“...แม้พล.อ.ประยุทธ์ จะผลักดันการก่อสร้างโครงการต่างๆได้เป็นจำนวนมาก แต่ยังมีปัญหาที่เกี่ยวกับระบบขนส่งสาธารณะอีกจำนวนมากที่ยังแก้ไม่ตก อาทิ ตั๋วร่วม, ระบบรถเมล์, ระบบขนส่งสาธารณะในต่างจังหวัด หรือราคารถไฟฟ้าแพง เป็นต้น…”
เกือบ 9 ปีในการบริหารประเทศของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ปฏิเสธไม่ได้ว่าเนื้องานที่พอจะยกเป็นผลงานในยุคสมัยของนายกรัฐมนตรีคนนี้คือ การผลักดันโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่ง
โดยเฉพาะการผลักดันปรเจ็กต์ก่อสร้างรถไฟฟ้า 10 สายที่มาทยอยเสร็จในยุคนี้ 5 สาย ได้แก่ สายสีม่วงช่วงคลองบางไผ่ - เตาปูน, ส่วนต่อขยายถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินช่วงบางซื่อ - ท่าพระและหัวลำโพง - หลักสอง, สายสีเขียวส่วนต่อขยายช่วงแบริ่ง - สมุทรปราการและหมอชิต - คูคต, สายสีทองช่วงกรุงธนบุรี - คลองสาน และสายสีแดงช่วงตลิ่งชัน - บางซื่อ - รังสิต
ส่วนระบบราง รถไฟทางคู่เฟส 1 จำนวน 7 เส้นทาง, รถไฟความเร็วสูงไทยจีน และรถไฟความเร็วสูง 3 สนามบินก็กำลังก่อสร้างในยุคนี้เช่นกัน
และยังไม่รวมโครงการในโหมดเดินทางอื่นๆ ที่ผลักดันไปมากแล้วทั้งทางด่วน มอเตอร์เวย์ สนามบิน ท่าเรือ เป็นต้น
พล.อ.ประยุทธ์ เป็นประธานในพิธีเปิดทดลองให้บริการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต - สะพานใหม่ - คูคต เมื่อวันที่ 16 ธ.ค. 63
ที่มาภาพ: สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล
แต่แม้พล.อ.ประยุทธ์ จะผลักดันการก่อสร้างโครงการต่างๆได้เป็นจำนวนมาก แต่ยังมีปัญหาที่เกี่ยวกับระบบขนส่งสาธารณะอีกจำนวนมากที่ยังแก้ไม่ตก อาทิ ตั๋วร่วม, ระบบรถเมล์, ระบบขนส่งสาธษรณะในต่างจังหวัด หรือราคารถไฟฟ้าแพง เป็นต้น
ในการเลือกตั้งรอบนี้ จึงมีพรรคการเมืองตัวเต็งหาเสียงโดยหยิบเอาเนื้องานเกี่ยวกับคมนาคมขนส่งมาหาเสียงด้วย สำนักข่าวอิศรารวบรวมนโยบายของ 4 พรรคตัวเต็งมานำเสนอ ดังนี้
@ก้าวไกล: 9 นโยบายรื้อใหม่คมนาคมไทย
เริ่มต้นที่พรรคก้าวไกล นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เปิดเผยว่า รัฐบาลที่ผ่านมา วางแผนจะสร้างแต่เส้นเลือดใหญ่ โดยเฉพาะแผนทางด่วนและรถไฟระหว่างเมือง (MR-Map) มูลค่ากว่า 5.7 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นการออกแบบให้คนรวยได้ใช้นานๆ ที
ด้วยงบก้อนดังนี้ หากก้าวไกลเป็นรัฐบาล จะลดความซ้ำซ้อน เกินจำเป็น ไม่คุ้มค่า เพื่อไปขยายโครงข่ายเส้นเลือดฝอย ให้ทุกคนได้ใช้ทุกๆ วัน ทำให้เกิดการเชื่อมเมืองแบบพอดี แล้วเน้นไปที่การพัฒนาเมืองและระบบขนส่งสาธารณะในเมือง และทำให้เกิดกรุงเทพที่ 2, 3, 4, … เพื่อเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจใหม่และกระจายความเจริญไปยังทุกเมืองรอง
โดยพรรคมี 9 นโยบายหลักด้านคมนาคมที่ช่วยแก้ปัญหา ประกอบด้วย
1.ลดความซ้ำซ้อนในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ เลิกการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่แบบซ้ำซ้อน (เช่น การก่อสร้างทั้งมอเตอร์เวย์ รถไฟความเร็วสูง รถไฟทางคู่ ในเส้นทางเดียวกัน ซึ่งมีจำนวนคนเดินทางไม่มากพอ)
2.รถไฟทั่วถึง ทุกจังหวัดทั่วไทย ขยายโครงข่ายทางรถไฟให้ครอบคลุมอีก 30 จังหวัดที่ยังไม่มีทางรถไฟ และสร้างโครงข่ายระบบขนส่งสาธารณะเชื่อมสถานีรถไฟเข้าไปในเมือง
3.ออกแบบระบบถนนหนทาง เพื่อลดรถติด-ลดอุบัติเหตุ พัฒนาโครงข่ายถนนอย่างมีลำดับชั้นของถนน (เช่น ถนนสายประธาน ถนนในเมือง) ไม่ใช่แบ่งประเภทถนนตามหน่วยงานเจ้าของถนน (กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท) เป็นหลัก
4.กระจายงบซ่อมถนนอย่างเป็นธรรม พัฒนาระบบตรวจวัดคุณภาพถนน ว่าถนนไหนควรซ่อมก่อนหรือหลัง ไม่ใช่ปล่อยให้เป็นเรื่องการเมือง ใครมีอำนาจก็ดึงงบลงไปซ่อมในจังหวัดที่เป็นเขตอิทธิพลของตนเอง
5.กระจายอำนาจด้านการให้บริการระบบขนส่งสาธารณะ ถ่ายโอนอำนาจในการอนุญาตเดินรถ กำหนดเส้นทางเดินรถ และราคาค่าโดยสาร จากคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง/จังหวัด มาให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการแทน / ตั้งงบประมาณอุดหนุนเฉพาะกิจแบบพิเศษให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ เพื่อการให้บริการขนส่งสาธารณะ ปีละ 10,000 ล้านบาท /ปลดล็อกอำนาจท้องถิ่นในการใช้งบประมาณอุดหนุน/สนับสนุน และตั้งเงื่อนไขกับผู้ประกอบการขนส่งสาธารณะเอกชน (เช่น การอุดหนุนเงินบางส่วนให้ผู้ประกอบการเพื่อนำไปจัดซื้อรถเมล์ใหม่)
6.ผนวกความต้องการด้านการขนส่งเข้ากับการพัฒนาอุตสาหกรรม
- ส่งเสริมอุตสาหกรรมขนส่งสาธารณะที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
- กำหนดให้รถโดยสารประจำทางทั่วประเทศไทยต้องใช้พลังงานไฟฟ้าขับเคลื่อนแทนที่เครื่องยนต์สันดาปภายใน ในระยะเวลา 7 ปี
- กำหนดให้การจัดซื้อรถเมล์ใหม่ ต้องเป็นรถเมล์ไฟฟ้าเท่านั้น
- เปลี่ยนรถไฟดีเซล เป็นรถไฟไฟฟ้า
- ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาแบตเตอรี่ไฟฟ้า ด้วยการอุดหนุนเงินให้กับสถาบันการศึกษา
- ส่งเสริมทางอ้อมโดยใช้การจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ เพื่อเพิ่มการลงทุนโดยเอกชน
- เพิ่มจุดเปลี่ยนถ่ายและกระจายสินค้าตามหัวเมืองต่าง ๆ ในทุกภูมิภาค
7.พัฒนาระบบตั๋วร่วม ใช้บัตรใบเดียว เดินทางได้ทุกระบบขนส่งสาธารณะทั่วไทย พัฒนาระบบตั๋วร่วม ใช้บัตรใบเดียวเดินทางได้ทุกระบบขนส่งสาธารณะทั่วประเทศไทย
8.รถเมล์และรถไฟฟ้า 8-45 บาทตลอดสาย ใช้บัตรใบเดียว ครอบคลุมทั้ง กทม.
- พัฒนาระบบค่าโดยสารร่วม กำหนดราคาค่าโดยสาร เที่ยวละ 8-25 บาท ตลอดสาย (รถเมล์) เที่ยวละ 8-45 บาท ตลอดสาย (รถเมล์และรถไฟฟ้า)
- ใช้งบประมาณในการจ่ายเงินชดเชยส่วนต่างให้ผู้ให้บริการรถเมล์/รถไฟฟ้า ประมาณปีละ 7,170 ล้านบาท
9.รถเมล์ไฟฟ้าทุกจังหวัด - เติมเงินให้ท้องถิ่น เพิ่มขนส่งสาธารณะ อุดหนุนงบประมาณ 10,000 ล้านบาท เพื่อผลักดันในการเกิดการลงทุนเดินรถเมล์ไฟฟ้า ในทุกเมือง ทุกจังหวัด ทั่วประเทศ และทำให้ค่าโดยสารรถเมล์อยู่ในราคาที่เหมาะสม ไม่เป็นไปภาระกับประชาชนเกินควร
สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล
@เพื่อไทย: รถไฟฟ้า 20 บาท แม่เหล็กนโยบาย
ขณะที่พรรคเพื่อไทย เจ้าตำรับแลนด์สไลด์ที่วันก่อน ‘เศรษฐา ทวีสิน’ แดตนดิเดตนายกฯบอกชัดเจนว่า กระทรวงคมนาคมไม่ยกให้ใครแน่นอน ก็เข็นนโยบายคมนาคมออกมาโชว์เช่นกัน สำหรับนโยบายต่างๆมี ดังนี้
1.“รถไฟฟ้า กทม.” 20 บาทตลอดสาย เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้โดยสาร พรรคอ้างว่า การเดินทางเป็นปัจจัยหนึงในการดำเนินชีวิตและสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี ดังนั้นรัฐบาลจึงจำเป็นต้องเข้ามาดูแลในเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพื่อช่วยให้ประชาชนประหยัดเวลา ประหยัดค่าใช้จ่าย และทำให้ชีวิตของประชาชนสะดวกสบายขึ้น การเดินทางด้วยระบบรางถือเป็นการเดินทางที่ประหยัดพลังงานและรักษาสิ่งแวดล้อมได้ดีที่สุดอย่างหนึ่งในขณะนี้ เราจะเร่งเจรจากับภาคส่วนต่างๆ เพื่อให้ลดราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้าโดยมีเป้าหมายคือ ค่าโคยสารรถไฟฟ้าในกรุงเทพคือ 20 บาทตลอดสาย
2.ติดตั้งเครื่องปรับอากาศให้รถไฟชั้นสามทุกขบวน พร้อมปรับปรุงสภาพภายในให้มีความทันสมัย เพื่อคุณภาพการเดินทางที่ดีขึ้นของผู้มีรายได้น้อย และผู้ใช้รถไฟชั้นสามทั่วประเทศ
3. ยกระดับรถไฟโดยสารทั่วประเทศให้สามารถเป็นการเดินทางแบบไปกลับประจำ (Commute) ได้อย่างแท้จริง พร้อมสร้างระบบ Feeder ที่สะดวกสบายเชื่อมโยงแต่ละ Hub ยกตัวอย่างเช่น เส้นทาง นครราชสีมา-กรุงเทพฯ และเพิ่มความเร็วให้ได้เป็น 200 km/h
4. เร่งการเชื่อมโยงรถไฟขนส่งสินค้า จากลาวเข้าสู่ท่าเรือแหลมฉบัง และสนามบินสุวรรณภูมิ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของระบบขนส่งสินค้าไปยังท่าเรือแหลมฉบังที่กำลังขยายตัวรองรับสินค้า 18 ล้านตู้ต่อปี เพื่อขจัดปัญหาคอขวดในกระบวนการกระจายสินค้าเกษตรตลอดโซ่อุปทาน และเพื่อสร้าง Ecosystem ยกระดับไทยเป็น Logistics Hub ของเอเชีย ทั้งทางทะเล และทางอากาศ
5. เชื่อมโยงโครงข่ายรถไฟความเร็วสูงทั่วประเทศ เป็นการเชื่อมต่อเพื่อเพิ่มปริมาณทั้งด้านการค้าและการท่องเที่ยวกับจีนและประเทศในอาเซียน เส้นทางรถไฟดังกล่าวยังเชื่อมต่อกับเส้นทางสายไหมใหม่ (Silk Road Economic Belt) ซึ่งเป็นประตูไปยังเอเชียใต้ ตะวันออกกลาง รัสเซีย และยุโรป
และ 6.ยกระดับสนามบินสุวรรณภูมิให้ติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลก
@ประชาธิปัตย์ : ดันระบบรางบกแผง
ด้านพรรคพระแม่ธรณีบีบมวยผม ‘ประชาธิปัตย์’ นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรค ทีมเศรษฐกิจพรรคประชาธิปัตย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านคมนาคมขนส่งและโครงการขนาดใหญ่ (Megaproject) กล่าวว่า รถไฟจะเป็นทางเลือกใหม่ของการขนส่ง เพื่อนำประเทศไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน พรรคประชาธิปัตย์จึงมีนโยบายด้านระบบราง ดังนี้
1.รถไฟทางคู่ พรรคประชาธิปัตย์จะเร่งรัดก่อสร้างทางคู่เพิ่มเติมเพื่อลดต้นทุนโลจิสติกส์ของประเทศ จากรถไฟทางคู่ที่จะต้องก่อสร้างทั้งหมด 4,435 กิโลเมตร ตั้งเป้าหมายไว้ว่าภายในปี พ.ศ. 2570 จะสามารถก่อสร้างได้ 7 เส้นทาง ระยะทาง 1,483 กิโลเมตร วงเงินประมาณ 2.7 แสนล้านบาท ประกอบด้วย
- ปากน้ำโพ-เด่นชัย
- เด่นชัย-เชียงใหม่
- จิระ-อุบลราชธานี
- ขอนแก่น-หนองคาย
- ชุมพร-สุราษฎร์ธานี
- สุราษฎร์ธานี-หาดใหญ่-สงขลา
- หาดใหญ่-ปาดังเบซาร์
2.รถไฟความเร็วสูง ประชาชนจะได้ใช้รถไฟความเร็วสูงช่วงหนองคาย-นครราชสีมา ภายในเวลาไม่เกิน 6 ปี ไม่ล่าช้าเหมือนช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ซึ่งก่อสร้างมา 6 ปีแล้ว แต่มีความคืบหน้าแค่เพียงประมาณร้อยละ 20 เท่านั้น” พรรคประชาธิปัตย์จะเร่งแก้ปัญหาการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ซึ่งมีปัญหาการเวนคืนที่ดิน การขอใช้พื้นที่หน่วยงานของรัฐ และปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่ทำให้ต้องปรับรูปแบบการก่อสร้าง
3.ระบบขนส่งมวลชนในเมืองมหานคร สนับสนุนการก่อสร้างรถไฟฟ้ารางเบาที่เชียงใหม่ ระยะที่ 1 วงเงิน 27,200 ล้านบาท ที่ขอนแก่น วงเงิน 22,000 ล้านบาท ที่นครราชสีมา ระยะที่ 1 วงเงิน 18,400 ล้านบาท และที่ภูเก็ต ระยะที่ 1 วงเงิน 30,200 ล้านบาท และจะสนับสนุนการก่อสร้างรถรางล้อยาง (Auto Tram) ที่พิษณุโลก วงเงิน 760 ล้านบาท รวมทั้งการก่อสร้างรถไฟฟ้ารางเดี่ยวหรือโมโนเรล ระยะที่ 1 ที่หาดใหญ่ วงเงิน 16,200 ล้านบาท รวมวงเงินทั้งหมดเกือบ 1.2 แสนล้านบาท
4.รถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ และปริมณฑล จะเร่งรัดการก่อสร้างรถไฟฟ้าที่กำลังก่อสร้างอยู่ในขณะนี้ทั้งสายสีม่วงใต้และสายสีส้ม พร้อมทั้งจะเร่งแก้ปัญหารถไฟฟ้าสายสีส้มและสายสีเขียวที่ยืดเยื้อมานาน โดยไม่นำปัญหาของทั้ง 2 สาย มาผูกโยงกัน ตามที่เคยถูกตั้งข้อสังเกตว่าความล่าช้าในการแก้ปัญหารถไฟฟ้าสายสีเขียวเป็นเพราะบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ผู้เดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวต่อสู้อย่างไม่ยอมถอยในการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ทั้งนี้ ด้วยเจตนาที่จะให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากโครงการทั้งสองอย่างเต็มที่
สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรค ทีมเศรษฐกิจพรรคประชาธิปัตย์
@ภูมิใจไทย: ชูโปรเจ็กต์แลนด์บริดจ์
ปิดท้ายที่พรรคภูมิใจไทย อดีตเจ้ากระทรวงคมนาคม ในครั้งนี้ มีนโยบา่ยผลักดันโครงการแลนด์บริดจ์ชุมพร-ระนอง เชื่อมโยงทะเลอ่าวไทยและอันดามัน ผลักดันให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (Southern Economic Corridor) เป็นหลัก
โครงการจะมีทั้งการสร้างท่าเรือชุมพรให้เป็นท่าเรือขนส่งสินค้าขนาดใหญ่ พัฒนาท่าเรือระนองให้เป็นท่าเรือสินค้าคอนเทเนอร์ พัฒนาถนนมอเตอร์เวย์และรถไฟทางคู่ เชื่อมโยงท่าเรือ 2 ฝั่งทะเล มีระบบ Pipe Lines ขนส่งน้ำมันและก๊าซ และสร้างนิคมอุตสาหกรรม Warehouse ในพื้นที่รอบโครงการ ยกเว้นบริเวณที่ติดชายฝั่งทะเล เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและแหล่งท่องเที่ยวเอาไว้
คาดว่าจะช่วยสร้างรายได้ 1.3 ล้านล้านบาท เพิ่ม GDP ได้ 3.7% และจะมีการจ้างงานถึง 5 แสนคน สำหรับที่มาของงบประมาณ จะมาจากการระดมทุนผ่านกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน หรือ Infrastructure Fund และการร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) ในวงเงิน 1 ล้านล้านบาท
4 พรรคการเมืองตัวเต็ง กับนโยบายคมนาคมนี้ ใครจะได้เข้าผลักดันสิ่งต่างๆได้เป็นจริง คำตอบอยู่ที่คูหาเลือกตั้ง 14 พ.ค.66 นี้