รัฐบาลไทยที่ทำหน้าที่หลังจากนี้ควรจะเปิดช่องทางการสื่อสารเอาไว้กับเผด็จการทหารเมียนมา ควบคู่ไปกับการสื่อสารว่าระบอบเผด็จการทหารนั้นไม่ถูกต้องตามกฎหมาย และประเทศอาเซียนอื่นๆควรอยู่ในวงสนทนาเหล่านี้ด้วย หรืออย่างน้อยก็ควรจะติดตามเนื้อหาสําคัญที่กล่าวถึงโดยการเจรจาเหล่านี้ นอกจากนี้ กรุงเทพ ควรกระชับความสัมพันธ์อย่างไม่เป็นทางการกับ NUG ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น เช่นเดียวกองกําลังติดอาวุธชนกลุ่มน้อยหัวรุนแรงที่ยังคงปฏิบัติการในเมียนมา เป้าหมายที่ครอบคลุมในที่นี้คือการโน้มน้าวให้ทุกฝ่ายทราบถึงความเป็นไปได้และคุณค่าในการหยุดยิงบางส่วนหรือการลดระดับความรุนแรงว่าสำคัญอย่างไร
สถานการณ์ทางการเมืองในประเทศไทยตอนนี้เข้าสู่โหมดจัดตั้งรัฐบาลอย่างเต็มรูปแบบ ภายหลังจากที่นายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย ได้รับการเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรี ภาคสาธารณชนต่างก็เฝ้าจับตาว่านโยบายต่างๆที่ได้มีการหาเสียงไว้จะสามารถทำได้จริงมากน้อยแค่ไหน
อย่างไรก็ตาม มีปัญหาหนึ่งที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยไม่อาจจะละเลยได้ ซึ่งก็คือปัญหาเมียนมาที่อาจจะส่งผลกระทบต่อประเทศไทยในหลายมิติ
โดยสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้นำเอาบทวิเคราะห์ของสำนักข่าว Diplomat ที่รายงานว่าเหตุใดประเทศไทยจึงควรต้องเข้าไปยุ่งกับเหตุการณ์ที่เมียนมามานำเสนอ
มีรายละเอียดดังนี้
เป็นเวลาสองปีกว่าแล้วนับตั้งแต่ที่พล อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่ายได้ก่อเหตุรัฐประหาร ทำให้เมียนมาอยูในวิกฤติการเมือง มีการประเมินว่ามีผู้เสียชีวิตจากเหตุความไม่สงบกว่า 3,800 ราย ผู้ถูกจับกุมอีก 23,000 ราย โดยภาวะสงครามกลางเมืองในเมียนมา ยังส่งผลทำให้เกิดวิกฤติมนุษยธรรมเนื่องจากมีผู้ที่ต้องพลัดพรากจากถิ่นฐานเดิมเป็นจำนวนอย่างน้อย 1.6 ล้านคน .ซึ่งที่ อ.แม่สะเรียง จ. แม่ฮ่องสอน แค่เพียงอำเภอเดียว ก็พบว่ามีผู้ลี้ภัยที่ต้องอาศัยความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมถึง 9,000 คน
ขณะที่ความพยายามของอินโดนีเซียประธานประชาคมกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียนที่ดำเนินการกดดันเมียนมา ให้เดินหน้าตามฉันทามติห้าข้อที่ได้มีการตกลงกันไว้เมื่อเดือน เม.ย. 2564 ก็ดูจะไม่บรรลุผลเท่าที่ควรนัก
นายดอน ปรมัตถ์วินัย แก้ต่างเรื่องพบปะกับ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย (อ้างอิงวิดีโอจาก Thai Examiner)
@จุดยืนของประเทศไทย
ความท้าทายดังกล่าวที่ว่ามานี้ จึงนำไปสู่คำถามว่าประเทศไทย ในฐานะสมาชิกอาเซียนที่มีความเชื่อมโยงกับเมียนมากที่สุดทั้งในด้านภูมิศาสตร์ และในด้านประวัติศาสตร์ ควรจะมีบทบาทที่ใหญ่กว่านี้หรือไม่ ซึ่งเป็นที่ชัดเจนแล้วว่าที่ผ่านมาประเทศไทยมีจุดยืนที่ค่อนข้างโดดเด่นและมีความหมายชัดเจนสองประการด้วยกัน
ประการแรกคือประเทศไทยนั้นมีส่วนได้ส่วนเสียชัดเจนมาก ในการทำให้เกิดสันติภาพในเมียนมา และประการที่สองก็คือในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน ประเทศไทยอยู่ในตำแหน่งที่ดีที่สุดในการเดินหน้าไกล่เกลี่ยระหว่างกองทัพเมียนมา,รัฐบาลเงาเอกภาพแห่งชาติหรือว่า NUG,สาธารณชนเมียนมา และกองกำลังติดอาวุธฝ่ายต่อต้านอื่นๆ
โดยในประการที่สองนั้นเป็นที่พิสูจน์แล้วว่า สถาบันทางการเมืองของประเทศไทยมีทั้งบุคลากรและมนุษยสัมพันธ์มากที่สุดทั้งในการจะเข้าถึงผู้นำกองทัพเมียนมา ทั้งในอดีตและปัจจุบัน กองทัพไทยและกองทัพเมียนมาถือว่ามีการทำงานที่ประสานกันอย่างใกล้ชิดทั้งในด้านการรักษาสันติภาพในภูมิภาคและการต่อต้านการค้ายาเสพติด
ขณะที่นายพลของทั้งไทยและเมียนมาก็ดูเหมือนว่าจะมีความสัมพันธ์กันฉันมิตรเป็นการส่วนตัว ยกตัวอย่างเช่นในปี 2555 มิน อ่อง หล่าย ถูกระบุว่าเป็นลูกเลี้ยงของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อดีตผู้บัญชาการกองทัพไทย และในตอนที่ประเทศไทยมีรัฐประหารในปี 2557 รัฐบาลหลังการรัฐประหารก็ได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการจากกองทัพเมียนมา และเป็นที่ทราบกันดีว่ารัฐบาลทั้งสองสนับสนุนความร่วมมือทางเศรษฐกิจและความมั่นคงที่เกี่ยวข้องกับสามเหลี่ยมทองคําอันโด่งดัง
ในตอนนี้เมื่อประเทศไทยเตรียมที่จะมีรัฐบาลใหม่ ซึ่งเป็นรัฐบาลพลเรือน และกำลังจะมีการแต่งตั้งตัวแทนของกองทัพอย่างชัดเจนในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า กองทัพไทยก็จะยังเป็นผู้เล่นที่สำคัญภายในประเทศไทย ความสัมพันธ์อันยาวนานระหว่างกองทัพไทยกับกองทัพเมียนมา ก็ควรที่จะถูกควบคุมโดยฝ่ายบริหาร เพื่อที่จะติดตามในเรื่องของการทำสัมปทานต่างๆระหว่างกัน
โดยเมื่อคำนึงถึงประเด็นที่นักเคลื่อนไหวและนักโทษทางการเมืองถูกกดขี่ในเมียนมา นี่อาจจะเป็นประโยชน์ต่อรัฐบาลที่นำโดยพรรคเพื่อไทยที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงนโยบายของประเทศไทยเกี่ยวกับเมียนมา โดยเฉพาะในประเด็นซึ่งมีความอ่อนไหวและมีข้อสงสัยในเรื่องศีลธรรม
ประการถัดมา ประเทศไทยและเมียนมา เป็นประเทศซึ่งมีความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจระหว่างกันค่อนข้างสูงเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากว่ามีพรมแดนระหว่างกันของทั้งสองประเทศอยู่ที่ 2,416 กิโลเมตร ซึ่งถือว่ายาวที่สุดเมื่อเทียบกับเพื่อนบ้านทั้งหมดของไทย นี่จึงทำให้ประเทศไทยเป็นคู่ค้าอันดับสองของเมียนมา แม้ว่าการค้าระดับทวิภาคีจะลดลงในช่วงไม่กี่ปีที่ผานมาก็ตาม ด้วยเหตุผลเรื่องความไม่มั่นคงทางการเมือง และข้อจำกัดทางชายแดนที่มีลักษณะคุ้มเข้มมากขึ้น
โดยข้อจำกัดที่กองทัพเมียนมาได้กำหนด ทั้งในเรื่องของการส่งออกและการนำเข้า ที่ต้องการให้มีความเท่าเทียมกัน ข้อบังคับว่าการชำระเงินจะต้องกระทำผ่านธนาคารที่ควบคุมโดยรัฐบาลทหาร ได้ทำลายความเชื่อมั่นทางธุรกิจ รวมทั้งสร้างคอขวดขนาดใหญ่ที่บริเวณจุดผ่านแดนทางบก นอกจากนี้ ตลาดแรงงานของเมียนมายังเผชิญกับความเปราะบางอย่างมาก โดยการหยุดชะงักที่เกี่ยวข้องกับสงครามส่งผลให้ภาคการผลิตของแรงงานลดลงร้อยละ 10 ตั้งแต่ปี 2562 โดยเกือบครึ่งหนึ่งของครัวเรือนประสบปัญหาการเข้าถึงอาหารจากเหตุการณ์นี้
ดังนั้นเมื่อพิจารณาถึงปัญหาเกี่ยวกับธุรกิจเหล่านี้ประกอบกับการพึ่งพาเมียนมาในเรื่องการนำเข้าพลังงานอย่างมีนัยสําคัญได้เน้นย้ำถึงความจําเป็นเร่งด่วนที่กรุงเทพฯจะต้องดําเนินการ เพื่อการรักษาเสถียรภาพและฟื้นฟูห่วงโซ่อุปทาน และการรักษาผลประโยชน์ของธุรกิจและนักลงทุนไทยในประเทศ
อีกประการหนึ่ง ก็คือประเทศไทยมีบทบาทสําคัญในการกําหนดมุมมองและยุทธศาสตร์ทางการทูตที่อาเซียนนํามาใช้มาอย่างยาวนาน ในฐานะหนึ่งในสมาชิกผู้ก่อตั้งองค์กรและเป็นผู้มีบทบาทสําคัญในระดับภูมิภาคในช่วงสงครามเย็น โดยประเทศไทยเป็นผู้ประกาศใช้ "การทูตเชิงผู้ไกล่เกลี่ย" นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2504 เป็นต้นมา ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงที่ประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซียได้เผชิญหน้ากันด้วยประเด็นเรื่องข้อพิพาทเกี่ยวกับเกาะบอร์เนียว
จากกรณีนี้ประเทศไทยจึงได้พยายามสร้างพื้นที่ที่เป็นกลางสําหรับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อให้เป็นกลุ่มเศรษฐกิจที่มีเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นศูนย์กลางและขับเคลื่อนไปด้วยกัน ซึ่งในที่สุดแนวคิดนี้ก็นำไปสู่การจัดตั้งอาเซียนในปี พ.ศ. 2510
ข่าวกองทัพเมียนมาขยายสถานการณ์ฉุกเฉิน ควบคู่ไปกับกระแสข่าวว่ากองทัพเมียนมาอาจเสียเปรียบในการรบ (อ้างอิงวิดีโอจาก First Post)
นับแต่นั้นเป็นต้นมา ประเทศไทยมีบทบาทสําคัญในหลายเหตุการณ์ ทั้งกรณีการเปลี่ยนแปลงของระบอบเผด็จการในกัมพูชา การสนับสนุนการจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียนในช่วงทศวรรษที่ 1990 และจัดการกับความท้าทายที่เกิดจากกลุ่มก่อความไม่สงบตามแนวชายแดนไทย-มาเลเซียและในฟิลิปปินส์ตอนใต้
แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ความสามารถในการไกล่เกลี่ยของประเทศไทยดูเหมือนว่าจะลดลงเนื่องจากความสนใจของประเทศไทยได้เปลี่ยนไปสู่การสร้างสมดุลระหว่างปักกิ่งและวอชิงตันและห่างไกลจากการแทรกแซงที่ไม่ใช่ทางทหารในข้อพิพาทและความขัดแย้งในภูมิภาค ดังนั้นหากไทยต้องการรื้อฟื้นบทบาทผู้นําภายในอาเซียน ก็จําเป็นต้องมีบทบาทมากขึ้นในการแก้ไขวิกฤติของเมียนมา
@ทำไมเรื่องนี้ไม่สามารถดำเนินการได้เพียงฝ่ายเดียว
ความรับผิดชอบของประเทศไทยไม่สามารถจะบรรลุได้เพียงแค่การกระทำจากฝ่ายเดียว การพบกันของทั้งสองประเทศเมื่อต้นเดือนกรกฎาคมระหว่างนายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไทยและนางออง ซาน ซูจี ในช่วงสามวันก่อนการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนอย่างเป็นทางการในวันที่ 11-12 ก.ค. ได้ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อความพยายามของกลุ่มภูมิภาคอาเซียนที่ต้องการจะผลักดันฉันทามติห้าข้อ
และที่สำคัญ การพบปะของนายดอนกับนางออง ซาน ซูจี ยังอยู่ภายใต้การจัดการของรัฐบาลที่กำลังจะหมดอำนาจ ส่งผลทำให้กองทัพเมียนมาได้รับชัยชนะในเรื่องของการประชาสัมพันธ์อย่างท่วมท้น และทำให้เกิดประโยชน์เพียงน้อยนิดกับฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหาร อีกทั้งคำกล่าวอ้างว่านางออง ซาน ซูจี เห็นชอบในการเจรจาที่ไม่มีเงื่อนไขใดๆ ก็ยังไม่สามารถยืนยันได้อีกด้วยว่าเป็นเรื่องจริงหรือไม่
นี่จึงสรุปได้ว่าการกระทำแค่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเพียงลำพัง จะไม่ประสบผลสำเร็จ ถ้าหากกองทัพเมียนมาได้เลือกไทยจากประเทศอาเซียนทั้งหมดให้มาเป็นคู่เจรจา นี่ก็อาจจะเป็นแนวโน้มที่จะผลักดันให้ไทยต้องไปปะทะกับอำนาจอื่นๆในอาเซียนอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่เมียนมาได้รับแรงกดดันที่ลดลงมาอีก โดยจะเหลือแค่แอดประเทศสมาชิกอาเซียนเท่านั้นที่ยังคงดำเนินการกดดันเมียนมาต่อไป
ความเคลื่อนไหวดังกล่าวนี้ ยังจะส่งผลทำให้พลังซอฟต์พาวเวอร์และพลังด้านความมั่นคงของประเทศไทยถูกบั่นทอนลงด้วย เมื่อมองผ่านมุมมองของรัฐบาลจากประเทศอื่นๆ และยังจะลดการตรวจสอบของอาเซียนต่อการละเมิดสิทธิต่างๆของรัฐบาลทหารของเมียนมา
โดยพื้นฐานแล้ว ฉันทามติห้าข้อได้ยืนยันมาตลอดแล้วว่า วิกฤติในเมียนมาทั้งหมดจะต้องถูกกำกับดูแลตามหลักการพื้นฐานของอาเซียน อย่างไรก็ตาม มีความจำเป็นยิ่งที่จะต้องดำเนินวิธีการใหม่ๆเพื่อจะหาทางต่อต้านการหลบเลี่ยงหรือบิดพลิ้วไม่ยอมทำตามฉันทามติที่ว่ามานี้ ซึ่งประชาคมอาเซียนจะต้องมีการยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่าฉันทามติห้าข้อที่ว่านี้คือสิ่งที่ไม่ว่าอย่างไรจะต้องปฏิบัติตาม
ทั้งนี้การพบปะกันระหว่างฝ่ายไทยและเมียนมา ยังทำให้กองทัพเมียนมาดูมีภาพเหมือนกับว่าเป็นตัวแทนของประชาชนเมียนมา ขณะที่รัฐบาลไทยที่กำลังจะหมดอำนาจลงก็เผชิญความเสี่ยงว่าจะทำลายดุลยภาพอันละเอียดอ่อนของอาเซียนซึ่งมีความแตกต่างระหว่างกันอยู่แล้ว
ดังนั้นหนทางที่ควรจะเป็นก็คือ ประเทศไทยซึ่งดำเนินวิธีทางการทูตแบบเข้าถึงตัว ควรจะต้องมีการประสานงานกับประเทศอื่นๆ อาทิ ประเทศอินโดนีเซีย ที่ใช้วิธีการทูตแบบรับสุ่ง เพื่อทำให้การดำเนินงานของทั้งสองประเทศสอดคล้องกัน ไม่ควรที่ประเทศใดประเทศหนึ่งจะใช้แค่วิธีของตัวเองเพียงอย่างเดียว
สำนักข่าวอิรวดีของเมียนมารายงานข่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งกำลังจะลงจากอำนาจได้ส่งสาส์นยืนยันความสัมพันธ์ไปยังเผด็จการทหารเมียนมา
@การทูตเชิงรุกและสันติภาพ
ฝ่ายบริหารชุดใหม่ของประเทศไทย ควรลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานการสนับสนุนด้านมนุษยธรรมที่มากขึ้นสําหรับผู้ลี้ภัยที่เข้ามา และช่วยเหลือผู้พลัดถิ่นภายในและผู้ประสบภัยจากความขัดแย้งทางที่กําลังดําเนินอยู่ในเมียนมา
พลเรือนที่เข้ามาควรได้รับการจัดเตรียมและจัดสรรอย่างระมัดระวังเพื่อลดภาระที่จะถูกส่งต่อไปถึงประเทศเมียนมาอื่นๆ อาทิ พลเรือนที่เข้ามาลี้ภัยใน อ.แม่สายและ อ.แม่สอด โดยเรื่องนี้ประเทศมหาอำนาจอื่นๆเช่นจีนและสหรัฐอเมริกาควรจะต้องยื่นมือเข้ามาให้การสนับสนุน เช่นเดียวกับประเทศอาเซียนที่ควรจะมีบทบาทร่วมกันในแผนสนับสนุนทางการเงิน โดยให้ประเทศไทยเป็นแกนหลักในการดำเนินการเรื่องโครงการด้านมนุษยธรรม
รัฐบาลไทยที่ทำหน้าที่หลังจากนี้ควรจะเปิดช่องทางการสื่อสารเอาไว้กับเผด็จการทหารเมียนมา ควบคู่ไปกับการสื่อสารว่าระบอบเผด็จการทหารนั้นไม่ถูกต้องตามกฎหมาย และประเทศอาเซียนอื่นๆควรอยู่ในวงสนทนาเหล่านี้ด้วย หรืออย่างน้อยก็ควรจะติดตามเนื้อหาสําคัญที่กล่าวถึงโดยการเจรจาเหล่านี้ นอกจากนี้ กรุงเทพ ควรกระชับความสัมพันธ์อย่างไม่เป็นทางการกับ NUG ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น เช่นเดียวกองกําลังติดอาวุธชนกลุ่มน้อยหัวรุนแรงที่ยังคงปฏิบัติการในเมียนมา เป้าหมายที่ครอบคลุมในที่นี้คือการโน้มน้าวให้ทุกฝ่ายทราบถึงความเป็นไปได้และคุณค่าในการหยุดยิงบางส่วนหรือการลดระดับความรุนแรงว่าสำคัญอย่างไร
นอกจากนี้ ไทยควรให้ความสําคัญกับการเจรจาแบบปิด โดยมีข้อกําหนดที่ชัดเจนในการหยุดยิง ระหว่างทุกฝ่ายที่มีส่วนได้ส่วนเสีย ทั้งภายในเมียนมา กับกลุ่ม NUG และกลุ่มใหญ่อื่นๆ และในพื้นที่อื่นๆ ในอาเซียน การหารือแต่ละครั้งควรขับเคลื่อนโดยวัตถุประสงค์ที่กําหนดไว้อย่างแม่นยําและบรรลุผลได้อย่างชัดเจน
เช่น การจัดตั้งและบํารุงรักษาทางด้านมนุษยธรรม สถานะและสวัสดิภาพของนักโทษการเมือง และความมั่นคงของชายแดนเมียนมา-ไทย โดยบางคนอาจโต้แย้งว่าสิ่งที่กล่าวมาข้างต้นอาจเป็นการเปิดพื้นที่มากเกินไปต่อรัฐบาลทหาร และการบังคับให้แสดงความรับผิดชอบอย่างเบ็ดเสร็จ ควรเป็นสิ่งเดียวที่อาเซียนจะยอมรับ
อย่างไรก็ตาม หากมองอีกมุมถึงสิ่งที่จะได้กลับมาจากการแสดงความเห็นอกเห็นใจ ก็อาจเป็นไปได้ว่ากองทัพเมียนมาจะยอมรับการลดอิทธิพลของตัวเอง เช่นเดียวกับการลดระดับความรุนแรง และความขัดแย้ง แต่ถ้าหากบังคับกองทัพเมียนมาให้กระทำอย่างใดอย่างหนึ่ง การกระทำนี้ก็จะดูไร้ประโยชน์ไปในทันที
ประเทศไทยควรแสดงฝ่ายพลเรือนได้เห็นถึงบทบาทของตัวเองในการเป็นนายหน้าเพื่อสันติภาพ ซึ่งรวมถึงการรับประกันเสรีภาพและสิทธิของนักโทษการเมืองที่ยังคงถูกคุมขังหรือหลบซ่อนตัวในเมียนมา เพื่อที่ในที่สุดแล้วสิ่งนี้จะสามารถแก้ไขปัญหาความแตกแยกในอาเซียนได้ ซึ่งสิ่งนี้จำเป็นต้องถูกจัดการอย่างเร่งด่วน
โดยเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมกับนักการทูตระดับสูงของเมียนมา รวมถึงคู่เจรจาจากกัมพูชาและลาว โดยมีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศของเวียดนามอยู่ด้วย การประชุมดังกล่าวไม่ได้มีประเทศในอาเซียนอีกห้าประเทศเข้าร่วม ซึ่งได้ตัดสินใจประสานงานกับรัฐบาลทหารอย่างเปิดเผยอย่างเป็นระบบ
นี่จึงเป็นข้อบ่งชี้ว่าอาเซียนควรต้องมีแผนงานที่นำไปสู่การทําให้เป็นมาตรฐานโดยมีวัตถุประสงค์ที่กําหนดไว้อย่างชัดเจนซึ่งรวมไปถึงการร่วมกันปูทางเพื่อฟื้นฟูการปกครองของพลเรือนในเมียนมาจะต้องได้รับการเสนอ ควบคู่ไปกับการออกมาตรการลงโทษ นอกเหนือจากการคว่ำบาตรเพียงอย่างเดียว
โดยนี่คือรูปแบบที่ดีที่สุดที่ประเทศไทยสามารถดำเนินการร่วมกับประเทศอื่นในอาเซียน เพื่อจะอาศัยการพึ่งพาซึ่งกันและกันในการจะแก้ไขปัญหาเมียนมาให้ผ่านพ้นไปได้
เรียบเรียงจาก:https://thediplomat.com/2023/08/why-thailand-should-mediate-the-crisis-in-myanmar/