การที่จะทำให้เรื่องนี้ไปถกกันที่รัฐสภาจนทำให้เกิดเป็นกฎหมายที่จะสามารถบังคับใช้ต่อทุกหน่วยงานได้นั้น ฝ่ายการเมืองจะต้องนำเอาประเด็นเหล่านี้ยกขึ้นมาเสียก่อน ซึ่งที่ผ่านมาก็ไม่เคยมีฝ่ายการเมืองฝ่ายไหนเลยที่จะเอากรณีปัญหาเรื่องการทุจริต รวมไปถึงการที่แต่ละหน่วยงานมีกฎหมายที่แตกต่างกันออกไปไม่ว่าจะเป็นทั้งของ ป.ป.ช. และของศาลปกครองเข้าไปหารือในรัฐสภาเลย แม้แต่ในการเลือกตั้งที่จะมาถึงนี้ ประเด็นเหล่านี้ก็ไม่เคยถูกนำไปหาเสียงเช่นกัน
ในช่วงปลายปี 2565 จนถึงต้นปี 2566 มีหลายคดีที่ถูกชี้มูลโดยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นำขึ้นสู่การพิจารณาของศาลปกครองกลาง โดยฝ่ายผู้ที่ถูกชี้มูลทางวินัยเป็นผู้ฟ้องต่อศาลปกครองเอง
และผลการพิจารณาคดีของศาลปกครองกลางนั้นก็มักจะออกมาในรูปแบบที่ว่าการชี้มูลของ ป.ป.ช.ไม่สามารถจะไปมีผลสืบเนื่องให้ดำเนินการต่อในทางวินัย การให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ได้
โดยคดีเหล่านี้ก็มีอาทิ
@คดีศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งยืน ‘ทรงชัย นกขมิ้น’ ไม่ต้องพ้นตำแหน่งนายก อบต.ราชาเทวะ ปมเสาไฟกินรี
โดยคดีนี้ย้อนไปเมื่อวันที่ 21 ธ.ค.2565 ที่ผ่านมา ศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งให้ทุเลายืนตามศาลปกครองชั้นต้นที่มีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับตามคำสั่งจังหวัดตามคําสั่งจังหวัดสมุทรปราการ ลับ ที่ 1893/2565 ลงวันที่ 8 เมษายน 2565 ของผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ ที่ให้ นายทรงชัย นกขมิ้น พ้นจากตําแหน่ง นายกองค์การบริหารส่วนตําบล (อบต.) ราชาเทวะ อําเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ไว้เป็นการชั่วคราว จนกว่าศาลจะมีคําพิพากษาหรือคําสั่งเป็นอย่างอื่น หลังวินิจฉัยเห็นว่า คำสั่งทุเลาการบังคับตามคําสั่งทางปกครองของศาลปกครองชั้นต้นชอบด้วยหลักเกณฑ์ตามกฎหมายแล้ว
สำหรับการฟ้องร้องคดีนี้เป็นผลสืบเนื่องมาจาก นายทรงชัย นกขมิ้น ถูกผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ ออกคำสั่งปลดพ้นจากตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ราชาเทวะ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ ตั้งแต่วันที่ 8 เม.ย.65 จากนายทรงชัยถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดในคดีการจัดซื้อรถดับเพลิง 33.9 ล้านบาท เมื่อปี 2555 จนทำให้ต้องมีการจัดเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลราชาเทวะ แทนตำแหน่งที่ว่าง ในวันที่ 5 มิ.ย.2565
อย่างไรก็ตาม หลังถูกปลดจากตำแหน่งนายทรงชัย ได้ใช้สิทธิโต้แย้งคำสั่งปลดของผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ โดยยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองกลาง มีคณะกรรมการ ป.ป.ช.เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และ ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 พร้อมทั้งขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวก่อนการพิพากษา
ก่อนที่ ศาลปกครองสูงสุด จะมีคำสั่งยืนตามศาลปกครองชั้นต้น เนื่องจากวินิจฉัยแล้วเห็นว่า คำสั่งทุเลาการบังคับตามคําสั่งทางปกครองของศาลปกครองชั้นต้นชอบด้วยหลักเกณฑ์ตามกฎหมาย จึงมีคําสั่งยืนตามคําสั่งของศาลปกครองชั้นต้น และให้ยกคําขอให้ระงับคําสั่งทุเลาการบังคับตามคําสั่งทางปกครองของศาลปกครองชั้นต้นไว้เป็นการชั่วคราวก่อนการวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าว
(อ่านประกอบ: .'ทรงชัย นกขมิ้น' รอด! ศาลปค.สูงสุด มีคำสั่งยืนไม่ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่นายกฯ ราชาเทวะ)
@นายก อบต.ลาดหญ้ายื่นอุทธรณ์-ศาลปกครองออกคำสั่งทุเลา หลังถูก ป.ป.ช. ชี้มูลปมกลั่นแกล้งไม่จ่ายโบนัส
กรณีนี้เคยเป็นข่าวไปแล้วเมื่อวันที่ 3 มี.ค.ที่ผ่านมา เมื่อมีแหล่งข่าวมาร้องเรียนกับผู้สื่อข่าวว่า ขอให้ตรวจสอบคุณสมบัติ นายชูชาติ เสือส่าน นายกฯ อบต.ลาดหญ้า อ.เมือง กาญจนบุรี เนื่องจากเมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง นายกฯ อบต. ลาดหญ้าสมัยที่ 1 พร้อมพวก มีคดีกลั่นแกล้งไม่พิจารณาจ่ายเงินประโยชน์ตอบแทนอื่นเป็นกรณีพิเศษ (โบนัส) ประจำปีงบประมาณ 2553 ซึ่งถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ลงมติชี้มูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และ พ.ร.ป.ป.ป.ช. ปี 42 มาตรา 123/1 ประกอบ พ.ร.ป.ป.ป.ช. ปี 61 มาตรา 192 ตั้งแต่เมื่อวันที่ 23 ม.ค. 2562
ต่อมา ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ภาค 7 พิพากษาว่า นายชูชาติ เสือส่าน จำเลยที่ 1 และพวก มีความผิดตาม ป.อ.มาตรา 157 พ.ร.ป.ป.ป.ช. ปี 42 มาตรา 123/1 ประกอบ ป.อ.มาตรา 83 และให้ลงโทษตาม พ.ร.ป.ป.ป.ช. อันเป็นบทหนักที่สุด ตาม ป.อ.มาตรา 90 จำคุกคนละ 1 ปี ปรับคนละ 30,000 บาท แต่เนื่องจากทางนำสืบของจำเลยทั้งสองเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้หนึ่งในสาม ตาม ป.อ.มาตรา 78 คงจำคุกคนละ 8 เดือน และปรับคนละ 20,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี
อย่างไรก็ตาม นายชูชาติ ได้ยื่นขออุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษา และยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของศาลอุทธรณ์คดียังไม่สิ้นสุด ปัจจุบัน นายชูชาติ ได้ดำรงตำแหน่ง นายกฯ อบต.ลาดหญ้า สมัยที่ 2
และเมื่อเดือน ม.ค. 2566 ที่ผ่านมา ทางปลัดกระทรวงมหาดไทย ออกหนังสือเรื่องการหยุดปฎิบัติหน้าที่ของผู้บริหารท้องถิ่นตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ระบุว่า เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดเกี่ยวกับการทุจริตต่อหน้าที่ และได้ยื่นฟ้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ โดยศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบได้ประทับ รับฟ้องแล้ว อันเป็นการกระทำความผิดในวาระที่ผ่านมา
ต่อมาบุคคลดังกล่าวได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ผู้บริหารท้องถิ่นอีก ทั้งที่จะต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 81 ประกอบมาตรา 93 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561
ขณะที่นายธนณัฏฐ์ ศรีสันต์ นายอำเภอเมืองกาญจนบุรี ก็ได้ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวในกรณีที่นายชูชาติสามารถดำรงตำแหน่งนายก อบต.ได้ต่อไปว่าเป็นเพราะว่า ตอนเข้ามารับตำแหน่งนายอำเภอกาญจนบุรีใหม่ ๆ เคยสั่งให้นายชูชาติ พ้นจากตำแหน่งไปครั้งหนึ่งแล้ว แต่นายชูชาติได้ขออุทธรณ์ไปศาลปกครองจังหวัดสุพรรณบุรี ศาลมีคำสั่งทุเลาคำสั่ง ให้กลับมาดำรงตำแหน่งอีกครั้ง จนกระทั่งมีการเลือกตั้งใหม่ และนายชูชาติชนะการเลือกตั้ง
(อ่านประกอบ:ต้องหยุดทำหน้าที่หรือไม่! ร้องสอบนายกอบต.ลาดหญ้า โดนคุก 8 ด.รอลงอาญา-นอภ.ฯ แจงหารืออยู่)
@ศาลปกครองสั่งทุเลาปม ‘นิพน บุญญามณี’ ไม่จ่ายเงินซื้อรถซ่อมถนน 50 ล้านบาท
และคดีล่าสุดเมื่อไม่นานมีนี้ก็คือคดีของนายนิพนธ์ บุญญามณี รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่ศาลปกครองกลางมีคำสั่งทุเลาคำสั่งของกระทรวงมหาดไทย
โดยคดีนี้มี ผู้ฟ้องคดีคือนายนิพนธ์ บุญญามณี มีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1 กระทรวงมหาดไทย เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 2
สาระสำคัญก็คือว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ระบุข้อกล่าวหา ผู้ฟ้องคดีในสํานวนการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ลงวันที่ 17 กันยายน 2563 ว่า ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ไม่มอบอํานาจให้บริษัท พลวิศว์ เทค พลัส จํากัด (ผู้ขาย) เป็นตัวแทน ในการจดทะเบียนรถซ่อมบํารุงทางอเนกประสงค์ ชนิด 10 ล้อ ล จํานวนสองคัน และละเว้นไม่อนุมัติเบิกจ่ายเงินค่ารถทั้งสองคัน จํานวน 50,850,000 บาท ให้แก่ผู้ขาย และมีมติโดยเสียงข้างมากว่า การกระทําของผู้ฟ้องคดีมีมูลความผิดทางอาญาตามประมวล กฎหมายอาญา มาตรา 157 (ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด) และมีมูลความผิดฐานละเลยไม่ปฏิบัติตามอ่านาจหน้าที่หรือปฏิบัติการไม่ชอบด้วยอํานาจหน้าที่หรือประพฤติตนฝ่าฝืนต่อความสงบเรียบร้อยของ ประชาชนตามมาตรา 79 แห่งพระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. 2540 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
ส่งผลทำให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 มีคําสั่งกระทรวงมหาดไทย ที่ 1528/2564 ลงวันที่ 25 มิถุนายน 2564 สั่งให้ผู้ฟ้องคดีพ้นจากตําแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา ในวาระการดํารงตําแหน่ง ตั้งแต่วันที่ 4 สิงหาคม 2556 ถึงวันที่ 27 มิถุนายน 2562 ตามการชี้มูลความผิดของ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 โดยไม่แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนก่อนแต่อย่างใด
ขณะที่ศาลปกครองกลางวินิจฉัยแล้วเห็นว่าเมื่อพิจารณา บทบัญญัติมาตรา 19 (4) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุริต พ.ศ. 2542 แล้ว เห็นได้ว่า ข้อกล่าวหาที่อยู่ในอํานาจ ไต่สวนและพิจารณาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. หมายถึงเฉพาะข้อกล่าวหาที่เกี่ยวกับการกระทํา ความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ กระทําความผิดต่อตําแหน่งหน้าที่ราชการ หรือกระทําความผิด ต่อตําแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรมเท่านั้น
ส่วนความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ ถือเป็นมูลความผิดทางวินัย คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่มีอํานาจในการไต่สวนข้อเท็จจริง
ดังน้น คําสั่งกระทรวงมหาดไทย ที่ 1528/2564 ที่สั่งให้ผู้ฟ้องคดีหรือนายนิพนธ์พ้นจากตําแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด สงขลา จึงน่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ศาลปกครองกลางจึงได้ออกคำสั่งทุเลาคำสั่งกระทรวงมหาดไทยดังกล่าว
(อ่านประกอบ:ฉบับเต็ม! คำสั่งคุ้มครองชั่วคราวศาลปค.กลาง ชี้ 'นิพนธ์' สมัคร ส.ส.ไม่ได้จะเสียหายร้ายแรง )
จาก 3 คดีเบื้องต้นจะเห็นได้ชัดเจนเลยทั้งสามคดีนั้นศาลปกครองได้มีคำสั่งชัดเจนว่าคำสั่ง และการชี้มูลของ ป.ป.ช.นั้นไม่สามารถครอบคลุมการดำเนินการทางวินัยรวมถึงให้เจ้าหน้าที่ข้าราชการผู้ถูกชี้มูลความผิดต้องออกจากตำแหน่งได้
@เลขา ป.ป.ช.ยอมรับมีปัญหาแต่ละหน่วยงานต่างมีกฎหมาย ดีที่สุดต้องไปแก้ที่รัฐสภา
จากกรณีดังกล่าว นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการ ป.ป.ช.ได้ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าว ยอมรับว่าในปัจจุบันนั้นมีคดีอีกเป็นนับร้อยคดีที่มีการชี้มูลไปแล้วและกำลังรอเข้าสู่การพิจารณาของศาลปกครอง ซึ่งในจุดนี้ ป.ป.ช.ก็ทำอะไรไม่ได้เหมือนกันเพราะมันเป็นอำนาจศาลปกครองจะพิจารณาว่าการชี้มูลของ ป.ป.ช.จะสามารถนำไปสู่การหยุดปฏิบัติหน้าที่ได้หรือไม่ หรือก็คือว่าระหว่าง ป.ป.ช.และหน่วยงานอื่นๆนั้นเรามีกฎหมายที่แตกต่างกันนั่นเอง
เลขาธิการ ป.ป.ช.กล่าวต่อไปว่าอย่างไรก็ตามเรื่องนี้ก็ถือว่าเป็นปัญหา ซึ่งวิธีการจะแก้ปัญหาหนทางที่ดีที่สุดก็คือต้องนำประเด็นปัญหามาถกร่วมกันทุกฝ่าย หรือก็คือนำปัญหาไปถกกันที่รัฐสภานั่นเองว่าจะทำอย่างไรกับกรณีที่ข้าราชการนั้นถูกชี้มูลว่ามีพฤติกรรมการทุจริต แล้วเขาจะไม่สามารถไปฟ้องต่อศาลปกครองได้ เรื่องนี้ก็มีกันพูดกันเหมือนกันเช่นว่าถ้าหากคดีไปถึงศาลยุติธรรมแล้ว ก็ไม่จำเป็นจะต้องไปที่ศาลปกครองเลยจะได้หรือไม่
"แต่การที่จะทำให้เรื่องนี้ไปถกกันที่รัฐสภาจนทำให้เกิดเป็นกฎหมายที่จะสามารถบังคับใช้ต่อทุกหน่วยงานได้นั้น ฝ่ายการเมืองจะต้องนำเอาประเด็นเหล่านี้ยกขึ้นมาเสียก่อน ซึ่งที่ผ่านมาก็ไม่เคยมีฝ่ายการเมืองฝ่ายไหนเลยที่จะเอากรณีปัญหาเรื่องการทุจริต รวมไปถึงการที่แต่ละหน่วยงานมีกฎหมายที่แตกต่างกันออกไปไม่ว่าจะเป็นทั้งของ ป.ป.ช. และของศาลปกครองเข้าไปหารือในรัฐสภาเลย แม้แต่ในการเลือกตั้งที่จะมาถึงนี้ ประเด็นเหล่านี้ก็ไม่เคยถูกนำไปหาเสียงเช่นกัน" เลขาธิการ ป.ป.ช.กล่าว
นายนิวัติไชยกล่าวต่อไปถึงบทบาทของ ป.ป.ช.กับการแก้กฎหมายในอนาคตว่าจริงๆแล้วจะเห็นว่าคดีที่ผู้สื่อข่าวนั้นได้ยกขึ้นมานั้นส่วนมากเป็นคดีที่ใช้ พ.ร.บ. ป.ป.ช. 2542 ไม่ใช่กฎหมายฉบับล่าสุดที่ได้มีการแก้ไขไป ดังนั้น ป.ป.ช.ก็กำลังเฝ้ารอดูอยู่ว่าการพิจารณาของศาลปกครองในอนาคต ถ้าหากมีการดำเนินการพิจารณาด้วย พ.ร.บ.ป.ป.ช.ฉบับล่าสุดที่ได้มีการแก้ไขไปแล้วจะสามารถสั่งให้ข้าราชการพ้นจากตำแหน่งเมื่อมีการชี้มูลจากทาง ป.ป.ช.ได้หรือไม่ หรือถ้าหากมีการออกคำสั่งทุเลาอีกก็อาจจะต้องเป็นเรื่องของกระทรวงมหาดไทยด้วยที่จะต้องไปพิจารณาแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป