"...แนวทางต่อสู้และนําสืบของจําเลยที่ 1 และจําเลยที่ 2 ไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานตามรายงาน สํานวนการไต่สวนและทางนําสืบของโจทก์ พยานหลักฐาน ตามทางไต่สวนดังวินิจฉัยมาจึงมีน้ำหนักเพียงพอให้รับฟังได้ว่า จําเลยทั้งสามร่วมกันกระทําความผิด ตามฟ้อง อันเป็นความผิดฐานร่วมกันเป็นเจ้าพนักงานเรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด สําหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทําการหรือไม่กระทําการอย่างใดในตําแหน่งไม่ว่าการนั้นจะชอบ หรือมิชอบด้วยหน้าที่ อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149..."
ISRA-EXCLUSIVE : ฉบับเต็ม คำพิพากษา คุกคนละ5 ปี อดีตซี 9 สรรพากร-ลูกน้อง ทุจริตคืนภาษีฉาว
พยานจึงยกมือขึ้นลูบที่หัวของตนเอง เป็นสัญญาณว่าได้มอบเงินให้กับฝ่ายเจ้าหน้าที่แล้วโดยวางไว้บนโต๊ะของจําเลยที่ 2 ซึ่งเป็นสัญญาณที่พยานกับเจ้าพนักงานตํารวจได้พูดคุยกันมาก่อนแล้ว
หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ ป.ป.ท. และเจ้าพนักงานตํารวจก็ได้ขึ้นมาชั้นบน โดยเจ้าหน้าที่ ป.ป.ท. บอกให้พยานไปรอที่สถานีตํารวจภูธรบางแก้ว ซึ่งขั้นตอนการเข้าจับกุมจําเลยที่ 1 และจําเลยที่ 2 นั้น พันตํารวจโทศิริพงษ์ พยานโจทก์เบิกความว่าพยานกับพวกนํากําลังข้าไปในห้องทํางานของจําเลยที่ 1 พบ จําเลยที่ 1 นั่งอยู่ที่เก้าอี้ตรงโต๊ะทํางานของตนเอง และจําเลยที่ 2 นั่งอยู่ที่เก้าอี้ด้านหน้าของโต๊ะทํางานจําเลย ที่ 1 และมีพันตํารวจโทวรรณพรตกับพวกดําเนินการตรวจค้นจับกุม
โดย พบสมุดเสนอเซ็นต์งานวางอยู่บน โต๊ะทํางานของจําเลยที่ 1 ที่มีการเปิดออกและมีซองเอกสารวางอยู่ในแฟ้ม เจ้าพนักงานตํารวจจึงเปิดซองเอกสารดังกล่าวพบว่าภายในบรรจุธนบัตรรัฐบาลไทย ฉบับละ 1,000 บาท และนําออกมาวางเรียงและทําการตรวจเปรียบเทียบกับสําเนาธนบัตรที่ลงรายงานประจําวันเกี่ยวกับคดีไว้ ปรากฏตามภาพถ่ายในการปฏิบัติภารกิจดังกล่าว ซึ่งคําเบิกความของพันตํารวจโทศิริพงษ์ สอดคล้องกับบันทึกข้อความที่พยานได้จัดทํารายงานเสนอให้เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ท. ทราบตามเอกสาร สอดคล้องกับบันทึกการจับกุมและที่ให้ถ้อยคําไว้ต่อพนักงานไต่สวน สํานักงาน ป.ป.ช.
ขณะที่ในเหตุการณ์การเข้าตรวจค้นจับกุมดังกล่าว ก็ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า จําเลยที่ 1 และหรือจําเลยที่ 2 ได้โวยวายกล่าวโทษซึ่งกันและกันว่าต่างฝ่ายต่างไม่รู้เรื่องในการกระทําโดยมิชอบของกันและกันและทําให้ตนเองต้องมาเดือดร้อนกับเรื่องดังกล่าวโดยที่ตนไม่เคยรับรู้หรือเกี่ยวข้องด้วย
คือ ข้อมูลสำคัญในตอนที่แล้ว ที่สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ทิ้งท้ายไว้ ในคำพิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 1 ที่พิพากษาตัดสินในคดีกล่าวหา นางสาวสุวรรณี ศรีรัศมี เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งสรรพากรพื้นที่สมุทรปราการ 3 อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ กับพวก คือ นางสาววรดาภัค หรือพัชรินทร์ อรัญมะโน นายอาคม คงพันธ์ ทุจริตเรียกรับเงินค่าดำเนินการในการขอคืนภาษีอากร ซึ่งถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ลงมติชี้มูลความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 และ 157 ประกอบมาตรา 83 และ พ.ร.ป.ป.ป.ช. พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 มาตรา 123/1 ประกอบ พ.ร.ป. ป.ป.ช. พ.ศ.2561 มาตรา 192 ประกอบ ป.อ.มาตรา 83 โดยศาลฯ มีคำพิพากษาว่า นางสาวสุวรรณี ศรีรัศมี จำเลยที่ 1 นางสาววรดาภัค หรือพัชรินทร์ อรัญมะโน จำเลยที่ 2 นายอาคม คงพันธ์ จำเลยที่ 3 มีความผิดตามมาตรา 149 (เดิม), พ.ร.บ.ป.ป.ช. พ.ศ. 2542 มาตรา 123/1 ประกอบ ป.อ. มาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 149 (เดิม) ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด จำคุกจำเลยทั้งสามคนละ 5 ปี
ขณะที่ นายอาคม คงพันธ์ จำเลยที่ 3 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 2 ปี 6 เดือน
หลายตอนต่อเนื่องก่อนหน้านี้
- คุกคนละ 5 ปี! อดีตสรรพากรสมุทรปราการ 3 บางพลี-พวก ทุจริตเรียกเงินค่าขอคืนภาษี
- ย้อนคดี! จับสด ซี 9 สรรพากร-ลูกน้อง ทุจริตเรียกเงินค่าคืนภาษี คุกคนละ 5 ปี-ไล่ออกราชการ
- ขอ 10% (1) ฉบับเต็ม คำพิพากษา คุกคนละ5 ปี อดีตซี 9 สรรพากร-ลูกน้อง ทุจริตคืนภาษีฉาว
- หน.ส่วน 'อาคม' รับสารภาพ (2) ฉบับเต็ม คำพิพากษา อดีตซี 9 สรรพากร-ลูกน้อง ทุจริตคืนภาษีฉาว
- เอาซองเงินใส่แฟ้มเสนอนาย (3) ฉบับเต็ม คำพิพากษาอดีตซี 9 สรรพากร-ลูกน้อง ทุจริตคืนภาษีฉาว
ต่อไปนี้ เป็นข้อมูลคำพิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 1 ที่พิพากษาตัดสินในคดีนี้ ตอนสุดท้าย ซึ่งมีเนื้อหาสำคัญเกี่ยวกับข้อต่อสู้ ของ นางสาวสุวรรณี ศรีรัศมี จำเลยที่ 1 และ นางสาววรดาภัค หรือพัชรินทร์ อรัญมะโน จำเลยที่ 2 รวมไปถึงคำพิพากษาตัดสินชี้ขาดในคดีนี้ ของ ศาลฯ ที่เห็นว่า แนวทางต่อสู้และนําสืบของจําเลยที่ 1 และจําเลยที่ 2 ไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานตามรายงาน สํานวนการไต่สวนและทางนําสืบของโจทก์ และตัดสินพิพากษาลงโทษจำคุกคนละ 5 ปี ดังกล่าว
ปรากฏรายละเอียดดังต่อไปนี้
*************
(ต่อเนื่องจากรายละเอียด พฤติการณ์ นางสาวสุวรรณี ศรีรัศมี จำเลยที่ 1 และ นางสาววรดาภัค หรือพัชรินทร์ อรัญมะโน จำเลยที่ 2 ที่นำเสนอไปในตอนที่แล้ว)
คำชี้แจง ขัดแย้งคลิปสนทนา
ที่จําเลยที่ 1 ต่อสู้อ้างว่า จําเลยที่ 1 ไม่เคยรู้จัก นาง ก. กรรมการผู้มีอํานาจของบริษัท ม. นั้น ขัดแย้งกับคําสนทนาที่จําเลยที่ 1 สนทนากับนาย ว. ตามที่ นายว ว. กล่าวว่า “ พอดีคุณใหม่เค้ามาคุยกับท่านเมื่ออาทิตย์ที่แล้วอ่ะ”
โดยจําเลยที่ 1 ตอบว่า “อืม คุยกับพัชรินทร์อยู่ใช่ไหม ก็รู้จักกับเขามาตลอดแหละ”
ที่จําเลยที่ 1 อ้างว่า วันที่ 27 ตุลาคม 2558 จําเลยที่ 2 เข้ามาพบจําเลยที่ 1 และแจ้งว่า มีคุณ ว. กรรมการผู้จัดการบริษัท ท. ประสงค์ขอเข้าพบเพื่อมาสวัสดี ทําความรู้จัก
จําเลยที่ 1 จึงถามว่ามีงานใดของบริษัทที่ค้างอยู่หรือไม่
จําเลยที่ 2 บอกว่าไม่มี
จําเลยที่ 1 แจ้งว่าหากไม่มีธุระอะไรหรือไม่มีงานค้างก็ไม่ต้องมาพบ และต่อมาในช่วงบ่ายจําเลยที่ 2 จึงมาแจ้งให้ทราบอีกครั้งว่านาย ว. จะขอเข้าพบเพื่อสวัสดีและทําความรู้จัก
จําเลยที่ 1 เห็นว่างานที่พิจารณาสั่งอยู่ก็เริ่มลดลงพอมีเวลาจึงแจ้งว่าให้มาพบได้นั้น
แต่จากบทสนทนาระหว่างนาย ว. กับจําเลยที่ 1 กลับไม่มีถ้อยคําหรือบทสนทนาในลักษณะว่านาย ว. ขอแนะนําตน ตลอดจนแนะนําถึงการประกอบอาชีพและหรือกิจการตลอดจนเรื่องราวที่อาจต้องเกี่ยวข้องในการประกอบกิจการของตนกับการปฏิบัติหน้าที่ของจําเลยที่ 1 หรือกับเจ้าหน้าที่สรรพากรพื้นที่สมุทรปราการ 3 ที่อาจต้องมีส่วนเกี่ยวข้องกัน ลักษณะการพูดคุยดั่งผู้ประกอบกิจการที่ต้องมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้จากการประกอบกิจการและเข้าพบเพื่อสวัสดีทําความรู้จักกับสรรพากรพื้นที่ซึ่งเป็นข้าราชการระดับสูงและเป็นผู้บังคับบัญชาบรรดาเจ้าหน้าที่ของสรรพากรพื้นที่ที่มีอํานาจหน้าที่ตรวจสอบการเสียภาษีและการตรวจคืนภาษีของผู้ประกอบการดังกล่าวไม่
หากแต่ตามบทสนทนาเมื่อแรกพบกันและโดยตลอดเนื้อความสําคัญกลับมีแต่เรื่องการเจรจาต่อรองเรื่องยอดเงินที่ทางบริษัท ท. ที่นาย ว. เป็นกรรมการผู้จัดการ ต้องการขอลดยอดการจ่ายเงินให้ และได้ความสอดคล้องเชื่อมโยงกันตามเหตุผลที่วินิจฉัยมาข้างต้นว่าเป็นการเจรจาต่อรองยอดเงินที่จําเลยทั้งสามเรียกรับจากการพิจารณาตรวจคืนภาษีให้แก่บริษัท ท. ในปีภาษี 2556 และ 2557 ดังกล่าว ที่จำเลยที่ 1 ต่อสู้ว่าที่พูดคุยกับนาย ว. เห็นนาย ว. มีลักษณะสีหน้าเคร่งเครียด อธิบายเหตุผลที่ไม่ดีหลาย ๆ ประการ กับทั้งบริษัทต้องถูกตรวจสอบภาษีทุกปี
จําเลยที่ 1 จึงบอกว่าหากมีรายละเอียดอย่างไรในการตรวจสอบภาษี ให้ไปคุยกับจําเลยที่ 2
แต่กลับไม่ปรากฏในบทสนทนาระหว่างกันเกี่ยวกับเรื่องราวที่บริษัท ท. ต้องถูกตรวจสอบภาษีและมีปัญหาตามอ้างดังกล่าว กลับมีข้อความการสนทนาที่จําเลยที่ 1 บอกนาย ว. ว่าให้ไปคุยกับจําเลยที่ 2 และว่ามันเยอะก็แล้วแต่เอาสองคนคุยกันรู้เรื่องก็จบละกันนะ ก็ไม่ได้ว่าอะไรนะ
ถ้อยคําดังกล่าวหาได้มีความหมายที่จะตีความไปได้ว่า ในการตรวจสอบการเสียภาษีหรือการคืนภาษีนั้น หากจําเลยที่ 2 ตกลงว่าอย่างไรก็ให้จบตามนั้น และกรณีก็ไม่อาจจะดําเนินการเช่นนั้นได้ เพราะจําเลยที่ 2 เป็นเพียงผู้ตรวจสอบภาษีซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ชั้นต้นที่ต้องปฏิบัติหน้าที่และจัดทํารายงานผลการตรวจวิเคราะห์ เสนอผู้บังคับบัญชาตามลําดับและที่สุดต้องให้จําเลยที่ 1 ในฐานะสรรพากรพื้นที่ ซึ่งมีอํานาจอนุมัติผลการ ตรวจสอบในขั้นตอนสุดท้ายพิจารณา ซึ่งการตรวจสอบของจําเลยที่ 2 จะชอบหรือไม่อย่างไรต้องพิจารณาไป ตามเอกสารหลักฐานและเหตุผลตามอํานาจหน้าที่ซึ่งยังต้องถูกตรวจสอบพิจารณาจากผู้บังคับบัญชาคือ หัวหน้าทีมกํากับดูแลผู้เสียภาษี และจําเลยที่ 1 ในฐานะสรรพากรพื้นที่ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาอีก
การที่จําเลยที่ 1 จะกล่าวแก่นาย ว. ว่า ให้นาย ว. ไปคุยเรื่องการตรวจสอบการเสียภาษีหรือการคืนภาษีกับจําเลยที่ 2 และว่าก็แล้วแต่เอาสองคนคุยกันรู้เรื่องก็จบละกันนะก็ไม่ได้ว่าอะไรนะเช่นนั้น
เห็นว่าไม่น่าจะใช่เหตุผลที่ จําเลยที่ 1 จะบอกให้นาย ว. ไปพูดคุยกับจําเลยที่ 2 ตามอ้างได้เช่นนั้น
ชี้คำสนทนามัดแน่น มาขอเข้าพบเจรจาลดวงเงิน
แต่จากคําสนทนาดังกล่าวกลับมีถ้อยคําด้วยว่า “มันเยอะ ก็แล้วแต่เอาสองคนคุยกันรู้เรื่องก็จบละกันนะ ก็ไม่ได้ว่าอะไรนะ” นั้น
คําว่า “มันเยอะ” ดังกล่าวกลับสอดคล้องเชื่อมโยงกันกับเรื่องราวที่นาย ว. มาขอเข้าพบและเจรจากับจําเลยที่ 1 เพื่อขอลด ยอดเงินที่จะต้องส่งมอบให้แก่จําเลยทั้งสามตามที่เรียกรับในอัตราร้อยละ 10 ของยอดเงินที่ตรวจคืนภาษีให้ทั้ง 2 ปีภาษี ที่เป็นยอดเงินที่ต้องจ่ายให้ประมาณ 241,047 บาท
แต่นาย ว. มาเจรจาต่อรองขอจ่ายเพียงหนึ่งแสนบาท ซึ่งเป็นยอดเงินที่ขอลดลงกว่าหนึ่งแสนบาทซึ่งเป็นยอดเงินที่ขอลดลงแตกต่างจากยอดเงินที่ต้องจ่ายเป็นจํานวนเยอะมาก
จึงน่าเชื่อว่าเป็นเหตุที่จําเลยที่ 1 พูดกับนาย ว. ด้วยถ้อยคําดังกล่าว และแม้ต่อมา นาง ก. จะเข้าพบจําเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2558 และเขียนบันทึกเล่าเรื่องราว ที่นาง ก. มีส่วนเกี่ยวข้องและว่าในการพูดคุยว่า บริษัท ท. ยินดีจ่ายเงินให้ 10 % นั้น ท่านสรรพากร (จําเลยที่ 1) ไม่ได้พูดคุยด้วย และจําเลยที่ 1 ไม่เคยเรียกร้องสิ่งใดจากนาง ก. ในการทํางานเลยนั้น
ข้อเท็จจริงตามที่วินิจฉัยไว้ข้างต้นตามคําร้องประกอบคํารับสารภาพของจําเลยที่ 3 คําชี้แจง แก้ข้อกล่าวหาและคําร้องขอให้กันตัวจําเลยที่ 3 เป็นพยาน ประกอบกับเหตุผลดังวินิจฉัยมา ก็รับฟังได้ว่า จําเลยที่ 3 นําเรื่องที่นาง ก. เสนอจะให้เงิน 10 % ดังกล่าวไปแจ้งให้จําเลยที่ 1 ทราบและจําเลยที่ 1 ตกลง และให้ดําเนินการต่อไป
ดังนั้นที่นาง ก. เขียนบันทึกว่าการพูดคุยว่าบริษัท ท. ยินดีจ่ายเงิน ให้ 10% นั้น ท่านสรรพากร (จําเลยที่ 1) ไม่ได้พูดคุยด้วย จึงไม่ได้แตกต่างจากข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ทั้งไม่มีน้ำหนัก ให้รับฟังว่าจําเลยที่ 1 ไม่ได้เรียกรับเงินจากการตรวจคืนภาษีให้บริษัท ท. ดังกล่าว เพราะในเรื่องนี้ เป็นกรณีที่จําเลยที่ 3 นําเรื่องที่นาง ก. ติดต่อเสนอจะให้เงินดังกล่าวไปแจ้งแก่จําเลยที่ 1 เอง
นอกจากนี้ ที่จําเลยที่ 1 และจําเลยที่ 2 ต่อสู้โดยอ้างว่าจําเลยที่ 2 ได้จัดทําบันทึกข้อความลงวันที่ 29 ตุลาคม 2558 เสนอสรรพากรพื้นที่สมุทรปราการ 3 โดยบันทึกเหตุการณ์ในวันที่ 27 ตุลาคม 2558 ทํานองว่านาย ว. ติดต่อจําเลยที่ 2 ว่าประสงค์ขอเข้าพบจําเลยที่ 1 เพื่อทําความรู้จักกับท่าน
แต่ก็ขัดกับเหตุผลดังที่ศาลวินิจฉัยข้างต้นว่าไม่มีบทสนทนาทํานองว่าเป็นการเข้าพบเพื่อทําความรู้จัก ตามปกติดั่งที่ควรเป็นไม่
เปิดบันทึกชี้แจงกรมสรรพากร
กับทั้งจําเลยที่ 2 เบิกความว่า จําเลยที่ 2 จัดทําบันทึกข้อความดังกล่าวขึ้นตามที่จําเลยที่ 1 บอกให้จัดทํา จึงจัดทําตามที่จําเลยที่ 1 บอก เพื่อรายงานไปที่กรมสรรพากร ว่าถ้าจัดทําบันทึกข้อความตามนี้จะสอดคล้องกับที่จําเลยที่ 1 จัดทํารายงานเสนอไปที่กรมสรรพากรแล้วเรื่องก็จะได้จบ
จําเลยที่ 2 เข้าใจว่าถ้าทําตามนั้นคดีเรื่องนี้ก็น่าจะยุติไป และเบิกความอีกว่าจําเลยที่ 1 บอกให้จําเลยที่ 2 จัดทําบันทึก เพิ่มเติมในวันที่ 2 พฤศจิกายน 2558 เรียนอธิบดีกรมสรรพากร โดยทําตามที่จําเลยที่ 1 บอกว่าจําเลยที่ 2 ผู้นําเงินดังกล่าวมาให้จําเลยที่ 1 ซึ่งมีข้อความทํานองว่าเหตุที่จําเลยที่ 2 ต้องนําซองสีน้ำตาลใส่แฟ้มเสนองานถือเข้าไปในห้องทํางานของจําเลยที่ 1 เนื่องจากมองไม่พบนายอาคม (จำเลยที่ 3) ในขณะนั้น และไม่เคยประสบเหตุเช่นนี้ ไม่ทราบว่าจะทำอย่างไร จึงตัดสินใจนําซองสีน้ำตาลใส่แฟ้มเสนองานเข้าไปปรึกษาจําเลยที่ 1 เพียงแค่ในฐานะผู้บังคับบัญชา ไปของจําเลยที่ 2 เท่านั้น และขอยืนยันว่าจําเลยที่ 1 ไม่มีส่วนรู้เห็นด้วยแต่อย่างใดนั้น
แต่จากบทสนทนาระหว่างจําเลยที่ 2 กับ นาย ว. ในวันที่ 27 ตุลาคม 2558 ดังวินิจฉัยมาข้างต้นกลับปรากฏรายละเอียดเป็นขั้น เป็นตอนในการสนทนา
โดยเมื่อนาย ว. ถามจําเลยที่ 2 ว่าเงินจะไปให้ท่าน (จําเลยที่ 1) หรือคุณพัชรินทร์ (จําเลยที่ 2)
จําเลยที่ 2 ก็ยังถามนายว. อีกว่า นาย ว. เตรียมมาแล้วเหรอ
นาย ว. จึงบอกว่าแสนเดียว ให้ท่านเลยไหม
จําเลยที่ 2 ยังย้อนถามนาย ว. อีกว่ายังไม่ให้ท่านเหรอ และเมื่อนาย ว. บอกว่า เอาตรงนี้ เลยเหรอ
จําเลยที่ 2 ยังย้อนถามอีกว่า อ้าวยังไม่ให้ท่านเหรอ และต่อมาจําเลยที่ 2 ถามว่าเมื่อกี้พี่คุยกับท่าน เรียบร้อยแล้วใช่ไหม
นาย ว. จึงตอบว่าคุยแล้วก็ให้คุณพัชรินทร์โอเคก็โอเค
จําเลยที่ 2 จึงพูดว่า ก็ตามนั้นแหละ ตามที่คุณคุยส่วนไว้ แต่เดี๋ยวฝากไว้ก็ได้เดี๋ยวเอาให้ท่าน เมื่อกี้ท่านเรียกเข้าไป ท่านบอกว่าท่านจัดการกันเอง
นาย ว. จึงว่าแต่ท่านไม่คุยแล้วใช่ไหม
จําเลยที่ 2 จึงกล่าวว่าก็คุณคุยเมื่อกี้ท่านก็บอกว่าให้มันจบ
นายว. จึงกล่าวขึ้นว่าตรงไหนอ่ะ
จําเลยที่ 2 บอกว่าตรงนี้ วางไว้นี่ เดี๋ยวพี่รออยู่นี้ เดี๋ยวเข้าไปให้ เอาวางไว้นี้คุณรออยู่นี่ ดังนี้ และต่อมาก็เป็นเหตุการณ์ที่จําเลยที่ 2 นําเงินที่นาย ว. วางไว้ที่โต๊ะจําเลยที่ 2 ใส่แฟ้มเสนองาน นําเข้าไปมอบให้จําเลยที่ 1 ซึ่งลําดับเหตุการณ์และบทสนทนาดังกล่าวขัดแย้งกับบันทึกข้อความตามที่จําเลยที่ 2 จัดทําขึ้น ซึ่งบันทึกถอดถ้อยคําสนทนาตามคลิปวิดีโอเหตุการณ์ในวันที่ 26 ตุลาคม 2558 และเหตุการณ์วันที่ 27 ตุลาคม 2558 มีถ้อยคําตามบทสนทนาสอดคล้องกันกับคลิปวิดีโอตามวัตถุพยานหมาย วจ.2 และ ตามผลการตรวจพิสูจน์ตามเอกสารหมาย จ.29
ยืนยันว่าตรวจไม่พบร่องรอยการตัดต่อในไฟท์ข้อมูลเสียงที่ตรวจพบ
จึงมีความน่าเชื่อถือรับฟังได้ว่าจําเลย ทั้งสามร่วมกันเรียกรับเงินจากบริษัท ท. ที่มีนาย ว. เป็นกรรมการผู้จัดการจากการปฏิบัติ หน้าที่ในการตรวจคืนภาษีเงินได้ให้แก่บริษัทดังกล่าว
ทางต่อสู้นําสืบจําเลยที่ 1 จําเลยที่ 2 ไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐาน
แนวทางต่อสู้และนําสืบของจําเลยที่ 1 และจําเลยที่ 2 ไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานตามรายงาน สํานวนการไต่สวนและทางนําสืบของโจทก์ พยานหลักฐาน ตามทางไต่สวนดังวินิจฉัยมาจึงมีน้ำหนักเพียงพอให้รับฟังได้ว่า จําเลยทั้งสามร่วมกันกระทําความผิด ตามฟ้อง อันเป็นความผิดฐานร่วมกันเป็นเจ้าพนักงานเรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด สําหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทําการหรือไม่กระทําการอย่างใดในตําแหน่งไม่ว่าการนั้นจะชอบ หรือมิชอบด้วยหน้าที่ อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 ซึ่งเป็นบทเฉพาะแล้ว กรณี จึงไม่ต้องปรับบทลงโทษในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้ เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมาย อาญา มาตรา 157 อันเป็นบททั่วไปอีก
ส่วนความผิดฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติ อย่างใดในตําแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อํานาจในตําแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตนั้น
ปรากฏว่าขณะโจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2564 มีพระราชบัญญัติ ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ซึ่งมีผลให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 22 กรกฎาคม 2561 มาตรา 3 บัญญัติให้ยกเลิกพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมตามการทุจริต (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 จึงต้องพิจารณาว่าการกระทําของจําเลยตามคําฟ้องของโจทก์ยังเป็นความผิด ตามบทบัญญัติของกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังดังกล่าวหรือไม่
เห็นว่า พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 มาตรา 123/1 บัญญัติว่า “เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ใดปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตําแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อํานาจในตําแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตต้อง ระวางโทษจําคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ”
ส่วนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172 บัญญัติว่า “เจ้าพนักงานของรัฐผู้ใดปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตําแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อํานาจ ในตําแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติ หน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจํา ทั้งปรับ”
ดังนั้น การกระทําของจําเลยทั้งสามในความผิดฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติ อย่างใดในตําแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อํานาจในตําแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตตามฟ้อง ยังคงถือเป็นความผิดตามบทบัญญัติของกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังดังกล่าว ซึ่งบทบัญญัติของกฎหมายเดิมและบทบัญญัติของกฎหมายที่บัญญัติภายหลังมีระวางโทษเท่ากัน จึงไม่แตกต่างกันอันจะเป็นปัญหาให้ต้องพิจารณาปรับใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่ จําเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 จึงต้องใช้กฎหมายที่ใช้ในขณะกระทําความผิดบังคับแก่คดีนี้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2
อนึ่ง ภายหลังจําเลยทั้งสามกระทําความผิด มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมาย อาญา (ฉบับที่ 26) พ.ศ. 2560 ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 21 มีนาคม 2560 เป็นต้นไป มาตรา 7 บัญญัติให้ยกเลิก อัตราโทษในมาตรา 149 เดิม และให้ใช้อัตราโทษใหม่แทน ปรากฏว่าโทษจําคุกตามกฎหมายเดิมและกฎหมาย ที่แก้ไขใหม่มีระวางโทษจําคุณเท่ากัน ส่วนโทษปรับตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่มีระวางโทษปรับสูงกว่าโทษปรับ ตามกฎหมายเดิม กฎหมายที่แก้ไขใหม่ไม่เป็นคุณแก่จําเลย จึงต้องใช้กฎหมายเดิมซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ขณะกระทําความผิดบังคับแก่จําเลยทั้งสาม
สรุปคำพิพากษา ลงโทษจำคุกคนละ 5 ปี
พิพากษาว่า จําเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 (เดิม) พระราชบัญญัติ ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 123/1 ประกอบ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83
การกระทําของจําเลยทั้งสาม เป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมาย หลายบท ให้ลงโทษฐานเป็นเจ้าพนักงานเรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสําหรับตนเอง หรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทําการหรือไม่กระทําการอย่างใดในตําแหน่ง ไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วย หน้าที่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 (เดิม) ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุด ทั้งนี้ตามประมวล กฎหมายอาญา มาตรา 90
ลงโทษจําคุกจําเลยทั้งสามคนละ 5 ปี
จําเลยที่ 3 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์ แก่การพิจารณา เป็นเหตุบรรเทาโทษจึงลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 คงจําคุกจําเลยที่ 3 มีกําหนด 2 ปี 6 เดือน./
***************
ทั้งหมดนี้ เป็นรายละเอียดคำพิพากษาฉบับเต็มในคดีนี้ ที่สำนักข่าวอิศรา นำมาเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา
อย่างไรก็ดี คดีนี้ ยังไม่สิ้นสุด จำเลยทั้งหมด มีสิทธิต่อสู้คดีเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ในชั้นศาลที่สูงกว่านี้อีกได้
แต่ไม่ว่าบทสุดท้ายการต่อสู้คดีจะออกมาเป็นอย่างไร คดีนี้นับเป็นอีกหนึ่งคดีตัวอย่าง ไม่ให้ข้าราชการสรรพากรไทย เดินย้ำซ้ำรอย เอาเป็นเยี่ยงอย่าง ทั้งในปัจจุบันและอนาคตสืบไป
เหมือนเช่นหลายคดีที่ผ่านมา