คำพิพากษาศาลฎีกาฉบับเต็มคดีเสียบบัตรลงคะแนนแทนกัน จำคุกคนละ 9 เดือน 3 ส.ส.พรรคภูมิใจไทย ‘ฉลอง เทอดวีระพงศ์-ภูมิศิษฏ์ คงมี - นาที รัชกิจประการ’ เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง-ห้ามมีตำแหน่งการเมืองตลอดชีวิต แฉพฤติการณ์ละเอียดยิบแต่ละคน ตัวอยู่ พัทลุง หาดใหญ่ สนามบิน บัตรฯ สมรู้ให้บัตรถูกใช้ที่สภาฯ 2 วัน 76 ครั้ง
วันที่ 18 พฤษภาคม 2566 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำพิพากษา คดีหมายเลขดำ อม.3/2565 หมายเลขแดงที่ อม.11/2566 ที่อัยการสูงสุด (อสส.) ยื่นฟ้องนายฉลอง เทิดวีระพงศ์ อดีต ส.ส.เขต 2 พัทลุง พรรคภูมิใจไทย นายภูมิศิษฏ์ คงมี อดีต ส.ส.เขต 1 พัทลุง พรรคภูมิใจไทย และ นางนาที รัชกิจประการ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย เป็นจำเลยที่ 1-3 ตามความผิดพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 กรณีเสียบบัตร ส.ส. แทนกันในการประชุมสภา จำเลยทั้งสามมีความผิดให้จำคุกคนละ 1 ปี แต่จำเลยให้การเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้คนละ 1 ใน 4 คงจำคุกคนละ 9 เดือน ไม่มีเหตุรอการลงโทษ และให้พ้นจากตำแหน่งทางการเมือง พร้อมกับเพิกถอนสิทธิ์รับสมัครเลือกตั้งทางการเมืองตลอดไป จำเลยได้รับการประกันตัว วางหลักทรัพย์ประกันวงเงินคนละ 1 ล้านบาท ตามข่าวที่รายงานแล้ว
ล่าสุดสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) เรียบเรียงคำพิพากษาฉบับเต็มมารายงาน
วันที่ 18 เดือน พฤษภาคม พุทธศักราช 2566
ระหว่าง อัยการสูงสุด โจทก์
นายฉลอง เทอดวีระพงศ์ จำเลยที่ 1
นายภูมิศิษฏ์ คงมี จำเลยที่ 2
นางนาที รัชกิจประการ จำเลยที่ 3
เรื่อง ความผิดต่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
@คำฟ้องอัยการ เหตุเกิด 10-11 ม.ค.2563 ไม่อยู่ในที่ประชุม
โจทก์ฟ้องว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขตเลือกตั้งที่ 2 จังหวัดพัทลุง พรรคภูมิใจไทย จำเลยที่ 2 ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขตเลือกตั้งที่ 1 จังหวัดพัทลุง พรรคภูมิใจไทย จำเลยที่ 3 ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ พรรคภูมีใจไทย จำเลยทั้งสามจึงเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเป็นเจ้าพนักงานของรัฐตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มีหน้าที่และอำนาจเกี่ยวกับการเสนอและพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญร่างพระราชบัญญัติต่าง ๆ การควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินโดยการตั้งกระทู้ถาม การเปิดอภิปรายทั่วไป การตั้งกรรมาธิการ การเข้าชื่อถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ การให้ความเห็นชอบแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ โดยในหน้าที่และอำนาจเกี่ยวกับการเสนอและพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญหรือร่างพระราชบัญญัติต่างๆ สมาชิกคนหนึ่งอมมีเสียงหนึ่งในการออกเสียงลงคะแนนตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 120 วรรคสาม
ซึ่งการออกเสียงลงคะแนนจะกระทำแทนกันมิได้ ตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2562 ข้อ 80 วรรคสาม เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2563 เวลา 9.30 นาฬิกา ถึงวันที่ 11 มกราคม 2563 เวลา 17.51 นาฬิกา สภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 ปีที่ 1 ครั้งที่ 17 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) เป็นพิเศษ มีการประชุมเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 โดยเป็นการประชุมต่อเนื่องกันตามระเบียบสภาผู้แทนราษฎรว่าด้วยการลงชื่อมาประชุมและการลาประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2562 ข้อ 4 จึงมีการลงชื่อของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เข้าร่วมประชุมในวันแรก คือ วันที่ 8 มกราคม 2563 แต่ไม่มีการลงชื่อเข้าร่วมประชุมในวันที่ 9 ถึงวันที่ 11 มกราคม 2563 ซึ่งจำเลยทั้งสามได้เข้าร่วมประชุมและลงชื่อเข้าร่วมประชุมโดยมิได้ลาประชุมในระหว่างการประชุมสภาผู้แทนราษฎรดังกล่าว จำเลยทั้งสามได้ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต กล่าวคือ
ในระหว่างการประชุมสภาผู้แทนราษฎร วันที่ 10 มกราคม 2563 เวลา 19.30 นาฬิกา ถึงวันที่ 11 มกราคม 2563 เวลา 17.38 นาฬิกา ต่อเนื่องกัน ขณะที่จำเลยที่ 1 ไม่อยู่ในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร จำเลยที่ 1 ได้ร่วมกับบุคคลใดไม่ปรากฎชัด โดยให้ผู้อื่นหรือยินยอมให้ผู้อื่น หรือกระทำการหรือไม่กระทำการอื่นใด เป็นผลให้ผู้อื่นใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของจำเลยที่ 1 แสดงตนและลงมตีในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 เรียงตามรายมาตรา โดยปรากฎข้อมูลในระบบคอมพิวเตอร์ในการประชุมดังกล่าวยืนยันว่า จำเลยที่ 1 ได้เข้าร่วมประชุมสภาผู้แทนราษฎร และได้แสดงตนและลงมติร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ตั้งแต่มาตรา 30 ถึงมาตรา 34 มาตรา 37 ถึงมาตรา 43 และมาตรา 45 ถึงมาตรา 53 กับวาระที่สาม และข้อสังเกต อันเป็นความเท็จ
ในระหว่างการประชุมสภาผู้แทนราษฎร วันที่ 10 มกราคม 2563 เวลา 19.30 นาฬิกา ถึงวันที่ 11 มกราคม 2563 เวลา 11.10 นาฬิกา ต่อเนื่องกัน ขณะที่จำเลยที่ 2 ไม่อยู่ในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร จำเลยที่ 2 ได้ร่วมกับบุคคลใดไม่ปรากฏชัด โดยให้ผู้อื่นหรือยินยอมให้ผู้อื่น หรือกระทำการหรือไม่กระทำการอื่นใด เป็นผลให้ผู้อื่นใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของจำเลยที่ 2 แสดงตนและลงมติในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 เรียงตามรายมาตรา โดยปรากฎข้อมูลในระบบคอมพิวเตอร์ในการประชุมดังกล่าวยืนยันว่า จำเลยที่ 2 ได้เข้าร่วมประชุมสภาผู้แทนราษฎร และได้แสดงตนและลงมติร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ตั้งแต่มาตรา 30 ถึงมาตรา 34 และมาตรา 37 ถึงมาตรา 40 อันเป็นความเท็จ
ในระหว่างการประชุมสภาผู้แทนราษฎร วันที่ 11 มกราคม 2563 เวลา 14.28 ถึง 15.46 นาฬิกา ต่อเนื่องกัน ขณะที่จำเลยที่ 3 ไม่อยู่ในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร จำเลยที่ 3 ได้ร่วมกับบุคคลใดไม่ปรากฏชัด โดยให้ผู้อื่นหรือยินยอมให้ผู้อื่น หรือกระทำการหรือไม่กระทำการอื่นใด เป็นผลให้ผู้อื่นใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของจำเลยที่ 3 แสดงตนและลงมติในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 เรียงตามรายมาตรา โดยปรากฏข้อมูลในระบบคอมพิวเตอร์ในการประชุมดังกล่าวยืนยันว่าจำเลยที่ 3 ได้เข้าร่วมประชุมสภาผู้แทนราษฎร และได้แสดงตนและลงมติร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวตั้งแต่มาตรา 43 และมาตรา 45 ถึงมาตรา 49 อันเป็นความเท็จ
และต่อมาศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยที่ 2 - 3/2563 ลงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2563 วินิจฉัยว่า การออกเสียงลงมติแทนผู้ที่ไม่อยู่ร่วมประชุมเป็นการกระทำโดยไม่สุจริต อันเป็นการละเมิดหลักการพื้นฐานของการเป็นสมาชิกส.ภาผู้แทนราษฎรที่ต้องปฏิบัติหน้าที่โดยไม่อยู่ในอาณัติมอบหมายของผู้ใดและต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติ เมื่อการออกเสียงลงคะแนนดังกล่าวเป็นการออกเสียงที่ไม่สุจริต ทำให้ผลการลงมติร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 วาระที่สอง และวาระที่สามไม่สอดคล้องกับหลักนิติธรรมและไม่ชอบด้วยบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ เป็นเหตุให้ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว วาระที่สอง และวาระที่สาม ตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ
การปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยทั้งสามดังกล่าวจึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่ง หรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐโดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ราชการ กระบวนการใช้อำนาจนิติบัญญัติในการตราพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และประชาชนผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต เหตุเกิดที่ อาคารรัฐสภา (เกียกกาย) แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 4,172
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
@ ฉลอง เทอดวีระพงศ์
@ ‘ฉลอง’ : ตัวอยู่ จ.พัทลุง แต่บัตรถูกใช้ที่สภาฯตอนค่ำ-ดึก
พิเคราะห์พยานหลักฐานตามทางไต่สวนของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ประกอบสำนวนการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. และคำแถลงปิดคดีของจำเลยทั้งสามแล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า ขณะเกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยที่ 1 ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขตเลือกตั้งที่ 2 จังหวัดพัทลุง พรรคภูมีใจไทย จำเลยที่ 2 ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขตเลือกตั้งที่ 1 จังหวัดพัทลุง พรรคภูมิใจไทย และจำเลยที่ 3 ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย
ประธานสภาผู้แทนราษฎร มีคำสั่งนัดประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 ปีที่ 1 ครั้งที่ 17 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) เป็นพิเศษ ในวันพุธที่ 8 มกราคม 2563 และครั้งที่ 18 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) เป็นพิเศษในวันพฤหัสบดีที่ 9 มกราคม 2563 เวลา 9.30 นาฬิกา ณ ห้องประชุมใหญ่วุฒิสภา อาคารรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ตามหนังสือสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ด่วนที่สุด ที่ สผ 0014/ผ 31 ลงวันที่ 27 ธันวาคม 2562 เอกสารหมาย จ. 15
ในการใช้สิทธิออกเสียงของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกทุกคนจะมีบัตรอิเล็กทรอนิกส์ประจำตัวเพื่อใช้ในการแสดงตนและลงมติ โดยจำเลยทั้งสามลงชื่อเข้าร่วมประชุมในวันที่ 8 มกราคม 2563 แต่การประชุมไม่แล้วเสร็จและมีการประชุมต่อเนื่องถึงวันที่ 11 มกราคม 2563 จึงปิดการประชุมและเลิกประชุมเวลา 17.41 นาฬิกา ในระหว่างการประชุม วันที่ 10 มกราคม 2563 จำเลยที่ 1 ออกจากที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ไปยังทำอากาศยานดอนเมือง เพื่อโดยสารเครื่องบินเดินทางในเส้นทาง ดอนเมือง-หาดใหญ่ เที่ยวบิน DD 7116 รอบเวลา 20.50 - 22.15 นาฬิกา ตามหนังสือแจ้งผลการตรวจสอบข้อมูลการเดินทาง ฉบับลงวันที่ 23 มีนาคม 2563 เอกสารหมาย จ. 28 (แฟ้ม 6) วันที่ 11 มกราคม 2563 จำเลยที่ 1 ได้เป็นประธานเปิดงานวันเด็กแห่งชาติประจำปี 2563 ที่เทศบาลตำบลอ่างทอง อำเภอศรีนครินทร์ จังหวัดพัทลุง และเป็นประธานในโครงการวันเด็กตำบลชะมวง ประจำปี 2563 ที่องค์การบริหารส่วนตำบลชะมวง อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง ตามภาพถ่ายหมาย จ. 29 (แฟ้ม 6)
ในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ในวันที่ 10 มกราคม 2563 เวลา 19.30 ถึง 23.54 นาฬิกา มีการใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของจำเลยที่ 1 เพื่อแสดงตนและลงมติในการพิจารณามาตรา 30 ถึงมาตรา 34 และมาตรา 37
วันที่ 11 มกราคม 2563 เวลา 01.01 ถึง 17.38 นาฬิกา มีการใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของจำเลยที่ 1 เพื่อแสดงตนและลงมติในการพิจารณา มาตรา 38 ถึงมาตรา 43 และมาตรา 45 ถึงมาตรา 53 กับวาระที่สาม และข้อสังเกต ตามรายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 ปีที่ 1 ครั้งที่ 17 เอกสารหมาย จ. 24 แฟ้ม 4 (หน้า 2173 ถึง 2522) และรายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 ปีที่ 1 ครั้งที่ 17 เอกสารหมาย จ. 25 แฟ้ม 5 (หน้า 2557 ถึง 3133)
@ ภูมิศิษฏ์ คงมี
@ ‘ภูมิศิษฏ์’ไปหาดใหญ่ บัตรฯถูกใช้ที่สภาฯตอนตีหนึ่ง
วันที่ 10 มกราคม 2563 จำเลยที่ 2 ออกจากที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ไปยังท่าอากาศยานดอนเมืองเพื่อโดยสารเครื่องบินเดินทางในเส้นทาง ดอนเมือง-หาดใหญ่ เที่ยวบิน DD 7116 รอบเวลา 20.50 - 22.15 นาฬิกา ตามหนังสือแจ้งผลการตรวจสอบข้อมูลการเดินทาง ฉบับลงวันที่ 23 มีนาคม 2563 เอกสารหมาย จ. 28 (แฟ้ม 6) และจำเลยที่ 2 มีการสำรองที่นั่งและโดยสารเครื่องบินของสายการบินไทยแอร์เอเชีย ในวันที่ 11 มกราคม 2563 เส้นทาง หาดใหญ่-ดอนเมือง เที่ยวบิน FD 3117 รอบเวลา 09.25 - 11.00 นาฬิกา ตามหนังสือของบริษัทไทยแอร์เอเชีย จำกัด ลงวันที่ 2 เมษายน 2563 เอกสารหมาย จ. 31 (แฟ้ม 6) และเดินทางกลับมาเข้าร่วมประชุมต่อในวันที่ 11 มกราคม 2563 เวลาประมาณ 12 นาฬิกา
ในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ในวันที่ 10 มกราคม 2563 เวลา 19.30 ถึง 23.54 นาฬิกา มีการใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของจำเลยที่ 2 เพื่อแสดงตนและลงมติในการพิจารณามาตรา 30 ถึงมาตรา 34 และมาตรา 37 วันที่ 11 มกราคม 2563 เวลา 01.01 ถึง 11.10 นาฬิกา มีการใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของจำเลยที่ 2 เพื่อแสดงตนและลงมติในการพิจารณามาตรา 38 ถึงมาตรา 40 ตามรายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 ปีที่ 1 ครั้งที่ 17 เอกสารหมาย จ. 24 แฟ้ม 4 (หน้า 2173 ถึง 2522) และรายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 ปีที่ 1 ครั้งที่ 17 เอกสารหมาย จ. 25 แฟ้ม 5 (หน้า 2546 ถึง 2580)
@ ‘นาที’เดินทาง ไปประเทศจีน บัตรฯถูกใช้ที่สภาฯตอนบ่าย 2
วันที่ 11 มกราคม 2563 จำเลยที่ 3 ออกจากที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ไปท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เพื่อเดินทางไปสาธารณรัฐประชาชนจีน ในโครงการพัฒนาความสัมพันธ์ด้านการศึกษาการท่องเที่ยวการค้า และการลงทุนระหว่างจังหวัดระนองกับเมืองซานเหมินเชียะ มณฑลเหอหนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน ของมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ระหว่างวันที่ 11 ถึง 15 มกราคม 2563 ซึ่งจำเลยที่ 3 ได้รับแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการอำนวยการวิทยาลัยนวัตกรรมและการจัดการและได้รับคัดเลือกให้เดินทางไปกับคณะดังกล่าว ตามเอกสารหมาย จ. 32 ถึง จ. 34 (แฟ้ม 6) ในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ในวันที่ 11 มกราคม 2563 เวลา 14.28 ถึง 15.46 นาฬิกา มีการใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของจำเลยที่ 3 เพื่อแสดงตนและลงมติในการพิจารณามาตรา 43 และมาตรา 45 ถึงมาตรา 49 ตามรายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 ปีที่ 1 ครั้งที่ 17 เอกสารหมาย จ. 25 แฟ้ม 5 (หน้า 2717 ถึง 2927)
@ นาที รัชกิจประการ
@ ประธานสภาฯยื่นศาลรธน.-ผลวินิจฉัยกระบวนการตรา กม.ไม่ชอบ
ต่อมาประธานสภาผู้แทนราษฎรได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ส่งความเห็นของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 148 วรรคหนึ่ง (1) รวม 2 คำร้อง ว่า ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือไม่ ในกรณีที่ปรากฏเหตุการณ์มีผู้ใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของจำเลยที่ 1 ไปลงมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวในขณะที่จำเลยที่ 1 ไม่ได้อยู่ในที่ประชุม โดยศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมิได้อยู่ในห้องประชุมสภาผู้แทนราษฎร แต่ปรากฎว่ามีการใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์แสดงตนและลงมติแทน ย่อมมีผลเป็นการออกเสียงลงคะแนนที่ไม่สุจริต ทำให้ผลการลงมติร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ในวันและเวลาดังกล่าวไม่สอดคล้องกับหลักนิติธรรมและไม่ชอบด้วยบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ เป็นเหตุให้ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 2 - 3/2563 เอกสารหมาย จ. 52 เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2565 โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสามเป็นคดีนี้ ต่อมาวันที่ 11 เมษายน 2565 ศาลมีคำสั่งประทับฟ้อง โดยมิได้มีคำสั่งเป็นอย่างอื่น จึงมีผลให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าจะมีคำพิพากษาส่วนจำเลยที่ 3 พ้นจากตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เนื่องจากต้องคำพิพากษาถึงที่สุด ให้ลงโทษจำคุก แต่ให้รอกรลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี ตามคำพิพากษาศาลฎีกาคดีหมาย อม.อธ. 5/2563 ลงวันที่ 27 สิงหาคม 256
@ทั้งสามต่างเดินทางออกจากที่ประชุมในเวลาที่แตกต่างกัน
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า จำเลยทั้งสามกระทำความผิดตามห้องหรือไม่
พยานหลักฐานจากการไต่สวนได้ความว่า ขณะเกิดเหตุที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ระหว่างการประชุมในวันที่ 10 มกราคม 2563 และวันที่ 11 มกราคม 2563 จำเลยทั้งสามต่างไม่อยู่ในที่ประชุมในบางช่วงเวลา แต่ปรากฎว่ามีการใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของจำเลยทั้งสามแสดงตนและลงมติในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ปรากฎตามรายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 ปีที่ 1 ครั้งที่ 17 และครั้งที่ 18 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) เป็นพิเศษ เอกสารหมาย จ. 24 และ จ. 25 โดยในส่วนของเวลาที่จำเลยทั้งสามไม่อยู่ในที่ประชุมนั้น ข้อเท็จจริงตามทางไต่สวน ได้ความว่า จำเลยทั้งสามต่างเดินทางออกจากที่ประชุมในเวลาที่แตกต่างกัน
โดยจำเลยที่ 1 เบิกความรับว่าเดินทางออกจากที่ประชุมเวลา 19.30 นาฬิกา ของวันที่ 10 มกราคม 2563 ซึ่งตามรายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 ปีที่ 1 ครั้งที่ 18 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) เป็นพิเศษ เอกสารหมาย จ. 25 ระบุว่า ช่วงเวลาดังกล่าวเป็นเวลาขณะที่ที่ประชุมมีการเปิดระบบให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์แสดงตนเพื่อตรวจสอบองค์ประชุมในการพิจารณามาตรา 30 และลงมติในเวลา 19.31 นาฬิกา จึงเชื่อว่าจำเลยที่ 1 ไม่อยู่ในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรตั้งแต่เวลาที่ให้ใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์แสดงตนและลงมติในมาตรา 30 เป็นต้นไปจนเสร็จสิ้นการประชุม
ส่วนจำเลยที่ 2 เบิกความว่า จำเลยที่ 2 ใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์แสดงตนและลงมติด้วยตนเองถึงมาตรา 28 เวลา 17.53 นาฬิกา ในวันเดียวกัน แล้วออกมาด้านนอกห้องประชุม ระหว่างที่อยู่นอกห้องประชุมได้รับแจ้งจากนายวิโรจน์ รอดดำ ว่าจำเลยที่ 1 เดินทางไปท่าอากาศยานแล้ว จึงตัดสินใจเดินทางออกจากอาคารรัฐสภาเพื่อไปทำอากาศยานเช่นกัน ซึ่งตามหนังสือแจ้งผลการตรวจสอบข้อมูลการเดินทางของจำเลยที่ 2 ฉบับลงวันที่ 23
มีนาคม 2563 เอกสารหมาย จ. 28 (แฟ้ม 6) ระบุว่าจำเลยที่ 2 แสดงตัวขึ้นเครื่อง (เช็คอิน) ที่ท่าอากาศยานดอนเมือง เวลา 19.34 นาฬิกา จึงชี้ชัดว่าจำเลยที่ 2 ต้องเดินทางออกจากที่ประชุมตั้งแต่ก่อนเวลา 19.30 นาฬิกา เมื่อรับฟังประกอบกับที่จำเลยที่ 2 ทำหนังสือชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาในชั้นไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. รับว่า จำเลยที่ 2 ไม่ได้เป็นผู้ใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์แสดงตนและลงมติตั้งแต่มาตรา 30 ถึงมาตรา 40 จึงเชื่อได้ว่าจำเลยที่ 2 ไม่อยู่ในที่ประชุมในช่วงการให้ใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์แสดงตนและลงมติในมาตรา 30 ถึงมาตรา 40 ตามฟ้องโจทก์
สำหรับจำเลยที่ 3 นั้นได้ให้การยอมรับว่าจำเลยที่ 3 ไม่อยู่ในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 11
มกราคม 2563 ช่วงเวลา 14.28 ถึง 15.46 นาฬิกา ตามฟ้องโจทก์ แม้จำเลยที่ 3 จะอ้างต่อมาว่าจำเลยที่ 3 ใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์แสดงตนและลงมติด้วยตนเองถึงมาตรา 43 แต่ปรากฏข้อเท็จจริงตามรายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 ปีที่ 1 ครั้งที่ 18 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) เป็นพิเศษ เอกสารหมาย จ. 25 ว่า ที่ประชุมมีการเปิดระบบให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์แสดงตนเพื่อตรวจสอบองค์ประชุมและลงมติในการ ณามาตรา 43 ในเวลา 14.28 นาฬิกา และ 14.29 นาฬิกา ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่จำเลยที่ 3 ให้การยอมรับในตอนแรกว่าจำเลยที่ 3 ไม่อยู่ในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ทั้งจำเลยที่ 3 เคยทำหนังสือชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อคณะกรรมการไต่สวนตามเอกสารหมาย จ. 89 ยืนยันว่า จำเลยที่ 3 ใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์แสดงตนและลงมติด้วยตนเองถึงมาตรา 42 เท่านั้นจึงเชื่อได้ว่า จำเลยที่ 3 ไม่อยู่ในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎตั้งแต่เวลาที่ให้ใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์แสดงตนและลงมติในมาตรา 43 เป็นต้นไปจนเสร็จสิ้นการประชุม
ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าในช่วงระยะเวลาที่จำเลยทั้งสามไม่อยู่ในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรดังกล่าวนั้น มีการใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของจำเลยทั้งสามแสดงตนและลงมตีในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 กล่าวคือ
@ เสียบบัตรแทน 3 คน 76 ครั้ง- ‘ฉลอง’ มากสุด 46 ครั้ง
ในการประชุมวันที่ 10 มกราคม 2563 ได้มีบุคคลอื่นนำบัตรอิเล็กทรอนิกส์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 มาใช้แสดงตนและลงมติมาตรา 30 ถึงมาตรา 34 มาตรา 37 ถึงมาตรา 39 ตั้งแต่เวลา 19.30 ถึง 01.07 นาฬิกา ของวันที่ 11 มกราคม 2563 รวมการแสดงตนและการลงมติต่อเนื่องกัน 16 ครั้ง หลังจากนั้นมีการพักการประชุมและเริ่มประชุมอีกครั้งในวันที่ 11 มกราคม 2563 ได้มีบุคคลอื่นใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของจำเลยที่ 1 แสดงตนและลงมติมาตรา 40 ถึงมาตรา 43 มาตรา 45 ถึงมาตรา 53 กับวาระที่สามและข้อสังเกต ต่อเนื่องอีก 30 ครั้ง ตั้งแต่เวลา 11.08 ถึง 17.38 นาฬิกา จนเสร็จสิ้นการประชุม กับมีบุคคลอื่นใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของจำเลยที่ 2 แสดงตนและลงมติมาตรา 40 อีก 2 ครั้ง เวลา 11.08 นาฬิกา และ 11.10 นาฬิกา อันเป็นเวลาก่อนที่จำเลยที่ 2 จะเดินทางกลับมาร่วมประชุม และมีบุคคลอื่นใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของจำเลยที่ 3 ในการแสดงตนและลงมติมาตรา 43 มาตรา 45 ถึงมาตรา 49 ตั้งแต่เวลา 14.28 ถึง 15.46 นาฬิกา ต่อเนื่องกัน 12 ครั้ง
ปรากฎตามรายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 ปีที่ 1 ครั้งที่ 17 และครั้งที่ 18 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) เป็นพิเศษ เอกสารหมาย จ. 24 และ จ. 25 เห็นว่า บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของจำเลยทั้งสามเป็นเสมือนสิ่งแทนตนที่จำเลยทั้งสามต้องใช้ในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อแสดงตัวตนและลงมติในเรื่องต่าง ๆ เกี่ยวกับการทำหน้าที่ในทางนิติบัญญัติในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร บัตรอิเล็กทรอนิกส์จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จำเลยทั้งสามต้องเก็บรักษาไว้ด้วยตนเอง แต่กลับปรากฎว่ามีบุคคลอื่นนำบัตรอิเล็กทรอนิกส์ของจำเลยทั้งสามไปใช้เพื่อแสดงตนและลงมติแทนในระหว่างที่จำเลยทั้งสามไม่อยู่ในห้องประชุม ซึ่งเมื่อพิจารณาลักษณะของบัตรอิเล็กทรอนิกส์ตามที่ปรากฎในภาพถ่ายเอกสารหมาย จ.38 ที่มีการระบุชื่อและนามสกุลของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเจ้าของบัตรไว้อย่างชัดเจน ผู้ที่พบเห็นสามารถทราบได้ทันทีว่าบัตรนั้นเป็นของผู้ใด จึงเป็นการยากที่จะมีบุคคลอื่นนำบัตรอิเล็กทรอนิกส์ของจำเลยทั้งสามไปใช้โดยผิดหลง
นอกจากนี้ในการใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์แสดงตนและลงมติแต่ละครั้งจะกระทำได้ต่อเมื่อประธานในที่ประชุมสั่งให้แสดงตนและเจ้าหน้าที่ควบคุมระบบเปีดระบบให้ใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์แสดงตนเสร็จแล้วจึงปิดระบบแสดงตน หลังจากนั้นประธานในที่ประชุมสั่งให้ลงมติและเจ้าหน้าที่เปิดระบบให้ใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ลงมติ เมื่อมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใช้เครื่องเสียบบัตรเดียวกัน จะต้องมีการดึงบัตรอิเล็กทรอนิกส์ออกจากเครื่องหลังจากแสดงตนแล้ว จากนั้นจึงเสียบบัตรอิเล็กทรอนิกส์ใหม่อีกครั้งเพื่อลงมติ ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องกระทำหลายขั้นตอน แต่กลับมีบุคคลอื่นนำบัตรอิเล็กทรอนิกส์ของจำเลยทั้งสามมาใช้แสดงตนและลงมติในระหว่างที่จำเลยทั้งสามไม่อยู่ในห้องประชุมหลายครั้งอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะจำเลยที่ 1 มีการแสดงตนและลงมติแทนทั้งสิ้นมากถึง 46 ครั้ง จำเลยที่ 2 ก็มีการแสดงตนและลงมติแทนทั้งสิ้นมากถึง 18 ครั้ง และจำเลยที่ 3 มีการแสดงตนและลงมติแทนทั้งสิ้นรวม 12 ครั้ง ซึ่งไม่มีเหตุที่บุคคลอื่นที่มิได้รู้เห็นเป็นใจกับจำเลยทั้งสามจะต้องเสี่ยงลงมติแทนจำเลยทั้งสามโดยพลการเป็นจำนวนหลายครั้งเช่นนี้ อีกทั้งช่วงเวลาที่จำเลยทั้งสามไม่อยู่ในห้องประชุมเป็นเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดแตกต่างกัน การที่บุคคลอื่นจะแสดงตนและลงมติแทนจำเลยทั้งสามได้โดยต่อเนื่องกันตลอดจำนวนหลายครั้งเช่นนี้ บุคคลนั้นจำเป็นต้องรู้ก่อนว่าจำเลยทั้งสามจะออกจากห้องประชุมเมื่อใด และจะกลับมาเข้าประชุมอีกหรือไม่ รวมทั้งต้องสามารถมีหรือได้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของจำเลยทั้งสามมาอย่างรวดเร็วพอที่จะลงมติแทนได้ทันเวลาอีกด้วย
@ สมรู้ร่วมคิดกับบุคคลผู้เสียบบัตรแทน-ไม่แจ้งความเอาผิดคนเอาบัตรไปใช้
การที่บุคคลอื่นสามารถลงมติแทนจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ครบถ้วนทุกครั้งและจำเลยที่ 3 จำนวนต่อเนื่องหลายครั้งดังกล่าว ย่อมเป็นข้อบ่งชี้ว่าได้มีการวางแผนและเตรียมการคบคิดกันมาก่อน เพื่อให้ทราบข้อมูลว่าจำเลยทั้งสามจะไม่อยู่ในที่ประชุมช่วงเวลาใด และบัตรอิเล็กทรอนิกส์ของจำเลยทั้งสามอยู่ที่ใด ซึ่งหากจำเลยทั้งสามไม่แจ้งข้อมูลหรือไม่ยินยอมมอบบัตรอิเล็กทรอนิกส์ให้ไปการกระทำดังกล่าวก็ไม่อาจสำเร็จลุล่วงได้ และข้อเท็จจริงตามทางต่สวนไม่น่าเชื่อว่าบุคคลอื่นที่แสดงตนและลงมติแทนนั้นจะตัดสินใจกระทำไปเพียงลำพังฝ่ายเดียว เพราะเสี่ยงที่จะถูกตรวจสอบภายหลังหากจำเลยทั้งสามปฎิเสธว่าไม่ได้เป็นผู้แสดงตนและลงมติด้วยตนเอง โดยเฉพาะการใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของบุคคลอื่นมาแสดงตนและลงมติดังกล่าวเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2562 ข้อ 80 วรรคสาม ทั้งยังเป็นการกระทำความผิดที่มีโทษในทางอาญา
และอาจถูกกล่าวหาว่าเป็นการฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงถึงขั้นถูกเพิกถอนสิทธิทางการเมืองอีกด้วย และประการสำคัญหลังจากทราบเรื่องที่เกิดขึ้นจำเลยทั้งสามก็มิได้สนใจขวนขวายตรวจสอบความจริงโดยเร็ว กลับปล่อยปละละเลยโดยมิได้ไปแจ้งความร้องทุกข์และพยายามสืบหาตัวบุคคลที่นำบัตรอิเล็กทรอนิกส์ของตนไปใช้แสดงตนและลงมติแทนเพื่อให้มีการดำเนินคดีให้ถึงที่สุด เพื่อแสดงให้เห็นว่าจำเลยทั้งสามมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องหรือรู้เห็นในส่วนที่บุคคลอื่นใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์แสดงตนและลงมติแทน อันเป็นการแสดงถึงความบริสุทธิ์ของตนเอง
@ อ้างลืมบัตรทิ้งไว้ ฟังไม่ขึ้น-หลังประชุมเสร็จ จนท.จะเช็กทุกครั้งใครลืมบ้าง
เมื่อพิจารณาประกอบกับการประชุมสภาผู้แทนราษฎรในครั้งนี้เป็นการประชุมเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 อันเป็นกฎหมายสำคัญที่เป็นเครื่องมือของรัฐบาลที่จะทำให้การบริหารราชการแผ่นดินสามารถบรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมายได้ หากร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวไม่ผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรก็จะมีผลถึงความมั่นคงและเสถียรภาพทางการเมืองของรัฐบาล จึงจำเป็นต้องมีมาตรการเพื่อให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่สังกัดพรรคร่วมรัฐบาลต้องเข้าร่วมประชุมและลงมติ เพื่อให้การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร์ไปได้ ยิ่งไปกว่านี้เมื่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมาตรา 120 และข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2562 ข้อ 25 กำหนดให้ที่ประชุมต้องมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรลงชื่อมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดจึงจะเป็นองค์ประชุม องค์ประชุมจึงย่อมมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง
ดังเห็นได้จากรายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 ปีที่ 1 ครั้งที่ 17 และครั้งที่ 18 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) เป็นพิเศษ เอกสารหมาย จ. 22 ถึง จ. 25 จะต้องมีการตรวจสอบองค์ประชุมโดยให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์แสดงตนก่อนที่จะลงมติทุกครั้ง ซึ่งหากองค์ประชุมไม่ครบ ที่ประชุมก็จะไม่สามารถประชุมต่อไปได้ อันส่งผลกระทบสำคัญต่อการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ให้เป็นไปด้วยความล่าช้า และสะท้อนถึงเสถียรภาพและความไม่มั่นคงของรัฐบาลเช่นเดียวกัน ซึ่งก็ปรากฎจากบันทึกถ้อยคำพยานปากนายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ และนายทวิรัฐ รัตนเศรษฐ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในชั้นไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ว่า ช่วงที่มีการประชุมนี้ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่สังกัดพรรคร่วมรัฐบาลมี 253 เสียง และองค์ประชุมจะต้องมีสมาชิกมาแสดงตนเกินกึ่งหนึ่ง (250 คน) ของสมาชิกทั้งหมด ซึ่งรัฐบาลชุดนี้อยู่ในสถานการณ์ที่มีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคร่วมรัฐบาลเกินกึ่งหนึ่งเพียงเล็กน้อย (คะแนนเสียงปริ่มน้ำ)
ด้วยเหตุดังกล่าวสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคร่วมรัฐบาลจำเป็นอย่างยิ่งต้องรักษาสถานะของคะแนนเสียงข้างมากไว้ให้ได้ จำเลยทั้งสามซึ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคร่วมรัฐบาลจึงต้องฝากบัตรอิเล็กทรอนิกส์ของตนให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอื่นใช้แสดงตนและลงมติแทนในขณะที่ไม่ได้อยู่ในที่ประชุม ที่จำเลยทั้งสามให้การต่อสู้ว่า จำเลยทั้งสามหลงลืมบัตรอิเล็กทรอนิกส์ของตนไว้ที่บริเวณที่นั่งประชุมหรือเสียบบัตรคาไว้ในช่องเสียบบัตร เนื่องจากจำเลยทั้งสามแต่ละคนต่างก็เร่งรีบออกจากที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อเดินทางไปยังท่าอากาศยาน และจำเลยที่ 2 มีอาการหลงลืมเป็นประจำเนื่องจากอาการป่วยด้วยนั้น นอกจากจะเป็นการง่ายแก่การกล่าวอ้างแล้ว ข้ออ้างดังกล่าวยังไม่สมเหตุสมผล เพราะหากเป็นกรณีหลงลืมซึ่งเป็นเหตุบังเอิญแล้ว ย่อมเป็นไปได้ยากที่บุคคลที่ใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์แสดงตนและลงมติแทนจำเลยทั้งสามจะทราบเรื่องได้เองจนสามารถหาบัตรอิเล็กทรอนิกส์ของจำเลยทั้งสามและใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์แสดงตนและลงมติแทนในครั้งถัดไปได้ทันเวลาต่อเนื่องกันพอดีกับที่จำเลยแต่ละคนออกจากที่ประชุม
นอกจากนี้ ในส่วนจำเลยที่ 1 และที่ 2 ข้อเท็จจริงยังได้ความจากนางสาวสายฝน ไกรสมเลิศ ผู้บังคับบัญชากลุ่มงานบริหารทั่วไป สำนักการประชุมสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เบิกความยืนยันว่า หลังเลิกประชุมหากมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรลืมบัตรอิเล็กทรอนิกส์เสียบคาไว้ในช่องเสียบบัตร หรือวางลืมไว้บนโต๊ะในห้องประชุม ฝ่ายโสตทัศนูปกรณ์จะขึ้นผังที่นั่งบนหน้าจอใหญ่ในห้องประชุมว่าแถวที่นั่งใดบ้างได้เสียบบัตรคาไว้ นอกจากนี้เจ้าหน้าที่จะเดินสำรวจทุกแถวที่นั่งว่ามีบัตรวางไว้หรือไม่ และจะเก็บบัตรมาจัดเรียงตามลำดับเพื่อง่ายต่อการค้นหาเวลาที่สมาชิกมาขอรับบัตรคืน โดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เป็นเจ้าของบัตรเท่านั้นที่จะมาขอรับบัตรคืนได้ เจ้าหน้าที่ได้จัดทำหลักฐานการเก็บบัตรอิเล็กทรอนิกส์ หลังเลิกประชุมในวันที่ 8 ถึงวันที่ 11 มกราคม 2563 และวันที่ 15 มกราคม 2563 ตามเอกสารหมาย จ. 34 แต่ไม่พบบัตรอิเล็กทรอนิกส์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 หลังเลิกประชุมวันที่ 10 มกราคม 2563 นางสาวสายฝนพยานโจทก์เป็นเจ้าพนักงานที่รู้เห็นข้อเท็จจริงจากการปฏิบัติหน้าที่ตามปกติและมีการทำหลักฐานการเก็บบัตรอิเล็กทรอนิกส์ไว้ตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุมาประกอบด้วย คำเบิกความของนางสาวสายฝนจึงมีน้ำหนักให้รับฟังได้ ดังนี้
หากจำเลยที่ 1 และที่ 2 หลงลืมบัตรอิเล็กทรอนิกส์ไว้ที่บริเวณที่นั่งประชุมหรือเสียบบัตรคาไว้ในช่องเสียบบัตรในวันที่ 10 มกราคม 2563 ดังที่อ้าง เจ้าหน้าที่สำนักการประชุมย่อมจะต้องพบและเก็บบัตรของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เอาไว้ จึงไม่อยู่ในวิสัยที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรายอื่นจะสามารถนำบัตรอิเล็กหรอนิกส์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 มาใช้แสดงตนและลงมติแทนจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในวันรุ่งขึ้นอีกได้ตามที่เกิดขึ้นในคดีนี้ นอกจากนั้น พฤติการณ์ที่มีบุคคลอื่นใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในวันที่ 11 มกราคม 2563 ซึ่งเป็นวันรุ่งขึ้นด้วย แสดงให้เห็นว่าบุคคลที่แสดงตนและลงมติแทนนั้นเป็นผู้ถือบัตรอิเล็กทรอนิกส์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เอาไว้ อันเป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ไม่พบบัตรอิเล็กทรอนิกส์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 หลังเลิกประชุมวันที่ 10 มกราคม 2563 ซึ่งการที่บุคคลที่ถือบัตรอิเล็กทรอนิกส์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เพื่อใช้แสดงตนและลงมติแทนในวันรุ่งขึ้น บุคคลนั้นจะต้องทราบตั้งแต่คืนวันที่ 10 มกราคม 2563 แล้วว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 จะไม่เข้าประชุมในวันที่ 11 มกราคม 2563 หากเป็นบุคคลภายนอกย่อมไม่อาจล่วงรู้ถึงความจริงข้อนี้ได้ ตามพฤติการณ์น่าเชื่อว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 กับบุคคลที่ถือบัตรอิเล็กทรอนิกส์ในวันที่ 10 มกราคม 2563 ต้องมีการติดต่อและรู้เห็นกันว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2ประชุมในวันดังกล่าว ดังนั้น ข้ออ้างว่าหลงลืมบัตรอิเล็กทรอนิกส์ไว้ในที่ประชุม จึงไม่อาจรับฟังได้
@ อ้างถูก‘ผู้ไม่หวังดี’แกล้ง - ไฉนเสียบบัตรแทนกัน 2 วันติด
ส่วนที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 อ้างทำนองเดียวกันว่า การนำบัตรอิเล็กทรอนิกส์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2
ไปใช้แสดงตนและลงมติในระหว่างที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่เข้าประชุม เป็นการกระทำของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ไม่หวังดีกับตนเองเป็นการส่วนตัวหรือมีข้อขัดแย้งทางการเมืองกับตนหรือพรรคการเมืองที่ตนสังกัดอยู่นั้น ก็ไม่ปรากฎว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้เคยอ้างเหตุดังกล่าวไว้ในหนังสือชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อคณะกรรมการไต่สวนแต่อย่างใด ประกอบกับหากถูกบุคคลอื่นกลั่นแกล้งจำเลยที่ 1 และที่ 2 ก็ไม่มีความจำเป็นจะต้องใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์แสดงตนแทนจำเลยที่ 1 และที่ 2 โดยต้องใช้เวลาตั้งแต่ค่ำวันที่ 10 มกราคม 2563 ถึงเย็นวันที่ 11 มกราคม 2563 ในระหว่างที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่อยู่ในห้องประชุม จนครบจำนวนการลงมติทุกครั้ง นอกจากนี้จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสังกัดพรรคเดียวกัน ย่อมต้องนั่งอยู่ในบริเวณเดียวกัน จึงเป็นการยากที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสังกัดพรรคอื่นจะนำบัตรอิเล็กทรอนิกส์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไปใช้แสดงตนและลงมติแทนได้ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นก็น่าจะต้องถูกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอื่นที่สังกัดพรรคเดียวกันกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 พบเห็นและทักท้วงเอาได้
ยิ่งกว่านั้น ผลการลงมติแทนจำเลยที่ 1 และที่ 2 ทุกครั้งยังปรากฎผล “เห็นด้วย” สอดคล้องกับสถานะของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคร่วมรัฐบาล อันเป็นการสมประโยชน์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 มากกว่าจะเป็นการกลั่นแกล้งอีกด้วย
ที่จำเลยที่ 1 อ้างว่า จำเลยที่ 1 เดินทางอย่างเปิดเผยและไปเป็นประธานงานวันเด็ก มีการประกาศให้ประชาชนในท้องที่ทราบ ย่อมไม่กล้าฝากบัตรอิเล็กทรอนิกส์ให้บุคคลอื่นแสดงตนและลงมติแทน ก็เป็นเพียงข้ออ้างหลังเกิดเหตุและไม่อาจคาดหมายได้ว่าจะเกิดการร้องเรียนหรือดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 กรณีที่ไม่อยู่ร่วมประชุมในครั้งนี้ ข้ออ้างส่วนนี้ไม่อาจนำมาหักล้างหรือยืนยันได้ว่าจำเลยที่ 1 มิได้ฝากบัตรให้บุคคลอื่นแสดงตนและลงมติแทนได้
@ จำเลยที่ 2 ส่อเจตนาปกปิดชื่อคนเสียบบัตรแทน
ส่วนที่จำเลยที่ 2 อ้างว่า เมื่อจำเลยที่ 2 เดินทางกลับไปถึงจังหวัดพัทลุง ได้ทราบว่าประธานสภาผู้แทนราษฎรสั่งพักการประชุมโดยไม่มีการเลื่อนประชุมจำเลยที่ 2 จึงรีบจองตั๋วเครื่องบินเพื่อเดินทางกลับมาประชุมให้ทันในวันที่ 11 มกราคม 2563 แสดงว่าจำเลยที่ 2 ไม่ได้มอบหมายหรือยินยอมให้บุคคลใดใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของจำเลยที่ 2 แสดงตนและลงมติแทนนั้น เห็นได้ว่า แม้จำเลยที่ 2 จะเดินทางกลับมาประชุมวันที่ 11 มกราคม 2563 ในเวลา 12 นาฬิกา แต่ก็เป็นข้อพิสูจน์เพียงว่า จำเลยที่ 2 ไม่ประสงค์จะให้บุคคลอื่นลงมติแทนในวันที่ 11 มกราคม 2563 ไม่ใช่ข้อพิสูจน์ย้อนหลังไปถึงการกระทำของจำเลยที่ 2 ในวันที่ 10 มกราคม 2563 ได้แต่อย่างใด เพราะจำเลยที่ ได้ยินยอมให้มีการใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของตนลงมติแทนเฉพาะช่วงคืนวันที่ 10 มกราคม 2563 โดยคิดว่าการประชุมจะเสร็จสิ้นในวันดังกล่าว
ครั้นเมื่อจำเลยที่ 2 ทราบว่าการประชุมยังไม่เสร็จสิ้น จำเลยที่ 2 ก็รีบเดินทางกลับมาประชุมในวันที่ 11 มกราคม 2563 แต่ปรากฏว่าในวันนั้นก่อนที่จำเลยที่ 2 จะเข้าประชุมได้มีบุคคลอื่นใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของจำเลยที่ 2 แสดงตนและลงมติแทนในการพิจารณามาตรา 40 ไปก่อนแล้ว ข้ออ้างของจำเลยที่ 2 ดังกล่าวจึงฟังไม่ขึ้น ที่จำเลยที่ 2 อ้างว่า เมื่อกลับเข้ามาห้องประชุมได้สอบถามเพื่อนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรถึงบัตรอิเล็กทรอนิกส์ของตน และมีเสียงตะโกนมาจากด้านหลังว่า “บัตรของพี่เสียบคาอยู่ช่องนี้” เมื่อเดินไปดูจึงพบบัตรอิเล็กทรอนิกส์ของตนโดยไม่ทราบว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคนดังกล่าวเป็นผู้ใดนั้น นับว่าเป็นเรื่องบังเอิญที่ไม่น่าเชื่อถือ ทั้งที่คำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาของจำเลยที่ 2 ตามเอกสารหมาย จ. 88 ระบุว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคนดังกล่าวเป็นรุ่นน้องในพรรคภูมิใจไทยซึ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคเดียวกัน แต่จำเลยที่ 2 ไม่ได้ระบุชื่อบุคคลดังกล่าว จึงส่อพิรุธว่าเป็นการปกปิดตัวบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของจำเลยที่ 2
@ หลักฐานภาพถ่าย ตม.ชัด ตัว ‘นาที’ อยู่สนามบิน-บัตรถูกใช้ลงคะแนนที่สภาฯ
สำหรับจำเลยที่ 3 แม้จะมีการใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์แสดงตนและลงมติแทนจำเลยที่ 3 เฉพาะในวันที่ 11 มกราคม 2563 เพียงวันเดียวเท่านั้น แต่ข้อเท็จจริงได้ความว่า หลังจากจำเลยที่ 3 เร่งรีบออกจากที่ประชุมตั้งแต่เวลา 14.28 นาฬิกา แล้ว ก็มีการใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของจำเลยที่ 3 แสดงตนและลงมติในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวตั้งแต่มาตรา 43 จนถึงมาตรา 48 ในเวลา 15.20 นาฬิกา อย่างต่อเนื่องในทันทีโดยไม่ขาดตอนซึ่งเห็นได้ชัดว่าเป็นการแสดงตนและลงมติแทนผู้ไม่เข้าประชุมอันมีลักษณะเช่นเดียวกันกับกรณีของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จนกระทั่งถึงเวลา 15.28 นาฬิกา จำเลยที่ 3 ได้ผ่านพิธีการตรวจคนเข้าเมืองเพื่อเดินทางออกนอกราชอาณาจักร
ตามผลการสืบค้นข้อมูลการเดินทาง สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เอกสารหมาย จ. 34 ทำให้ปรากฎหลักฐานทางราชการเป็นภาพถ่ายและระบุเวลาชัดเจนว่าจำเลยที่ 3 อยู่ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและกำลังจะเดินทางออกนอกราชอาณาจักร หลังจากนั้นไม่นานมีการใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของจำเลยที่ 3 แสดงตนและลงมติอีกครั้งในการพิจารณามาตรา 49 ในเวลา 15.45 นาฬิกา และ 15.46 นาฬิกา จึงหยุดใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของจำเลยที่ 3 แสดงตนและลงมติต่อไป ทั้งที่ก่อนหน้านั้นเพิ่งมีการใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของจำเลยที่ 3 แสดงตนและลงมติแทนต่อเนื่องเรื่อยมามากถึง 12 ครั้ง แสดงให้เห็นว่าบุคคลที่ใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของจำเลยที่ 3 นั้น ได้ทราบว่าจำเลยที่ 3 กำลังจะเดินทางออกนอกราชอาณาจักรแล้ว เชื่อว่ามีการติดต่อแจ้งข้อมูลและรู้เห็นกันกับจำเลยที่ 3 ตั้งแต่จำเลยที่ 3 ออกจากที่ประชุมจนถึงเวลาที่จำเลยที่ 3 จะเดินทางออกนอกราชอาณาจักร จึงไม่ได้มีการใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของจำเลยที่ 3 เพื่อแสดงตนและลงมติแทนจำเลยที่ 3 จนเสร็จสิ้นการประชุม และไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเก็บบัตรอิเล็กทรอนิกส์ของจำเลยที่ 3 ไว้กับตัวเองอันจะทำให้อาจถูกตรวจพบได้ จึงทิ้งบัตรของจำเลยที่ 3 ไว้ในที่ประชุมเพื่อให้เจ้าหน้าที่มาเก็บไปหลังจากเลิกประชุม
@ พฤติการณ์แห่งคดีสมยอมให้ผู้อื่นใช้บัตรฯ แสวงประโยชน์-ไม่สุจริต
พฤติการณ์แห่งคดีมีเหตุผลและน้ำหนักให้รับฟังได้โดยปราศจากสงสัยว่า จำเลยทั้งสามยินยอมให้บุคคลอื่นใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์แสดงตนและลงมติแทนจำเลยทั้งสาม เมื่อการออกเสียงลงคะแนนเป็นสิทธิเฉพาะตัวของผู้ที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้ที่จะมีสิทธิออกเสียงลงคะแนนได้คือผู้ที่เข้าประชุมและอยู่ในที่ประชุมในขณะที่มีการออกเสียงลงคะแนนเท่านั้น การกระทำใดเพื่อให้มีการออกเสียงลงคะแนนแทนกันจึงเป็นการขัดต่อหลักการออกเสียงลงคะแนนตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 120 วรรคสาม ที่ให้สมาชิกคนหนึ่งมีเสียงหนึ่งในการออกเสียงลงคะแนน และไม่ชอบด้วยข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2562 ข้อ 80 วรรคสาม ที่การออกเสียงลงคะแนนจะกระทำแทนกันมิได้ อันถือเป็นการออกเสียงลงคะแนนที่ไม่สุจริต มีผลทำให้การออกเสียงลงคะแนนของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในการประชุมนั้นไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ที่แท้จริงของผู้แทนปวงชนชาวไทย และเป็นการละเมิดหลักการพื้นฐานของการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความชื่อสัตย์สุจริตเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติโดยปราศจากการขัดกันแห่งผลประโยชน์ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 114 ทั้งชัดต่อหลักความซื่อสัตย์สุจริตที่ได้ปฏิญาณตนในที่ประชุมก่อนเข้ารับหน้าที่ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 115
ซึ่งต่อมาภายหลังศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยว่า ร่างพระราชบัญญัติตังกล่าวตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ เฉพาะการพิจารณาลงมติในวาระที่สอง วาระที่สาม และข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการ โดยกำหนดคำบังคับให้สภาผู้แทนราษฎรดำเนินการให้ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญเฉพาะในวาระที่สอง วาระที่สาม และข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการ จึงถือได้ว่าการกระทำของจำเลยทั้งสาม ก่อให้เกิดความเสียหายแก่สภาผู้แทนราษฎรซึ่งเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่นิติบัญญัติ และส่วนราชการทั้งการที่จำเลยทั้งสามซึ่งมีหน้าที่พิจารณาร่างพระราชบัญญัติต่าง ๆ แต่กลับฝากบัตรอิเล็กทรอนิกส์ของจำเลยทั้งสามกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรายอื่นหรือบัตรอิเล็กทรอนิกส์ของจำเลยทั้งสาม ไปอยู่ในความครอบครองของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรายอื่น โดยจำเลยทั้งสามต่างยินยอมให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรายนั้นใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของจำเลยทั้งสามแสดงตนและลงมติในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 แทนจำเลยทั้งสาม เพื่อให้ร่างกฎหมายดังกล่าวผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร อันถือได้ว่าเป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น หรือมีพฤติการณ์ที่รู้เห็นหรือยินยอมให้ผู้อื่นใช้ตำแหน่งหน้าที่ของตนแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ และเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตแล้ว จำเลยทั้งสามจึงมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตตามฟ้อง
อนึ่ง พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 83 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “...ในกรณีที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำพิพากษาว่าผู้ถูกกล่าวหากระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหาให้ผู้ต้องคำพิพากษานั้นพ้นจากตำแหน่งนับแต่วันหยุดปฏิบัติหน้าที่ และให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้น และจะเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดเวลาไม่เกินสิบปีด้วยหรือไม่ก็ได้" และวรรคสอง บัญญัติว่า "ผู้ใดถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งไม่ว่าในกรณีใด ผู้นั้นไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งหรือสมัครรับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นตลอดไป และไม่มีสิทธิดำรงตำแหน่งทางการเมืองใด ๆ” ซึ่งเป็นผลของกฎหมายที่ผู้ถูกกล่าวหาต้องพ้นจากตำแหน่งทางการเมือง และถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งทันทีหากศาลมีคำพิพากษาว่าผู้ถูกกล่าวหากระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหา โดยโจทก์ไม่จำต้องมีคำขอตามมาตรา 81
@ ให้จำเลยที่ 1-2 พ้นตำแหน่ง
คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าว เมื่อศาลวินิจฉัยว่า จำเลยทั้งสามกระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหา จำเลยทั้งสามย่อมต้องพ้นจากตำแหน่งนับแต่วันหยุดปฏิบัติหน้าที่และต้องถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งด้วย และเมื่อปรากฎว่าศาลมีคำสั่งในคดีนี้ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 หยุดปฏิบัติหน้าที่เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2565 ส่วนจำเลยที่ 3 พ้นจากการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรก่อนโจทก์ฟ้องคดีนี้แล้ว จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงต้องพ้นจากตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนับแต่วันที่ 11 เมษายน 2565 เป็นต้นไป และจำเลยทั้งสามต้องถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตลอดไป โดยไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งหรือสมัครรับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นตลอดไป และไม่มีสิทธิดำรงตำแหน่งทางการเมืองใด ๆ อีก โดยองค์คณะผู้พิพากษามีมติเสียงข้างมากเห็นควรไม่เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของจำเลยทั้งสาม
@ คุก 1 ปี ลดเหลือ 9 เดือน ห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมืองตลอดชีวิต
พิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172 ลงโทษจำคุกคนละ 1 ปี องค์คณะผู้พิพากษามีมติเสียงข้างมาก เห็นว่า ทางไต่สวนของจำเลยทั้งสามเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ โทษให้คนละหนึ่งในสี่ตามประมาลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกคนละ 9 เดือน พฤติการณ์แห่งคดีเป็นการกระทำโดยทุจริตถือเป็นเรื่องร้ายแรง จึงไม่มีเหตุรอการลงโทษ ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 พ้นจากตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนับแต่วันที่ 11 เมษายน 2565 ซึ่งเป็นวันหยุดปฏิบัติหน้าที่ และให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของจำเลยทั้งสามตลอดไป โดยไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งหรือสมัครรับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นตลอดไป และไม่มีสิทธิดำรงตำแหน่งทางการเมืองใดๆ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 81 วรรคหนึ่งและวรรคสอง
(คดีหมายเขแดงที่ อม.11/2566 วันที่ 18 พ.ค.2566)