"...ประเด็นเรื่องการทุจริตของ พนักงาน ปตท. นั้น มีข้อมูลระบุว่า บริษัทที่ปรึกษา HSP & Partners มีหนังสือถึงอดีตผู้บริหารระดับสูง ปตท.รายนี้ แจ้งเกี่ยวกับการไม่จ่ายเงินค่าจ้างและพฤติการณ์การทุจริตของพนักงาน ปตท. แต่ปรากฏข้อมูลว่า อดีตผู้บริหารระดับสูง ปตท.รายนี้ เพียงแต่สั่งการให้แค่มีการพิจารณาเรื่องเท่านั้น ไม่ได้สั่งการให้มีการตรวจสอบว่ามีการทุจริตหรือไม่แต่อย่างใด..."
กรณีที่ประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2566 ที่ผ่านมา ได้มีมติให้ตั้งไต่สวนอดีตผู้บริหารระดับสูงบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ในคดีบริษัท พีทีที.กรีนเอเนอร์ยี่ฯ หรือ PTT.GE. บริษัทลูกของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ถูกกล่าวหาว่า ลงทุนปลูกปาล์มน้ำมันที่ประเทศอินโดนีเซีย แต่พบความไม่ชอบมาพากลในการลงทุน และมีการจ่ายค่านายหน้าแพงเกินจริงกว่า 32 ล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกานั้น
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) นำข้อมูลเชิงลึกมาเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบไปแล้วว่า
1. เหตุผลสำคัญที่ทำให้ต้องมีการเสนอเรื่องตั้งไต่สวน อดีตผู้บริหารระดับสูงบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) รายนี้ ในคดีลงทุนปลูกปาล์มน้ำมันที่ประเทศอินโดนีเซียเพิ่มเติม เป็นเพราะจากการสอบสวนข้อมูลเชิงลึก พบว่า อดีตผู้บริหารระดับสูง ปตท. รายนี้ มีส่วนร่วมในการเสนอเรื่องต่อคณะกรรมการ ปตท. วาระลับ พิจารณาอนุมัติลงทุนโครงการ PT. Az Zhara ที่ไม่ถูกต้องตามความเป็นจริง ทำให้คณะกรรมการ ปตท. มีมติอนุมัติจำนวนสิทธิในที่ดินปลูกปาล์ม 117,500 เฮกตาร์ วงเงิน 62 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นวงเงินสูงเกินจริง
2. นอกจากนี้ อดีตผู้บริหารระดับสูง ปตท.รายนี้ ยังยินยอมให้บุคคลภายนอกที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับ ปตท.ร่วมเดินทางไปงานเปิดสำนักงานบริษัท PTTGE ประเทศ อินโดนีเซีย และเดินทางไปดูโครงการปลูกปาล์มหลายครั้ง โดย ปตท. เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการเดินทางทั้งหมด
ขณะที่จากการตรวจสอบข้อมูลเชิงลึกของเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. พบว่า บุคคลภายนอก 1 - 2 ราย ที่รวมเดินทางไปดูโครงการปลูกปาล์มดังกล่าว ปรากฏชื่อเป็นผู้ถูกกล่าวหาในคดีนี้ และมีส่วนเกี่ยวข้องกับการรับเงินส่วนต่างที่เกิดจากการขายหุ้นสิทธิในที่ดินโครงการ PT.KPI ด้วย
3. กรณี อดีตผู้บริหารระดับสูง ปตท.รายนี้ จะอาจเข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ไม่กำกับดูแล ควบคุม ติดตามการดำเนินธุรกิจปาล์มน้ำมันของบริษัท PTTGE อย่างใกล้ชิดให้เป็นไปตามมติคณะกรรมการ ปตท. และไม่มีการรายงานปัญหาอุปสรรคการดำเนินโครงการให้คณะกรรมการ ปตท. ทราบ ส่งผลให้มีการดำเนินการที่ไม่ชอบในโครงการ PT.AZ Zhara , PT.MAR Pontianak, PT.MAR Banyuasin PT. FBP และ PT. KPI ทำให้ ปตท. ได้รับความเสียหาย
ทำให้ถูกเสนอเรื่องต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อตั้งไต่สวนคดีนี้เป็นทางการ
- เสนอครั้งที่ 5 ! ป.ป.ช.ให้ตั้งไต่สวน อดีตบิ๊ก ปตท. คีย์แมนคดีปาล์มอินโดฯ แล้ว (1)
- เอี่ยวเสนอวาระลับลงทุน! เบื้องลึก ป.ป.ช.ตั้งไต่สวน 'อดีตบิ๊กปตท.' คีย์แมนคดีปาล์มอินโดฯ (2)
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ได้รับการยืนยันข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับพฤติการณ์ ของ อดีตผู้บริหารระดับสูง ปตท.รายนี้ เพิ่มเติม ดังนี้
1. ในการเสนอวาระลับ การลงทุนเรื่องนี้ ต่อที่ประชุมคณะกรรมการ ปตท. นั้น อดีตผู้บริหารระดับสูง ปตท.รายนี้ ได้รับข้อมูลการลงทุนมาจากบุคคลรายหนึ่ง ที่รวบรวมข้อมูลมาให้
2. ในประเด็นการเสนอเรื่องต่อคณะกรรมการ ปตท. วาระลับ พิจารณาอนุมัติลงทุนโครงการ PT. Az Zhara ที่ไม่ถูกต้องตามความเป็นจริง ทำให้คณะกรรมการ ปตท. มีมติอนุมัติจำนวนสิทธิในที่ดินปลูกปาล์ม 117,500 เฮกตาร์ วงเงิน 62 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นวงเงินสูงเกินจริง นั้น
มีรายงานการตรวจสอบฉบับหนึ่ง ที่เป็นหลักฐานสำคัญชี้ให้เห็นถึงสภาพพื้นที่ที่อาจจะไม่เหมาะสม ส่งผลทำให้ต้นทุนโครงการสูงว่าปกติ และถูกนำมาใช้เป็นหลักฐานสำคัญประกอบการสอบสวนเรื่องนี้
โดยรายงานชิ้นนี้เป็นของบริษัทเอกชนรายหนึ่ง ระบุว่า พื้นที่ของ PT.MAR มีลักษณะดินเป็นดินพรุ ทำให้ต้นทุนในการดำเนินโครงการสูงว่าพื้นที่ปกติ และได้ผลตอบแทน (IRR) ร้อยละ 14 ไม่ถึงเกณฑ์ที่กำหนดไว้ ขณะที่ คณะกรรมการ ปตท. มีมติกำหนดเงื่อนไขการลงทุนว่า IRR ร้อยละ 15
แต่ไม่ปรากฏว่า อดีตผู้บริหารระดับสูง ปตท.รายนี้ ในฐานะที่เป็นผู้นำเสนอข้อมูลการลงทุนในโครงการ PT. Mar (Pontianak) ได้นำเสนอรายงานดังกล่าวให้คณะกรรมการ ป.ต.ท. พิจารณา
3. ส่วนประเด็นเรื่องการทุจริตของ พนักงาน ปตท. นั้น มีข้อมูลระบุว่า บริษัทที่ปรึกษา HSP & Partners มีหนังสือถึงอดีตผู้บริหารระดับสูง ปตท.รายนี้ แจ้งเกี่ยวกับการไม่จ่ายเงินค่าจ้างและพฤติการณ์การทุจริตของพนักงาน ปตท.
แต่ปรากฏข้อมูลว่า อดีตผู้บริหารระดับสูง ปตท.รายนี้ เพียงแต่สั่งการให้แค่มีการพิจารณาเรื่องเท่านั้น ไม่ได้สั่งการให้มีการตรวจสอบว่ามีการทุจริตหรือไม่แต่อย่างใด
อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช.ได้มีการเชิญอดีตผู้บริหารระดับสูง ปตท.รายนี้ มาให้ถ้อยคำชี้แจงข้อเท็จจริงไปแล้ว ซึ่งเจ้าตัวได้มีการตอบข้อซักถามเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. ในหลายประเด็น ว่ามีขั้นตอนการปฏิบัติงานตามกรอบอำนาจหน้าที่อย่างไรบ้าง
โดยในกรณีที่มีการยินยอมให้บุคคลภายนอกที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับ ปตท.ร่วมเดินทางไปงานเปิดสำนักงานบริษัท PTTGE ประเทศ อินโดนีเซีย และเดินทางไปดูโครงการปลูกปาล์มหลายครั้ง โดย ปตท. เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการเดินทางทั้งหมด น้้น
อดีตผู้บริหารระดับสูง ปตท.รายนี้ ชี้แจงถึงกรณีบุคคลภายนอกรายหนึ่ง ที่ ร่วมเดินทางไปงานเปิดสำนักงานบริษัท PTTGE ประเทศ อินโดนีเซีย ด้วยว่า เคยพบเห็นหน้า และเคยร่วมเดินทางไปสำรวจพื้นที่ปลูกปาล์มที่อินโดนีเซียด้วยกัน
แต่ไม่รู้จักเป็นการส่วนตัว ทราบแค่ว่าเป็นผู้ขายน้ำมันปาล์ม (CPO) เป็นผู้ค้ารายใหญ่ของประเทศ และน่าจะมีความรู้ในเรื่องปาล์ม และปกติก็เดินทางไปติดต่อธุรกิจที่อินโดนีเซียเป็นปกติอยู่แล้ว แต่ไม่ได้ร่วมในการเจรจาธุรกิจของ ปตท.
นอกจากนี้ บุคคลภายนอกรายนี้ ยังเป็นผู้แนะนำให้ตนเอง รู้จักกับสุภาพสตรีรายหนึ่ง ซึ่งเป็นชาวอินโดนีเซีย สามารถพูดภาษาไทยได้ น่าจะรู้จักข้าราชการของอินโดนีเซีย และช่วยอำนวยความสะดวกในการทำธุรกิจในอินโดนีเซียได้
อดีตผู้บริหารระดับสูง ปตท.รายนี้ ยังยอมรับว่า เคยร่วมเดินทางไปสำรวจพื้นที่ปลูกปาล์มที่ประเทศอินโดนีเซียกับ สุภาพสตรีรายนี้ด้วย
ขณะที่ คณะกรรมการ PTTGE จะไม่เห็นรายละเอียดรายงานผลการสำรวจข้อมูลเชิงลึกด้านเทคนิค ด้านกฎหมาย และด้านการเงินและภาษี แต่จะทราบจากที่ฝ่ายจัดการได้จัดทำเป็นสรุปผลการสำรวจข้อมูลเชิงลึกในแต่ละด้านมานำเสนอในที่ประชุมคณะกรรมการ PITGE เท่านั้น และคณะกรรมการ จะซักถามข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ตามที่ได้นำเสนอเท่านั้น
ทั้งหมดนี้ เป็นข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับพฤติการณ์ ของ อดีตผู้บริหารระดับสูง ปตท.รายนี้ ที่สำนักข่าวอิศรา ได้รับการยืนยันข้อมูลเพิ่มเติมล่าสุด
แต่ข้อมูลส่วนนี้ ยังไม่จบ ยังมีกรณีการตรวจสอบข้อมูลเส้นทางการเงิน ผู้เกี่ยวข้องกับเรื่องการซื้อขายที่ดิน ที่มาความเชื่อมโยงไปถึง สุภาพสตรีรายที่ อดีตผู้บริหารระดับสูง ปตท.รายนี้ ระบุว่า เป็นผู้เข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกในการทำธุรกิจในอินโดนีเซียด้วย
และเป็นเหตุผลสำคัญประการหนึ่ง ที่ทำให้ อดีตผู้บริหารระดับสูง ปตท.รายนี้ ถูกเสนอเรื่องต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อตั้งไต่สวนคดีนี้เป็นทางการ
รายละเอียดเป็นอย่างไร โปรดติดตามต่อไป