"...เนื่องจากผู้ร้องเห็นว่า ผู้ถูกร้องเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด อยู่ในวันที่สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ ซึ่งเป็นลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) และผู้ร้องได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญแล้ว กรณีจึงเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 วรรคหนึ่ง และวรรคสี่ ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 7 (5) ที่ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจรับไว้พิจารณาได้ จึงมีคำสั่งรับคำร้องไว้วินิจฉัย และให้ผู้ถูกร้องยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา..."
กรณีสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้เผยแพร่คำชี้แจง กรณีการส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยสมาชิกภาพ ส.ส. ของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ มีเหตุสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญหรือไม่
หนึ่งในประเด็นสำคัญ ที่ กกต. ชี้แจงเป็นทางการต่อสาธารณชน คือ เมื่อปรากฏว่า สมาชิกภาพของ ส.ส. คนหนึ่งคนใด มีเหตุสิ้นสุดลง กกต. จะดำเนินการรวบรวมข้อเท็จจริง โดยไม่ต้องแจ้งข้อกล่าวหา หรือให้ ส.ส. ผู้มีเหตุสิ้นสุดสมาชิกภาพ นั้น มารับทราบข้อกล่าวหา หรือให้มาชี้แจงข้อเท็จจริงและข้อกล่าวหา ทั้งสิ้น เพราะบุคคลดังกล่าวสามารถใช้สิทธิของตนเองไปชี้แจงข้อเท็จจริง และเสนอพยานหลักฐานเพื่อต่อสู้คดี ตามบทบัญญัติของ พ.ร.ป. ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 ได้ ทั้งนี้ เป็นไปตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ได้วางแนวทางในเรื่องดังกล่าวไว้แล้ว รายละเอียดปรากฏตาม คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 14/2562 เรื่องพิจารณาที่ 10/2562 ลงวันที่ 20 พฤศจิกายน 2562
ข้อมูลที่หลายฝ่ายอาจจะยังไม่ทราบ คือ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 14/2562 เรื่องพิจารณาที่ 10/2562 ลงวันที่ 20 พฤศจิกายน 2562 ที่กกต.นำมาใช้เป็นแนวทางในการส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยสมาชิกภาพ ส.ส. ของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ มีเหตุสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญหรือไม่
คือ กรณี กกต.ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 ว่า สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) หรือไม่ นั้นเอง
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ย้อนสรุปแนวทางคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ คดี นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ มานำเสนอ ณ ที่นี้อีกครั้ง
คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ คดี นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ระบุว่า
ณะกรรมการการเลือกตั้ง ผู้ร้อง ส่งคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 วรรคสี่ ข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้องสรุปได้ดังนี้
เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2562 ได้มีพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2562 และวันที่ 24 มกราคม 2562 มีประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง กำหนดวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร วันรับสมัครเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง และสถานที่ที่พรรคการเมืองจะส่งบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ โดยกำหนดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปในวันอาทิตย์ที่ 24 มีนาคม 2562 และกำหนดให้พรรคการเมืองที่ประสงค์จะส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อให้ยื่นบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อต่อผู้ร้องตั้งแต่วันจันทร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ 2562 ถึงวันศุกร์ที่ 8 กุมภาพันธ์ 2562 ซึ่งพรรคอนาคตใหม่ได้ยื่นบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อต่อผู้ร้องในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2562 ซึ่งมีรายชื่อของผู้ถูกร้องอยู่ในลำดับที่ 1 ต่อมาวันที่ 8 พฤษภาคม 2562 ผู้ร้องได้ประกาศผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อโดยปรากฏชื่อผู้ถูกร้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่
ผู้ร้องพิจารณาหลักฐานแล้วเห็นว่า บริษัท โซลิด มีเดีย (ประเทศไทย) จำกัด ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2551 ซึ่งต่อมาได้จดทะเบียนเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ตั้งแต่วันที่ 18 เมษายน 2555 โดยมีวัตถุประสงค์ตามหนังสือบริคณห์สนธิว่า เป็นผู้ประกอบกิจการหนังสือพิมพ์และสื่อมวลชนใด ๆ ซึ่งตามแบบนำส่งงบการเงิน (แบบ ส.บช. 3) ที่ยื่นต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า บริษัทมีรายได้จากการขายนิตยสารและการให้บริการโฆษณา/รายได้อื่น ซึ่งถือว่า เป็นการประกอบกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ได้ส่งสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น (แบบ บอจ. 5) ต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ตั้งแต่ พ.ศ. 2551 ถึง พ.ศ. 2562 โดยปรากฏชื่อผู้ถูกร้องเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทดังกล่าวจำนวน 675,000 หุ้น เลขหมายของหุ้น ตั้งแต่หมายเลข 1350001 ถึงหมายเลข 2025000 ตั้งแต่วันที่ 12 มกราคม 2558 เรื่อยมา จนกระทั่งเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2562 ผู้ถูกร้องได้โอนหุ้นหมายเลขดังกล่าวให้แก่นางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ ผู้ร้องเห็นว่า ผู้ถูกร้องยังคงเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ซึ่งประกอบกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ ในวันสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ จึงมีมติในการประชุมครั้งที่ 63/2562 เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2562 วินิจฉัยว่า ผู้ถูกร้องเป็นบุคคลผู้มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นเหตุให้สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) และให้ส่งเรื่องมายังศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ร้องจึงยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยดังนี้
1. ให้สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของผู้ถูกร้องสินสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3)
2. มีคำสั่งให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 วรรคสอง
3. มีคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการใด ๆ เป็นการชั่วคราวก่อนการวินิจฉัยตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 71
ประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญต้องพิจารณาเบื้องต้นมีว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจรับคำร้องไว้วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 หรือไม่ เห็นว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 82 วรรคสี่ ประกอบมาตรา 101 (6) และมาตรา 98 (3) บัญญัติให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง ผู้ร้อง มีอำนาจส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคนใดคนหนึ่งมีเหตุสิ้นสุดลงเพราะมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) เมื่อข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้องปรากฏว่า ผู้ร้องมีมติให้ส่งเรื่องมายังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยว่า สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ เนื่องจากผู้ร้องเห็นว่า ผู้ถูกร้องเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด อยู่ในวันที่สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ ซึ่งเป็นลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) และผู้ร้องได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญแล้ว
กรณีจึงเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 วรรคหนึ่ง และวรรคสี่ ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 7 (5) ที่ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจรับไว้พิจารณาได้ จึงมีคำสั่งรับคำร้องไว้วินิจฉัย และให้ผู้ถูกร้องยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา
สำหรับคำขอของผู้ร้องที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 วรรคสอง ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาคำร้องและเอกสารประกอบแล้ว เห็นว่า คดีนี้ ผู้ร้องได้ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 วรรคสอง และปรากฏข้อมูลจากเอกสารประกอบคำร้องว่า ตลอดระยะเวลาสิบปีที่ผ่านมา การเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นในบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ทุกครั้งจะส่งสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น (แบบ บอจ. 5) ระบุวันประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นพร้อมมีหนังสือนำส่งนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครในเวลาใกล้ชิดกัน ซึ่งแตกต่างจากการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นในคดีนี้ ตามเอกสารประกอบคำร้องไม่ปรากฏว่า มีการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น จึงปรากฏเหตุอันควรสงสัยว่า ผู้ถูกร้องมีกรณีตามที่ถูกร้อง ประกอบกับการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ถูกร้องอาจก่อให้เกิดปัญหาข้อกฎหมายและการคัดค้านโต้แย้งเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินงานสำคัญของที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้ จึงสั่งให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย นับแต่วันที่ 23 พฤษภาคม 2562 และมีหนังสือแจ้งให้เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรทราบ
ส่วนคำขอของผู้ร้องที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการอื่นเป็นการชั่วคราวก่อนวินิจฉัยตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 71 นั้น เมื่อศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำสั่งให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 วรรคสอง แล้ว จึงยังไม่มีเหตุจำเป็นที่จะกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองชั่วคราวใด ๆ อีก
ต่อมา ศาลรัฐธรรมนูญมีหนังสือเรียกเอกสาร หลักฐาน หรือบุคคล ก่อนที่จะมีคำวินิจฉัยในประเด็นต่างๆ โดยข้อที่ผู้ถูกร้องโต้แย้งประการแรกว่า กระบวนการไต่สวนและยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญของผู้ร้องไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมายนั้น เห็นว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 82 วรรคสี่ ได้บัญญัติให้คณะกรรมการการเลือกตั้งมีหน้าที่และอำนาจในการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญในกรณีที่เห็นว่า สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีเหตุสิ้นสุดลงตามมาตรา 82 วรรคหนึ่ง ซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้งก็ได้มีมติในการประชุมครั้งที่ 63/2562 เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2562 และวินิจฉัยว่า สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) และได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญถูกต้องตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ การยื่นคำร้องของผู้ร้องจึงชอบด้วยรัฐธรรมนูญแล้ว
ก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญ จะพิจารณาแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 82 วรรคสอง บัญญัติว่า "เมื่อได้รับเรื่องไว้พิจารณา หากปรากฏเหตุอันควรสงสัยว่า สมาชิกผู้ถูกร้องมีกรณีตามที่ถูกร้อง ให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้สมาชิกผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย... ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า สมาชิกภาพของสมาชิกผู้ถูกร้องสิ้นสุดลง ให้ผู้นั้นพ้นจากตำแหน่งนับแต่วันที่หยุดปฏิบัติหน้าที่ แต่ไม่กระทบต่อกิจการที่ผู้นั้นได้กระทำไปก่อนพ้นจากตำแหน่ง" บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมาตราดังกล่าวเป็นบทบัญญัติว่าด้วยการพ้นจากตำแหน่งของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งมิได้ให้อำนาจแก่ศาลรัฐธรรมนูญที่จะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2562 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย ศาลรัฐธรรมนูญจึงต้องสั่งให้ผู้ถูกร้องพ้นจากตำแหน่งนับแต่วันที่หยุดปฏิบัติหน้าที่นั้น ดังนั้น สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของผู้ถูกร้องจึงสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 วรรคสอง นับแต่วันที่ 23 พฤษภาคม 2562 เป็นต้นไป
เมื่อสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลง ทำให้มีตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อว่างลง ประธานสภาผู้แทนราษฎรต้องประกาศให้ผู้มีชื่ออยู่ในลำดับถัดไปในบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองนั้นเลื่อนขึ้นมาเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแทนตำแหน่งที่ว่าง โดยต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษาภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ตำแหน่งนั้นว่างลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 105 วรรคหนึ่ง (2) จึงให้ถือว่า วันที่ตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรว่างลง คือ วันที่ศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยให้แก่คู่กรณีฟังโดยชอบตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 76 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติให้คำวินิจฉัยของศาลมีผลในวันอ่าน คือ วันที่ 20 พฤศจิกายน 2562
อาศัยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น จึงวินิจฉัยว่า สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) นับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 วรรคสอง คือ วันที่ 23 พฤษภาคม 2562 และให้ถือว่า วันที่ศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยให้แก่คู่กรณีฟังเป็นวันที่ตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรว่างลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 105 วรรคหนึ่ง (2) ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 76 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติให้คำวินิจฉัยของศาลมีผลในวันอ่าน คือ วันที่ 20 พฤศจิกายน 2562
เหล่านี้ คือ แนวทางปฏิบัติของ กกต.ที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 ว่า สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) หรือไม่ ที่ถูกอ้างอิงว่านำมาใช้เป็นแนวทางเดียวในการส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยสมาชิกภาพ ส.ส. ของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ มีเหตุสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญหรือไม่
ตามคำชี้แจงของกกต.
อนึ่ง สำหรับกรณีของนายพิธา เรื่องถือหุ้นบริษัท ITV นั้น สำนักข่าวอิศรา สรุปข้อเท็จจริงก่อนหน้านี้ไปแล้วว่า
1.นายพิธาถือหุ้นบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) จริง ขณะที่เจ้าตัวชี้แจงว่าเป็นหุ้นกองมรดก (อันเนื่องจากบิดาเสียชีวิต) เอกสารบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น (แบบบมจ.006) ระบุนายพิธาถือครองจำนวน 42,000 หุ้น ตั้งแต่ปี 2551 จนถึงล่าสุดปี 2566 เป็นเวลา 16 ปี แบบ บมจ.006 ที่นำส่งกรมพัฒนาธุรกิจการค้าในแต่ละปี ท้ายรายชื่อและที่อยู่ผู้ถือหุ้นมิได้ระบุว่าถือในนาม‘ผู้จัดการมรดก’
2.บมจ.ไอทีวี แจ้งวัตถุประสงค์ 45 ข้อ เกี่ยวข้องกับประการการสื่อ 5 ข้อ ได้แก่ ข้อ (18), (40), (41), (42) และ (43) (ตามเอกสารจดแจ้งต่อนายเบียนหุ้นส่วนบริษัท กรมพัฒนาธุรกิจการค้า)
3.สถานะบริษัทฯยังเปิดดำเนินการ ไม่ได้เผยแพร่ออกอากาศ ไม่ได้จดทะเบียนเลิก มีรายได้ นำส่งงบการเงินต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้าทุกปี
คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ คดีนายพิธา จะออกมาอย่างไร? จะซ้ำรอยเหมือนคดีนายธนาธรหรือไม่
ติดตามกันต่อไป