อย่างไรก็ตามผลลัพธ์ที่ออกมาแข็งแกร่งมากสำหรับพรรคก้าวไกล ก็ส่งผลทำให้กระบวนการจัดตั้งรัฐบาลผสมหลังจากนี้ยากมากเช่นกัน เพราะเจตนาโดยมากของพรรคก้าวไกล อาทิ การแก้ไขกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ นั้นเป็นสิ่งยอมรับไม่ได้มากขึ้นเท่านั้นสำหรับพลังอนุรักษ์นิยม ที่เป็นกลุ่มหลักในวุฒิสภา
จากผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2566 ซึ่งค่อนข้างจะเป็นที่แน่ชัดแล้วว่าพรรคก้าวไกลนั้นได้รับคะแนนเสียงเป็นอันอับหนึ่ง ตามมาด้วยพรรคเพื่อไทยที่ได้ ส.ส.เป็นอันดับสอง
โดยผลการเลือกตั้งดังกล่าวนั้นทำให้มีผู้เชี่ยวชาญหลายคนทั้งในไทยและต่างประเทศได้ออกมาวิเคราะห์ถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ความเป็นไปได้ของรัฐบาลในอนาคตหลังจากนี้
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงได้นำเอาความเห็นของผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศที่วิเคราะห์การเมืองไทยจากผลการเลือกตั้งที่ผ่านมามานำเสนอ มีรายละเอียดดังนี้
@นายซาชารี อาบูซา (ZACHARY ABUZA) ศาสตราจารย์วิทยาลัยการสงครามแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา
เจตจำนงของประชาชนมีแนวโน้มที่จะถูกขัดขวางอีกครั้ง ผมไม่เห็นว่าวุฒิสภาไทยจะเคารพต่อเจตจำนงของประชาชน พวกเขาถูกสร้างขึ้นและได้รับการแต่งตั้งให้รักษาการเมืองแบบอนุรักษ์นิยม
ผมไม่เห็นหนทางข้างหน้าสำหรับพรรคร่วมรัฐบาลที่สนับสนุนประชาธิปไตย ซึ่งจะต้องมี 376 ที่นั่ง อันจำเป็นต่อการเอาชนะคะแนนเสียงของวุฒิสภาสำหรับนายกรัฐมนตรี
@นางทามารา ลูส์ นักประวัติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยคอร์เนล
“นี่เป็นโอกาสอันดีที่พรรคพลังประชารัฐและพล.อ.ประยุทธ์ จะยอมรับอย่างมีน้ำใจว่าผู้มีสิทธิเลือกตั้งชาวไทยต้องการเปลี่ยนแปลงสถานะที่เป็นอยู่”
@นายอันโตนิโอ รัปปา รองศาสตราจารย์ มหาวิทยาลัยสังคมศาสตร์สิงคโปร์
ยังคงมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดการรัฐประหารเพื่อจะล้างผลการเลือกตั้ง ในประเทศที่พบเห็นการรัฐประหารในช่วงเวลา 20 ปีที่ผ่านมาเพื่อขับไล่รัฐบาลจากการเลืกตั้ง ตัว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเองแม้ว่าจะไม่ได้ควบคุมกองทัพแล้วก็ตาม แต่ก็ปรากฏว่ายังคงมีบุคคลที่มีอิทธิพลในกองทัพ เข้าไปผูกพันอยู่ทั้งในวุฒิสภาและอยู่ในพรรคการเมืองหลายพรรค
@นายเคน มาติส โลฮาเตปานนท์ ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน
ตั้งแต่ปี 2544 พรรคเพื่อไทยได้รับชัยชนะมากที่สุดในการเลือกตั้งทุกครั้งอย่างสบาย ผ่านไปสองทศวรรษความแน่นอนของการเมืองไทยนี้ถูกคว่ำ ยุคที่พรรคเพื่อไทยครองอํานาจการเมืองจากการเลือกตั้งสิ้นสุดลงแล้ว
@นางซูซานนาห์ แพตตัน ศาสตราจารย์จากสถาบันโลวี่
ผู้มีสิทธิเลือกตั้งชาวไทยสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลครั้งใหญ่หลังจากการปกครองของทหารมาเกือบทศวรรษ
อย่างไรก็ตามผลลัพธ์ที่ออกมาแข็งแกร่งมากสำหรับพรรคก้าวไกล ก็ส่งผลทำให้กระบวนการจัดตั้งรัฐบาลผสมหลังจากนี้ยากมากเช่นกัน เพราะเจตนาโดยมากของพรรคก้าวไกล อาทิ การแก้ไขกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ นั้นเป็นสิ่งยอมรับไม่ได้มากขึ้นเท่านั้นสำหรับพลังอนุรักษ์นิยม ที่เป็นกลุ่มหลักในวุฒิสภา
@นายเจย์ แฮร์ริแมน จากบริษัท บาวเวอร์กรุ๊ปเอเชีย
ผลที่เห็นจากการเลือกตั้งก็คือว่าการปฏิเสธการเมืองแบบเก่าของไทยที่มีรัฐบาลประยุทธ์เป็นตัวแทน และแม้แต่ทางตระกูลชินวัตรเองก็สูญเสียที่นั่งส่วนใหญ่บ้านเกิดของตระกูลอย่างที่ จ.เชียงใหม่
ธุรกิจต่างๆเองก็กำลังต้องการเห็นการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองที่ราบรื่น ควบคู่ไปกับการปฏิรูปนโยบายที่จะพัฒนาความสะดวกในการทำธุรกิจ รวมไปถึงการลดระเบียบราชการ การลดต้นทุน และการลดการทุจริต
โดยแนวคิดเรื่องการปฏิรูปของพรรคก้าวไกลที่มีต่อกองทัพโดยตรงนั้นอาจจะทำให้ความตึงเครียดเพิ่มสูงขึ้นหากรัฐบาลใหม่เดินหน้าอย่างจริงจังตามสิ่งที่ได้หาเสียง
@นายวิษรุ วรธาน จากธนาคารมิซูโฮ
ดูเหมือนว่าการมีเสถียรภาพทางการเมืองจะเป็นตัวส่งเสริมทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่า เพราะว่าการที่ทั้งพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลไม่ได้เสียงข้างมากแบบเด็ดขาดนั้นคือสิ่งที่ท้าทายยิ่งในการผ่านกฎหมายต่างๆ ซึ่งสิ่งนี้จะเป็นแง่บวกต่อเสถียรภาพทางการเมือง
@นายวีเจย์ วิกรม กานนาน จากบริษัทการเงินข้ามชาติ โซซิเอเต เจเนอราล
ถ้าหากมีความชัดเจนเรื่องรัฐบาลผสมยิ่งเร็วเท่าไร ก็จะยิ่งเป็นผลดีต่อความเชื่อมั่นของตลาด เพราะในความเห็นเราสิ่งนี้นั้นย่อมดีกว่าการมีการอภิปรายที่ยืดเยื้อ แต่กว่าจะถึงตอนนั้น สภาวะค่าเงินก็ยังคงผันผวน
@นางเกรซ ลิม จากบริษัทวิเคราะห์ด้านการลงทุน มูดี้ส์อินเวสเตอส์ เซอร์วิส
หากรัฐบาลใหม่ประกอบด้วยรัฐบาลพรรคร่วมที่มีความหลากหลาย ก็น่าจะมีความรวดเร็วในการตกลงและการดำเนินนโยบาย โดยเราคาดหวังว่านโยบายเศรษฐกิจที่สำคัญจะมีความต่อเนื่องในวงกว้าง
อาทิ การพัฒนาอย่างต่อเนื่องของระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกเพื่อยกระดับการลงทุน
แต่ก็มีความเป็นไปได้ที่พรรคการเมืองอาจจะมีความแตกต่างในรายละเอียดอื่นๆ อาทิ นโยบายสังคมและการคลัง
@นายไทเรล ฮาเบอร์คอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านไทยศึกษาที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน
คะแนนเสียงของเยาวชนที่เพิ่มขึ้นและการรับรู้ทั่วไปเกี่ยวกับความเสียหายที่เกิดจากการปกครองของทหารเป็นปัจจัยสําคัญที่น่าจะกําหนดผลการเลือกตั้งครั้งนี้ โดยหลังจากเก้าปีของการปกครองของทหารผู้คนจึงพร้อมสําหรับการเปลี่ยนแปลงแม้กระทั่งผู้ที่ไม่สนใจการเมืองมาก่อน
เรียบเรียงจาก:https://www.channelnewsasia.com/commentary/snap-insight-thailand-election-change-pheu-thai-move-forward-military-prayut-3488901,https://www.usnews.com/news/world/articles/2023-05-14/historic-thailand-poll-sees-opposition-trounce-military-parties,https://www.reuters.com/world/asia-pacific/view-historic-thailand-poll-sees-opposition-trounce-military-parties-2023-05-15/