“…ในอนาคตประชากรรุ่นใหม่จะเพิ่มมากขึ้น มีค่านิยมแต่งงานช้าลง อยู่เป็นโสดมากขึ้น ที่สำคัญคือการมีลูกไม่ใช่เป้าหมายลำดับต้นๆ ของคนรุ่นใหม่ ส่งผลต่ออัตราการเจริญพันธุ์ที่ลดลงในอนาคต และในอนาคตมีแนวโน้มที่ประชากรรุ่นใหม่จะเป็นผู้สูงอายุที่อยู่ลำพัง ไม่มีบุตรหลานพึ่งพิง…”
เด็กเกิดน้อย เป็นวาระสำคัญที่นานาชาติต่างให้ความสำคัญ โดยคาดว่าผลจากสัดส่วนประชากรที่เปลี่ยนไป จะส่งผลต่อกระทบต่อประเทศต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ไปพร้อมกับการเคลื่อนเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย
ไทย ก็เป็นหนึ่งในประเทศที่กำลังเผชิญกับปัญหานี้เช่นเดียวกัน
จากที่ประชุมรัฐสภา เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้วีดีโอคอล ชี้แจงถึงนโยบายการทำงานของกระทรวงสาธารณสุข เกี่ยวกับปัญหาสังคมผู้สูงอายุและอัตราเด็กเกิดใหม่ที่น้อยลง ช่วงหนึ่งว่า ใน 12-13 เรื่องที่ได้นำเสนอและจะประกาศเป็นนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข คือ ปัญหาเด็กแรกเกิด ปัญหาการดูแลเด็กเล็ก โดยเฉพาะการให้นมบุตรอย่างน้อยตั้งแต่ 0-6 เดือน
ปัญหาที่พบคือ โครงสร้างประชากรของคนไทยขณะนี้เกิดการบิดเบี้ยว ประชากรเข้าสู่วัยผู้สูงอายุมากกว่าร้อยละ 20 ขณะที่อัตราการเกิดใหม่น้อยมาก โดยอัตราเกิดที่เหมาะสมคือ 2.1 คนต่อประชากร 100,000 คน แต่ปัจจุบันพบว่าอัตราเกิดอยู่ที่ 1.6 คนต่อประชากร 100,000 คน หมายความว่าใน 1 ปีมีจำนวนการเกิดที่น้อยกว่า 50,000-60,000 คน
ดังนั้น จากความคิดที่ว่าลูกมากจะยากจน ต้องเอาออกจากสมองคนไทย ทำให้คนไทยไม่ยอมมีบุตร โดยเฉพาะคนที่พื้นฐานการศึกษาที่ดี หรือกลุ่มคนที่มีฐานเศรษฐกิจรองรับ จึงเป็นปัญหาต่อการพัฒนาและการแข่งขันระดับประเทศ หากไม่เพิ่มฐานประชากร ในฐานะกระทรวงสาธารณสุขที่ดูแลเกี่ยวกับอนามัยเจริญพันธุ์ จึงอยากจะผลักดันเรื่องนี้เป็นวาระแห่งชาติ
“...ลูกมากจะยากจน ต้องเอาออกจากสมองคนไทย คนไทยไม่ยอมมีลูกครับ โดยเฉพาะคนที่มีพื้นฐานการศึกษาที่ดี มีความรู้มีความสามารถ มีฐานเศรษฐกิจที่รองรับ ไม่ยอมมีลูก หลายคู่แต่งงานปุ๊บ บังคับให้สามีทำหมันเลย ไม่อยากมีลูก นั่นคือสิ่งที่กำลังบิดเบี้ยวในสังคมไทย...” นพ.ชลน่าน ระบุ
ภายหลังจากที่ นพ.ชลน่านได้ชี้แจงนโยบายฯ ได้เกิดประเด็นถกเถียงในสังคมออนไลน์ทันที ถึงประเด็นปัญหาเรื่อง ‘เด็กเกิดใหม่น้อย’ ที่ระบุถึงเรื่องอนามัยเจริญพันธุ์ที่กระทรวงจะผลักดันเป็นวาระแห่งชาติ และทัศนคติของประชาชนที่ต้องได้รับการแก้ไข
โดยประเด็นดังกล่าว สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมกับองค์กรภาคีเครือข่าย ประกอบด้วย สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) ได้หยิบยกขึ้นมาพูดถึงในเวทีสนทนานโยบายสาธารณะ ครั้งที่ 4 หัวข้อ ‘เมื่อไทยเข้าสู่สังคมเด็กเกิดน้อย ปัญหาและทางออก’ เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2566 เพื่อฉายภาพสถานการณ์โครงสร้างประชากร ผลพวงจากปัญหาเด็กเกิดน้อย ทั้งในมิติเศรษฐกิจ สังคม และสุขภาพ ตลอดจนแนวทางการแก้ไขปัญหา หลังพบว่าปี 2564 ถือเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่มีอัตราการตายมากกว่าอัตราการเกิด และรัฐบาลเตรียมประกาศให้เรื่องนี้เป็นวาระแห่งชาติ
30 ปีก่อน ไทยเจอปัญหาเด็กเกิดมาก
นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เปิดเผยว่า ปัญหาเด็กเกิดน้อยจะส่งผลโดยตรงกับโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนแปลงไป ถือเป็นปัญหาใหญ่ที่มีความซับซ้อนและส่งผลกระทบในวงกว้าง การแก้ไขปัญหาจึงจะมีความยุ่งยากมากกว่าเมื่อ 30 ที่แล้ว ที่ประเทศไทยเผชิญกับปัญหาเด็กเกิดมาก-ประชากรขยายตัวเร็ว ซึ่งขณะนั้นใช้มาตรการทางสาธารณสุข การคุมกำเนิด ฯลฯ เข้ามาแก้ไขได้
แต่ปัญหาเด็กเกิดน้อยตรงกันข้าม คือไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยมิติทางการแพทย์และสาธารณสุขเพียงอย่างเดียว จึงนำมาสู่การจัดเวทีสนทนาสาธารณะเพื่อแสวงหาความร่วมมือ แสวงหาทางออก และรวบรวมเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และรัฐบาล ตลอดจนการจัดตั้งเป็นเครือข่ายในการขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาในระยะยาวต่อไป
นพ.ประทีป กล่าวว่า วันนี้โครงสร้างประชากรของประเทศไทยเปลี่ยนแปลงไป เราก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุ ในขณะเดียวกันคนในปัจจุบันกลับไม่ต้องการมีบุตร ส่งผลให้เด็กเกิดน้อย ในอนาคตจะเกิดปัญหาทั้งด้านแรงงาน การขับเคลื่อนเศรษฐกิจ การแบกรับสังคมสูงวัย ฯลฯ ฉะนั้นการแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ นอกจากจะต้องแสวงหาแนวทางทำให้เด็กเกิดมากขึ้นแล้ว ยังต้องมีระบบรองรับเพื่อให้เด็กที่เกิดขึ้นมาแล้วมีคุณภาพชีวิตที่ดี เจริญเติบโตขึ้นอย่างมีสุขภาวะดี
นพ.ประทีป กล่าวต่อไปว่า ประเด็นสำคัญในเรื่องนี้คือ ‘การสร้างระบบรองรับ’ เพื่อให้การเกิดไม่เป็นภาระของครอบครัว และช่วยให้พ่อแม่มีความมั่นใจว่าเมื่อลูกเกิดมาแล้วจะมีความปลอดภัย เจริญเติบโตในประเทศนี้ได้อย่างมั่นคง ซึ่งถือเป็นเรื่องดีที่ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สธ. ได้ให้ความสนใจและแสดงความมุ่งมั่นในการแก้ปัญหา และผลักดันในเรื่องนี้เป็นวาระแห่งชาติ
“ในเรื่องนี้ทางสภาพัฒน์ฯ มีแผนและแนวทางการขับเคลื่อนอยู่ แต่ถ้าจะผลักดันให้ได้ผลจำเป็นต้องมีหน่วยงานมาช่วยกันขับเคลื่อน ในวันนี้เราจึงเอาแผนของสภาพัฒน์ฯ มากาง แล้วร่วมกันวิเคราะห์ ออกแบบการทำงานในเชิงระบบ ซึ่งวันนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการสานพลังแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง” นพ.ประทีป กล่าว
เด็กเกิดน้อย ผลกระทบต่อแรงงานในอนาคต
นางพรรณวดี ลดาวัลย์ ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้จัดการและหัวหน้ากลุ่มงานพัฒนาความรู้ตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า ปัญหาเด็กเกิดน้อยส่งผลกระทบต่อโครงสร้างเศรษฐกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ตัวชี้วัดหนึ่งคือดัชนีตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งเป็นภาพสะท้อนเศรษฐกิจในขณะนั้นๆ โดยดัชนีเหล่านี้มาจากผลการดำเนินธุรกิจของธุรกิจในประเทศไทยทั้งหมด
“โครงสร้างของประชากรที่เปลี่ยนแปลงไป จะส่งผลต่อการลดลงของประชากรในวัยแรงงาน และเมื่อสัดส่วนของผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น ตรงนี้จะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยและจะสะท้อนออกมาผ่านดัชนีตลาดหลักทรัพย์ ดังนั้นการเตรียมการรับมือจึงเป็นเรื่องสำคัญและเร่งด่วน ฉะนั้นพลังจากหลายภาคส่วนจึงเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเรื่องนี้” นางพรรณวดี กล่าว
เช่นเดียวกับ นายนันทชัย ปัญญาสุรฤทธิ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวง กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า พยายามเรียกร้องให้ผู้ใช้แรงงานที่อยู่ในสถานประกอบการมีบุตรเพิ่มขึ้น ผ่านการผลักดันการสนับสนุนด้านเงินสงเคราะห์บุตรที่จะได้รับ 800 บาทต่อเดือน ตั้งแต่อายุ 0-6 ปี รวมไปถึงสิทธิรับค่าใช้จ่ายในการฝากครรภ์ หรือการลาเพื่อคลอดบุตรกำหนดจำนวนวันลาเป็น 98 วัน โดยได้รับค่าจ้างเต็มจำนวนซึ่งประกันสังคมจ่าย 50% ของจำนวนวันลา 98 วัน แต่ตามกฎหมายในขณะนี้ การจ่ายค่าจ้างครอบคลุมเพียง 90 วัน จึงเห็นได้ว่าจำนวนวันลา 8 วัน ที่เพิ่มขึ้นนั้น ลูกจ้างยังไม่ได้รับความคุ้มครองในเรื่องค่าจ้าง ทั้งนี้ ต้องเร่งศึกษาและเสนอแนะเพิ่มเติมต่อกระทรวงฯ คือ สิทธิรับเงินสนับสนุนในภาวะมีบุตรยากในอนาคต
“นอกจากนี้ยังพยายามที่จะผลักดันให้มีศูนย์เด็กเล็กในสถานประกอบการขนาดใหญ่ ที่มีมากถึง 500,000 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งปัจจุบันมีศูนย์เด็กเล็กเพียง 102 แห่ง ลดจำนวนลงเพราะไม่มีมีการเด็กเกิด และขณะเดียวกันผู้ประกอบการไทยยังส่งเสริมให้แรงงานต่างด้าวมีลูก เพราะเป็นแรงงานมีฝีมือที่ขาดไม่ได้ มีศูนย์เด็กเล็ก มีพี่เลี้ยง มีครูให้การศึกษารองรับ ให้ที่พักสำหรับครอบครัว เพื่อให้แรงงานอยู่กับนายจ้างอย่างมีความสุข กลับกันกับไม่ได้มีการจูงใจให้แรงงานไทยมีลูก อาจจะด้วยปัจจัยที่คนไทยมีที่พักในประเทศ หรือมีโรงเรียนรองรับการศึกษาตามสิทธิอยู่แล้ว ” นายนันทชัย กล่าว
นายนันทชัย กล่าวอีกว่า ในอนาคตหากไม่มีการเร่งหาทางออกอาจจะทำให้ประกันสังคม ที่มีคนจ่ายเงินน้อยกว่าคนใช้เงิน หากเกษียณและส่งเงินเดือนสุดท้ายแก่ประกันสังคม จะได้รับเงินบำนาญ 50% จากที่นำส่งประกันสังคม ทั้งนี้ ได้มีการหารือเกี่ยวกับเกษียณอายุที่อาจจะขยายจาก 55 ปี หรือไม่ได้ทำงานในการรับเงินบำนาญ เป็น 60 ปี เพราะคนวัยนี้ก็ยังแข็งแรงและทำงานได้ ก็อาจจะรับเงินบำนาญได้ที่อายุ 65 ปี เป็นต้น
ปี 66 ไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์
น.ส.วรวรรณ พลิคามิน รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า ในปี 2566 ที่ประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ แต่คนมักเข้าใจผิดว่าเป็นสังคมสำหรับผู้สูงอายุ แต่ในความจริงเป็นสังคมสำหรับทุกช่วงวัย เพียงแต่สัดส่วนประชากรแต่ละช่วงวัยเปลี่ยนไป แบ่งเป็นผู้สูงวัย 20% วัยเด็กจำนวน 16% และวัยแรงงาน 63% แต่ในอีก 10 ปีข้างหน้าไทยจะเป็นสังคมสูงวัยระดับสุดยอด จะมีผู้สูงอายุมากถึง 28% วัยแรงงานจะลดลงเหลือเพียง 57% และวัยเด็ก 14% และในอีก 7 ปีข้างหน้าผู้สูงอายุอาจจะเพิ่มจำนวนถึง 1 ใน 3 ของประเทศ และวัยเด็กที่เกิดขึ้นลดลงเหลือเพียง 12% ในเชิงพื้นที่ยังพบว่าอัตราการเจริญพันธุ์รวมยอด (TFR ) กำหนดอยู่ที่ 1.6 คน แต่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลมีอัตราการเจริญพันธุ์ต่ำสุด
ครอบครัวสามี-ภรรยา ไม่มีลูกเพิ่มขึ้น 20%
น.ส.วรวรรณ กล่าวขยายว่า จากโครงสร้างประชากรดังกล่าว ปัจจุบันมีจำนวนประชากรไทยประมาณ 66 ล้านคน ด้วยการย่นย่อตัวเลขของ ธนาคารโลก (World Bank) ให้เห็นภาพ หากในปี 2508 ไทยมีเด็กเกิด 6 คน ในปี 2564 จะมีเด็กเกิดเพียง 1.3 คนเท่านั้น และได้มีการคาดประมาณการไว้ว่าเด็กประถมวัยจะลดจำนวนลง
โดยในปี 2566 มีเด็กประถมวัย 0-6 ปี จำนวน 4.3 ล้านคน แต่ในปี 2583 จะเหลือเพียง 3.1 ล้านคน ในขณะที่ปี 2564 อัตราการเสียชีวิตของทารกแรกเกิดประมาณ 2,700 คน คิดเป็น 5.2 คนต่อทารกแรกเกิดมีชีพ 1,000 คน หรือตายก่อนวัยอันควรด้วยอุบัติเหตุและจมน้ำกว่า 1,200 คน
นอกจากนี้ อีกสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญคือ ขนาดครอบครัว เพราะขนาดครอบครัวที่มีเพียงสามี-ภรรยา และไม่มีลูกเพิ่มขึ้น 20% ส่วนครอบครัวแบบพ่อแม่-ลูกลดลงเหลือ 52% และเด็กที่อยู่ในครัวเรือนยากจนมีถึง 3.5 แสนคน ทางด้านโภชนาการที่เด็กอายุต่ำกว่า 6 เดือนได้รับนมแม่อยู่ที่ 28.6% จึงทำให้เด็กโตสมวัยตั้งแต่ 0-5 ปีมีเพียง 73% เท่านั้น
ส่วนสถานที่เอื้ออำนวยต่อการดูแลเด็ก พบว่าสถานรับเลี้ยงเด็กที่เป็นศูนย์เด็กเล็กอายุ 0-2 ปี ยังคงมีเพียงแค่การนำร่องแห่งเดียวเท่านั้น ส่วนสถานรับเลี้ยงเด็กตั้งแต่อายุ 3 ปีขึ้นไปมีประมาณ 52,000 แห่ง ผ่านเกณฑ์มาตรฐานเพียง 76%
คนรุ่นใหม่วาง ‘การมีลูก’ คือเป้าหมายชีวิตลำดับท้าย
น.ส.วรวรรณ แสดงความเห็นถึงความท้าทายต่อการแก้ปัญหาเด็กเกิดน้อยว่า ความท้าทายในสถานการณ์ที่เกิดขึ้นคือ การเปลี่ยนแปลงทัศนคติของ Generation ที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากรและโครงสร้างครอบครัว สำหรับคน Gen X และ Y คือการมีบุตร เป็นเป้าหมายในชีวิตลำดับท้าย
ในอนาคตประชากรรุ่นใหม่จะเพิ่มมากขึ้น มีค่านิยมแต่งงานช้าลง อยู่เป็นโสดมากขึ้น ที่สำคัญคือการมีลูกไม่ใช่เป้าหมายลำดับต้นๆ ของคนรุ่นใหม่ ส่งผลต่ออัตราการเจริญพันธุ์ที่ลดลงในอนาคต และในอนาคตมีแนวโน้มที่ประชากรรุ่นใหม่จะเป็นผู้สูงอายุที่อยู่ลำพัง ไม่มีบุตรหลานพึ่งพิง
ทั้งนี้ การกำหนดนโยบายการมีบุตร อาจจะต้องศึกษานโยบายในต่างประเทศ ที่เคยมีการกำหนดนโยบายแต่ไม่ประสบความสำเร็จ อาทิ เกาหลีใต้ สิงคโปร์ สเปน และญี่ปุ่น อีกส่วนที่ท้าทายมากคือ การคลังของประเทศ ที่จัดเก็บภาษีรายได้น้อยลงเนื่องจากวัยแรงงานในอนาคตลดลง
เด็กเกิดน้อย อาจเป็นโอกาสพัฒนาด้านอื่น
น.ส.วรวรรณ กล่าวด้วยว่า ควรปัญหามองเด็กเกิดน้อยให้เป็นโอกาส การมีประชากรน้อยใช่ว่าจะมีแต่ข้อเสียทั้งหมด สิ่งเหล่านี้อาจสร้างโอกาสที่จะนำงบประมาณที่เหลือจากสัดส่วนเด็กที่น้อยลงนำไปสนับสนุนส่วนอื่นที่พัฒนาให้ดีขึ้นได้ ในเรื่องงบประมาณรายจ่ายด้านการศึกที่ลดลงเนื่องจากจำนวนเด็กเกิดลดลง สามารถนำไปบริหารการศึกษาในด้านอื่นๆ ได้ เป็นไปได้ว่าแรงงานอาจจะน้อยลง จึงต้องมีการปรับเปลี่ยนกระบวนทำงานด้วยนำนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีมาปรับใช้ และเป็นโอกาสที่จะรักษาจำนวนประชากรในระดับที่เหมาะสม ต่อการพัฒนาประเทศ ลดปัญหาการสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
ฉะนั้น การพัฒนาประชากรให้เพิ่ม อาจต้องดูความพร้อมโดยรวมของทั้งประเทศด้วย
“ประเด็นที่ควรให้ความสำคัญหลังจากนี้ ประการแรกคือการสร้างรากฐานที่ดีตั้งแต่ช่วงต้นของชีวิต ทั้งมิติครอบครัว การศึกษา ประการถัดมาคือการพัฒนาประชากรให้มีรายได้อย่างต่อเนื่อง อาทิ การยกระดับการพัฒนาคนด้านเศรษฐกิจ การส่งเสริมการ Upskill-Reskill การขยายโอกาสการทำงานของผู้สูงอายุ และประการสุดท้ายคือปรับรายได้ยามชราภาพให้เพียงพอ เช่น การส่งเสริมการออมภาคบังคับ การปฏิรูประบบการจัดเก็บภาษี” น.ส.วรวรรณ กล่าว
เด็กเกิดน้อย และด้อยคุณภาพ
ปัญหาเด็กแรกเกิดไม่ใช่แค่สัดส่วนประชากรของผู้สูงอายุจะมากขึ้นสวนทางกับอัตราการเกิดของเด็กเท่านั้น ยังมีปัญหาเรื่องของคุณแม่วัยใส การตายของเด็กแรกเกิด และการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรยังสูงด้วย นอกจากนี้ยังมีบางส่วนอีกที่เกิดมา ก็ยากจนแล้ว
น.ส.อภิญญา ชมภูมาศ อธิบดีกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า ผลกระทบเด็กเกิดน้อย ในเชิงภาพรวมของสังคม นอกจากในสังคมจะมีคำว่าเด็กเกิดน้อย ยังมีคำว่าเด็กด้อยคุณภาพ เนื่องจากเด็กที่เกิดในสภาวะของครอบครัวที่ไม่พร้อม การเลี้ยงดูไม่เหมาะสม
ขณะนี้ได้มีการดำเนินการส่งเสริมเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด โดยมีผู้ลงทะเบียนประมาณ 3.2 ล้านคน ผู้ที่ได้รับเงินอุดหนุนอยู่ 2.3 ล้านคน โดยเป็นครอบครัวที่รายได้ต่ำกว่า 100,000 บาทต่อปี นอกจากนี้ยังมีการส่งเสริมสำหรับคุณแม่วัยใส โครงการส่งเสริมการให้นมบุตรต่างๆ แต่ทางออกของปัญหาเด็กเกิดน้อยนี้ต้องร่วมมือกัน ไม่ใช่ปัญหาของคนใดคนหนึ่ง โดยได้มีการหารือการจัดสรรงบประมาณเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดแบบถ้วนหน้า ซึ่งได้รับการลงมติไปเมื่อ 2-3 เดือนที่แล้ว จึงคิดว่าอาจจะเป็นอีกแรงจูงในการมีลูก คลายความกังวลเรื่องภาระการเลี้ยงลูก
อย่างไรก็ตาม เราไม่สามารถปฎิเสธได้ว่าอัตราการเกิดน้อยของเด็กที่ลดลง ส่งผลกระทบต่อโครงสร้างสังคม และเศรษฐกิจ แต่การการผลักดันการแก้ไขปัญหา ‘เด็กเกิดน้อย’ ไม่เพียงแต่เป็นการแก้ไขปัญหาให้มีอัตราการเกิดที่มากขึ้นเพียงเท่านั้น แต่ยังต้องมีการวางแผนและเตรียมพร้อมในมิติอื่นๆ ด้วย เพื่อให้เด็กที่จะเกิดขึ้นมาเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพ และช่วยพัฒนาประเทศได้ต่อไป