สำนักข่าว KIRO 7 ได้มีการเปิดโปงข้อมูลว่าเงินจำนวนกว่า 50,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ที่ผู้การคุกได้โอนไปในแต่ละครั้งพบว่าโดยมากแล้วไปที่ธนาคารหลายแห่งในกรุงเทพ ซึ่งปลายทางของเงินนั้นพบว่ามีที่อยู่ที่ค่อนข้างคลุมเครือ อาทิ อยู่ในตรอกซอกซอย และในสปาโรงแรม
สำนักข่าวอิศรา (www.israews.org) รายงานข่าวความคืบหน้ากรณีที่ปรากฏเป็นข่าวเมื่อปลายเดือน เม.ย.ว่าอดีตผู้บัญชาการเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ของสหรัฐอเมริกา ถูกอีเมลหลอกลวงเงินหรือที่เรียกกันว่าอีเมลฟิชชิงคิดเป็นมูลค่านับร้อยล้านบาท ซึ่งเงินจำนวนดังกล่าวพบว่าถูกโอนมายังธนาคารกรุงเทพ ประเทศไทย
ล่าสุดความเคลื่อนไหวในกรณีดังกล่าว สำนักข่าวในสหรัฐอเมริกาหลายสำนักได้รายงานข่าวว่าหลานสาวของผู้บัญชาการเรือดำน้ำรายนี้ ซึ่งเสียชีวิตด้วยอาการป่วยเมื่อปี 2564 ได้ดำเนินการฟ้องศาลเพื่อเอาผิดต่อธนาคารในสหรัฐฯที่ดำเนินการโอนเงินโดยไม่แจ้งเตือนลุงของเธอ
สำนักข่าวอิศราจึงนำเอารายละเอียดของข่าวมานำเสนอดังนี้
@กรณีของอีเมลฟิชชิ่ง ตามด้วยข้ออ้างว่าให้ชำระเงินกู้
ตามบันทึกเอกสารศาล ระบุชัดเจนว่าการส่งอีเมลฟิชชิงนั้นเป็นจุดเริ่มต้นของการฉ้อโกง ซึ่งจุดเริ่มต้นมาจากเมื่อวันที่ 5 ต.ค. 2563 มีการส่งอีเมลอ้างว่ามาจากบริษัทอเมซอน ระบุถ้อยคำตอนหนึ่งว่าแจ้งว่าผู้บัญชาการ แลร์รี่ ดับบลิว คุก อดีตผู้บังคับการเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ของสหรัฐอเมริกาได้มีการซื้อไอแพดเมื่อไม่นานมานี้ พร้อมกับได้ทิ้งคำแนะนำสำหรับผู้ที่ต้องการจะโทรกลับมาสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับการสั่งซื้อครั้งล่าสุดเอาไว้ด้วย
“เขากำลังตกเป็นเหยื่อของการหลอกลวงที่ซับซ้อน และการฉ้อโกง ซึ่งในเวลาต่อมาทางสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนกองทัพเรือสหรัฐฯหรือ NFCU ได้เตือนลูกค้าของสหกรณ์เมื่อวันที่ 3 ธ.ค. 2563 ระบุว่าให้ระวังสายโทรศัพท์ปลอมที่อ้างว่ามาจากบริษัทแอปเปิลและบริษัทอเมซอน” เอกสารศาลระบุ
ผู้บังคับการแลร์รี่ ดับบลิว คุก อดีตผู้บังคับการเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ที่ถูกหลอกโอนเงิน
เอกสารศาลระบุต่อไปด้วยว่าหลังจากที่ผู้บัญชาการคุกได้รับอีเมลหลอกลวงแล้ว เขาได้ดำเนินการโอนเงินครั้งแรกจากบัญชีสหกรณ์ของเขา ไปยังบุคคลรายหนึ่งที่ใช้บัญชีธนาคารสแตนดาร์ดชาเตอร์ในประเทศสิงคโปร์ โดยการโอนเงินดังกล่าวกระทำโดยบุคคลที่สาขาของสหกรณ์ฯ ณ เมืองเวียนนา รัฐเวอร์จิเนีย
ในช่วงระหว่างวันที่ 6 ต.ค.2563- 20 เม.ย. 2564 หรือก็คือหนึ่งวันก่อนที่ผู้การคุกจะเสียชีวิต พบข้อมูลว่าเขาได้โอนเงินไปตางประเทศทั้งสิ้นกว่า75 ครั้ง ตามข้อมูลคำร้องในเอกสารศาล
โดยการโอนเงินในแต่ละครั้งพบว่าผู้การคุกได้โอนเงินเป็นมูลค่าไม่เกิน 50,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ (1,730,800 บาท) ซึ่งมีการระบุจุดประสงค์ของการโอนเงินว่าเพื่อชำระคืนเงินกู้
การโอนเงินจำนวนมากนี้พบว่าโอนผ่านสหกรณ์ฯ และมีการโอนเงินเพียงครั้งเดียวที่ประสบความสำเร็จ โดยผ่านธนาคารเวลส์ฟาร์โกโดยตรง
ที่ทำการเวลส์ฟาร์โก ที่นครซานฟรานซิสโก
ในเอกสารคำร้องระบุว่าในช่วงกลางเดือน ธ.ค. 2563 มีตัวแทนสหกรณ์ฯคนหนึ่งได้รายงานกรณีของผู้การคุกไปยัง หน่วยงานคุ้มครองผู้สูงอายุ หรือ Adult Protective Services (APS) ประจำเขตท้องที่แฟร์เท็กซ์ ในหัวเรื่องรายงานว่าพฤติกรรมการโอนเงินเข้าและออกของผู้การคุกนั้นอาจจะเข้าข่ายว่ามีการแสวงหาผลประโยชน์ทางการเงินกับผู้สูงอายุ
ส่วนในกระบวนการต่อสู้ทางชั้นศาล ทางสหกรณ์ฯได้ยายามจะยื่นอุทธรณ์ขอให้ยกคำร้องการพิจารณาคดี โดยอ้างว่าความสัมพันธ์ระหว่างผู้การคุกและสหกรณ์ฯ นั้นเป็นในรูปแบบของหนึ่งในลูกค้าและธนาคารผู้รับฝากเงิน ซึ่งจะมีสัญญาควบคุมอย่างเคร่งครัด ดังนั้นสหกรณ์ฯ จึงไม่สามารถตรวจสอบบัญชีของผู้การคุก ดูแลวิธีการใช้จ่ายเงิน รวมไปถึงปกป้องผู้การคุกจากการกระทำที่ผิดกฎหมายของบุคคลที่สามได้
“สหกรณ์ฯดำเนินธุรกิจการให้บริการธนาคารไม่ใช่ผู้ปกครองที่มีหน้าที่ดูแลวิธีที่ลูกค้าฝากเงิน ดังนั้นสหกรณ์ฯ จึงดำเนินการเกี่ยวกับการโอนเงินตามคำแนะนำของผู้การคุกโดยตรง” เอกสารระบุ
ในเอกสารการยื่นคำร้องของสหกรณ์ฯ ยังได้ตั้งข้อสังเกตว่าในช่วงที่สหกรณ์ฯได้พยายามยืนยันให้มีการรายงาน APS เพื่อให้ดำเนินการสืบสวนเพิ่มเติม ตามกฎเกณฑ์ของรัฐบาลกลางและในระดับรัฐ เพื่อป้องกันไมให้สหกรณ์ฯ ต้องมีภาระจากความรับผิดสําหรับการรายงานนี้ และการสอบสวนก็ยุติลงหลังจากที่ผู้การคุก ปฏิเสธที่จะให้ความร่วมมือกับ APS
โดยหนึ่งในผู้เกี่ยวข้องระบุว่าผู้การคุกตะโกนใส่พนักงาน APS โดยบอกพวกเขาว่าเขาต้องการใช้จ่ายเงินในแบบที่ต้องการ ดังนั้นทางสหกรณ์ฯจึงไม่ต้องรับผิดชอบใดๆต่อการกระทำตามที่ระบุในคำร้องของฝ่ายโจทก์
ส่วนธนาคารเวล์ฟาร์โกเองก็ออกมายื่นอุทธรณ์ด้วยข้อโต้แย้งที่มีลักษณะที่คล้ายกันว่าขอให้ยกคำร้องของฝ่ายโจทก์ โดยอ้างว่าธนาคารได้ดำเนินการตามคำร้องของผู้การคุก ดังนั้นจึงเป็นสิทธิของเขาที่จะโอนเงิน โดยไม่มีความรับผิดชอบใดๆตกมาถึงตัวธนาคาร
@คำให้การของหลานสาว
กลับมาที่ฝ่ายของโจทก์ ซึ่งก็คือนางเจนีน แซทเทอร์ฟิล ผู้เป็นหลานสาวของผู้การคุกที่ได้ทำหน้าที่เป็นผู้จัดการทรัพย์สิน Cook’s estate ตามเจตนาของผู้การคุกและเธอยังได้เป็นผู้ฟ้องร้องต่อธนาคารเวลส์ฟาร์โก และสหกรณ์กองทัพเรือ และเธออ้างต่อไปว่าธนาคารได้ดำเนินการน้อยมากในการจะช่วยเหลือลุงของเธอซึ่งป่วยจากโรคหลอดเลือดสมอง นี่ส่งผลทำให้ลุงของเธอโดนหลอกให้โอนเงินไปกว่า 3.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (124,484,400 บาท)
นางเจนีนกล่าวต่อไปด้วยว่าทางบริษัทอเมซอนได้มีการส่งอีเมลมาหาผู้การคุก ระบุถึงเครื่องเล่นเพลย์สเตชั่นและไอแพดซึ่งผู้การคุกไม่ได้สั่งแต่อย่างใด ผู้การคุกระบุว่านี้เป็นการฉ้อโกงและส่งเรื่องไปยังอเมซอนให้ยกเลิกคำสั่งซื้อของเขา
และในวันถัดมาผู้การคุกก็ได้ส่งอีเมลไปเพื่อให้ยุติคำสั่งซื้อเครื่องเกมเช่นกัน ซึ่งนางเจนีนกล่าวว่าเธอเชื่อว่ากลุ่มมิจฉาชีพได้หลอกลุงของเธอเพื่อให้หาเงินให้พวกเขา
อีเมลที่แอบอ้างว่ามาจากอเมซอนระบุว่ามีการสั่งไอแพดและเครื่องเพลย์สเตชั่น
“นั่นเป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการที่มีความชาญฉลาดมากในการแสวงหาผลประโยชน์จากผู้สูงอายุที่อ่อนแอ” นางเจนีนระบุ
ขณะที่สำนักข่าว KIRO 7 ได้มีการเปิดโปงข้อมูลว่าเงินจำนวนกว่า 50,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ที่ผู้การคุกได้โอนไปในแต่ละครั้งพบว่าโดยมากแล้วไปที่ธนาคารหลายแห่งในกรุงเทพ ซึ่งปลายทางของเงินนั้นพบว่ามีที่อยู่ที่ค่อนข้างคลุมเครือ อาทิ อยู่ในตรอกซอกซอย และในสปาโรงแรม
นางเจนีนกล่าวว่าเธอแทบจะไม่เชื่อเลยว่าธนาคารไม่สนใจในเรื่องนี้
“เขาไม่เคยโอนเงินมาก่อนเลย แล้วอยู่ดีๆก็มีการโอนเงินไปต่างประเทศเป็นจำนวนกว่า 75 ครั้ง” นางเจนีนกล่าวและย้ำว่าการที่มีการโอนเงินครั้งสุดท้ายเกิดขึ้นในช่วงเวลาแค่หนึ่งวันก่อนที่ผู้การคุกจะเสียชีวิตนั้นถือว่าเป็นธงแดงอย่างชัดเจน
ขณะที่นางคิมเบอร์ลี่ เมอร์ฟี่ ทนายความของ Cook’s estate ระบุว่าธนาคารนั้นมีหน้าที่ในการยุติการทำธุรกรรม และควรที่จะจ่ายเงินคืนมา
เรียบเรียงจาก:https://news.yahoo.com/just-let-happen-puyallup-woman-004449739.html,https://www.yahoo.com/lifestyle/retired-veteran-lost-millions-fraudsters-120000231.html