"...การลงทุนพันธบัตรและตราสารหนี้ระยะยาว (ต่างประเทศ) มีมูลค่า 1.85 ล้านล้านบาท เทียบกับปี 2564 ที่มีมูลค่า 2.57 ล้านล้านบาท หรือมูลค่าลดลงประมาณ 7.21 แสนล้านบาท ในขณะที่มูลค่าตั๋วเงินคลังและตราสารหนี้ระยะสั้น มีจำนวน 6.24 แสนล้านบาท ลดลงเล็กน้อยจากปี 2564 ที่มูลค่า 6.33 แสนล้านบาท..."
.........................................
เมื่อเร็วๆนี้ เว็บไซต์ธนาคารแห่งประเทศ (ธปท.) ได้เผยแพร่ ‘รายงานของผู้สอบบัญชีและงบการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย’ ณ สิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค.2565 โดยสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ซึ่งคณะกรรมการ ธปท. มีมติอนุมัติให้ออกงบการเงินดังกล่าว เมื่อวันที่ 22 มี.ค.2566 ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ ในรายงานของผู้สอบบัญชีและงบการเงินของ ธปท. ฉบับนี้ นอกจากจะแสดงฐานะการเงินของ ธปท. ณ วันที่ 31 ธ.ค.2565 งบกำไรขาดทุน งบกำหนดขาดทุนเบ็ดเสร็จ งบแสดงการเปลี่ยนแปลงส่วนของทุน และงบกระแสเงินสดแล้ว ยังได้ระบุแนวทางการบริหารความเสี่ยงของ ธปท. มีรายละเอียดที่น่าสนใจ ดังนี้
@กำไรสุทธิ 1.91 แสนล้าน-ขาดทุนสะสมลดเหลือ 7.66 แสนล.
งบแสดงฐานะการเงิน
ณ วันที่ 31 ธ.ค.2565 ธปท. มีสินทรัพย์รวม 5.37 ล้านล้านบาท เทียบกับปี 64 มีสินทรัพย์ 6.27 ล้านล้านบาท มีหนี้สินรวม 6.07 ล้านล้านบาท เทียบกับปี 64 มีสินทรัพย์ 6.83 ล้านล้านบาท
และมีการขาดทุนสะสม 7.66 แสนล้านบาท ลดลงจากปี 2564 ที่มีการขาดทุนสะสม 9.57 แสนล้านบาท หรือขาดทุนสะสมลดลง 1.91 แสนล้านบาท อย่างไรก็ตาม ผลการขาดทุนสะสมดังกล่าว ไม่มีผลกระทบต่อความสามารถในการดำเนินงานต่อเนื่องของ ธปท. แต่อย่างใด
งบกำไรขาดทุน
สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค.2565 ธปท.มีรายได้รวม 2.47 แสนล้านบาท เทียบกับปี 2564 ที่มีรายได้รวม 1.80 แสนล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 6.73 หมื่นล้านบาท โดยรายได้ที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวมาจาก 2 ส่วนหลักๆ ได้แก่
1.รายได้ดอกเบี้ยรับที่เพิ่มขึ้นเป็น 9.12 หมื่นล้านบาท เทียบกับปี 2564 ที่มีรายรับดอกเบี้ย 6.74 หมื่นล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 2.37 หมื่นล้านบาท
2.รายได้กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศสุทธิที่มีจำนวน 1.42 แสนล้านบาท เทียบกับปี 2564 ที่มีรายรับดอกเบี้ย 4.69 หมื่นล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 9.55 หมื่นบาท
ส่วนค่าใช้จ่ายรวม มีจำนวน 5.66 หมื่นล้านบาท (ปี 2564 ที่มีค่าใช้จ่ายรวม 4.51 หมื่นล้านบาท) ส่งผลให้ในปี 2565 ธปท.มีกำไรสุทธิ 1.91 แสนล้านบาท เทียบกับปี 2564 ที่มีกำไรสุทธิ 1.35 แสนล้านบาท หรือมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 5.57 หมื่นล้านบาท
@ขาดทุนจากการตีมูลค่า ‘สินทรัพย์ฯ’ บัญชีเงินสำรอง 3.29 แสนล.
อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณางบกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จ สำหรับปีสิ้นสุด วันที่ 31 ธ.ค.2565 พบว่า ในปี 2565 ธปท.มีผลขาดทุนเบ็ดเสร็จรวม 1.38 แสนล้านบาท เทียบกับปี 2564 มีผลกำไรเบ็ดเสร็จรวม 6.44 แสนล้านบาท
โดยมีรายการสำคัญ คือ รายการที่จัดประเภทรายการใหม่เข้าไปไว้ในกำไรหรือขาดทุนภายหลัง ที่มีผลการขาดทุนในส่วนการเปลี่ยนแปลงในบัญชีเงินสำรองอันเกิดจากการตีราคาสินทรัพย์และหนี้สิน จำนวน 3.29 แสนล้านบาท เทียบกับปี 2564 ที่มีกำไรในส่วนนี้ จำนวน 5.08 แสนล้านบาท
ส่วนรายการที่ไม่จัดประเภทรายการใหม่เข้าไปไว้ในกำไรหรือขาดทุนภายหลัง แม้ว่าในการเปลี่ยนแปลงในบัญชีเงินสำรองอันเกิดจากการตีราคาสินทรัพย์และหนี้สิน จะมีกำไรจำนวน 9.5 หมื่นล้านบาท แต่ลดลงจากปี 2564 ที่มีกำไรในส่วนนี้ 4.28 แสนล้านบาท
@มูลค่า‘พันธบัตร-ตราสารหนี้ระยะยาว’ต่างปท.ลดลง 7 แสนล.
นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาในส่วนเงินลงทุนในหลักทรัพย์ในประเทศและต่างประเทศ พบว่า ในปี 2565 ธปท.มีการลงทุนหลักทรัพย์ในประเทศ (ราคาทุนตัดจำหน่าย) ได้แก่ พันธบัตรรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจ คิดเป็นมูลค่า 4.41 แสนล้านบาท เทียบกับปี 2564 ที่มีการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจ 4.37 แสนล้านบาท
ส่วนมูลค่าเงินลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ (มูลค่ายุติธรรม) ในปี 2565 ธปท.ลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศรวม 3.06 ล้านล้านบาท ลดลงจากปี 2564 ที่มีมูลค่าการลงทุนหลักทรัพย์ต่างประเทศ 3.87 ล้านล้านบาท หรือลดลงประมาณ 8.1 แสนล้านบาท
โดยเฉพาะการลงทุนพันธบัตรและตราสารหนี้ระยะยาว (ต่างประเทศ) มีมูลค่า 1.85 ล้านล้านบาท เทียบกับปี 2564 ที่มีมูลค่า 2.57 ล้านล้านบาท หรือมีมูลค่าลดลงประมาณ 7.21 แสนล้านบาท ในขณะที่มูลค่าตั๋วเงินคลังและตราสารหนี้ระยะสั้น มีจำนวน 6.24 แสนล้านบาท ลดลงเล็กน้อยจากปี 2564 ที่มูลค่า 6.33 แสนล้านบาท
@สินทรัพย์ส่วนใหญ่เป็น ‘เงินตราต่างประเทศ’ มีผลต่องบการเงิน
การบริหารความเสี่ยงของ ธปท.
1.การบริหารความเสี่ยงทางการเงิน
1) ความเสี่ยงหลักที่มีผลต่องบการเงินของ ธปท.
ธปท. ในฐานะธนาคารกลาง มีบทบาทหน้าที่ในการดำเนินนโยบายการเงินและดูแลเสถียรภาพค่าเงินบาทเพื่อสร้างความเชื่อมั่นของสาธารณชนต่อความมีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเงินของประเทศ บทบาทหน้าที่นี้ ก่อให้เกิดความเสี่ยงหลักต่องบการเงินของ ธปท. ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ คือ ความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และความเสี่ยงจากอัตราดอกเบี้ย
ความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน (Foreign Exchange Rate Risk) ต่องบการเงิน เป็นผลมาจากการที่สินทรัพย์ของ ธปท. ประกอบด้วย สินทรัพย์ที่เป็นเงินตราต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่
ในขณะที่หนี้สินส่วนใหญ่ของ ธปท. อยู่ในสกุลเงินบาท และความเสี่ยงจากอัตราดอกเบี้ย (Interest Rate Risk) เกิดจากการที่อัตราดอกเบี้ยภายในประเทศที่ ธปท. ต้องจ่ายอันเป็นผลจากการดำเนินนโยบายการเงิน อาจแตกต่างจากอัตราดอกเบี้ยที่ ธปท.ได้รับจากการลงทุนในต่างประเทศ
@แผนบริหาร‘ทุนสำรอง’ เน้นรักษามูลค่า-กระจายความเสี่ยง
2) การบริหารความเสี่ยงทางการเงินของเงินสำรองระหว่างประเทศ
ในการบริหารเงินสำรองระหว่างประเทศ ธปท. คำนึงถึง ความมั่นคง สภาพคล่อง และผลตอบแทนของสินทรัพย์ ตลอดจนความเสี่ยงในการบริหารจัดการเป็นสำคัญ ซึ่งการนำเงินสำรองระหว่างประเทศไปลงทุนในสินทรัพย์ต่างประเทศนั้น จะส่งผลให้เกิดฐานะเปิดต่อความเสี่ยงทางการเงิน เช่น ความเสี่ยงด้านตลาด (Market Risk) ความเสี่ยงด้านเครดิต (Credit Risk) และความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง (Liquidity Risk)
วัตถุประสงค์หลักในการบริหารความเสี่ยงทางการเงิน เพื่อลดผลกระทบต่อการบริหารเงินสำรองระหว่างประเทศ มีดังนี้
ก.รักษามูลค่าของเงินสำรองระหว่างประเทศเมื่อวัดค่าตามสกุลเงินหลักที่มีความมั่นคงสูง
ข.ความเสี่ยงทางการเงินโดยรวมของเงินสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับที่ยอมรับได้ และมีการกระจายความเสี่ยงที่ดี
ธปท.มีกรอบและแนวทางในการบริหารความเสี่ยง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญที่ช่วยลดผลกระทบที่อาจส่งผลต่อมูลค่าเงินสำรองระหว่างประเทศ ดังนี้
ความเสี่ยงด้านตลาด (Market Risk)
ความเสี่ยงด้านตลาด คือ ความเสี่ยงที่ ธปท. อาจขาดทุนจากการเปลี่ยนแปลงของราคาตลาดซึ่งปัจจัยเสี่ยง (Risk Factor) ที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงด้านตลาดของเงินสำรองระหว่างประเทศ อาจจำแนกได้เป็น 3 ประเภทหลัก
คือ อัตราดอกเบี้ย (Interest Rates) ซึ่งเกิดกับการลงทุนในตราสารหนี้ อัตราแลกเปลี่ยน (Foreign Exchange Rates) ซึ่งเกิดกับการลงทุนในสกุลเงิน และราคาหลักทรัพย์ (Equity Prices) ซึ่งเกิดกับการลงทุนในตราสารทุน
วันที่ 1 ม.ค.2565 ธปท. ได้ดำเนินการปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยที่ใช้อ้างอิงสำหรับเครื่องมือทางการเงิน เช่น ธุรกรรม FX และ Interest Rate Swap (IRS) อันเป็นผลจากการปฏิรูปอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงในตลาดการเงินโลก (Interbank Offered Rate (IBOR) Reform) เช่น ใช้ Secured Overnight Financing Rate (SOFR) แทน USD LIBOR ทั้งนี้ ณ วันที่ 31 ธ.ค.2565 ธปท. ไม่มีสถานะคงเหลือจากธุรกรรมที่ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงไปใช้อัตราดอกเบี้ยอ้างอิงอื่น
ธปท. บริหารความเสี่ยงด้านตลาด โดยการกำหนดองค์ประกอบของสินทรัพย์และสกุลเงินของดัชนีอ้างอิง (Benchmark) ให้มีการเปรียบเทียบระหว่างผลตอบแทนและความเสี่ยงที่เหมาะสม สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการลงทุน และอยู่ภายใต้ระดับความเสี่ยงที่คณะกรรมการ ธปท. กำหนด
ความเสี่ยงด้านตลาดของการบริหารการลงทุน ถูกวัดด้วยค่าความผันผวนของส่วนต่างระหว่างผลตอบแทนของการลงทุนและผลตอบแทนของดัชนีอ้างอิง (Tracking Error) โดย ธปท. มีการกำหนดระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ (Tracking Error Limits) และมีระบบงานที่สามารถควบคุมติดตามการเบี่ยงเบนให้อยู่ภายในระดับความเสี่ยงที่กำหนด
นอกจากนั้น ธปท. ยังมีการทำ Scenario Analysis ซึ่งรวมถึงการทำ Stress Test เพื่อวิเคราะห์และประเมินผลกระทบหรือผลขาดทุนสูงสุดที่อาจเกิดขึ้นจากการลงทุนภายใต้เหตุการณ์หรือสถานการณ์ในทางลบที่รุนแรงที่สามารถเกิดขึ้นภายในระยะเวลาที่กำหนด (Value-at-Risk)
ความเสี่ยงด้านเครดิต (Credit Risk)
ความเสี่ยงด้านเครดิต คือ ความเสี่ยงที่ ธปท. อาจไม่ได้รับการชำระคืนเงินต้นหรือดอกเบี้ย หรือมีผลขาดทุนจากการที่คู่ค้าหรือผู้ออกตราสารไม่สามารถปฏิบัติตามข้อผูกพันที่มีกับ ธปท. ความเสี่ยงนี้ รวมถึงความเสี่ยงที่มูลค่าตลาดของตราสารหนี้ลดลงจากการปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้หรือของผู้ออกตราสารหนี้
ธปท. มีการบริหารความเสี่ยงด้านเครดิต โดยกำหนดเกณฑ์การบริหารความเสี่ยงด้านเครดิตที่รัดกุม เช่น การกำหนดสัดส่วนการลงทุนรวมในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงด้านเครดิต และฐานะเปิดความเสี่ยงต่อคู่ค้ารวมเพื่อควบคุมความเสี่ยงด้านเครดิตในภาพรวมให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม และการกำหนดวงเงินต่อรายคู่ค้าหรือผู้ออกตราสารไม่ให้กระจุกตัวในรายใดรายหนึ่งมากเกินไป
ธปท. มีการวัดและติดตามความเสี่ยงด้านเครดิตผ่านการคำนวณค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected Credit Loss) และการใช้เครื่องชี้แนวโน้มการปรับลดอันดับเครดิตก่อนการปรับลดอันดับเครดิตจริง นอกจากนี้เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงด้านเครดิต
สำหรับธุรกรรมที่ตกลงซื้อขายกันโดยตรง (OTC transactions) ธปท. กำหนดให้มีการทำสัญญาทางการเงินตามมาตรฐานสากลกับคู่ค้า เช่น สัญญา ISDA รวมถึงมีการวางหลักประกันที่มีคุณภาพดีระหว่างกันด้วย
ความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง (Liquidity Risk)
ความสี่ยงด้านสภาพคล่องอาจเกิดจากการที่ ธปท. ไม่สามารถเปลี่ยนสินทรัพย์เป็นเงินสดได้ภายในเวลาที่ต้องการโดยมีต้นทุนที่เหมาะสม ธปท. มีการบริหารความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง โดยกำหนดให้มีการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูง (Highly Liquid Assets) ที่มีขนาดเพียงพอต่อความจำเป็นในการใช้เงินสำรองทางการในการดูแลนโยบายด้านอัตราแลกเปลี่ยน
รวมถึงมีการกำหนดระดับสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องต่ำ (Illiquid Assets) ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม โดยพิจารณาจากการเปรียบเทียบระหว่างประโยชน์ที่ได้รับจากการลงทุนในสินทรัพย์สภาพคล่องต่ำ และผลเสียหายทางการเงินที่อาจเกิดขึ้นจากการที่ต้องขายสินทรัพย์นั้น
นอกเหนือจากแนวทางและเกณฑ์การบริหารความเสี่ยงของเงินสำรองทางการข้างต้น ธปท. โดยฝ่ายบริหารความเสี่ยงทางการเงิน มีการศึกษา ติดตาม พัฒนาการของตลาดและเครื่องมือทางการเงินใหม่ๆ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงในเกณฑ์การกำกับดูแลของทางการในต่างประเทศ และนำมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนางานการบริหารและกำกับดูแลความเสี่ยงทางการเงินอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มั่นใจว่าการบริหารเงินสำรองทางการสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ตามที่กำหนด
@มุ่งบริหารความเสี่ยง ‘ภัยคุกคามไซเบอร์’ ที่รุนแรงขึ้น
2.การบริหารความเสี่ยงภาพรวมและด้านปฏิบัติการ
ฝ่ายบริหารความสี่ยงภาพรวมเป็นหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบในการพัฒนากรอบเครื่องมือและกระบวนการในการบริหารความเสี่ยงภาพรวมและด้านปฏิบัติการของ ธปท. ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล
โดยมีการกำหนดนโยบายการบริหารความเสี่ยงองค์กร และปรับปรุงแนวทางการบริหารความเสี่ยงด้านปฏิบัติการให้สอดรับกับสถานการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างเหมาะสม ทั้งนี้ เพื่อสร้างความมั่นใจว่า ธปท. จะสามารถดำเนินงานให้บรรลุตามพันธกิจของ ธปท. ได้ โดย ธปท. มีแนวทางบริหารจัดการความเสี่ยงที่สำคัญ ดังนี้
1) การบริหารความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology Risk Management)
ธปท. ได้ดำเนินการตามกรอบการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีสารสนเทศมาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้สามารถบ่งชี้ วิเคราะห์ และติดตามประเด็นความเสี่ยงสำคัญ ตลอดจนปฏิบัติตามกฎหมาย กฎเกณฑ์และมาตรฐานด้าน IT ได้อย่างเหมาะสมและทันการณ์
โดยมีคณะอนุกรรมการบริหารความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (อสท.) ทำหน้าที่กลั่นกรองกรอบนโยบาย และแนวทางบริหารจัดการความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีสารสนเทศของ ธปท. รวมถึงอนุมัติและติดตามการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีสารสนเทศของ ธปท. ภายในกรอบที่คณะกรรมการบริหารความเสี่ยง (คบส.) กำหนด
ทั้งนี้ เพื่อให้การบริหารความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีสารสนเทศของ ธปท. สอดรับกับสถานการณ์และบริบทที่ ธปท. มีการใช้เทคโนโลยีใหม่ในการดำเนินงาน เช่น บริการคลาวด์ (Cloud Computing Service) การเชื่อมโยงระบบกับหน่วยงานภายนอกมากขึ้น
สถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ส่งผลให้พนักงานต้องทำงานจากระยะไกล (Remote Access) และมีการนำอุปกรณ์ส่วนตัวมาใช้งานเพิ่มมากขึ้น รวมถึงภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่มีความรุนแรง ซับซ้อน และคาดการณ์ได้ยากมากขึ้น นั้น ในปี 2565 ธปท. จึงเริ่มศึกษาและดำเนินการตามกรอบแนวคิด Zero Trust Architecture ซึ่งเป็นรูปแบบใหม่ ในการจัดการความมั่นคงปลอดภัยด้านไซเบอร์ที่องค์กรชั้นนำเริ่มนำมาใช้
นอกจากนั้น ธปท. ยังได้ออกมาตรฐานการใช้เทคโนโลยี Application Programming Interface (API) เพิ่มเติม ที่ใช้เชื่อมโยงระหว่างระบบงานกับหน่วยงานภายนอก เพื่อให้มีการบริหารจัดการความเสี่ยงอย่างเหมาะสมตามระดับความเสี่ยง มีความปลอดภัย และสอดคล้องตามมาตรฐานสากล
ในขณะเดียวกัน ธปท. ได้ยกระดับประสิทธิภาพของระบบป้องกันภัยไซเบอร์ และเพิ่มขีดความสามารถในการตรวจจับภัยไซเบอร์ของ ธปท. อย่างต่อเนื่อง ตลอดจนเพิ่มความเข้มข้นในการทดสอบความตระหนักด้านภัยไซเบอร์ การตอบสนองต่อเหตุกรณ์ฉุกเฉินด้านไซเบอร์ ทั้งในระดับปฏิบัติการและผู้บริหาร และขยายเครือข่ายความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนข้อมูลภัยไซเบอร์กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
อีกทั้งยังได้ตรวจประเมินและได้รับรองตามมาตรฐานการบริหารจัดการความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศ (ISO/IEC 27001:2013) สำหรับระบบการชำระเงินที่ ธปท. ดูแล (BAHTNET และ ICAS) และสำหรับงานภายในที่เป็นสมาชิก BAHTNET
ตลอดจนตรวจประเมินการปฏิบัติตามกรอบแนวทางการบริหารความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีสารสนเทศของ ธปท. อย่างต่อเนื่อง เช่น แนวปฏิบัติการบริหารความเสี่ยงด้าน IT จากบุคคลภายนอก และแนวปฏิบัติการใช้เทคโนโลยีของส่วนงาน เป็นต้น
@บริหารความเสี่ยง‘ด้านปฏิบัติตามกฎเกณฑ์-ความต่อเนื่องธุรกิจ’
2) การบริหารความเสี่ยงด้านการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ (Compliance Risk Management)
ธปท. ได้เสริมกลไกการติดตามการปฏิบัติตามกฎหมายและกฎระเบียบสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของ ธปท. อาทิปรับปรุงฐานข้อมูลกฎหมาย เพื่อใช้เป็นเครื่องมือสำหรับการติดตามและประเมินความเสี่ยง และกำหนดกระบวนการปฏิบัติงานให้สอดคล้องกับข้อกำหนดของกฎหมายดังกล่าว
โดยในปี 2565 ธปท. มีการดำเนินการตามกฎหมายสำคัญ อาทิ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. 2562 และกฎหมายลำดับรองที่เกี่ยวข้อง ที่กำหนดให้ ธปท. มีบทบาทเป็นหน่วยงานของรัฐ หน่วยงานควบคุมหรือกำกับดูแล และหน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศ
ธปท. ได้จัดให้มีการประเมินความเสี่ยงด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไชเบอร์ และการตรวจสอบด้านความมั่นคงปลอดภัยไชเบอร์ รวมทั้งส่งผลสรุปต่อสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.)
นอกจากนี้ ธปท. โดยฝ่ายบริหารความเสี่ยงภาพรวมในฐานะผู้รับผิดชอบงานคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของ ธปท. ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 ได้พัฒนากรอบการบริหารความเสี่ยงด้านข้อมูล รวมถึงระบบป้องกันการรั่วไหลของข้อมูล เพื่อให้การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับกฎหมาย เป็นต้น
3) การบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจ (Business Continuity Management)
ธปท. ได้พัฒนาการบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจมาอย่างต่อเนื่อง โดย ธปท. ได้จัดทำนโยบายการบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจเพื่อกำหนดเป้าหมายและแนวทางในการบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจอย่างเป็นระบบ ซึ่งได้รับการรับรองตามมาตรฐานการบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจ (ISO 22301:2019) สำหรับระบบการชำระเงินที่ ธปท. ดูแล (BAHTNET และ ICAS) และสำหรับงานภายในที่เป็นสมาชิก BAHTNET
ทั้งนี้ ธปท. ได้โอนย้ายระบบ ICAS ไปยังบริษัท National ITMX จำกัด เมื่อวันที่ 15 ก.ค.2565 โดยได้มีการเตรียมความพร้อมและมาตรการบริหารความเสี่ยงต่างๆ ทำให้การโอนย้ายเป็นไปอย่างราบรื่น ธปท. ได้ดำเนินงานตามแผนฉุกเฉินและบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
นอกจากนี้ ธปท. ได้พัฒนา Platform บริหารจัดการความเสี่ยงด้วยข้อมูลความเสี่ยงสำคัญในรูปแบบดิจิทัล รวมถึงบูรณาการกระบวนการทำงานและแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่าง 3 Lines of Defense ตามแนวคิด Governance, Risk, and Compliance (GRC) ตลอดจนใช้เครื่องมือสำคัญในการบริหารความเสี่ยงภาพรวมและด้านปฏิบัติการ เป็นต้น
เหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของ ‘รายงานของผู้สอบบัญชีและงบการเงินของ ธปท.’ ณ สิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค.2565 ซึ่งแม้ว่าในปี 2565 ธปท.จะมีผลกำไรสุทธิ 1.91 แสนล้านบาท แต่มีผลขาดทุนเบ็ดเสร็จรวม 1.38 แสนล้านบาท โดยมีสาเหตุหลักจากการตีมูลค่า ‘สินทรัพย์และหนี้สิน’ ในบัญชีเงินทุนสำรอง ขณะที่มูลค่าหลักทรัพย์ที่ลง ธปท.ในต่างประเทศมีมูลค่าลดลงเช่นกัน!
อ่านรายละเอียด : 'รายงานของผู้สอบบัญชีและงบการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย’ ณ สิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค.2565