"...เมื่อ กกต.โยนเผือกร้อนคดีหุ้นไอทีวี ไปให้ ‘สภาสูง-สภาล่าง’ เดินเกมเอาเอง อุปสรรคของ ‘พิธา’ นับจากนี้คือ ทำอย่างไรจึงจะ ‘เจรจา’ ให้ ส.ว.มาช่วยโหวตตัวเองเป็นนายกฯมากกว่าเดิมให้ได้..."
เงื่อนปมการถือครองหุ้นบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ที่มีการกล่าวหา ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ในตอนนี้ มีข้อเท็จจริง 3 ส่วน
1.นายพิธา ถือหุ้นไอทีวีจริงหรือไม่ และถือในสถานะใด?
2.ไอทีวียังดำเนินกิจการสื่ออยู่หรือไม่?
และ3. แท้จริงแล้วกรณีนี้ มีขบวนการสร้างหลักฐานปลุกชีพ ไอทีวี ให้ทำธุรกิจสื่อหรือไม่?
ข้อเท็จจริงประการแรก เป็นอันชัดแจ้งแล้วว่า นายพิธา ถือครองหุ้นไอทีวีจริง จำนวน 42,000 หุ้น ตั้งแต่ปี 2551-2566 แต่ยังไม่สามารถตีความได้ว่า เป็นการถือหุ้นด้วยตัวเอง หรือถือหุ้นในสถานะ ‘ผู้จัดการมรดก’ ของบิดาตามที่กล่าวอ้าง
ส่วนข้อเท็จจริงประการที่สองว่า ไอทีวี ดำเนินกิจการเป็นสื่ออยู่หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับการตีความตามพยานหลักฐานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป
ขณะที่ข้อเท็จจริงประการที่สาม ก็เป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรถูกมองข้ามอย่างยิ่ง เพราะอาจมีผลสำคัญเกี่ยวเนื่องไปถึงผลของประการแรก และประการสองด้วย
อย่างไรก็ดี ในทางการเมือง คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติตีตกคำร้องของ 3 นักร้องชื่อดัง กรณีกล่าวหาว่า ‘พิธา’ ว่ามีคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามรับสมัครเลือกตั้ง ส.ส. เนื่องจากเป็นการยื่นคำร้องเกินกำหนดระยะเวลา 7 วันก่อนวันเลือกตั้ง (เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ยื่นคำร้องมาวันที่ 10 พ.ค. แต่มีการจัดเลือกตั้งในวันที่ 14 พ.ค.)
แต่ กกต.มีการตั้งคณะกรรมการสืบสวนและไต่สวนข้อเท็จจริง กรณีมีเหตุอันควรสงสัยหรือความปรากฏแก่ กกต. เนื่องจากมีรายละเอียดเกี่ยวกับข้อเท็จจริงและมีพฤติการณ์ และมีหลักฐานพอสมควรที่จะสืบสวนไต่สวนต่อไป โดยอ้างกฎหมายเข้าข่ายกระทำการฝ่าฝืนตามมาตรา 42 (3) และมาตรา 151 แห่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. 2561
สำหรับมาตรา 42 ระบุว่า บุคคลผู้มีลักษณะดังต่อไปนี้ เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. (3) เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ
ส่วนมาตรา 151 ระบุว่า ผู้ใดรู้อยู่แล้วว่าตนไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเนื่องจากขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ได้สมัครรับเลือกตั้ง หรือทำหนังสือยินยอมให้พรรคการเมืองเสนอรายชื่อเพื่อสมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี ปรับตั้งแต่ 20,000-200,000 บาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนด 20 ปี
ในกรณีที่ผู้กระทำผิดตามวรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.ให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้นั้นคืนเงินประจำตำแหน่ง และประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นที่ได้รับมาเนื่องจากการดำรงตำแหน่งดังกล่าวให้แก่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรด้วย
@ แสวง บุญมี /ภาพจาก https://www.ect.go.th/
แสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. ให้สัมภาษณ์ประเด็นนี้เมื่อวันที่ 9 มิ.ย.ที่ผ่านมา ตอนหนึ่งว่า เรื่องนี้มีปัญหาทางเทคนิคคือ นักร้องมาร้องคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามสมัคร ส.ส.ของพิธาก่อนวันเลือกตั้งไม่ถึง 7 วันก่อนมีการเลือกตั้ง ดังนั้นในช่วงเวลานี้สำนักงาน กกต.จะพิจารณาไต่สวนได้แค่กรณีกระทำผิดตามมาตรา 151 เพียงอย่างเดียว เนื่องจากคำร้องเรื่องคุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม จะต้องให้ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง วินิจฉัยก่อนมีการเลือกตั้ง
อย่างไรก็ตาม หากมีการรับรองสถานะ ส.ส.ของพิธา ไปแล้ว การจะร้องเรียนให้พ้นจาก ส.ส. ต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 คือ สมาชิกรัฐสภาหนึ่งใน 10 เข้าชื่อยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ รวมถึง กกต.ก็สามารถยื่นได้ แต่ต้องมีพยานหลักฐานและข้อเท็จจริง
“คดีคุณสมบัติยังพิจารณาไม่ได้ เพราะยังไม่เป็น ส.ส. ตอนนี้พิจารณาได้เฉพาะคดีอาญา ตามมาตรา 151” คือคำยืนยันของเลขาธิการ กกต.
นั่นหมายความว่า พิธา มีสิทธิได้แต่งตัวเข้าไปนั่งเก้าอี้เป็น ส.ส.ในสภาฯก่อนค่อนข้างแน่ชัดแล้ว แต่หลังจากนั้นจะถูก ส.ส. หรือ ส.ว. เข้าชื่อเพื่อยื่นต่อประธานสภาฯ ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยกรณีถือครองหุ้นไอทีวีหรือไม่ ต้องรอลุ้นกันต่อไป
แต่ประเด็นที่น่าสนใจคือ การใช้ช่องโหว่ทางเทคนิคของ กกต. คือ ไม่สามารถรับคำร้องพิจารณาเรื่องคุณสมบัติได้ โดยต้องรอให้มีการรับรอง ส.ส.ก่อน จะทำให้ไม่ต้องเข้าไปยุ่มย่ามหรือพัวพัน ‘เผือกร้อน’ ทางการเมืองเรื่องนี้ ที่กำลังสร้างประเด็นดราม่าพิพาททุกฝ่ายที่เข้าไปเกี่ยวข้อง ลดอุณหภูมิทางการเมืองลงได้ชั่วขณะ
กลหมากต่อไปที่มีการวางเอาไว้คือ เมื่อมีการรับรอง พิธา เป็น ส.ส.แล้ว จะมี ส.ว.บางส่วนรวมกลุ่มกันเพื่อเข้าชื่อยื่นต่อประธานวุฒิสภา ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย กรณีถือครองหุ้นไอทีวีในทันที หากเป็นเช่นนี้จะทำให้ กกต.เบางานลงไปในประเด็นไต่สวนคุณสมบัติ เพราะเรื่องถึงศาลรัฐธรรมนูญแล้ว
เหลือแค่ประเด็นไต่สวนตามมาตรา 151 เป็นคดีอาญา ใช้เวลารวบรวมพยานหลักฐานค่อนข้างนาน และอาจจำเป็นต้องรอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยกรณีคุณสมบัติของพิธาให้เสร็จสิ้นเสียก่อน
ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ เทียบเคียงกรณีการถือครองหุ้นบริษัท วีลัค มีเดีย จำกัด ของ ‘ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ’ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ (ปัจจุบันเป็นประธานคณะก้าวหน้า) ที่สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) เปิดเผยเป็นสื่อแรก เมื่อวันที่ 22 มี.ค. 2562 ต่อมา กกต.เริ่มแสวงหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน เมื่อ 29 มี.ค. 2562 หลังจากนั้น กกต.มีมติแจ้งข้อกล่าวหาแก่ธนาธร เมื่อ 29 เม.ย. 2562 กระทั่ง กกต.มีมติยื่นคำร้องถึงศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อ 16 พ.ค. 2562
ต่อมาศาลรัฐธรรมนูญ มีมติรับคำร้องของ กกต. และสั่งให้ธนาธรหยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. เมื่อ 23 พ.ค. 2562 หลังจากนั้น 20 พ.ย. 2562 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ ธนาธรพ้นสมาชิกภาพ ส.ส. ต่อมาเมื่อ 10 มี.ค. 2563 กกต.มีมติให้ดำเนินคดีอาญากับธนาธร ตามมาตรา 151 ถัดมาวันที่ 11 มี.ค. 2563 กกต.แจ้งความกับพนักงานสอบสวน สน.ทุ่งสองห้อง โดยอ้างอิงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ หลังจากนั้น 25 พ.ย. 2563 ธนาธร เข้าให้ถ้อยคำและรับทราบข้อหาคดีมาตรา 151
ต่อมาเมื่อ 11 เม.ย. 2565 พนักงานสอบสวนสรุปสำนวนพร้อมความเห็นควรสั่งฟ้องธนาธรคดีดังกล่าว และส่งเรื่องไปยังอัยการสูงสุด (อสส.) กระทั่ง 30 พ.ย. 2565 อสส.มีคำสั่งไม่ฟ้องธนาธรคดีหุ้นสื่อดังกล่าว
รวมแล้วกินระยะเวลาเกือบ 3 ปี
จึงไม่แปลกที่ ‘ชัยธวัช ตุลาธน’ เลขาธิการพรรคก้าวไกล แถลงที่พรรคก้าวไกลถึงกรณีการถือหุ้นไอทีวีของ ‘พิธา’ เมื่อ 12 มิ.ย.ที่ผ่านมา ตอนหนึ่งเชื่อว่า คดีตามมาตรา 151 ของพิธา จะจบลงแบบเดียวกับธนาธร
แต่ต้องไม่ลืมว่าในทางการเมือง ‘พิธา’ เปรียบเสมือนคนมี ‘ชนักปักหลัง’ ไว้แน่นหนาในคดีหุ้นไอทีวี และหากเรื่องยังไม่ถึงศาล ยังไม่มีคำวินิจฉัยอันถึงที่สุดออกมา ก็ยากที่จะฝ่าด่าน ส.ว.เข้าไปนั่งเก้าอี้นายกฯได้
ปัจจุบัน 250 ส.ว.ถูกแบ่งออกเป็น 5 กลุ่มคร่าว ๆ ดังนี้
1.กลุ่มที่หนุน ‘2 ลุง’ คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่ตอนแรกก่อนการเลือกตั้งกลุ่มนี้กินแหนงแคลงใจกัน แต่ภายหลังพ่ายแพ้การเลือกตั้งแบบขาดลอย ทำให้ต้องกลับมาแพ็คกันแน่นอีกครั้ง มีกำลังรวมกันราว 100 ชีวิต ส่วนใหญ่เป็นอดีตนายพลในกองทัพและตำรวจ อดีตข้าราชการ นักธุรกิจ และกลุ่ม 40 ส.ว.เดิม ค่อนข้างชัดเจนว่า กลุ่มนี้ไม่โหวต ‘พิธา’ เป็นนายกรัฐมนตรีอย่างแน่นอน
2.กลุ่ม ส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้ง มีอย่างน้อย 30-40 คน จากทั้งหมด 50 คน ที่อยู่ใต้ปีกของ ‘นักการเมือง’ และพร้อมจะเคลื่อนไหวตามที่ ‘นักเลือกตั้ง’ สั่งการ
3.กลุ่ม ส.ว.ที่เป็นโดยตำแหน่ง คือ 4 ผบ.เหล่าทัพ ทั้ง ผบ.ทบ. ผบ.ทร. ผบ.ทอ. และ ผบ.ตร. รวมถึงปลัดกระทรวงกลาโหม และผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.สส.) นอกจากนี้ยังมีกลุ่มอดีตข้าราชการประจำอีกราว 50-60 คน ที่พร้อมจะ ‘งดออกเสียง’ เพื่อลดแรงเสียดทานทางการเมือง และตำแหน่งแห่งที่ของตัวเองหรือครอบครัวในอนาคต
4.กลุ่มหนุน ‘พิธา’ ส่วนใหญ่เป็น ส.ว.สายวิชาการ NGO และศิลปิน โดยมีจำนวนน้อย ไม่ถึง 20 เสียง
5.กลุ่มอื่น ๆ ที่ยังไม่มีท่าทีว่าจะโหวตเลือกใคร หรือจะงดออกเสียงหรือไม่ ส่วนใหญ่เป็นสายนักธุรกิจ และมาจากการเลือกตั้งบางส่วน มีอีกราว 30-50 คน
จากตอนแรกเสียง ส.ว.ที่หนุน ‘พิธา’ เป็นนายกฯ น้อยเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ทว่าเมื่อเจอมรสม ‘พิษหุ้นไอทีวี’ เข้าไปอีก อาจทำให้บรรดา ส.ว.กลุ่มอื่น ๆ ที่ลังเลไม่รู้จะโหวตเลือกใคร อาจเทคะแนนเสียงสวิงไปด้าน ‘งดออกเสียง’ หรือ ‘ไม่เห็นชอบ’ พิธา เป็นนายกฯก็เป็นไปได้
@ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์
ดังนั้น เมื่อ กกต.โยนเผือกร้อนคดีหุ้นไอทีวี ไปให้ ‘สภาสูง-สภาล่าง’ เดินเกมเอาเอง อุปสรรคของ ‘พิธา’ นับจากนี้คือ ทำอย่างไรจึงจะ ‘เจรจา’ ให้ ส.ว.มาช่วยโหวตตัวเองเป็นนายกฯมากกว่าเดิมให้ได้
เพราะการรวมเสียงของ 8 พรรคการเมืองลงนาม MOU ร่วมจัดตั้งรัฐบาล ได้แก่ พรรคก้าวไกล พรรคเพื่อไทย พรรคประชาชาติ พรรคเสรีรวมไทย พรรคไทยสร้างไทย พรรคเป็นธรรม พรรคเพื่อไทรวมพลัง และพรรคพลังสังคมใหม่ ได้ 312 ส.ส. จำเป็นต้องหาเสียงมาเติมอีก 64 เสียง ถึงจะเกินกึ่งหนึ่งของที่ประชุมร่วมรัฐสภา ในการขึ้นสู่ตำแหน่งนายกฯ
เบื้องต้น ‘คณะเจรจา’ ของ ส.ว.นำโดย ‘ชัยธวัช’ เลขาธิการ และมันสมองของพรรค ดีลไว้นั้น มีไม่เกิน 20 เสียงตามที่รายงานข้างต้น ยังขาดอีก 44 เสียงมาช่วยโหวตให้ผ่านแบบฉิวเฉียด
ส.ว.จึงกลายเป็นผนังทองแดงกำแพงเหล็กของฝ่าย ‘อนุรักษ์นิยม’ ขวางกระแส ‘เสรีนิยม’ ที่เชี่ยวกราก เป็นอุปสรรคไม่ให้ ‘พิธา’ นั่งเก้าอี้นายกฯได้สำเร็จ และประเด็นหุ้นไอทีวี คือตัวกระตุ้นให้กำแพงเหล็กนี้แข็งแรงขึ้นไปอีก
แต่เหมือนภาษิตโบราณที่ว่า การเมืองไม่มีมิตรแท้ และศัตรูถาวร ‘ก้าวไกล’ และพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล ยังเหลือเวลาอีกราว 2 เดือนกว่าจะถึงขั้นตอนโหวตนายกฯ
มีเวลาให้เดินหมากแก้เกมกันอีกหลายยก!