ครอบครัวอดีตผู้การ ทร.-ผบ.เรือดำน้ำนิวเคลียร์สหรัฐฯ โร่ฟ้องศาลรัฐเวอร์จิเนียเอาผิดธนาคาร-สหกรณ์กองทัพเรือ ฐานละเลยหลังพบมิจฉาชีพอ้างตัวมาจากอเมซอน หลอกอดีตทหารเรือโอนเงินกว่า 123 ล้านมายังประเทศไทย ก่อนจะเสียชีวิตด้วยโรคหลอดเลือดสมอง พบมีธุรกรรมโอนเงินมาธนาคารกรุงเทพด้วย
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานข่าวเกี่ยวกับการฉ้อโกงที่โยงมาถึงประเทศไทยว่ามีรายงานข่าวจากสำนักข่าวเอ็นบีซีวอชิงตัน ว่าครอบครัวของอดีตทหารเรือสหรัฐอเมริกานายหนึ่งที่เสียชีวิตไปแล้ว ซึ่งปรากฏว่าสูญเงินไปมากกว่า 3.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (123,552,000 บาท) จากการฉ้อโกงได้ดำเนินการฟ้องร้องต่อธนาคารและเครดิตยูเนี่ยนแห่งหนึ่งในรัฐเวอร์จิเนีย
สำหรับสำนวนการฟ้องร้องเมื่อต้นปีที่ผ่านมาที่ฟ้องต่อศาลแขวงของสหรัฐอเมริกาสําหรับเขตตะวันออกของเวอร์จิเนีย พบว่ามีผู้ฟ้องร้องในนามของอสังหาริมทรัพย์ของนายแลร์รี่ คุก ได้แก่นางเจนีน แซทเทอร์ฟิลด์ ดำเนินการฟ้องร้องต่อธนาคารเวลส์ฟาร์โก และต่อสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนของกองทัพเรือสหรัฐฯ ในข้อหาว่าพวกเขานั้นมีความประมาทเลินเล่อและข้อหาอื่นๆ
ตามข้อมูลในสำนวนระบุว่านายคุกได้ดำเนินการโอนเงินระหว่างประเทศไปเป็นจำนวน 74 ครั้งผ่านสหกรณ์ฯกองทัพเรือในช่วงเวลาประมาณหกเดือนนับตั้งแต่ปลายปี 2565 และนอกจากนี้ยังพบว่านายคุกได้ดำเนินการโอนเงินเป็นจำนวนอย่างน้อยหนึ่งครั้งจากธนาคารเวลส์ฟาร์โกไปยังธนาคารกรุงเทพ ส่วนความพยายามที่จะโอนเงินไปต่างประเทศในครั้งที่สองผ่านธนาคารนั้นถูกปฎิเสธ
นางแซทเทอร์ฟิลด์ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวว่าตัวเธอนั้นทำหน้าที่เป็นเสมือนกับผู้ดูแลมรดกให้กับลุงของเธอซึ่งก็คือนายคุกที่เคยมีตำแหน่งเป็นถึงผู้การในทหารเรือสหรัฐฯ และยังเคยเป็นผู้บังคับการเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ ซึ่งที่ผ่านมานั้นนายคุกมักจะเป็นคนที่พิธีพิถันมากในเรื่องของบันทึกทางการเงินต่างๆ
นางแซทเทอร์ฟิลด์กล่าวต่อไปว่าอย่างไรก็ตามทุกอย่างก็เริ่มเปลี่ยนไปในช่วงปี 2562 เมื่อนายคุกต้องเผชิญกับโรคหลอดเลือดในสมอง ส่งผลทำให้นายคุกกลายเป็นผู้มีความบกพร่องทางสติปัญญา
สองปีถัดมานายคุกก็เสียชีวิตด้วยวัย 76 ปี หลังจากนั้นนางแซทเทอร์ฟิลด์จึงได้มีโอกาสเข้ามาตรวจสอบเอกสารบันทึกทางการเงินต่างๆ และก็พบว่ามีการโอนเงินเป็นจำนวนมากจนน่าเหลือเชื่อ ซึ่งส่วนมากโอนมายังประเทศไทย
นางแซทเทอร์ฟิลด์กล่าวต่อไปว่าเธอเชื่อว่าลุงของเธอนั้นถูกหลอกผ่านขบวนการฉ้อโกงที่มีความซับซ้อน โดยการหลอกลวงน่าจะเริ่มต้นมาจากกลุ่มมิจฉาชีพส่งอีเมลฟิชชิง (อีเมลที่พยายามจะล้วงความลับของเป้าหมาย) แสร้งว่ามาจากอเมซอน โดยระบุในอีเมลถึงคำเตือนว่านายคุกได้ดำเนินการซื้ออะไรบางอย่าง ซึ่งเขาไม่เคยซื้อสิ่งนั้นเลย
ในสำนวนระบุต่อไปว่าไม่นานหลังจากที่นายคุกได้รับอีเมล นายคุกก็ได้เริ่มโอนเงินไปต่างประเทศเป็นจำนวนหลายครั้ง โดยแต่ละครั้งนั้นมีมูลค่าอยู่ที่ 50,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ (1,715,500 บาท) โดยหัวข้อของการโอนเงินดังกล่าวนั้นถูกระบุว่าเป็นการชำระเงินกู้
ส่วนนางแซทเทอร์ฟิลด์กล่าวว่าแม้ว่าเธอจะไม่มีทางรู้ได้เลยว่าใครอยู่เบื้องหลังแผนการนี้ แต่เธอเชื่อว่าธนาคารที่ลุงของเธอใช้บริการอยู่นั้นควรต้องทำอะไรมากกว่านี้เพื่อกันไม่ให้เขาโอนเงินนับล้านไปต่างประเทศ
อย่างไรก็ตามทางฝั่งของเวลส์ฟาร์โกและกองทัพเรือปฏิเสธที่จะแสดงความเห็นเกี่ยวกับคดีนี้ เพราะว่ายังอยู่ในระหว่างการดำเนินคดี แต่ว่าทั้งสองรายก็ได้มีการยื่นคำร้องเพื่อขอให้ยกเลิกการดำเนินคดีแล้ว
โดยธนาคารเวลส์ฟาร์โกได้มีการออกแถลงการณ์ระบุว่าธนาคารนั้นให้ความสำคัญกับการป้องกันเรื่องของการแสวงหาผลประโยชน์ทางการเงินอย่างจริงจังและมีความมุ่งมันจะช่วยเหลือลูกค้าให้หลีกเลี่ยงจากการฉ้อโกงและการหลอกลวงที่มาจากหลายแหล่ง รวมถึงพยายามจะศึกษาเรื่องเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง
ขณะที่โฆษกของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนกองทัพเรือกล่าวยืนยันว่าสมาชิกสหกรณ์ฯนั้นคือเป็นความสำคัญของเราในลำดับสูงสุดและเราดำเนินการจัดการกับทุกการโอนเงินของสมาชิกอย่างระมัดระวังที่สุด
เรียบเรียงจาก: