"....สตง. พิจารณาแล้วเห็นว่า การที่ไม่กำหนดหลักเกณฑ์การกำหนด ราคากลางในการประมูลให้ชัดเจนและสอดคล้องกับปริมาณรังนกที่แท้จริงและราคาในท้องตลาด ทำให้เกิดความล่าช้าในการประมูล ไม่สามารถจัดเก็บรายได้เงินอากรรังนกอีแอ่นได้ การที่ไม่มีข้อมูลปริมาณ รังนกตามธรรมชาติและข้อมูลราคาตลาด ทำให้คณะกรรมการฯ พิจารณาจัดเก็บอากรรังนกอีแอ่นจังหวัดฯ ขาดข้อมูลเพื่อใช้กำหนดราคากลางในการประมูล หรือการปรับลดราคากลาง หรือการชดเชย เยียวยา ผู้รับสัมปทานประกอบการใช้ดุลยพินิจ ส่วนกรณีผู้รับสัมปทานไม่ปฏิบัติให้เป็นไปตามข้อกำหนดในสัญญา ถือเป็นความรับผิดของผู้รับสัมปทานที่ไม่ปฏิบัติให้เป็นไปตามระเบียบ..."
กรณี สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้สรุปผลการตรวจสอบปัญหาการจัดเก็บรายได้จากสัญญาสัมปทานรังนกอีแอ่น ในเขตพื้นที่สัมปทานภาคใต้ ซึ่งอยู่ในเกาะทั้งนอกเขตและในเขตอุทยานแห่งชาติ จำนวน 62 เกาะ นั้น
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานไปแล้วว่า ข้อตรวจสอบพบสำคัญ ที่ สตง.ระบุว่าเป็นปัญหา คือ การประมูลให้สัมปทานมีความล่าช้า ขาดหลักเกณฑ์วิธีการ การจัดเก็บอากรที่ชัดเจน นอกจากนี้ยังมีการขยายระยะเวลาสัมปทานไม่เป็นไปตามสัญญาที่กำหนด ทำให้ราชการเสียหาย เป็นวงเงินกว่า 67.50 ล้านบาท
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ได้รับการเปิดผยข้อมูลในรายงานผลการตรวจสอบฉบับเต็มของ สตง. เรื่องนี้เพิ่มเติม เป็นทางการ
มีรายละเอียดสำคัญดังต่อไปนี้
สตง.ระบุว่า จังหวัดแห่งหนึ่งในพื้นที่ภาคใต้ มีเขตพื้นที่สัมปทานรังนกอีแอ่นอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติ จำนวน 44 เกาะ อยู่นอกเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติ จำนวน 18 เกาะ รวมจำนวน 62 เกาะ
จากการตรวจสอบสัญญาสัมปทานรังนกอีแอ่น ฉบับลงวันที่ 15 ตุลาคม 2558 กับ บริษัทเอกชนผู้รับสัมปทานรอบระยะเวลาสัมปทาน 5 ปี ตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2558 ถึงวันที่ 14 ตุลาคม 2563 จำนวนเงินอากร 135.00 ล้านบาท และบันทึกตกลงเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) แนบท้ายสัญญาสัมปทานเก็บรังนกอีแอ่น เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2560
พบข้อบกพร่องที่สำคัญ ดังนี้
1. การประมูลให้สัมปทานรังนกอีแอ่นล่าช้า ขาดหลักเกณฑ์วิธีการ การจัดเก็บอากรรังนกอีแอ่นที่ชัดเจน ตามพระราชบัญญัติอากรรังนกอีแอ่น พ.ศ. 2540 มาตรา 7 ให้คณะกรรมการพิจารณาจัดเก็บอากรรังนกอีแอ่นจังหวัด มีอำนาจกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการจัดเก็บอากรรังนกอีแอ่น ตามรายงานการประชุมคณะทำงานกำหนดราคากลางประมูลเงินอากรเก็บรังนกอีแอ่นวันที่ 21 มิถุนายน 2556 พบว่า การประมูลให้สัมปทานรังนกอีแอ่นไม่มีระเบียบที่ชัดเจนให้ดำเนินการ
ที่ประชุมจึงได้ให้เทียบเคียงและถือปฏิบัติตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุพ.ศ. 2535 และแก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งการกำหนดราคากลางไม่มีข้อมูลปริมาณรังนก และราคาขายตามท้องตลาด ทำให้ไม่สามารถกำหนดราคากลางด้วยวิธีการดังกล่าวได้จึงใช้ราคาที่ประมูลได้ในงวดก่อนจำนวน 280.50 ล้านบาท มากำหนดเป็นราคากลาง
ยื่นซองประมูลครั้งแรก เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2556 แต่ไม่มีผู้ยื่นซองประมูลองค์การบริหารส่วนจังหวัดฯ ได้ดำเนินการประมูลเงินอากรรังนกอีแอ่น จำนวน 7 ครั้ง ปรับลดราคาจากราคา 280.50 ล้านบาท คงเหลือ 132.00 ล้านบาท ได้เปิดประมูลเงินอากรรังนกอีแอ่นราคาประมูล จำนวน 132.00 ล้านบาท มีผู้ประมูลรายเดียว ได้เสนอราคาสูงสุดที่ 135.00 ล้านบาท และได้ลงนามในสัญญาสัมปทานเก็บรังนกอีแอ่น เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2558 ระยะเวลาสัมปทาน 5 ปี ตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2558 ถึงวันที่ 14 ตุลาคม 2563
ทำให้เกิดความล่าช้าในการประมูลกว่า 2 ปี 11 เดือน (1 ธันวาคม 2555 - 14 ตุลาคม 2558)
สาเหตุที่ไม่มีการศึกษาข้อมูลปริมาณรังนกและราคาตลาด ตลอดจนหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการฯ ใช้ในการปรับลดราคากลาง คณะกรรมการฯ ชี้แจงว่าเกิดจากการดำเนินการสำรวจปริมาณรังนกของแต่ละเกาะในพื้นที่ที่สัมปทานมีสภาพเป็นโพรงถ้ำซอกหินซับซ้อนทำให้ยากแก่การสำรวจ จึงมีความจำเป็นต้องนำสถิติการจัดเก็บข้อมูลรังนกในเขต
พื้นที่สัมปทานจากผู้รับสัมปทานที่จัดเก็บรังนกในเขตสัมปทานได้ครบในแต่ละงวด ในแต่ละเกาะแยกคุณภาพชั้นของรังนกอีแอ่นแต่ละชนิดว่าได้จำนวนเท่าใดที่นำมาเป็นฐานข้อมูลการจัดเก็บรังนกอีแอ่น
2. คณะกรรมการพิจารณาจัดเก็บอากรรังนกอีแอ่นจังหวัดฯ ขยายระยะเวลาสัมปทานไม่เป็นไปตามที่สัญญาสัมปทานเก็บรังนกอีแอ่นกำหนด บริษัทเอกชนผู้รับสัมปทานได้ส่งหนังสือเพื่อให้คณะกรรมการฯ พิจารณาเยียวยาความเสียหาย เนื่องจากไม่สามารถเข้าพื้นที่เขตอุทยานได้โดยตามสัญญาสัมปทาน ข้อ 8.3 ได้กำหนดให้ผู้รับสัมปทานต้องปฏิบัติตามระเบียบที่กำหนดให้ผู้รับสัมปทานต้องดำเนินการยื่นขอใบอนุญาต โดยชำระค่าธรรมเนียม จำนวน 0.50 ล้านบาท และลงชื่อในเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาต แต่ผู้รับสัมปทานไม่ยินยอมลงชื่อและโต้แย้งว่าเงื่อนไขขัดกับสัญญาสัมปทาน ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ ได้เชิญหัวหน้าอุทยานและผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาเพื่อรับฟังปัญหาและแก้ไขเรื่องดังกล่าว แต่ก็มิอาจแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ ต่อมาคณะกรรมการฯ จึงได้ส่งหนังสือลงวันที่ 2 กรกฎาคม 2560 เรื่อง การแก้ไขปัญหาการเก็บอากรรังนกอีแอ่นตามสัญญาสัมปทานในเขตอุทยานแห่งชาติไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยให้ชี้แจงให้ทราบภายใน 30 วัน ในระหว่างที่ยังมิได้รับคำชี้แจงนั้น คณะกรรมการฯ ได้พิจารณาเยียวยาความเสียหายให้แก่ผู้รับสัมปทานเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2560 โดยขยายระยะเวลาสัมปทานออกไปอีก 2 ปี 6 เดือน ตามที่ผู้รับสัมปทานร้องขอ โดยมิได้พิจารณาความเสียหายที่แท้จริง เนื่องจากเงื่อนไขท้ายใบอนุญาตมิได้ขัดหรือแย้งกับสัญญาสัมปทานแต่อย่างใด อนึ่งการให้สัมปทานรอบวันที่ 26 พฤศจิกายน 2553 ถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2555 ผู้รับสัมปทานเป็นรายเดียวกับงวดปัจจุบัน ซึ่งได้กำหนดข้อสัญญาสัมปทาน ข้อ 8.3 ไว้เช่นเดียวกันและมีการจัดเก็บรังนกอีแอ่นได้ โดยมิได้มีข้อโต้แย้งดังกล่าวแต่อย่างใด แต่กลับโต้แย้งในรอบการสัมปทานครั้งนี้ซึ่งเป็นเหตุผลที่ไม่สามารถรับฟังได้
3. ไม่มีมาตรการกำกับดูแลให้ผู้รับสัมปทานต้องสงวนและคุ้มครองนกอีแอ่น ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการพิจารณาจัดเก็บอากรรังนกอีแอ่นจังหวัดกำหนด จากการตรวจสอบไม่ปรากฏเอกสารแผนการบำรุงพันธุ์ หลักเกณฑ์หรือวิธีการสงวนและคุ้มครองนกอีแอ่นให้ตรวจสอบ คณะกรรมการฯ ชี้แจงว่าได้กำหนดเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาสัมปทาน แต่มิได้มีการตรวจสอบว่าผู้รับสัมปทานได้ดำเนินการตามสัญญาหรือไม่อย่างไร รวมทั้งผู้รับสัมปทานมิได้จัดทำแผนบำรุงพันธุ์นกอีแอ่นตามที่ระเบียบกำหนดและคณะกรรมการฯ ก็มิได้มีมาตรการกำกับดูแลให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบและสัญญาสัมปทานซึ่งส่งผลกระทบต่อปริมาณรังนกอีแอ่นและคุณภาพรังนก และการจัดเก็บรายได้อากรรังนกอีแอ่นลดลงในอนาคต ถือเป็นการบริหารจัดการทรัพยากรอย่างไม่ยั่งยืน
สตง. พิจารณาแล้วเห็นว่า การที่ไม่กำหนดหลักเกณฑ์การกำหนด ราคากลางในการประมูลให้ชัดเจนและสอดคล้องกับปริมาณรังนกที่แท้จริงและราคาในท้องตลาด ทำให้เกิดความล่าช้าในการประมูล ไม่สามารถจัดเก็บรายได้เงินอากรรังนกอีแอ่นได้ การที่ไม่มีข้อมูลปริมาณ รังนกตามธรรมชาติและข้อมูลราคาตลาด ทำให้คณะกรรมการฯ พิจารณาจัดเก็บอากรรังนกอีแอ่นจังหวัดฯ ขาดข้อมูลเพื่อใช้กำหนดราคากลางในการประมูล หรือการปรับลดราคากลาง หรือการชดเชย เยียวยา ผู้รับสัมปทานประกอบการใช้ดุลยพินิจ ส่วนกรณีผู้รับสัมปทานไม่ปฏิบัติให้เป็นไปตามข้อกำหนดในสัญญา ถือเป็นความรับผิดของผู้รับสัมปทานที่ไม่ปฏิบัติให้เป็นไปตามระเบียบ
การที่คณะกรรมการฯ มีมติให้ เยียวยาความเสียหายโดยการขยายระยะเวลาสัมปทานออกไปอีก 2 ปี 6 เดือน เป็นการใช้ดุลยพินิจ ขยายระยะเวลาสัมปทานที่ไม่ถูกต้อง ขัดกับสัญญาสัมปทาน ทำให้ทางราชการเสียหาย คิดคำนวณ จากมูลค่าวงเงินอากรรังนกอีแอ่นที่ได้รับตามสัญญาสัมปทาน เป็นเงิน 135.00 ล้านบาท ระยะเวลา สัมปทานตามสัญญา 5 ปี จำนวนเงินค่าสัมปทานที่จังหวัดฯ จะต้องได้จากผู้รับสัมปทานปีละ 27.00 ล้านบาท ระยะเวลาที่ขยาย จำนวน 2 ปี 6 เดือน ทำให้ทางราชการเสียหาย คิดเป็นเงินทั้งสิ้น 67.50 ล้านบาท
สตง. ได้แจ้งผลการตรวจสอบและข้อเสนอแนะ ให้คณะกรรมการฯ พิจารณาดำเนินการ ดังนี้
1. ให้จัดทำฐานข้อมูลเกี่ยวกับรังนกอีแอ่น เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องสามารถนำข้อมูลไปใช้ในการ ดำเนินการประมูลให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
2. ให้กำหนดหลักเกณฑ์ราคากลาง และระเบียบ หลักเกณฑ์การประมูลสัมปทานรังนกอีแอ่น ที่เป็นปัจจุบันและชัดเจน เพื่อใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติงานต่อไป
3. ให้พิจารณาหาแนวทางในการส่งเสริมให้มีผู้สนใจธุรกิจสัมปทานรังนกอีแอ่นได้เข้าร่วมการประมูล ที่โปร่งใส โดยผ่านงานวิจัยหรือการใช้ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้ได้แนวทางที่เป็นรูปธรรมและนำไปปฏิบัติได้จริง
4. ให้กำหนดข้อสัญญาสัมปทานให้ชัดเจน ครอบคลุม และให้ถือปฏิบัติตามสัญญาอย่างเคร่งครัด อย่าให้เกิดกรณีเช่นนี้อีก
5. ให้ดำเนินการเพื่อให้มีการชดใช้ความเสียหายแก่รัฐ จำนวน 67.50 ล้านบาท
6. ให้เก็บรวมรวมข้อมูลการเก็บรังนกที่ผ่านมา เพื่อนำมาวิเคราะห์แนวโน้มประชากรของ นกอีแอ่น และใช้เป็นแนวทางในการกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการสงวนและคุ้มครองนกอีแอ่น รวมทั้งสนับสนุน ให้มีการศึกษาวิจัยทางชีววิทยาการสืบพันธุ์ของนกอีแอ่นในพื้นที่สัมปทานเพื่อใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานในการ บริหารจัดการทรัพยากรในระยะยาวเป็นไปอย่างยั่งยืน
สตง. ยังระบุด้วยถึงผลการแก้ไขข้อบกพร่องและปรับปรุงการปฏิบัติงานด้วยว่า หน่วยรับตรวจมีหนังสือรายงานผล การดำเนินการตามข้อเสนอแนะของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ลงวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2566 ดังนี้
1. สัญญาสัมปทานเก็บรังนกอีแอ่น ฉบับลงวันที่ 15 ตุลาคม 2558 และบันทึกข้อตกลงเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) แนบท้ายสัญญาสัมปทานเก็บรังนกอีแอ่น จะสิ้นสุดลงในวันที่ 14 เมษายน 2566 ซึ่งคณะกรรมการฯ จะดำเนินการออกระเบียบหลักเกณฑ์การประมูลสัมปทานรังนกอีแอ่นที่เป็นปัจจุบัน และชัดเจน เพื่อใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติงานในการประมูลครั้งต่อไป
2. ในการดำเนินการประมูลในแต่ละครั้ง มีการประกาศเชิญชวน ประชาสัมพันธ์ ผ่านช่องทางต่าง ๆ เช่น เว็บไซต์ สถานีวิทยุกระจายเสียง สถานีโทรทัศน์ และหนังสือเชิญชวน ส่งเสริมให้มีผู้สนใจธุรกิจ สัมปทานรังนกอีแอ่นได้เข้าร่วมการประมูลที่โปร่งใส เป็นต้น
3. ได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานเตรียมการประมูลเงินอากรเก็บรังนกอีแอ่น คณะทำงานศึกษา ระเบียบ กฎหมาย ซึ่งเมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2565 คณะทำงานดังกล่าวได้มีมติคงไว้ตามสัญญาเดิม โดยให้ ตัดเดือนทางจันทรคติ ในสัญญา ข้อ 6 ออก แล้วนำเดือนทางปฏิทินเข้าไปแทนให้เหมือนกับระเบียบ ที่กำหนดไว้
4. คณะกรรมการฯ ได้หารือประเด็นข้อกฎหมายกรณีดำเนินการเพื่อให้มีการชดใช้ค่าเสียหายแก่รัฐ จำนวน 67.50 ล้านบาท ไปยังกระทรวงการคลังแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างติดตามข้อหารือดังกล่าวกับ กระทรวงการคลัง
5. ได้มีการกำกับดูแลให้ผู้รับสัมปทานปฏิบัติตามข้อกำหนดในสัญญาอย่างสม่ำเสมอ โดยการแจ้ง ให้ผู้รับสัมปทานจัดทำบัญชีรายชื่อเกาะที่มีการจัดเก็บรังนกพร้อมทั้งจัดทำกำหนดการและตารางการ จัดเก็บรังนกอีแอ่นก่อนออกจัดเก็บรังนกอีแอ่นและได้ให้คณะกรรมการตรวจสอบการจัดเก็บรังนกอีแอ่น ในเขตสัมปทานของผู้รับสัมปทาน เมื่อมีการจัดเก็บรังนกอีแอ่นในแต่ละครั้ง
อย่างไรก็ดี ในรายงานผลการตรวจสอบ สตง.เรื่องนี้ ยังมิได้มีการเผยแพร่ชื่อจังหวัด ที่มีปัญหาเรื่องสัมปทานรังนกอีแอ่น ที่ถูกตรวจสอบพบปัญหาเอาไว้ เป็นทางการ สำนักข่าวอิศรา จึงยังไม่สามารถตรวจสอบข้อมูลอีกด้านเพื่อนำมาเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบ ณ ที่นี้ได้
แต่หากมีข้อมูลเพิ่มเติมจะรีบนำมาเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบโดยเร็วต่อไป