"...เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยเบิกจ่ายเงินค่าตอบแทนกรรมการตัดสินกีฬาไปทั้งสิ้น 82,800 บาท แต่นำไปจ่ายให้แก่กรรมการตัดสินกีฬา 57,600 บาท โดยจำเลยไม่ได้นำส่วนต่าง 25,200 บาท ส่งคืนองค์การบริหารส่วนตำบลเรียง การกระทำของจำเลยซึ่งเป็นผู้มีอำนาจเบิกจ่ายและส่งใช้เงินยืมขององค์การบริหารส่วนตำบลเรียง จึงเป็นความผิดฐานเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์..."
กรณี น.ส.วนิดา ยิมะตะโละ อดีตปลัดองค์การบริหารส่วนตําบลเรียง (อบต.เรียง) อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส ถูกศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 9 มีคำพิพากษาตัดสินลงโทษจำคุก เป็นระยะเวลา 2 ปี 6 เดือน และปรับ 50,000 บาท หลังเจ้าตัวรับสารภาพ จากการกระทำความผิดในคดียักยอกเงินเบิกจ่ายค่าตอบแทนกรรมการตัดสินกีฬาในโครงการแข่งขันกีฬาต่อต้านยาเสพติดปีงบประมาณ 2560 ขององค์การบริหารส่วนตำบลเรียง ไม่ตรงกับที่จ่ายจริง แต่ได้รอการลงโทษจำคุกไว้ 2 ปี ให้คุมความประพฤติจำเลย 1 ปี โดยให้ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 4 ครั้ง ให้จำเลยกระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณะประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติเห็นสมควรเป็นเวลา 24 ชั่วโมง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 นั้น
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานไปแล้วว่า คดีนี้นับเป็นคดีที่สอง ต่อจากคดีแรก เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2565 ที่ น.ส.วนิดา ถูกศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 9 พิพากษาตัดสินลงโทษจำคุก 2 ปี 6 เดือน ปรับ 50,000 บาท แต่รอลงอาญา 2 ปี หลังเจ้าตัวรับสารภาพ จากคดีทุจริตในการตรวจรับงานจ้างและเบิกจ่ายเงินค่าจ้างเหมารถตู้ โครงการอบรมเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารงานของผู้บริหาร สมาชิกสภาฯ พนักงาน และพนักงานจ้างของ อบต.เรียง ปีงบประมาณ 2560 เช่นกัน
โดยข้อมูลในส่วนคดีที่สอง กรณีการยักยอกเงินเบิกจ่ายค่าตอบแทนกรรมการตัดสินกีฬาในโครงการแข่งขันกีฬาต่อต้านยาเสพติดปีงบประมาณ 2560 นั้น
เหตุผลที่ศาลฯ มีคำพิพากษาตัดสินให้รอการลงโทษ เป็นเพราะไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยรับโทษจำคุกมาก่อน เมื่อคำนึงถึงอายุ ประวัติ การศึกษาอบรม สภาพความผิด การรู้สึกความผิด และการพยายามบรรเทาผลร้ายที่เกิดขึ้น โดยการชดใช้เงินคืนแก่ผู้เสียหายแล้ว เพื่อให้โอกาสจำเลยกลับตัวเป็นพลเมืองดีต่อไป
- รอลงอาญาคุก 2 ปี 6 ด.! อดีตปลัด อบต.เรียง นราธิวาส ทุจริตเบิกเงินเหมารถตู้อบรม
- คดีสอง! อดีตปลัด อบต.เรียง นราฯ ยักยอกเงิน กก.ตัดสินกีฬา คุก 2 ปี 6 ด.ได้รอลงอาญาอีก
ทั้งนี้ เพื่อให้สาธารณชนได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับคดีการยักยอกเงินเบิกจ่ายค่าตอบแทนกรรมการตัดสินกีฬาฯ มากขึ้น
สำนักข่าวอิศรา นำรายละเอียดคำพิพากษาโดยสรุปและพฤติการณ์การกระทำความผิดของ น.ส.วนิดา ยิมะตะโละ มาเสนอเป็นทางการ ณ ที่นี้
ขณะเกิดเหตุ น.ส.วนิดา ยิมะตะโละ จำเลย ดำรงตำแหน่ง ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลเรียง อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส
นาย ม. นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเรียง อนุมัติโครงการแข่งขันกีฬาต่อต้านยาเสพติด ครั้ง 21 ประจำปี 2560 ในระหว่างวันที่ 19 เมษายน 2560 ถึง 29 เมษายน 2560 ณ สนามกีฬาเรียงราษฎร์อุปถัมป์ หมู่ที่ 8 มีจัดแข่งขันกีฬา 4 ประเภท ได้แก่ ฟุตบอลเยาวชน ฟุตบอลอาวุโส วอลเล่ย์บอลหญิง และเซปักตะกร้อ
ก่อนการแข่งขันกีฬาตามโครงการดังกล่าว ประมาณกลางเดือนมีนาคม 2560 ที่ประชุมสภาองค์การบริหารส่วนตำบลเรียง มีมติให้จ่ายค่าตอบแทนกรรมการตัดสินกีฬา 4 ชนิดกีฬา เป็นจำนวน 400 บาท ต่อคนต่อวัน รวม 9 วัน
โดยมอบหมายให้จำเลยเป็นผู้ดำเนินการเบิกจ่ายเงินค่าตอบแทนกรรมการตัดสินกีฬา และให้นาย ฟ. สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลเรียง เป็นผู้จัดหากรรมการตัดสินและจ่ายค่าตอบแทนให้กรรมการตัดสินกีฬาทั้ง 4 ประเภท
ต่อมา วันที่ 25 เมษายน 2560 จำเลย ส่งเอกสารการยืมเงินเพื่อเบิกค่าตอบแทนกรรมการตัดสินและค่าเงินรางวัล จำนวน 157,800 บาท พร้อมโครงการแข่งขันกีฬาต่อต้านยาเสพติด ประจำปี 2560 ให้นางสาว ฟ. ผู้อำนวยการกองคลัง เพื่อเบิกจ่ายเงิน โดยนางสาว ฟ. ได้จัดทำฎีกายืมเงิน และออกเช็คสั่งจ่ายให้จำเลยในวันเดียวกัน
จากนั้น จำเลยให้ นาย ฟ. นำใบสำคัญรับเงิน จำนวน 16 แผ่น ที่นางสาว ล. เป็นผู้จัดทำโดยยังไม่ได้ระบุวันที่ไปให้กรรมการตัดสินตามใบสำคัญรับเงินทั้ง 16 คน ลงนามในใบสำคัญรับเงินล่วงหน้าก่อนมีการจ่ายเงินค่าตอบแทนกรรมการจริง
โดยนาย ฟ. และกรรมการตัดสินกีฬาทั้ง 16 คน ไม่ได้ตรวจสอบจำนวนเงินในใบสำคัญรับเงินว่าเป็นจำนวนเท่าใด
จำเลยได้ดำเนินการจ่ายเงินค่าตอบแทนให้กรรมการตัดสินกีฬาทั้ง 4 ประเภท 2 ครั้ง ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2560 มอบเงินค่าตอบแทนกรรมการตัดสินให้นาย ฟ. นำไปจ่ายให้กรรมการตัดสินเป็นเงินสด 4 ประเภท กีฬา ๆ ละ 4 คน คนละ 400 บาท จำนวน 6 วัน รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 38,400 บาท ครั้งที่ 2 วันที่ 27 เมษายน 2560 มอบเงินค่าตอบแทนกรรมการตัดสินเป็นเงินสดใส่ซองจดหมายให้นาย ฟ. นำไปจ่ายให้กรรมการตัดสิน 4 ประเภทกีฬา ๆ ละ 4 คน คนละ 400 บาท จำนวน 3 วัน รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 19,200 บาท
ต่อมา วันที่ 2 พฤษภาคม 2560 จำเลยดำเนินการส่งใช้เงินยืมโดยนำใบสำคัญรับเงินของคณะกรรมการตัดสินกีฬาที่ตนเองยังไม่ได้ลงชื่อในช่องผู้จ่ายเงินเสนอให้นางสาว ฟ. ตรวจสอบอีกครั้ง
ซึ่งปรากฏตามฎีกาเบิกเงินรายจ่ายว่ามีการส่งใช้เงินยืมโครงการแข่งขันกีฬาต่อต้านยาเสพติดครั้งที่ 21 พร้อม เบิกเงินเพิ่ม 2,000 บาท
หลังจากเบิกจ่ายค่าตอบแทนกรรมการตัดสินกีฬาแล้ว นาย ช. รองประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบลเรียง ตรวจดูฎีกาเบิกจ่ายเงินในส่วนค่าตอบกรรมการตัดสินกีฬา
พบว่ามีการเบิกจ่ายเงินค่าตอบแทนกรรมการตัดสินไม่ตรงกับความเป็นจริง และไม่ตรงกับมติที่ประชุมสภาองค์การบริหารส่วนตำบลเรียงที่ให้จ่ายค่าตอบแทนกรรมการตัดสินกีฬา ดังนี้
1. ค่ากรรมการตัดสินกีฬาฟุตบอลเยาวชน 4 คน คนละ 7,200 บาท รวมเป็นเงิน 28,800 บาท (800 บาท ต่อคนต่อวัน 9 วัน) แต่จ่ายจริงเป็นเงิน 14,400 บาท
2. ค่ากรรมการตัดสินกีฬาฟุตบอลอาวุโส 4 คน คนละ 5,400 บาท รวมเป็นเงิน 21,600 บาท (600 บาท ต่อคนต่อวัน 9 วัน) แต่จ่ายจริงเป็นเงิน 14,400 บาท
3. ค่ากรรมการตัดสินกีฬาวอลเลย์บอล 4 คน คนละ 4,500 บาท รวมเป็นเงิน 18,000 บาท (500 บาท ต่อคนต่อวัน 9 วัน) แต่จ่ายจริงเป็นเงิน 14,400 บาท
4. ค่ากรรมการตัดสินกีฬาเซปักตะกร้อ 4 คน คนละ 3,600 บาท รวมเป็นเงิน 14,400 บาท (400 บาท ต่อคนต่อวัน 9 วัน) รวมเป็นเงิน 82,800 บาท
แต่กรรมการตัดสินกีฬาได้รับเงินจริง 57,600 บาท
ดังนั้น การที่จำเลยเบิกจ่ายเงินค่าตอบแทนกรรมการตัดสินกีฬาในโครงการแข่งขันกีฬาต่อต้านยาเสพติดปีงบประมาณ 2560 ขององค์การบริหารส่วนตำบลเรียง ไม่ตรงกับที่จ่ายจริง
เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยเบิกจ่ายเงินค่าตอบแทนกรรมการตัดสินกีฬาไปทั้งสิ้น 82,800 บาท แต่นำไปจ่ายให้แก่กรรมการตัดสินกีฬา 57,600 บาท โดยจำเลยไม่ได้นำส่วนต่าง 25,200 บาท ส่งคืนองค์การบริหารส่วนตำบลเรียง
การกระทำของจำเลยซึ่งเป็นผู้มีอำนาจเบิกจ่ายและส่งใช้เงินยืมขององค์การบริหารส่วนตำบลเรียง จึงเป็นความผิดฐานเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์
@ องค์การบริหารส่วนตำบลเรียง อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส
ศาลพิเคราะห์แล้ว พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 147, 157, 162 (1) (4) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 123/1 การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90
จำคุก 5 ปี และปรับ 100,000 บาท
จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 2 ปี 6 เดือน และปรับ 50,000 บาท
ไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยรับโทษจำคุกมาก่อน
เมื่อคำนึงถึงอายุ ประวัติ การศึกษาอบรม สภาพความผิด การรู้สึกความผิด และการพยายามบรรเทาผลร้ายที่เกิดขึ้น โดยการชดใช้เงินคืนแก่ผู้เสียหายแล้ว เพื่อให้โอกาสจำเลยกลับตัวเป็นพลเมืองดีต่อไป ให้รอการลงโทษจำคุกไว้ 2 ปี ให้คุมความประพฤติจำเลย 1 ปี โดยให้ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 4 ครั้ง ให้จำเลยกระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณะประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติเห็นสมควรเป็นเวลา 24 ชั่วโมง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56
หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
ส่วนที่โจทก์ขอให้จำเลยคืนเงิน 25,200 บาท ที่ยังไม่คืนให้แก่องค์การบริหารส่วนตำบลเรียงผู้เสียหายนั้น เมื่อได้ความว่าจำเลยชดใช้เงินจำนวนดังกล่าวคืนให้แก่ผู้เสียหายแล้ว
จึงให้ยกคำขอส่วนนี้.
อย่างไรก็ดี สำนักข่าวอิศรา รายงานไปแล้วว่า เกี่ยวกับคดีที่สองนี้ยังไม่มีรายงานข่าวว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชุดใหญ่ ได้มีการประชุมหารือผลคำพิพากษาคดีนี้ไปแล้วหรือไม่ เนื่องจากคดีนี้ นับเป็นคดีที่ 2 ที่ศาลฯ มีคำสั่งรอการลงโทษจำคุกจำเลย
ส่วนคดีแรก กรณีการทุจริตในการตรวจรับงานจ้างและเบิกจ่ายเงินค่าจ้างเหมารถตู้ นั้น
เบื้องต้น คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีการประชุมเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2565 มีมติเห็นชอบให้อัยการสูงสุด (อสส.)อุทธรณ์คำพิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 9 ในประเด็นรอการลงโทษจำเลย
ผลการตัดสินคดีในชั้นอุทธรณ์ จะออกมาเป็นอย่างไร ต้องคอยติดตามดูกันต่อไป