"...การกระทำดังกล่าวของคณะกรรมการพนักงานส่วนตำบลจังหวัดราชบุรี โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับนาง ย. เป็นการพิจารณาอนุมัติส่งผู้สอบแข่งขันได้ดังกล่าวย่อมเป็นการไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่นพ.ศ. 2542 และประกาศคณะกรรมการพนักงานส่วนตำบลจังหวัดราชบุรีเรื่องหลักเกณฑ์และเงื่อนไขเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลขององค์การบริหารส่วนตำบล ประกาศรับสมัครสอบแข่งขันและประกาศขึ้นบัญชีผู้สอบแข่งขันได้โดยมิชอบตามอำนาจและหน้าที่ อีกทั้งกรณีดังกล่าวไม่อาจถือว่าการบรรจุและแต่งตั้งผู้สอบแข่งขันได้เป็นไปตามลำดับที่ที่สอบแข่งขันขึ้นบัญชีไว้ตามประกาศของคณะกรรมการพนักงานส่วนตำบลจังหวัดราชบุรีได้..."
ตัดสินแล้ว! คุกคนละ 37 ปี 148 ด. 'วงศ์ศักดิ์-พวก' เรียกเงินบรรจุ พนง.ราชบุรี
คือ พาดหัวข่าวคำพิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 7 ที่ตัดสินลงโทษคดีกล่าวหา นายวงศ์ศักดิ์ สวัสดิ์พาณิชย์ อดีตอธิบดีกรมการปกครอง เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี กับพวก คือ นายนเรศ วงศาโรจน์ , นายสุพจน์ รัศมีโชติ และนายไพบูลย์ วรุณไพศาล กรณีบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเป็นพนักงานส่วนตำบลในเขตจังหวัดราชบุรีและขอใช้บัญชีเพื่อบรรจุแต่งตั้งนอกเขตจังหวัดราชบุรี ตำแหน่งเจ้าหน้าที่วิเคราะห์นโยบายและแผนระดับ 3 โดยมิชอบ และกรณีร่วมกันส่งตัวผู้สอบแข่งขันได้บัญชีพนักงานส่วนตำบลจังหวัดราชบุรีตำแหน่งเจ้าหน้าที่วิเคราะห์นโยบายและแผนระดับ 3 พ.ศ. 2548 ไปบรรจุและแต่งตั้งเป็นพนักงานส่วนตำบลในเขตจังหวัดราชบุรีและอนุมัติให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนอกเขตจังหวัดราชบุรีขอใช้บัญชีพนักงานส่วนตำบลจังหวัดราชบุรีโดยมิชอบ ซึ่งถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช. ลงมติชี้มูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ประกอบมาตรา 83 และมาตรา 91
ที่สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) นำมาเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบไปแล้ว
เบื้องต้น ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 7 มีคำพิพากษาดังนี้
1. นายวงศ์ศักดิ์ สวัสดิ์พาณิชย์ จำเลยที่ 1 และ นายนเรศ วงศาโรจน์ จำเลยที่ 2 กระทำความผิดตาม มาตรา 157 (เดิม) ประกอบมาตรา 83 การกระทำความผิดเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามมาตรา 91 จำคุก จำเลยที่ 1 และ ที่ 2 กระทงละ 2 ปี รวม 37 กระทง เป็นจำคุกคนละ 74 ปี ทางนำสืบของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง ลดโทษให้กระทงละหนึ่งในสามตามมาตรา 78คงจำคุก จำเลยที่ 1 และที่ 2 กระทงละ 1 ปี 4 เดือน รวม 37 กระทง เป็นจำคุก คนละ 37 ปี 148 เตือน
แต่เมื่อรวมโทษจำคุกทุกกระทงแล้ว คงจำคุก จำเลยที่ 1 และที่ 2 คนละ 20 ปี มาตรา 91 (2)
2. ยกฟ้องโจทก์สำหรับ นายสุพจน์ รัศมีโชติ จำเลยที่ 3 และนายไพบูลย์ วรุณไพศาล จำเลยที่ 4
คำขออื่นให้ยก
อย่างไรก็ดี คดีนี้ ยังไม่สิ้นสุด จำเลยทั้งหมด มีสิทธิ์ต่อสู้เพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ในชั้นศาลที่สูงกว่านี้ได้อีก
ต่อไปนี้ เป็นรายละเอียดในคำพิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 7 ฉบับเต็ม ที่ตัดสินลงโทษ นายวงศ์ศักดิ์ สวัสดิ์พาณิชย์ อดีตอธิบดีกรมการปกครอง เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี ในฐานะจำเลยที่ 1 และนายนเรศ วงศาโรจน์ เมื่อครั้งดำรงำตแหน่งท้องถิ่นจังหวัดราชบุรี จำเลยที่ 2
ให้จำคุก คนละ 37 ปี 148 เตือน แต่เมื่อรวมโทษจำคุกทุกกระทงแล้ว คงจำคุก จำเลยที่ 1 และที่ 2 คนละ 20 ปี มาตรา 91 (2) ตามที่ปรากฏเป็นข่าวไปแล้ว
สำนักข่าวอิศรา นำรายละเอียดมาเสนอให้สาธารณชนรับทราบเป็นทางการ ณ ที่นี้ ซึ่งมีประเด็นสำคัญเกี่ยวกับจุดเริ่มต้น ในการเปิดสอบแข่งขันเป็นพนักงานส่วนตำบล การพิจารณาอนุมัติส่งตัวผู้สอบแข่งขันได้โดยมิชอบตามกฎหมาย ประกาศและแบบแผนของทางราชการ จนทำให้การบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเป็นพนักงานส่วนตำบลข้ามลำดับที่ขึ้นบัญชีไว้ตั้งแต่ครั้งแรกและเป็นเหตุให้การบรรจุและแต่งตั้งในลำตับต่อไปจนถึงลำดับสุดท้ายแต่ละครั้งเป็นการมิชอบด้วย
**********
@ พฤติการณ์ 'วงศ์ศักดิ์-นเรศ' กระทำความผิดหรือไม่
คำพิพากษาศาลฯ ระบุถึงประเด็นกรณี นายวงศ์ศักดิ์ สวัสดิ์พาณิชย์ จำเลยที่ 1 และนายนเรศ วงศาโรจน์ จำเลยที่ 2 กระทำความผิดฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตหรือไม่ ว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังยุติในเบื้องต้นเกี่ยวกับการกระทำของจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรีและประธานคณะกรรมการพนักงานส่วนตำบลจังหวัดราชบุรีซึ่งได้รับมอบอำนาจให้มีอำนาจพิจารณาอนุมัติส่งผู้สอบแข่งขันได้เพื่อบรรจุและแต่งตั้งยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีหนังสือขอใช้บัญชีเพื่อไปบรรจุและแต่งตั้งพนักงานส่วนตำบล และจำเลยที่ 2 ในฐานะท้องถิ่นจังหวัดและเลขานุการคณะกรรมการพนักงานส่วนตำบลจังหวัดราชบุรี
เห็นว่า มูลความแห่งคดีสืบเนื่องมาจากการประชุมคณะกรรมการพนักงานส่วนตำบลจังหวัดราชบุรีครั้งที่ 1/2547 ลงวันที่ 24 กันยายน 2547 นาย พ. (ชื่อย่อ) ประธานที่ประชุมเสนอในที่ประชุมในวาระการขอใช้บัญชีผู้สอบแข่งขันได้เป็นพนักงานส่วนตำบลว่า ทำไมจังหวัดไม่เปิดสอบเองต้องขอใช้บัญชีจากที่อื่น ซึ่งในที่ประชุมจะเสนอให้คณะกรรมการพนักงานส่วนตำบลจังหวัดราชบุรีเปิดสอบแข่งข้นต่อไป
ต่อมาคณะกรรมการพนักงานส่วนตำบลจังหวัดราชบุรี มีมติในการประชุมครั้งที่ 8/2547 ให้แจ้งองค์การบริหารส่วนตำบลทุกแห่งทราบ เพื่อสำรวจความต้องการในการร้องขอให้คณะกรรมการพนักงานส่วนตำบลจังหวัดราชบุรีเปิดสอบแข่งขันเพื่อบรรจุบุคคลเป็นพนักงานส่วนตำบลตามโครงการในแผนอัตรากำลัง 3 ปี
จึงขอให้องค์การบริหารส่วนตำบลที่ไม่สามารถดำเนินการสอบแข่งขันได้ และประสงค์จะร้องขอให้คณะกรรมการพนักงานส่วนตำบลจังหวัดราชบุรีดำเนินการแทน ให้ส่งหนังสือและแบบสำรวจความต้องการตามแบบที่ส่งมาด้วย ให้คณะกรรมการพนักงานส่วนตำบลจังหวัดราชบุรีทราบภายในวันที่ 10 มกราคม 2558 รายละเอียดปรากฏตามบันทึกข้อความเรื่องการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุบุคคลเป็นพนักงานส่วนตำบล หนังสือแจ้งให้องค์การปกครองส่วนตำบลสำรวจความต้องการในการร้องขอให้คณะกรรมการพนักงานส่วนตำบลจังหวัดราชบุรีดำเนินการแทนพร้อมแบบสำรวจ ซึ่งแบบสำรวจที่องค์การบริหารส่วนตำบลมีความประสงค์ร้องขอให้คณะกรรมการพนักงานส่วนตำบลจังหวัดราชบุรี ดำเนินการเปิดสอบแข่งขันเพื่อบรรจุบุคคลเป็นพนักงานส่วนตำบล
โดยในตำแหน่งเจ้าหน้าที่วิเคราะห์นโยบายและแผน ระดับ 3 มีองค์การบริหารส่วนตำบลในเขตจังหวัดราชบุรีแจ้งความประสงค์ให้คณะกรรมการพนักงานส่วนตำบลจังหวัดราชบุรีดำเนินการแทน 40 แห่ง
ต่อมาวันที่ 15 สิงหาคม 2548 คณะกรรมการพนักงานส่วนตำบลจังหวัดราชบุรี ประกาศรับสมัครสอบแข่งขันเพื่อบรรจุบุคคลเข้ารับราชการและแต่งตั้งเป็นพนักงานส่วนตำบล ประจำปี 2548 ตามที่องค์การบริหารส่วนตำบลในเขตจังหวัดราชบุรี ร้องขอให้เปิดสอบแข่งขัน 8 ตำแหน่ง รวมทั้งตำแหน่งเจ้าหน้าที่วิเคราะห์นโยบายและแผนระดับ 3
ภายหลังจากดำเนินการสอบแข่งขันแล้วเสร็จวันที่ 28 ธันวาคม 2548 คณะกรรมการพนักงานส่วนตำบลจังหวัดราชบุรี โดยจำเลยที่ 1 ในฐานะประธานคณะกรรมการพนักงานส่วนตำบลจังหวัดราชบุรี ประกาศขึ้นบัญชีผู้สอบแข่งขันได้ โดยเรียงลำดับจากผู้สอบได้คะแนนรวมสูงสุดลดลงตามลำดับที่เพื่อบรรจุและแต่งตั้งเป็นพนักงานส่วนตำบลภายในจังหวัดราชบุรี คณะกรรมการพนักงานส่วนตำบลจังหวัดราชบุรีเป็นเจ้าของบัญชีสอบแข่งขันนี้ ซึ่งมีผู้สอบแข่งขันได้ในตำแหน่งเจ้าหน้าที่วิเคราะห์นโยบายและแผน ระดับ 3 จำนวน 386 คน
เมื่อศาลพิจารณาถึงหลักการและเหตุผลเจตนารมณ์ของคณะกรรมการพนักงานส่วนตำบลจังหวัดราชบุรีซึ่งได้ดำเนินการโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 มาตรา 13 ประกอบมาตรา 25 วรรคท้าย และประกาศคณะกรรมการพนักงานส่วนตำบลจังหวัดราชบุรี เรื่อง หลักเกณฑ์และเงื่อนไขเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลในองค์การบริหารส่วนตำบล ลงวันที่ 12 พฤศจิกายน 2545 และที่แก้ไขเพิ่มเติมจนถึงปัจจุบัน ข้อ 56 ถึงข้อ 76
ย่อมเห็นได้ชัดว่าคณะกรรมการพนักงานส่วนตำบลจังหวัดราชบุรี มีความประสงค์ที่แท้จริงเพื่อดำเนินการสอบแข่งขันแทนองค์การบริหารส่วนตำบลที่แจ้งความประสงค์ให้คณะกรรมการพนักงานส่วนตำบลจังหวัดราชบุรีดำเนินการเปิดสอบแข่งขันเพื่อบรรจุบุคคลเป็นพนักงานส่วนตำบลในแต่ละตำแหน่งที่ว่างตามอำนาจหน้าที่ที่รับผิดชอบในเขตจังหวัดราชบุรีมาตั้งแต่ต้นเท่านั้น เพื่อแก้ปัญหาไม่ต้องขอใช้บัญชีจากที่อื่น
อีกทั้งข้อความตอนท้ายของประกาศการขึ้นบัญชีผู้สอบแข่งขันได้เพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเป็นพนักงานส่วนตำบลระบุชัดว่า อนึ่ง สำหรับผู้ที่สอบแข่งขันได้ในลำดับต้นจะได้รับบรรจุและแต่งตั้งตามอัตราตำแหน่งว่าง คณะกรรมการพนักงานส่วนตำบลจังหวัดราชบุรีจะมีหนังสือแจ้งให้มารายงานตัวอีกครั้งหนึ่ง หาได้มีความประสงค์ที่จะดำเนินการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุแต่งตั้งพนักงานส่วนตำบลนอกเขตจังหวัดราชบุรีด้วยไม่
@ ชี้เป็นการกระทำที่มิชอบในอำนาจหน้าที่
แต่ต่อมาจำเลยที่ 1 ในฐานะประธานคณะกรรมการพนักงานส่วนตำบลจังหวัดราชบุรีมีหนังสือ ลงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2549 ถึงผู้มีชื่อสอบแข่งขันได้ในตำแหน่งเจ้าหน้าที่วิเคราะห์นโยบายและแผน ระดับ 3 ลำดับที่ 1 ถึงที่ 50 ขอให้ไปรายงานตัวเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเป็นพนักงานส่วนตำบลในวันที่ 2 มีนาคม 2549
ตามตัวอย่างเอกสารในข้อ 6 ระบุว่า "หากท่านประสงค์จะบรรจุและแต่งตั้งในจังหวัดอื่นให้นําหนังสือขอใช้บัญชีผู้สอบแข่งขันได้จากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ประสงค์จะขอใช้บัญชีมาแสดงด้วย" ซึ่งหนังสือฉบับดังกล่าวเป็นหนังสือราชการลงนามโดยจำเลยที่ 1 ผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี ในฐานะประธานคณะกรรมการพนักงานส่วนตำบลจังหวัดราชบุรี
อันมีลักษณะเป็นหนังสือสั่งการให้ผู้สอบแข่งขันได้ที่ประสงค์จะบรรจุและแต่งตั้งในจังหวัดอื่นดำเนินการหาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่จะบรรจุและแต่งตั้งเพื่อให้มีหนังสือขอใช้บัญชีผู้สอบแข่งขันได้นำหนังสือดังกล่าวไปแสดง ในวันที่ 2 มีนาคม 2549 อันเป็นการกระทำนอกเหนืออำนาจหน้าที่รับผิดชอบของคณะกรรมการพนักงานส่วนตำบลจังหวัดราชบุรี ซึ่งมีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบเฉพาะในจังหวัดราชบุรีเท่านั้น
จึงเป็นการกระทำที่มิชอบในอำนาจหน้าที่และพระราชบัญญัติระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่นพ.ศ. 2542 และประกาศคณะกรรมการพนักงานส่วนตำบลจังหวัดราชบุรี เรื่อง หลักเกณฑ์และเงื่อนไขเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลองค์การบริหารส่วนตำบล ประกาศสมัครสอบแข่งขันและประกาศขึ้นบัญชีผู้สอบแข่งขันได้ตามแบบแผนของทางราชการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า ในวันที่ 2 มีนาคม 2549 ผู้สอบแข่งขันได้ลำดับที่ 1 ถึงที่ 50 มารายตัวเพื่อบรรจุและแต่งตั้งนาง ย. ให้ผู้สอบแข่งขันได้เลือกองค์การบริหารส่วนตำบลที่ผู้สอบแข่งขันได้ต้องการจะบรรจุและแต่งตั้งคนละ 3 แห่ง จากองค์การบริหารส่วนตำบลที่อยู่ในเขตจังหวัดราชบุรี 43 แห่ง
โดยคณะกรรมการพนักงานส่วนตำบลจังหวัดราชบุรี ไม่ได้นำองค์การบริหารส่วนตำบลจังหวัดราชบุรีที่ร้องขอให้ดำเนินการสอบแข่งขันแทน 12 แห่ง มาให้ผู้สอบแข่งขันดังกล่าวมาให้เลือกด้วย
แต่นำองค์การบริหารส่วนตำบลในเขตจังหวัดราชบุรีที่ไม่ได้ร้องขอให้คณะกรรมการพนักงานส่วนตำบลจังหวัดราชบุรีดำเนินการสอบแข่งขันแทน 15 แห่ง มาให้ผู้สอบแข่งขันได้ดังกล่าวเลือกด้วย และคณะกรรมการพนักงานส่วนตำบลจังหวัดราชบุรี ไม่ได้นำอัตราว่างขององค์การบริหารส่วนตำบล 40 แห่ง ที่ร้องขอให้ดำเนินการสอบแข่งขันแทนเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเป็นพนักงานส่วนตำบลมาให้ผู้สอบแข่งขันได้ในลำดับที่ 1 ถึงที่ 50 ได้เลือกตามลำดับที่ที่สอบแข่งขันได้และคณะกรรมการพนักงานส่วนตำบลจังหวัดราชบุรี
โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับนางเยาวลักษณ์ ดำเนินการพิจารณาอนุมัติส่งตัวผู้สอบแข่งขันได้ในลำดับที่ 1 ถึงที่ 37 รวม 3 ครั้ง โดยพิจารณาส่งตัวผู้สอบแข่งขันได้ไปบรรจุและแต่งตั้งที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในเขตจังหวัดราชบุรีซึ่งไม่ได้ร้องขอให้คณะกรรมการพนักงานส่วนตำบลจังหวัดราชบุรีดำเนินการสอบแข่งขันแทน 13 แห่งในการบรรจุ และแต่งตั้งดังกล่าวมีผู้สอบแข่งขันได้นำหนังสือขอใช้บัญชีขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมารายงานตัวเพื่อบรรจุและแต่งตั้ง 6 แห่ง และคณะกรรมการพนักงานส่วนตำบลจังหวัดราชบุรี โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับนาง ย. ส่งตัวผู้สอบแข่งขันได้ไปบรรจุและแต่งตั้งที่องค์กรปกครองส่วนตำบลนอกเขตจังหวัดราชบุรี ซึ่งไม่ได้ร้องขอให้คณะกรรมการพนักงานส่วนตำบลจังหวัดราชบุรีดำเนินการสอบแข่งขันแทนตามที่ผู้สอบแข่งขันได้นำหนังสือขอใช้บัญชีจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนอกเขตจังหวัดราชบุรีมารายงานตัว 7 แห่ง
@วงศ์ศักดิ์ สวัสดิ์พาณิชย์
การกระทำดังกล่าวของคณะกรรมการพนักงานส่วนตำบลจังหวัดราชบุรี โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับนาง ย. เป็นการพิจารณาอนุมัติส่งผู้สอบแข่งขันได้ดังกล่าวย่อมเป็นการไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่นพ.ศ. 2542 และประกาศคณะกรรมการพนักงานส่วนตำบลจังหวัดราชบุรีเรื่องหลักเกณฑ์และเงื่อนไขเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลขององค์การบริหารส่วนตำบล ประกาศรับสมัครสอบแข่งขันและประกาศขึ้นบัญชีผู้สอบแข่งขันได้โดยมิชอบตามอำนาจและหน้าที่
อีกทั้งกรณีดังกล่าวไม่อาจถือว่าการบรรจุและแต่งตั้งผู้สอบแข่งขันได้เป็นไปตามลำดับที่ที่สอบแข่งขันขึ้นบัญชีไว้ตามประกาศของคณะกรรมการพนักงานส่วนตำบลจังหวัดราชบุรีได้
หลังจากนั้นวันที่ 24 พฤษภาคม 2549 จำเลยที่ 2 มีบันทึกข้อความถึงจำเลยที่ 1 ผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรีในขณะนั้น เรื่องการบรรจุบุคคลและแต่งตั้งเป็นพนักงานส่วนตำบล
ใจความสำคัญว่า ขณะนี้ได้ดำเนินการแจ้งให้องค์การบริหารส่วนตำบลออกคำสั่งบรรจุแต่งตั้งผู้สอบแข่งขันได้จนครบอัตราว่างที่มีอยู่ทั้ง 8 ตำแหน่ง ที่เปิดสอบแข่งขันและขึ้นบัญชีไว้แล้วรวมทั้งตำแหน่งเจ้าหน้าที่วิเคราะห์นโยบายและแผน ระดับ 3 ตั้งแต่ลำดับที่ 1 ถึงที่ 37 ซึ่งมีข้อพิจารณาว่า สำหรับตำแหน่งที่ได้ดำเนินการแจ้งให้องค์การบริหารส่วนตำบลต่าง ๆ บรรจุแห่งตั้งจนครบอัตราว่างที่มีอยู่ขณะนั้นแล้ว
เห็นควรแจ้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นในจังหวัดต่าง ๆ มาดำเนินการในเรื่องการขอใช้บัญชีผู้สอบแข่งขันได้ต่อไป ซึ่งหนังสือฉบับดังกล่าวระบุชัดว่ามีการบรรจุแต่งตั้งจนครบอัตราที่ว่างที่มีอยู่แล้วนั้น
ย่อมขัดต่อความจริงที่มีองค์การบริหารส่วนตำบลในเขตจังหวัดราชบุรีร้องขอให้คณะกรรมการพนักงานส่วนตำบลจังหวัดราชบุรีดำเนินการสอบแข่งขันแทนเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเป็นพนักงานส่วนตำบลตามอัตราที่ว่างตามแผนอัตรากำลัง 3 ปี 40 แห่ง ซึ่งยังไม่มีการพิจารณาอนุมัติส่งตัวผู้สอบแข่งชันได้ไปบรรจุแต่งตั้งตามที่ร้องขอครบถ้วนแต่อย่างใดและที่ยิ่งกว่านั้นในวันที่ผู้สอบแข่งขันได้ลำดับที่ 1 ถึงที่ 50 มารายงานตัวเพื่อบรรจุและแต่งตั้งในตำแหน่งเจ้าหน้าที่วิเคราะห์นโยบายและแผน ระดับ 3
คณะกรรมการพนักงานส่วนตำบลจังหวัดราชบุรี นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในเขตจังหวัดราชบุรี 43 แห่ง มาให้ผู้สอบแข่งขันได้เลือกเพื่อจะบรรจุและแต่งตั้งคนละ 3 แห่ง
อันแสดงให้เห็นว่าขณะนั้นมีองค์การบริหารส่วนตำบลในเขตจังหวัดราชบุรีมีอัตราว่างที่จะบรรจุและแต่งตั้งผู้สอบแข่งขันได้ในตำแหน่งดังกล่าวถึง 43 แห่ง และยังไม่มีการพิจารณาอนุมัติส่งผู้สอบแข่งขันได้ไปบรรจุครบถ้วนแต่อย่างใด ซึ่งเป็นเรื่องผิดปกติไม่ตรงไปตรงมาตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น อันส่อให้เห็นถึงความไม่สุจริตและประพฤติมิชอบมากยิ่งขึ้น
จากนั้นวันที่ 25 พฤษภาคม 2549 คณะกรรมการหนักงานส่วนตำบลจังหวัดราชบุรี โดยจำเลยที่ 1 ผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรีในฐานะประธานคณะกรรมการพนักงานส่วนตำบลจังหวัดราชบุรีก็ลงนามหนังสือเรื่องการขอไช้บัญชีผู้สอบแข่งขันได้ถึงประธานคณะกรรมการพนักงานส่วนตำบลทุกจังหวัด เพื่อให้จังหวัดต่าง ๆ ที่มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ประสงค์จะขอใช้บัญชีผู้สอบแข่งขันได้ของจังหวัดราชบุรี ให้แจ้งความประสงค์ขอใช้บัญชีดังกล่าวต่อประธานคณะกรรมการพนักงานส่วนตำบลจังหวัดราชบุรีได้ตามที่จำเลยที่ 2 เสนอพร้อมบันทึกดังกล่าวข้างต้น
ทั้งที่ การพิจารณาอนุมัติส่งตัวผู้สอบแข่งขันได้เพื่อไปบรรจุและแต่งตั้งยังองค์กรปกครองส่วนห้องถิ่นนอกเขตจังหวัดราชบุรีนั้นอยู่นอกเหนืออำนาจหน้าที่รับผิดชอบของคณะกรรมการพนักงานส่วนตำบลจังหวัดราชบุรีและที่สำคัญองค์การบริหารส่วนตำบลในเขตจังหวัดราชบุรียังมีอัตราว่างอยู่ในตำแหน่งเจ้าหน้าที่วิเคราะห์นโยบายและแผน ระดับ 3 ที่ร้องขอให้คณะกรรมการพนักงานส่วนตำบลจังหวัดราชบุรีดำเนินการสอบแทนอีกหลายแห่งในขณะนั้น
แม้การบรรจุและแต่งตั้งพนักงานส่วนตำบลในขณะนั้นยังไม่มีหลักเกณฑ์กำหนดว่าจะต้องบังคับให้ดำเนินการบรรจุและแต่งตั้งผู้สอบแข่งขันได้ที่องค์การบริหารส่วนตำบลที่ร้องขอให้เปิดสอบเป็นอันดับแรกก่อนก็ตาม
แต่การดำเนินการบรรจุและแต่งตั้งนอกเขตจังหวัดราชบุรีดังกล่าวย่อมเป็นการกระทำโดยมิชอบด้วยอำนาจหน้าที่
@ 'นเรศ วงศาโรจน์' ซัดทอดถูกสั่งการ
นอกจากนี้ต้นเหตุสำคัญที่ทำให้คณะกรรมการพนักงานส่วนตำบลจังหวัดราชบุรีใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบดังกล่าวนั้น
จำเลยที่ 2 ก็เบิกความยอมรับว่าหนังสือเรียกให้ผู้สอบแข่งขันได้มารายงานตัวเพื่อบรรจุและแต่งตั้งในวันที่ 2 มีนาคม 2549 นำต้นแบบหนังสือฉบับดังกล่าวมาจากคณะกรรมการพนักงานส่วนตำบลจังหวัดสมุทรสงคราม
ประกอบกับตามรายงานสำนวนการไต่สวน ซึ่งจำเลยที่ 2 ให้การเพิ่มเติมมีใจความสำคัญว่าขั้นตอนการบรรจุและแต่งตั้งเป็นอำนาจของคณะกรรมการพนักงานส่วนตำบลจังหวัดราชบุรีโดยมีจำเลยที่ 1 เป็นผู้บังคับบัญชา และจำเลยที่ 1 ได้จัดตั้งคณะทำงานขึ้นมาคณะหนึ่งเพื่อกำกับดูแลเกี่ยวกับการสอบแข่งขันบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเป็นพนักงานส่วนตำบลจังหวัดราชบุรี พ.ศ. 2548 ประกอบด้วยนาย พ. รองผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรีขณะนั้น นาย ธ. นาย ว. นายอำเภอเมืองราชบุรีขณะนั้น นาย ค. เลขาของจำเลยที่ 1 นาย จ. และนาง ย. ผู้ทำหน้าที่รับสมัคร รับรายงานตัว งานธุรการทั้งหมด โดยปฏิบัติตามคำสั่งและการกำกับของจำเลยที่ 1 โดยตรงหรือผ่านคณะทำงานดังกล่าวหรือผ่านจำเลยที่ 2
ภายหลังจากประกาศรับสมัครสอบจำเลยที่ 1 มอบหมายให้นางย. รับผิดชอบเกี่ยวกับงานธุรการทั้งหมด เพราะมีความสนิทสนมกับนาย ค. เลขาของจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 1 แจ้งให้จำเลยที่ 2 ไปบอกกับบุคลากรอื่น ๆ ไม่ต้องเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการรับสมัครครั้งนี้ จำเลยที่ 2 ก็ไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับการสอบครั้งนี้
แต่ปฏิบัติหน้าที่นำเสนอข้อเท็จจริง ข้อกฎหมายต่าง ๆ ที่นาง ย. เสนอผ่านไปยังผู้บังคับบัญชาเพื่อเสนอต่อคณะกรรมการพนักงานส่วนตำบลจังหวัดราชบุรีพิจารณาอนุมัติเท่านั้น
ในการทำหน้าที่ของจำเลยที่ 2 ทีมงานของจำเลยที่ 1 มอบหมายให้จำเลยที่ 2 ต้องเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยจำเลยที่ 2 เห็นและทราบว่าจำเลยที่ 1 สั่งให้นาย ค. และคณะทำงานจัดทำหนังสือที่ มท 0865.2/2450 ลงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2549 ขอให้ผู้สอบแข่งขันได้ไปรายงานตัวเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเป็นพนักงานส่วนตำบลในวันที่ 2 มีนาคม 2549
โดยนาย ค. นำตัวอย่างจากจังหวัดอื่นมาให้นาง ย. พิมพ์และเสนอจำเลยที่ 1 ลงนาม และจำเลยที่ 1 สั่งการให้นาย ค. และคณะทำงานจัดทำหนังสือที่ มท 0865.2/9843 ลงวันที่ 25 พฤษภาคม 2549 ที่ประชาสัมพันธ์ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจังหวัดต่าง ๆ ขอใช้บัญชีผู้สอบแข่งขันได้ โดยนายครรชิตนำตัวอย่างหนังสือจากจังหวัดอื่นมาเป็นตัวอย่างให้นางเยาวลักษณ์จัดพิมพ์และเสนอจำเลยที่ 1 ลงนาม
ซึ่งแม้รายละเอียดข้อเท็จจริงของจำเลยที่ 2 ดังกล่าว จะมีลักษณะเป็นคำซัดทอดของผู้ต้องหาด้วยกันก็ตาม แต่เป็นเพียงการอธิบายที่มาที่ไปของเอกสารดังกล่าวเท่านั้น ซึ่งนายส. ก็ยืนยัน ข้อเท็จจริงดังกล่าวว่าขณะที่ฏิบัติหน้าที่ตำแหน่งนิติกรสำนักงานท้องถิ่นจังหวัดราชบุรี ในขณะนั้นว่า นาง ย.เป็นผู้รับผิดชอบการบรรจุและแต่งตั้งพนักงานส่วนตำบลโดยตรง เป็นผู้ดำเนินการตั้งแต่การเรียกผู้สอบเข่งขันได้มารายงานตัว จัดทำเอกสารรายละเอียดต่าง ๆ แล้วทำบันทึกเสนอให้จำเลยที่ 2 ลงนามเสนอจำเลยที่ 1 อนุมัติตามคำสั่งของจำเลยที่ 1 และคณะทำงานของจำเลยที่1 และจำเลยที่ 1 มอบหมายให้คณะทำงานสั่งการจำเลยที่ 2 และนาง ย. มากำกับดูแลงานนี้
กรณีจึงมีเหตุผลให้เชื่อว่าจำเลยที่ 1 มีส่วนรู้เห็นเกี่ยวข้องในการจัดทำหนังสือทั้ง 2 ฉบับโดยมิชอบในอำนาจหน้าที่ดังกล่าวชัดเจนยิ่งขึ้น
อันเป็นเหตุผลสำคัญในการพิจารณาอนุมัติส่งตัวผู้สอบแข่งขันได้โดยมิชอบตามกฎหมาย ประกาศและแบบแผนของทางราชการ จนทำให้การบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเป็นพนักงานส่วนตำบลข้ามลำดับที่ขึ้นบัญชีไว้ตั้งแต่ครั้งแรกและเป็นเหตุให้การบรรจุและแต่งตั้งในลำตับต่อไปจนถึงลำดับสุดท้ายแต่ละครั้งเป็นการมิชอบด้วยเช่นกัน
*****
หมายเหตุ : รายละเอียดคำพิพากษาส่วนนี้ยังไม่จบ ยังมีข้อมูลเกี่ยวกับพฤติการณ์ของนายวงศ์ศักดิ์ สวัสดิ์พาณิชย์ และนายนเรศ วงศาโรจน์ อีกหลายประการ ที่ส่อแสดงให้ศาลเห็นว่า การเปิดสอบแข่งขันเป็นพนักงานส่วนตำบล การพิจารณาอนุมัติส่งตัวผู้สอบแข่งขันได้ น่าจะมีความเกี่ยวข้องกับปัญหาการทุจริตเรียกรับเงินที่ปรากฏเป็นข่าวในสังคมขณะนั้น
แม้จะไม่ปรากฏหลักฐานเส้นทางการเงินเกี่ยวกับการกระทำความผิดชัดเจนก็ตาม
รายละเอียดเป็นอย่างไร โปรดติดตามตอนต่อไป