“…ที่ผ่านมาไทยชูประเด็นเรื่องพื้นที่ป่าไม้มาโดยตลอด และตั้งเป้าหมายว่าจะมีพื้นที่ป่าให้ได้ 40% ของพื้นที่ประเทศ แต่ในปัจจุบัน มีเพียงแค่ 32% ซึ่งห่างจากเป้าที่ตั้งไว้เพียง 8% แต่ตลอดเวลา 10 - 20 ปีที่ผ่านมา ตัวเลขช่องว่างที่ขาดไปนั้น ไม่ได้ลดลงเลย โดยคิดเป็นเนื้อที่ก็ประมาณ 26 ล้านไร่ที่หายไป จึงเป็นอีกปัญหาท้าทายให้แก่รัฐบาลใหม่...”
‘การจัดทำนโยบายและแผนการดำเนินงานที่ยั่งยืนเพื่อขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้า’ เป็นหน้าที่ของรัฐบาล แต่ท่ามกลางสถานการณ์การเมืองที่ชุลมุน แม้ว่าการเลือกตั้งจะเสร็จสิ้นไปแล้ว แต่จนถึงขณะนี้สถานการณ์ทางการเมืองยังคงวุ่นวาย และยังไม่เป็นรูปเป็นร่างสำหรับรัฐบาลใหม่ของประเทศไทย ส่งผลให้ความหวังของประชาชนที่รอให้รัฐบาลชุดใหม่เข้ามาแก้ปัญหาในอีกหลากหลายนโยบายหยุดชะงัก รวมถึงประเด็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ที่มักจะถูกมองข้าม หรือให้ความสำคัญในอันดับรั้งท้าย แม้ว่าจริง ๆ แล้ว เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่สำคัญไม่ต่างกับปัญหาปากท้อง หรือเรื่องอื่น ๆ เนื่องจาก ‘สิ่งแวดล้อม’ ถือว่าฐานรากในการพัฒนาเกี่ยวข้องโดยตรงกับคุณภาพชีวิตและสุขภาวะของประชาชน
ในขณะที่ประเทศไทยกำลังจะก้าวเข้าสู่บริบทใหม่ของการเมือง จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจที่จะตั้งคำถามถึงนโยบายด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมว่าจะได้รับการกำหนดในนโยบายของรัฐบาลใหม่นี้อย่างไร เพื่อช่วยสนับสนุนเส้นทางการพัฒนาตามที่ประชาชนปรารถนา
กรีนพีซเสนอ 6 ข้อ นโยบายสิ่งแวดล้อมต่อรัฐบาลใหม่
ย้อนกลับไปก่อนเลือกตั้ง กรีนพีซ ประเทศไทย มีแคมเปญ #VoteForClimate เข้าคูหากาสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา โดยรวบรวมข้อเสนอนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม ต่อพรรคการเมืองในการเลือกตั้ง 2566 ดังนี้
-
ความเป็นธรรมทางสภาพภูมิอากาศ (Climate Justice) อยากเห็นรัฐบาลใหม่ทำหลายเรื่องด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการจัดตั้งคณะกรรมาธิการรัฐสภาว่าด้วยความเป็นธรรมทางสภาพภูมิอากาศ การเปิดพื้นที่ให้กับองค์ความรู้ ภูมิปัญญาชุมชนที่จะต่อกรกับสภาพภูมิอากาศ และนำไปสู่การฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ยั่งยืน และเป็นธรรม อีกทั้งมีจุดยืนชัดเจนในเวทีโลกเรื่องของเจรจาประเด็นสภาพภูมิอากาศต่างๆ เช่น การจัดตั้งกองทุนความสูญเสีย และความเสียหายที่มีการเจรจาผลักดันอยู่ขณะนี้ เป็นต้น
-
การเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรม (Just Energy Transition) และประชาธิปไตยทางพลังงาน (Energy Democracy) การมีส่วนร่วมของประชาชนในการเข้าไปวางแผนทางพลังงาน เสนอให้ลดกำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองลงในระดับมาตรฐานราว 15% ปลดระวางถ่านหิน ลดการลงทุนโรงไฟฟ้าใหม่ที่ไม่จำเป็น พัฒนาระบบกักเก็บพลังงาน และระบบกริดอัจฉริยะ รวมถึงผลักดันนโยบายให้ประชาชนสามารถส่งไฟฟ้าจากระบบพลังงานหมุนเวียนที่ตนเองมีอยู่เข้าระบบสายส่งได้ การทบทวนวางแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า Power Development Plan และเปิดให้ประชาสังคมอยู่ในแผนพลังงาน เป็นต้น
-
มลพิษทางอากาศจากฝุ่นละอองขนาดเล็กมาก (PM2.5) เสนอให้เกิดเครื่องมือทางกฎหมาย เพราะรากเหง้าของวิกฤติ PM2.5 มาจากการพัฒนาที่ผิดทิศทาง และไม่มีมาตรการป้องกันทางสิ่งแวดล้อมรองรับ ดังนั้น ระยะยาวต้องอาศัยเครื่องมือที่สำคัญ คือ กฎหมาย ไม่ว่าจะเป็น (ร่าง) พ.ร.บ.การรายงาน และเปิดเผยข้อมูลการปล่อย และเคลื่อนย้ายสารมลพิษ พ.ศ... หรือ PRTR เป็นต้น หรือกฎหมายอากาศสะอาด มาตรฐานการรายงานการปล่อยฝุ่น PM2.5 จากแหล่งกำเนิด เพราะปัจจุบันมาตรฐานของไทยเริ่มเข้มงวดขึ้น อยู่ที่ว่าแหล่งกำเนิดที่ปล่อยฝุ่นเหล่านี้ออกมาจะมีความเข้มงวดมากน้อยแค่ไหน
-
มลพิษพลาสติก ปัญหาไม่ได้แค่ขยะพลาสติก แต่เป็นมลพิษพลาสติก ไม่ว่าจะเป็นไมโครพลาสติก นาโนพลาสติก เหล่านี้เข้าไปอยู่ในสิ่งแวดล้อม ห่วงโซ่อาหาร และร่างกายมนุษย์ ข้อเสนอของกรีนพีซ ประเทศไทย คือ การผลักดันให้เกิดกฎหมายการจัดการขยะบรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืนบนหลักการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต (Extended Producer Responsibility) สนับสนุนสนธิสัญญาพลาสติกระดับโลก มุ่งจัดการวัฏจักรชีวิตของพลาสติกทั้งหมด ยุติอุดหนุนเชื้อเพลิงฟอสซิล ยกเลิกส่งเสริมธุรกิจพลังงานจากเชื้อเพลิงขยะพลาสติก และการอนุญาตนำเข้าเศษพลาสติกเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า เป็นต้น
-
มลพิษทางอากาศข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง จะต้องมีนโยบายเพื่อให้เกิดกลไกทางสังคมในการตรวจสอบผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยเฉพาะบริษัทที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับห่วงโซ่อุปทานของการผลิตพืชเชิงเดี่ยวที่ก่อให้เกิดฝุ่น มีการทำงานร่วมกันระหว่างประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 5 ประเทศ คือ ไทย เมียนมา สปป.ลาว กัมพููชา และเวียดนาม ขณะที่ ระยะยาว จำเป็นต้องลดพื้นที่การผลิตพืชเชิงเดี่ยว เช่น ข้าวโพด อ้อย และนำการผลิตรูปแบบอื่นที่ให้ผลตอบแทนที่ดี และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมาใช้ กระจายอำนาจสู่การปกครองส่วนท้องถิ่น ให้สามารถบริหารจัดการให้สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่
-
สิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง เป็นข้อเรียกร้องที่อยากจะเห็นรัฐบาลใหม่ หยุดโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ในพื้นที่ชายฝั่งทะเลทั้งหมด และทำกระบวนการออกแบบยุทธศาสตร์พัฒนาพื้นที่ชายฝั่งร่วมกับชุมชน ตามพื้นฐานศักยภาพของทรัพยากรหรือความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเล เป็นต้น
นายธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการกรีนพีซ ประเทศไทย เผยถึงเรื่องเร่งด่วนที่อยากจะให้รัฐบาลใหม่เร่งผลักดันว่า เป็นเรื่องของการผลักดันกฎหมายอย่าง กฎหมายอากาศสะอาด จะถูกผลักดันในลักษณะใด เพราะมีร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาดฉบับหนึ่งที่อยู่ในกระบวนการของรัฐบาลอยู่แล้ว และกฎหมายอีกตัว คือ PRPR กฎหมายเรื่องของการรายงานข้อมูล และการเคลื่อนย้ายการปล่อยสารมลพิษออกสู่สิ่งแวดล้อม ซึ่งทางกรีนพีซ ได้ร่วมกับ 2 องค์กร คือ มูลนิธิบูรณะนิเวศ และ มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม ผลักดันเข้าไปในสภาช่วงปีที่ผ่านมา
นอกจากนี้ เรื่องพลังงาน ทำอย่างไรให้ค่าไฟมีความเป็นธรรม ผู้บริโภคมีภาระที่ไม่จำเป็นน้อยลง จะต้องทำกระบวนการคิดค่าไฟ การผลิตไฟฟ้า การวางแผนพลังงานโปร่งใส การทำประเด็นเร่งด่วนในเรื่องสิ่งแวดล้อมจะต้องคู่ขนานไปกับการยกระดับเศรษฐกิจในระดับครัวเรือน ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำไปพร้อมกันได้ เช่น กรณีของการเปิดให้มีกลไกการรับซื้อไฟฟ้าจากครัวเรือน ชุมชนที่ผลิตไฟฟ้าเองได้ จะสร้างเศรษฐกิจ และการมีส่วนร่วมของประชาชนในการผลิตไฟฟ้า
“ผลที่ได้ คือ ยกระดับเศรษฐกิจในครัวเรือนได้ ยิงปืนนัดเดียว ได้นกหลายตัว ดังนั้น ไม่จำเป็นต้องเอาเศรษฐกิจขึ้นก่อนแล้วเอาสิ่งแวดล้อมตามหลัง เพราะสามารถทำไปพร้อมกันได้ นโยบายเศรษฐกิจที่ทำได้เลยในช่วง 100 วัน ควรเป็นผลประโยชน์ร่วมที่ทำให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้นด้วย” นายธารา กล่าว
นายธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการกรีนพีซ ประเทศไทย
เช่นเดียวกับ รศ.ดร.อดิศร์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ที่ปรึกษานโยบายทรัพยากรธรรมชาติและการลดก๊าซเรือนกระจก TDRI และ อนุกรรมการพันธบัตรป่าไม้ ได้เผยถึงภาพรวมการวางนโยบายสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยและความท้าทาย ในเวทีเสวนา ‘นโยบายสิ่งแวดล้อมในบริบทการเมืองใหม่’ เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2566 ว่า เมื่อพูดถึงประเด็นสิ่งแวดล้อม ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน นโยบายสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวเนื่องกับนโยบายอื่น ๆ มีโจทย์หลักใหญ่อยู่ 5 เรื่อง
ฝุ่น PM 2.5 โจทย์ใหญ่ที่หวนกลับมาทุกปี
รศ.ดร.อดิศร์ กล่าวว่า ปัญหาฝุ่น PM 2.5 เป็นโจทย์ข้อใหญ่และข้อเดิมที่วนกลับมาทุกปี และส่งผลกระทบต่อปัญหาสุขภาพของประชาชน แต่การแก้ไขปัญหานี้ไม่ใช่เรื่องง่าย ถ้าหากมองต้นตอของปัญหา เกิดจากสภาพภูมิอากาศ เนื่องจาก วิกฤติฝุ่น PM 2.5 ไม่ได้เกิดขึ้นตลอดปี แต่จะเกิดเฉพาะช่วงฤดูหนาวเป็นหลัก ดังนั้น ถ้าต้นตอสาเหตุมาจากอากาศ การที่จะไปแก้ที่ชั้นบรรยากาศ มันไม่สามารถทำได้ ฉะนั้นจึงต้องเริ่มแก้ที่ตัวคน
ในส่วนของตัวการเกิดฝุ่น PM 2.5 มีอยู่ไม่กี่อย่าง ฉะนั้น ถ้าเราสามารถจำกัดตัวการสร้างปัญหาได้การดำเนินมาตรการก็จะง่ายและชัดเจนขึ้น อาทิเช่น กลุ่มรถที่ใช้เชื้อเพลิงดีเซล โดยเฉพาะรถบรรทุกที่มีการเผาไหม้ที่ไม่สะอาด ซึ่งถือเป็นสาเหตุสำคัญ ดังนั้น หากกำหนดมาตรการที่เหวี่ยงแหเหมารวมจำกัดรถทุกชนิด ก็จะเป็นเรื่องที่ยาก และสิ้นเปลืองทรัพยากรมากเกินความจำเป็น
นอกจากนี้ ยังรวมไปถึงการจัดการดูแลและกำหนดมาตรการควบคุมกลุ่มเกษตรกรการเผาของเหลือใช้จากการเกษตร สอดส่องจุดความร้อนอันเนื่องมาจากการแอบเผาผลผลิตทางการเกษตร เป็นต้น
ขณะเดียวกัน ตัวการของฝุ่น PM 2.5 ที่มาจากปัจจัยภายนอกประเทศ หรือหมอกควันที่พัดมาจากประเทศเพื่อนบ้าน ถือว่าเป็นเรื่องที่แก้ไขยาก โดยในอดีตต่างประเทศก็เจอปัญหาเหล่านี้เช่นเดียวกัน จึงต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างประเทศ ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ง่าย
“ปัญหา pm 2.5 จึงเป็นโจทย์ข้อที่หนึ่ง สำหรับรัฐบาลชุดใหม่ที่จะวางนโยบายที่จำเพาะเจาะจงกับผู้ปล่อยได้อย่างไรซึ่งต้องใช้ความกล้าหาญทางการเมืองพอสมควร” รศ.ดร.อดิศร์ ระบุ
ลดการปล่อยคาร์บอน ผูกโยงกับเงื่อนไขไฟฟ้า-ภาษีนำเข้า
รศ.ดร.อดิศร์ กล่าวว่า ประเด็นที่ 2 การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นประเด็นที่นานาชาติให้ความสำคัญ และมีความเกี่ยวโยงกับประเทศไทย โดยเฉพาะเรื่องการค้าระหว่างประเทศ หากภาคการผลิตในไทย ยังคงไม่ปรับเปลี่ยน และปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อไป อาจจะทำให้เจออุปสรรคที่เป็นเงื่อนไขทางการค้าได้
“การลดก๊าซเรือนกระจกนั้นคล้ายกับการแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในแง่ที่มีตัวละครไม่กี่ตัวในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกหลักๆ แต่ถ้าเราไปทำเยอะ เช่น ถุงกระดาษ ถุงพลาสติกมาก ๆ อาจใช้ทรัพยากรมากแต่ประสิทธิผลน้อยพลังงาน” รศ.ดร.อดิศร์ กล่าว
รศ.ดร.อดิศร์ กล่าวถึงตัวละครสำคัญสำหรับก๊าซเรือนกระจก ประกอบด้วยภาคพลังงาน ภาคเกษตร และภาคอุตสาหกรรมการผลิต
สำหรับภาคพลังงาน รัฐบาลไทยได้ดำเนินการในส่วนของมาตรฐานเชื้อเพลิงน้ำมันแล้ว โดยปรับมาตรฐานน้ำมัน ซึ่งอาจมีผลในปีนี้หรือปีหน้า แต่เรื่องการใช้รถยนต์ยังเป็นปัญหาอยู่ โดยเฉพาะรถยนต์ดีเซล แม้ว่าในปัจจุบัน สังคมจะเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นก็ตาม
รศ.ดร.อดิศร์ เผยถึงเรื่องแคลงใจเกี่ยวกับรถยนต์ไฟฟ้าว่า การนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าจากต่างประเทศ น่าจะเป็นเรื่องที่อำนวยความสะดวกให้คนหันมาใช้รถไฟฟ้ากันมากขึ้น แต่กลับติดด่านเรื่องภาษีของกรมศุลกากร ซึ่งส่งผลให้ราคาขายรถยนต์สูงมากขึ้น แม้ว่ารัฐบาลจะชี้แจงว่า มีการลดภาษีให้กับรถยนต์ไฟฟ้านำเข้า แต่ว่ารัฐบาลไม่ได้ลดภาษีให้ทุกคัน รัฐบาลจะลดหย่อนภาษีให้เฉพาะบริษัทที่มีข้อตกลงกับรัฐบาลเท่านั้น
โดยข้อตกลงคือ จะต้องผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยถึงให้สามารถนำเข้าได้ในอัตราภาษีที่ต่ำ จึงเกิดคำถามต่อว่า “แล้วทำไมประเทศไทยจะต้องผลิตรถยนต์? ที่ผ่านมาเราพยายามผลิตรถยนต์มาแล้ว 50 ปี ซึ่งเราไม่สามารถผลิตรถยนต์เป็นของตัวเองได้”
ดังนั้น เงื่อนไขที่อ้างว่าการให้โรงงานมาสร้างฐานการผลิตในไทย จะเพื่อนำไปสู่การจ้างงาน ตนคิดว่าเป็นเงื่อนไขที่ฟังแล้วลำบาก เนื่องจากไทยเอง ก็เริ่มขาดแคลนแรงงาน เพราะฉะนั้นการทบทวนนโยบายเรื่องรถยนต์ไฟฟ้าและภาษีนำเข้า รวมถึงความจำเป็นที่ต้องมีโรงงานผลิตรถยนต์ของตนเองในประเทศยังเป็นเงื่อนไขของการพัฒนาหรือไม่ เป็นโจทย์ให้รัฐบาลและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องหันหน้ามาคุยกัน
รศ.ดร.อดิศร์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ที่ปรึกษานโยบายทรัพยากรธรรมชาติและการลดก๊าซเรือนกระจก TDRI
ท้องถิ่นไม่มีบทบาท-งบจัดการขยะ
รศ.ดร.อดิศร์ กล่าวถึงปัญหาขยะในประเทศไทยว่า ขีดความสามารถในการจัดการขยะปัจจุบันยังไม่เพียงพอ ประเทศไทยมีขยะมากถึง 25 ล้านตันต่อปี สามารถนำไปกำจัดได้และรีไซเคิลได้ 2ใน 3 ของขยะทั้งหมด แต่ทั้งนี้ ก็ยังเหลืออีก 1 ส่วนที่ยังไม่มีการกำจัดหรือจัดเก็บอย่างถูกต้อง ซึ่งถือว่าปัญหาขยะที่เกิดขึ้นซึ่งจะต้องดูแลกันต่อไป
ส่วนสาเหตุของปัญหาขยะ รศ.ดร.อดิศร์ กล่าวว่า เนื่องจากท้องถิ่นยังขาดขีดความสามารถในการจัดเก็บขยะ แม้กระทั่งกรุงเทพมหานคร (กทม.) ที่มีขีดความสามารถในการจัดเก็บสูง ก็ยังไม่สามารถจัดการได้ และอีกปัญหาที่เกิดขึ้นเยอะมาก คือในพื้นที่ห่างไกลในท้องถิ่นต่างจังหวัดต่าง ๆ ขาดงบประมาณ โดยส่วนกลางก็ไม่ได้จัดสรรให้มากพอที่จะครอบคลุม ทำให้ท้องถิ่นไม่มีแม้กระทั่งรถขนขยะไปเก็บตามบ้าน เป็นปัญหาที่ลูกโซ่ตามมาว่า ขยะเหล่านั้น จะไปที่ไหน
“เมื่อขยะในพื้นที่ห่างไกลไม่ได้มีการดูแล ท้ายที่สุดก็จะลงไปในแม่น้ำลำคลอง แล้วมันก็จะลอยไปเป็นขยะทะเล ไปติดอยู่ในท้องเต่าทะเลกับปลาโลมาที่เราเห็นเป็นข่าวอยู่ทุกวัน ขยะพวกนี้ส่วนนึงมาจากชายหาดและหลายส่วนมาจากแม่น้ำที่ไหลลงสู่ทะเล” รศ.ดร.อดิศร์กล่าว
ป่าไม้ไทยถูกแช่แข็ง ไม่เพิ่มขึ้นมาเกือบ 20 ปี
รศ.ดร.อดิศร์ กล่าวว่า โจทย์ใหญ่ข้อต่อมา คือ ปัญหาป่าไม้ รศ.ดร.อดิศร์ กล่าว ที่ผ่านมาไทยชูประเด็นเรื่องพื้นที่ป่าไม้มาโดยตลอด และตั้งเป้าหมายว่าจะมีพื้นที่ป่าให้ได้ 40% ของพื้นที่ประเทศ แต่ในปัจจุบัน มีเพียงแค่ 32% ซึ่งห่างจากเป้าที่ตั้งไว้เพียง 8% แต่ตลอดเวลา 10 - 20 ปีที่ผ่านมา ตัวเลขช่องว่างที่ขาดไปนั้น ไม่ได้ลดลงเลย โดยคิดเป็นเนื้อที่ก็ประมาณ 26 ล้านไร่ที่หายไป จึงเป็นอีกปัญหาท้าทายให้แก่รัฐบาลใหม่ เนื่องจากป่าไม้มีความสำคัญ ถ้าเราจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจแบบ BCG (Bio-Circular-Green Economy) การรักษาความหลากหลายทางชีวภาพเป็นเรื่องสำคัญหากป่าไม้ถูกคุกคามฐานทรัพยากรเราจะไม่เหลือ และไม่มีฐานทรัพยากรความหลากหลายที่จะไปสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่า และก้าวกระโดดไปเป็นเศรษฐกิจที่มีมูลค่าสูงได้
อีกทั้ง ปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้ง ต้นตอส่วนหนึ่งมาจากการขาดขีดความสามารถของพื้นที่ป่าในการดูดซึมรับน้ำฝน และชะลอการไหลของน้ำ ด้วยเหตุนี้เองถ้าเป็นไปได้ก็อยากให้มีการฟื้นคืนผีนป่า ช่วงที่ผ่านมา เราเห็นรัฐบาลไทยได้เดินไปในทิศทางที่ถูกต้องก็คือ พยายามให้มีการปลูกไม้เศรษฐกิจมากขึ้น มีการปลดล็อคไม้หวงห้าม แต่ก็ยังปลดล็อคไปบางส่วน หลายส่วนก็ยังไม่ได้ปลดล็อค
“ผมขอยกตัวอย่างอันหนึ่งคือว่า นักธุรกิจที่ทำไม้เศรษฐกิจเช่นปลูกไม้สัก 20 ปีตัดขายก็ยังติดปัญหาไม้ที่ปลูกไม่สามารถส่งออกต่างประเทศได้ เพราะกระทรวงพาณิชย์ยังห้ามผู้ประกอบการส่งไม้ออกต่างประเทศ คนเดียวที่ส่งได้คืออุตสาหกรรมป่าไม้ เพราะฉะนั้นเงื่อนไขแบบนี้เป็นเงื่อนไขที่รัฐบาลใหม่ต้องมาดูกัน” รศ.ดร.อดิศร์ กล่าว
รศ.ดร.อดิศร์ กล่าวด้วยว่า คนที่บุกรุกพื้นที่ป่ามีหลายรูปแบบ แต่ที่สำคัญ ที่เราเกี่ยวข้องด้วย คือ ธุรกิจข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ลอยนวลอยู่ได้บนพื้นที่ป่าไม้ และไม่มีใครสามารถเข้าไปดำเนินการได้ นี่ถือเป็นสิ่งที่ท้าทายกฎหมายและศูนย์ราชการเป็นอย่างมาก
ถ้าไทยจะเข้าสู่สังคมที่คาร์บอนต่ำหรือ carbon neutral นอกจากจะลดก๊าซเรือนกระจกจากภาคขนส่งและภาคพลังงานแล้ว การดูดซับกลับขึ้นไปอยู่หรือที่เรียกว่า Carbon sequestration ก็เป็นเรื่องสำคัญ ในบรรดาภาคเศรษฐกิจหรือเทคโนโลยีต่าง ๆ ภาคส่วนที่จะดูดซับคาร์บอนได้ดีที่สุด คือ ภาคป่าไม้
ส่วนประโยชน์ของป่าไม้ นอกจากจะได้เนื้อไม้ไปขาย และมีอุตสาหกรรมต่อเนื่องแล้ว ป่าไม้ยังสามารถดูดซับคาร์บอนได้ ซึ่งการพัฒนากลไก สนับสนุนให้คนปลูกไม้ปลูกป่าและเก็บคาร์บอนเครดิตไว้ด้วยก็เป็นโจทย์การบ้านหนึ่ง เพราะที่ผ่านมาก็พยายามทำ แต่ก็ไม่ได้เป็นเรื่องง่าย หวังว่ารัฐบาลชุดใหม่จะช่วยได้
สำหรับโจทย์ข้อสุดท้าย คือ เรื่องน้ำ รศ.ดร.อดิศร์ กล่าวว่า ประเทศไทยมีปัญหาน้ำ 3 อย่าง ได้แก่ น้ำท่วม น้ำแล้ง และน้ำเสีย โดยปัญหาเฉพาะน้ำแล้ง จะเกิดสภาวะ ‘มือใครยาว สาวได้ สาวเอา’ ทำให้คนที่มือไม่ค่อยยาว เช่น เกษตรกรจะไม่ได้น้ำ แต่ถ้าเป็นอุตสาหกรรมที่มีลู่ทางในการสูบน้ำเข้ามา ก็จะรอดไปได้ เพราะฉะนั้นกลไกในการจัดสรรน้ำเท่าที่ดูแล้วยังไม่ค่อยชัดเจนว่า เวลาน้ำไม่ค่อยพอเนี่ย ท้ายสุดแล้วใครจะได้ใครจะไม่ได้ ก็เป็นการบ้านสำหรับรัฐบาลชุดใหม่ว่าให้ดูแลเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการใช้น้ำให้เป็นไปตามตัวบทกฎหมาย นับว่าเป็นอีกหนึ่งโจทย์ใหญ่ท่ามกลาง สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (climate change) ที่โลกยังกำลังเผชิญ
ทางด้าน นางเพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) กล่าวว่า ที่ผ่านมาปัญหาสิ่งแวดล้อม รัฐบาลอาจมองว่าเป็นการขัดขวางการพัฒนาเศรษฐกิจ แต่การคิดเช่นนี้เป็นเรื่องที่เข้าใจผิด เพราะสิ่งแวดล้อมเป็นพื้นฐานของประชาชน หากสิ่งแวดล้อมดี คนมีสุขภาพดี มีสติปัญญา มีความสามารถในการแข่งขัน ยกระดับชีวิต หลายประเทศทั่วโลกให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่ยั่งยืนและส่งเสริมด้านสิ่งแวดล้อมให้ปลอดภัย หากทำได้ในมิติอื่น ๆ ก็จะเห็นผลดีตามมาเช่นกัน
ทั้งหมดนี้ คือ โจทย์ใหญ่ทางด้านสิ่งแวดล้อมที่รอรัฐบาลชุดใหม่มาแก้ไข ต้องติดตามต่อไปว่า ภายหลังจากสภาวะการเมืองที่วุ่นวายนี้ รัฐบาลชุดใหม่จะมีแนวทางการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างไร