รัฐบาลทหารในเมียนมากําลังพยายามเปลี่ยนเวทีสำหรับการทูตเพื่อจัดการกับความขัดแย้งในประเทศออกไปจากอาเซียน ซึ่งได้กีดกันไม่ให้มีการประชุมระดับสูงใดๆ เพื่อตอบสนองต่อการปฏิเสธที่จะดําเนินการตามฉันทามติ 5 ข้อ เพื่อไปสู่กระบวนการที่นําโดยไทยซึ่งนายดอนริเริ่มขึ้นในเดือนธันวาคม 2565
นอกเหนือจากการเลือกนายกรัฐมนตรีของรัฐสภาไทย อีกความเคลื่อนไหวหนึ่งที่ประชาคมโลกจับตามายังประเทศไทย ก็คือกรณีที่นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีต่างประเทศของไทยได้เดินทางเยือนเมียนมาเมื่อสองสัปดาห์ก่อน และออกมาอ้างว่าได้พบกับนางอองซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐของเมียนมาที่ถูกคุมขังอยู่
โดยหลังจากการออกมากล่าวอ้างดังกล่าว ก็ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมาอย่างมากมาย
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงได้นำเอารายงานในต่างประเทศที่วิเคราะห์ถึงกรณีนายดอนเยือนเมียนมามานำเสนอ มีรายละเอียดดังนี้
การประชุมอาเซียนเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ถูกมองว่าเป็นโอกาสสำหรับประชาคมอาเซียนในการจะประเมินความพยายามร่วมกันในการเรียกร้องให้รัฐบาลเมียนมาทำตามฉันทามติ 5 ข้อเพื่อฟื้นฟูประชาธิปไตย หลังจากที่มีการรัฐประหารเมื่อปี 2564
อย่างไรก็ตามการเปิดเผยว่าประเทศไทยได้ดำเนินการสื่อสารฝ่ายเดียวกับรัฐบาลทหารของเพื่อนบ้านที่ใช้ความรุนแรง ได้กลายเป็นสิ่งที่เน้นย้ำถึงความแตกแยกของภูมิภาคอย่างมีนัยยะสำคัญ แต่ความแตกแยกที่ว่านี้ก็ถูกแสดงให้เห็นเด่นชัดยิ่งขึ้นไปอีกในการประชุมร่วมกันของประชาคมเมื่อวันที่ 11ก.ค. ซึ่งถูกเผยแพร่รายละเอียดเมื่อวันที่ 13 ก.ค.ทีผ่านมา
ในวันที่ 12 ก.ค. นายดอนได้ออกมากล่าวว่าเขาได้พบกับนางซูจีเมื่อวันที่ 9 ก.ค. และยืนยันว่านางซูจีสนับสนุนให้มีการพูดคุย เจรจาเพื่อหาทางยุติวิกฤติในเมียนมาหลังจากการรัฐประหาร
ทั้งนี้เป็นที่ทราบกันดีว่าตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศของนายดอนนั้นอยู่ในช่วงรักษาการระห่างการเปลี่ยนผ่าน ซึ่งนายดอนได้อธิบายยืนยันว่าการเยือนเมียนมานั้นก้าวไปในทิศทางที่ถูกต้องในกระบวนการสันติภาพ
ขณะที่ผู้สังเกตการณ์ได้ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว This Week in Asia ระบุว่าไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง และมองว่าแนวทางที่ดำเนินการโดยลำพังของทางกรุงเทพฯกำลังบ่อนทำลายหลักการของศูนย์กลางอาเซียน ที่ขับเคลื่อนไปด้วยกันในลักษณะกลุ่มเมื่อต้องตัดสินใจทำอะไรสักอย่าง
แผนการของอาเซียนที่จะมีต่อ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้นำรัฐบาลเผด็จการทหารเมียนมานั้นก็คือฉันทามติ 5 ข้อที่ผู้นำกองทัพได้ตกลงกับประชาคมอาเซียน 2 เดือนหลังจากการรัฐประหาร แต่จนถึงขณะนี้ เขาก็ยังไม่ยอมเดินหน้าแผนสันติภาพแต่อย่างใด ส่งผลทำให้อาเซียนแบนไม่ให้เจ้าหน้าที่เมียนมาเข้าร่วมการประชุมของประชาคมในระดับสูง
นายชาร์ลส์ ซานติอาโก จากสมาชิกรัฐสภาเพื่อสิทธิมนุษยชนอาเซียน ออกมากล่าวว่าการเคลื่อนไหวของนายดอนที่ไปพบกับนางซูจี เป็นการกระทำที่ไร้ยางอายเพื่อจะบ่อนทำลายยุทธศาสตร์ร่วมของอาเซียนที่มีต่อเมียนมา
นายซานติอาโกกล่าวต่อไปว่านอกจากนี้อินโดนีเซียที่เป็นประธานของประชาคมในปี 2566 ก็ยังถูกบ่อนทำลายผ่านการเคลื่อนไหวของไทย เพราะอินโดนีเซียได้ดำเนินการติดต่อเป็นครั้งที่ 110 แล้วกับกลุ่มต่างๆที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งในเมียนมา โดยหวังว่าสิ่งนี้จะนำไปสู่การเจรจาที่แน่นแฟ้นมากขึ้น
นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีต่างประเทศของไทยให้สัมภาษณ์สื่ออ้างว่าพบปะกับนางอองซาน ซูจี (อ้างอิงวิดีโอจาก AP)
ทางด้านของนายอารอน คอนเนลลี่ นักวิเคราะห์จากสิงคโปร์ออกมากล่าวว่าการกระทำของไทยสร้างเส้นทางทางการทูตที่มีลักษณะคู่ขนานไปกับอาเซียน ซึ่งไม่ใช่ทุกประเทศในอาเซียนจะเห็นด้วยกับแนวทางนี้
"รัฐบาลทหารในเมียนมากําลังพยายามเปลี่ยนเวทีสำหรับการทูตเพื่อจัดการกับความขัดแย้งในประเทศออกไปจากอาเซียน ซึ่งได้กีดกันไม่ให้มีการประชุมระดับสูงใดๆ เพื่อตอบสนองต่อการปฏิเสธที่จะดําเนินการตามฉันทามติ 5 ข้อ เพื่อไปสู่กระบวนการที่นําโดยไทยซึ่งนายดอนริเริ่มขึ้นในเดือนธันวาคม 2565" นายคอนเนลลี นักวิจัยด้านการเมืองเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และนโยบายต่างประเทศที่สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการศึกษาเชิงกลยุทธ์ กล่าว
ทางด้านของนายฮันเตอร์ มาร์สตัน นักวิจัยที่ด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลียกล่าวว่า เป็นที่ชัดเจนแล้วว่าอินโดนีเซียในฐานะประธานอาเซียน ไม่ใช่แค่ประเทศใดประเทศหนึ่งมีเครื่องมือที่ดีที่สุดในการมีส่วนร่วมกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางของเมียนมา รวมถึงรัฐบาลพลเรือนที่ลี้ภัยซึ่งจัดตั้งรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) ขึ้นมา
“ความพยายามของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซีย รวมถึงผ่านคํากล่าวในการประชุมสัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อแสดงถึงการที่ไทยเป็น "การแสดงท่าที" เป็นสิ่งสําคัญที่จะช่วยให้ความพยายามทางการทูตของอาเซียนดูมีน้ำหนักขึ้นมา” นายมาร์สตันกล่าว และกล่าวอีกว่าอินโดนีเซียยังเป็นประเทศที่ได้รับการสนุบสนุนจากคู่เจรจาของอาเซียน อาทิ สหรัฐอเมริกา เพื่อสารต่อความพยายามที่ครอบคลุมปัญหาเมียนมา
"ในช่วงสองสามสัปดาห์ที่ผ่านมา อินโดนีเซียได้พบกับตัวแทนของกลุ่มชาติพันธุ์และองค์กรเยาวชนต่างๆ ที่เชื่อมโยงกับกองกําลังป้องกันประชาชน ซึ่งเป็นกลุ่มติดอาวุธของ NUG" นายมาร์สตันกล่าวและกล่าวว่า "อินโดนีเซียยึดมั่นในคํามั่นสัญญาต่อสาธารณชนที่จะมีส่วนร่วมกับทุกฝ่ายในการเจรจา และนั่นก็ดีเพราะมันแสดงให้รัฐบาลทหารเห็นว่าอาเซียนจะมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่น ๆ แม้ว่ากองทัพเมียนมาจะไม่ต้องการให้เป็นเช่นนั้นก็ตาม"
ทั้งนี้ความล่าช้าในการปล่อยเอกสารแถลงการณ์ร่วม คาดว่าน่าจะเกิดจากความเห็นที่ไม่ลงรอยกันในเรื่องการใช้ถ้อยคำเกี่ยวกับเมียนมา
ในเอกสารที่มีการเผยแพร่เมื่อวันที่ 14 ก.ค. ได้อ้างถึงพฤติกรรมของไทย ซึ่งหลายประเทศในอาเซียนมองว่ากิจกรรมของกรุงเทพฯ เป็นการพัฒนาในเชิงบวกมากกว่า
“เรายืนยันความเป็นเอกภาพของอาเซียนและย้ำว่าความพยายามใด ๆ ควรสนับสนุน สอดคล้องกับฉันทามติ 5 ข้อ และประสานงานกับประธานอาเซียน” แถลงการณ์ระบุ
อนึ่งก่อนหน้านี้มาเลเซียนั้นทำหน้าที่เป็นแกนนำในการวิจารณ์รัฐบาลทหารได้เรียกร้องให้อาเซียนประณามการกระทำของรัฐบาลทหารอย่างรุนแรง
"ผมกดดันให้แถลงการณ์ที่เข้มข้นขึ้นในประเด็นนี้รวมอยู่ในการประชุมร่วมของรัฐมนตรีอาเซียน" แซมบรี อับดุล คาดีร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกล่าว
อินโดนีเซียกล่าวยืนยันว่าอาเซียนต้องแสดงท่าทีในประเด็นเมียนมาด้วยจุดยืนเดียวกัน (อ้างอิงวิดีโอจาก CNA)
ทางด้านของนางลีน่า อเล็กซานดร้า หัวหน้าภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับศูนย์ยุทธศาสตร์และการศึกษาระหว่างประเทศอินโดนีเซีย ได้ให้ความเห็นว่าสิ่งที่เกิดขึ้นแสดงให้เห็นว่ามีความแบ่งแยกกันชัดเจนระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนต่อกรณีฉันทามติ 5 ข้อ
“ประเทศสมาชิกอาเซียนบางประเทศกําลังยกประเด็นความยากลำบากในการปรับสัมพันธ์กับรัฐบาลทหารให้เป็นปกติ ส่วนอินโดนีเซีย มาเลเซีย และสิงคโปร์ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดนี้เพราะมองว่ารัฐบาลทหารเป็นผู้ราย อะไรคือประเด็นของการมีฉันทามติห้าข้อ” นางอเล็กซานดร้ากล่าว
โดยอินโดนีเซียที่จะส่งมอบบังเหียนของประธานอาเซียนให้กับลาวในช่วงปลายปีต้องเผชิญกับการวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับความพยายามเบื้องหลังในการเจรจาที่ไม่ประสบผลสัมฤทธิ์
อย่างไรก็ตาม ผู้สังเกตการณ์เช่นนายมาร์สตันมีมุมมองที่ตรงกันข้าม โดยตั้งข้อสังเกตถึงการมีส่วนร่วมกับกลุ่มที่ไม่สามารถเข้าถึงได้ก่อนหน้านี้ และการจัดตั้งสํานักงานทูตพิเศษเฉพาะของเมียนมาในกรุงจาการ์ตา
นักวิเคราะห์ยังได้เรียกร้องให้กลุ่มสํารวจช่องทางอื่น ๆ รวมถึงการขยายระยะเวลาของทูตพิเศษไปยังเมียนมาเกินหนึ่งปีเพื่อแก้ปัญหา