"...ศึกชิง ‘ประมุขนิติบัญญัติ’ มิใช่แค่เรื่องคุมเกมโหวตใน ‘สภาล่าง’ เพียงอย่างเดียว แต่เป็น ‘บันไดขั้นแรก’ ในการจัดตั้งรัฐบาลที่จะเกิดขึ้นด้วยหลังจากนี้ เพราะบรรดา 8 พรรคร่วม มี ส.ส.รวม 312 เสียงนั้น แม้ฉากหน้าจะดูเป็น ‘เอกภาพ’ เนื้อเดียวกัน แต่หลังฉากยังคง ‘รบรา’ ปล่อยข่าว ‘ดิสเครดิต’ ใส่กันอย่างต่อเนื่อง โดยมี ‘เพื่อไทย-ก้าวไกล’ เป็นหัวขบวนหลัก..."
โฟกัสประเด็นร้อนการเมืองห้วงเวลานี้
การเดินเกมชิงเก้าอี้ประธานสภาฯ ระหว่าง ‘เพื่อไทย-ก้าวไกล’ กลับมาระอุอีกครั้ง ภายหลังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศรับรองผล 500 ส.ส.จากการเลือกตั้ง 2566 อย่างเป็นทางการ
หมากเกมนี้ต้องจับตาดูกันให้ดี เพราะคือตัวแปรสำคัญชี้ขาดว่า ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ หัวหน้าพรรคก้าวไกล จะถึงฝั่งฝันได้เป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 30 หรือไม่
แต่ศึกชิง ‘ประมุขนิติบัญญัติ’ มิใช่แค่เรื่องคุมเกมโหวตใน ‘สภาล่าง’ เพียงอย่างเดียว แต่เป็น ‘บันไดขั้นแรก’ ในการจัดตั้งรัฐบาลที่จะเกิดขึ้นด้วยหลังจากนี้
เพราะบรรดา 8 พรรคร่วม มี ส.ส.รวม 312 เสียงนั้น แม้ฉากหน้าจะดูเป็น ‘เอกภาพ’ เนื้อเดียวกัน
แต่หลังฉากยังคง ‘รบรา’ ปล่อยข่าว ‘ดิสเครดิต’ ใส่กันอย่างต่อเนื่อง โดยมี ‘เพื่อไทย-ก้าวไกล’ เป็นหัวขบวนหลัก
หากเจาะใส้ในแบ่งกำลังของ 8 พรรคร่วมรัฐบาล จะเห็นภาพดังนี้
1.ฝ่ายสีแดง 5 พรรค ได้แก่ พรรคเพื่อไทย พรรคประชาชาติ พรรคเสรีรวมไทย พรรคเพื่อไทรวมพลัง และพรรคพลังสังคมใหม่
พรรคเพื่อไทย คือพรรคใหญ่ ได้รับคะแนนเสียงเลือกตั้ง 2566 มาเป็นลำดับ 2 ด้วย ส.ส. 141 ที่นั่ง คะแนนป๊อปูล่าร์โหวตกว่า 10 ล้านเสียง มากด้วยคอนเนคชั่นทางการเมือง และสายสัมพันธ์กับกลุ่มทุนหลายกลุ่ม ยังคงเดินเกมการเมืองเพื่อเปิดทางให้ ‘คนแดนไกล’ ได้กลับบ้าน
ขณะที่พรรคประชาชาติ มี ‘วันมูหะมัดนอร์ มะทา’ ผู้นำกลุ่มวาดะห์ อดีตคนใกล้ชิดรัฐบาลสีแดง เคยนั่งเก้าอี้สำคัญทั้งรองนายกฯ และรัฐมนตรีหลายกระทรวงช่วง ‘รัฐบาลไทยรักไทย’ เคยเป็นอดีตประธานสภาฯยุค ‘บิ๊กจิ๋ว’ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เป็นนายกฯ ล่มหัวจมท้ายกับ ‘ฝ่ายสีแดง’ มายาวนานแทบจะค่อนชีวิตทางการเมือง
ส่วน ‘พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง’ เลขาธิการพรรคประชาชาติ เป็นอดีตข้าราชการตำรวจ ใกล้ชิดกับกลุ่มวาดะห์ เติบโตทางราชการในยุครัฐบาลสีแดงเบ่งบานอำนาจ ปี 2551 เคยเป็นอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ปี 2554 เป็นเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนใต้ (ศอ.บต.) ก่อนจะสิ้นสุดเมื่อเกิดรัฐประหารปี 2557 และเจ้าตัวไปร่วมก่อร่างสร้างพรรคประชาชาติกับ ‘วันนอร์’ ในปี 2561
พรรคเสรีรวมไทย นำโดย พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ที่ถูกมองว่าเป็น ‘ปีกขวา ในปีกซ้าย’ ซึ่งมีจุดยืนชัดเจนว่าไม่เอา ‘บิ๊กตู่’ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ภายหลังหล่นวาทะตำนาน “ตัดพี่ตัดน้อง” กันในสภาฯ โดยก่อนการเลือกตั้ง 2566 เจ้าตัวเคยให้สัมภาษณ์ถึงจุดยืนการจัดตั้งรัฐบาลว่า รับได้หาก ‘บิ๊กป้อม’ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เป็นนายกฯ
แน่นอนว่า ‘บิ๊กป้อม’ คืออีกหนึ่งตัวแปรในหลังฉาก และถูกพูดถึงตลอดท่ามกลางกระแส ‘ดีลลับ’ ระหว่าง ‘บิ๊กเนมสีแดง-พปชร.’ ตั้งแต่เหตุการณ์ ‘เลื่อยขานายกฯ’ ในศึกซักฟอกปี 2564 จน ‘ผู้กองธรรมนัส พรหมเผ่า’ และพรรคพวกต้องกระเด็นออกจาก พปชร.ไป และได้กลับเข้ามาอีกครั้งเมื่อ ‘2 ป.’ แยกกันเดิน โดย ‘บิ๊กตู่’ แยกย้ายไปสังกัดพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.)
พรรคเพื่อไทรวมพลัง ของเครือข่าย ‘เสี่ยแป้งมัน’ แห่งเมืองย่าโม ที่ปัจจุบันแผ่ขยายอิทธิพลอยู่ใน ‘เพื่อไทย’ พร้อมกับต่อรองขอเก้าอี้รัฐมนตรีไปแล้วด้วย โดยในการเลือกตั้ง 2566 ที่ผ่านมา พรรคนี้สร้างความพลิกล็อกสั่นสะเทือนใน จ.อุบลราชธานี เนื่องจากผู้สมัคร ส.ส.พรรคนี้ ชนะ ‘บ้านใหญ่อุบลฯ’ ได้ถึง 2 คน (ชนะชูวิทย์ กุ่ย, สมคิด เชื้อคง จากเพื่อไทย)
พรรคพลังสังคมใหม่ มี ‘เชาวฤทธิ์ ขจรพงศ์กีรติ’ เป็นหัวหน้าพรรค และ ‘อังกูร ไผ่แก้ว’ เป็นเลขาธิการพรรค โดยพรรคนี้เป็น ‘คนคุ้ยเคย’ ระหว่าง ‘ฝ่ายสีแดง-สีส้ม’ เนื่องจาก ‘เชาวฤทธิ์’ พื้นเพเป็นคน จ.น่าน ทำงานการเมืองในพื้นที่มายาวนาน รู้จักมักจี่กับนักการเมืองในพื้นที่ซึ่งส่วนใหญ่มาจาก ‘เพื่อไทย’ เป็นอย่างดี รวมถึงมีสายสัมพันธ์อันดีกับ ‘หมอชลน่าน ศรีแก้ว’ หัวหน้าพรรคเพื่อไทยคนปัจจุบันด้วย ส่วน ‘อังกูร’ คืออดีตเลขาธิการพรรคผึ้งหลวง ที่ถูก ‘ก้าวไกล’ เซ้งไปทำพรรค ภายหลังยุบพรรคอนาคตใหม่ อย่างไรก็ดีเชื่อว่า พรรคนี้จะเดินอยู่ข้าง ‘ฝ่ายสีแดง’
2.ฝ่ายสีส้ม 3 พรรค ได้แก่ พรรคก้าวไกล พรรคไทยสร้างไทย พรรคเป็นธรรม
พรรคก้าวไกล คือพรรคการเมืองคนรุ่นใหม่ที่ต่อยอดมาจากพรรคอนาคตใหม่ สร้างปรากฎการณ์ได้รับเสียงถล่มทลายในการเลือกตั้งปี 2562 จากการรวมตัวกันตอนแรกสุดจาก 3 สหาย ‘เอก (ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ), ต๋อม (ชัยธวัช ตุลาธน), ติ่ง (ศรายุธ ใจหลัก)’ หลังจากนั้นได้รวมตัวกับนักวิชาการ-คนรุ่นใหม่ เช่น ‘ปิยบุตร แสงกนกกุล, พรรณิการ์ วานิช’ ลงสมัครรับเลือกตั้ง 2562 และสร้างเซอร์ไพรส์เลือกตั้งครั้งแรกนำทัพกวาด ส.ส.เข้าสภาฯกว่า 82 คน แต่ต้อง ‘ตกม้าตาย’ ถูกยุบพรรค ในประเด็นการกู้ยืมเงิน
ต่อมาได้เซ้งพรรคอื่นก่อร่างสร้าง ‘ก้าวไกล’ อีกครั้ง โดยวางตัว ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ เป็นหัวหน้าพรรค และขยับ ‘ชัยธวัช ตุลาธน’ จาก ผอ.พรรคอนาคตใหม่ มานั่งเลขาธิการพรรค รวมถึง ‘ศรายุทธ ใจหลัก’ มานั่งเป็น ผอ.พรรคก้าวไกล และขับเคลื่อนงานการเมือง จนสร้างปรากฏการณ์ ‘แลนด์สไลด์ส้ม’ ชนะเป็นพรรคอันดับ 1 พา ส.ส.เข้าสภาฯกว่า 151 คนมากกว่าสมัยพรรคอนาคตใหม่เกือบ 2 เท่า แน่นอนว่าหมายมั่นปั้นมือชง ‘พิธา’ เป็นนายกฯคนที่ 30
@ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์’
พรรคไทยสร้างไทย ถูกสร้างขึ้นหลังเกิดเหตุการณ์ ‘คุณหญิงใหญ่’ เข้ามาสั่งการในค่ายสีแดง สุดท้าย ‘คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์’ ต้องลาออกจากหัวหน้าพรรคเพื่อไทย และหอบคนข้างกายออกไปตั้งพรรคใหม่แทน โดยดึงตัว ‘น.ต.ศิธา ทิวารี’ หรือ ‘ผู้พันปุ่น’ อดีตนักการเมืองดังยุคไทยรักไทยเบ่งบาน กลับมาช่วยงานอีกครั้ง แม้ว่ากระแสพรรคนี้จะดี แต่สวนทางกับผลการเลือกตั้งปี 2566 ที่ได้จำนวน ส.ส.เพียง 6 คน โดยเป็น ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ 1 คนเท่านั้น
ที่สำคัญบาดแผลในอดีตกับ ‘เพื่อไทย’ ย่อมไม่อาจทำให้ ‘ไทยสร้างไทย’ กลับไปเป็นปึกแผ่นกับ ‘คนแดนไกล’ ได้อีก ดังนั้นจึงเห็นความพยายามจาก ‘บิ๊กเนมไทยสร้างไทย’ ต้องการให้ ‘เพื่อไทย’ รับปากเป็นสัญญาประชาคมไว้ว่า แม้จะเกิดอุบัติเหตุทางการเมือง ก็จะล่มหัวจมท้ายกับก้าวไกลต่อ ไม่แยกตัวอีก
เพราะต่างฝ่ายต่างเป็น ‘อดีตคนรัก’ ย่อมรู้ใส้รู้พุงกันดี แน่นอนหาก ‘เพื่อไทย’ ได้ ‘ส้มหล่น’ จัดตั้งรัฐบาล พรรคแรกที่จะไม่นำมาร่วมงานด้วยคือ พรรคไทยสร้างไทย
พรรคเป็นธรรม อีกหนึ่งพรรคที่ถูกเซ้งต่อเมื่อปี 2563 โดย ‘ปิติพงศ์ เต็มเจริญ’ เป็นหัวหน้าพรรค และ ‘กัณวีร์ สืบแสง’ เป็นเลขาธิการ พ่วงเก้าอี้ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อของพรรค ตอนแรก ‘ปิติพงศ์’ ที่มีความสนิทสนมส่วนตัวกับ ‘เสธ.แมว’ พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร อดีตเลขาธิการ สมช. จะปั้นพรรคนี้ให้คล้ายคลึงกับ ‘กลุ่มแคร์’ ของเพื่อไทย แต่ไม่สำเร็จ สุดท้าย ‘เสธ.แมว’ กลับค่ายเพื่อไทย ส่วน ‘ปิติพงศ์’ ยังคงปั้นพรรคต่อ โดยโฟกัสพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ทำงานร่วมกับ NGO ทั้งในไทยและต่างชาติ สุดท้ายนำพา ส.ส.เข้าสภาฯได้สำเร็จ 1 ตำแหน่ง และคาดว่าพรรคนี้จะเกาะเกี่ยวกับ ‘ก้าวไกล’ ไม่ว่าจะเกิดอุบัติเหตุทางการเมืองอย่างไร
ทั้งหมดคือ 2 ขั้วใน 8 พรรคการเมือง ที่จะเป็นตัวแปรสำคัญในการจัดตั้งรัฐบาลว่าจะประสบความสำเร็จหรือไม่
แต่ที่แน่ ๆ ตอนนี้ต้องจับตาศึกชิงเก้าอี้ประธานสภาฯ ที่ถือเป็นบันไดขั้นแรกให้เสร็จสิ้นเสียก่อน