“…สำหรับกลยุทธ์ในการพัฒนาท่าเรือรอตเตอร์ดัมไปสู่การใช้พลังงานสะอาดและเป็นศูนย์กลางด้านพลังงานไฮโดรเจนของยุโรป ประกอบด้วย การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น วางท่อก๊าซเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้และการจัดส่งพลังงาน การพัฒนาการผลิตไฮโดรเจนสีเขียวและไฟฟ้าจากพลังงานทางเลือก เช่น พลังงานลม โดยมีการติดตั้งกังหันเป็นจำนวนมาก เพื่อผลิตไฟฟ้าสำหรับกระบวนการแยกไฮโดรเจนจากน้ำ...”
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) เป็นวาระสำคัญที่จะต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน ไม่เช่นนั้นทั่วโลกจะประสบกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างรุนแรง จนนำไปสู่สูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ
‘การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก’ ให้ได้อย่างมีนัยสําคัญ เป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่จะช่วยกอบกู้วิกฤตินี้ได้ จึงนำมาสู่เป้าหมายที่ทุกๆ ประเทศต่างปักหมุดไว้ร่วมกัน แต่ระหว่างทางเดินสู่เป้าหมายที่วางไว้ร่วมกันนั้น จะต้องอาศัยความร่วมมือกันจากนานาประเทศและทุกภาคส่วน
ปัจจุบันทุกๆ ประเทศต่างก็ได้ให้ความสำคัญและมีการร่วมมือกันด้านพลังงาน เพื่อให้สามารถก้าวสู่ยุคเปลี่ยนผ่านจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลไปสู่การผลิตและการใช้พลังงานสะอาดในอนาคต ผ่านกระบวนการด้านนวัตกรรมเทคโนโลยี เพื่อพัฒนารูปแบบพลังงาน (Energy Disruption) ให้สามารถตอบสนองต่อความต้องการพลังงานทั้งในด้านอุตสาหกรรมและความต้องการของประชาชน
‘พลังงานสะอาด (Green energy)’ จึงเป็นหนึ่งในเทรนด์พลังงานในอนาคตที่มีแนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ‘พลังงานไฮโดรเจน (Hydrogen)’ เป็นหนึ่งในพลังงานสะอาดที่น่าสนใจ เนื่องจากเป็นธาตุที่พบมากที่สุดบนโลก และสามารถผลิตได้จากวัตถุดิบที่หลากหลาย เช่น น้ำ ก๊าซธรรมชาติ น้ำมัน เป็นต้น โดยแต่ละชนิดก็จะมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในกระบวนการผลิตที่แตกต่างกันขึ้นอยู่การเผาไหมว่าเกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์หรือไม่ โดยสามารถจำแนกได้ ดังนี้
ไฮโดรเจนสีน้ำตาล/เทา(Brown / Grey Hydrogen)
- วิธีหนึ่งในการผลิตก๊าซไฮโดรเจนคือ กระบวนการทำให้เป็นก๊าซ Gasification หรือ Steam Methane Reforming (SMR) โดยใช้เชื้อเพลิงชนิดของพลังงานไฮโดรคาร์บอนหรือฟอสซิล เช่น ถ่านหินและก๊าซธรรมชาติ เป็นต้น และจะได้สารผลิตภัณฑ์เป็นก๊าซไฮโดรเจนและคาร์บอนไดออกไซด์ โดยปริมาณของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ถูกปล่อยออกมาจะมีจำนวนเท่ากับก๊าซไฮโดรเจน ดังนั้น วิธีการนี้จึงไม่ได้ช่วยลดรอยเท้าคาร์บอนได้ ถึงแม้จะใช้ก๊าซไฮโดรเจนที่เป็นพลังงานสะอาดก็ตาม
ไฮโดรเจนสีฟ้า (Blue Hydrogen)
- การใช้เชื้อเพลิงไฮโดรคาร์บอนหรือฟอสซิลเป็นวัตถุดิบในการผลิตเช่นเดียวกัน แต่มีการใช้เทคโนโลยีดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอน (Carbon Capture & Storage Technology) เพื่อดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ไว้แล้วอัดเก็บไว้ใต้ดินที่ปลอดภัย หรือเอาไปผลิตเป็นเชื้อเพลิงหมุนเวียนรูปแบบอื่น ๆ ได้ต่อไป
ไฮโดรเจนสีเขียว(Green Hydrogen)
- การผลิตไฮโดรเจนด้วยการแยกน้ำด้วยไฟฟ้าซึ่งไม่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมา โดยใช้น้ำเป็นวัตถุดิบ อีกหนึ่งวิธีในการผลิตไฮโดรเจนสีเขียวก็คือการใช้ชีวมวลหรือขยะอินทรีย์เป็นเชื้อเพลิงแทนถ่านหินในกระบวนการ Gasification โดยกระบวนการนี้จะมีรอยเท้าคาร์บอนเป็นศูนย์เนื่องจากปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ต้นไม้ดูดไปในช่วงชีวิตของมันจะมีค่าเท่ากับปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ถูกปล่อยออกมาจากการเผาเพื่อผลิตไฮโดรเจน และหลังจากนั้นหากมีการใช้เทคโนโลยีดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จะทำให้รอยเท้าคาร์บอนติดลบ นั่นคือ การดึงก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์กลับมาจากชั้นบรรยากาศ
ภาพจาก: bluesource.com
สำหรับประเทศไทย พลังงานไฮโดรเจนเป็นอีกหนึ่งพลังงานอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งถือว่าเป็นยังเป็นเรื่องที่ใหม่และน่าสนใจ แต่ก็ยังมีข้อจำกัดเนื่องจากการจัดเก็บและขนส่งที่ยาก และใช้ต้นทุนสูง อีกทั้งไฮโดรเจนยังมีคุณสมบัติที่ต่างจากก๊าซธรรมชาติจึงต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการนำไปประยุกต์ใช้กับงานที่ใช้พลังงานดั้งเดิมอีกด้วย
เมื่อวันที่ 24 – 30 มีนาคมที่ผ่านมา ปตท.นำนำคณะศึกษาดูงานพลังงานแห่งอนาคต ณ ราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ ภายใต้วิสัยทัศน์ ‘Powering Life with Future Energy and Beyond ขับเคลื่อนทุกชีวิต ด้วยพลังแห่งอนาคต’ เพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานและแผนการดำเนินงานให้เติบโตไปสู่พลังงานอนาคตและธุรกิจใหม่ที่ไปไกลกว่าพลังงาน โดยมีมุดหมายหลักคือการศึกษาด้านพลังงานไฮโดรเจน ณ ท่าเรือรอตเตอร์ดัม (Port of Rotterdam : PoR)
ท่าเรือรอตเตอร์ดัม เป็นท่าเรือที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป เป็นศูนย์กลางการขนส่งและทางเศรษฐกิจที่สำคัญ มีระยะทางทอดยาวถึง 50 กิโลเมตร มีการขนส่งทั้งสินค้าทั่วไป และเชื้อเพลิงต่างๆ เช่น ก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) น้ำมัน ถ่านหิน โดยคิดเป็น 13% ของความต้องการพลังงานในทวีปยุโรป
ปัจจุบันท่าเรือรอตเตอร์ดัม มีแนวทางการพัฒนาการใช้พลังงานในรูปพลังงานสะอาดเพิ่มมากขึ้น เพื่อมุ่งสู่ท่าเรือที่ยั่งยืน และการเป็นศูนย์กลางพลังงานไฮโดรเจนของทวีปยุโรป นอกจากนี้ยังมีการตั้งเป้าหมายลดการปลดปล่อยคาร์บอน 49% ภายในปี 2573 เพื่อมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2593
สำหรับกลยุทธ์ในการพัฒนาท่าเรือรอตเตอร์ดัมไปสู่การใช้พลังงานสะอาดและเป็นศูนย์กลางด้านพลังงานไฮโดรเจนของยุโรป ประกอบด้วย การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น วางท่อก๊าซเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้และการจัดส่งพลังงาน การพัฒนาการผลิตไฮโดรเจนสีเขียวและไฟฟ้าจากพลังงานทางเลือก เช่น พลังงานลม โดยมีการติดตั้งกังหันเป็นจำนวนมาก เพื่อผลิตไฟฟ้าสำหรับกระบวนการแยกไฮโดรเจนจากน้ำ
อีกทั้งส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรมเปลี่ยนการใช้เชื้อเพลิงเป็นไฮโดรเจนและพลังงานสะอาดมากขึ้น รวมทั้งมีการพัฒนาระบบการขนส่งให้ใช้พลังงานสะอาด ทั้งทางรถ รถไฟ และเรือควบคู่กันอีกด้วย แต่ทั้งนี้ การขนส่งถือเป็นความท้าท้ายที่สำคัญของพลังงานไฮโดรเจน ซึ่งขณะนี้ ที่ท่าเรือรอตเตอร์ดัม ได้มีการขนส่งในรูปแอมโมเนีย เพื่อความสะดวกและมีต้นทุนต่ำ
นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า กลุ่มธุรกิจไฮโดรเจนถือเป็นพลังงานอีกรูปแบบหนึ่งที่ ปตท. อยู่ระหว่างการศึกษา เนื่องจากแนวโน้มการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลในอนาคต ทั้งถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติจะค่อยๆ ลดลง โดยมีพลังงานแสงอาทิตย์ และลมเข้ามาทดแทน รวมถึงพลังงานทางเลือกอื่น ซึ่งในขณะนี้ ปตท.ได้ร่วมมือกับประเทศซาอุดีอาระเบียในการศึกษาเรื่องพลังงานไฮโดรเจน ควบคู่ไปกับโครงการนำร่องตั้งสถานีเติมเชื้อเพลิงสำหรับรถยนต์ที่ใช้ไฮโดรเจน
ทั้งนี้ ปตท.มีเป้าหมายนำโมเดลการพัฒนาท่าเรือรอตเตอร์ดัม เพื่อไปประยุกต์ใช้พัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 สู่เป้าหมายเป็น Green Port เน้นใช้ พลังงานสะอาด พลังงานหมุนเวียน มีระบบจัดการพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และมองโอกาสในการต่อยอดพัฒนาสู่การผลิต ไฮโดรเจนสีเขียว
ความเหมาะสมที่เห็นชัดในขณะนี้ คือ การใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ติดตั้งโซลาเซลล์ และใช้ระบบเทคโนโลยีต่างๆ ที่ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ส่วนอุปกรณ์เครื่องจักรภายในท่าเรือ ต้องบริหารจัดการด้วยเทคโนโลยี การขนส่งในบริเวณท่าเรือจะใช้รถบรรทุกไฟฟ้า (EV) และเทคโนโลยีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่
ขณะที่การจัดสรรพื้นที่ภายในท่าเรือแหลมฉบัง ก็มีความจำเป็นอย่างยิ่ง จะต้องเน้นการขนส่งทางรางให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ เพื่อลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ สามารถขนส่งสินค้าในจำนวนมากได้ และจะต้องใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีต่างๆ มาบริหารจัดการจราจร และของเสียด้วย
ด้าน นายนพดล ปิ่นสุภา ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย กล่าวว่า การใช้พลังงานสะอาดและเทคโนโลยีระบบอัตโนมัติในการขนส่งสินค้าที่ท่าเรือรอตเตอร์ดัม มีความคล้ายคลึงกับโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ที่ ปตท.ร่วมลงทุน ซึ่งจะช่วยตอบโจทย์ของ Net Zero ซึ่งขณะนี้ได้มีการว่าจ้างออกแบบ การพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังสู่เป้าหมาย Green Port ชั้นนำในไทย และแน่นอนว่าภายในท่าเรือจะต้องไม่มีการผลิตและปล่อยของเสีย รวมถึงคาร์บอนไดออกไซด์ รวมทั้ง โจทย์สำคัญจะต้องมีการพัฒนาพลังงานสะอาด เพื่อใช้ภายในพื้นที่ท่าเรือ
สำหรับ ท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 มีพื้นที่ขนาด 1,600 ไร่ ในส่วนของท่าเทียบเรือ F เป็นโครงการที่เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (Public Private Partnership) ระหว่าง บริษัท GPC International Terminal บริษัทร่วมทุนที่บริษัท PTT Tank ถือหุ้นในสัดส่วน 30% และการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) โดยมูลค่าการร่วมลงทุนส่วนของภาคเอกชนอยู่ที่ราว 3 หมื่นล้านบาท ดังนั้นทางกลุ่ม ปตท. จะต้องใช้งบประมาณร่วมลงทุนราว 1 หมื่นล้านบาท มีระยะเวลาร่วมทุน 35 ปี
ปัจจุบัน กทท.อยู่ระหว่างการถมทะเลในพื้นที่โครงการท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 และบริษัท GPC อยู่ระหว่างการออกแบบและจัดทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงการขอใบอนุญาตก่อสร้างของท่าเทียบเรือ F คาดว่าจะสามารถส่งมอบพื้นที่ถมทะเลได้ภายในปีนี้ และสามารถเริ่มดำเนินการก่อสร้างโครงสร้างหน้าท่าเทียบเรือได้ทันที และจะดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ภายในปี 2568
จะต้องติดตามต่อไปว่า ท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ที่อยู่ระหว่างดำเนินการนั้น เมื่อแล้วเสร็จเปิดดำเนินการแล้ว จะเป็นไปตามที่วางแผนหรือไม่ แต่ทั้งนี้ก็ถือว่าเป็นนิมิตรหมายอันดีที่ไทยได้ก้าวเข้าสู่เทรนด์พลังงานสะอาดแล้ว