"...เมื่อกระทำผิดวินัยทหารและประพฤติตนไม่เหมาะสม ให้หน่วยดำเนินการลงทัณฑ์ ตามมาตรา 8 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยวินัยทหารพ.ศ. 2476 และเมื่อดำเนินการลงทัณฑ์แล้ว ให้หน่วยส่งตัวผู้กระทำผิดเข้ารับการฝึกดำรงวินัย ณ ศูนย์ดำรงวินัย..."
กรณีเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2566 พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ได้ลงนามในคำสั่งกองทัพบก ที่ 203/2566 เรื่องยกเลิกคำสั่งทบ. เกี่ยวกับการดำเนินการฟื้นฟูวินัยกำลังผลที่กระทำความผิดและประพฤติตนไม่เหมาะสมโดย ศูนย์ดำรงวินัย ทบ. โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 23 มิ.ย.2566 เป็นต้นไปนั้น
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานไปแล้วว่า การยกคำสั่ง ทบ. เกี่ยวกับการดำเนินการฟื้นฟูวินัยกำลังผลที่กระทำความผิดและประพฤติตนไม่เหมาะสมโดย ศูนย์ดำรงวินัย ทบ. ดังกล่าว เป็นผลมาจาก เมื่อวันที่ 25 ต.ค. 2565 มีประกาศในราชกิจจานุเบกษาเกี่ยวกับ พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 มีผลบังคับใช้เมื่อ 22 ก.พ. 2566 โดย พ.ร.บ.ฯ ดังกล่าวมีการกำหนดฐานความผิดออกเป็น 3 ลักษณะความผิด คือ ความผิดฐานกระทำทรมาน, ความผิดฐานกระทำการที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และความผิดฐานทำให้บุคคลสูญหาย เบื้องต้น กพ.ทบ. พิจารณาแล้วเห็นว่า การดำเนินการฟื้นฟูวินัยกำลังพลที่กระทำความผิดและประพฤติตนไม่เหมาะสมโดย ศูนย์ดำรงวินัย ทบ. ที่ผ่านมา มีการปฏิบัติที่เป็นไปด้วยความเรียบร้อยไม่พบปัญหาข้อขัดข้องและเรื่องเกี่ยวกับการทำร้ายร่างกายหรือการทรมานผู้ที่เข้ารับการฝึกดำรงวินัย
แต่อย่างไรก็ตาม เนื่องจาก ตาม พ.ร.บ.ฯ กล่าวในข้อ 2.2 มีการกำหนดความผิดฐานการกระทำที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความป็นมนุษย์ ซึ่งยังไม่มีคำจำกัดความที่ ชัดเจนว่าการกระทำลักษณะใด จะเป็นความผิดตามฐานความผิดนี้ ประกอบกับการลงทัณฑ์แก่กำลังพลที่กระทำผิดวินัยทหารมี พร.บ. ว่าด้วยวินัยทหาร พ.ศ. 2476 เป็นหลักเกณฑ์ในการดำเนินการอยู่แล้ว และการฟื้นฟูวินัยกำลังพลที่กระทำความผิดหน่วยต้นสังกัดสามารถดำเนินการได้โดยตรง เช่น การฝึกบุคคลท่ามือเปล่าหรือการฝึกแถวชิด เป็นต้น
จึงเห็นสมควรเสนอเรื่องต่อ ผบ.ทบ. เพื่อยกเลิกคำสั่งทบ. เกี่ยวกับการดำเนินการฟื้นฟูวินัยกำลังผลที่กระทำความผิดและประพฤติตนไม่เหมาะสมโดย ศูนย์ดำรงวินัย ทบ. และให้ดำเนินการฟื้นฟูวินัยกำลังพลที่กระทำความผิดและประพฤติตนไม่เหมาะสม ตามพ.ร.บ.ว่าด้วยวินัยทหารฯ โดยเคร่งครัดต่อไป
เพื่อให้สาธารณชนรับทราบข้อมูลเกี่ยวกับภารกิจและแนวทางปฏิบัติการดำเนินการฟื้นฟูวินัยกำลังผลที่กระทำความผิดและประพฤติตนไม่เหมาะสม ของ ศูนย์ดำรงวินัย ทบ. มากขึ้น
สำนักข่าวอิศรา สืบค้นข้อมูลเชิงลึกมานำเสนอ ณ ที่นี้
จากการตรวจสอบพบว่า ในคำสั่งกองทัพบก ที่ 20/2566 ลงวันที่ 23 มกราคม 2566 เรื่อง การดำเนินการต่อกำลังพลที่กระทำผิดวินัยทหารและประพฤติตนไม่เหมาะสม มีการระบุเรื่องการจัดตั้งศูนย์ดำรงวินัย ว่า เพื่อให้การดำเนินการต่อกำลังพลที่กระทำผิดวินัยทหารและประพฤตินไม่เหมาะสม เป็นมาตรฐานเดียวกัน และมีการดำเนินการด้านกำลังพลที่ชัดเจน สามารถบังคับใช้ได้อย่างเป็นรูปธรรม อันจะเป็นมาตรการในการจัดการระวังรักษาวินัยทหาร ซึ่งมิใช่เป็นการลงทัณฑ์ แต่เป็นการฟื้นฟูกำลังพลให้มีวินัยที่ดีขึ้น เกิดความสำนึกที่ตีในการปฏิบัติหน้าที่อันจะเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงาน ตลอดจนสร้างความเป็นทหารอาชีพให้กับกำลังพล
หน่วยงานจัดตั้งศูนย์ดำรงวินัย ประกอบไปด้วย
1. พล.ม.2 รอ. จัดตั้งศูนย์ดำรงวินัย สำหรับดำเนินการต่อกำลังพลที่กระทำผิดวินัยทหารและประพฤติตนไม่เหมาะสม ที่หน่วยต้นสังกัดมีที่ตั้งหน่วยในพื้นที่ ทภ.1 เว้น หน่วยในพื้นที่จว.ล.บ. และ จว.ส.บ.
2. มทน.21 จัดตั้งศูนย์ดำรงวินัย สำหรับดำเนินการต่อกำลังพลที่กระทำผิดวินัยทหารและประพฤติตนไม่เหมาะสม ที่หน่วยต้นสังกัดมีที่ตั้งหน่วยในพื้นที่ ทก.2
3. พล.พัฒนา 3 จัดตั้งศูนย์ดำรงวินัย สำหรับดำเนินการต่อกำลังพลที่กระทำผิดวินัยทหารและประพฤติตนไม่เหมาะสม ที่หน่วยต้นสังกัดมีที่ตั้งหน่วยในพื้นที่ ทภ.3
4. มทบ.41 จัดตั้งศูนย์ดำรงวินัย สำหรับดำเนินการต่อกำลังพลที่กระทำผิดวินัยทหารและประพฤติตนไม่เหมาะสม ที่หน่วยต้นสังกัดมีที่ตั้งหน่วยในพื้นที่ ทก.4
5. รพศ.3 รอ. จัดตั้งศูนย์ดำรงวินัย สำหรับดำเนินการต่อกำลังพลที่กระทำผิดวินัยทหารและประพฤติตนไม่เหมาะสม ที่หน่วยต้นสังกัดมีที่ตั้งหน่วยในพื้นที่ จว.ล.บ. และ จว.ส.บ.
ในคำสั่งฉบับนี้ยังระบุด้วยว่า การดำเนินการต่อผู้กระทำผิดวินัยทหาร ตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยวินัยทหาร พ.ศ. 2476 และประพฤติตนไม่เหมาะสม ตามมาตรการที่ ทบ. กำหนด ได้แก่ การเข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติดทุกกรณี, การลักลอบค้าอาวุธหรือนำอาวุธยุทโธปกรณ์และสิ่งอุปกรณ์อื่น 1 ของทางราชการไปจำหน่าย, ทำตัวเป็นผู้มีอิทธิพลใช้อำนาจข่มขู่ผู้อื่นให้เกรงกลัว หรือหาผลประโยชน์ในทางทุจริต, การลักทรัพย์หรือการยักยอกทรัพย์ ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายต่อทางราชการ, การประพฤติตนในทางชู้สาวซึ่งผิดทำนองคลองธรรมและศีลธรรมอันดี และการใช้สื่อโซเชียลมีเดียที่สร้างความเสียหายหรือส่งผลกระทบต่อทางราชการ รวมถึงการกระทำอื่นใดที่ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของ ทบ.
กล่าวคือ เมื่อกระทำผิดวินัยทหารและประพฤติตนไม่เหมาะสม ให้หน่วยดำเนินการลงทัณฑ์ ตามมาตรา 8 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยวินัยทหารพ.ศ. 2476 และเมื่อดำเนินการลงทัณฑ์แล้ว ให้หน่วยส่งตัวผู้กระทำผิดเข้ารับการฝึกดำรงวินัย ณ ศูนย์ดำรงวินัย ตามพื้นที่ที่กำหนดไว้ด้านบน
1. การเตรียมตัวและสิ่งอุปกรณ์ของผู้เข้ารับการฝึกดำรงวินัย มีดังนี้
1.1 ผู้เข้ารับการฝึกดำรงวินัย
- ทหารชาย ตัดผมสั้นข้างขาว ข้างบนยาวไม่เกิน 0.5 ซม.
- ทหารหญิง ทรงผมตามระเบียบที่ทางราชการกำหนด
1.2 เครื่องแบบสนาม ไม่ติดป้ายชื่อ และเครื่องหมายยศ
1.3 ชุดวอร์มของหน่วย และรองเท้าผ้าใบสีดำ
1.4 เสื้อรองใน พธ.ทบ.
1.5 กางเกงขาสั้น พธ.ทบ.
1.6 เครื่องใช้ส่วนตัว
2. การเตรียมสิ่งอุปกรณ์ของศูนย์ดำรงวินัย
2.1 หมวกเคฟล่า
2.2 สายโยงบ่า เข็มขัดสนาม กระติกน้ำ
2.3 เป้สนาม บรรจุน้ำหนัก 12 กก.
2.4 อาวุธประจำกาย ปลย.(แบบจำลอง)
2.5 เตียงนอน ที่นอน หมอน มุ้ง และผ้าห่ม
3. การปฏิบัติของผู้เข้ารับการฝึกดำรงวินัย
3.1 รายงานตัวกับ ผบ.ศูนย์ดำรงวินัย
3.2 ตรวจร่างกาย
3.3 เขียนรายงานความผิด และลงลายมือชื่อ
3.4 รับสิ่งอุปกรณ์ และรับฟังคำชี้แจง
3.5 รับการฝึกตามระเบียบปฏิบัติประจำของศูนย์ฝึกดำรงวินัย
3.6 เมื่อฝึกครบตามระยะเวลา ส่งคืนสิ่งอุปกรณ์ ที่เบิกยืมจากศูนย์ดำรงวินัย
3.7 ตรวจร่างกาย ลงลายมือชื่อในสมุดลงชื่อ และส่งตัวกลับหน่วยต้นสังกัด
4. การสนับสนุนอื่น ๆ
4.1 หน่วยต้นสังกัด ผู้เข้ารับการฝึกดำรงวินัย
4.1.1 จัดผู้ควบคุมเป็นนายทหารสัญญาบัตร จำนวน 1 นาย
4.1.2 จัดยานพาหนะพร้อมพลขับ รับ-ส่ง และสนับสนุน สป.3 ตามระยะทาง
4.1.3 ให้การสนับสนุนงบประมาณตามระเบียบ หลักเกณฑ์ ที่ทางราชการกำหนด
4.2 ศูนย์ดำรงวินัยของหน่วย
4.2.1 ควบคุมและจัดการฝึก รวมถึงสถานที่ฝึกให้เป็นไปตามระเบียบปฏิบัติประจำ
4.2.2 ให้จัดเจ้าหน้าที่บันทึกภาพการฝึกดำรงวินัย
4.2.3 ให้การสนับสนุนสิ่งอุปกรณ์อื่น ๆ ตามความเหมาะสม
4.2.4 รายงานการขอรับการสนับสนุนงบประมาณให้ ทบ. (ผ่าน กพ.ทบ.) เป็นรายไตรมาส
ทุกวงรอบ 3 เดือน (ภายในวันที่ 5 ของเดือนแรกในไตรมาสถัดไป สำหรับไตรมาสที่ 4 ให้ขอรับการสนุนงบประมาณฯ ภายในวันที่ 5 ของเดือน ก.ย. ในปีงบประมาณนั้น)
4.2.5 รายงานผลการฝึกดำรงวินัย พร้อมภาพถ่ายตามข้อ 4.2.2 ให้ ทบ. (ผ่าน กพ.ทบ.)
เป็นรายไตรมาส ทุกวงรอบ 3 เดือน (ภายในวันที่ 5 ของเดือนแรกในไตรมาสถัดไป) เพื่อดำเนินการต่อไป
หมายเหตุ การประพฤติตนไม่เหมาะสม ได้แก่
1. ยาเสพติดทุกกรณี เช่น เสพ, ครอบครอง, จำหน่าย เป็นต้น
2. การลักลอบค้าอาวุธหรือนำอาวุธยุทโธปกรณ์ และสิ่งอุปกรณ์อื่น ๆ ของทางราชการไปจำหน่าย เช่น สิ่งอุปกรณ์ประเภทที่ 3, สิ่งอุปกรณ์ประเภทที่ 5 เป็นต้น เช่น ทวงหนี้, มาเพีย, ค้ามนุษย์เป็นต้น
3. ทำตัวเป็นผู้มีอิทธิพลใช้อำนาจข่มขู่ผู้อื่นให้เกรงกลัว หรือหาผลประโยชน์ในทางทุจริต
4. การลักทรัพย์ การยักยอกทรัพย์สิน ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายต่อทางราชการ เช่น เงิน, ทรัพย์สิน เป็นต้น
5. การประพฤติตนในทางชู้สาว ซึ่งผิดทำนองคลองธรรมและศีลธรรมอันดี
6. การใช้สื่อโซเชียลมีเดียที่สร้างความเสียหาย เช่น ใส่ความ, ภาพการฝึก, ภาพการแต่งกาย ในชุดเครื่องแบบที่ไม่เหมาะสม เป็นต้น
ทั้งนี้ ในระหว่างการฝึกดำรงวินัย หากผู้เข้ารับการฝึกดำรงวินัยมีปัญหาด้านสุขภาพ ให้ ผบ.ศูนย์ดำรงวินัย ยุติการฝึกฯ ได้ หรือกรณีที่ ผบ.ศูนย์ดำรงวินัย ได้รับการรายงานจากชุดครูฝึกแล้ว เห็นว่า ผู้เข้ารับการฝึกฯ ขาดความตั้งใจในการฝึกฯ หรือผลการฝึกฯไม่เป็นตามเกณฑ์ที่กำหนด ให้ ผบ.ศูนย์ดำรงวินัย มีอำนาจในการฝึกฯ ได้ตามที่ห็นสมควร แต่ต้องไม่เกินจำนวนวันที่กำหนดใน และให้ศูนย์ดำรงวินัยฯ ทั้ง 5 หน่วย เตรียมการจัดเตรียมสถานที่พักที่เหมาะสมสำหรับทหารหญิง ที่กระทำผิดวินัยทหาร รวมถึงจัดเจ้าหน้าที่ สห.หญิง เพื่อทำหน้าที่ครูฝึก และควบคุมกำกับดูแลทหารหญิงที่ถูกส่งตัวเข้ารับการฝึกดำรงวินัยๆ ต่อไป
ทั้งนี้ หากปรากฏข้อมูลว่ามีทหารหญิงกระทำผิดวินัยทหารเพิ่มมากขึ้น ให้พิจารณาจัดส่งเข้ารับการฝึกดำรงวินัยฯ เช่นเดียวกับทหารชาย
สำหรับ ระยะเวลาเข้ารับการฝึกดำรงวินัย ณ ศูนย์ดำรงวินัย และการเข้าร่วมกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ พิจารณาจากทัณฑ์ที่ผู้กระทำผิดได้รับการลงทัณฑ์ ดังนี้
(1.) ทัณฑ์ "ภาคทัณฑ์" มีกำหนด 1 วัน
(2.) ทัณฑ์ "กัก" มีกำหนด 3 วัน
(3.) ทัณฑ์ "ขัง" หรือ "จำขัง" มีกำหนด 5 วัน (ดูรายละเอียดส่วนนี้ในเอกสารประกอบ)
โดย การสนับสนุนงบประมาณ ให้ สปช.ทบ. ดำเนินการตามระเบียบที่ทางราชการกำหนด และการรายงานให้,ศูนย์ดำรงวินัย ตามแต่กรณี รายงานผลการฝึกพร้อมภาพถ่ายการฝึกดำรงวินัย ให้ ทบ. (ผ่าน กพ.ทบ.) ทราบ ทุกวงรอบ 3 เดือน เพื่อดำเนินการต่อไป
เหล่านี้ คือ ภารกิจและแนวทางปฏิบัติ ของ ศูนย์ดำรงวินัย ทบ. ที่ดำเนินการจัดตั้ง มาตั้งแต่ปี 2562 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นมาตรการในการจัดการระวังรักษาวินัยทหาร ซึ่งมีใช่การลงทัณฑ์ แต่เป็นการฟื้นฟูกำลังพลที่กระทำผิดให้มีวินัยดีขึ้น เกิดความสำนึกที่ดีในการปฏิบัติหน้าที่อันจะเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงาน ตลอดจนสร้างความเป็นทหารอาชีพให้แก่กำลังพล ซึ่ง ทบ.ยืนยันว่า ที่ผ่านมาการปฏิบัติของศูนย์ดำรงวินัยฯ เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ไม่ส่งผลกระทบต่อกำลังพลที่เข้ารับการฟื้นฟูวินัยทหาร
แต่ปัจจุบัน ผบ.ทบ. ได้มีคำสั่งยกเลิกไปแล้ว ด้วยเหตุผลเพราะปัญหาเรื่องคำจำกัดความที่ไม่ชัดเจน เกี่ยวกับการกำหนดความผิดฐานการกระทำที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความป็นมนุษย์ ตามพ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 ดังที่รายงานข่าวไปแล้ว