ประเทศไทยคิดว่าเครื่องยนต์จากเยอรมนีจะมีความน่าเชื่อถือกว่า สำหรับเรือดำน้ำแบบ S26T อย่างไรก็ตาม เมื่อจีนได้ยืนยันถึงประสิทธิภาพของเครื่องยนต์แบบ CHD620 ประเทศไทยก็สิ้นสงสัยในเรื่องนี้ แม้ว่าในตอนนี้กองทัพเรือไทยกำลังตัดสินใจว่า “จะเอาเครื่องยนต์เยอรมนีดีหรือไม่” ก็ตาม แต่ในทางกลับกันคาดว่ากองทัพเรือไทยอาจจะต่อรองและเรียกร้องมากขึ้นก็เป็นได้
ความคืบหน้าล่าสุดเกี่ยวกับการจัดหาเรือดำน้ำจากประเทศจีน ณ เวลานี้ ค่อนข้างจะมีความสับสน เพราะเมื่อวันที่ 1 ก.ย.ที่ผ่านมา พล.ร.อ.เชิงชาย ชมเชิงแพทย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) กล่าวว่าได้ลงนามเห็นชอบเครื่องยนต์ CHD 620 ที่ผลิตจากบริษัทของจีนเพื่อติดตั้งในเรือดำน้ำ S26T เรียบร้อยแล้วหลังจากคณะทำงานในการเจรจาเรื่องดังกล่าวได้พูดคุยกับ บริษัท CSOC ที่ประเทศจีนหลายรอบ
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 4 ก.ย.กลับมีข่าวว่านายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมออกมาให้สัมภาษณ์ว่าจะให้คำตอบเกี่ยวกับเรื่องเรือดำน้ำในภายหลัง และตอนนี้ยังไม่ตัดสินใจในทางใดทางหนึ่ง
ทำให้ยังไม่แน่ชัดว่าตอนนี้หน้าตาของเรือดำน้ำในอนาคตของกองทัพเรือไทยจะเป็นอย่างไร
อย่างไรก็ตามสื่อของประเทศจีนได้ออกบทความระบุว่าการที่ประเทศไทยยอมหาเรือดำน้ำจากประเทศจีนถือว่าเป็นเรื่องดีและเป็นประโยชน์กับไทย อีกทั้งการซ้อมรบ Blue Strike 2023 ระหว่างทัพเรือไทยและจีน ณ เวลานี้ก็จะทำให้กองทัพเรือไทยสามารถเข้าใจเรือดำน้ำจีนและอาจจะมีความสนใจในยุทโธปกรณ์อื่นๆของประเทศจีน
สำนักข่าวอิศรา(www.isranews.org) จึงได้นำเอาบทความจากสื่อจีนมานำเสนอ เพื่อลงรายละเอียดว่าทางประเทศจีนคิดอย่างไรกับปัญหาสัญญาเรือดำน้ำของไทย มีรายละเอียดดังนี้
ตามข้อมูลรายงานข่าวของสื่อสำนักข่าวซินหัวและสื่ออื่นๆ ประเทศจีนและไทยได้ร่วมกันซ้อมรบ Blue Strike 2023 ในช่วงเดือน ก.ย.ที่ฐานทัพเรือสัตหีบ ประเทศจีนได้ส่งกองเรือรบ เฮลิคอปเตอร์ และกองกำลังอื่นๆมาร่วมฝึกซ้อม
แต่ภาพที่โดดเด่นก็คือภาพเรือดำน้ำรุ่น Type 039 ของจีนที่เข้าฝึกซ้อมร่วมกับเรือจักรีนฤเบศร ปรากฏอยู่ทั่วอินเตอร์เนท พร้อมกับข่าวว่า พล.ร.อ.เชิงชาย ชมเชิงแพทย์ ผบ.ทร.ได้ลงนามเห็นชอบ ให้ติดตั้งเครื่องยนต์ CHD 620 แทนเครื่องยนต์จากประเทศเยอรมนี เพื่อใช้ติดตั้งในเรือดำน้ำ S26T
โรงงานผลิตเครื่องยนต์ CHD 620 ในประเทศจีน
ทำไมการมาถึงของเรือดำน้ำรุ่น Type 039 ถึงมีความสำคัญ เพราะว่าเรือดำน้ำรุ่น S26T เป็นเรือดำน้ำขนาด 1,800 ตันที่ใช้ระบบ AIP โดยเรือดำน้ำรุ่นนี้เป็นเรือดำน้ำรุ่นส่งออกที่พัฒนามาจากรุ่น 039B ประเทศจีนได้มีการพัฒนาเรือดำน้ำรุ่น Type 039 มากว่าหลายปีแล้ว ทำให้มีความรู้ในเทคโนโลยีด้านนี้
กองทัพเรือไทยได้เซ็นสัญญากับประเทศจีนในปี 2560และคาดว่าจะสามารถสั่งต่อเรือดำน้ำ S26T ได้หนึ่งลำและตอนนี้ก็พยายามสั่งซื้ออีกสองลำในภายหลัง
มูลค่าของเรือมีการระบุเป็นสองราคาคือ 393 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (13,842,442,500 บาท) สำหรับเรือหนึ่งลำและ 1.05 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (36,981,000,000 บาท) สำหรับเรือสามลำ
ย้อนไปเมื่อปี 2561 ประเทศไทยได้สั่งต่อเรือดำน้ำ S26T แต่หลังจากสั่งได้ไม่นาน โครงการนี้ก็ได้ดึงดูดให้มีการโจมตีจากตะวันตก โดยเยอรมนีได้อ้างมาตรการคว่ำบาตร เป็นข้ออ้างในการปฏิเสธไม่ส่งเครื่องยนต์ดีเซลแบบ MTU396 ให้ หลังจากนั้นประเทศไทยก็ลังเลและถึงขั้นมีข่าวว่าจะเลิกสัญญา
แน่นอนว่าเรื่องนี้เป็นไปไม่ได้ เพราะว่ากองทัพเรือไทยเชื่อว่ามันเป็นเรื่องจำเป็นยิ่งที่จะต้องมีเรือดำน้ำลำใหม่ เมื่อคำนึงถึงผลประโยชน์ของทางทะเลแล้ว ยิ่งไปกว่านั้นประเทศอื่นๆในเอเชียใต้ อาทิ ปากีสถาน ก็มีเรือดำน้ำรุ่น S-20 จากจีนจำนวนแปดลำ และยังมีเรือฟรีเกตรุ่น 054AP อีกจำนวนสี่ลำ
เรือดำน้ำ S20 ที่ประจำการใน ทร.ปากีสถาน
การมีเรือจำนวนดังกล่าว ส่งผลทำให้พลังทางทะเลที่เหนือกว่าของประเทศปากีสถานเริ่มจะเป็นที่ประจักษ์ ซึ่งประเทศไทยก็ได้เห็นสิ่งนี้ และตามธรรมชาติแล้วประเทศไทยก็จะให้ความสนใจมากขึ้นในโครงการเรือดำน้ำกับประเทศจีน
เหตุผลที่ไทยดิ้นรนในเรื่องเครื่องยนต์ที่ผ่านมาเป็นเพราะว่าประเทศไทยมีธรรมเนียมว่าจะต้องใช้ยุทธภัณฑ์จากตะวันตก ยกตัวอย่างเช่น เรือหลวงช้าง ซึ่งเป็นเรือยกพลขึ้นบกแบบ 071ET ขนาด 20,000 ตัน ที่ประเทศไทยได้สั่งจากประเทศจีน ก็ต้องมีการส่งคืนเพื่อให้ติดตั้งอุปกรณ์จากตะวันตก
ประเทศไทยคิดว่าเครื่องยนต์จากเยอรมนีจะมีความน่าเชื่อถือกว่า สำหรับเรือดำน้ำแบบ S26T อย่างไรก็ตาม เมื่อจีนได้ยืนยันถึงประสิทธิภาพของเครื่องยนต์แบบ CHD620 ประเทศไทยก็สิ้นสงสัยในเรื่องนี้ แม้ว่าในตอนนี้กองทัพเรือไทยกำลังตัดสินใจว่า “จะเอาเครื่องยนต์เยอรมนีดีหรือไม่” ก็ตาม แต่ในทางกลับกันคาดว่ากองทัพเรือไทยอาจจะต่อรองและเรียกร้องมากขึ้นก็เป็นได้
แต่ถ้าหากตัดสินจากสถานการณ์ตอนนี้ ปัญหาเรื่องเรือดำน้ำของไทยน่าจะคลี่คลายแล้ว
ถ้าหากเรือดำน้ำแบบ S26T สามารถส่งออกไปที่ประเทศไทยได้แล้ว ความร่วมมือทางทหารและทางเทคนิค ระหว่างกองทัพไทยและกองทัพจีนก็จะฝังรากลึกขึ้นไปอีก เพราะการที่ประเทศไทยให้การยอมรับเครื่องยนต์แบบ CHD620 ก็เท่ากับยอมรับเทคโนโลยีอุปกรณ์หลักของจีนแล้ว
ตอนนี้ก็คือว่าถ้าเรือดำน้ำรุ่น S26T สามารถเปิดตัวในประเทศไทยได้แล้ว คำถามถัดมาก็คือว่าประเทศไทยจะพิจารณาเลือกเรือฟรีเกตแบบ 054AP ในขั้นตอนถัดไปได้หรือไม่ เพราะว่าการซ้อมรบในครั้งนี้ก็มีความเกี่ยวข้องกับเรือฟรีเกตแบบ 054A
ดังนั้นเราจะต้องรอดูว่าประเทศไทยจะตัดสินใจอย่างไรต่อไป
เรียบเรียงจาก: https://new.qq.com/rain/a/20230902A05CU200