"...สาเหตุสำคัญเกิดจากสำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัด ไม่มีการส่งเสริมความรู้ความเข้าใจและติดตามประเมินผลการดำเนินงานการบริหารจัดการภารกิจสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าที่ถ่ายโอนให้อปท.โดยครบถ้วนตามภารกิจ ทำให้ไม่ทราบถึงข้อมูลเชิงลึกที่ส่งผลกระทบหรือเป็นปัญหาอุปสรรคข้อจำกัดต่าง ๆ ต่อการบริหารจัดการภารกิจสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าของ อปท. และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) ไม่ได้ปรับปรุงฐานข้อมูลสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าของ อปท. ตามการถ่ายโอนภารกิจให้ถูกต้อง ครบถ้วน และเป็นปัจจุบันทำให้ขาดข้อมูลที่นำมาใช้ในการกำกับดูแล สนับสนุน หรือพัฒนาขีดความสามารถให้กับ อปท. และการปรับปรุงแก้ไขปัญหาให้การบริหารจัดการสถานีสูบน้ำ..."
การบริหารจัดการสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า ของ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ในช่วงปี 2563 - 2564 ที่ใช้วงเงินงบประมาณสูงถึง 3,286.39 ล้านบาท
ถูกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบพบปัญหาผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพในการดำเนินงานตามภารกิจที่ได้รับการถ่ายโอนไม่มีคุณภาพตามมาตรฐานการบริการสาธารณะที่กำหนด ขณะที่การจัดบริการสาธารณะด้านงานสูบน้ำด้วยไฟฟ้าไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่กำหนดไม่เป็นธรรมเท่าเทียมด้วย พร้อมส่งเรื่องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปปรับปรุงแก้ไขแล้ว
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สตง. ได้เผยแพร่รายงานผลการตรวจสอบผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพการดำเนินงานการบริหารจัดการสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ระบุว่า ตามพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และแผนปฏิบัติการกำหนดขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2545 และฉบับที่ 2 พ.ศ. 2551 กำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) รับโอนโครงการสูบน้ำด้วยไฟฟ้าจากสำนักงานพลังงานแห่งชาติกระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการพลังงาน และกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์และการดำเนินงานภารกิจที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการโครงการสูบน้ำด้วยไฟฟ้า
ปัจจุบันในปี 2565 มีโครงการสูบน้ำด้วยไฟฟ้าจัดตั้งในพื้นที่ 64 จังหวัด โดยมี อปท. ได้แก่ องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาลนครเทศบาลเมือง เทศบาลตำบล และองค์การบริหารส่วนตำบล รับโอนภารกิจทั้งหมดรวม 1,324 แห่ง และมีสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า รวม 2,921 สถานี รวมงบประมาณประจำปี พ.ศ. 2563 – 2564 เป็นเงินทั้งสิ้น 3,286.39 ล้านบาท
จากการตรวจสอบผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพการดำเนินงานการบริหารจัดการสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 - 2564 มีข้อตรวจพบที่สำคัญ 2 ข้อตรวจพบ
สรุปได้ดังนี้
ข้อตรวจพบที่ 1 การบริหารจัดการสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามภารกิจที่ได้รับการถ่ายโอนไม่มีคุณภาพตามมาตรฐานการบริการสาธารณะที่กำหนด
โครงการถ่ายโอนการสูบน้ำด้วยไฟฟ้าให้แก่ อปท. เป็นการถ่ายโอนภารกิจตามพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2542 ซึ่ง อปท. ได้รับภารกิจที่กรมชลประทานถ่ายโอน จำนวน 3 ภารกิจ ประกอบด้วย (1) งานบำรุงรักษาคลองส่งน้ำ ดาดคอนกรีตทั้งสายหลักและสายซอย (2) งานเก็บเงินค่ากระแสไฟฟ้า และ (3) งานประสานจัดตั้งสหกรณ์ผู้ใช้น้ำโดย อปท. มีหน้าที่ต้องจัดทำภารกิจทั้งหมดที่รับผิดชอบให้มีคุณภาพมาตรฐานที่ดีขึ้นหรือไม่ต่ำกว่าเดิม เพื่อเป็นการประกันคุณภาพการจัดบริการสาธารณะที่ถ่ายโอนให้แก่ อปท. และการให้บริการสาธารณะแก่ประชาชน โดยราชการบริหารส่วนกลางยังคงต้องกำหนดมาตรฐานทั่วไป ของการจัดบริการสาธารณะ เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติหรือเป็นคู่มือปฏิบัติงานให้กับ อปท. และกำกับดูแลให้อปท. ปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบ รวมทั้งมาตรฐานต่าง ๆ ที่รัฐเห็นว่าจำเป็นต้องควบคุมดูแลให้อปท. ปฏิบัติตาม จากการตรวจสอบการบริหารจัดการสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าตามภารกิจที่ได้รับการถ่ายโอนทั้ง 3 ภารกิจ ของอปท. จำนวน 21 อปท. และสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าที่ตรวจสอบ จำนวน 33 สถานีในพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดระยอง อุบลราชธานี ขอนแก่น แพร่ และชุมพร
พบว่า สถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าที่มีการใช้งาน จำนวน 24 สถานี อยู่ในความรับผิดชอบของ อปท. จำนวน 15 อปท. หรือคิดเป็นร้อยละ 71.43 ของ อปท. ที่ตรวจสอบมีการบริหารจัดการสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าของ อปท. ตามภารกิจที่ได้รับการถ่ายโอนไม่มีคุณภาพตามมาตรฐานการบริการสาธารณะที่กำหนด โดยสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าทั้ง 24 สถานี ไม่ได้นำแนวทางปฏิบัติงานตามมาตรฐานการบริการสาธารณะที่กำหนดมาใช้ในการบริหารจัดการสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า
จำแนกตามรายภารกิจดังนี้
1. ภารกิจงานบำรุงรักษาคลองส่งน้ำ ดาดคอนกรีต ทั้งสายหลักและสายซอยในการดำเนินการด้านการบำรุงรักษาระบบชลประทานทั่วไปนั้นจะตองประกอบด้วยกิจกรรมหลัก 3 ขั้นตอนได้แก่ การวางแผนด้านการบำรุงรักษา การดำเนินกิจกรรมตามแผนที่วางไว้และการติดตามและประเมินผลกิจกรรมบำรุงรักษาที่ได้ดำเนินการไปแลว จากการตรวจสอบ พบว่าสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าทั้ง 24 สถานี ที่อยู่ในความรับผิดชอบของ อปท. ทั้ง 15 อปท. ไม่มีการจัดทำแผนปฏิบัติงานในการซ่อมแซมและบำรุงรักษารายสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า ประจำ 1 เดือน 6 เดือนและ 1 ปี และไม่ดำเนินการบันทึกผลรายงานผลการซ่อมแซมและบำรุงรักษาตามแผนการปฏิบัติงานตลอดจนควบคุมติดตามผลการปฏิบัติงาน และในจำนวนนี้มีสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าที่ไม่ได้ดำเนินการตรวจสอบสภาพทั่วไปประจำเดือนหรือรายงานความเสียหายของระบบส่งน้ำและอาคารประกอบ(แบบฟอร์ม บน.7) กับไม่ได้ดำเนินการจัดทำแผนการปฏิบัติการประจำวันในการตรวจสอบและบำรุงรักษาเครื่องสูบน้ำและอุปกรณ์ประกอบประจำสถานีสูบน้ำ จำนวน 23 สถานี กับ 12 สถานีหรือคิดเป็นร้อยละ 95.83 กับ 50.00 ของสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าที่ยังมีการใช้งาน ตามลำดับ ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของ อปท. จำนวน 14 อปท. กับ 8 อปท. หรือคิดเป็นร้อยละ 93.33 กับ 53.33 ของอปท. ที่สถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้ายังมีการใช้งาน ตามลำดับ
2. ภารกิจการเก็บเงินค่ากระแสไฟฟ้าการบริหารการจัดเก็บค่ากระแสไฟฟ้าจากเกษตรกรผู้ใช้น้ำ เพื่อให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดการมีส่วนร่วมกับกระบวนการจัดสรรน้ำจากสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า อปท. ต้องดำเนินการจัดตั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำ และกำหนดหลักเกณฑ์หรือระเบียบปฏิบัติในการจัดเก็บค่ากระแสไฟฟ้า โดยจัดทำเป็นข้อบัญญัติองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เรื่องการบริหารกิจการสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า
จากการตรวจสอบพบว่า อปท. ที่ไม่ได้จัดทำข้อบัญญัติองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เรื่องการบริหารกิจการสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า กับไม่มีการจัดตั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำ มีจำนวน 4 อปท. และ 1 อปท. หรือคิดเป็นร้อยละ 26.67 กับ6.67 ของ อปท. ที่สถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้ายังมีการใช้งาน ตามลำดับ ซึ่งรับผิดชอบสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า จำนวน 7 สถานี กับ 1 สถานี หรือคิดเป็นร้อยละ 29.17 กับ 4.17 ของสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าที่มีการใช้งาน ตามลำดับ
นอกจากนี้ ในเรื่องการบริหารการจัดเก็บค่ากระแสไฟฟ้าโดยกลุ่มผู้ใช้น้ำซึ่งต้องดำเนินการภายหลังจากจัดตั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำแล้ว เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ และเกิดความโปร่งใส
จากการตรวจสอบการบริหารกิจการสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าที่มีการจัดตั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำจำนวน 23 สถานี
พบว่า 1) ไม่ได้จัดทำบัญชีรายได้และรายจ่ายของกิจการสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า จำนวน 13 สถานีอยู่ในความรับผิดชอบของ อปท. จำนวน 9 อปท. หรือคิดเป็นร้อยละ 60.00 ของ อปท. ที่มีกลุ่มผู้ใช้น้ำ2) ไม่มีการนำรายได้ของกิจการสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าฝากธนาคารในนามของกิจการสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าจำนวน 14 สถานี อยู่ในความรับผิดชอบของ อปท. จำนวน 10 อปท. หรือคิดเป็นร้อยละ 66.67ของ อปท. ที่มีกลุ่มผู้ใช้น้ำ และ 3) ไม่มีกองทุนของกลุ่มไว้ใช้จ่ายในสิ่งที่จำเป็น จำนวน 11 สถานีอยู่ในความรับผิดชอบของ อปท. จำนวน 7อปท. หรือคิดเป็นร้อยละ 46.67 ของ อปท. ที่มีกลุ่มผู้ใช้น้ำ
3. ภารกิจงานประสานจัดตั้งสหกรณ์ผู้ใช้น้ำการรวมตัวเป็นกลุ่มผู้ใช้น้ำและพัฒนาเป็นสหกรณ์ผู้ใช้น้ำ เป็นการเพิ่มศักยภาพในการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกันภายในสหกรณ์ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ลดข้อพิพาท และสร้างความเป็นธรรมแก่สมาชิกสหกรณ์ผู้ใช้น้ำ ตลอดจนเป็นการแบ่งเบาภาระของภาครัฐได้ ซึ่งจากการตรวจสอบสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าที่มีกลุ่มผู้ใช้น้ำ จำนวน 23 สถานีพบว่า ไม่มีการพัฒนากลุ่มผู้ใช้น้ำให้เป็นสหกรณ์ผู้ใช้น้ำจำนวน 20 สถานี หรือคิดเป็นร้อยละ 86.96 ของสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าที่มีกลุ่มผู้ใช้น้ำ ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของ อปท. จำนวน 14 อปท. หรือคิดเป็นร้อยละ 93.33 ของ อปท. ที่มีกลุ่มผู้ใช้น้ำที่สถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้ายังมีการใช้งาน
การที่การบริหารจัดการสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าของ อปท. ที่ตรวจสอบตามภารกิจที่ได้รับการถ่ายโอนไม่มีคุณภาพตามมาตรฐานการบริการสาธารณะที่กำหนด ย่อมส่งผลกระทบทำให้สถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าที่ถ่ายโอนภารกิจมาให้กับ อปท. มีความเสี่ยงที่จะไม่สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างยั่งยืน ส่งผลต่อภาระทางงบประมาณของ อปท. ต่อไปในระยะยาว
นอกจากนี้ยังทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมและไม่เท่าเทียมแก่ประชาชนในการเข้าถึงบริการสาธารณะที่มีคุณภาพมาตรฐาน ทำให้การอุดหนุนงบประมาณให้แก่ อปท. เพื่อสนับสนุนการให้บริการสาธารณะการบริหารจัดการสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าตามแผนปฏิบัติการเพื่อกำหนดขั้นตอนการกระจายอำนาจทางการเงิน การคลัง และงบประมาณให้แก่ อปท. เป็นไปอย่างไม่คุ้มค่า
ทั้งนี้มี สาเหตุสำคัญเกิดจากสำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัด ไม่มีการส่งเสริมความรู้ความเข้าใจและติดตามประเมินผลการดำเนินงานการบริหารจัดการภารกิจสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าที่ถ่ายโอนให้อปท.โดยครบถ้วนตามภารกิจ ทำให้ไม่ทราบถึงข้อมูลเชิงลึกที่ส่งผลกระทบหรือเป็นปัญหาอุปสรรคข้อจำกัดต่าง ๆ ต่อการบริหารจัดการภารกิจสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าของ อปท. และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) ไม่ได้ปรับปรุงฐานข้อมูลสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าของ อปท. ตามการถ่ายโอนภารกิจให้ถูกต้อง ครบถ้วน และเป็นปัจจุบันทำให้ขาดข้อมูลที่นำมาใช้ในการกำกับดูแล สนับสนุน หรือพัฒนาขีดความสามารถให้กับ อปท. และการปรับปรุงแก้ไขปัญหาให้การบริหารจัดการสถานีสูบน้ำ
ข้อเสนอแนะ
เพื่อให้การบริหารจัดการสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าของ อปท. ตามภารกิจที่ได้รับการถ่ายโอนเป็นไปอย่างมีคุณภาพตามมาตรฐานการให้บริการสาธารณะ ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินมีข้อเสนอแนะให้อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นพิจารณาดำเนินการ ดังนี้
1. สั่งการให้สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัดติดตามผลและสำรวจรวบรวมสภาพปัญหาอุปสรรคหรือข้อจำกัดของ อปท. ที่มีภารกิจถ่ายโอนสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าในการบริหารจัดการสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าที่เป็นภารกิจถ่ายโอนของ อปท. ที่พบว่าไม่มีคุณภาพตามมาตรฐานการบริการสาธารณะ และรายงานที่ประชุมคณะอนุกรรมการอำนวยการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับจังหวัดทราบ และพิจารณาแก้ไขปัญหาอุปสรรคให้อปท. สามารถบริหารจัดการภารกิจถ่ายโอนสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าได้ต่อไปอย่างมีประสิทธิภาพ มีคุณภาพ มาตรฐานและให้สถ. รวบรวมผลการพิจารณาแนวทางของคณะอนุกรรมการอำนวยการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับจังหวัด รายงานให้คณะกรรมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทราบ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาตามอำนาจหน้าที่ต่อไป
2. จัดทำแนวทาง วิธีการและขั้นตอนการดำเนินการเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาการถ่ายโอนสถานีสูบน้ำให้แก่ อปท. ทั้ง 3 ภารกิจ รวมถึงกรณีปัญหาที่เกินศักยภาพของ อปท. โดยให้พิจารณารวบรวมมติของคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และมติของคณะอนุกรรมการอำนวยการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับจังหวัด ให้เห็นเป็นกรณีตัวอย่างประกอบร่วมด้วย เพื่อให้อปท. ยึดถือเป็นแนวทางปฏิบัติอย่างเดียวกันในกรณีที่พบปัญหาอุปสรรคแต่ละรูปแบบที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงานตามภารกิจ และพิจารณาหาแนวทางเพิ่มช่องทางในการสอบถาม ปรึกษาปัญหา และขอคำแนะนำ ที่ อปท. สามารถเข้าถึงได้โดยง่ายพร้อมทั้งแจ้งเวียนให้อทป. ทุกแห่งทราบ
3. ปรับปรุงฐานข้อมูลสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าของ อปท. ตามการถ่ายโอนภารกิจ ให้ถูกต้องเป็นปัจจุบัน ตรงตามข้อเท็จจริงและเพิ่มการจัดเก็บข้อมูลที่จำเป็น และสำคัญต่อการสนับสนุน ส่งเสริมและพัฒนาขีดความสามารถของ อปท. ตามภารกิจงานที่ได้รับการถ่ายโอนที่ต้องดำเนินการให้สำเร็จเช่น ข้อมูลการมีอยู่หรือการจัดตั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำ หรือข้อมูลการพัฒนากลุ่มผู้ใช้น้ำเป็นสหกรณ์ผู้ใช้น้ำข้อมูลพนักงานสูบน้ำหรือลูกจ้างที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลสถานีสูบน้ำ และข้อมูลสถานภาพการใช้ประโยชน์สถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า ทั้งนี้เพื่อให้มีฐานข้อมูลที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการพัฒนาและวางแผนการบริหารจัดการสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า การวางแผนการกระจายอำนาจทางการเงิน และงบประมาณให้แก่อปท. ให้เป็นไปอย่างคุ้มค่า และเกิดประโยชน์อย่างแท้จริงต่อประชาชนในท้องถิ่น
ข้อตรวจพบที่ 2 การจัดบริการสาธารณะด้านงานสูบน้ำด้วยไฟฟ้าขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่กำหนด
โครงการสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าที่ อปท. ได้รับการถ่ายโอนภารกิจและบุคลากรส่วนหนึ่งจากกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการใช้พลังงานไฟฟ้าให้เป็นประโยชน์ด้านการเกษตร และสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลในการเร่งรัดขจัดปัญหาความแห้งแล้งของประเทศในพื้นที่ที่อยู่นอกเขตชลประทานด้วยการจัดตั้งสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าขึ้นบริเวณริมฝั่งของแหล่งน้ำที่มีความบริบูรณ์ตลอดทั้งปีทั่วประเทศ และมีเป้าหมายในการส่งน้ำให้เกษตรกรทำการเพาะปลูกได้ตลอดทั้งปี
จากการตรวจสอบผลการดำเนินงานการบริหารจัดการโครงการสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าที่กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ถ่ายโอนภารกิจให้แก่ อปท. ที่ตรวจสอบจำนวน 21 อปท. ในพื้นที่ของ 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดระยอง จังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดขอนแก่นจังหวัดแพร่ และจังหวัดชุมพร สถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าที่ตรวจสอบ จำนวน 39 สถานี
พบว่าสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าบางแห่งไม่สามารถใช้งานได้และมีครุภัณฑ์ที่ชำรุด สูญหาย และการจัดบริการด้านการสูบน้ำด้วยไฟฟ้ายังไม่ครอบคลุมและทั่วถึงตามพื้นที่ที่กำหนด ดังนี้
2.1 สถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าบางแห่งไม่สามารถใช้งานได้และมีครุภัณฑ์ที่ชำรุด สูญหายจากการตรวจสอบสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าในความรับผิดชอบของ อปท. จำนวน 21 อปท.ของพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่จังหวัดระยอง อุบลราชธานี ขอนแก่น แพร่ และชุมพร รวมสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าจำนวน 39 สถานี พบว่า สถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้ามีสภาพใช้งานได้เป็นปกติ จำนวน 9 สถานีคิดเป็นร้อยละ 23.08 ของสถานีที่ตรวจสอบ สถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้ามีสภาพไม่สามารถใช้งานได้จำนวน 9 สถานีคิดเป็นร้อยละ 23.08 ของสถานีที่ตรวจสอบ และ สถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้ามีสภาพใช้งานได้แต่ไม่เต็มประสิทธิภาพ เนื่องจากมีครุภัณฑ์บางส่วนที่ชำรุด เสียหาย จำนวน 21 สถานีคิดเป็นร้อยละ 53.84
2.2 การจัดบริการด้านการสูบน้ำด้วยไฟฟ้ายังไม่ครอบคลุมและทั่วถึงตามพื้นที่ที่กำหนดจากการตรวจสอบการบริหารกิจการสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า ของ อปท. ที่ตรวจสอบ จำนวน21 อปท. จำนวน 30 สถานีพบว่า 1) การบริการสูบน้ำด้วยไฟฟ้าของ อปท. ครอบคลุมพื้นที่และ/หรือให้บริการส่งน้ำได้มากกว่าพื้นที่กำหนด จำนวน 4 สถานี และ 2) การบริการสูบน้ำด้วยไฟ้ฟ้าของ อปท. ยังไม่ครอบคลุมพื้นที่ให้บริการตามพื้นที่ที่กำหนดไว้จำนวน 26 สถานีในจำนวนสถานีที่ยังให้บริการไม่ครอบคลุมพื้นที่ พบว่า มีเกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่บริการมีความต้องการใช้น้ำเพื่อการทำเกษตรกรรม แต่ระบบการส่งน้ำ เช่น ท่อส่งน้ำ ลำราง เพื่อลำเลียงน้ำจากสถานีสูบน้ำยังไม่ครอบคลุม ทั่วถึงพื้นที่การเพาะปลูก จำนวน 16 สถานี และเกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่บริการแต่ไม่มีความต้องการใช้น้ำจากสถานีสูบน้ำด้วยฟ้า จำนวน 10 สถานี
การจัดบริการสาธารณะด้านงานสูบน้ำด้วยไฟฟ้าของ อปท. ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่กำหนดส่งผลกระทบที่สำคัญให้ประชาชน/เกษตรกรผู้ใช้น้ำในพื้นที่เป้าหมายโครงการมีผลผลิตทางเกษตรลดลงจากการขาดแคลนน้ำ และขาดรายได้จากการปลูกพืชนอกฤดูทำนาซึ่งสามารถปลูกพืชชนิดอื่นได้ เช่น ข้าวโพด หรือการทำนานอกฤดูกาล และยังประสบความเดือดร้อนจากการไม่ได้ใช้น้ำหรือใช้น้ำไม่เพียงพอ ส่งผลให้บางพื้นที่เพาะปลูกยังประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำในการประกอบอาชีพการเกษตรกร
โดยสาเหตุสำคัญเกิดจากภายหลังการถ่ายโอนภารกิจโครงการสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า ผู้บริหารของ อปท. ขาดการกำกับดูแลการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ประจำสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า ให้ปฏิบัติตามคู่มือในเรื่องการดูแลบำรุงรักษาสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าที่ต้องดำเนินการอย่างเป็นประจำ อปท. ขาดการสำรวจความต้องการใช้น้ำของประชาชนในพื้นที่เพื่อทราบถึงความจำเป็นในการใช้ประโยชน์สถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า และ อปท. ขาดการส่งเสริมให้เกิดข้อตกลงเกี่ยวกับการใช้น้ำร่วมกัน
ข้อเสนอแนะ
เพื่อให้การจัดบริการสาธารณะด้านงานสูบน้ำด้วยไฟฟ้าของ อปท. เป็นไปตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่กำหนดไว้ ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินมีข้อเสนอแนะให้อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นพิจารณาดำเนินการ ดังนี้
1. กำชับและส่งเสริมผู้บริหาร ของ อปท. ที่ได้รับโอนภารกิจสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า ให้กำกับดูแลการปฏิบัติงาน ของพนักงานประจำสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า ปฏิบัติงานให้เป็นไปตามคู่มือการบำรุงรักษาสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า โดยดูแล ซ่อมแซม วัสดุอุปกรณ์อย่างเป็นประจำ สม่ำเสมอในกรณีที่การซ่อมแซมบางรายการเกินศักยภาพของ อปท. ให้ขอคำปรึกษา หรือหากับกรมชลประทาน(หน่วยงานเจ้าของภารกิจเดิม) ตามระเบียบกรมชลประทานว่าด้วยการถ่ายโอนภารกิจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2553 ข้อ 13 ภายหลังการถ่ายโอนภารกิจ ให้สำนักชลประทานและโครงการชลประทานช่วยเหลือ สนับสนุน ให้คำแนะนำ และคำปรึกษาทางเทคนิค วิชาการแก่ อปท.ตามที่ได้รับการร้องขอหรือตามความเหมาะสม
2. แจ้งให้อปท. ได้รับโอนภารกิจสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า ดำเนินการสำรวจความต้องการใช้น้ำจากสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าของประชาชนในพื้นที่ ตลอดจนสภาพปัญหาเกี่ยวกับการใช้งานสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า เพื่อพัฒนาปรับปรุงหรือรายงานต่อคณะอนุกรรมการอำนวยการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับจังหวัดพิจารณาแล้วแต่กรณี
3. กำชับให้ อปท. ได้รับโอนภารกิจสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า ดำเนินการสนับสนุน ส่งเสริมให้เกิดข้อตกลงในการใช้น้ำระหว่างสมาชิกกลุ่มผู้ใช้น้ำ เพื่อประโยชน์ของ อปท. ในการบริหารงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เกิดความเป็นธรรมกับสมาชิกผู้ใช้น้ำ และตอบสนองความต้องการใช้น้ำของประชาชนในพื้นที่อย่างทั่วถึง
ทั้งหมดนี้ คือ บทสรุปในรายงานผลการตรวจสอบของ สตง. ต่อกรณีการบริหารจัดการสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า ของ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในช่วงปี 2563 - 2564 ที่ใช้วงเงินงบประมาณสูงถึง 3,286.39 ล้านบาท
ส่วนผลการแก้ไขปัญหาจากนี้ จะเป็นอย่างไร ต้องขอติดตามดูกันต่อไป