"...ส่วนกรณีที่ ผู้ฟ้องคดีอ้างว่า ถูกข่มขู่ทั้งทางตรงและทางอ้อมจากคณะบุคคลซึ่งเข้ายึดอํานาจการปกครอง ทําให้ผู้ฟ้องคดีไม่สามารถไปปฏิบัติราชการตามปกติ นั้น ไม่ปรากฏพยานหลักฐานสนับสนุน ข้อกล่าวอ้างของผู้ฟ้องคดี และข้ออ้างที่ว่า ภายหลังการยึดอํานาจเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 มีการใช้อํานาจเรียกให้ผู้ฟ้องคดีไปรายงานตัว หากไม่ไปรายงานตัวตามคําสั่งก็อาจถูกดําเนินคดีได้ นั้น เป็นเพียงการคาดการณ์ล่วงหน้าของผู้ฟ้องคดี..."
หลังจากเก้าปี คดีระหว่างธรรมศาสตร์กับผม ศาลปกครองสูงสุดตัดสินแล้ว ผลปรากฎว่า ธรรมศาสตร์ ชนะ (เป็นอาจารย์ยี่สิบปีไม่ได้เงินบำเหน็จเลยแม้แต่สลึง)
คือ ข้อความที่ นายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อดีตอาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปัจจุบันลี้ภัยอยู่ในต่างประเทศ โพสต์เอาไว้ใน เฟซบุ๊กส่วนตัว ต่อกรณี ศาลปกครองสูงสุด พิพากษายกฟ้อง ในคดีที่นายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ยื่นฟ้องอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา กรณีสั่งลงโทษไล่ออกจากราชการ โดยอ้างเหตุว่าผู้ฟ้องคดีกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง เนื่องจากจงใจไม่ปฏิบัติหน้าที่ราชการตามระเบียบแบบแผนในเรื่องการลาและการปฏิบัติตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา
ศาลปกครองสูงสุด วินิจฉัยพฤติการณ์ว่า การที่ผู้ฟ้องอ้างไม่มาทำงานเพราะกฎอัยการศึก ไม่ใช่เหตุผลอันสมควร ไม่สามารถนำมาอ้างได้ ผู้ฟ้องเป็นผู้ที่ทำงานมายาวนานจึงทราบดีว่าการมาปฏิบัติหน้าที่เป็นเรื่องสำคัญ
ผู้ฟ้องคดีได้ละทิ้งการปฏิบัติหน้าที่ราชการติดต่อกันเกิน 15 วัน ตั้งแต่วันที่ 18 ธ.ค. 57 โดยไม่มีเหตุอันสมควร และจงใจไม่ปฏิบัติตามระเบียบของราชการ เป็นความผิดวินัยร้ายแรง สมควรลงโทษไล่ออกจากราชการ ดังนั้น คำสั่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ลงโทษไล่ผู้ฟ้องออกจากราชการนั้นชอบด้วยกฎหมายแล้ว
ส่วนข้อเท็จจริงที่ว่า พลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย (ประธานผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) ที่เป็นหนึ่งใน คสช. และ นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) ที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ จะทำหน้าที่ไม่เป็นกลาง นั้นเป็นการคาดการณ์ของผู้ฟ้องคดีเท่านั้น
ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาไม่เห็นพ้องตามศาลปกครองชั้นต้น ที่พิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ และเพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2
ศาลพิพากษากลับคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น เป็นยกฟ้อง
เกี่ยวกับคดีนี้ สำนักข่าวอิศรา เห็นว่าเป็นคดีทางปกครองที่มีความสำคัญต่อสังคมไทยคดีหนึ่ง จึงขอนำข้อมูลเกี่ยวกับคำฟ้องของ นายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ผู้ฟ้องคดี และคำให้การของอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จำเลยที่ 1 และคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ก.พ.อ.) ก่อนที่ ศาลปกครองสูงสุด จะมีคำพิพากษาดังกล่าวมานำเสนอเป็นทางการ ณ ที่นี้ อีกครั้ง
@ คำฟ้อง "สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล"
คดีนี้ผู้ฟ้องคดี ฟ้องว่า เมื่อครั้งที่ผู้ฟ้องคดีเป็นข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาตําแหน่งอาจารย์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ สังกัดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย จากการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มีคําสั่งที่ 356/2558 ลงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2558 ไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ
โดยอ้างเหตุว่า ผู้ฟ้องคดีไม่มาปฏิบัติราชการ และรับมอบหมายภาระงานสอน อันเป็นการจงใจไม่ปฏิบัติหน้าที่ราชการตามระเบียบ แบบแผน ของทางราชการ ในเรื่องการลาและการปฏิบัติตามคําสั่งผู้บังคับบัญชา ทําให้มหาวิทยาลัยฯ ได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง และเป็นการละทิ้งหน้าที่ราชการติดต่อในคราวเดียวกันเป็นเวลาเกินกว่าสิบห้าวันโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร ถือเป็นการกระทําผิดวินัยอย่างร้ายแรง
ผู้ฟ้องคดีเห็นว่า คําสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากก่อนมีคําสั่งผู้ฟ้องคดีถูกดําเนินคดีในข้อหาความผิดตามมาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา และเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2557 มีคนร้ายใช้อาวุธปืนยิงบ้านของผู้ฟ้องคดี ผู้ฟ้องคดีจึงได้ยื่นเรื่องต่อคณบดีคณะศิลปศาสตร์ เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2557 ขออนุญาตลาไปปฏิบัติงานภายในประเทศเพื่อเพิ่มพูนความรู้ ทางวิชาการเพื่อทําวิจัย เรื่อง ปรัชญาประวัติศาสตร์และสังคมของเฮเกล เป็นเวลา 1 ปี นับตั้งแต่ วันที่ 1 สิงหาคม 2557 ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2558 ซึ่งหัวหน้าภาควิชาประวัติศาสตร์ และคณบดีคณะศิลปศาสตร์พิจารณาแล้วเห็นควรอนุมัติ และได้เสนอเรื่องให้คณะกรรมการประจําคณะศิลปศาสตร์พิจารณา
โดยระหว่างรอการอนุมัติผู้ฟ้องคดีได้ปฏิบัติหน้าที่ราชการตามปกติ ต่อมา เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติได้มีคําสั่ง เรียกให้ผู้ฟ้องคดีไปรายงานตัว แต่ผู้ฟ้องคดีไม่ได้ไปรายงานตัว
จากนั้น ในวันที่ 18 ธันวาคม 2557 คณะศิลปศาสตร์ได้มีหนังสือแจ้งผู้ฟ้องคดีว่า ตามที่ผู้ฟ้องคดีได้ขอลาไปปฏิบัติงานเพื่อเพิ่มพูนความรู้ทางวิชาการนั้น ภาควิชาได้ส่งเอกสารไปตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2557 เป็นเวลากว่า 5 เดือนแล้ว
แต่ฝ่ายวิชาการของมหาวิทยาลัยฯ ยังไม่ได้พิจารณาและแจ้งกลับมา ซึ่งเหลือเวลาอีกเพียง 3 สัปดาห์ ก็จะเปิดเรียนภาคการศึกษาที่ 2 ปีการศึกษา 2557 กรรมการภาควิชาประวัติศาสตร์จึงเห็นควรให้ผู้ฟ้องคดีกลับมาปฏิบัติราชการ
ผู้ฟ้องคดีเกรงว่า จะมีภัยอันตรายต่อสิทธิเสรีภาพและความปลอดภัยในชีวิตและร่างกายอย่างร้ายแรง
กรณีจึงมีเหตุจําเป็นทําให้ไม่สามารถไปปฏิบัติราชการได้ตามปกติ อีกทั้งการพิจารณาให้ผู้ฟ้องคดีลาไป ปฏิบัติงานเพื่อเพิ่มพูนความรู้เป็นไปอย่างล่าช้า ผู้ฟ้องคดีจึงได้ยื่นหนังสือขอลาออกจากราชการ เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2557 โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2557 เป็นต้นไป
ต่อมา เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2557 คณะศิลปศาสตร์ได้มีหนังสือแจ้งให้ผู้ฟ้องคดีกลับมาปฏิบัติราชการ โดยด่วน และเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2558 ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ได้มีคําสั่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ 356/2558 ลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ
โดยที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ยังไม่มีคําสั่งอนุมัติ คําขอไปปฏิบัติงานภายในประเทศเพื่อเพิ่มพูนความรู้ทางวิชาการ และยังไม่ได้อนุมัติหนังสือ ขอลาออกจากราชการของผู้ฟ้องคดีแต่อย่างใด
ทั้งนี้ ผู้ฟ้องคดีไม่ได้จงใจไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามระเบียบ แบบแผนของทางราชการ และไม่ได้จงใจที่จะไม่ปฏิบัติตามคําสั่งของผู้บังคับบัญชา
แต่เนื่องจาก ผู้ฟ้องคดีถูกข่มขู่คุกคามทั้งทางตรงและทางอ้อมจากคณะบุคคลทั้งก่อนและหลังการรัฐประหาร จึงจําเป็นที่ผู้ฟ้องคดีต้องอยู่ในที่ปลอดภัยเพื่อให้พ้นจากการข่มขู่ ทําให้ไม่สามารถไปปฏิบัติราชการได้ ประกอบกับการเรียกให้ผู้ฟ้องคดีไปรายงานตัวไม่ชอบด้วยกฎหมาย การไม่มาปฏิบัติงานของผู้ฟ้องคดี
จึงมีเหตุสมควร ไม่ใช่เป็นการละทิ้งราชการโดยไม่มีเหตุอันสมควร
อีกทั้งผู้ฟ้องคดีได้แสดงเจตนาลาออกทันที เพื่อรับผิดชอบเหตุที่ผู้ฟ้องคดีไม่สามารถมาทําการสอนได้
การที่ผู้ฟ้องคดีไม่แจ้ง เหตุจําเป็นที่ไม่ได้กลับมาปฏิบัติราชการตามคําสั่งคณะศิลปศาสตร์เป็นหนังสือต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 หรือคณะศิลปศาสตร์ เนื่องจากเห็นว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 จะมีคําสั่งอนุมัติหนังสือขอลาออกของผู้ฟ้องคดีในภายหลัง ประกอบกับผู้ฟ้องคดีไม่ได้มีพฤติการณ์อันจะทําให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 เสียชื่อเสียงหรือเสียหายในทรัพย์สิน
ในทางกลับกันที่ผู้ฟ้องคดีไม่ไปรายงานตัวต่อคณะรัฐประหารเป็นการยึดมั่น ในจรรยาบรรณของข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาที่ต้องสนับสนุนการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มีคําสั่งไล่ผู้ฟ้องคดี ออกจากราชการจึงเป็นคําสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเป็นการใช้ดุลพินิจไม่เหมาะสม ตามประกาศ ก.พ.อ. เรื่อง มาตรฐานการลงโทษทางวินัยข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา ลงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2550
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 จะต้องใช้ดุลพินิจในการสั่งลงโทษให้เหมาะสม พฤติการณ์แวดล้อม เหตุผลความจําเป็นประกอบด้วย
มิใช่อ้างเพียงมติคณะรัฐมนตรี แล้วลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการเนื่องจากเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง โดยไม่คํานึงถึงข้อเท็จจริง ซึ่งมติคณะรัฐมนตรีเป็นเพียงระเบียบภายในฝ่ายปกครองที่กําหนดแนวทาง การลงโทษข้าราชการ หาได้มีผลทางกฎหมายเป็นการหักล้างบทบัญญัติของกฎหมายระดับ พระราชบัญญัติ
อีกทั้งตามมาตรา 37 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 บัญญัติว่า คําสั่งทางปกครองจะต้องให้เหตุผลไว้ด้วย ซึ่งเหตุผลนั้นต้องประกอบด้วย ข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสําคัญ ข้อกฎหมายที่อ้างอิง ตลอดจนข้อพิจารณาและข้อสนับสนุน การใช้ดุลพินิจ
ถึงแม้ว่าคําสั่งลงโทษและค่าวินิจฉัยอุทธรณ์จะประกอบไปด้วยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายก็ตาม แต่หากไม่ปรากฏข้อพิจารณาและข้อสนับสนุนในการใช้ดุลพินิจ ย่อมเป็นการลงโทษที่ไม่เป็นธรรม
ผู้ฟ้องคดีได้มีหนังสือลงวันที่ 16 มีนาคม 2558 อุทธรณ์คําสั่งลงโทษ ต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 และเมื่อวันที่ 14 เมษายน 2558 ประเทศฝรั่งเศสได้ให้สถานะผู้ลี้ภัย แก่ผู้ฟ้องคดีและอนุญาตให้พักอาศัยอย่างถาวร
ต่อมา ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 พิจารณาอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีแล้วมีมติให้ยกอุทธรณ์ และแจ้งให้ผู้ฟ้องคดีทราบตามหนังสือสํานักงานคณะกรรมการ การอุดมศึกษา ที่ ศธ 0592(3)1.9/6266 ลงวันที่ 9 มิถุนายน 2558
@ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล
ผู้ฟ้องคดีจึงนําคดี มาฟ้องต่อศาลปกครองชั้นต้น
ขอให้ศาลมีคําพิพากษาหรือคําสั่ง ดังนี้
1. เพิกถอนคําสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ตามคําสั่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ 356/2558 ลงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2558 ที่ลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ
2. เพิกถอนคําวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ที่มีมติให้ยกอุทธรณ์ แจ้งตามหนังสือสํานักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ที่ ศธ 0592 (3) 1.9/6266 ลงวันที่ 9 มิถุนายน 2558
@ คำให้การ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ให้การว่า เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2557 ผู้ฟ้องคดี ได้ยื่นหนังสือขอลาไปปฏิบัติงานเพื่อเพิ่มพูนความรู้ทางวิชาการเพื่อทําวิจัย เรื่อง ปรัชญาประวัติศาสตร์และสังคมของเฮเกล กําหนดระยะเวลา 1 ปี นับตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2557 ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2558 ต่อคณบดีคณะศิลปศาสตร์ เป็นการลาโดยปลอดการสอน ไปปฏิบัติงานวิจัยเพื่อเพิ่มพูนความรู้ทางวิชาการ ในปีการศึกษา 2557 ตามโครงการเดิมที่ได้ ขอไว้ในปีการศึกษา 2545 ซึ่งที่ประชุมกรรมการภาควิชาประวัติศาสตร์มีมติอนุมัติการลา ไปปฏิบัติงานฯ
ต่อมา เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2557 หัวหน้าภาควิชาอนุมัติให้ผู้ฟ้องคดี ไปปฏิบัติงานภายในประเทศฯ และในวันที่ 23 มิถุนายน 2557 ที่ประชุมคณะกรรมการประจําคณะฯ เห็นว่า ผู้ฟ้องคดีเคยได้รับอนุมัติให้ไปปฏิบัติงานเพื่อเพิ่มความรู้ในเรื่องเดียวกัน ระหว่างวันที่ 1 มิถุนายน 2545 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2545 แต่ภาควิชาประสบปัญหาไม่มีผู้สอนตามปกติ แต่ไม่ได้ทําเรื่องยกเลิกการลา จึงมีมติเห็นชอบให้ยกเลิกการลาไปปฏิบัติงานในปีการศึกษา 2545 และให้ตรวจสอบ คุณสมบัติให้ครบถ้วน เพื่อเสนอผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 พิจารณาต่อไป
ต่อมา เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2557 คณบดีคณะศิลปศาสตร์ขออนุมัติยกเลิกการลาในครั้งก่อนของผู้ฟ้องคดีต่อรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ และในวันที่ 4 สิงหาคม 2557 ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิชาการแจ้งคณะศิลปศาสตร์ว่า หลักฐานที่ส่งมาไม่เพียงพอต่อการพิจารณา หัวหน้าภาควิชาจึงส่งหลักฐานให้ฝ่ายวิชาการ เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2557 คณะศิลปศาสตร์มีหนังสือถึงฝ่ายวิชาการเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2557 เพื่อขออนุมัติการไปปฏิบัติงานภายในประเทศฯ ของผู้ฟ้องคดี
ต่อมา เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2557 รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการแจ้งคณบดีคณะศิลปศาสตร์ เพื่อขอทราบข้อมูลการปฏิบัติงานของผู้ฟ้องคดี และในวันที่ 22 ธันวาคม 2557 คณบดีคณะศิลปศาสตร์แจ้งรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการว่า ผู้ฟ้องคดีไม่ได้มาปฏิบัติราชการ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการจึงมีหนังสือ ที่ ศธ 0516.06/185 ลงวันที่ 28 มกราคม 2558 ยกเลิกการขออนุมัติลาไปปฏิบัติงานภายในประเทศฯ ของผู้ฟ้องคดี เนื่องจากผู้ฟ้องคดีมิได้ปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัยแล้ว
โดยที่ระเบียบทบวงมหาวิทยาลัย ว่าด้วยการให้ ข้าราชการไปปฏิบัติงานเพื่อเพิ่มพูนความรู้ทางวิชาการ พ.ศ. 2523 แก้ไขเพิ่มเติมถึงปัจจุบัน (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2554 ข้อ 6 กําหนดให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 เป็นผู้พิจารณาอนุมัติให้ข้าราชการ ในสังกัดไปปฏิบัติงานเพื่อเพิ่มพูนความรู้ทางวิชาการ โดยให้ผู้ไปปฏิบัติงานยื่นคําขอเสนอ ต่อหัวหน้าภาควิชาเพื่อเสนอความเห็นต่อกรรมการประจําคณะ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 พิจารณา ตามลําดับชั้นการบังคับบัญชา
แต่เป็นไปโดยล่าช้า เหลือเวลาอีกเพียง 3 สัปดาห์ จะเริ่มเปิดเรียน ภาคการศึกษาที่ 2 ปีการศึกษา 2557 หัวหน้าภาควิชาจึงมีหนังสือลงวันที่ 18 ธันวาคม 2557 แจ้งผู้ฟ้องคดีให้กลับมาปฏิบัติราชการและมอบหมายภาระงานสอนแก่ผู้ฟ้องคดี
แต่ผู้ฟ้องคดี มิได้กลับมาปฏิบัติราชการ
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 จึงมีคําสั่งที่ 2599/2557 ลงวันที่ 19 ธันวาคม 2557 แต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง และคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงมีความเห็นว่า แม้การขอลา ไปปฏิบัติงานภายในประเทศฯ ของผู้ฟ้องคดีจะได้รับความเห็นชอบจากหัวหน้าภาควิชาและคณะกรรมการประจําคณะศิลปศาสตร์แล้วก็ตาม แต่ยังไม่ได้รับอนุมัติจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 กรณีจึงยังถือไม่ได้ว่าผู้ฟ้องคดีได้รับอนุมัติให้ไปปฏิบัติงานภายในประเทศฯ ซึ่งต่อมาหัวหน้าภาควิชา ได้มีหนังสือลงวันที่ 18 ธันวาคม 2557 แจ้งให้ผู้ฟ้องคดีกลับมาปฏิบัติงาน
แต่ผู้ฟ้องคดี มิได้มาปฏิบัติราชการ พฤติการณ์ของผู้ฟ้องคดีอาจเข้าข่ายเป็นการกระทําผิดวินัย กรณีละทิ้ง หน้าที่ราชการติดต่อในคราวเดียวกันเป็นเวลาเกินกว่าสิบห้าวันโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร หรือละทิ้งหน้าที่ราชการติดต่อในคราวเดียวกันเป็นเวลาเกินกว่าสิบห้าวัน
โดยมีพฤติการณ์อันแสดงถึงความจงใจ ไม่ปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการ และฐานจงใจไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ แบบแผน ของทางราชการ
ต่อมา ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มีคําสั่งที่ 86/2558 ลงวันที่ 26 มกราคม 2558 แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยผู้ฟ้องคดี ในการดําเนินการสอบสวนวินัย คณะกรรมการสอบสวน ได้มีหนังสือ ที่ ศธ 0516.50/57 ลงวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2558 ส่งบันทึกการแจ้งและรับทราบข้อกล่าวหาและสรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหาให้ผู้ฟ้องคดีทราบพร้อมกับให้โอกาสผู้ฟ้องคดียื่นคําชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา
แต่ผู้ฟ้องคดีมิได้ชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา เป็นหนังสือ คณะกรรมการสอบสวนพิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้ฟ้องคดียังมิได้รับอนุมัติให้ไปปฏิบัติงาน ภายในประเทศฯ เมื่อภาควิชาประวัติศาสตร์และคณะศิลปศาสตร์มีหนังสือลงวันที่ 18 ธันวาคม 2557 แจ้งให้ผู้ฟ้องคดีทราบว่า ระยะเวลาได้ล่วงเลยไปถึง 6 เดือนแล้ว ยังไม่ได้รับการพิจารณา อนุมัติจากมหาวิทยาลัยฯ จึงให้ผู้ฟ้องคดีกลับมาปฏิบัติราชการ และมอบหมายภาระงานสอน ในภาคการศึกษาที่ 2 ปีการศึกษา 2557 แต่ผู้ฟ้องคดีไม่กลับมาปฎิบัติราชการ และยังได้ยื่นหนังสือลงวันที่ 19 ธันวาคม 2557 ขอลาออกจากราชการ โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2557
ต่อมา คณะศิลปศาสตร์ได้มีหนังสือลงวันที่ 26 ธันวาคม 2557 แจ้งผู้ฟ้องคดีให้กลับมาปฏิบัติราชการ แต่ผู้ฟ้องคดียังคงเพิกเฉย
จากนั้น ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มีคําสั่งไม่อนุมัติการลาไปปฏิบัติงานในประเทศฯ ของผู้ฟ้องคดี
พฤติการณ์ของผู้ฟ้องคดีเป็นการจงใจไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามระเบียบ แบบแผน ของทางราชการเรื่องการลา และไม่ปฏิบัติตามคําสั่งผู้บังคับบัญชาซึ่งสั่งในหน้าที่ราชการโดยชอบ ด้วยกฎหมาย ทําให้มหาวิทยาลัยฯ ได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ชื่อเสียงและทรัพย์สิน ซึ่งเป็นเงินเดือนและเงินสวัสดิการอื่นๆ ที่มหาวิทยาลัยฯ และคณะศิลปศาสตร์ได้จ่ายให้แก่ผู้ฟ้องคดี ในระหว่างระยะเวลานั้น เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง
นอกจากนี้ การที่ผู้ฟ้องคดีไม่มาปฏิบัติราชการ ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2557 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นระยะเวลาเกินกว่าสิบห้าวัน โดยมิได้รับอนุมัติ การลาไปปฏิบัติงานในประเทศฯ และไม่ได้ยื่นขอลาประเภทอื่นไว้ ผู้ฟ้องคดีอ้างเหตุที่ลี้ภัย ไปต่างประเทศว่า เกรงจะได้รับภัยอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย และเสรีภาพ นั้น คณะกรรมการสอบสวน ได้นําหนังสือชี้แจงลงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2558 ของผู้ฟ้องคดีที่ชี้แจงว่า ผู้ฟ้องคดีไม่สามารถ มาให้ข้อมูลด้วยตนเองและไม่สามารถอยู่ปฏิบัติราชการเพื่อให้คณะบุคคลจับกุมอย่างไม่ชอบธรรม มาเป็นพยานหลักฐานประกอบการพิจารณาข้อกล่าวหาของผู้ฟ้องคดีแล้ว
@ สมคิด เลิศไพฑูรย์
คณะกรรมการสอบสวนวินัยพิจารณาแล้วเห็นว่า พฤติการณ์ของผู้ฟ้องคดีเป็นการละทิ้งหน้าที่ราชการติดต่อ ในคราวเดียวกันเป็นเวลาเกินกว่าสิบห้าวัน โดยมีพฤติการณ์อันแสดงถึงความจงใจไม่ปฏิบัติตามระเบียบ ของทางราชการ อันเป็นการกระทําความผิดวินัยอย่างร้ายแรงตามข้อ 55 (6) ของข้อบังคับ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าด้วยการดําเนินการทางวินัย การอุทธรณ์ และการร้องทุกข์ พ.ศ. 2551 แก้ไขเพิ่มเติมถึงปัจจุบัน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2555 เห็นควรลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2557 ซึ่งเป็นวันละทิ้งหน้าที่ราชการ โดยไม่มีเหตุอันควรลดโทษตามข้อ 61 (4) ของข้อบังคับดังกล่าว
ประกอบกับรองอธิการบดีฝ่ายกฎหมายได้ให้ความเห็นว่าในช่วงระยะเวลาระหว่างวันที่ 1 สิงหาคม 2557 ถึงวันที่ 17 ธันวาคม 2557 ยังมีความ ไม่ชัดเจนว่าผู้ฟ้องคดีได้รับอนุมัติให้ลาไปปฏิบัติงานภายในประเทศฯ ตามที่ได้ยื่นเรื่องไว้หรือไม่ การที่ผู้ฟ้องคดีไม่มาปฏิบัติราชการอาจเป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อนของผู้ฟ้องคดี
แต่เมื่อผู้ฟ้องคดี ไม่ได้ปฏิบัติราชการตามหนังสือลงวันที่ 18 ธันวาคม 2557 ที่คณะศิลปศาสตร์เรียกตัวให้กลับ การพิจารณาสั่งลงโทษควรมีผลนับตั้งแต่วันที่ 19 ธันวาคม 2557 เป็นต้นไป
ดังนั้น การที่ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มีคําสั่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ 356/2558 ลงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2558 ลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการโดยมีผลตั้งแต่วันที่ 19 ธันวาคม 2557 จึงเป็นการใช้ดุลพินิจ ที่ชอบด้วยกฎหมาย
สําหรับกรณีที่ผู้ฟ้องคดียื่นหนังสือขอลาออกจากราชการ นั้น เมื่อคณะศิลปศาสตร์ แจ้งเรื่องการขอลาออกของผู้ฟ้องคดีให้รองอธิการบดีฝ่ายบริหารทรัพยากรมนุษย์และกฎหมายทราบ เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2558
ต่อมา เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2558 กองการเจ้าหน้าที่ขอให้ รองอธิการบดีฝ่ายบริหารทรัพยากรมนุษย์และกฎหมายเสนอผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 พิจารณาอนุญาตการลาออก แต่ผู้ฟ้องคดีอยู่ระหว่างการสอบสวนวินัย ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 จึงหารือไปยังกองนิติการ กองนิติการมีความเห็นว่า หนังสือลาออกจากผู้ฟ้องคดีลงวันที่ 19 ธันวาคม 2557 ระบุว่ามีความประสงค์ขอลาออกจากราชการตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2557 แต่หัวหน้าภาควิชาประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาเหนือขึ้นไปชั้นหนึ่ง ได้รับหนังสือดังกล่าว ในวันที่ 6 มกราคม 2558 วันที่รับหนังสือลาออกดังกล่าวจึงเป็นวันยื่นหนังสือขอลาออก และไม่อาจถือได้ว่าวันที่ 30 ธันวาคม 2557 เป็นวันขอลาออกตามความประสงค์ของผู้ฟ้องคดีได้
เมื่อหนังสือขอลาออก ได้ยื่นในวันที่ 6 มกราคม 2558 ซึ่งไม่มีกําหนดวันขอลาออกไว้ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ไม่ได้อนุญาต เป็นลายลักษณ์อักษรให้ลาออก กรณีเป็นการยื่นหนังสือขอลาออกล่วงหน้าโดยมิได้ระบุวันลาออก จึงให้ถือว่าวันถัดจากวันครบกําหนด 30 วันนับแต่วันยื่น คือ วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2558 เป็นวัน ขอลาออก ทั้งนี้ ตามข้อ 4 ของข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าด้วยการลาออกจากราชการ พ.ศ. 2552 ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 เห็นชอบตามข้อเสนอดังกล่าว
@ คำให้การ คณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ก.พ.อ.) ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ให้การว่า ผู้ฟ้องคดีเมื่อครั้งดํารงตําแหน่งอาจารย์ ภาควิชา ประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ สังกัดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถูกตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรงตามคําสั่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ 86/2558 ลงวันที่ 26 มกราคม 2558 กรณีละทิ้งหน้าที่ราชการ เนื่องจากไม่ได้รับอนุมัติจากมหาวิทยาลัยฯ ให้ลาไปปฏิบัติงาน ภายในประเทศเพื่อเพิ่มพูนความรู้ทางวิชาการ ระหว่างวันที่ 1 สิงหาคม 2557 ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2558 และคณะศิลปศาสตร์ได้มีหนังสือลงวันที่ 26 ธันวาคม 2557 แจ้งให้ผู้ฟ้องคดี มาปฏิบัติราชการ
แต่ผู้ฟ้องคดีไม่มารายงานตัวเพื่อเข้าปฏิบัติราชการจนถึงปัจจุบัน ทําให้ มหาวิทยาลัยฯ ได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง คณะกรรมการสอบสวนได้กําหนดแนวทาง การสอบสวนตามข้อ 21 ของข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าด้วยการดําเนินการทางวินัย การอุทธรณ์ และการร้องทุกข์ พ.ศ. 2551 แก้ไขเพิ่มเติมถึงปัจจุบัน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2555 โดยปรับลดขั้นตอนการสอบสวนตามข้อ 26 และเริ่มกระบวนการสอบสวนตามขั้นตอนที่กําหนดไว้ ในข้อ 27 ของข้อบังคับดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม ข้อ 49 ของข้อบังคับเดียวกัน กําหนดว่า ในกรณีการสอบสวนตอนใดทําไม่ถูกต้องตามข้อบังคับนี้ นอกจากที่กำหนดไว้ในข้อ 46 ข้อ 47 และข้อ 48 ถ้าการสอบสวนนั้นไม่ใช่สาระสําคัญอันจะทําให้เสียความเป็นธรรม ผู้สั่งแต่งตั้ง คณะกรรมการสอบสวนจะสั่งให้แก้ไขหรือดําเนินการให้ถูกต้องหรือไม่ก็ได้
เมื่อพิจารณาข้อเท็จจริง จากหนังสือลงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2558 ที่ผู้ฟ้องคดีชี้แจงต่อคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงว่า ไม่สามารถมาให้ข้อมูลด้วยตนเองได้เนื่องด้วยเหตุผลทางการเมืองนั้น เป็นเหตุผลส่วนตัวของผู้ฟ้องคดีมิได้เกี่ยวข้องกับหน้าที่ราชการ
นอกจากนั้น ถึงแม้ว่าคณะกรรมการสอบสวนจะไม่ได้แจ้ง ข้อกล่าวหาและอธิบายข้อกล่าวหาให้ผู้ฟ้องคดีทราบ แต่ได้มีการแจ้งข้อกล่าวหาและสรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหาให้ผู้ฟ้องคดีทราบตามข้อ 27 ซึ่งถือเป็นขั้นตอนในส่วนที่ เป็นสาระสําคัญแล้ว กรณีจึงไม่มีผลทําให้การสอบสวนเสียไป
การที่ผู้ฟ้องคดีเพิกเฉยไม่กลับมา ปฏิบัติราชการตามหนังสือของหัวหน้าภาควิชา และตามหนังสือของคณบดีคณะศิลปศาสตร์ ลงวันที่ 26 ธันวาคม 2557 ที่แจ้งให้ผู้ฟ้องคดีกลับมาปฏิบัติราชการ และในท้ายที่สุด ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 พิจารณาแล้ว ไม่อนุมัติการลาของผู้ฟ้องคดี
@ พลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย
พฤติการณ์ของผู้ฟ้องคดีถือเป็นการจงใจไม่ปฏิบัติหน้าที่ราชการตามระเบียบ แบบแผนของทางราชการในเรื่องการลาและการปฏิบัติตามคําสั่งของผู้บังคับบัญชาซึ่งสั่งในหน้าที่ราชการโดยชอบด้วยกฎหมาย ทําให้มหาวิทยาลัยฯ เสียหาย อย่างร้ายแรงแก่ชื่อเสียงและทรัพย์สิน ซึ่งเป็นเงินเดือนและเงินสวัสดิการอื่นๆ ที่ได้จ่ายให้แก่ ผู้ฟ้องคดีในระยะเวลาระหว่างนั้น อันเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรงตามมาตรา 39 วรรคห้า แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ. 2547 และเป็นการละทิ้งหน้าที่ราชการติดต่อในคราวเดียวกันเป็นเวลาเกินกว่าสิบห้าวันโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร
และมีพฤติการณ์อันแสดงถึงความจงใจไม่ปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการ ตั้งแต่วันที่ 19 ธันวาคม 2557 จนถึงปัจจุบัน ถือเป็นการกระทําความผิดวินัยร้ายแรงตามข้อ 55 (6)ของข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าด้วยการดําเนินการทางวินัย การอุทธรณ์ และการร้องทุกข์ พ.ศ. 2551 แก้ไขเพิ่มเติมถึงปัจจุบัน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2555 ซึ่งต่อมาเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2558 คณะกรรมการสอบสวนได้รายงานผลการสอบสวนตามแบบ สว. 5 ต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่1 ในฐานะผู้สั่งแต่งตั้ง ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 จึงมีคําสั่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ 356/2558 ลงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2558 ลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ
โดยระบุเหตุผลและข้อกฎหมาย สอดคล้องตามรายงานการสอบสวน ผู้ฟ้องคดีได้อุทธรณ์คําสั่งดังกล่าวต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2558 ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ได้พิจารณาผลการกลั่นกรอง ของคณะอนุกรรมการเกี่ยวกับอุทธรณ์ ร้องทุกข์ และจรรยาบรรณ ในการประชุมครั้งที่ 4/2558 เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2558 แล้ว เห็นพ้องกับความเห็นของคณะอนุกรรมการฯ
ส่วนกรณีที่ ผู้ฟ้องคดีอ้างว่า ถูกข่มขู่ทั้งทางตรงและทางอ้อมจากคณะบุคคลซึ่งเข้ายึดอํานาจการปกครอง ทําให้ผู้ฟ้องคดีไม่สามารถไปปฏิบัติราชการตามปกติ นั้น ไม่ปรากฏพยานหลักฐานสนับสนุน ข้อกล่าวอ้างของผู้ฟ้องคดี และข้ออ้างที่ว่า ภายหลังการยึดอํานาจเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 มีการใช้อํานาจเรียกให้ผู้ฟ้องคดีไปรายงานตัว หากไม่ไปรายงานตัวตามคําสั่งก็อาจถูกดําเนินคดีได้ นั้น เป็นเพียงการคาดการณ์ล่วงหน้าของผู้ฟ้องคดี
ในส่วนการใช้ดุลพินิจพิจารณาโทษทางวินัย แก่ผู้ฟ้องคดีนั้น ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ในการประชุมครั้งที่ 5/2558 เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2558 พิจารณาแล้วเห็นว่า มติคณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2536 ได้กําหนดให้ การละทิ้งหน้าที่ราชการติดต่อในคราวเดียวกันเป็นเวลาเกินกว่าสิบห้าวัน โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร และไม่กลับมาปฏิบัติราชการ เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรงซึ่งควรลงโทษไล่ออก จากราชการ
แม้จะมีเหตุอันควรปรานีอื่นใดก็ไม่เป็นเหตุลดหย่อนโทษลงเป็นปลดออกจาก ราชการ และมติคณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2531 ให้ส่วนราชการกําชับเจ้าหน้าที่ให้ยึดถือปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีโดยเคร่งครัด กรณีที่ไม่สามารถปฏิบัติตามและหากฝ่าฝืนให้พิจารณาลงโทษทางวินัยทุกราย
นอกจากนั้น พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ. 2547 มาตรา 39 บัญญัติว่า ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาต้องปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย ระเบียบ แบบแผนของทางราชการ มติคณะรัฐมนตรี หรือนโยบายของทางราชการ การปฏิบัติหน้าที่ราชการ โดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบแบบแผนของทางราชการ มติคณะรัฐมนตรี หรือนโยบายของทางราชการ หรือขาดการเอาใจใส่ระมัดระวัง รักษาประโยชน์ของทางราชการ อันเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง
การที่ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ และการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 วินิจฉัยและมีมติ ให้ยกอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว
ทั้งหมดนี้ คือ คำฟ้องของ นายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ผู้ฟ้องคดี และคำให้การของอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จำเลยที่ 1 และคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ก.พ.อ.) ที่ปรากฏอยู่ในคำพิพากษา ศาลปกครองสูงสุด ก่อนที่จะมีคำพิพากษากลับ
จากที่ศาลปกครองชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ และเพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 เป็นยกฟ้อง
ตามที่ปรากฏเป็นข่าวไปแล้ว
นับเป็นอีกหนึ่งกรณีศึกษาคดีทางปกครองสำคัญ เกี่ยวกับระเบียบแบบแผนในเรื่องการลา การปฏิบัติตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา และการทำรัฐประหารในประเทศไทย ที่ต้องบันทึกไว้จดจำในสังคมไทย