"...ตัวเลขมูลค่าโครงการในแต่ละแนวเส้นทาง ยังอยู่ระหว่างการศึกษา โดยจะต้องคำนวณรวมกับค่างานเวนคืนที่ดินในบางส่วนด้วย แต่เท่าที่มีการสอบถามบริษัทที่ปรึกษา ประมาณการณ์มูลค่าได้คร่าวๆอยู่ที่ระหว่าง 25,000 – 50,000 ล้านบาท ทั้ง 7 แนวเส้นทาง แนว 1-3 จะเริ่มต้นจาก อ.ดอนสัก จ.สุราษฎร์ธานี มีระยะทาง 28-30 กม. ส่วนแนว 4-7 เริ่มต้นจาก อ.ขนอม จ.นครศรีธรรม มีระยะทาง 22-25 กม...."
เป็นอีกหนึ่งบิ๊กโปรเจกต์ของ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ที่อยู่ในความสนใจของสาธารณชน
สำหรับโครงการสะพานเชื่อมเกาะสมุย ระยะทางประมาณ 20 กม. วงเงิน 25,000 ล้านบาท ซึ่งมีการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เป็นเจ้าของโครงการ และทำการว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา เพื่อดำเนินงานศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการทางพิเศษเชื่อมเกาะสมุย ประกอบด้วยบริษัท เอเชี่ยน เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแต้นส์จำกัด บริษัท เอ็ม เอ เอ คอนซัลแตนท์จำกัด บริษัท เอพซิลอน จำกัด และ บริษัท เทสโก้ จำกัด โดยเริ่มศึกษาตั้งแต่เดือน มี.ค. 2566 มีระยะเวลาดำเนินการ 720 วัน (24 เดือน)
โดยในการศึกษาดังกล่าว ออกแบบแนวเส้นทางเผื่อเลือกไว้ 7 แนวเส้นทาง และน่าจะสรุปผลการศึกษาในช่วงปลายปี 2567 ก่อนจะเริ่มก่อสร้างในช่วงปี 2571 นี้
ทั้งนี้ เพื่อให้สาธารณชนมีความเข้าใจเกี่ยวกับ โครงการสะพานเชื่อมเกาะสมุย ระยะทางประมาณ 20 กม. วงเงิน 25,000 ล้านบาท มากขึ้น
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) นำรายละเอียดข้อมูลภาพรวมการดำเนินงานโครงการฯ นี้ ทั้งหมด มานำเสนอแบบชัดๆ ณ ที่นี้
จากเอกสารงานศึกษาความเหมาะสมการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนครั้งที่ 1 ทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการทางพิเศษเชื่อมเกาะสมุย (ปฐมนิเทศโครงการ) เมื่อวันที่ 8-10 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา พบว่าตัวโครงการกำหนดพื้นที่ที่จะทำการไว้จะครอบคลุมพื้นที่ อ.ขนอม จ.นครศรีธรรมราช, อ.ดอนสักและ อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี
ขณะที่สถานะของโครงการในปัจจุบัน ยังอยู่ระหว่างการศึกษาความเหมาะสมของโครงการ ทั้งนี้ หากแล้วเสร็จเมื่อไหร่ จะเสนอรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ต่อ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เพื่อเสนอคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) ให้ความเห็นชอบ ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขออนุมัติดำเนินโครงการต่อไป ทั้งนี้ คาดว่าจะสามารถเริ่มงานก่อสร้างได้ในปี พ.ศ. 2571 และเปิดให้บริการปลายปี พ.ศ. 2575
@เหตุผลที่ต้องมีสะพาน 20 กม.เชื่อมเกาะ
ในเอกสารระบุว่า การเดินทางมายังเกาะสมุยในปัจจุบันมีเพียง 2 รูปแบบการเดินทาง คือ ทางอากาศและทางน้ำ ซึ่งมีข้อจำกัดด้านปริมาณและจำนวนเที่ยวในการให้บริการ จึงส่งผลกระทบต่อความสะดวกสบายในการเดินทาง และกระทบต่อภาคธุรกิจท่องเที่ยว ซึ่งเป็นธุรกิจหลักของเกาะสมุย โดยปัจจุบันเกาะสมุยมีประชากรประมาณ 69,000 คน และมีจำนวนนักท่องเที่ยวประมาณ 2.6 ล้านคนต่อปี ซึ่งพื้นที่ 1 ใน 3 ของเกาะเป็นที่ราบรอบล้อมไปด้วยภูเขา
นอกจากนี้ หากเกิดเหตุฉุกเฉินที่มีความจำเป็นต้องเดินทางจากเกาะสมุยมายังจ.สุราษฎร์ธานี หรือ จ.นครศรีธรรมราช จะไม่สามารถเดินทางได้ตลอด 24 ชั่วโมง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงหน้ามรสุมที่ไม่สามารถเดินทางด้วยเรือ ซึ่งการมีทางเชื่อมข้ามเกาะจะช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทางได้ เช่น การเจ็บป่วย ที่ต้องการไปโรงพยาบาล เป็นต้น
@เปิดข้อจำกัด 3 ประการ
ในส่วนของข้อจำกัดของโครงการ เอกสารระบุว่า แบ่งได้ 3 ด้าน ด้านที่ 1 ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม พบข้อจำกัดด้านพื้นที่ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำ ซึ่งในพื้นที่โครงการเป็นพื้นที่ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำที่ต้องพิจารณาถึงความเป็นต้นน้ำลำธารที่สำคัญนอกจากนี้ ยังพบว่า มีพื้นที่บางส่วนอยู่ในพื้นที่เตรียมการอุทยานแห่งชาติหาดขนอม-หมู่เกาะทะเลใต้และปัจจุบันยังเป็นพื้นที่ประกาศเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครอง ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม จังหวัดสุราษฎร์ธานีพ.ศ. 2557 รวมทั้งพื้นที่ทางทะเลและชายฝั่งตรวจสอบพบข้อมูลเบื้องต้นมีพื้นที่ป่าชายเลน แนวปะการัง และหญ้าทะเล
ด้านที่ 2 ด้านวิศวกรรมและการจราจร เพราะตัวโครงการตัดผ่านทะเลเป็นระยะทางมากว่า 20 กม. ประกอบกับการเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของประเทศ มีปัจจัยที่จะต้องนำมาประกอบในการพิจารณา ทั้งในเรื่องเทคนิคการก่อสร้าง, การใช้งาน และในเรื่องสิ่งต่าง ๆ ที่ต้องเข้าไปเกี่ยวข้องระหว่างการก่อสร้าง ซึ่งมีรายละเอียดมากกว่าการทำทางด่วนทั่วไป อีกทั้งในการก่อสร้างสะพานนั้น ต้องออกแบบให้มีช่วงสะพานยาวกว่าช่วงสะพานของสะพานทางหลัก เพื่อให้เรือขนาดใหญ่ลอดผ่านได้อย่างปลอดภัย และแนวสายทางไม่อยู่ในเขตปลอดภัยในการเดินอากาศกับสนามบินสมุยด้วย
และ 3.ด้านเศรษฐกิจและการลงทุน เนื่องจากโครงการนี้มีมูลค่าการก่อสร้างไม่น้อยกว่า 20,000 ล้านบาท ในขณะที่เกาะสมุย เป็นเกาะที่มีข้อจำกัดทั้งพื้นที่และโครงข่ายถนน ดังนั้นการจะทำให้โครงการเกิดขึ้นจริง จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับฝั่งรายได้และการลงทุนมากเป็นกรณีพิเศษ
ในเบื้องต้นจึงออกแบบโครงการให้เป็นเอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP: Public. Private Partnership) ซึ่งมี 3 รูปแบบสำคัญ ประกอบด้วย Net Cost (เอกชนเก็บรายได้ค่าผ่านทางและจ่ายค่าบริหารโครงการและบำรุงรักษา และเสนอส่วนแบ่งรายได้ให้แก่รัฐตามที่ตกลงกันในเงื่อนไขของสัญญา), Gross Cost (ฝ่ายรัฐเป็นผู้จัดเก็บค่าผ่านทาง ส่วนเอกชนเป็นผู้บริหารโครงการ และรัฐจ่ายเงินให้เอกชนในการบริหารโครงการและการบำรุงรักษา โดยการจ่ายเงินดังกล่าวจะเป็นแบบกำหนดราคา (Fixed Payment) ตามที่ตกลงกัน) และ Modified Gross Cost (ฝ่ายรัฐเป็นผู้จัดเก็บค่าผ่านทาง ส่วนเอกชนเป็นผู้บริหารโครงการ ทางรัฐจะจ่ายเงินให้ผู้รับสัมปทานในการบริหารโครงการและการบำรุงรักษา โดยการจ่ายเงินดังกล่าวจะเป็นแบบกำหนดราคา (Fixed Payment) ตามที่ตกลงกัน และอาจจะมีส่วนแบ่งรายได้เพิ่มเติมตาม)
@เปิด 7 แนวเส้นทางเลือก
สำหรับแนวเส้นทางของโครงการ จุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุดของโครงการออกแบบเอาไว้ 3 จุด (ดูภาพประกอบด้านล่าง)
จุดเริ่มต้น มีพื้นที่ที่มีความเป็นไปได้ 3 แห่ง ดังนี้ แห่งที่ 1 อยู่บริเวณ กม.30+700 ของทางหลวงหมายเลข 4142 ในพื้นที่ต.ดอนสัก อ.ดอนสัก จ.สุราษฎร์ธานี ถัดจากทางเข้าท่าเรือราชาเฟอร์รี่ ประมาณ 3 กม., รแห่งที่ 2 อยู่บริเวณ กม.4+900 ของทางหลวงชนบทหมายเลข นศ.4044 ในพื้นที่ ต.ท้องเนียน อ.ขนอม จ.นครศรีธรรมราช บริเวณแยกแหลมประทับ และรแห่งที่ 3 อยู่บริเวณ กม.9+400 ของทางหลวงชนบทหมายเลข นศ.4044 ในพื้นที่ต.ท้องเนียน อ.ขนอม จ.นครศรีธรรมราช
จุดสิ้นสุด มีพื้นที่ที่มีความเป็นไปได้3 แห่ง ดังนี้ แห่งที่1 อยู่บริเวณ กม.5+650 ของทางหลวงหมายเลข4170 ด้านเหนืออ่าวพังกา ในพื้นที่ต.ตลิ่งงาม อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี, แห่งที่ 2 อยู่บริเวณ กม.6+100 ของทางหลวงหมายเลข 4170 (แยกพังกา) ซ้อนทับกับถนนท่าเรือไปเกาะแตน ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของเทศบาลนครเกาะสมุย ในพื้นที่ต.ตลิ่งงาม อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี และแห่งที่3 อยู่บริเวณ กม.9+000 ของทางหลวงหมายเลข 4170 ท้ายอ่าวหินลาด ซึ่งเป็นพื้นที่โล่งทำเกษตรกรรม ในพื้นที่ ต.ตลิ่งงาม อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี
และแนวเส้นทางทั้ง 7 แนวที่จะต้องคัดเลือกอีกรอบทั้งหมด แหล่งข่าวจากการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยกับสำนักข่าวอิศราว่า ตัวเลขมูลค่าโครงการในแต่ละแนวเส้นทาง ยังอยู่ระหว่างการศึกษา โดยจะต้องคำนวณรวมกับค่างานเวนคืนที่ดินในบางส่วนด้วย แต่เท่าที่มีการสอบถามบริษัทที่ปรึกษา ประมาณการณ์มูลค่าได้คร่าวๆอยู่ที่ระหว่าง 25,000 – 50,000 ล้านบาท ทั้ง 7 แนวเส้นทาง แนว 1-3 จะเริ่มต้นจาก อ.ดอนสัก จ.สุราษฎร์ธานี มีระยะทาง 28-30 กม. ส่วนแนว 4-7 เริ่มต้นจาก อ.ขนอม จ.นครศรีธรรม มีระยะทาง 22-25 กม. รายละเอียดมีดังนี้
แนวทางเลือกที่ 1 แนวเส้นทางมีจุดเริ่มต้นบริเวณ กม.30+700 ของทางหลวงหมายเลข 4142 ในพื้นที่ต.ดอนสัก อ.ดอนสัก จ.สุราษฎร์ธานีถัดจากทางเข้าท่าเรือราชาเฟอร์รี่ประมาณ 3 กม. แนวเส้นทางมุ่งหน้าทิศตะวันออกเฉียงเหนือ และเบนไปทางด้านซ้ายตัดผ่านถนนท้องถิ่นสายบ้านนางกำ เพื่ออ้อมหลบพื้นที่ชุมชนบริเวณชายหาดบ้านนางกำ แล้วมุ่งตรงเข้าเชื่อมเกาะสมุยบริเวณทิศเหนือของอ่าวพังกา ตัดผ่านพื้นที่ภูเขาบางส่วนและมีจุดสิ้นสุดอยู่บริเวณ กม.5+650 ของทางหลวงหมายเลข 4170 ในพื้นที่ ต.ตลิ่งงาม อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานีระยะทางรวม 28.62 กม.
แนวทางเลือกที่ 2 แนวเส้นทางมีจุดเริ่มต้นบริเวณ กม.30+700 ของทางหลวงหมายเลข 4142 ในพื้นที่ต.ดอนสัก อ.ดอนสัก จ.สุราษฎร์ธานีถัดจากทางเข้าท่าเรือราชาเฟอร์รี่ประมาณ 3 กม. แนวเส้นทางมุ่งหน้าทิศตะวันออกเฉียงเหนือ และเบนไปทางด้านซ้ายตัดผ่านถนนท้องถิ่นสายบ้านนางกำ เพื่ออ้อมหลบพื้นที่ชุมชนบริเวณชายหาดบ้านนางกำ แล้วมุ่งตรงเข้าเชื่อมเกาะสมุยบริเวณถนนท่าเรือไปเกาะแตน ซ้อนทับกับถนนท้องถิ่นในความดูแลของเทศบาลนครเกาะสมุย และมีจุดสิ้นสุดโครงการอยู่บริเวณ กม.6+100 ของทางหลวงหมายเลข 4170 (แยกพังกา) ในพื้นที่ต.ตลิ่งงาม อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานีระยะทางรวม 29.03 กม.
แนวทางเลือกที่ 3 แนวเส้นทางมีจุดเริ่มต้นบริเวณ กม.30+700 ของทางหลวงหมายเลข 4142 ในพื้นที่ต.ดอนสัก อ.ดอนสัก จ.สุราษฎร์ธานีถัดจากทางเข้าท่าเรือราชาเฟอร์รี่ประมาณ 3 กม. แนวเส้นทางมุ่งหน้าทิศตะวันออกเฉียงเหนือ และเบนไปทางด้านซ้ายตัดผ่านถนนท้องถิ่นสายบ้านนางกำ เพื่ออ้อมหลบพื้นที่ชุมชนบริเวณชายหาดบ้านนางกำ แล้วมุ่งตรงเข้าเชื่อมเกาะสมุยบริเวณพื้นที่โล่งสวนมะพร้าวช่วงท้ายของอ่าวหินลาด และมีจุดสิ้นสุดโครงการอยู่บริเวณ กม.9+000 ของทางหลวงหมายเลข 4170 ในพื้นที่ต.ตลิ่งงาม อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี ระยะทางรวม 29.92 กม.
แนวทางเลือกที่ 4 แนวเส้นทางมีจุดเริ่มต้นบริเวณ กม.4+900 ของทางหลวงชนบทหมายเลข นศ.4044 ในพื้นที่ ต.ท้องเนียน อ.ขนอม จ.นครศรีธรรมราช บริเวณแยกแหลมประทับ แนวเส้นทางมุ่งหน้าทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ผ่านพื้นที่สวนปาล์ม ผ่านอ่าวประทับ แล้วมุ่งตรงเข้าเชื่อมเกาะสมุยบริเวณทิศเหนือของอ่าวพังกา ตัดผ่านพื้นที่ภูเขาบางส่วนและมีจุดสิ้นสุดอยู่บริเวณ กม.5+650 ของทางหลวงหมายเลข 4170 ในพื้นที่ต.ตลิ่งงาม อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี ระยะทางรวม 24.38 กม.
แนวทางเลือกที่ 5 แนวเส้นทางมีจุดเริ่มต้นบริเวณ กม.4+900 ของทางหลวงชนบทหมายเลข นศ.4044 ในพื้นที่ต.ท้องเนียน อ.ขนอม จ.นครศรีธรรมราช บริเวณแยกแหลมประทับ แนวเส้นทางมุ่งหน้าทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ผ่านพื้นที่สวนปาล์ม ผ่านอ่าวประทับ แล้วมุ่งตรงเข้าเชื่อมเกาะสมุยบริเวณถนนท่าเรือไปเกาะแตน ซ้อนทับกับถนนท้องถิ่นในความดูแลของเทศบาลนครเกาะสมุย และมีจุดสิ้นสุดโครงการอยู่บริเวณ กม.6+100 ของทางหลวงหมายเลข 4170 (แยกพังกา) ในพื้นที่ ต.ตลิ่งงาม อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี ระยะทางรวม 24.24 กม.
แนวทางเลือกที่ 6 แนวเส้นทางมีจุดเริ่มต้นบริเวณ กม.4+900 ของทางหลวงชนบทหมายเลข นศ.4044 ในพื้นที่ ต.ท้องเนียน อ.ขนอม จ.นครศรีธรรมราช บริเวณแยกแหลมประทับ แนวเส้นทางมุ่งหน้าทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ผ่านพื้นที่สวนปาล์ม ผ่านอ่าวประทับ แล้วมุ่งตรงเข้าเชื่อมเกาะสมุยบริเวณพื้นที่โล่งสวนมะพร้าวช่วงท้ายของอ่าวหินลาด และมีจุดสิ้นสุดโครงการอยู่บริเวณ กม.9+000 ของทางหลวงหมายเลข 4170 ตั้งอยู่ในพื้นที่ ต.ตลิ่งงาม อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานีระยะทางรวม 24.76 กม.
และแนวทางเลือกที่ 7 แนวเส้นทางมีจุดเริ่มต้นบริเวณ กม.9+400 ของทางหลวงชนบทหมายเลข นศ.4044 ในพื้นที่ ต.ท้องเนียน อ.ขนอม จ.นครศรีธรรมราช มุ่งตรงไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ผ่านพื้นที่หาดแขวงเภาแล้วมุ่งหน้าเชื่อมเกาะแตน ก่อนมุ่งตรงเข้าเชื่อมเกาะสมุยบริเวณพื้นที่โล่งสวนมะพร้าวช่วงท้ายของอ่าวหินลาด และมีจุดสิ้นสุดโครงการอยู่บริเวณ กม.9+000 ของทางหลวงหมายเลข 4170 ในพื้นที่ ต.ตลิ่งงาม อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี ระยะทางรวม 22.72 กม.
เหล่านี้ คือ ข้อมูลเชิงลึกโครงการสะพานเชื่อมเกาะสมุย ระยะทางประมาณ 20 กม. ที่วงเงินงบประมาณอาจจะพุ่งสูงไปถึง 5 หมื่นล้านบาท ที่สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบพบล่าสุด
ขณะที่ในการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 1 (ปฐมนิเทศโครงการ) งานศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการฯ นี้ เมื่อวันที่ 8 ส.ค.2566 ที่โรงแรมแกรนด์ ฟอร์จูน นครศรีธรรมราช อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช
นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการ กทพ. เปิดเผยว่า เหตุผลความจำเป็นของโครงการ คือ เกาะสมุยเป็นเมืองที่มีศักยภาพในการพัฒนาและสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ แต่ในปัจจุบันการเดินทางมายังเกาะสมุยสามารถเดินทางได้เพียง 2 รูปแบบ คือ ทางอากาศและทางน้ำ ซึ่งมีข้อจำกัดด้านปริมาณและจำนวนเที่ยวในการให้บริการ ส่งผลกระทบต่อความสะดวกสบายในการเดินทาง และกระทบต่อภาคธุรกิจท่องเที่ยว นอกจากนี้ หากเกิดเหตุฉุกเฉินที่มีความจำเป็นต้องเดินทางจากเกาะสมุยมายังจังหวัดสุราษฎร์ธานีหรือจังหวัดนครศรีธรรมราช จะไม่สามารถเดินทางได้ตลอด 24 ชั่วโมง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงหน้ามรสุมที่ไม่สามารถเดินทางด้วยเรือ ซึ่งการมีทางเชื่อมข้ามเกาะจะช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทางได้
ดังนั้น กทพ. จึงได้ว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา ประกอบด้วย บริษัท เอเชี่ยน เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแต้นส์ จำกัด บริษัท เอ็ม เอ เอ คอนซัลแตนท์ จำกัด บริษัท เอพซิลอน จำกัด และบริษัท เทสโก้ จำกัด เพื่อดำเนินการศึกษาความเหมาะสมฯ ระยะเวลา 720 วัน (24 เดือน) เมื่อศึกาษาแล้วเสร็จในช่วงเดือน ก.ย. - ต.ค. 2567 กทพ. จะเสนอรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ต่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เพื่อเสนอคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ ก่อนเสนอ ครม. เพื่อขออนุมัติดำเนินโครงการต่อไป โดยคาดว่าจะสามารถเริ่มงานก่อสร้างได้ในปี พ.ศ. 2571 และเปิดให้บริการปลายปี พ.ศ. 2575
ด้าน แหล่งข่าวจาก กทพ. เปิดเผยสำนักข่าวอิศราว่า ทั้ง 7 แนวเส้นทางยังไม่สามารถสรุปได้ ณ ตอนนี้ว่าจะเลือกเส้นทางไหน ซึ่งทาง กทพ.ได้สอบถามไปยังที่บริษัทปรึกษาแล้ว ได้รับการแจ้งกลับมาว่า ภายในเดือนตุลาคม 2566 จะสรุปได้ว่า จะเลือกเส้นทางไหนมาทำโครงการอย่างเป็นทางการ ส่วนพื้นที่เวนคืน ยังไม่ชัดเจนเช่นกัน ต้องรอสรุปแนวเส้นทางของโครงการนี้ก่อน
" ส่วนปัญหาอุปสรรคตอนนี้ เท่าที่ได้ไปรับฟังความเห็นชาวบ้านทั้งที่ จ.สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช ส่วนใหญ่ยังไม่มีท่าทีคัดค้านโครงการแต่อย่างใด แต่อุปสรรคสำคัญของโครงการน่าจะอยู่ที่การก่อสร้างที่จะต้องไม่กระทบกับทรัพยากรทางทะเลที่มีอยู่ในพื้นที่ที่จะก่อสร้างมากกว่า" แหล่งข่าวจาก กทพ.ระบุ
ท้ายที่สุดแล้ว แผนงานและเป้าหมายในการดำเนินงานโครงการฯ เหล่านี้ที่ กทพ. กำหนดไว้ จะเดินหน้าสำเร็จตามขั้นตอนได้หรือไม่ ระหว่างทางจะมีอุปสรรคสำคัญอะไรเกิดขึ้นหรือไม่ โดยเฉพาะเรื่องผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ที่ดูเหมือนจะเป็นโจทก์สำคัญในเรื่องนี้ รวมไปถึงปัจจัยทางการเมืองไทย การถูกแทรกแซงจากนักการเมืองในอนาคต เนื่องจากมูลค่างานโครงการฯ สูงถึงหลักหมื่นล้านบาท
ต้องคอยจับตาดูกันต่อไป