรยา เป็นคณะที่ปรึกษา รมว.สธ. แล้ว ยังมีรัฐมนตรีอีก 2 ราย ที่มีการลงนามแต่งตั้ง คนในครอบครัว เครือญาติ หรือบุคคลใกล้ชิด เข้ามาดำรงตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาเพื่อช่วยในการบริหารงานเช่นกัน ..."
ISRA-SPECIAL : กรณีการแต่งตั้งคนในครอบครัว เครือญาติ หรือบุคคลใกล้ชิด เข้ามาดำรงตำแหน่งสำคัญเพื่อช่วยในการบริหารงานของผู้อำนาจในหน่วยงานต่างๆ มักปรากฏให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง
ส่วนเหตุผลคำตอบของ ผู้มีอำนาจ ที่มักชี้แจงต่อสาธารณะ คือ ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน เป็นบุคคลที่มีความรู้ความสามารถ และความไว้วางใจในการบริหารงาน
ล่าสุด ในการบริหารงานของคณะรัฐมนตรี (ครม.) รัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ก็มีรัฐมนตรีหลายกระทรวง ก็มีการแต่งตั้งคนในครอบครัว เครือญาติ หรือบุคคลใกล้ชิด เข้ามาดำรงตำแหน่งสำคัญเช่นกัน
อาทิ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่มีการลงนามแต่งตั้ง พญ.นวลสกุล บำรุงพงษ์ ภรรยา เป็นคณะที่ปรึกษา รมว.สธ.
คำชี้แจงของ นพ.ชลน่าน ที่ปรากฏต่อสาธารณชน คือ คำนึงถึงเรื่องความรู้ ความสามารถ เป็นหลัก
"สาเหตุที่ตัดสินใจลงทุนในเรื่องนี้ เพราะ 1.ตำแหน่งที่ปรึกษา ไม่ใช่ตำแหน่งข้าราชการการเมือง จึงไม่มีเงินเดือน เป็นคณะทำงานอาสา 2.งานที่ปรึกษามีความจำเพาะ โดยเฉพาะเรื่องการสื่อสารทางการเมืองด้านสุขภาพ คุณหมอก้อยมีประสบการณ์ ผอ.กองสารนิเทศ สธ.เมื่อปี 2534 มีโอกาสทำเรื่องการสื่อสารในสื่อต่างๆ และที่สำคัญในช่วงที่ผมเป็น ส.ส. เป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทย และผู้นำฝ่ายค้านในสภา คุณหมอก้อยมีผลงานสื่อสารทางการเมืองให้ผม 3 ตำแหน่งนี้ ทำให้ผมยืนอยู่ตรงนี้ได้บนกระแสที่ไหลบ่าในโซเชียล ที่มีการประณามหยามเหยียด การเหยียบย่ำ พูดง่ายๆ ว่ารถทัวร์ แต่การสื่อสารของคุณหมอก้อยสามารถชี้แจงข้อมูลได้อย่างดี เป็นศักยภาพและความสามารถ” นพ.ชลน่านกล่าว
ขณะที่ สำนักข่าวอิศรา ได้สำรวจข้อมูลพบว่า ปัจจุบันในรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน นอกจากกรณี นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่มีการลงนามแต่งตั้ง พญ.นวลสกุล บำรุงพงษ์ ภรรยา เป็นคณะที่ปรึกษา รมว.สธ. แล้ว ยังมีรัฐมนตรีอีก 2 ราย ที่มีการลงนามแต่งตั้ง คนในครอบครัว เครือญาติ หรือบุคคลใกล้ชิด เข้ามาดำรงตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาเพื่อช่วยในการบริหารงานเช่นกัน
เพื่อบันทึกข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับประเด็นนี้ไว้ สำนักข่าวอิศรา รวมรวบข้อมูลประวัติคนในครอบครัว เครือญาติ หรือบุคคลใกล้ชิด ที่ได้รับการแต่งตั้งตำแหน่งงานสำคัญ ทั้ง 3 กระทรวงไว้ ณ ที่นี้
กระทรวงสาธารณสุข
นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ลงนามคำสั่งกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่ 1290/2566 ลงวันที่ 14 ก.ย. 2566 แต่งตั้ง น.ส.นวลสกุล บำรุงพงษ์ ภรรยาของนพ.ชลน่าน เป็น คณะที่ปรึกษา รมว.สธ. โดยระบุเหตุผลว่า เพื่อให้การบริหารราชการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ดำเนินการไปด้วยความเรียบร้อย รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล ด้านสุขภาพอนามัย
ประวัติ ‘นวลสกุล’ ภรรยา นพ.ชลน่าน
พญ.นวลสกุล บำรุงพงษ์ เป็นที่รู้จักในชื่อหมอก้อย สมรสแบบไม่ได้จดทะเบียนกับ นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขคนปัจจุบัน โดยมีบุตรธิดาร่วมกัน 2 คน
พญ.นวลสกุล สำเร็จการศึกษาจากคณะแพยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ต่อมาได้เป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลมวกเหล็ก จ.สระบุรี
ต่อมาปี พ.ศ. 2534 ขณะอายุ 29 ปี ได้รับรางวัลผู้ผลิตสื่อเพื่อพัฒนาการสาธารณสุขดีเด่นจากสถาบันพัฒนาการสาธารณสุขอาเซียน เป็นสื่อชุด ‘สุขศึกษาคาราโอเกะ’
หลังได้รับรางวัลได้ย้ายจากผู้อำนวยการโรงพยาบาลมวกเหล็ก มาเป็นผู้อำนวยการสำนักงานสารนิเทศและประชาสัมพันธ์ กระทรวงสาธารณสุข (ร.ก.)
พญ.นวลสกุลยังเคยได้รับรางวัล ผู้ผลิตผลงานสื่อมวลชนดีเด่นเพื่อเยาวชน ปี พ.ศ. 2540 จากคณะกรรมการส่งเสริมและประสานงานเยาวชนแห่งชาติ (ส.ย.ช.) สำนักนายกรัฐมนตรี
นอกจากนี้ ยังเคยเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลวังม่วง จ.สระบุรี บรรณาธิการบริหารนิตยสารสายสุขภาพอย่าง Fitness และเป็นผู้ดำเนินรายการโทรทัศน์รายการ ‘ฮอตไลน์คลายเครียด’ และเป็นแอดมินเพจ ‘ไป๊น่าน ชลน่านfc ช่วยงานสามีแพร้บ’
กระทรวงคมนาคม
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอการแต่งตั้งข้าราชการการเมือง นายพงศ์กวิน จึงรุ่งเรืองกิจ ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายพงศ์กวิน จึงรุ่งเรืองกิจ หลานของนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีกระทรวงคมนาคม เป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เมื่อวันที่ 13 ก.ย. 2566
ประวัติ ‘พงศ์กวิน’ หลาน ‘สุริยะ’
พงศ์กวิน จึงรุ่งเรืองกิจ (ชื่อเดิม : พีรเจต จึงรุ่งเรืองกิจ) เกิดเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2523 เป็นบุตรของนายโกมล และ นางยาใจ จึงรุ่งเรืองกิจ โดยเป็นหลานชายของนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ และเป็นลูกพี่ลูกน้องกับนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ
สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี วิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิศวกรรมโยธา จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ ปริญญาโท บริหารธุรกิจมหาบัณฑิต จาก คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยรังสิต สมรสกับ นางกรณ์ภัสสร จึงรุ่งเรืองกิจ มีบุตร 1 คน
นายพงศ์กวิน เริ่มต้นทำงานด้านการบริหารธุรกิจ ด้วยตำแหน่งประธานกรรมและกรรมการบริษัท อาทิ บริษัท จีเดค จำกัด, บริษัท ไออีซี กรีน เอนเนอร์ยี่ จำกัด, บริษัท ไออีซี บิซิเนส พาร์ทเนอร์ส จำกัด และบริษัท ไออีซี สระแก้ว 1 จำกัด
ต่อมานายพงศ์กวิน เข้าสู่วงการการเมืองด้วยการเป็นกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ เมื่อ พ.ศ. 2561 ก่อนที่จะได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกในปีถัดมา ต่อมาได้ลาออกจากสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ และย้ายไปร่วมงานกับพรรคเพื่อไทย
กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ลงนามในคำสั่ง กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ฉบับที่ 1364/2566 ลงวันที่ 13 ก.ย. 2566 แต่งตั้งคณะที่ปรึกษาติดตามและเร่งรัดการขับเคลื่อนนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยมี น.ส.กัญจนา ศิลปอาชา พี่สาว เป็นที่ปรึกษาคณะที่ปรึกษา
ประวัติ ‘กัญจนา’ พี่สาว วราวุธ
น.ส.กัญจนา ศิลปอาชา เกิดเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2503 มีชื่อเล่นว่า นาหรือหนูนา ประธานพรรคชาติไทย ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นบุตรีของนายบรรหาร ศิลปอาชา อดีตนายกรัฐมนตรี และคุณหญิงแจ่มใส ศิลปอาชา
น.ส.กัญจนา สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี สถิติศาสตร์บัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับหนึ่งเหรียญทอง) จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และปริญญาโท บริหารธุรกิจมหาบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน ประเทศสหรัฐอเมริกา
น.ส.กัญจนา เริ่มทำงานด้วยการเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาด บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ในช่วงปี พ.ศ. 2527 ถึง พ.ศ. 2528 ก่อนที่จะมาเป็นกรรมการผู้จัดการ บริษัทสยามออกซี่ จำกัด ในปี พ.ศ. 2528 ถึง พ.ศ. 2538 รวมไปถึงดำรงตำแหน่งเป็นประธานกรรมการบริษัทสยามอ็อกซิเดนทอล อิเล็คโตรเคมิ
น.ส.กัญจนา เข้าสู่งานการเมืองตามบิดาซึ่งเป็นหัวหน้าพรรคชาติไทย โดยลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดสุพรรณบุรี เมื่อปี พ.ศ. 2538, 2539, 2544, 2548 และได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีครั้งแรกในปี พ.ศ. 2542 ดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
ในปี พ.ศ. 2544 ได้รับตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม ประธานคณะกรรมาธิการการสวัสดิการสังคม สภาผู้แทนราษฎร ประธานมูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สถาบันราชภัฎสวนดุสิต (ปัจจุบัน คือ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต) ในปี พ.ศ. 2545 เป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และปี พ.ศ. 2546 เป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม
ต่อมาเมื่อพรรคชาติไทย ถูกตัดสินยุบพรรค ในปี พ.ศ. 2551 น.ส.กัญจนา ศิลปอาชา ในฐานะคณะกรรมการบริหารพรรคจึงถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี
ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2557 น.ส.กัญจนาได้สมัครรับเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคชาติไทยพัฒนา ลำดับที่ 2
*******************
เหล่านี้ คือข้อมูลที่ปรึกษาของรัฐมนตรีในครม.เศรษฐา 1 จำนวน 3 ราย ที่มีการลงนามคำสั่งแต่งตั้งเป็นทางการแล้ว
ผลงานเป็นอย่างไร?
ในอนาคตจะมีรัฐมนตรีกระทรวงใดแต่งตั้งครอบครัวหรือญาติเพิ่มอีกหรือไม่?
ติดตามดูกันต่อไป