"...กรณีพักราชการข้าราการตุลาการรายที่สอง เป็นผลมาจากข้อร้องเรียนเมื่อครั้งปฏิบัติหน้าที่ในศาลอุทธรณ์จังหวัดแห่งหนึ่งในภาคอีสาน ถูกร้องเรียนว่า ให้การช่วยเหลือนักการเมืองท้องถิ่นรายหนึ่ง ในการยกคำร้องที่กรรมการการเลือกตั้งจังหวัดพิจารณาให้ใบแดง ...มีหลักฐานประกอบการร้องเรียน เป็นข้อมูลที่ข้าราชการตุลาการรายนี้ไปเที่ยว ณ สถานที่แห่งหนึ่งกับทนายนักการเมืองท้องถิ่น และซื้อรถจากธุรกิจเครือญาติการเมืองท้องถิ่นรายนี้ในราคาถูก..."
กรณีเมื่อวันที่ 15 ส.ค.2566 สำนักงานศาลยุติธรรม ได้เผยแพร่มติที่ประชุมคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) เกี่ยวกับการตั้งคณะกรรมการสอบสวนและพักราชการข้าราชการตุลาการ จำนวน 2 ราย
ข้าราชการตุลาการรายแรก เคยเป็นอดีตหัวหน้าศาลจังหวัดในภาคใต้ ปัจจุบันเป็นผู้พิพากษาระดับหัวหน้าคณะในศาลแพ่งแห่งหนึ่ง
มติคณะกรรมการ ก.ต.ระบุว่า พิจารณารายงานผลการสอบสวนข้อเท็จจริงข้าราชการตุลาการรายนี้ กรณีประพฤติตนไม่เหมาะสม ไม่ให้เกียรติข้าราชการตุลาการชั้นผู้ใหญ่ คุกคามทางเพศผู้ช่วยผู้พิพากษาหญิง แสดงตนเป็นผู้กว้างขวางคบหากับบุคคล ซึ่งต้องครหาด้านชื่อเสียงอันอาจกระทบกระเทือนต่อศรัทธาของบุคคลทั่วไปในการประสาทความยุติธรรมไม่ยึดถือในจริยธรรมและประเพณีอันดีงามของตุลาการ ทำให้เสียเกียรติศักดิ์แห่งตำแหน่งหน้าที่ราชการ และไม่ปฏิบัติตามระเบียบแบบแผนประเพณีปฏิบัติของทางราชการและจริยธรรมของข้าราชการตุลาการตามที่ ก.ต. กำหนด ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543 มาตรา 60 และมาตรา 62 ประกอบประมวลจริยธรรมข้าราชการตุลาการ พ.ศ. 2552 ข้อ 35 และข้อ 43 การกระทำดังกล่าวมีมูลเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง เห็นควรตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543 มาตรา 69
ข้าราชการตุลาการรายที่สอง เป็นผู้พิพากษาระดับประธานแผนกในศาลอุทธรณ์ภาค ระบุมติเพียงแค่ว่าเป็นการพิจารณากรณีพักราชการ
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้รับการเปิดเผยข้อมูลจากแหล่งข่าวในสำนักงานศาลยุติธรรม ว่า การพิจารณากรณีพักราชการข้าราการตุลาการรายที่สองนั้น เป็นผลมาจากข้อร้องเรียนเมื่อครั้งปฏิบัติหน้าที่ในศาลอุทธรณ์จังหวัดแห่งหนึ่งในภาคอีสาน
โดยข้าราการตุลาการรายนี้ ถูกร้องเรียนว่า ให้การช่วยเหลือนักการเมืองท้องถิ่นรายหนึ่ง ในการยกคำร้องที่กรรมการการเลือกตั้งจังหวัดพิจารณาให้ใบแดง หลังนักการเมืองท้องถิ่นรายนี้ชนะเลือกตั้งเข้ารับตำแหน่งนายกเทศมนตรี และมีการส่งเรื่องขึ้นมาที่ศาลอุทธรณ์
มีหลักฐานประกอบการร้องเรียน เป็นข้อมูลที่ข้าราชการตุลาการรายนี้ไปเที่ยว ณ สถานที่แห่งหนึ่งกับทนายนักการเมืองท้องถิ่น และซื้อรถจากธุรกิจเครือญาติการเมืองท้องถิ่นรายนี้ในราคาถูก หลังจากที่มีการยกคำร้องคดีนี้ไปแล้ว
เบื้องต้น ข้าราการตุลาการ รายนี้ ถูกตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง และถูกชี้มูลความผิด ก่อนที่จะมีการตั้งสอบสวนการกระทำความผิดวินัยร้ายแรง และถูกสั่งให้พักราชการดังกล่าว
ส่วนข้อมูลเกี่ยวกับ ข้าราชการตุลาการรายแรก มีข้อมูลเพิ่มเติมว่า เหตุการณ์คุกคามทางเพศผู้ช่วยผู้พิพากษาหญิง เกิดขึ้นในระหว่างการจัดอบรมหลักสูตรระดับอาจารย์ผู้ช่วยผู้พิพากษา ซึ่งมีการนำคณะผู้ฝึกอบรม เดินทางไปศึกษาดูงานในจังหวัดแห่งหนึ่ง
"กรณีข้าราชการตุลาการรายแรกนั้น ที่ผ่านมา ได้มีการตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง และถูกชี้มูลความผิดเหมือนกัน ก่อนถูกเสนอเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการ ก.ต.เพื่อตั้งคณะกรรมการสอบสวนความผิดวินัยอย่างร้ายแรง ตามที่ปรากฏเป็นข่าว" แหล่งข่าวในสำนักงานศาลยุติธรรม ระบุ
สำนักข่าวอิศรา รายงานว่า สำหรับพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543 มาตรา 69 ระบุว่า ในกรณีที่การสอบสวนข้อเท็จจริงในชั้นต้นปรากฎมีมูลว่า ข้าราชการตุลาการใดกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงที่มีโทษถึงไล่ออก ปลดออก หรือให้ออก ให้ประธานศาลฎีกา แต่งตั้งคณะกรรมการซึ่งประกอบด้วยกรรมการซึ่งเป็นข้าราชการตุลาการและเป็นผู้ซึ่งไม่มีส่วนได้เสียหรือเกี่ยวข้องในเรื่องนั้นขึ้นอย่างน้อยสามคนเพื่อทำการสอบสวน
ขณะที่ มาตรา 70 ระบุว่า ในการสอบสวนตามมาตรา 69 คณะกรรมการสอบสวนต้องแจ้งข้อกล่าวหาและสรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหาให้ผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยทราบ โดยไม่ต้องระบุชื่อพยานก็ได้ และต้องให้สิทธิแก่ผู้ถูกกล่าวหาชี้แจงและนำพยานหลักฐานเข้าสืบแก้ข้อกล่าวหาได้ด้วย
หลักเกณฑ์การสอบสวนและวิธีการสอบสวนให้เป็นไปตามระเบียบที่ ก.ต. กำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
ให้คณะกรรมการสอบสวนดำเนินการสอบสวนให้แล้วเสร็จภายในกำหนดระยะเวลาสามสิบวันนับแต่วันได้รับแต่งตั้ง เว้นแต่กรณีมีเหตุจำเป็นที่ทำให้การสอบสวนไม่แล้วเสร็จภายในกำหนดระยะเวลานั้น ก็ให้ขยายระยะเวลาออกไปอีกได้ไม่เกินสองครั้งโดยแต่ละครั้งจะต้องไม่เกินสิบห้าวัน และต้องแจ้งให้ประธานศาลฎีกาทราบพร้อมทั้งแสดงเหตุที่ต้องขยายเวลาไว้ด้วยทุกครั้ง แต่ถ้าขยายระยะเวลาแล้วการสอบสวนยังไม่แล้วเสร็จคณะกรรมการสอบสวนจะขยายเวลาต่อไปอีกได้ ต่อเมื่อได้รับอนุมัติจากประธานศาลฎีกา ตามระเบียบที่ ก.ต. กำหนด ทั้งนี้ ต้องไม่เกินหนึ่งร้อยแปดสิบวัน
เมื่อคณะกรรมการสอบสวนได้ทำการสอบสวนเสร็จแล้ว ให้จัดทำรายงานความเห็นเสนอต่อประธานศาลฎีกา และให้ส่งรายงานดังกล่าวต่อเลขานุการ ก.ต. เพื่อดำเนินการเสนอต่อคณะอนุกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมประจำชั้นศาลตามมาตรา 47 วรรคสอง พิจารณากลั่นกรองเสนอความเห็นภายในระยะเวลาที่ ก.ต. กำหนด
เมื่อ ก.ต. ได้พิจารณารายงานความเห็นของคณะกรรมการสอบสวนและคณะอนุกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมประจำชั้นศาลแล้ว มีมติว่าข้าราชการตุลาการผู้นั้นกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง สมควรไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกจากราชการ หรือมีมติเป็นประการอื่นใด ก็ให้ประธานศาลฎีกามีคำสั่งให้เป็นไปตามมตินั้น
จากข้อมูลด้านกฎหมาย จะเห็นได้ว่า ข้าราชการตุลาการ 2 ราย ยังมีโอกาสชี้แจงและนำพยานหลักฐานเข้าสืบแก้ข้อกล่าวหาเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ของตนเองในชั้นคณะกรรมการสอบสวนความผิดวินัยร้ายแรง ได้อีก
คดียังไม่สิ้นสุด ต้องนับว่า ข้าราชการตุลาการ 2 ราย ยังเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่
ส่วนข้อมูลเชิงลึกอื่นๆ หากมีเพิ่มเติม สำนักข่าวอิศรา จะนำมาเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบต่อไป