“…การฟ้องร้องครั้งนี้ จึงเป็นประเด็นสำคัญ เพราะฟ้องให้รัฐทำหน้าที่ของตนเอง ซึ่งในการฟ้องร้องครั้งนี้ ไม่ได้เพื่อเรียกร้องค่าเสียหายที่ตนได้ผลกระทบ แต่เป็นการฟ้องเพื่อให้รัฐกลับมาปฏิบัติหน้าที่เพื่อดูแลสิทธิของประชาชน ผมถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ในกรณที่รัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติคุ้มครองสิทธิเอาไว้ให้ชัดเจน…”
ฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) คือฝุ่นที่เล็กกว่า 1 ใน 25 ส่วนของเส้นผ่าศูนย์กลางของเส้นผมมนุษย์ สามารถเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ ถุงลมในปอดและกระแสเลือดโดยตรง เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเรื้อรัง
จากสถานการณ์ปัญหามลพิษทางอากาศฝุ่นละออง PM 2.5 ตั้งแต่ช่วงปี 2557 – 2563 พบว่าหลายพื้นที่โดยเฉพาะพื้นที่กรุงเทพมหานครและพื้นที่ภาคเหนือของไทย มีค่าฝุ่นละออง PM 2.5 สูงกว่าค่ามาตรฐานฝุ่นละออง PM 2.5 ในบรรยากาศโดยทั่วไปมาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ประชาชนต้องประสบกับปัญหามลพิษทางอากาศที่รุนแรงต่อสุขภาพอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลายาวนานกว่า 8 ปี
ข้อมูลของแหล่งกำเนิดฝุ่นในไทยระบุว่า ส่วนใหญ่มาจากการเผาในพื้นที่โล่ง ขณะที่ภาคอุตสาหกรรม มาเป็นอันดับที่ 3 คิดเป็นสัดส่วนเพียง 17% โดยนักสิ่งแวดล้อมส่วนใหญ่มองว่าสัดส่วนดังกล่าวอาจน้อยกว่าความเป็นจริง เพราะประเทศอื่นที่มีการแก้ปัญหาฝุ่น มักระบุว่าฝุ่นมาจากภาคอุตสาหกรรม ในสัดส่วนสูงถึง 30%
ด้วยปัญหาที่หนักหน่วงดังกล่าว ทำให้เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2565 มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) และกรีนพีซ ประเทศไทยเข้ายื่นหนังสือต่อกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงอุตสาหกรรมเพื่อเรียกร้องให้หน่วยงานรัฐทั้งสองแห่งปฏิบัติติตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง ปี 2562 แต่ไม่เกิดผล
เป็นเหตุให้ มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม กรีนพีซ ประเทศไทย มูลนิธิบูรณะนิเวศ สภาลมหายใจเชียงใหม่ สภาลมหายใจ-ภาคเหนือ และนักกิจกรรมทางสังคมอย่าง นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ประธานชมรมแพทย์ชนบท และนางสาวนันทิชา โอเจริญชัย ผู้ร่วมก่อตั้ง Climate Strike Thailand ร่วมกันยื่นฟ้อง ต่อศาลปกครองกลาง ต่อ 3 หน่วยงานภาครัฐ คือ คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ กระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะหน่วยงานผู้รับผิดชอบหลัก เมื่อ 22 มีนาคม 2565เพื่อให้หน่วยงานรัฐปฏิบัติหน้าที่ในการดำเนินงานเพื่อแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศจากฝุ่นละออง PM2.5 และคุ้มครองสิทธิการดำรงชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีและปลอดภัยต่อสุขภาพของประชาชน
ศาลรับคำฟ้องเป็นคดีปกครองหมายเลขดำที่ ส.6/2565 และได้มีการแถลงยืนยันถึงข้อเท็จจริงและเจตนารมณ์ในวันนัดนั่งพิจารณาคดีครั้งแรกเมื่อ 10 สิงหาคม 2566
คำฟ้องในคดีฝุ่น PM2.5 มีสาระสำคัญ 4 ประเด็น คือ
-
ให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติแก้ไขประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เรื่อง กำหนดมาตรฐานฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 5 ไมครอนในบรรยากาศทั่วไป ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล (WHO-IT3) ตามที่ได้มีการรับฟังความคิดเห็นไปแล้ว คือ ค่าเฉลี่ยราย 24 ชั่วโมงของฝุ่น PM 2.5 อยู่ที่ 37 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และค่าเฉลี่ยรายปีอยู่ที่ 15 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
-
ให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประกาศกำหนดค่าปริมาณของสารเจือปนในอากาศที่ระบายออกจากโรงงานสู่สิ่งแวดล้อม ให้มีค่าปริมาณฝุ่นละออง ขนาดไม่เกิน 5 ไมครอน ไม่เกินกว่ามาตรฐานที่กำหนดและเทียบเท่ามาตรฐานสากล
-
ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ออกหรือแก้ไขประกาศกำหนดค่าปริมาณของสารเจือปนในอากาศที่ระบายออกจากโรงงานสู่สิ่งแวดล้อม ให้มีค่าปริมาณฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 5 ไมครอน ไม่เกินกว่ามาตรฐานที่กำหนดและเทียบเท่ามาตรฐานสากล
-
ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมการจัดทำทำเนียบการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ (Pollutant Release and Transfer Register) และมีการกำหนดให้ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 5 ไมครอน อยู่ในบัญชีมลพิษและสารเคมีเป้าหมาย
ต่อมา เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2566 ศาลปกครองกลาง มีคำพิพากษาคดีฟ้อง ให้หน่วยงานรัฐดำเนินการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศจากฝุ่นละออง PM 2.5 โดยให้กระทรวงอุตสาหกรรมเร่งจัดทำทำเนียบการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ (Pollutant Release and Transfer Register) หรือเรียกว่า PRTR ภายใน 60 วันนับแต่คดีถึงที่สุด และพิพากษายกฟ้องในประเด็นการออกหรือแก้ไขประกาศกำหนดค่ามาตรฐานสารเจือปน ฝุ่น PM2.5 ในอากาศที่ระบายออกจากโรงงานสู่สิ่งแวดล้อมให้เทียบเท่ามาตรฐานสากล เนื่องจากเป็นอำนาจของฝ่ายปกครองในการพิจารณาที่ศาลไม่อาจก้าวล่วง
สำหรับประเด็นการปรับค่ามาตรฐานฝุ่น PM2.5 ในบรรยากาศทั่วไปให้เป็นไปตามมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก (WHO) ศาลเห็นว่าคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติได้ปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าจริง แต่เนื่องจากได้มีการประกาศปรับค่ามาตรฐานแล้วในระหว่างการพิจารณาของศาลเมื่อ 8 กรกฎาคม 2565 หลังจากภาคประชาชนฟ้องเร่งรัดคดีนี้เพียง 3 เดือน ศาลจึงไม่จำเป็นต้องกำหนดคำบังคับในประเด็นนี้
ภายหลังจากที่ศาลปกครองได้อ่านคำพิพากษา นายสุรชัย ตรงงาม เลขาธิการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า คำตัดสินของศาลปกครอง ถือเป็นการวางมาตรฐานคดีด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย โดยเฉพาะคดีเกี่ยวกับมลพิษทางอากาศที่มีผลกระทบต่อประชาชนคนไทยในวงกว้าง ซึ่งจะติดตามตรวจสอบให้รัฐมีมาตรการที่ชัดเจนในการลดฝุ่น PM2.5 ในบรรยากาศทั่วไป และจัดทำกฎหมายการรายงานและเปิดเผยข้อมูลการปล่อยและเคลื่อนย้ายสารมลพิษหรือ PRTR ให้เป็นไปตามคำพิพากษา สำหรับบางประเด็นที่ศาลยกฟ้อง เช่น การกำหนดค่ามาตรฐานจากปลายปล่องโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อลดฝุ่น PM2.5 จากต้นทาง มีสิทธิยื่นอุทธรณ์ภายใน 30 วัน เพื่อให้ศาลสูงตัดสินให้เป็นบรรทัดฐาน โดยจะทำการปรึกษากับภาคประชาสังคมในการอุทธรณ์ต่อไป
นางเพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวเพิ่มเติมว่า กฎหมายการรายงานและเปิดเผยข้อมูลการปล่อยและเคลื่อนย้ายสารมลพิษ หรือ PRTR คือ กฎหมายโดยตรงที่หลายประเทศทั่วโลกใช้แก้ปัญหามลพิษ ซึ่งจะแตกต่างจากกฎหมายสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน ที่เป็นกฎหมายคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในภาพรวม แต่กฎหมาย PRTR จะใช้ควบคุมโรงงานอุตสาหกรรมและแหล่งกำเนิดมลพิษต่างๆ โดยตรงให้สามารถลดการปล่อยมลพิษสู่สิ่งแวดล้อมได้
หัวใจสำคัญของกฎหมายนี้ที่ปฏิบัติกันทั่วโลกคือ การให้เผยแพร่ข้อมูลปริมาณและชนิดของมลพิษจากทุกแหล่งกำเนิดทางเว็บไซต์ให้ประชาชนรับรู้และเข้าถึงได้ง่าย ตามหลักสิทธิการเข้าถึงข้อมูลของประชาชน
“กฎหมายนี้จะทำให้เกิดฐานข้อมูลขนาดใหญ่ที่รวมทุกประเภทแหล่งกำเนิดมลพิษ ชนิดและปริมาณของมลพิษไว้ที่เดียวกัน ที่ให้ทุกหน่วยงานและประชาชนได้ใช้ประโยชน์ ประเทศไทยควรต้องมีการใช้กฎหมาย PRTR โดยเร็วเพื่อจะได้แก้ปัญหามลพิษอากาศได้อย่างมีประสิทธิภาพ” นางเพ็ญโฉม ระบุ
ส่วน น.ส.อัลลิยา เหมือนอบ นักรณรงค์ด้านมลพิษทางอากาศ กรีนพีซ ประเทศไทย กล่าวว่า แม้วันนี้ภาคประชาชนจะชนะคดีแล้ว แต่งานของเรายังไม่เสร็จจนกว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมจะหมดไป หลังจากนี้ภาคประชาสังคมจะยังคงจับตาการทำงานของรัฐบาลชุดใหม่ในเรื่องการแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่กำลังทำลายคุณภาพชีวิตของประชาชน และเรียกร้องให้รัฐบาลชุดใหม่มีความจริงจัง และลงมือจัดการเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน เพราะการปกป้องสุขภาพของประชาชนเป็นวาระเร่งด่วน
ดร.เดชรัต สุขกำเนิด นักเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร และผู้อำนวยการ Think Forward Center พรรคก้าวไกลกล่าวถึงคำพิพากษาในครั้งนี้ ว่า เป็นการฟ้องร้องในฐานะสิทธิของประชาชนที่จะฟ้องร้องต่อหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการกำกับดูแลและรับผิดชอบผลกระทบที่เกิดขึ้น
“การฟ้องร้องครั้งนี้ ไม่ได้เพื่อเรียกร้องค่าเสียหายที่ตนได้ผลกระทบ แต่เป็นการฟ้องเพื่อให้รัฐกลับมาปฏิบัติหน้าที่เพื่อดูแลสิทธิของประชาชน ผมถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ในกรณที่รัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติคุ้มครองสิทธิเอาไว้ให้ชัดเจน” ดร.เดชรัต กล่าว
ดร.เดชรัต กล่าวว่า ผลการตัดสินในครั้งนี้ จะเป็นการสร้างบรรทัดฐานให้กับหน่วยงานรัฐว่า ไม่สามารถละเลยผลกระทบหรือผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นที่กระทบต่อประชาชนได้ ถ้าไม่มีการตัดสินคดีนี้ รัฐบาลอาจจะมองว่าตนเองได้ใช้หน้าที่ตามขอบเขตที่มีอยู่แล้ว ผลการตัดสินที่ออกมาเป็นผลในทางบวก จะส่งผลให้หน่วยงานรัฐทำหน้าที่อย่างเต็มที่ ไม่เช่นนั้น อาจจะถูกภาคประชาชนฟ้องร้องดำเนินคดีอีกได้
ดร.เดชรัต กล่าวถึงประเด็นที่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ไม่มีบทบัญญัติเดี่ยวกับสิทธิในการอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี ว่า โดยในช่วงปี 2540 -2557 รัฐธรรมนูญได้มีบทบัญญัติ หมวดสิทธิและเสรีภาพ ระบุว่า บุคคลมีสิทธิที่จะมีส่วนร่วมกับรัฐและชุมชนในการบำรุง รักษา และได้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมเพื่อให้ดำารงชีพอยู่ได้ อย่างปกติและต่อเนื่องในสิ่งแวดล้อมที่จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ อนามัย ต่อมารัฐธรรมนูญปี 2560 ไม่ได้มีบทบัญญัติที่เขียนในลักษณะเดียวกันว่าประชาชนมีสิทธิในการอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี
ฉะนั้น ควรจะเพิ่มเติมบทบัญญัติให้ชัดเจน เนื่องจากเมื่อไม่มีบทบัญญัติที่ชัดเจน หลายคนอยาจจะสงสัยว่าสิทธิยังมีอยู่หรือไม่ โดยการพิจารณาคดีในครั้งนี้ของศาล ชี้ให้เห็นแล้วว่า “แม้ไม่ได้ใส่ไว้ในรัฐธรรมนูญ ไม่ได้แปลว่าสิ่งนั้นจะหายไป”
ดร.เดชรัต สุขกำเนิด นักเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร
เช่นเดียวกับ นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ประธานชมรมแพทย์ชนบท หนึ่งในผู้ร่วมฟ้อง กล่าวว่า การฟ้องร้องคดีในครั้งนี้ถือเป็นชัยชนะที่งดงาม โดยเริ่มตั้งแต่ทันทีที่เริ่มฟ้อง หลังจากนั้นไม่นาน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ประกาศกำหนดมาตรฐานฝุ่นละออง PM 2.5 ในบรรยากาศทั่วไป ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล โดยค่าเฉลี่ยราย 24 ชั่วโมงของฝุ่นละออง PM 2.5 อยู่ที่ 37 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และค่าเฉลี่ยรายปีของฝุ่นละออง PM 2.5 อยู่ที่ 15 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งแต่เดิมค่ามาตรฐานของ PM2.5 ในประเทศไทยยังสูงเกินไปและสูงกว่าค่าแนะนำคุณภาพอากาศโดย WHO ถึงเกือบ 5 เท่า และเมื่อมีการออกประกาศมาตรฐานใหม่ ส่งผลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ปรับและอออกประกาศให้สอดคล้อง
“โดยภาพรวม ก็เป็นคดีสำคัญอีกหนึ่งคดี ที่ภาคประชาชนฟ้องต่อศาลให้ ส่วนราชการเร่งรีบในการดำเนินมาตรการในการลดผลกระทบต่อประชาชน เพราะปกติเราก็จะเรียกร้องกับหน่วยรัฐนั้น ๆ โดยตรง แต่ก็ไม่ค่อยประสบความสำเร็จเท่าไหร่” นพ.สุภัทร ระบุ
สำหรับการฟ้องร้องคดี #ฟ้องทะลุฝุ่น นี้ ไม่ใช่คดีแรกที่ภาคประชาชนฟ้องต่อศาลเรื่องปัญหามลพิษทางอากาศนี้ แต่ใน 2 ปีนี้ มีการฟ้องร้องไปแล้วรวม 5 คดีจากการรวมตัวเพื่อต่อสู้และฟ้องร้องของภาคประชาชน บ่งชี้ให้เห็นว่า รัฐยังให้ความสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาฝุ่นไม่เพียงพอและไม่สามารถจัดการบรรเทาความเดือดร้อนได้ ซึ่งเป็นกลุ่มประชาชนในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ที่รวมตัวกันเพื่อฟ้องร้องหน่วยงานภาครัฐ 4 คดี แบ่งเป็น คดีที่เสร็จสิ้นกระบวนการพิจารณาแล้ว 3 คดี และ 1 คดี อยู่ในขั้นตอนการพิจารณา
โดยคดีที่มีความน่าสนใจ และเป็นอีกหนึ่งคดีที่สร้างบรรทัดฐานใหม่ให้กับสังคม คือ คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร ระหว่าง นายสุชาติ พิชัย ผู้ฟ้องคดี และนายกรัฐมนตรี ผู้ถูกฟ้องคดี ที่ 1 คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2
ศาลได้วินิจฉัยว่า ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 2 ละเลยต่อหน้าที่ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 นายกรัฐมนตรี ละเลยต่อหน้าที่ตามพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควรในการป้องกัน บรรเทาและแก้ไขปัญหาควันหรือฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่
ศาลปกครองเชียงใหม่พิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองกำหนดมาตรการที่มีประสิทธิภาพและรวดเร็ว เพื่อใช้ในการระวัง ป้องกัน บรรเทา และแก้ไขปัญหาควันหรือฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน ในเขตจังหวัดเชียงใหม่ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต พิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ร่วมกันใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 พระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งดำเนินการอื่นใดเพื่อระวัง ป้องกัน บรรเทา และแก้ไขปัญหามลพิษอันเกิดจากควันหรือฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน ในบรรยากาศโดยทั่วไป และเกณฑ์ดัชนีคุณภาพอากาศของประเทศในระดับดีมาก หรือระดับดีต่อสุขภาพของประชาชนและสิ่งแวดล้อมในอนาคตได้อย่างทันท่วงที
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าศาลปกครองจะมีคำพิพากษาคดีแล้ว ภาคประชาชนจะได้รับชัยชนะในเบื้องต้นแล้ว แต่หลังจากนี้ ประชาชนก็ยังคงจะจับตาและติดตามการทำงานของหน่วยงานภาครัฐต่อไป เพื่อให้มั่นใจว่า การเข้าถึงอากาศสะอาดคือสิทธิขั้นพื้นฐานของพวกเราทุกคน