"...ละเอียดยิบ!ฉบับเต็มคำพิพากษาศาลฎีกาฯคดี ‘จารุพงศ์ เรืองสุวรรณ’ ยุคนั่ง รมว.มหาดไทย รับตั๋วเครื่องบินไปกลับ จีน มาเลเซีย ช่วงปี 2555-2556 เดินทางส่วนตัว‘ผดุง’ร่วมคณะ ใช้งบรับรอง กก.บมจ.จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก ลูกชายบอกให้ช่วยดูแล ผิดกม.ป.ป.ช.ห้ามรับ ปย.อื่นใดเกิน 3,000 บ. ปรับ 2 กระทง 120,000 บ..."
วันที่ 3 ก.ค.2566 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำพิพากษาว่า นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ ขณะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้จาก บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรือ ‘อีสท์ วอเตอร์’ ซึ่งมิใช่ญาติ โดยรับตั๋วโดยสารเครื่องบินเดินทางไปและกลับระหว่างประเทศไทยกับสาธารณรัฐประชาชนจีนอันอาจคำนวณเป็นเงินได้จำนวน 39,300 บาท และรับตั๋วโดยสารเครื่องบินเดินทางไปและกลับระหว่างประเทศไทยกับประเทศมาเลเซีย อันอาจคำนวณเป็นเงินได้จำนวน 20,780 บาท
ซึ่งเป็นทรัพย์สินที่มีราคาเกินกว่าสามพันบาทอันมิใช่ทรัพย์สินและประโยชน์อันควรได้ตามกฎหมาย ทั้งมิใช่การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดโดยธรรมจรรยา ตามประกาศ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดโดย ธรรมจรรยาของเจ้าหน้าที่ของรัฐ พ.ศ. 2543 ข้อ 5 องค์คณะผู้พิพากษาเสียงข้างมากให้ลงโทษปรับกระทงละ 60,000 บาท รวม 2 กระทง เป็นปรับ 120,000 บาท ตามข่าวที่สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานแล้ว
คดีนี้มีที่มาที่ไปและรายละเอียดเป็นอย่างไร?
สำนักข่าวอิศรา เรียบเรียงคำพิพากษา มารายงาน อย่างชัดๆ
วันที่ 3 เดือน กรกฎาคม พุทธศักราช 2566
อัยการสูงสุด โจทก์ ระหว่าง นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ จำเลย
เรื่อง ความผิดต่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
@เปิดคำฟ้อง เหตุเกิดเดือน ธ.ค.ปี 2555 กับ ก.พ.-มี.ค.2556
โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2555 จำเลยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย จำเลยจึงเป็นข้าราชการการเมือง ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานของรัฐ จำเลยกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ
เมื่อระหว่างวันที่ 20 ธันวาคม 2555 เวลากลางวัน ถึงวันที่ 31 มกราคม 2556 เวลากลางวัน ต่อเนื่องกันและเกี่ยวพันกัน จำเลยรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้จากบริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) ซึ่งมิใช่ญาติ โดยรับตั๋วโดยสารเครื่องบินเดินทางไปและกลับระหว่างประเทศไทยกับสาธารณรัฐประชาชนจีน เดินทางระหว่างวันที่ 20 ถึง 21 ธันวาคม 2555 ซึ่งตั๋วโดยสารเครื่องบินดังกล่าวเป็นทรัพย์สินและประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้จำนวน 39,300 บาท ซึ่งเป็นทรัพย์สินที่มีราคาเกินกว่าสามพันบาท อันมิใช่ทรัพย์สินและประโยชน์อันควรได้ตามกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย
ทั้งมิใช่การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดโดยธรรมจรรยาตามประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดโดยธรรมจรรยาของเจ้าหน้าที่ของรัฐ พ.ศ. 2543 ข้อ 5 และไม่เข้าข้อยกเว้นใดๆ ตามกฎหมาย และเมื่อระหว่างวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2556 เวลากลางวัน ถึงวันที่ 8 มีนาคม 2556 เวลากลางวันต่อเนื่องและเกี่ยวพันกัน จำเลยรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจากบริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) ซึ่งมิใช่ญาติ โดยรับตั๋วโดยสารเครื่องบินเดินทางไปและกลับระหว่างประเทศไทยกับประเทศมาเลเซีย เดินทางระหว่างวันที่ 2 ถึง 3 กุมภาพันธ์ 2556
ซึ่งตั๋วโดยสารเครื่องบินดังกล่าวเป็นทรัพย์สินและประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้จำนวน 20,780 บาท ซึ่งเป็นทรัพย์สินที่มีราคาเกินกว่าสามพันบาท อันมิใช่ทรัพย์สินและประโยชน์อันควรได้ตามกฎหมาย กฎหรือข้อบังคับที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ทั้งมิใช่การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดโดยธรรมจรรยาตามประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เรื่องหลักเกณฑ์การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดโดยธรรมจรรยาของเจ้าหน้าที่ของรัฐ พ.ศ. 2543 ข้อ 5 และไม่เข้าข้อยกเว้นใดๆ ตามกฎหมาย เหตุเกิดที่แขวงจอมพล เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร และตำบลหนองปรือกับตำบลราชาเทวะ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ เกี่ยวพันกัน ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 103, 122 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 4, 128, 169, 194, 198
@อ้างเดินทางเพื่อ ปย.ราชการ-ขออนุญาต นายกฯแล้ว
ศาลประทับรับฟ้องไว้กับส่งหมายรียกและสำเนาฟ้องให้จำเลยทราบโดยชอบ แต่จำเลยไม่มาศาล ศาลออกหมายจับจำเลยแล้ว แต่ไม่สามารถจับจำเลยได้ภายในสามเดือนนับแต่วัน ออกหมายจับจึงพิจารณาคโดยไม่ต้องกระทำต่อหน้าจำเลยตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 28 โดยจำเลยแต่งตั้งทนายความมาดำเนินการแทน และให้การว่าจำเลยเดินทางไปประเทศมาเลเซียกับสาธารณรัฐประชาชนจีนเพื่อดูงานระบบป้องกันน้ำท่วมกับระบบรถไฟฟ้า อันเป็นการเดินทางไปเพื่อประโยชน์ของทางราชการ โดยได้ขออนุญาตจากนายกรัฐมนตรีแล้ว
@‘ผดุง ลิ้มเจริญรัตน์’ไปด้วย- มารู้ทีหลัง บ.เอกชน ซื้อตั๋วให้
สำหรับค่าตั๋วโดยสารเครื่องบินไปสาธารณรัฐประชาชนจีนนั้น จำเลยเข้าใจว่าเจ้าหน้าที่สำนักงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้ดำเนินการ แต่เมื่อใกล้วันเดินทางจำเลยทราบว่ายังไม่มีการซื้อตั๋วโดยสารเครื่องบิน จำเลยจึงมอบเงินประมาณ 100,000 บาท ให้ทีมงานไปจัดซื้อตั๋วโดยสารเครื่องบิน โดยจำเลยไม่ได้สอบถามว่าจะไปจัดซื้อจากบริษัทใดและใครเป็นผู้ซื้อ ส่วนการเดินทางไปประเทศมาเลเซียนั้น จำเลยใช้เงินส่วนตัวประมาณ 60,000 บาท ให้ทีมงานไปซื้อตั๋วโดยสารเครื่องบิน
สำหรับการเดินทางไปประเทศดังกล่าวทั้งสองครั้งมีนายผดุง ลิ้มเจริญรัตน์ และบุคคลอีกคนหนึ่งเดินทางไปด้วย จำเลยทราบภายหลังว่ามีการซื้อตั๋วโดยสารเครื่องบินในนามของบริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) โดยจำเลยไม่ทราบว่ามีการนำเงินของบริษัทดังกล่าวไปซื้อตั๋วโดยสารเครื่องบินให้จำเลย จำเลยจึงไม่ได้ กระทำความผิดตามฟ้อง
@ค่าตั๋วไปกลับกรุงเทพฯ-ปักกิ่ง อิสท์ วอเตอร์จ่าย
พิเคราะห์คำฟ้อง คำให้การจำเลย เอกสารที่คู่ความแถลงรับ รายงานการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. และคำแถลงปิดคดีของจำเลยแล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่าบริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทเอกชน ขณะเกิดเหตุจำเลยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งเป็นข้าราชการการเมือง ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และเจ้าหน้าที่ของรัฐ จึงเป็นเจ้าพนักงานของรัฐตามมาตรา 4 และมาตรา 198 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 โดยไม่มีความเกี่ยวข้องกับบริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน)
เมื่อประมาณต้นเดือนธันวาคม 2555 นายชินวัฒน์ อัศวโภคี กรรมการบริหารและการลงทุนของบริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) ขอให้นายจิรัฏฐ์ นิธิอนันตภร ประธานคณะกรรมการบริหารและการลงทุนบริษัทดังกล่าว และนายวรพล ลียะวณิช เลขานุการ ของนายจิรัฏฐ์ติดต่อบริษัทนำเที่ยวเพื่อเดินทางไปสาธารณรัฐประชาชนจีน ต่อมานายจิรัฏฐ์และนายวรพลติดต่อและประสานงานกับบริษัท เอ็ม แอนด์ พี ฮอลิเดย์ ทัวร์ จำกัด เพื่อจองและออกตั๋วโดยสารเครื่องบินเดินทางไปและกลับระหว่างกรุงเทพ - ปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน ในวันที่ 20 ถึง 21 ธันวาคม 2555 โดยสายการบินแอร์ไซน่า ชั้นธุรกิจ เที่ยวบิน CA 980 และ CA 979 ให้แก่จำเลย เป็นเงินค่าตั๋วโดยสารเครื่องบิน 39,600 บาท โดยเรียกเก็บเงินจากบริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) วันที่ 19 ธันวาคม 2555 บริษัท เอ็ม แอนด์ พี ฮอลิเดย์ ทัวร์ จำกัด เรียกเก็บเงินค่าตั๋วโดยสารเครื่องบินดังกล่าวจากบริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน)
ต่อมาจำเลยใช้ตั๋วโดยสารเครื่องบินดังกล่าวเดินทางไปกลับระหว่างกรุงเทพ - ปักกิ่ง หลังจากนั้นนางสาวนารีรัตน์ เต่าทอง พนักงานเลขานุการ คณะกรรมการบริษัท ดำเนินการเสนอเรื่องเบิกจ่ายเงินค่าตั๋วโดยสารเครื่องบินผ่านนางน้ำฝน รัษฎากูล ผู้อำนวยการบริหาร เสนอนายประพันธ์ อัศวอารี กรรมการและผู้อำนวยการใหญ่ เพื่อเบิกจ่ายเงินจากเงินค่ารับรองกรรมการ (ตั๋วเครื่องบินรับรองลูกค้าบริษัท) ให้แก่นายจิรัฏฐ์ นายประพันธ์ อนุมัติ แต่นายจิรัฏฐ์โต้แย้งว่าพอร์ตบันทึกค่าใช้จ่ายของคณะกรรมการไม่ถูกต้อง ขอให้ตรวจสอบนางน้ำฝนตรวจสอบแล้ว ไม่ปรากฎชื่อนายจิรัฏฐ์เป็นผู้เดินทาง โดยปรากฎชื่อนายชินวัฒน์เป็นผู้เดินทาง ทำให้ข้อเท็จจริงการเบิกจ่ายเงินคลาดเคลื่อน จึงปรับเปลี่ยนพอร์ตการบันทึกค่าใช้จ่ายของนายจิรัฏฐ์ไปเป็นพอร์ตของนายชินวัฒน์
@ตั๋วไปกลับระหว่างกรุงเทพ – กัวลาลัมเปอร์ ด้วย
ต่อมาบริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) สั่งจ่ายเช็คธนาคารกสิรกรไทย จำกัด สาขาบางเขน จำนวนเงิน 117,900 บาท ลงวันที่ 31 มกราคม 2556 ให้แก่บริษัท เอ็ม แอนด์ พี ฮอลิเดย์ ทัวร์ จำกัด ครั้นวันที่ 27 พฤษภาคม 2556 นายชินวัฒน์คืนเงินค่าตั๋วโดยสารเครื่องบิน 117,900 บาท ให้บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) และก่อนเดินทางไปประเทศมาเลเซีย นายชินวัฒน์ให้ นางสาวกฤษณา ฉันท์สมฤทธิ์กุล เลขานุการของทนายความประจำบริษัท เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ จำกัด ติดต่อนางมาลัย หมัดดี พนักงานบริษัท แอร์โร อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เพื่อจองและออกตั๋วโดยสารเครื่องบินเดินทางไปและกลับระหว่างกรุงเทพ - กัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ในวันที่ 2 ถึง 3 กุมภาพันธ์ 2556 โดยสายการบินมาเลเซียแอร์ไลน์ เที่ยวบิน MH 0783 และ MH 0780 ให้แก่จำเลย เป็นเงินค่าตั๋วโดยสารเครื่องบิน 20,780 บาท
โดยเรียกเก็บเงินจากบริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) นางมาลัยออกตั๋วโดยสารเครื่องบินให้แล้วส่งไปยังบริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) วันที่ 30 มกราคม 2556 บริษัท แอร์โร อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เรียกเก็บเงินค่าตั๋วโดยสารเครื่องบิน 62,340 บาท ซึ่งรวมเงินค่าตั๋วโดยสารเครื่องบินของจำเลยด้วยจากบริษัทดังกล่าว
ต่อมาจำเลยใช้ตั๋วโดยสารเครื่องบิน ดังกล่าวเดินทางไปกลับระหว่างกรุงเทพ - กัวลาลัมเปอร์ หลังจากนั้นบริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) จ่ายเงินค่าตั๋วโดยสารเครื่องบินให้แก่บริษัท แอร์โร อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด โดยนายชินวัฒน์ ซึ่งปฏิบัติการแทนผู้อำนวยการใหญ่เป็นผู้อนุมัติเบิกจ่าย จากเงินค่ารับรองกรรมการ (ตั๋วเครื่องบินรับรองลูกค้าบริษัท) โดยเช็คของธนาคารกสิกรไทย จำกัด สาขาบางเขน ลงวันที่ 8 มีนาคม 2556 สั่งจ่ายเงินจำนวน 62,340 บาท วันที่ 16 พฤษภาคม 2556 บริษัท แอร์โร อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด มีหนังสือคืนเงินค่าตั๋วโดยสารเครื่องบินให้แก่บริษัทจัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) อ้างว่าเกิดความผิดพลาดเกี่ยวกับการเก็บค่าใช้จ่ายดังกล่าว ตามแคชเชียร์เช็คของธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาถนนเพลินจิต ลงวันที่ 16 พฤษภาคม 2556 หลังจากนั้นบริษัท แอร์โร อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เรียกเก็บเงินค่าตั๋วโดยสารเครื่องบินจากนายชินวัฒน์
ซึ่งนายชินวัฒน์ชำระเงินคืนบริษัทดังกล่าวแล้ว รายละเอียดเกี่ยวกับการเรียบเก็บเงิน การเบิกจ่ายเงิน การชำระเงิน และการคืนเงินค่าตั๋วโดยสารเครื่องบินปรากฏตามหนังสือของบริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) เอกสารหมาย จ.5 แฟ้มที่ 1 หน้า 66 ถึง 89
(จารุพงศ์ เรืองสุวรรณ - ภาพจากเว็บไซต์รัฐสภา)
@กรรมการ บ.เอกชนให้การวกวน ‘จารุพงศ์’ควักเงินสดจ่ายเอง-ศาลชี้ไม่อยู่กับร่องรอย
ปัญหาต้องวินิจฉัยมีว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่
องค์คณะผู้พิพากษาเสียงข้างมากเห็นว่า ทางไต่สวนนายชินวัฒน์ อัศวโภคี ซึ่งขณะเกิดเหตุดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารและการลงทุน บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) เบิกความว่า การเดินทางไปสาธารณรัฐประชาชนจีนและประเทศมาเลเชีย จำเลยเป็นผู้ออกค่าตั๋วโดยสารเครื่องบินโดยนำเงินสดมาให้พยานก่อนเดินทางไปประเทศดังกล่าว
ต่อมานายชินวัฒน์เบิกความว่าผู้ที่นำเงินมามอบให้พยานเป็นทีมงานของจำเลยซึ่งจำไม่ได้ว่าเป็นใครและจำจำนวนเงินไม่ได้เนื่องจากไม่ได้เปิดนับโดยนำเงินมามอบให้บริเวณห้างซีดีซีเลียบทางด่วนรามอินทราก่อนเดินทางไปสาธารณรัฐประชาชนจีนและประเทศมาเลเซียประมาณ 1 ถึง 2 วัน แต่ไม่มีการจัดทำหลักฐานการรับเงินไว้ และเบิกความตอบทนายจำเลยว่า
บุตรชายจำเลยเป็นผู้นำเงินค่าตั๋วโดยสารเครื่องบินมามอบให้พยาน ซึ่งคำเบิกความดังกล่าวขัดแย้งแตกต่างกันรับฟังไม่ได้แน่ชัดว่าจำเลย ทีมงานของจำเลยหรือบุตรชายของจำเลยเป็นผู้นำเงินค่าตั๋วโดยสารเครื่องบินไปมอบให้นายชินวัฒน์ คำเบิกความของนายชินวัฒน์จึงไม่อยู่กับร่องกับรอยไม่อาจรับฟังเป็นความจริงได้ ทั้งคำเบิกความดังกล่าวยังขัดแย้งกับคำให้การจำเลยที่ว่าจำเลยให้ทีมงานของจำเลยไปจัดซื้อตั๋วโดยสารเครื่องบินเพื่อเดินทางไปสาธารณรัฐประชาชนจีนและประเทศมาเลเซียด้วย
ข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยเป็นผู้ชำระเงินค่าตั๋วโดยสารเครื่องบินเดินทางไปและกลับระหว่างกรุงเทพ - ปักกิ่ง กับค่าตั๋วโดยสารเครื่องบินเดินทางไปกลับระหว่างกรุงเทพ - กัวลาลัมเปอร์ หรือให้ทีมงานของจำเลยไปจัดซื้อเมื่อพิจารณาถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความเป็นมาของการออกตั๋วโดยสารเครื่องบินและการชำระเงินค่าตั๋วโดยสารเครื่องบิน
ซึ่งทางไต่สวนได้ความว่า นายชินวัฒน์ กรรมการบริหารและการลงทุน บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ดำเนินการออกตั๋วโดยสารเครื่องบินเดินทางไปกลับระหว่างกรุงเทพ - ปักกิ่ง และกรุงเทพ - กัวลาลัมเปอร์ โดยให้บริษัท เอ็ม แอนด์ พี ฮอลิเดย์ ทัวร์ จำกัด และบริษัท แอร์โร อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เป็นผู้จองและออกตั๋วโดยสารเครื่องบินแล้วเรียกเก็บเงินค่าตั๋วโดยสารเครื่องบินจากบริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) ซึ่งต่อมานายประพันธ์ อัศวอารี กรรมการและผู้อำนวยการใหญ่ กับนายชินวัฒน์
ซึ่งปฏิบัติการแทนผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) อนุมัติให้ชำระเงินค่าตั๋วโดยสารเครื่องบินดังกล่าวจากเงินค่ารับรองกรรมการ (ตั๋วเครื่องบินรับรองลูกค้าบริษัท) ของนายชินวัฒน์ แก่บริษัท เอ็ม แอนด์ พี ฮอลิเดย์ ทัวร์ จำกัด และบริษัท แอร์โร อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัดแล้ว พยานหลักฐานที่ไต่สวนจึงรับฟังเป็นความจริงได้ว่าบริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ชำระเงินค่าตั๋วโดยสารเครื่องบินที่จำเลยใช้เดินทางไปกลับระหว่างกรุงเทพ - ปักกิ่ง และกรุงเทพ - กัวลาลัมเปอร์
แม้ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าบริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) ชำระเงินค่าตั๋วโดยสารเครื่องบินให้แก่บริษัท เอ็ม แอนด์ พี ฮอลิเดย์ ทัวร์ จำกัด และบริษัท แอร์โร อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2556 และวันที่ 8 มีนาคม 2556 หลังจากที่จำเลยใช้ตั๋วโดยสารเครื่องบินเดินทางไปกลับระหว่างกรุงเทพ - ปักกิ่ง กับกรุงเทพ - กัวลาลัมเปอร์ ก็ตาม แต่เหตุดังกล่าวเป็นผลสืบเนื่องมาจากการดำเนินการของบริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก (มหาชน) จำกัด ในการเบิกเงินค่ารับรองกรรมการเพื่อชำระเงินค่าตั๋วโดยสารเครื่องบินเท่านั้น
@กรณี บ.ขายตั๋วคืนเงินให้ อีสท์ วอเตอร์ ไม่มีผลให้ข้อเท็จจริงเปลี่ยน
ส่วนที่บริษัท เอ็ม แอนด์ พี ฮอลิเดย์ ทัวร์ จำกัด และบริษัท แอร์โร อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด คืนเงินค่าตั๋วโดยสารเครื่องบินให้แก่บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) และนายชินวัฒน์นำเงินค่าตั๋วโดยสารเครื่องบินชำระคืนให้บริษัทดังกล่าวนั้น ก็เป็นการกระทำที่เกิดขึ้นหลังจากที่บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) ชำระเงินค่าตั๋วโดยสารเครื่องบินแล้ว กรณีจึงไม่มีผลทำให้บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) มิใช่เป็นผู้ที่ไม่ได้ชำระเงินค่าตั๋วโดยสารเครื่องบินแต่อย่างใด
@ระบบสารบัญ สนง.รมต.มหาดไทย ไม่มีรายการ ‘จารุพงศ์’ขออนุญาตไปราชการ ตปท.
เมื่อขณะเกิดเหตุจำเลยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย โดยไม่มีความเกี่ยวข้องกับบริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) และตามรายละเอียดแนวทางการใช้จ่ายค่ารับรองของคณะกรรมการบริษัทเอกสารหมาย จ.36 แผ่นที่ 10 บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) ไม่สามารถเบิกจ่ายเงินค่ารับรองในนามคณะกรรมการบริษัทให้จำเลยได้ ประกอบกับตามหนังสือของกระทรวงมหาดไทย ลงวันที่ 23 สิงหาคม 2559 เอกสารหมาย จ.13 ยืนยันว่า ขณะเกิดเหตุเมื่อประมาณเดือนธันวาคม 2555 และวันที่ 1 ถึง 2 กุมภาพันธ์ 2556 ในระบบสารบัญของสำนักรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย ไม่พบว่ามีการขออนุญาตเดินทางไป ราชการต่างประเทศของจำเลย ในห้วงเวลาตั้งแต่วันที่ 28 พฤศจิกายน 2555 ถึงวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2556
ซึ่งตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการอนุมัติให้เดินทางไปราชการและการจัดการประชุมของทางราชการ พ.ศ. 2524 ข้อ 13 (1) ระบุว่า ภายใต้บังคับข้อ 14 และข้อ 15 ให้ผู้บังคับบัญชาดังต่อไปนี้เป็นผู้มีอำนาจอนุมัติการเดินทางไปราชการต่างประเทศ (1) นายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้ารัฐบาล สำหรับการเดินทางของรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวง รัฐมนตรี ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการทบวง และข้าราชการการเมืองทุกตำแหน่ง นอกจากเลขานุการรัฐมนตรีและผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรี ทำให้ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยไม่ได้เดินทางไปราชการที่สาธารณรัฐประชาชนจีนและประเทศมาเลเซีย แต่เป็นการเดินทางไปส่วนตัวแล้ว ดังนี้
@ไปส่วนตัว-ลูกชายสั่ง ให้ กก.เอกชนช่วยดูแล
เมื่อจำเลยใช้ตั๋วโดยสารเครื่องบินดังกล่าวเดินทางไปกลับระหว่างกรุงเทพ - ปักกิ่ง และกรุงเทพ- กัวลาลัมเปอร์ เป็นการส่วนตัว ทั้งทางไต่สวนได้ความจากคำเบิกความของนายชินวัฒน์ว่า บุตรชายของจำเลยให้นายชินวัฒน์ซึ่งขณะเกิดเหตุดำรงตำแหน่ง กรรมการบริหารและการลงทุน บริษัทจัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) ดูแลจำเลยในการเดินทางไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีนและประเทศมาเลเซีย กับนายชินวัฒน์เดินทางไปสาธารณรัฐประชาชนจีน และประเทศมาเลเซียพร้อมจำเลยด้วย
จึงเชื่อว่าจำเลยรู้อยู่แล้วว่าบริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ซื้อตั๋วโดยสารเครื่องบินดังกล่าวให้จำเลยโดยกรรมการบริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ขออนุมัติเบิกเงินจากเงินค่ารับรองกรรมการ (ตั๋วเครื่องบินรับรองลูกค้าบริษัท) ของกรรมการชำระเงินค่าตั๋วโดยสารเครื่องบิน และการที่จำเลยใช้ตั๋วโดยสารเครื่องบินเดินทางไปกลับระหว่างกรุงเทพ - ปักกิ่ง และกรุงเทพ - กัวลาลัมเปอร์ บ่งชี้ได้ว่าจำเลยมีเจตนารับตั๋วโดยสารเครื่องบินนั้น เมื่อตั๋วโดยสารเครื่องบินมีราคา 39,300 บาท และ 20,780 บาท เกินกว่า 3,000 บาท
@ ผิด กม.ป.ป.ช. ฐานรับประโยชน์อื่นใดจากเอกชนเกิน 3,000 บ.
ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าจำเลยรับตั๋วโดยสารเครื่องบินเดินทางไปกลับระหว่างกรุงเทพ - ปักกิ่ง และกรุงเทพ - กัวลาลัมเปอร์ ซึ่งเป็นประโยชน์อื่น ใดซึ่งมีราคาหรือมูลค่าเกิน 3,000 บาท จากบริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) ซึ่งมิใช่ญาติ การกระทำของจำเลยดังกล่าวจึงเป็นการรับประโยชน์อื่นใดซึ่งมีราคา หรือมูลค่าจากบริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) นอกเหนือจากประโยชน์อันควรได้
ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 103 และประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดโดยธรรมจรรยาของเจ้าหน้าที่ของรัฐ พ.ศ. 2543 ข้อ 3 และข้อการกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามฟ้อง
อนึ่ง ภายหลังการกระทำความผิด มีพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 ใช้บังคับ โดยมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 แต่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตพ.ศ. 2561 มาตรา 169 ยังคงบัญญัติให้การกระทำตามฟ้องเป็นความผิดและมีระวางโทษเท่าเดิมจึงต้องลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 122 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะที่จำเลยกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 วรรคหนึ่ง
@พิพากษา ปรับ 2 กระทงรวม 120,000 บาท
พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 122 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 97 องค์คณะผู้พิพากษาเสียงข้างมากให้ลงโทษปรับกระทงละ 60,000 บาท รวม 2 กระทง เป็นปรับ 120,000 บาท หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30. (คดีหมายเลขแดงที่ อม.19 /2566)